นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (10)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (10)


“คอลัมน์“วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน คือผู้นำขบวนการชุมชนไทยแห่งทศวรรษ” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 50 หน้า 25

กล่าวโดยสรุปแล้ว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ที่เกิดและเติบโตในชนบทภาคกลางของประเทศ ได้รับการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษโดยทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์.

เมื่อจบการศึกษาแล้วในปี 2510 จึงได้เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งในสถาบันด้านการเงินการธนาคารหลายแห่ง โดยตลอด 20 ปีแรกของการทำงานเขาประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

แต่เขาได้หันเหเส้นทางชีวิตครั้งสำคัญในปี 2531 เมื่อต้องเข้ามาดูแลมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อย่างเต็มเวลาแทน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศในระยะ 20 ปีหลังที่เขาเปลี่ยนสถานะจากนักการธนาคารมาเป็นนักพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัวนั้น เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอันเป็นแนวคิดที่แตกต่างไปจากแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นกระแสหลักของประเทศอยู่ในขณะนั้น

ด้วยคุณสมบัติการเป็นผู้นำแบบเชื่อมประสาน ประกอบกับทักษะในการผลักดันทางนโยบายและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเขา มีส่วนอย่างสำคัญที่ช่วยทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนหรือสิ่งซึ่งเขาเรียกว่าการพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ได้รับการยอมรับมากขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่มีสถานะเป็นเพียง “แนวคิดชายขอบ” มาเป็น “ทางเลือกของการพัฒนา” และเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” จนกระทั่งเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” ในที่สุด

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ใช้ความสามารถในการบริหารสถานะทางสังคมในแต่ละห้วงเวลา และอาศัยบุคลิกเฉพาะตัวที่ดีเลิศในการสร้างเสริมเครือข่ายการพัฒนาสังคมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนเกิดเป็นขบวนการชุมชนเข้มแข็งที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ในการนี้กลไกขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์สำคัญที่เขามีส่วนผลักดัน ประดิษฐ์คิดค้น และนำมาใช้ดำเนินการได้แก่ กองทุน LDAP, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO – COD), กองทุนพัฒนาชุมชนเมือง (UCDO), กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) , และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (CODI)

ผลสะเทือนจากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เขาและเครือข่ายดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องได้ทำให้เกิดนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง และองค์กรชุมชนจำนวนมากมาย และเกิดเครือข่ายองค์กรชุมชนที่หลากหลาย จนกลายเป็นขบวนการชุมชนไทยที่นับวันยิ่งเข้มแข็งและได้รับการยอมรับจากภาครัฐอย่างกว้างขวางไปโดยปริยาย

ด้วยจุดยืนที่มั่นคง ด้วยบทบาทและผลงานเชิงประจักษ์ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษดังกล่าวข้างต้น ในวันนี้เราจึงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า

“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือ นักการธนาคาร และผู้นำขบวนการชุมชนไทย ผู้มีผลงานโดดเด่นแห่งทศวรรษ”

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/156242

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (9)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (9)


“คอลัมน์“วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน ผู้นำสันติวิธีในกระแสวิกฤตการเมือง” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 ธ.ค. 50 หน้า 25

ด้วยผลงานการพัฒนาสังคมที่ต่อเนื่องยาวนาน ด้วยการดำรงตนที่เปี่ยมไปด้วยการเสียสละเพื่อผู้อื่นและส่วนรวมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และด้วยการแสดงความคิดเห็น และบทบาทต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมืองด้วยความเป็นกลางและวิถีทางสายกลาง ทำให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ที่สังคมไทยให้การยอมรับและได้รับความเคารพนับถือ จากผู้คนในทุกวงการ ตั้งแต่ระดับชุมชนฐานราก จนถึงระดับสังคมชั้นสูง

ในช่วงปี 2530 เป็นต้นมา การเมืองไทยเริ่มมีนักธุรกิจเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญเพิ่มขึ้นจากแต่เดิมที่มีแต่ทหาร ข้าราชการ และนักการเมือง นักธุรกิจเหล่านี้เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู และความต่อเนื่องของระบบรัฐสภา.

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาในช่วงนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลาง “ธนกิจการเมือง” ( Money Politics) เป็นแรงผลักดันอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมือง เป็นที่มาของการสร้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อคอยตรวจสอบนักธุรกิจการเมืองเหล่านั้น.

ในเวลาเดียวกัน 2 ทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มพลังทางการเมืองของฝ่ายประชาสังคม ( Civil Society) ก็เติบโตขึ้นเป็นการเมืองนอกระบบรัฐสภา เป็นการเมืองภาคประชาชนที่คอยตรวจสอบนักการเมือง คอยเป็นพลังถ่วงดุลต่อการเมืองของนักการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์สาธารณะ

ในกระแสวิกฤตการเมืองไทยในช่วงล่าสุดระหว่างปี 2548 – 2549 ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพลังการเมืองนอกสภาของภาคประชาสังคมเรียกร้องกดดันให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จต้องรับผิดชอบต่อปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งนั้นยืดเยื้อ และเผชิญหน้ากันมากขึ้นทุกที จนทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้หนึ่งที่คอยให้ความคิดเห็นเตือนสติผู้คนฝ่ายต่างๆ และเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ตลอดเวลา สิ่งที่เขามักเรียกร้องอยู่เสมอก็คือ “สันติวิธี” และ “การพูดจาหารือกัน” ภาพพจน์ของเขาในช่วงนั้นคือ “ผู้นำสันติวิธี” ที่โดดเด่นคนหนึ่งทีเดียว

และในที่สุดเมื่อเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาจึงเป็นผู้หนึ่งที่นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขอเชิญเข้าร่วมแก้ปัญหาของประเทศในรัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่านที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลแห่งคุณธรรม” โดยเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งในภายหลังก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/156239

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (8)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (8)


“คอลัมน์“วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน กระบวนการบ้านมั่นคง : นวัตกรรมแก้จนของชุมชนสลัม” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 14 ธ.ค. 50 หน้า 18

จากประสบการณ์ บทเรียน และองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาชุมชนยากจนในเมืองอย่างยาวนานภายใต้บทบาทภารกิจของกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเครือข่ายของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ค้นพบและพัฒนารูปแบบในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวสลัม โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต โดยใช้แนวทาง “บ้านมั่นคง” ที่ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางและแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากชุมชนยากจนในเมือง เจ้าของที่ดินที่ถูกบุกรุก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล) และหน่วยงานรัฐบาลส่วนกลาง

ปัญหาคนยากจนในสลัมของเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นจากการอพยพแรงงานจากชนบทเข้ามาดิ้นรนหางานทำ เสี่ยงโชค และแสวงอนาคตในเมือง มีการลักลอบสร้างที่พักชั่วคราวขึ้นมาโดยบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินของวัด และที่ดินเอกชน นานวันเข้าจึงกลายเป็นการตั้งถิ่นฐานรกรากโดยมีสมาชิกในครอบครัวและชุมชนเพิ่มขยายจนเกิดความแออัด ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพราะอยู่อย่างผิดกฎหมาย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน และเป็นแหล่งมั่วสุมที่ก่อปัญหาทางสังคมต่างๆ นานา นอกจากนั้นปัญหาการบุกรุกที่ดินได้นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างผู้บุกรุกกับผู้เป็นเจ้าของที่ดิน เกิดการต่อสู้แย่งชิงสิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดินกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน มีการวางเพลิงเผาบ้านเพื่อไล่ที่ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีการไล่รื้อชุมชนเพื่อนำไปทำประโยชน์ทางธุรกิจ. การแก้ปัญหาของชุมชนสลัมเหล่านี้พบปัญหาอุปสรรคมากมายทั้งในด้านกฎหมาย ในด้านสังคม ในด้านเศรษฐกิจ และในด้านสิทธิมนุษยชน

จากแนวคิดในการพัฒนาที่ใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก และการแก้ปัญหาสังคมโดยมุ่งความมั่นคงของมนุษย์เป็นตัวตั้ง พอช. ได้นำมาใช้เป็นแนวทางของโครงการบ้านมั่นคง โดยมีขั้นตอนสำคัญดังนี้

ขั้นที่ 1 การส่งเสริมให้ชุมชนและชาวบ้านที่เป็นเจ้าของปัญหา มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจัดการปัญหาของตนโดยหลักการพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง

ขั้นที่ 2 กลุ่มชาวบ้านมีกระบวนการออมทรัพย์อย่างมีสัจจะ เพื่อนำเงินออมมาเป็นทุนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของกลุ่มร่วมกัน ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มกันจนมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมถึงระดับก็สามารถจดทะเบียนเป็น “สหกรณ์เคหสถาน” ซึ่งมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล

ขั้นที่ 3 กระบวนการกลุ่มทำการศึกษาปัญหาที่อยู่อาศัยและสภาพการณ์ต่างๆ โดยร่วมกันตัดสินใจ

· วิเคราะห์ลักษณะความเดือดร้อน มักพบว่าชุมชนสลัมมีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย แบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ 1) ความแออัด และความมั่นคงในที่ดินเดิม 2) การบุกรุกแบบกระจัดกระจาย 3) มีปัญหาไฟไหม้ ไล่ที่ น้ำท่วม ภัยพิบัติ หนี้สิน ไร้บ้าน 4) มีความต้องการพัฒนาชุมชนในที่ดินแห่งใหม่

· ด้านความมั่นคงในที่ดิน มักพบว่ามีสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา แบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) มีความยินยอมจากเจ้าของที่ดินให้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย 2) ให้ทำสัญญาเช่าระยะสั้น 3) ให้ทำสัญญาเช่าระยะยาว 4) เกิดการซื้อขายได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน

· ตัดสินใจทางเลือกในการปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ซึ่งมักพบว่ามี 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ปรับปรุงและสร้างใหม่ในที่ดินเดิม 2) รื้อย้ายใกล้ที่ดินเดิม 3) รื้อย้ายออกจากบริเวณเดิม 4) จัดหาที่อยู่อาศัยรวมหรือเช่าในราคาถูก

ดังรายละเอียดที่แสดงโดยแผนภูมิที่ 2, 3, และ 4 (ที่มา : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)

ขั้นที่ 4 “สหกรณ์เคหสถาน” ของชุมชนใช้สิทธิในการกู้ยืมเงินจาก “กองทุน พอช.” เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนจัดหาที่ดิน และ / หรือพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันของกลุ่มสมาชิก
ขั้นที่ 5 กระบวนการกลุ่มร่วมกันออกแบบชุมชน บ้านอยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมในที่ดินที่จะทำการปรับปรุง โดยมีสถาปนิกชุมชนและช่างชุมชนเข้าร่วมสนับสนุนทางเทคนิคจัดการเพื่อจัดทำรายละเอียด
ขั้นที่ 6 พัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยแรงงานและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและสมาชิกสหกรณ์ฯ
ขั้นที่ 7 การขนย้ายเพื่อกลับเข้าอยู่ในบ้านและสิ่งแวดล้อมใหม่
ขั้นที่ 8 ร่วมกันสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน บนหลักการพึ่งตนเอง ด้วยแนวทางของโครงการบ้านมั่นคงดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางออกสำหรับการแก้ปัญหาของชาวบ้านที่บุกรุกและปัญหาของเจ้าของที่ดิน โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรอง นอกจากนั้นยังได้รับการขานรับจากเทศบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีอย่างแท้จริงและปฏิบัติได้จริง. โครงการบ้านมั่นคงจึงแตกต่างจากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปที่มุ่งเพียงการสร้างที่อยู่อาศัย โดยมิได้สร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งควบคู่ไปด้วย จึงทำผู้คนที่อยู่มีสภาพต่างคนต่างอยู่ ไม่รู้จัก และไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน โครงการบ้านมั่นคงเป็นความพยายามในการฟื้นคุณค่าการอยู่อาศัยและการจัดการร่วมกันของคนในชุมชน โดยการสร้างความสัมพันธ์ และสร้างระบบชุมชน ทั้งการจัดระบบที่ดิน การสร้างทุนสำหรับการพัฒนา สร้างระบบสวัสดิการ การอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องและร่วมกันจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยการมีส่วนร่วมจากสมาชิกในชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการพัฒนากายภาพของที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมชุมชน การร่วมกันทำงานและแก้ปัญหาของชุมชนและองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นได้ทำให้เกิดพลังการแก้ไขปัญหา และสร้างการพัฒนาร่วมกันได้มากมาย พลังเหล่านี้ทำให้การเจรจาต่อรองแก้ไขปัญหาที่ดินที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของชุมชนแออัดสามารถเกิดขึ้นได้ ชุมชนสามารถเช่าที่ดินระยะยาวจากหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมทั้งการซื้อที่ดินราคาถูกจากเอกชนเพื่อนำมาจัดทำเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของชุมชน จึงอาจกล่าวได้ว่ารูปแบบโครงการบ้านมั่นคงทำให้เกิดการปฏิรูปที่ดินในเมืองเพื่อนำที่ดินของรัฐและเอกชนมาสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคงพร้อมกับการมีสิทธิให้กับคนจนในเมือง รวมไปถึงการผ่อนปรนกฎหมาย และกติกาการก่อสร้างที่ยังคงมีมาตรฐานห่างไกลกับฐานะความเป็นจริงของคนในชุมชนแออัด แนวทางบ้านมั่นคงในปัจจุบันได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และวงการพัฒนาระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีหน่วยงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 17 ประเทศได้มาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบัน พอช. และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสจัดงานมหกรรม “วันที่อยู่อาศัยโลก 2005” ระหว่างวันที่ 3 – 8 ตุลาคม 2548 Dr. Anna Kajumulo Tibaijuka ผู้อำนวยการ UN – Habitat ซึ่งมาร่วมงานด้วย ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “บ้านมั่นคงเป็นการพัฒนาโดยชุมชนเป็นหลัก ชาวบ้านเป็นผู้จัดการเองทั้งเรื่องบ้าน เรื่องที่ดิน เรื่องการจัดการระบบชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น อีกทั้งรัฐบาลไทยถือเป็นนโยบายสำคัญ ดังนั้น บ้านมั่นคงจึงเป็นทิศทางสำคัญที่ทั่วโลกควรได้เรียนรู้ เพื่อทำให้คนจน 100 ล้านคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงภายใน ค.ศ.2020” สำหรับผลการดำเนินการตามแนวทางบ้านมั่นคง เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (2550) ได้ดำเนินการไปแล้ว 485 โครงการ ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 226 เทศบาล ใน 958 ชุมชน โดยมีครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ 52,780 ครอบครัว และรัฐบาลชุดปัจจุบันได้อนุมัติการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในปี 2554 เป็นจำนวนสะสม 200,018 หน่วยทั่วประเทศ ดังรายละเอียดในตารางที่ 3 ตารางที่ 3 : แสดงการขยายตัวของขบวนการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนสลัมในเมือง

ที่ที่มา : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/154933

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (6,7)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (6,7)


“คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน กองทุนเพื่อสังคมกับจุดก้าวกระโดด และตอน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนเครือข่าย” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 7 และ 11 ธ.ค. 50

กองทุนเพื่อสังคมกับจุดก้าวกระโดด

ขบวนการชุมชนไทยเป็นผลผลิตจากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่ค่อยๆ ฟูมฟักตัวขึ้นมาระหว่างพุทธทศวรรษ 2520 – 2530 ซึ่งในช่วงแรกนั้นไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเครือข่ายของเขาได้อาศัยกองทุน LDAP และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่มีแหล่งทุนจากรัฐบาลแคนาดา เป็นกลไกสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) องค์ความรู้ ทักษะประสบการณ์ และเครือข่ายชุมชนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวนับเป็นทุนทางภูมิปัญญาที่สำคัญของขบวนการชุมชนไทยทั่วประเทศในระยะหลัง

ต่อมาเมื่อรัฐบาลชวน หลีกภัย (1) ได้มีมติเมื่อ 12 พฤษภาคม 2541 ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 เน้นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นผ่านโครงการของภาครัฐต่างๆ

แนวทางที่ 2 เน้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อสร้างฐานการพัฒนาแบบยั่งยืน และปรับโครงสร้างของสังคมโดยกระจายอำนาจและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( Social Investment Fund- SIF) ขึ้นในวงเงิน 120 ล้าน USD หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งกองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค (Regional Urban Development Fund – RUDF) ในวงเงิน 30 ล้าน USD หรือประมาณ 1,350 ล้านบาท และมอบหมายให้ธนาคารออมสินรับผิดชอบในการบริหารจัดการกองทุนทั้งสอง มีระยะเวลาดำเนินการ 40 เดือน

ผลจากมติ ครม.ครั้งนั้น ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งเป็นอดีตประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กับ เอนก นาคะบุตร ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารกองทุน LDAP และอดีตเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมนี้โดยตรง นี่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมาถึงจุดก้าวกระโดดครั้งใหญ่

ในขั้นตอนการดำเนินงานของกองทุน SIF ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆ ตามสัญญากู้เงินและบันทึกข้อตกลง สำนักงานกองทุนเพื่อสังคมยังได้ระดมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมรวมถึงผู้นำชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมให้นำไปสู่เป้าหมายหลัก คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดได้จริง ซึ่งสรุปออกมาเป็นหลักการและวัตถุประสงค์ ตลอดจนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. หลักการสำคัญในการดำเนินงาน

1.1 หลักการ “ทุนทางสังคม” และการลงทุน / เพิ่มทุนทางสังคม

1.2 หลักการแบ่งปันทรัพยากรที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อการลงทุน / เพิ่มทุนทางสังคม

1.3 หลักการความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชน

1.4 หลักการองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา

1.5 หลักการพึ่งตนเองและร่วมมือกัน

1.6 หลักการความร่วมมือหลายฝ่าย (พหุภาคี)

1.7 หลักการประชาคมร่วมเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง

1.8 หลักการเครือข่ายประชาสังคม (เพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของสังคม)

2 วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อให้มีการฟื้นฟูสังคมฐานล่างให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการกระจายอำนาจ โดยเน้นที่ชุมชนฐานล่างและองค์กรที่รวมตัวกันมาก่อน และมีศักยภาพในการจัดการ เพื่อให้เกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมตรวจสอบระหว่างองค์กรชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคีต่างๆ ในท้องถิ่น

2.2 เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาวและสามารถขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นขบวนการที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

2.3 เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง โดยจัดตั้งองค์กรธุรกิจของชุมชนระดับท้องถิ่น ที่ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของธุรกิจ ชุมชนบริหารจัดการและเป็นภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงของท้องถิ่น

2.4 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน

2.5 เพื่อกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนให้เกิดประชาสังคมและธรรมรัฐในระยะยาว โดยร่วมมือเป็นพหุภาคีระหว่างองค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และสถาบันวิชาการ

2.6 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในด้านทรัพย์สินชุมชน โดยสนับสนุนการดำเนินการโครงการด้านโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน โดยการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางสังคม

3. ยุทธศาสตร์หลัก

3.1 การฟื้นฟูทุนทางสังคมที่เป็นคุณค่าเดิมของแต่ละท้องถิ่น และนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

3.2 กระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะ และการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

3.3 ระดมการมีส่วนร่วม โดยใช้หลัก 5 ร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ และร่วมรับประโยชน์

3.4 ปรับแนวคิดในการพัฒนาจากบนลงล่าง มาเป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดตนเองมากขึ้น หรือเรียกว่าเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน

3.5 การช่วยเหลือคนด้อยโอกาสหรือคนชายขอบให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

4. เป้าหมายการดำเนินงาน

4.1 การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และการพึ่งตนเองของท้องถิ่นให้ชุมชนมีกลไกการร่วมมือกันเพื่อร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

4.2 ให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยการพัฒนาขีดความสามารถในการเสริมสร้างรายได้แก่กลุ่มต่างๆ ในชุมชน

5. วิธีการดำเนินงาน

กองทุน SIF สนับสนุนเงินให้เปล่ากับโครงการที่เสนอโดยองค์กรชุมชนและสมทบกับองค์กรท้องถิ่นที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการเองตามเกณฑ์สนับสนุนของกองทุนฯ โดยมีโครงการ 5 ประเภทได้แก่

ประเภทที่ 1 โครงการพัฒนาความสามารถและการเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน

ประเภทที่ 2 โครงการจัดสวัสดิการและความปลอดภัยของชุมชน

ประเภทที่ 3 โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเภทที่ 4 โครงการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถและการสร้างเครือข่าย

ประเภทที่ 5 โครงการจัดสวัสดิการชุมชนเร่งด่วนเพื่อผู้ยากลำบาก โดยเครือข่ายองค์กรชุมชน

6. ผลการดำเนินงาน

ในการดำเนินงานจริงของกองทุน ระหว่างพฤศจิกายน 2541 – มกราคม 2546 รวม 49 เดือน กองทุน SIF ได้ให้การสนับสนุนโครงการแก่องค์กรชุมชนต่างๆ รวม 7,874 โครงการ ในวงเงิน 4,401 ล้านบาท มีจำนวนผู้รับประโยชน์จากโครงการรวม 13.0 ล้านคน ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้ และขยายผลภารกิจของกองทุนฯ จากจุดเริ่มต้นภายใต้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ มีการพัฒนาแนวคิดยกระดับสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องพลังทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยชุมชนและทุนทางสังคม

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนเครือข่าย

จากความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานกองทุน LDAP, LDI และ SIF ล่วงหน้ามาเกือบ 20 ปีก่อน มีส่วนทำให้ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเครือข่ายของเขามองเห็นถึงความจำเป็นในการมีกลไกขับเคลื่อนขบวนการชุมชนไทยที่มีลักษณะถาวรยิ่งขึ้น จึงได้ผลักดันให้มีการรวม หน่วยงานเฉพาะกิจของรัฐ 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองในการเคหะแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ซึ่งในที่สุดวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 รัฐบาลชวน หลีกภัย (2) ก็ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” ขึ้น โดยกำหนดให้เป็นองค์การของรัฐประเภท “องค์การมหาชน” เพื่อดำเนินภารกิจสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท และเพื่อให้มีการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเดิมอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ในกำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสถาบันคนแรกที่มีบทบาทวางรากฐานขององค์กรทั้งในด้านแนวคิด หลักการ การบริหารจัดการ และวัฒนธรรมองค์กร

วิสัยทัศน์

สร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานราก ด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม

พันธกิจ

สนับสนุนการพัฒนาขบวนการองค์กรชุมชนและประชาสังคมโดยประสานพลังจากทุกภาคส่วน

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการจัดการตนเองและพัฒนาทุนของท้องถิ่นได้อย่างบูรณาการและยั่งยืน

2. เพื่อสร้างคุณภาพความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนอย่างเป็นขบวนการ

3. เพื่อพัฒนาระบบการเงินชุมชนและเกิดการบูรณาการกองทุนชุมชน

4. เพื่อประสานกลไกความร่วมมือในการทำงานร่วมขององค์กรชุมชน ภาคีพัฒนาในระดับนโยบาย และท้องถิ่น

5. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล

กลยุทธ์

1) การฟื้นฟูชุมชนและท้องถิ่น

2) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและความมั่นคงของชุมชน (โครงการบ้านมั่นคง)

3) การสร้างการยอมรับและรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน

4) การพัฒนาระบบข้อมูลและการจัดการความรู้

5) การพัฒนาระบบการเงิน ทุน และระบบสวัสดิการชุมชน

6) การสร้างเครือข่ายการพึ่งตนเองของชุมชน

7) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรชุมชน

การตอบสนองนโยบายของรัฐบาล

1) การแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนอย่างบูรณาการของคนจนในเมืองและชนบท

2) การสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้คนในชุมชนเมืองและชนบท

ทุนดำเนินการ

จากการก่อตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเมื่อปี 2543 โดยได้รับทุนประเดิมและรายได้จากกองทุน 2 แหล่ง และงบสนับสนุนจากรัฐบาล รวม 3,399.73 ล้านบาท ดังนี้

1) สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง 2,156.69 ล้านบาท

2) กองทุนพัฒนาชนบท 743.34 ล้านบาท

3) งบสนับสนุนจากรัฐบาล 500 ล้านบาท

จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2549 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมีเงินกองทุน 3,744.01 ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน

ในปี 2550 พอช. ได้ดำเนินงานตามภารกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานที่น่าสนใจซึ่งสามารถสะท้อนบทบาทและศักยภาพในการเป็นกลไกถาวรในการขับเคลื่อนขบวนการชุมชนไทย ดังนี้

1. การพัฒนากลไกและขบวนการชุมชน

ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งสถาบันฯ (2543) พอช. ได้ประสานรวบรวมข้อมูลองค์กรชุมชนจากหน่วยงานพัฒนาต่างๆ พบว่ามีองค์กรชุมชนที่มีขบวนการพัฒนาจำนวน 63,796 องค์กร มีสมาชิกประมาณ 4.6 ล้านคน โดยแยกเป็นประเด็นการพัฒนา 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย 2) สวัสดิการชาวบ้าน 3) แผนชีวิตชุมชน 4) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืน 5) การแก้ไขที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในชนบท

2. การพัฒนาองค์กรชุมชน

สนับสนุนส่งเสริม “โครงการพัฒนาสวัสดิการชาวบ้าน” จำนวน 586 กองทุน สมาชิก 222,316 ราย

สนับสนุนการขับเคลื่อนกระบวนการแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 2,000 ตำบล โดยในจำนวนนี้มีตำบลที่เป็นพื้นที่ต้นแบบจำนวน 114 แห่ง

สนับสนุนโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืน รวม 237 เครือข่าย 1,780 องค์กร สมาชิกประมาณ 70,000 คน มีทั้งโครงการป่าชุมชน โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชายฝั่ง โครงการวิจัยชุมชนเรื่องการจัดการที่ดิน และโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน

สนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในชุมชน 13 พื้นที่ มีคนจนได้รับประโยชน์จากโครงการ 1,500 ครอบครัว และกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับอำเภอ 244 อำเภอ

สนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ รวม 342 ตำบลใน 71 จังหวัดทั่วประเทศ

3. การรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน

ดำเนินกระบวนการประเมินสถานภาพองค์กรชุมชน โดยมีชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญ และได้ให้การรับรองสถานภาพไปแล้วจำนวน 35,317 องค์กร

4. การสนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรชุมชน

พอช. ได้สนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรชุมชนเป็นยอดสะสมรวม 588 องค์กร จำนวน 3,080.7 ล้านบาท โดยมีผู้รับประโยชน์ใน 3,930 ชุมชน จำนวน 373,406 ครอบครัว ประกอบด้วยสินเชื่อหมุนเวียน สินเชื่อพัฒนาธุรกิจชุมชน สินเชื่อพัฒนาแบบองค์รวม สินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บ้านมั่นคง)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/153259

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (5)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (5)


“คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน ผลสะเทือนของนโยบายและยุทธศาสตร์ชุมชน” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 4ธ.ค. 50 หน้า 18

การฟื้นฟูและพัฒนาบทบาทของชุมชนท้องถิ่นตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนั้น รูปธรรมสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จส่วนหนึ่งคือปริมาณและคุณภาพของ “องค์กรชุมชน” และ “เครือข่ายองค์กรชุมชน” ทั่วประเทศ

องค์กรชุมชน เป็นการจัดการตนเองของภาคประชาชนหรือชาวบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กลุ่มสามารถดำรงอยู่ และดำเนินกิจกรรมส่วนรวมได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรชุมชนอาจเกิดจากการจัดตั้งตนเองของชาวบ้าน หรือเกิดจากการส่งเสริมขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือแม้แต่การถูกจัดตั้งโดยหน่วยงานของภาครัฐตามนโยบายก็ได้

เครือข่ายองค์กรชุมชน เป็นการจัดการตนเองของกลุ่มองค์กรชุมชนในระดับเครือข่าย อาจเป็นเครือข่าย “ข้ามพื้นที่” หรือเครือข่าย “ข้ามประเด็น” หรือเครือข่าย “ข้ามวัฒนธรรม” ก็ได้ ซึ่งการรวมตัวและการจัดการความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายเช่นนี้ช่วยทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนทักษะภูมิปัญญาระหว่างผู้นำ และผู้ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนคุณภาพขององค์กรชุมชนได้ในระดับหนึ่ง

การขยายตัวขององค์กรชุมชนและการเติบโตของเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นับเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงผลสะเทือนของการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์วัฒนธรรมชุมชน หรือชุมชนเข้มแข็งได้เป็นอย่างดี

แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศนั้น มีความยากลำบากที่จะรวบรวมให้ได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรชุมชนส่วนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นมิได้มีระบบทะเบียนของหน่วยงานใดของรัฐกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม เราสามารถพิจารณาสถานการณ์และแนวโน้มการขยายตัวของจำนวนองค์กรชุมชนในภาพรวมได้จากข้อมูลของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับการทำงานส่งเสริมสนับสนุนชุมชนตามธรรมชาติมาอย่างยาวนาน อาทิ :-สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สำนักงานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

การขยายตัวขององค์กรชุมชน 4 ระยะ

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จังหวะการขยายตัวขององค์กรชุมชนตามธรรมชาติในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะมีความสัมพันธ์กับมาตรการทางยุทธศาสตร์ของขบวนการวัฒนธรรมชุมชน และกลไกขับเคลื่อนโยบายของภาครัฐ ดังแผนภูมิที่ 1:

แผนภูมิที่ 1 : แสดงการขยายตัวของกลุ่มองค์กรชุมชนตามธรรมชาติ ที่สัมพันธ์กับจังหวะการกระตุ้นของแผนงาน / โครงการของภาคประชาสังคมและภาครัฐ

ระยะที่ 1 กองทุนช่วยเหลือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (พ.ศ.2528 – 2532 )

เป็นช่วงที่ประเทศแคนาดาโดยองค์กรสนับสนุนการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา CIDA (Canadian International Development Agency) ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในชนบทโดยร่วมกับรัฐบาลไทยจัดตั้งกองทุน LDAP (Local Development Assistance Program) ขึ้นด้วยเงินทุน 100 ล้านบาท ดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมโครงการขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในการพัฒนาชุมชนหมู่บ้านประมาณ 100 โครงการ โดยมีจำนวนองค์กรชุมชนเกิดขึ้นและร่วมดำเนินการประมาณ 200 องค์กร

ระยะที่ 2 สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (พ.ศ.2534 – 2541)

เป็นช่วงที่รัฐบาลแคนาดาโดย CIDA ได้ให้การสนับสนุนกองทุน LDAP เป็นการต่อเนื่องอีก 7 ปีต่อมา ด้วยเงินทุน 150 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือให้มีการก่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Foundation : LDF) ขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยพึ่งตนเองในระยะยาว ซึ่งในการนี้มูลนิธิ LDF ได้จัดตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute : LDI) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการปฏิบัติงาน และร่วมกันจัดตั้งกลไกประสานงานกับเอ็นจีโอขึ้นผ่านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เพื่อเป็นกลไกเชิงเครือข่ายที่ไปสนับสนุนองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่

ในช่วงนี้มีการขยายตัวของโครงการและองค์กรชุมชนไปตามเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนในกว่า 30 จังหวัด โดยมีจำนวนองค์กรชุมชนที่ร่วมเครือข่ายประมาณ 2,000 องค์กร

และช่วงนี้เอง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีบทบาทเป็นประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระยะหนึ่งอีกด้วย

ระยะที่ 3 กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (พ.ศ.2541 – 2546)

เป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund : SIF)

ในขณะเดียวกัน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน SIF เพื่อภารกิจนี้โดยตรง

ตลอดการดำเนินงาน 49 เดือนของโครงการ กองทุน SIF ได้ให้การสนับสนุนโครงการให้กับองค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 7,874 โครงการในวงเงิน 4,401 ล้านบาท โดยมีองค์กรชุมชนประเภทต่างๆ ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 20,000 องค์กร

ระยะที่ 4 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พ.ศ.2543 – ปัจจุบัน)

ความสำเร็จในการผลักดันให้มีการรวมโครงการพัฒนาคนจนในเมืองกับกองทุนพัฒนาชนบทเพื่อก่อตั้งเป็นองค์การมหาชนของรัฐที่ชื่อ “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” ในปี 2543 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน โดยที่สามารถสร้างกลไกสนับสนุนที่มีความมั่นคงถาวรให้กับขบวนการชุมชนไทย และในช่วงนี้เอง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันดังกล่าว เขาทำหน้าที่เป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นคนแรก และเป็นผู้วางรากฐานปรัชญาแนวคิดและวัฒนธรรมองค์กรอย่างสำคัญอีกด้วย

ปัจจุบันคาดว่ามีองค์กรชุมชนตามธรรมชาติและที่หน่วยงานสนับสนุนการจัดตั้งขึ้น อยู่ประมาณ 65,000 องค์กร และในจำนวนนี้เป็นองค์กรชุมชนที่ร่วมงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในปี 2550 จำนวน 48,774 องค์กร โดยมีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกเฉพาะส่วนนี้ประมาณ 9.0 ล้านคน และมีเงินออมในกองทุนของชาวบ้านรวมประมาณ 13,126 ล้านบาท ดังรายละเอียดในตารางที่ 1 :

ตารางที่ 1 :- แสดงข้อมูลองค์กรชุมชนที่เข้าร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ประเภทขององค์กรการเงินชุมชนที่หลากหลาย

ในบรรดาองค์กรชุมชนประเภทต่างๆนั้น องค์กรการเงินชุมชน ถือได้ว่าเป็นองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เร็วกว่าเพื่อน ทั้งยังมีการขยายตัวแพร่หลายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ผลสะเทือนจากกระบวนการองค์กรการเงินชุมชนที่ เอ็นจีโอและชาวบ้านร่วมกันขับเคลื่อนบุกเบิกมาจนเป็นแบบอย่างที่ชัดเจน ทำให้พรรคการเมืองใหม่เกิดความสนใจ และได้นำไปใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งในระดับชาติ จนกระทั่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 ต่อมาจึงเกิดเป็นนโยบายของรัฐบาลใน การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในทุกหมู่บ้านและทุกชุมชนเมืองทั่วประเทศ จำนวน 77,789 กองทุน โดยจัดงบประมาณอุดหนุนให้ชาวบ้านบริหารงานกับเองกองทุนละ 1 ล้านบาทในปี พ.ศ.2545 จากผลของนโยบายดังกล่าว ทำให้ปริมาณขององค์กรชุมชนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีส่วนช่วยหนุนเสริมกระแสชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศอย่างขนานใหญ่

ตารางที่ 2 :- แสดงองค์กรการเงินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและที่เกิดโดยนโยบายการจัดตั้งของรัฐบาล (พ.ศ.2549)

จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่ากองทุนชุมชนทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นโดยการจัดตั้งตามนโยบายรัฐบาล ปัจจุบันมีจำนวน 126,440 องค์กร สมาชิก 17.39 ล้านคน และมีจำนวนเงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 102,978.9 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นเงินออมของชาวบ้านเองจำนวน 25,189.9 ล้านบาททีเดียว

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/152092

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (4)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (4)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน การผลักดันแนวคิดสู่นโยบายการพัฒนา” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 50 หน้า 19)

ในสถานการณ์ที่ภาครัฐคือผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนา และแผนพัฒนาประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ใช้เศรษฐกิจและเงินเป็นตัวตั้งมาอย่างต่อเนื่อง แบบแผนต่อแผน จึงทำให้กระแสแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนของภาคประชาชนเป็นเพียงแนวคิด “ชายขอบ” ที่ยากจะได้รับการสนใจจากทางการ

ดังนั้น การต่อสู้เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่มีสถานะอยู่ “ชายขอบ” ให้ขึ้นมาเป็นที่ยอมรับของภาครัฐและหน่วยราชการต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องฝ่าข้ามด่านความคิดความเชื่อและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม นักคิด นักพัฒนา และองค์กรพัฒนาเอกชนไทยได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จ โดยทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับทิศทางประเทศมาสู่การเอาสังคมเป็นตัวตั้งได้สำเร็ว นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมา และหน่วยราชการต่างๆ ให้การยอมรับต่อแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เมื่อวิเคราะห์บทเรียนย้อนหลัง พบว่ากลยุทธ์สำคัญที่พวกเขาดำเนินการ อย่างน้อยประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ การสร้างองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายปฏิบัติการ และการประสานสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่

1. การสร้างองค์ความรู้

จากการศึกษาพัฒนาการ 3 ขั้นของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทย จะเห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการสร้างองค์ความรู้ของบรรดานักคิด นักพัฒนา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง องค์ความรู้ของพวกเขาเป็นองค์ความรู้ที่มีรากฐานของการปฏิบัติจริงในพื้นที่ และมีการยกระดับขึ้นมาอย่างมีจังหวะก้าวที่มั่นคง จากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “ทางเลือกของการพัฒนา” ผ่านกระบวนการพัฒนาเชิงวิชาการ มาสู่ฐานะ “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” จนในที่สุดก็ยกระดับขึ้นเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” ได้สำเร็จ

ทั้งหมดนี้มิใช่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ หากสะท้อนถึงการวางแผนและการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์ของพวกเขาทีเดียว กระบวนการสร้างองค์ความรู้เช่นนี้มีทั้งการวิจัย การพัฒนา และการเคลื่อนไหวสังคมพร้อมกันไป ( Research & Development & Movement: R & D & M) จึงมีความสมบูรณ์อยู่ในตัว

2. การสร้างเครือข่ายปฏิบัติการ

เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)เป็นกลไกประสานงานกลาง และเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นแกนประสาน นับเป็น ชุมชนปฏิบัติการ (Communities of Practice) ขนาดใหญ่ของขบวนการชุมชนไทยที่ขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนา “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ชุมชนปฏิบัติการเหล่านี้คือห้องปฏิบัติการทางสังคม และจุดแสดงสาธิตที่ขบวนการชุมชนไทยได้ใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิด และผลักดันนโยบายอย่างทรงพลัง

3. การประสานสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่

การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างเครือข่ายปฏิบัติการเป็นเรื่องสำคัญ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นต้องมีการประสานร่วมมือกับสถาบันของทางราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่ผู้นำขบวนการชุมชนไทยอย่าง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีสถานะทางสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มีบุคลิกสุภาพอ่อนโยน มีความเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพอยู่ในตัว มีจุดยืนและแนวคิดที่มั่นคง มีความเป็นกลางทางการเมือง และมีวิถีการทำงานในแนวทางสายกลาง จึงทำให้เขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่สามารถทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นที่เข้าใจและยอมรับจากหน่วยงานราชการ และผู้นำระดับสูงของภาครัฐตลอดจนผู้นำรัฐบาลมากขึ้นโดยลำดับ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพได้ในที่สุด

สถานภาพของ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่ถือว่ามีส่วนอย่างสำคัญในการต่อสู้ผลักดันแนวคิดการพัฒนาสังคมของเขานั้น แตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละช่วงเวลา อาทิ :-

ฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2531 – 2540)

ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (2535 – 2538)

ฐานะกรรมการผู้จัดการ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง การเคหะแห่งชาติ ( 2535 – 2540)

ฐานะสมาชิกวุฒิสภา (2539 – 2543)

ฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (2540 – 2543)

ฐานะรองประธานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (2541 – 2543)

ฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2544 – 2548)

ฐานะประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (2543 – 2547)

ฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (2544 – 2549)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/151119

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (3)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (3)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน ขบวนการชุมชนไทยที่กำลังเติบโต ” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 50 หน้า 18)

ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางด้านแนวคิดต่อทิศทางการพัฒนาในระดับชาตินั้น การก่อตัวขององค์กรชุมชนตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้เริ่มขึ้นจากการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในจุดเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ในช่วงแรกที่กองทุน LDAP (Local Development Assistance Program) และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI – Local Development Institute) ที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ร่วมบริหารอยู่ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณโดยผ่านกลไกระดับภูมิภาคของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2528 – 2541 นั้น ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขบวนการชุมชนไทยสามารถตั้งมั่นได้สำเร็จ

ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่เขาเป็นผู้นำแบบประสานเชื่อมโยง ( Bridging Leadership) ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เขาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไปผลักดันสู่การสนับสนุนทางนโยบายที่สูงขึ้นจากภาครัฐ และในการขยายเครือข่ายปฏิบัติการของชาวบ้านที่กว้างขวางออกไปตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศต่อขบวนการชุมชนไทยอย่างน้อยใน 3 ช่วงเหตุการณ์ ได้แก่

1) ช่วงที่เขาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในปี 2535 – 2538 เขาทำหน้าที่ประสานสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ

2) ช่วงที่เขาได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เป็นผู้จัดกระบวนการระดมความคิดของสังคมเพื่อยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ซึ่งเขามีส่วนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่จากเดิมที่เคยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง มาสู่การใช้สังคมเป็นตัวตั้ง

3) ช่วงที่เขาเป็นกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ในปี 2541 – 2543 อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมในวงกว้าง รัฐบาลชวน หลีกภัย จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติขึ้นมาดูแลปัญหาสังคมในช่วงนี้ และ เขามีส่วนผลักดันให้เกิดโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( SIF) ซึ่งได้สร้างผลสะเทือนต่อขบวนการชุมชนอย่างก้าวกระโดด

ขบวนการชุมชนไทย 5 ขบวนหลัก

ขบวนการชุมชนไทยมีการเคลื่อนไหวและพัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบที่หลากหลายไปตามความสนใจและสภาพปัญหาของแต่ละชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันขบวนการชุมชนไทยประกอบขึ้นด้วยขบวนการชุมชนเข้มแข็งที่มีความเข้มแข็งโดดเด่นอย่างน้อย 5 ขบวนการ มีองค์กรชุมชนประเภทต่างๆ กว่าแสนองค์กร ทั้งส่วนที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งตนเองของชาวบ้าน ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน และที่ส่วนที่เกิดจากการจัดตั้งตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่ง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสถาบันในเครือข่ายของเขามีบทบาทประสานสนับสนุนอย่างใกล้ชิด

1) ขบวนการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชน

เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชนเป็นการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองในหมู่ชาวบ้าน มีหลักคิดแบบสหกรณ์ของชาวบ้าน เริ่มก่อตัวจากกลุ่มเครดิตยูเนียนที่องค์กรพัฒนาเอกชนนำแนวคิดมาจากต่างประเทศ และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่หน่วยราชการไปส่งเสริม ต่อมาได้ถูกพัฒนารูปแบบโดยชาวบ้านเองเกิดเป็นรูปแบบ “สัจจะออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการครบวงจรชีวิต” “สัจจะสะสมทรัพย์” และ “ธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ” ขบวนเหล่านี้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างรวดเร็ว

2) ขบวนการเกษตรผสมผสานในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

เครือข่ายเกษตรผสมผสานในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นผลของการปรับตัวของชาวบ้านในชนบทเพื่อดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน และภาวการณ์การเกษตรเชิงเดี่ยวที่เสี่ยงต่อสุขภาพจากสารเคมี และเสี่ยงต่อการขาดทุนจากการถูกกำหนดราคาจากตลาดภายนอก รูปแบบที่พวกเขาดำเนินการมีหลากหลาย อาทิ :- “วนเกษตร” “เกษตรผสมผสาน” “เกษตรทฤษฎีใหม่” “เกษตรธรรมชาติ” “เกษตรอินทรีย์” “เกษตรประณีต” ฯลฯ ซึ่งขบวนการเหล่านี้กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านในชนบททั่วประเทศ

3) ขบวนการสภาผู้นำชุมชน

เครือข่ายสภาผู้นำชุมชนเป็นพัฒนาการของรูปแบบชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในระดับฐานรากอันต่อเนื่องมาจากกระบวนการขับเคลื่อนองค์กรชุมชน สภาผู้นำชุมชน คือ เวทีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรึกษาหารือกันระหว่างผู้นำองค์กรชุมชน ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ ได้ค้นพบตรงกันว่าเป็นกระบวนการที่สร้างความเข้มแข็งในระดับเครือข่ายของพวกเขาได้เป็นอย่างดี และขบวนการนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

4) ขบวนการบ้านมั่นคง

เครือข่ายบ้านมั่นคงเป็นผลสะเทือนจากนวัตกรรมที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้ค้นพบในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในสลัมตามเมืองต่างๆ ในรูปแบบที่เกิดความร่วมมืออย่างลงตัวระหว่างชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเจ้าของที่ดินที่ถูกบุกรุก ขบวนการนี้ได้รับความสนใจจากนายกเทศมนตรีทั้งเมืองใหญ่ และเมืองขนาดกลางทั่วประเทศ จนเกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวาง

5) ขบวนการแผนแม่บทชุมชน

กระบวนการแผนแม่บทชุมชนเป็นเทคนิคกระบวนการในการสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นความตื่นตัวของชุมชนที่ได้รับความนิยมของชาวบ้านกันเป็นอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับของหน่วยราชการอย่างกว้างขวาง รูปแบบนี้เริ่มจากนวัตกรรมของ ประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งนครศรีธรรมราช กับ เสรี พงศ์พิศ แห่งมูลนิธิหมู่บ้าน และต่อมาได้รับการเผยแพร่ขยายตัวไปโดยกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( SIF) ที่มี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ดูแล จนเป็นที่แพร่หลาย และเกิดเครือข่ายปฏิบัติการในเกือบทุกตำบลทั่วประเทศแล้ว

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/150551

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (2)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (2)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน นักการธนาคารผู้นำขบวนการชุมชนไทย” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 50 หน้า 18)

นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) เป็นต้นมา แนวคิดเรื่องชุมชนเข้มแข็ง หรือวัฒนธรรมชุมชนได้ถูกบรรจุไว้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐได้นำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณประจำปี ในขณะเดียวกันกระบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชาวบ้านก็ได้รับการยอมรับในสถานภาพ และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นโดยลำดับ จนทำให้แนวคิด และบทบาท ขบวนการชุมชนไทยมีความสูงเด่นขึ้นอย่างมากในกระแสการพัฒนาประเทศในช่วง 10 ปีหลัง ทั้งในด้านการพัฒนาด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้านการพัฒนาสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม และแม้แต่ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม

พัฒนาการของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

ขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในประเทศไทยเป็นผลผลิตที่เกิดมาจาก “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ที่มีจุดกำเนิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนเมื่อต้นพุทธทศวรรษที่ 2520

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้ปะทะและประสานกับแนวคิดอื่นในกระบวนการดังกล่าว ทำให้สาระสำคัญของแนวคิดนี้ได้รับการเสริมเติมจนมีความเข้มแข็งมากขึ้น และได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น

ระยะที่ 1 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “เป็นทางเลือกของการพัฒนา” (พ.ศ.2520 – 2529)

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำเนิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในชนบทเพื่อเฝ้ามองผลกระทบอันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศตามทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐ

องค์กรพัฒนาเอกชนที่จุดประกายแนวคิดนี้มี 2 สาย ได้แก่ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งนักวิจัยของมูลนิธิได้ค้นพบองค์ความรู้จากการฝังตัวในพื้นที่ชนบทภาคกลางที่จังหวัดชัยนาทว่าแท้ที่จริงแล้ว ท่ามกลางกระแสการพัฒนาในระบบทุนนิยมนั้น เมืองไทยมีวัฒนธรรม 2 กระแส คือด้านหนึ่งเป็นวัฒนธรรมทุนนิยม อีกด้านหนึ่งคือวัฒนธรรมชาวบ้าน และเสนอว่าการพัฒนาประเทศควรยึดแนววัฒนธรรมชาวบ้าน

อีกสายหนึ่งคือสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผู้นำนักพัฒนาขององค์กรได้แนวคิดจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 (ค.ศ.1962 – 1965) ซึ่งเสนอว่า ศาสนจักรคาทอลิกต้องเข้าใจวัฒนธรรมพื้นเมือง และต้องทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาพื้นเมือง มิใช่มุ่งปรับเปลี่ยนพื้นเมืองให้เป็นตะวันตก

กล่าวโดยสรุปแล้วสาระสำคัญของแนวคิดนี้ในช่วงต้นมี 3 ประการ ได้แก่

1) มีความเข้าใจแล้วว่าสังคมไทยประกอบขึ้นจากชุมชนของชาวบ้าน วัฒนธรรมแต่โบราณของไทยเป็นวัฒนธรรมที่เป็นความสำคัญของความเป็นชุมชน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมทุนนิยมที่เน้นความเป็นปัจเจกชนตัวใครตัวมัน แข่งขันและเอารัดเอาเปรียบ

2) จะพัฒนาชุมชนต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมของชุมชน ถ้ามีวัฒนธรรมชุมชนเข้มแข็ง การรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรมส่วนรวมจะสำเร็จได้ไม่ยาก และสามารถต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกได้

3) วิธีการพัฒนาชุมชนต้องทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกที่แจ่มชัดในคุณค่าวัฒนธรรมของเขา ซึ่งปัญญาชนของชาวบ้าน ( Organic Intellectual) และชาวบ้านควรร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชนของเขาเอง

ระยะที่ 2 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนพัฒนาขึ้นเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” (พ.ศ.2530 – 2539)

จาก “ทางเลือกการพัฒนา” ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ต่อมาได้รับการพัฒนาทางด้านแนวคิดทฤษฎีโดยกลุ่มนักวิชาการสถาบันต่างๆ จนสามารถยกระดับขึ้นเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” โดยชี้ให้เห็นความสำคัญ 2 ประการ คือ

1) สถาบันชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนในประวัติศาสตร์คือฐานะ และบทบาทของชาวบ้านในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ชุมชนเป็นระบบซึ่งเป็นแกนกลางของสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมไทย โดยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบชุมชน ไม่ใช่แบบทุนนิยม

2) เส้นทางการพัฒนาโดยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นเส้นทางที่ชอบธรรมที่ให้ประโยชน์เต็มที่แก่ชาวบ้านพื้นเมือง และเป็นเส้นทางของผู้คนส่วนข้างมากที่สุดในประเทศ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของเขตทรอปปิก สถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีหน่วยพื้นฐานคือครอบครัวและชุมชน

ระยะที่ 3 : แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “อุดมการณ์ของสังคม” (พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน)

หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากประชาชนจนมีฐานะเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” กล่าวคือเป็นอีกอุดมการณ์หนึ่งที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยปัจจุบัน ที่นอกเหนือจากอุดมการณ์ทุนนิยม

แนวคิดสำคัญที่หลอมรวมและมีส่วนสำคัญในการขยายแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ ได้แก่

1) แนวคิดเชิงพุทธ ซึ่งเสนอให้ปรับปรุงวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเพิ่มหลักธรรมของพุทธศาสนาเข้าไปเป็นฐานชุมชนธรรมนิยม

2) แนวคิดธุรกิจชุมชน ที่เสนอว่าธุรกิจชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจชุมชน และเป็นส่วนที่ไปติดต่อสัมผัสกับระบบเศรษฐกิจทุน แต่ไม่ใช่เป็นส่วนของระบบเศรษฐกิจทุน

3) แนวคิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดสำนักมาร์กซิสม์ที่มีเป้าหมายโต้แย้งแนวคิดทุนนิยมโดยตรง แต่แนวคิดนี้สุดโต่งและไม่สอดคล้องกับสังคมไทยจึงอ่อนกำลังลงในภายหลัง

4) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเสนอแนวทางดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนพออยู่พอกินพึ่งตนเองได้ ขั้นตอนรวมพลังเป็นชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ และขั้นตอนการร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอก

บทบาทของไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ในกระบวนการพัฒนาของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในฐานะนักคิดนักอุดมการณ์ทางสังคม ทั้งในฐานะที่เป็นผู้บริหารมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ และในฐานะที่เป็นนักยุทธศาสตร์ที่ผลักดันการพัฒนาโดยอาศัยพลังของเครือข่ายปฏิบัติการในพื้นที่

เขามีความเชื่อมั่นในแนวคิดการพัฒนาสังคมที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” และพยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเกิดความเข้าใจ ยอมรับและร่วมทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนั้น ในฐานะที่เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เขาจึงมีบทบาทอย่างมากต่อการนำแนวคิดธุรกิจชุมชนเข้ามาเสริมเติมแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยผ่านบทบาทในการบริหารธนาคารออมสิน และกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/149649

<<< กลับ

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (1)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (1)


(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน …นักพัฒนาสังคมไทยผู้โดดเด่น” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 50 หน้า 18)

ในช่วง 4 ทศวรรษของการก่อตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระบบทุนนิยมยุคใหม่ตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนา

แต่จากข้อสรุปของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นผลสะท้อนของดำเนินการตามนโยบายของแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) ถึงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535 – 2539) ที่กล่าวว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ได้ฉายภาพให้เห็นบรรยากาศการขับเคลื่อนประเทศที่เต็มไปด้วยแรงขับดัน การดิ้นรน การเรียนรู้ การปรับตัว ความขัดแย้ง การต่อสู้ และการเปลี่ยนผ่านของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และสถาบันต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งส่วนที่ได้รับผลประโยชน์ และส่วนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเหล่านั้น

ในช่วงดังกล่าวประชากรของประเทศเพิ่มจาก 26 ล้านคนในปี 2500 มาเป็น 61 ล้านคนในปี 2543 เศรษฐกิจ ( GDP) เติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคยิ่งห่างออกไปทุกที เงินลงทุนจากต่างชาติและการลงทุนในประเทศกระจุกอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร และที่ราบลุ่มภาคกลาง จนทำให้มีสัดส่วนของ GDP รวมกันประมาณร้อยละ 70 ของประเทศ ส่วนที่เหลือกระจายไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ

ในด้านสังคม ช่องว่างทางรายได้ยิ่งแย่ลง รายได้ต่อหัวประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 เท่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 20 % แรกมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 59 ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ข้างล่างมีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ทางด้านการเมืองการปกครอง การลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนนักศึกษาประชาชน 5 แสนคนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นำมาซึ่งการสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนาน 15 ปี และนำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การโต้กลับภายใน 3 ปีถัดมาของกระแสขวาจัดในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ได้นำประเทศเข้าสู่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่รุนแรงเมื่อนักศึกษาประชาชนเกือบ 5,000 คนเข้าป่าจับปืนร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้เวลาร่วม 10 ปีจึงสามารถปรับตัวจนเอาชนะสงครามอุดมการณ์ภายในประเทศลงได้ และก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ถือการเลือกตั้งเป็นใหญ่ ( Thai Electocracy) อย่างเต็มตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่ามกลางกระบวนการต่อสู้ทางความคิด การช่วงชิงกำหนดทิศทางประเทศ และการผลักดันนโยบายในการพัฒนาสังคมในช่วงดังกล่าว ได้มีนักคิด นักพัฒนา ผู้นำชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ใส่ใจต่อปัญหาสังคมปรากฏตัวและแสดงบทบาทที่แตกต่างหลากหลายอันส่งผลให้การพัฒนาสังคมไทยมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ามาโดยลำดับ

ในบรรดานักพัฒนาสังคมดังกล่าว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นับเป็นผู้มีบทบาทและมีผลงานที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษหลัง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการธนาคาร เป็นลูกศิษย์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2510 เป็นคณะทำงานจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในปี 2517 เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2523 และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุอยู่ 5 ปีเศษ ระหว่าง พ.ศ.2525 – 2531

อย่างไรก็ตาม การที่เขาได้เข้าไปช่วยงานมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อันเป็นสถาบันที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มูลนิธิได้รับผลกระทบทางการเมือง จนกระทั่งเขาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทฯ ทำงานเต็มเวลาในปี 2531 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หันเหวิถีชีวิตการทำงานจากนักการเงินการธนาคารมาเป็นนักพัฒนาชนบทและนักพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีความศรัทธายึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” และได้ผลักดันแนวคิดนี้อย่างเอาจริงเอาจังตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยบุคลิกที่เป็นนักประสานเชื่อมโยง ด้วยสถานภาพที่เป็นนักการเงินการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จ ด้วยทักษะในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ และด้วยฐานภาพของผู้นำทางสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายของรัฐในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนตามแนวคิดและแนวทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่กลไกและมาตรการการพัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคมของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยที่เขามีส่วนร่วมเสนอความคิด และร่วมขับเคลื่อน ได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญจนทำให้ขบวนการชุมชนเข้มแข็งเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแผ่ตัวขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ กลไกเหล่านั้นได้แก่ :- สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Community Development Office – UCDO) ในปี 2535, กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund – SIF) ในปี 2541, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (Community Organizations Development Institute – CODI) ในปี 2543, ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.) ในปี 2544, ฯลฯ

นอกจากผลงานที่โดดเด่นในด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งแล้ว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ยังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมชิ้นสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากจนตามแหล่งสลัมในเมือง โดยเขาค้นพบแนวทางขึ้นมาจากการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนถูกไล่รื้อโดยยึดหลักการทำงานในแนวทางพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ที่เขาศรัทธายึดมั่น จึงเกิดเป็นรูปแบบ “โครงการบ้านมั่นคง” ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยของคนในเมือง และได้รับการตอบรับจากผู้บริหารเมืองและชุมชนแออัดอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับการยอมรับในวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนยากจนในระดับสากลอีกด้วย

ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือผู้นำขบวนการชุมชนไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงทั้งจากเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จากหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวง จากแวดวงนักวิชาการ นักคิด นักพัฒนาสังคมทุกระดับ และจากผู้นำนักการเมืองไทยทุกพรรค.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/148462

<<< กลับ

สังขารก็เป็นเช่นนี้

สังขารก็เป็นเช่นนี้


(จากคอลัมน์ “ซูม” เหะหะพาที ในไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 ต.ค. 50 หน้า 5)

ก่อนที่ผมจะนั่งรถเข้าโรงพิมพ์เพื่อที่จะมาเขียนคอลัมน์วันนี้ เปิดอินเตอร์เน็ต ไทยรัฐดอตคอมเช็กข่าว ทำให้ทราบว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เกิดอาการวูบในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี จนต้องออกมานั่งพักแล้วก็ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะลงมาขึ้นรถเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ท่านรองฯไพบูลย์มีอาการเหนื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัด

แต่ยังยิ้มสู้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ ยังไหว ”

คุณหมอ มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ ออกมาส่งรองฯไพบูลย์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ท่านรองฯทำงานหนักติดต่อ กันหลายวัน ทำให้มีอาการความดันโลหิตต่ำ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ทำงานหนัก

บอกตรงๆว่า ขณะนั่งอ่านข่าวอินเตอร์เน็ตนั้น ผมใจระทึกอยู่ตลอด เพราะทราบดีว่าคนอายุปูนนี้แล้ว เวลาเกิดอาการวูบขึ้นมาเนี่ยมันสาหัส สากรรจ์จริงๆ

เห็นเดือนเห็นดาว หมดแรงข้าวต้มอย่างที่โบราณเขาว่าไว้

พอเข้าถึงโรงพิมพ์ ผมก็รีบไปตรวจสอบข่าวคืบหน้าที่โต๊ะข่าว และพบว่า อาการของท่านอยู่ในเกณฑ์หนักหนาพอสมควรทีเดียว

ดูเหมือนเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงหัวใจจะตีบถึง 3 เส้น

ดังนั้น เมื่อต้องทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ จึงเกิดอาการแน่นหน้าอก และหน้ามืดดังที่เป็นข่าว

ล่าสุด คณะแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีต้องรับตัวไว้รักษา และ อาจจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลอีกระยะหนึ่ง

ก็ขอให้ท่านรองฯรักษาเนื้อรักษาตัวและพักผ่อนให้สบายใจเถอะครับ ตัดอะไรได้ก็ตัดทิ้งไปเสียบ้าง…โดยเฉพาะเรื่องงานต่างๆ

ผมยังจำได้ว่า ท่านรองฯเป็นคนขยันขันแข็ง มุ่งมั่นทุ่มเทมาโดยตลอด…มีอยู่ช่วงหนึ่งผมกับท่านมักไปร่วมงานสัมมนากันเป็นประจำ

บางครั้งเวลาไปต่างจังหวัด เรานั่งถกกันตั้งแต่เช้ายันเย็น แถมด้วยภาคค่ำไปจนดึกดื่นเที่ยงคืนยังไม่ยอมหยุดพัก

แต่ตอนโน้นน่ะท่านอายุ 50 กว่าๆนิดๆ ถือว่ายังหนุ่มยังแน่น เรื่อง นอนดึกเรื่องทำงานหนักไม่ต้องห่วง

มาถึงวันนี้ อายุท่านคงจะราวๆ 65 หรือ 66 ปีแล้ว จะโหมเหมือน สมัยก่อนคงจะไม่ไหว

ผมก็ได้แต่หวังว่า หลังจากนี้ไปท่านคงจะหย่อนมือลงบ้าง… อะไรที่ผ่องให้ท่านรัฐมนตรีช่วยหรือท่านปลัดกระทรวงได้ ก็ผ่องไปเยอะๆนะครับ อย่าแบกเอาไว้เลย

ส่วนงานของรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นพิธีการ หรือการตรวจเยี่ยมต่างๆ อาจจะขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีท่านฝากรองนายกฯท่านใหม่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ช่วยทำแทนบ้างก็ได้

แม้งานหลักของรองฯสนธิจะเป็นเรื่องมั่นคง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะช่วยดูแลอย่างอื่นด้วยก็คงจะช่วยผ่อนแรงท่านไพบูลย์ขณะรักษาตัวได้เยอะ

พล.อ.สนธิท่านยังหนุ่มกว่า เพราะอายุ 60 กว่านิดๆ ยังแบกงานหนัก ได้มากกว่า ว่างั้นเถอะ

สรุปว่าออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ขอให้ทำงานเบาๆลงอย่างที่ผมเสนอ นะครับท่านรองฯไพบูลย์

อย่าถึงขั้นลาออกเลย เพราะช่วงนี้ออกไปหลายคนแล้ว ถ้าท่านรองฯลาออกเสียอีกคน แม้จะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ก็จะยิ่งทำให้ ครม.เหลือน้อย ลงไปอีก

จะตั้งเพิ่มก็คงไม่เหมาะสมนัก เพราะอีกไม่นาน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา รัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว

อึดใจประคองๆให้อยู่จนครบวาระ แล้วค่อยอำลาตำแหน่งไปพร้อมๆกันน่าจะเหมาะที่สุด

สำหรับท่านรัฐมนตรีอื่นๆก็อย่าประมาท หมั่นตรวจสุขภาพกันบ่อยๆนะครับ

คนเราพออายุใกล้ 65 หรือเกิน 65 แล้ว สังขารชักเริ่มไม่เที่ยง และความเจ็บป่วยมักจะถามหาอย่างนี้แหละ

ผมเองพอยุท่านรัฐมนตรีเสร็จสรรพ ก็คงต้องแวะไปหาหมอเหมือนกัน…เฮ้อ! พูดไปทำไมมี ก็อายุอานามพอๆกันแหละ ผมกับ รมต.ส่วนใหญ่ใน ครม.ชุดนี้น่ะ…

ท่านเป็นขิงแก่ระดับรัฐบาล ส่วนผมก็ขิงแก่ของวงการหนังสือพิมพ์… มีคำว่าแก่ห้อยท้ายคล้ายๆกันครับ.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/141326

<<< กลับ