นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (5)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (5)


“คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน ผลสะเทือนของนโยบายและยุทธศาสตร์ชุมชน” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 4ธ.ค. 50 หน้า 18

การฟื้นฟูและพัฒนาบทบาทของชุมชนท้องถิ่นตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนั้น รูปธรรมสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จส่วนหนึ่งคือปริมาณและคุณภาพของ “องค์กรชุมชน” และ “เครือข่ายองค์กรชุมชน” ทั่วประเทศ

องค์กรชุมชน เป็นการจัดการตนเองของภาคประชาชนหรือชาวบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กลุ่มสามารถดำรงอยู่ และดำเนินกิจกรรมส่วนรวมได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรชุมชนอาจเกิดจากการจัดตั้งตนเองของชาวบ้าน หรือเกิดจากการส่งเสริมขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือแม้แต่การถูกจัดตั้งโดยหน่วยงานของภาครัฐตามนโยบายก็ได้

เครือข่ายองค์กรชุมชน เป็นการจัดการตนเองของกลุ่มองค์กรชุมชนในระดับเครือข่าย อาจเป็นเครือข่าย “ข้ามพื้นที่” หรือเครือข่าย “ข้ามประเด็น” หรือเครือข่าย “ข้ามวัฒนธรรม” ก็ได้ ซึ่งการรวมตัวและการจัดการความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายเช่นนี้ช่วยทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนทักษะภูมิปัญญาระหว่างผู้นำ และผู้ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนคุณภาพขององค์กรชุมชนได้ในระดับหนึ่ง

การขยายตัวขององค์กรชุมชนและการเติบโตของเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นับเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงผลสะเทือนของการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์วัฒนธรรมชุมชน หรือชุมชนเข้มแข็งได้เป็นอย่างดี

แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศนั้น มีความยากลำบากที่จะรวบรวมให้ได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรชุมชนส่วนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นมิได้มีระบบทะเบียนของหน่วยงานใดของรัฐกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม เราสามารถพิจารณาสถานการณ์และแนวโน้มการขยายตัวของจำนวนองค์กรชุมชนในภาพรวมได้จากข้อมูลของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับการทำงานส่งเสริมสนับสนุนชุมชนตามธรรมชาติมาอย่างยาวนาน อาทิ :-สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สำนักงานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

การขยายตัวขององค์กรชุมชน 4 ระยะ

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จังหวะการขยายตัวขององค์กรชุมชนตามธรรมชาติในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะมีความสัมพันธ์กับมาตรการทางยุทธศาสตร์ของขบวนการวัฒนธรรมชุมชน และกลไกขับเคลื่อนโยบายของภาครัฐ ดังแผนภูมิที่ 1:

แผนภูมิที่ 1 : แสดงการขยายตัวของกลุ่มองค์กรชุมชนตามธรรมชาติ ที่สัมพันธ์กับจังหวะการกระตุ้นของแผนงาน / โครงการของภาคประชาสังคมและภาครัฐ

ระยะที่ 1 กองทุนช่วยเหลือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (พ.ศ.2528 – 2532 )

เป็นช่วงที่ประเทศแคนาดาโดยองค์กรสนับสนุนการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา CIDA (Canadian International Development Agency) ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในชนบทโดยร่วมกับรัฐบาลไทยจัดตั้งกองทุน LDAP (Local Development Assistance Program) ขึ้นด้วยเงินทุน 100 ล้านบาท ดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมโครงการขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในการพัฒนาชุมชนหมู่บ้านประมาณ 100 โครงการ โดยมีจำนวนองค์กรชุมชนเกิดขึ้นและร่วมดำเนินการประมาณ 200 องค์กร

ระยะที่ 2 สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (พ.ศ.2534 – 2541)

เป็นช่วงที่รัฐบาลแคนาดาโดย CIDA ได้ให้การสนับสนุนกองทุน LDAP เป็นการต่อเนื่องอีก 7 ปีต่อมา ด้วยเงินทุน 150 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือให้มีการก่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Foundation : LDF) ขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยพึ่งตนเองในระยะยาว ซึ่งในการนี้มูลนิธิ LDF ได้จัดตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute : LDI) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการปฏิบัติงาน และร่วมกันจัดตั้งกลไกประสานงานกับเอ็นจีโอขึ้นผ่านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เพื่อเป็นกลไกเชิงเครือข่ายที่ไปสนับสนุนองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่

ในช่วงนี้มีการขยายตัวของโครงการและองค์กรชุมชนไปตามเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนในกว่า 30 จังหวัด โดยมีจำนวนองค์กรชุมชนที่ร่วมเครือข่ายประมาณ 2,000 องค์กร

และช่วงนี้เอง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีบทบาทเป็นประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระยะหนึ่งอีกด้วย

ระยะที่ 3 กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (พ.ศ.2541 – 2546)

เป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund : SIF)

ในขณะเดียวกัน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน SIF เพื่อภารกิจนี้โดยตรง

ตลอดการดำเนินงาน 49 เดือนของโครงการ กองทุน SIF ได้ให้การสนับสนุนโครงการให้กับองค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 7,874 โครงการในวงเงิน 4,401 ล้านบาท โดยมีองค์กรชุมชนประเภทต่างๆ ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 20,000 องค์กร

ระยะที่ 4 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พ.ศ.2543 – ปัจจุบัน)

ความสำเร็จในการผลักดันให้มีการรวมโครงการพัฒนาคนจนในเมืองกับกองทุนพัฒนาชนบทเพื่อก่อตั้งเป็นองค์การมหาชนของรัฐที่ชื่อ “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” ในปี 2543 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน โดยที่สามารถสร้างกลไกสนับสนุนที่มีความมั่นคงถาวรให้กับขบวนการชุมชนไทย และในช่วงนี้เอง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันดังกล่าว เขาทำหน้าที่เป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นคนแรก และเป็นผู้วางรากฐานปรัชญาแนวคิดและวัฒนธรรมองค์กรอย่างสำคัญอีกด้วย

ปัจจุบันคาดว่ามีองค์กรชุมชนตามธรรมชาติและที่หน่วยงานสนับสนุนการจัดตั้งขึ้น อยู่ประมาณ 65,000 องค์กร และในจำนวนนี้เป็นองค์กรชุมชนที่ร่วมงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในปี 2550 จำนวน 48,774 องค์กร โดยมีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกเฉพาะส่วนนี้ประมาณ 9.0 ล้านคน และมีเงินออมในกองทุนของชาวบ้านรวมประมาณ 13,126 ล้านบาท ดังรายละเอียดในตารางที่ 1 :

ตารางที่ 1 :- แสดงข้อมูลองค์กรชุมชนที่เข้าร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ประเภทขององค์กรการเงินชุมชนที่หลากหลาย

ในบรรดาองค์กรชุมชนประเภทต่างๆนั้น องค์กรการเงินชุมชน ถือได้ว่าเป็นองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เร็วกว่าเพื่อน ทั้งยังมีการขยายตัวแพร่หลายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ผลสะเทือนจากกระบวนการองค์กรการเงินชุมชนที่ เอ็นจีโอและชาวบ้านร่วมกันขับเคลื่อนบุกเบิกมาจนเป็นแบบอย่างที่ชัดเจน ทำให้พรรคการเมืองใหม่เกิดความสนใจ และได้นำไปใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งในระดับชาติ จนกระทั่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 ต่อมาจึงเกิดเป็นนโยบายของรัฐบาลใน การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในทุกหมู่บ้านและทุกชุมชนเมืองทั่วประเทศ จำนวน 77,789 กองทุน โดยจัดงบประมาณอุดหนุนให้ชาวบ้านบริหารงานกับเองกองทุนละ 1 ล้านบาทในปี พ.ศ.2545 จากผลของนโยบายดังกล่าว ทำให้ปริมาณขององค์กรชุมชนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีส่วนช่วยหนุนเสริมกระแสชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศอย่างขนานใหญ่

ตารางที่ 2 :- แสดงองค์กรการเงินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและที่เกิดโดยนโยบายการจัดตั้งของรัฐบาล (พ.ศ.2549)

จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่ากองทุนชุมชนทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นโดยการจัดตั้งตามนโยบายรัฐบาล ปัจจุบันมีจำนวน 126,440 องค์กร สมาชิก 17.39 ล้านคน และมีจำนวนเงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 102,978.9 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นเงินออมของชาวบ้านเองจำนวน 25,189.9 ล้านบาททีเดียว

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/152092

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *