สำนึกไทยที่พึงปรารถนา

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา


(ตัดตอนและดัดแปลงเล็กน้อยจากหนังสือ “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร จัดพิมพ์โดย มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2543)
คำนิยม
สำนึกหรือจิตสำนึก (Consciousness) กำหนดการรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ หากสำนึกแคบ การรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมก็แคบ ถ้าสังคมใหญ่แต่สำนึกเล็กก็จะเกิดความขัดแย้ง ทำให้ไม่สามารถรักษาความเป็นปรกติของสังคมไทย การยกระดับสำนึกของคนในชาติจึงควรเป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ
คนไทยต้องมีจิตใหญ่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆที่กำลังเผชิญอยู่ได้ “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” ที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร นำเสนอนี้ คือมารดาแห่งการปฏิรูปทั้งปวง (Mother of all reforms) เพราะจิตสำนึกคือส่วนที่ลึกและทรงพลังที่สุด ถ้าจิตสำนึกเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน หวังว่า “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” จะช่วยให้เกิดพลังสร้างสรรค์มหาศาลในการนำชีวิต และสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด
ประเวศ วะสี
20 พฤศจิกายน 2543

1. คำปรารถ
สำนึกเป็นสิ่งที่อยู่ลึกในจิตใจของคน เป็นตัวชี้นำ กำกับ กลั่นกรองพฤติกรรมของคน ตลอดจนองค์ประกอบทั้งหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กลุ่มคน องค์กร ชุมชน หรือสังคมโดยรวม ล้วนได้รับอิทธิพลจาก “สำนึก” ของคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
จะเห็นได้ว่าความดี ความเลว ความเจริญ ความเสื่อม ตลอดจนพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ในแต่ละสังคมก็ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “สำนึก” ของคนเช่นกัน ดังนั้น “สำนึก” จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จับต้องยาก มองเห็นยาก และพัฒนายาก

2. สำนึกที่พึงปราถนา
สำนึกที่พึงปรารถนาคือ สำนึกร่วมของผู้คนในสังคม เพื่อก่อให้เกิดแบบอย่างอันดีในการนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมของคน กลุ่ม สังคม ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ทั้งนี้สำนึกดังกล่าวจะเป็นเช่นใดย่อมขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นว่าต้องการให้เป็นแบบใดไม่ว่าจะเป็นแบบสนุกสนาน แบบตื่นเต้น แบบเสี่ยงหรือเกื้อกูลกันโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและมีความยั่งยืน เมื่อมีความปรารถนาเช่นใดผู้คนภายในสังคมย่อมต้องสร้างสำนึกให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น ดังนั้นสำนึกที่พึงปรารถนาก็คือสำนึกที่จะนำไปสู่สภาพที่สังคมต้องการ
2.1 ลักษณะสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
สังคมโดยรวมยอมรับกันว่า “สังคมสันติสุข” คือสังคมที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ทั้งนี้วิวัฒนาการของแต่ละสังคมอาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแรงผลักทางสำนึกของทุกๆส่วนในสังคมนั้น ในส่วนของสำนึกไทยที่พึงปราถนาที่พิจารณาจากความมีสันติสุข น่าจะมีภาพลักษณ์ดังนี้

ต้นจากความหมายของ “สังคมดี”
สังคมที่ดีคือ “สังคมแห่งความสุข” เป็นสังคมที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น มีสันติ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายพอสมควร มีจิตใจสงบสุข สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนส่งผลกระทบต่อตัวเองและลูกหลานในภายหลัง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสังคมแห่งความสุข เป็นความสุขของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่สังคมที่คนส่วนน้อยมีความสุข แต่คนส่วนใหญ่มีความทุกข์ ดังนั้นสังคมดีจึงหมายรวมถึงการลดความทุกข์ให้คนส่วนใหญ่ด้วย
2.1.2 สังคมที่เน้นสันติสุข
สังคมสันติสุขเป็นสังคมที่เน้นความเรียบง่าย ความประหยัด การอดออม เน้นการพัฒนาทางจิตใจและปัญญามากกว่าวัตถุ เน้นการรวมกลุ่มคนมากกว่าให้มีบุคคลที่โดดเด่นโดยลำพังตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันในลักษณะใครดีใครอยู่
อย่างไรก็ดี ถ้าเราชอบสังคมที่ตื่นเต้นมีความเป็นเลิศ ยอดเยี่ยม มีวีรบุรุษวีรสตรี มีวัตถุแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ตลอดจนมีทัศนคติว่าถ้ามีการบริโภคมากย่อมแสดงถึงความสามารถที่เหนือกว่าผู้อื่น ก็ต้องมีกระบวนการสร้างสำนึกอีกแบบหนึ่ง คือสร้างสำนึกให้เป็นแบบเน้นการพัฒนาศักยภาพจนสุดความสามารถ ต้องคิดสร้างวัตถุที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีการแข่งขันตลอดเวลาว่าใครจะเก่งที่สุด แต่ความสงบสุขหรือสันติสุขจะลดน้อยลง ซึ่งสำนึกดังกล่าวอาจเหมาะกับสังคมบางแห่งแต่ไม่น่าเหมาะกับสังคมไทย
2.1.3 สังคมที่ตกลงร่วมกัน
สังคมที่พึงปรารถนาย่อมมีลักษณะของการตกลงร่วมของผู้คนภายในสังคมว่าประสงค์ให้สังคมเป็นแบบใด ตัวอย่างของการตกลงร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด คือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) ถึงแม้จะไม่สามารถระดมผู้คนทั้งสังคมได้หมดทุกคน แต่ถือได้ว่ามีคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ 7
การตกลงร่วมกันอีกครั้งหนึ่งคือ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันของคนในสังคมมากที่สุด บทเรียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าไม่ยากเกินไปในการสร้างกระบวนการให้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงตามความต้องการของทั้งสังคม
2.2 รูปธรรมของสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
การนำคนส่วนใหญ่ในสังคมมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ อาจพิจารณาจากประสบการณ์ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ควบคู่กับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งสร้างกลไกในการร่วมคิดร่วมระดมความเห็นจนสรุปได้ว่าต้องการให้สังคมไทยเป็นอย่างไร และคิดต่อไปด้วยว่าจะสร้างสำนึกแบบใด จะเห็นได้ว่าการใช้กระบวนการสร้างสำนึกแบบใหม่ที่พึงปราถนา สามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะผ่านกระบวนการคิดร่วมกันตกลงร่วมกัน ทั้งนี้อาจโยงไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์หรือวิธีการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาให้บังเกิดผลด้วย เป็นกระบวนการที่คนในสังคมร่วมกันคิด ร่วมกันดำเนินการ โดยมีรูปธรรมที่จะนำพาการต่อยอดทางความคิด ดังนี้
2.2.1 ส่งเสริมให้มีเวทีสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
ควรส่งเสริมการสร้างเวทีขนาดเล็กและใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นต่อการสร้างสังคมที่พึงปรารถนาและคิดต่อไปถึงวิธีการ โดยส่วนหนึ่งของวิธีการก็คือ “การมีสำนึกที่ดี” เพราะสำนึกเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันหรือในการกำหนดพฤติกรรม เมื่อตกลงได้ว่าสำนึกที่ดีเป็นอย่างไร ก็ต้องคิดต่อว่าวิธีการดำเนินการต่อไปควรจะเป็นอย่างไรด้วย ทั้งนี้อาจใช้เวทีโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างแบบอย่างที่ดี เผยแพร่แบบอย่างที่ดีหรืออาจจะใช้กระบวนการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ได้ แล้วแต่วิธีการที่สังคมจะคิดและเลือกสรร
2.2.2 สำนึกที่พึงปรารถนาในมิติของศาสนา
ด้วยศาสนาเป็นกรอบของการกำหนดสำนึกและพิธีกรรม โดยมากเป้าหมายของศาสนาคือการสร้างสำนึกที่ดี พฤติกรรมที่ดี แต่ความเข้าใจศาสนาที่ผิวเผินบอกได้เพียงว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องลงลึกไปถึงการสร้างสำนึกที่ดี ทั้งนี้พุทธศาสนามีความลึกซึ้งมาก สามารถลงลึกไปถึงจิตใต้สำนึกได้
อย่างไรก็ดี หากมีการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนและไม่เหมาะสม แต่ไปยอมรับกันว่าเป็นหลักการของศาสนา ศาสนาก็เป็นเหตุให้เกิดสำนึกที่ไม่พึงปรารถนา และเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสังคม แต่ถ้าใช้กรอบของศาสนาที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ควรทำ ก็กลายเป็นปัจจัยในการสร้างสำนึกที่ดี และศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายกลไกที่ช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น
เนื่องจากศาสนามีผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่อ้างว่านับถือศาสนากระทำอย่างผิดเพี้ยนอยู่มิใช่น้อย ฉะนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงการปฏิบัติตามศาสนาเพื่อให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นเครื่องมือที่ดีให้กับสังคมอย่างที่ศาสนาควรจะเป็น เพราะแรกเริ่มนั้นศาสนาคือปัจจัยช่วยให้สังคมดี ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้สังคม และช่วยรักษาความดีให้สังคม แต่พอนานไปผู้ปฏิบัติตามศาสนาจำนวนมากขึ้นๆ ก็ค่อยๆ ผิดเพี้ยนไปจากหลักการที่ถูกต้อง กลายเป็นตัวปัญหาให้สังคม หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างที่ควรจะเป็น
พุทธธรรมมีคุณภาพสูงมาก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นศาสตร์ในแง่ที่เป็นหลักวิชา มีความเป็นระบบ มีขั้นตอน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทำนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ ส่วนเป็นศิลป์เพราะมีวิธีปฏิบัติ มีการนำไปใช้ในรูปแบบที่หลากหลายในสถานการณ์ต่างๆ ฉะนั้นเป็นเครื่องมือให้คน กลุ่มคน ชุมชนและสังคมนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าหากได้คิดร่วมกันว่าจะนำพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์อย่างไร ควรเริ่มต้นจากคนที่อยู่ใกล้ที่สุดคือพระสงฆ์ ซี่งท่านคือผู้ปฏิบัติคือผู้ที่เป็นแบบอย่างให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าพุทธธรรมมีคุณประโยชน์อย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือให้ผู้ปฏิบัติพุทธธรรมหรือขบวนการสงฆ์นั้นได้พัฒนาเพื่อให้เกิดความเสื่อมใส เพราะถ้าผู้ปฏิบัติคือพระสงฆ์ที่เปรียบเสมือนครูทำไม่ดีเสียเองแล้วความเลื่อมใสก็จะไม่เกิด จะไปโน้มนำประชาชนว่าอย่าเชื่อถือเครื่องรางของขลังก็คงบอกไม่ได้ แต่ประชาชนก็มีส่วนทำให้พระไขว้เขวเช่นกัน เช่นไปนิมนต์ให้ทำในสิ่งที่พระไม่ควรทำ หรือในขณะที่พระพยายามลดวัตถุ ประชาชนก็พยายามเอาวัตถุไปให้ ดังนั้นพระสงฆ์จึงต้องมีความเข้มแข็งและแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปเห็นเป็นตัวอย่าง จึงจะสามารถสอนและให้คำแนะนำคนอื่นได้ ถือเป็นการเริ่มที่วงการสงฆ์
การใช้ประโยชน์จากพุทธธรรมบางครั้งต้องใช้ศิลปะ เช่น พระสุบินที่จังหวัดตราด ท่านนำเรื่องการออมทรัพย์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างศีลธรรมในชุมชน อีกทั้งยังใช้ศิลปะในการรวมกลุ่มของประชาชน มีกิจกรรมการออมทรัพย์ การปล่อยกู้ การสร้างวินัย การสร้างคุณธรรม ทำให้การอยู่ร่วมกันดีขึ้น และท่านเองก็วางตัวได้ดี ปราศจากข้อตำหนิ มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หลงไปกับวัตถุ ไม่เรี่ยไร เมื่อมีคนมานิมนต์ไปเทศนาได้เงินมาก็ใช้ในกิจกรรมส่งเสริมกลุ่มออมทรัพย์ แนะนำให้คนออมทรัพย์ นี่คือตัวอย่างที่ดีของการประยุกต์พุทธธรรมให้ผู้คนปฏิบัติตามอย่างชาญฉลาดและมีศิลปะ
2.2.3 เครือข่ายสำนึกที่พึงปรารถนา
เมื่อเรารู้ว่าอะไรคือสำนึกที่พึงปรารถนาแล้ว ก็ต้องขยายวงออกไป โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายโดยชุมชนในระดับหมู่บ้าน เมื่อรวมกันหลายหมู่บ้านก็กลายเป็นเครือข่ายตำบล เครือข่ายอำเภอ เครือข่ายจังหวัด ซึ่งการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันและกันเป็นความเข้มแข็งร่วมกัน ในขณะที่การใช้ความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นสายสัมพันธ์เชิงดิ่งจากส่วนกลางก็ยังสามารถมีได้ แต่ต้องเน้นในเชิงวิชาการหรือการดูแลเฉพาะกิจเฉพาะด้าน เมื่อผนวกกับสายสัมพันธ์เชิงราบระหว่างชุมชนด้วยกันจะทำให้เกิดพลังและการพัฒนาที่ผสมผสานได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

3. พลังขับเคลื่อนสู่สำนึกที่พึงปรารถนา
การที่สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด  จำเป็นที่คนในสังคมจะต้องเห็นว่าสังคมนั้นมีปัญหา  เข้าใจปัญหา  และมีความประสงค์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้พลังของคนในสังคมเป็นหลัก  แต่การใช้พลังเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกลไกอื่นประกอบด้วย  ด้งนั้นอาจใช้สำนึกเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้ดังนี้
3.1 เส้นทางสังคมสู่สำนึกที่พึงปรารถนา
เส้นทางสู่สำนึกที่พึงปรารถนาหมายถึง การขับเคลื่อนของคนในสังคมเพื่อสร้างจิตสำนึกอันดีงามร่วมกัน  จะไม่ใช่เรื่องของ “ผู้นำทางสังคม” เพียงลำพัง แต่เป็นเรื่องร่วมกันของทุกผู้คนในสังคม ซึ่งในส่วนของผู้นำทางสังคม นักวิชาการ ในฐานะที่ผ่านโลกมามาก พบเห็นลักษณะอันดีงามมากมายจากหลายแห่ง อาจช่วยชี้นำ หรือช่วยเสนอทางเลือกได้ว่าสำนึกที่พึงปรารถนาควรเป็นเช่นใด แต่การตัดสินใจควรเป็นมิติของคนทั้งสังคม โดยต้องพิจารณาให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับชุมชนและสังคมของเรา ดังนั้น สำนึกที่ดีควรเป็นการเลือกสรรภายในชุมชนและสังคมของเราเอง ไม่ใช่การนำเอาสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามายึดถือปฏิบัติตามโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลที่แท้จริง
3.1.1 การได้มาซึ่งสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
เมื่อสังคมไทยมีความปรารถนาในการสร้างสำนึกร่วมกันในทางที่ถูกต้อง  จำเป็นต้องนำเสนอลักษณะของสำนึกเพื่อให้คนในสังคมร่วมกันพิจารณา  แต่ไม่ได้หมายความว่าภายในสังคมหนึ่งต้องมีสำนึกเพียงประการเดียว  อาจมีได้หลากหลายแต่ไม่ควรขัดแย้งกัน ควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน  เช่นสำนึกที่ว่า “ทำดีได้ดี” ย่อมสัมพันธ์กับสำนึกที่ “คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน” หรือสอดคล้องกับการกล้ายืนหยัดทำให้สิ่งที่ถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง มีความมุ่งมั่นในผลสำเร็จของงาน ยึดมั่นในระบบคุณธรรม ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแม้จะมีสำนึกหลากหลายแต่สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน
3.1.2 การกำหนดสัญลักษณ์ของสังคมที่ดีและพึงปรารถนา
ลักษณะของสัญลักษณ์ทางสังคมที่ดี คือ การที่สมาชิกของสังคมแต่ละคนสามารถใช้ศักยภาพของตนในทางที่ถูกต้อง แล้วได้รับการส่งเสริม มีการรับรู้ผลของการกระทำและจะส่งผลถึงตนอย่างไรบ้าง เช่น “ถ้ากระทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทนและหากทำไม่ดีย่อมได้รับการลงโทษ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” หรือ “กรรมเป็นผลของการกระทำ”
3.1.3 อุดมคติของสังคมที่ดี
การจะสร้างสังคมที่ดีได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในสังคม  การร่วมกันสร้างสังคมนั้นต้องใช้กระบวนการในระดับชาติ  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกาะกินสังคมร่วมกันตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม ร่วมกันดำเนินการอย่างขันแข็ง  และผลสุดท้ายประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากการะทำดังกล่าว  ดังนั้นต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคมจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเพณี มาตรฐานทางสังคมเพื่อให้เป็นสังคมที่ดีงามได้ ตัวอย่างรูปธรรมที่ควรระลึกถึงในเชิงอุดมคติคือ หลักศีลธรรมประจำตัว ที่ ดร. ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ได้ บรรยายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2512 ดังนี้
1) “ความจริง” หรือที่ทางพุทธธรรมเรียกว่า “สัจจะ” เป็นธรรมะที่ควรใฝ่หาทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จะเห็นได้ว่า “สัจจะ” จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
2) “ความงาม” เป็นศิลปะทางจิตใจของมนุษยชาติ เพราะมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ที่เราไม่ได้อยู่ด้วยวัตถุเพียงอย่างเดียว เราต้องการความพึงพอใจลึกซึ้งเข้าไปในศิลปะอันงดงาม รวมถึงภูมิประเทศที่ตรึงตา ดอกไม้สีสันสวยงาม คำพูดที่จับใจ ดนตรีไพเราะ จินตกวีนิพนธ์ วีรกรรมและการเสียสละของมนุษย์ สิ่งที่มีความงามเหล่านี้ทำความเจริญให้ก่อเกิดในจิตใจ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ
3) “ความดี” เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและกำกับโลก ถ้าโลกเรามีแต่ความชั่วเป็นเกณฑ์ มนุษย์จะเบียดเบียนกันและกัน แทนที่จะบำรุงหมู่คณะให้เจริญ สำนึกด้านความดีจะทำให้รู้จักการแยกแยะว่าอะไรดีอะไรไม่ดี มีหิริโอตตัปปะ คือการละอายและเกรงกลัวที่จะทำสิ่งไม่ดี มีความตั้งใจ พยายามที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและส่วนรวมเป็นต้น
การมีอุดมคติจะเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจและเตือนตนให้อยู่ในกรอบของการดำรงชีวิตที่ดี
3.2 กลไกและกระบวนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
กลไกและกระบวนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลที่เหมาะสม มีกระบวนการเรียนรู้และรวมศูนย์การสื่อสาร เพื่อเป็นแรงผลักดันสู่ทิศทางที่พึงปรารถนา
3.2.1บทบาทของผู้นำและของประชาชน
ทุกสังคมต้องมีผู้นำไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่การมีผู้นำแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน เพราะประชาชนก็ต้องเกื้อกูลผู้นำ ถ้าประชาชนไม่เข้มแข็ง ผู้นำจะต้องทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยโดยอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต้ถ้าประชาชนเข้มแข็งผู้นำจะทำงานได้ผลโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก ผู้นำริเริ่มดำเนินการเพียงเล็กน้อย ประชาชนก็สานต่อไปได้ หรือถ้าผู้นำทำท่าว่าจะซวนเซบ้างประชาชนก็สามารถถ่วงดุล และผลักดันการขับเคลื่อนในทางที่ดีให้เดินต่อไปได้
ผู้นำมีหลายระดับเช่น ในระดับประเทศมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ปลัดกระทรวง อธิบดี ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในระดับอำเภอ มีนายอำเภอ ในระดับตำบลและหมู่บ้านมีประธานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ที่กล่าวมานั้นคือผู้นำที่เป็นทางการ ส่วนผู้นำที่ไม่เป็นทางการได้แก่ ผู้นำในสังคม ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กร นักธุรกิจชั้นนำ ศิลปินชั้นนำ ผู้นำแรงงาน ผู้นำเกษตรกร นักวิชาการแนวหน้า นักกิจกรรมสังคมที่สำคัญ พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของทุกศาสนาและอื่น ๆ ผู้นำในสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเหล่านี้ล้วนมีหรือสามารถมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มสร้างสรรค์ โน้มนำ หล่อหลอม พัฒนาสำนึกที่ดีต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
3.2.2. การสื่อสารด้านสำนึกต้องรวมศูนย์
ปัจจุบันการสื่อสารมีความรวดเร็วมาก ต่างจากในอดีตที่การติดต่อสื่อสารแต่ละครั้งยืดยาวและเนิ่นนาน ทางด้านสำนึกที่พึงปรารถนาจำเป็นต้องมีการเน้นหนักเรื่องการควบคุมโดยศูนย์กลางโดยเผยแพร่ในสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าดีหรือเป็นกลไกให้ผู้อื่นร่วมเผยแพร่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ
ทั้งนี้ต้องมีผู้นำที่เข้าใจกระบวนการสื่อสาร  เพื่อสร้างสำนึกที่ดีและควรมีอำนาจในการกำกับดูแลคนได้  ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลักษณะของการปกครองที่จะต้องควบคุมกำกับดูแล  แต่เป็นการประสานพลังกันระหว่างผู้นำกับประชาชน เพราะพลังที่แท้จริงมาจากประชาชน และผู้นำควรมองการสื่อสารอย่างเป็นองค์รวม ถึงเสมือนเป็นการสื่อสารเพื่อประชาชนนั่นเอง
3.2.3 กระบวนการศึกษาเรียนรู้ สร้างสำนึก สร้างชาติ
ระบบการศึกษาเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสำนึก สร้างชาติ สร้างสังคม สร้างคน ทั้งนี้ระบบการศึกษาที่คนโดยทั่วไปเข้าใจก็คือ “ระบบการศึกษาที่เป็นทางการ” แต่ความหมายที่แท้จริงรวมถึงระบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคม ซึ่งเรียกว่า “ระบบการศึกษาที่สมบูรณ์” ความสำคัญจึงอยู่ที่การผลักดันสำนึกที่พึงปรารถนาเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้
ดังที่กล่าวไว้ว่า การสร้างสำนึกมาจากตัวเองและจากปัจจัยภายนอก หรือกระบวนการเรียนรู้โดยระบบหรือกลไกที่สร้างขึ้นมาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ลักษณะที่เป็นทางการก็คือระบบโรงเรียน  สถาบันการศึกษา และที่ไม่เป็นทางการก็คือการเรียนรู้ภายใน องค์กร ชุมชน สังคม การเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชน ผ่านปฏิสัมพันธ์ต่างๆ  ภายในสังคม ถ้ามองอย่างนี้ก็อาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาทั้งหมดคือ กระบวนการที่สามารถสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3 สื่อมวลชนที่มีสำนึกและนำพาสำนึกที่ดีสู่สาธารณชน
การสร้างสำนึกโดยอาศัยบทบาทของสื่อมวลชนสามารถมองในแง่ของ “เครื่องมือ” หรือ “ทางผ่าน” ของข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ผลิตผู้สร้างโดยส่งข่าวสารไปยังผู้รับสื่อโดยทั่วไป แต่ต้องรับรู้ว่าวัฒนธรรม ค่านิยม ความคิด และสำนึกของผู้ผลิตและผู้สร้างได้แฝงเร้นเข้าไปในสื่อและสื่อก็มีอานุภาพมากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมวงกว้าง ดังนั้นต้องมีกระบวนการสร้างสำนึกที่ดีให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเพราะสื่อมีอิทธิพลมากในการขยายสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3.1 สื่อมวลชนกับบทบาทในการนำพาสำนึกที่พึงปรารถนา
บทบาทนำพาสำนึกที่พึงปรารถนาจะเริ่มต้นจากการรับรู้ว่าลักษณะของสำนึกไทยที่พึงปรารถนาเป็นเช่นใด  ซึ่งวิธีการพิจารณาอย่างง่ายที่สุดคือใช้ความรู้สึกแทนตนเองว่าเป็นสาธารณะและคิดว่า “สำนึกที่พึงปรารถนาควรเป็นเช่นใด” ที่เมื่อสร้างขึ้นแล้วจะนำพาสังคมสู่ความสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่กล่าวมาคือความเชื่อพื้นฐานว่า สื่อมวลชนมีสำนึกที่ดีเปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และสามารถเผยแพร่สำนึกดังกล่าวสู่สาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง
3.3.2 สื่อมวลชนกับบทบาทต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยน
นอกจาการเสนอลักษณะของสำนึกที่ดีแล้ว  อีกบทบาทหนึ่งคือการต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยน แม้ว่าบางสำนึกจะเป็นสำนึกหลักของประเทศชาติไปแล้ว เช่น สำนึกเรื่องการห้อมล้อมอำนาจ สำนึกในเรื่องความไม่เรียบง่าย สำนึกเรื่องความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย สำนึกด้านการอุปถัมภ์ค้ำชู ฯลฯ ซึ่งการต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยนอาจเป็นเรื่องของการไม่ให้ความร่วมมือ  หรืออาจเป็นเรื่องของการนำเสนอข่าวสารในเชิงคัดค้านโต้แย้ง และพยายามชี้ให้เห็นว่าสำนึกที่ไม่ดีดังกล่าวส่งผลในแง่ร้ายต่อสังคมไทยอย่างไร  ดังนั้นการให้การเรียนรู้เกี่ยวกับสำนึกที่ผิดเพี้ยนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการฟื้นฟูสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3.3 สื่อมวลชนกับบทบาทการสร้างการเรียนรู้
สื่อมวลชนนอกจากจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารแล้วยังสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วย  โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ช่องว่างระหว่างการสื่อสารลดน้อยลง การสร้างการเรียนรู้อาจกระทำได้จากการนำเสนอ “สิ่งดีเปรียบเทียบกับสิ่งไม่ดี” และให้สาธารณชนเป็นผู้เลือกสรร ซึ่งไม่ใช่กระบวนการยัดเยียดที่จะทำให้ผู้รับเกิดการปฏิเสธ ในทางกลับกันการได้เลือกเองทำให้สิ่งที่เลือกนั้นจะดำรงอยู่กับผู้เลือกได้นานว่าถูกเสนอให้เลือกหรือถูกเสนอให้ดำเนินการ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

29 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/31748

<<< กลับ

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา (ต่อ)

สำนึกไทยที่พึงปรารถนา (ต่อ)


3.4 กลไกการผลักดันสำนึกจากผู้รับผิดชอบบ้านเมือง
กลไกสำคัญในการผลักดันสำนึกที่ดี  ให้แพร่หลายไปยังทุกส่วนของสังคม คือความตระหนักของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงอำนาจไม่ได้หมายถึงอำนาจของบุคคล  แต่เป็นอำนาจของสถาบัน  ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ให้อำนาจกับบุคคลอีกต่อไป  แต่ได้ถ่ายโอนไปเป็นอำนาจของสถาบัน หรืออำนาจของตำแหน่ง เป็นอำนาจเชื่อมประสานในทุกส่วนของสังคม  ทำให้สังคมเข้มแข็ง  ซึ่งเป็นผลให้ตำแหน่งนั้นเข้มแข็งไปด้วย  การผลักดันสำนึกที่พึงปรารถนาเข้าสู่ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองทำได้ดังนี้
3.4.1 กระบวนการสร้างคนดี
กระบวนการสร้างคนดีในสังคมนั้นมีความเป็นไปได้  แต่ยังไม่มากพอ  อาจกล่าวได้ว่าในขณะที่มีคนดี 1 คน แต่มีคนไม่ดีถึง 2 คน ดังนั้น ถึงเป็นคนดีชั้นยอดอย่างไรก็ไม่เพียงพอ  จึงจำเป็นต้องทำให้มีคนดีจำนวนมากขึ้นในสังคม และให้มีพลังเพียงพอด้วย ทั้งนี้คนดีจะต้องเป็นต้นแบบสำหรับให้คนทั่วไปนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง หรือเป็นแรงบันดาลใจได้ดังกระบวนการต่อไปนี้
1)   สนับสนุนคนดีให้มีโอกาสกระทำความดี  ตลอดจนให้ได้รับการตำแหน่งสำคัญในองค์กร  ซึ่งหมายถึงว่าในการพิจารณาความดีความชอบนั้น นอกจากจะพิจารณาที่ความรู้ความสามารถแล้ว ต้องพิจารณาถึงคุณธรรม และจริยธรรมประกอบด้วย
2)   ให้กำลังใจคนที่ทำดี เช่น การให้รางวัล การประกาศเกียรติคุณ การจัดทำทำเนียบเครือข่ายผู้กระทำความดี ผู้มีคุณธรรม เป็นต้น
3)   ส่งเสริมสนับสนุนให้คนดีเป็นวิทยากร เป็นต้นแบบทางความคิด ทำให้คนดีได้เผยแพร่ความคิด และขยายกว้างมากขึ้น
3.4.2 กระบวนการเลือกผู้นำที่ดี
ลักษณะของสังคมแต่ก่อนนั้นต้องพึ่งพาอาศัยผู้นำเป็นหลักเพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาเองได้ ต้องพึ่งอำนาจ พึ่งผู้นำ โดยผู้นำต้องไปสร้างระบบปกป้องดูแลราษฏร แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่มีขีดความสามารถและความเข้มแข็งสูงขึ้น สามารถดูแลตนเองได้ รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนน้อยใหญ่ได้ และในสังคมขนาดใหญ่ก็สามารถดูแลกันเองได้โดยอาศัยระบบการปกครอบแบบประชาธิปไตย  ดังนั้นความจำเป็นที่ต้องมีผู้นำเพียงคนเดียวก็หมดไป
อย่างไรก็ดี แม้ในระบอบประชาธิปไตยก็ยังมีผู้นำอยู่ เพียงแต่เป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นหลักและมีจำนวนคนมาก กระจายไปหลายระดับเช่น ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น สภาพที่พึงปรารถนาเกี่ยวกับผู้นำในระบอบประชาธิปไตยก็คือ เมื่อมีผู้นำต้องมีกลไกที่ถ่วงดุลและเสริมอำนาจ โดยเป็นอำนาจร่วมกันและมีองค์ประกอบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระบบทั้งระบบจึงสามารถดำเนินไปไดด้วยดี เหมือนร่างกายคนเราหากอำนาจอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็จะไม่ยั่งยืน แต่ที่คนเราอยู่ได้จนถึงอายุที่สมควรแก่วัย เป็นเพราะทุกส่วนของร่างกายเกื้อกูลกันและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
3.4.3 ผลักดันสำนึกที่ดีผ่านระบบราชการ
ระบบราชการมีความยิ่งใหญ่แต่อ่อนแอ สมควรต้อง “ปฏิรูป” ซึ่งกำลังทำกันอยู่ อย่างไรก็ดีเวลาพูดถึง “การปฏิรูประบบราชการ” โดยมากมักกล่าวกันเฉพาะจุด แต่ไม่ได้พิจารณาถึงการปฏิรูปทั้งระบบ เมื่อกล่าวถึงเฉพาะจุดจะเกิดประเด็นว่ากระทบใคร กระทบระบบอย่างไร ซึ่งเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายบางส่วน อาทิเช่น การลดตำแหน่งในระบบราชการลง เพราะเห็นว่าระบบราชการมีขนาดใหญ่เกินไปก็ลดตำแหน่งลง 25 % เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าคิดแบบส่วนเดียว ไม่ได้คิดทั้งระบบ แท้ที่จริงการปฏิรูปทั้งระบบคือเมื่อปฏิรูปแล้วจะได้ระบบใหม่ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ระบบไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีความเคลื่อนไหว กล่าวคือระบบมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกันพร้อม ๆ กับมีการเคลื่อนไหว และในขณะที่เคลื่อนไหวก็มีความเกี่ยวพันกันด้วย  เหมือนระบบสุริยะจักรวาลที่ไม่มีดาวดวงใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ ล้วนมีการเคลื่อนไหวและเกี่ยวพันกัน พร้อมนั้นทั้งระบบสุริยะจักวาลโดยรวมก็เคลื่อนไหวไปด้วย
ถ้าพิจารณาทั้งระบบที่เป็นการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ พร้อมกับที่มีการเคลื่อนไหวไปด้วย ก็ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนจึงจะสามารถออกแบบระบบใหม่ที่ไม่มีใครเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุผลสมควร เป็นต้นว่าถ้าเราจะยุบหน่วยงานหนึ่งก็มีที่ทางให้คนของหน่วยงานสามารถมีทางเลือกที่เหมาะสม ถ้าจะยุบอำนาจของคนบางคนลงคนที่มีอำนาจอยู่เดิมก็ควรจะมีสิ่งทดแทนตามสมควร เช่น การให้เกียรติ การยกย่อง และเกิดมีบารมีแทนอำนาจ จะเห็นได้ว่าถ้าคิดเชิงระบบให้ครบถ้วนจะไม่มีใครเสียหายและไม่มีใครเดือดร้อน
ความอ่อนแอที่สำคัญส่วนหนึ่งของระบบราชการ ก็คือ ความอ่อนแอในเรื่อง “สำนึก” นั้นเอง ฉะนั้นในการปฏิรูประบบราชการจึงต้องมุ่งสร้าง “สำนึก” ที่เหมาะสมไปด้วย โดยอาจจำเอา “คุณธรรม 7 ประการ” ซึ่งรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง (ธนาคารออมสิน) ใช้เป็นหลักใน “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (Good governance) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง “สำนึก” ในระบบราชการดังต่อไปนี้
1)   “ความสุจริตโปร่งใส” ได้แก่ สำนึกที่จะปฏิบัติงานด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพียงพอและติดตามได้
2)   “ความถูกต้องดีงาม” ได้แก่ สำนึกที่จะบริหารและปฏิบัติงานด้วยความถูกต้องและเหมาะสม ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่เกิดผลเสียหาย ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ผิดจรรยาบรรณ
3)   “ความเสมอภาคยุติธรรม” ได้แก่ สำนึกที่จะมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ชัดเจน ให้ความชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติหรือการบริการ
4)   “ความมีคุณภาพประสิทธิภาพ” ได้แก่ สำนึกว่าต้องปฏิบัติงานให้มีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจ และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
5)   “ความรับผิดรับชอบ” ได้แก่ สำนึกที่จะมีความกล้าหาญในการยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมเสมอที่จะให้มีกระบวนการตรวจสอบและวัดผล
6)   “การร่วมคิดร่วมทำ” ได้แก่ สำนึกที่เคารพและให้ความสำคัญกับความคิดของผู้อื่นเช่นเดียวกับความคิดของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทในการร่วมเสนอความคิดร่วมตัดสินใจหรือร่วมดำเนินการ
7)   “ความมีเมตตาไมตรี” ได้แก่ สำนึกที่จะปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความรัก ความเป็นมิตร ความเอื้ออาทร ความหวังดี และความมีน้ำใจต่อกัน
3.4.4 การมีส่วนร่วมสร้างสำนึกที่ดี
กระบวนการของการมีส่วนร่วมสร้างสำนึกที่ดี คือให้คนที่เกี่ยวข้องหรือรับผลกระทบมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำ ทั้งนี้อาจใช้เวลาพอสมควรในการคิดร่วมกัน ออกแบบร่วมกัน จนกระทั่งได้รูปแบบที่ถูกใจร่วมกัน แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดแรงต่อต้านน้อยหรืออาจไม่มีเลย เรียกว่าคิดเชิงระบบทั้งในแง่ขององค์ประกอบและในแง่ของกระบวนการ
การสร้างระบบใหม่นั้น ถึงแม้ว่าในบางตำแหน่ง บางอำนาจ อาจถูกตัดถูกลดลงไป แต่ในกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการคิดออกแบบระบบใหม่ที่ดีกว่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ทางสังคม ประเทศชาติ และลูกหลานในอนาคต ซึ่งความรู้สึกของคนที่กำลังสูญเสียอำนาจจะลดน้อยลงเพราะระบบใหม่ที่ดีกว่าได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านการปรุงแต่งร่วมกัน ทำให้มองเห็นส่วนที่ดีของระบบใหม่แม้ว่าต้องสละจากอำนาจเดิม ขณะเดียวกันก็อาจเกิดจิตสำนึกขึ้นใหม่ว่าอำนาจที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี จึงเหมาะสมแล้วที่อำนาจดังกล่าวจะลดน้อยลงหรือแม้กระทั่งหมดสิ้นไป
อย่างไรก็ดี เราอาจมองว่า “ควรมีบารมีมากกว่ามีอำนาจ” เช่น คนที่เป็นนักพัฒนาสังคมซึ่งไม่มีอำนาจเลยแต่มีบารมีสูง และมีอิทธิพลทางความคิด ได้แก่ พระพุทธทาสภิกขุ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   เป็นต้น ในทางกลับกันบางคนมีอำนาจในการควบคุมดูแลบังคับบัญชาคน แต่ไม่มีอิทธิพลทางความคิดเนื่องจากไม่มีบารมีมากพอ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำคือ คนที่มีกำลังเข้มแข็งต้องกระจายกำลังกันพร้อม ๆ กับช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร ในชุมชนหรือในสังคม ทั้งนี้เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างสำนึกที่ดีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนต่างๆ ของสังคม
3.4.5 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาในชุมชน
ชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคม ดังนั้นจึงควรส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการนี้ควรส่งเสริมสนับสนุนสำนึกที่พึงปรารถนาต่างๆ ในชุมชนดังต่อไปนี้
1)   สำนึกที่จะรวมพลังสร้างสรรค์ด้วยการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ พร้อมๆกับการมีสำนึกที่เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ตลอดจนเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว
2)   สำนึกที่จะพึ่งตนองและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชน สำนึกดังกล่าวนี้จะนำพามาซึ่งการเรียนรู้ การพัฒนา และการยกระดับของชุมชน
3)   สำนึกที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและมุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ซึ่งจะเกิดผลดีต่อชุมชนและสมาชิกในชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
4)   สำนึกที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและการจัดการที่ดี มีระบบการทำงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และใช้บุคลากรในชุมชนหรือหน่วยงานอย่างถูกต้องเหมาะสม
5)   สำนึกที่จะดุแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในปัจจุบัน พร้อมกับป้องกันปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนรุ่นหลัง
6)   สำนึกที่จะเรียนรู้และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารกันหลากหลายรูปแบบ ยิ่งมีการติดต่อสื่อสาร ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ยิ่งทำให้สิ่งที่ดีงามและการเรียนรู้ต่างๆ แพร่หลายออกไปมาก
เมื่อชุมชนสามารถสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาขึ้นได้ และมีการตอกย้ำพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำนึกที่พึงปรารถนาเหล่านั้นจะค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมชุมชน และเป็นพลังหนุนช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพึ่งตนเองและจัดการตนเองได้ดีขึ้น

4. บทส่งท้าย
การนำพาสำนึกไทยที่พึงปรารถนา เป็นเรื่องของทุกฝ่ายในสังคม ต้องร่วมกันสร้างเพื่อให้เป็นเสาหลักปักลงในสังคมไทย ต้องคิดอย่างเป็นศิลป์ไปด้วย มิใช่เป็นศาสตร์เพียงอย่างเดียว ถ้าคิดในเชิงศาสตร์จะเริ่มจากสิ่งที่เป็นสัจธรรม โดยค้นหาสิ่งที่เป็น “ธรรมะ” แล้วนำมาเผยแพร่ แต่ถ้าคิดเชิงศิลปะด้วยจะต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผล โดยใช้กุศโลบายและวิธีการที่เหมาะสม
สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนมาจากการเรียนรู้ ทั้งที่เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่น แต่ท้ายสุดต้องรู้ด้วยตนเองจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเราได้ เมื่อคิดอย่างนี้จึงต้องเน้นหนักและผลักดันที่การเรียนรู้ร่วมกันของคน ได้แก่ กลุ่มคนในองค์กร ในชุมชน  และในสังคม
การเรียนรู้ร่วมกันคือ การเปิดโอกาสให้คนได้มาคิดร่วมกันและทำร่วมกัน โดยส่งเสริมด้วยการหากลวิธี  อาทิ เช่น เวลาที่เรียนรู้ร่วมกันก็ให้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความเป็นจริง และให้เห็นคุณประโยชน์ แล้วจึงเอาสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่เป็นธรรมะ มาเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านี้ โดยสามัญสำนึกของคนเมื่อได้มีโอกาสมาคิดร่วมกันทำร่วมกัน สิ่งที่ดีทั้งหลายมักจะปรากฏออกมา  แต่ถ้าต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำโดยยึดตัวเองเป็นหลักแล้ว สิ่งทีเลวมักจะเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ความเห็นแก่ตัว การเอาแต่ใจตัวเอง ฯลฯ แต่พอไปคิดร่วมกันทำร่วมกันแล้วจะถูกปรากฏการณ์ในสังคมทำให้ต้องคิดเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ไม่ให้เห็นแก่ตัวเองมากเกินไป เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับจิตสำนึกให้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
กลไกหลักของสำนึกไทยที่พึงปรารถนาคือ การเรียนรู้ร่วมกัน คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ของคนในสังคม ซึ่งอานุภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเพณี วัฒนธรรม และมาตรฐานทางสังคมต่าง ๆ ยิ่งถ้าได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายหลาย ๆ เครือข่าย และดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน มีการสำรวจตัวเอง มีการพิสูจน์ว่าผลลัพธ์ในแต่ละช่วงดีเพียงพอแล้วหรือยัง และมีความพยายามปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อนำสู่ผลที่ต้องการ เป็นปฏิสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างส่วนต่างๆ ในชุมชนและสังคม เพื่อให้ชุมชนและสังคมพัฒนาไปในแนวทางที่สมาชิกของชุมชนและสังคมเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งอันพึงปรารถนา
สิ่งที่สำคัญคือ เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ถูกต้องเหมาะสม ควรมีการเลือกเอาออกมาใช้เพื่อเป็นกลไกใน “การคัดสรรสำนึกที่พึงปรารถนา” ซึ่งถือเป็นความงดงามที่ได้รับการเลือกสรรจากผู้คนภายในสังคม และเมื่อสำนึกอันเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อน ผ่านการขัดเกลาและปลูกฝังให้ลึกลงไปในจิตใจแล้วสำนึกที่ดี ที่อยู่ภายใน จะเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาสังคมไทยให้ฝ่าวิกฤตไปได้อย่างไม่ยากนัก และความเจริญ ความสันติสุขจะดำรงอยู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืนนาน
(หมายเหตุ            เป็นเอกสารประกอบการเป็นวิทยากรในหัวข้อ “การสร้างคน สร้างชาติ สร้างจิตสำนึก และมโนธรรมในสังคม” ในหลักสูตร “นักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” จัดโดยสำนักงาน กพ. เมื่อ 25 พ.ค. 49)
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
26 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/31752

<<< กลับ

 

ประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง


(28 พ.ค. 49) ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม หลักสูตร “การพัฒนานักกฎหมายภาครัฐระดับต้น รุ่นที่ 1” จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำหรับนิติกรระดับ 5 – 6 ของหน่วยงานภาครัฐ จำนวนประมาณ 600 คน

ผู้ร่วมอภิปราย คือ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยมี รศ.ดร.โคทม อารียา เป็นผู้ดำเนินการรายการ (พร้อมร่วมอภิปราย)

ผมได้อภิปรายโดยพูดถึงกรณีน่าศึกษาที่เกิดขึ้นแล้วจริง ดังนี้

1. กรณีประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่น 4 กรณี คือ

(1) ตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

(2) ตำบลเสียว กิ่งอ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

(3) ตำบลน้ำเกี๋ยน กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน

(4) บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย กิ่งอ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

2. กรณีขบวนการองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.)

3. กรณีขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ การร่างพรบ.สุขภาพแห่งชาติ และการปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศสวีเดน

4. กรณีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 – 10 และรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/33252

<<< กลับ

ข้อเสนอการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อเสนอการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


(29 มิ.ย. 49) ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาทางวิชาการ โดยสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ผู้ร่วมอภิปรายคือ รศ.ดร.โคทม อารียา โดยมี ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ได้อภิปรายให้ความเห็น สรุปได้ดังนี้

1. การพัฒนานักศึกษาให้เป็น “คนที่พึงปรารถนา” ควรเน้น

(1) การทำความดี (เป็นอันดับต้น)

(2) การสร้างสุขภาวะ

(3) การพัฒนาความสามารถ

กรณีมหาวิทยาลัยพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน และกรณีสถาบันการศึกษาในประเทศเวียดนาม เน้นการส่งเสริมให้นักศึกษา/นักเรียนมีจิตใจดีและทำความดีเป็นพื้นฐานสำคัญ

คุณจรัล ภักดีธนากุล (เลขาธิการประธานศาลฎีกา) กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า “คนเก่งอย่างเดียวอาจเป็นมหาโจรได้ ส่วนคนดีอย่างเดียวก็เป็นเหยื่อของมหาโจรได้ง่าย”

2. การ “ทำความดี” ที่ควรพิจารณาปฏิบัติ ได้แก่

(1) การมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง (ให้มีความดี มีสุขภาวะ มีความสามารถ)

(2) การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ผู้อื่น (โดยไม่จำกัดกลุ่มจำกัดพวก)

(3) การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม (รวมถึงประโยชน์ขององค์กร ของชุมชน ของท้องถิ่น ของสังคม ของโลก)

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิด ความสันติ ความเจริญ และความสุข ร่วมกันอย่างต่อเนื่องในสังคม

การ “ทำความดี” อาจให้หมายรวมถึง “การสร้างบุญ 3 ประการ” คือ “ทาน ศีล ภาวนา” ด้วยก็ได้

3. ด้วยแรงบันดาลใจจากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย และนักศึกษา อาจตั้งปณิธานร่วมกันทำนองนี้ คือ “เราจะใช้ชีวิตด้วยความดี เพื่อความสันติ ความเจริญ และความสุขร่วมกันในสังคมและในหมู่มวลมนุษย์”

4. เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดเป็นนโยบาย (อาจอยู่ในรูปปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ) ให้ชัดเจนและหนักแน่น ว่าจะให้ความสำคัญต่อเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาเป็นอันดับต้น เช่น ส่งเสริมให้นักศึกษา “ทำความดี สร้างสุขสภาวะ และพัฒนาความสามารถ” เป็นต้น พร้อมกับพยายามให้นโยบายดังกล่าวเข้าไปอยู่ใน “จิตวิญญาณ” และมีสภาพเป็น “วัฒนธรรม” ของประชาคมและขององค์กรให้ได้อย่างดีที่สุด

(2) จัดสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา รวมถึงการจัดอาคารสถานที่ ปฏิมากรรม โปสเตอร์ ฯลฯ

(3) พัฒนาคุณภาพและบทบาทที่เหมาะสมของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวข้างต้น รวมถึงการพัฒนาให้ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร เป็นผู้ที่ “ทำความดี สร้างสุขสภาวะ และพัฒนาความสามารถ” อยู่เสมอด้วย

(4) ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษา ได้ “ทำความดี สร้างสุขภาวะ พัฒนาความสามารถ” โดยบูรณาการและผสมกลมกลืนอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัย ให้ได้อย่างดีและอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ปกครองและครอบครัวของนักศึกษา ตลอดจนอดีตนักศึกษา มีบทบาทที่สร้างสรรค์และเหมาะสมอย่างสอดรับกันด้วย

(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาจากการปฏิบัติจริง รวมถึงการจัดตั้งและประสานเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และการจัดการความรู้ (Knowledge management) ร่วมกันของสมาชิกเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/33254

<<< กลับ

 

“โรงเรียนในฝัน” ที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี

“โรงเรียนในฝัน” ที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี


เยี่ยมศึกษาโรงเรียนสัตยาไส

            เมื่อวันที่ 30 – 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ผมร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานจาก 25 โรงเรียน ที่เข้าร่วม “โครงการเร่งสร้างคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชนไทย” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดขึ้น ซึ่งจากโครงการดังกล่าวนี้เอง ทำให้ทราบถึงสถานศึกษาที่เน้นการพัฒนาคุณธรรมนำการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “โรงเรียนสัตยาไส” (Sathya Sai School) อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และพวกเราก็ได้ไปเยี่ยมชมกัน

                โรงเรียนสัตยาไส ก่อตั้งและอำนวยการโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำเนินงานมา 15 ปีแล้ว ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยม 6 รวมประมาณ 350 คน ครูประมาณ 50 คน นักเรียนอนุบาลมาเรียนเฉพาะกลางวัน นักเรียนประถมฯ และมัธยมฯ อยู่ประจำ

นอกจากโรงเรียนสัตยาไส แล้วยังมี “สถาบันการศึกษาสัตยาไส” (Institute of Sathyasai Education) สำหรับผู้ต้องการเรียนรู้วิธีการศึกษาแบบสัตยาไส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และปัจจุบันได้มีการก่อตั้งโรงเรียนแบบสัตยาไสแล้ว 57 โรงเรียนใน 35 ประเทศ โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกันด้วย

แรงบันดาลใจจากท่านสัตยาไส บาบา

โรงเรียนสัตยาไสในประเทศไทย (ซึ่งได้เป็นต้นแบบของโรงเรียนสัตยาไสในประเทศอื่นๆ) เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ ดร.อาจอง ได้รับจากการได้ไปพบท่านสัตยาไส บาบา ที่เมืองพุทธปาตี ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน โดยท่านสัตยาไส บาบา แนะนำ ดร.อาจอง ว่า ควรใช้เวลาที่เหลือของชีวิตพัฒนาเรื่องการศึกษา โดยควรเป็นการศึกษาที่มีคุณธรรมด้วย

ดร.อาจอง อุทิศตนเต็มที่ให้กับการอำนวยการและดูแลโรงเรียนสัตยาไส ใช้เวลาส่วนใหญ่กินอยู่และอำนวยการเรียนการสอนที่นั่น ตื่นแต่เช้าประมาณ 04.30 น. ร่วมนำการสวดมนต์ การปฏิบัติสมาธิ และการเรียนรู้เรื่อง “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ฯลฯ ร่วมกันของนักเรียนที่อยู่ประจำทั้งหมดทุกๆเช้า เริ่มแต่ 05.00 น. ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการรับประทานอาหารเช้า การเข้าแถวหน้าเสาธง ฯลฯ

โรงเรียนสัตยาไส ใช้หลัก “Educare” โดยมุ่งดึงสิ่งที่ดีจากนักเรียน ตั้งคำถามที่ดีและสร้างสรรค์ โน้มนำให้สวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิ ระลึกถึงบุญคุณของผู้อื่น บุญคุณของสรรพสิ่ง มีความนอบน้อม มีความเคารพ มีความเมตตากรุณา ฯลฯ อยู่เป็นปกตินิสัย

คุณธรรม 5 ประการในการดำเนินชีวิตและกิจกรรม

“คุณธรรม 5 ประการ” ซึ่งถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและดำเนินกิจกรรมทั้งหลายในโรงเรียนสัตยาไส คือ (1) เปรมา (ความรักความเมตตา) (2) สัตยา (ความจริง) (สัตยาไสย = มารดาแห่งความจริง) (3) ธรรมะ (การประพฤติชอบ) (4) สันติ (ความสงบสุข) (5) อหิงสา (การไม่เบียดเบียน)

และมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาตามอักษรย่อที่รวมกันเป็นคำว่า “EDUCATION” ดังนี้

  • Enlightenment                         (การรู้แจ้ง)
  • Duty and Devotion                (การปฏิบัติหน้าที่และการเสียสละอุทิศตน)
  • Understanding                         (ความเข้าใจถ่องแท้)
  • Character                                  (อุปนิสัยที่ดีงาม)
  • Action                                         (การนำความรู้ไปปฏิบัติ)
  • Thanking                                  (การมีใจกตัญญูรู้คุณ)
  • Integrity                                    (ความมีเกียรติ)
  • Oneness                                     (ความมีใจสมาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
  • Nobility                                      (ความสง่างาม)

โรงเรียนใช้หลักการ “การเรียนรู้โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้แบบบูรณาการ” เช่น ให้นักเรียน (เริ่มแต่ชั้นอนุบาล) ร่วมกำหนดหัวข้อและวิธีที่จะเรียนรู้ แล้วครูเป็นผู้เอื้ออำนวย (ไม่ใช่สอน) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติ ได้เห็นได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ทดลอง ได้คิด ฯลฯ อย่างเหมาะสม

 

การเรียนรู้อย่างบูรณาการ

ในส่วนของการเรียนรู้อย่างบูรณาการก็มีตัวอย่างของการ “บูรณาการการเรียนรู้ เรื่องสุขกาย สบายใจ ซึ่งนักเรียนชั้น ม.1 – 2 – 3 เรียนด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิร่วมกัน แล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม แยกย้ายไปเรียนรู้ไปตามฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน กลับมารวมกันในช่วงท้าย แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการเรียนรู้จากแต่ละฐานพร้อมอภิปราย แล้วจบด้วยการทำสมาธิ แผ่เมตตา และทำความเคารพ

สำหรับสาระที่มีการเรียนรู้จากแต่ละฐาน ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ได้แก่

(1) ภาษาไทย (เรียนรู้มารยาทในการสนทนาเพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกดี)

(2) สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม (เรียนรู้เรื่องคุณธรรมกับการดำรงชีวิต)

(3) ดนตรี (ขับร้องเพลง Think good – Speak good – Do good)

(4) คณิตศาสตร์ (เรียนรู้เรื่องปริมาณ)

(5) วิทยาศาสตร์ (เรียนรู้เรื่องสารเสพติดประเภทต่างๆและผลกระทบต่อระบบในร่างกาย)

(6) การงาน อาชีพ และเทคโนโลยี (เรียนรู้การทำยำผลไม้ อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย)

(7) สุขศึกษา และพลศึกษา (เรียนรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีพร้อสำหรับวัยที่กำลังเจริญเติบโต)

(8) ภาษาต่างประเทศ (เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษจากบทเพลงและกิจกรรมคุณค่าความเป็น มนุษย์)

เพลง “Think good – Speak good – Do good” หรือ “Thought, Word and Deed”

Think good, speak good, do good.

This should be our creed.

Serving others as we should,

In thought, word and deed.

Life is not so easy, but if we’re to

be free, we must create unity

between the following three :

Think good, speak good, do good.

ศีล สมาธิ ปัญญา เมตตา คุณธรรม

โรงเรียนสัตยาไสได้นำหลัก “ศีล สมาธิ ปัญญา” มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เน้น “ความรักความเมตตา” และ “คุณธรรม” โดยบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนและกิจกรรมทั้งหลาย เช่น ก่อนรับประทานอาหาร จะมีการสวดมนต์ ขอบคุณพ่อแม่ ครู ธรรมชาติ โดยนักเรียนนำกล่าวถ้อยคำ “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง …..” ตามด้วยการพูดเป็นภาษาอังกฤษ (เด็กอนุบาลก็พูดอย่างนี้ ทั้งสองภาษา)

บทบาทของครู ถือว่าสำคัญมาก ต้องเข้าใจผู้เรียน มีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ครูที่ดีไม่ควรเป็น “ผู้สอน” ครูต้องเป็นแบบอย่าง ไม่แนะนำให้ทำในสิ่งที่ครูทำไม่ได้ ไม่ควรพยายาม “สอนคุณธรรม” แต่ควรพยายามดึงความดีออกมาจากนักเรียน (Educare) ควรใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบ “ร่วมมือกัน” (พหุปัญญา) ไม่ใช่แบบ “แข่งขันกัน” ควรให้นักเรียนมีบทบาทในการเลือกว่าจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร ที่ไหน ฯลฯ

จากคำพูดของนักเรียนเอง

ผลการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาไส นับว่าน่าพอใจทีเดียวเช่น จากคำพูดของนักเรียนเองหลายคน (ชั้น ม.6) ดังต่อไปนี้

“เรียนที่นี่ ทำให้มีอุปนิสัยดีขึ้น มีสติ รอบคอบ”

“มีโอกาสเล่นกีฬา ปีนต้นไม้ และอื่นๆ คิดว่าดีกว่าเด็กในกรุงเทพฯ”

“มาเรียนแล้วพ่อแม่เอาใจใส่มากขึ้น ตัวเองก็พอใจไปกับพ่อแม่มากขึ้น”

“ไม่พกเงิน ไม่พกโทรศัพท์ มีความปลอดภัย”

“เห็นเพื่อนตั้งใจเรียน จึงต้องทำบ้าง”

“เคยใจร้อน เกเร เดี๋ยวนี้ใจเย็นขึ้น มีเหตุผล รับผิดชอบ รักพ่อแม่ มีสมาธิ มีคุณธรรม”

“เคยเป็นคนเกเร ไม่อยากมาอยู่โรงเรียนสัตยาไส พ่อหลอกให้มา ให้ลองอยู่ 1 ปีแลวจะออกก็ได้ หลังจากครบ 1 ปี ก็เลือกที่จะอยู่ต่อ เพราะได้พบอะไรดีๆหลายอย่าง ได้สร้างความสามารถที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่”

“เคยชอบเล่นเกม กลับมาชอบกีฬามากกว่า”

“เคยสมาธิสั้นมาก มาได้ฝึกสมาธิ มีสติมากขึ้น”

“เคยอารมณ์ร้อนมาก ฝึกสมาธิแล้ว ใจเย็นลง ดีขึ้นมาก”

“ผลการเรียนดีขึ้น มีจิตสำนึกที่ดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ”

“โดนหลอกมาอย่างคุ้มค่า! เคยเรียนได้ผลต่ำมาก และโดดเรียนเป็นประจำ เคยลองทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีอย่างสุดๆ มาอยู่ที่นี่ ได้ค้นพบความสามารถและได้แสดงความสามารถ เดี๋ยวนี้ไปหาแม่ แม่มีความสุข”

เป็นโรงเรียนตามระบบฯพร้อมกับเป็น “โรงเรียนในฝัน”

โรงเรียนสัตยาไส เป็นโรงเรียนตามระบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่เพิ่มเติมองค์ประกอบและมิติต่างๆเข้าไปอีก จากคำพูดของ ดร.อาจอง “ถ้านับตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการต้องมี 100 เราเติมเข้าไปอีก 200” นักเรียนของโรงเรียนสัตยาไสเข้าสอบตามระบบของกระทรวงศึกษาตามปกติ และสอบได้ดี ไม่มีปัญหา มีนักเรียนจบ ม.6 มาแล้ว 3 รุ่น ทุกรุ่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน (100%) ดร.อาจอง เป็นครูประจำชั้น ม.6 เอง พร้อมทั้งสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสด้วย

นักเรียนที่โรงเรียนสัตยาไส ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่ต้องเสียค่าอาหาร บวกค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดรวม 10,000 บาทต่อเทอม (5 เดือน) และอาหารเป็นมังสวิรัติตลอด

โรงเรียนมีเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 300 ไร่ ใช้ปลูกข้าวประมาณ 60  ไร่ ข้าวที่ปลูกนำมากินเป็นอาหารสำหรับนักเรียนและครูได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติของนักเรียนด้วย ดร.อาจอง กล่าวว่า “ที่นี่เราพยายามใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่ทำได้”

ยังมีสาระสำคัญที่น่าประทับใจและน่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับโรงเรียนสัตยาไส ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้หมดแม้จะพยายาม ถ้าจะสรุปก็อาจพูดว่า

“นี่คือโรงเรียนในฝันที่เป็นความจริง และทำมาแล้ว 15 ปี”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

20 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/34744

<<< กลับ

ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส


(3 มิ.ย. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เตรียมอุดมฟอรัม ครั้งที่ 1” จัดโดย สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (คุณวิชัย ทองแตง เป็นนายกสมาคม) ผู้ร่วมอภิปรายอื่นๆในหัวข้อนี้ ได้แก่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในงานนี้ ทั้งผู้จัด ผู้กล่าวเปิดงาน ผู้ปาฐกถาพิเศษ และผู้อภิปรายทั้งหมด ล้วนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่รุ่น 5 (พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์) จนถึงรุ่น 35 (ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ)

ได้แสดงความคิดเห็นในการอภิปราย ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

กระแสโลกโดยรวม ไขว่คว้าความมั่งคั่งร่ำรวย ไล่ล่าความเจริญทางวัตถุ มุ่งเพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่าคือ การมุ่งสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขหรือภาวะเป็นสุขร่วมกัน อันได้แก่ ภาวะเป็นสุขทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ

กระแสโลก พยายามสร้างความสำเร็จจากการแข่งขันให้ชนะ แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่า คือ การสร้างความสำเร็จร่วมกัน ด้วยการร่วมมือ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน            กระแสโลก ได้สร้างความทุกข์อันเกิดจาก ความโลภมาก ความหลงผิด ความเป็นปฏิปักษ์ ความไม่สุจริต ไม่ชอบธรรม ไม่ยุติธรรม และอื่นๆ

โอกาสที่ประเทศไทย จะทำได้ดีกว่ากระแสโลก น่าจะมีอยู่ คือ การมุ่งแนวทางตามคำแนะนำของพระพุทธทาสภิกขุ (ซึ่งองค์การยูเนสโก ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญที่โลกควรระลึกถึงในโอกาสครบ 100 ปี นับจากวันเกิด) และคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว (ซึ่งครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และองค์การสหประชาชาติได้ถวาย “รางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตในการพัฒนามนุษย์”) คำแนะนำนั้น ได้แก่ “การออกเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามลำดับ

“เศรษฐกิจพอเพียง” หมายความรวมถึง ชีวิตพอเพียง สังคมพอเพียง ประเทศพอเพียง และโลกพอเพียง

“ความพอเพียง” คือ ความไม่โลภมาก ความไม่ทำลาย ความไม่เบียดเบียน แต่เป็นความพอเหมาะพอดี ความมั่นคง ความสมดุลย์ และความยั่งยืน

“เศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็น “เศรษฐกิจ” แห่งความถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม หรือเป็น “เศรษฐกิจคุณธรรม” นั่นเอง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

19 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/34751

<<< กลับ

แนวทางการดำเนินงานเมืองไทยแข็งแรงระดับพื้นที่ ปี 2549

แนวทางการดำเนินงานเมืองไทยแข็งแรงระดับพื้นที่ ปี 2549


(5 มิ.ย. 49) ไปร่วมประชุมและกล่าวปราศัยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการดำเนินงานเมืองไทยแข็งแรงระดับพื้นที่ ปี 2549 ” เวทีภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นโดยอาศัยบันทึกย่อดังต่อไปนี้

“เมืองไทยแข็งแรง” หมายความรวมถึง

  • ประชาชนแข็งแรง
  • พื้นที่ (พร้อมประชาชนในพื้นที่) แข็งแรง
  • พื้นที่ย่อย (ที่มีระบบจัดการอย่างบูรณาการ) แข็งแรง
  • ตำบล / เทศบาล แข็งแรง
  • “พื้นที่ปฐมภูมิ” (ตำบล / เทศบาล) แข็งแรง
  • “พื้นที่ทุติยภูมิ” (จังหวัด / กลุ่มจังหวัด) แข็งแรง
  • “พื้นที่ตติยภูมิ” (ภูมิภาค / ประเทศ) แข็งแรง

ยุทธศาสตร์          :  “พื้นที่เป็นฐาน บูรณาการทุกส่วน”

            หรือ        :  “พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนและกลไกในพื้นที่มีบทบาทสำคัญ

สอดรับกับ           :  “ชุมชน / ตำบล เป็นสุข”

:  “เมือง / เทศบาล น่าอยู่”

ซึ่งเป็นฐานของ   :  “จังหวัดแข็งแรง”

เปรียบเทียบกับ    :  “แก้ปัญหาความยากจน” ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันที่อีกด้านหนึ่ง คือ “เมืองไทยแข็งแรง”

            เริ่มจาก               :  “พื้นที่” โดย“พื้นที่” เพื่อ“พื้นที่”

ส่งเสริมให้            – จัดการตนเอง

– จัดการกันเอง

– จัดการเชื่อมประสานกับภายนอก

ภาพแสดง

  1. การเชื่อมประสานระหว่างกลไกและกิจกรรมภายในพื้นที่
  2. การเชื่อมประสานระหว่างกลไกและกิจกรรมภายนอกพื้นที่
  3. การเชื่อมประสานระหว่างภายในพื้นที่กับภายนอกพื้นที่

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/35083

<<< กลับ

โรงเรียนวิถีพุทธน่าชื่นชม : โรงเรียนบ้านจ้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

โรงเรียนวิถีพุทธน่าชื่นชม : โรงเรียนบ้านจ้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


     (7 มิ.ย. 49) ร่วมกับคณะที่ประสานงานโดย “ศูนย์คุณธรรม” ไปเยี่ยมศึกษาการดำเนินงานของ โรงเรียนบ้านจ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ (ก่อนเดินทางต่อไปประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1” ที่โรงแรมวายเอ็มซีเอ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันเดียวกัน ดังนั้น จึงมีเวลาเยี่ยมศึกษาโรงเรียนบ้านแม่จ้องในเวลาเพียงสั้นๆประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง)

โรงเรียนบ้านแม่จ้องเป็นหนึ่งใน “โรงเรียนวิถีพุทธ” ซึ่งมีจำนวนนับหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ที่ทำอย่างจริงจังและทำได้ดีอย่างโรงเรียนบ้านแม่จ้องน่าจะยังมีไม่มากเท่าใด

สำหรับโรงเรียนบ้านแม่จ้อง ได้รับเลือกจาก สพฐ. (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ให้เป็น “โรงเรียนต้นแบบวิถีพุทธ” หรือ “โรงเรียนวิถีพุทธกัลยาณมิตร” ซึ่งได้แก่ โรงเรียนที่ผู้บริหารและคณะครูมีความปรารถนาที่จะนำหลักธรรมสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของครู นักเรียน และชุมชน อย่างจริงจัง และผู้บริหารและครูมีความทุ่มเท มีความรักกับงานโรงเรียนวิถีพุทธ ตลอดจนมีศักยภาพความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเป็นแม่ข่ายให้กับโรงเรียนวิถีพุทธอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือเกื้อกูล และก่อให้เกิดพัฒนาไปด้วยกันและร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

จากการเยี่ยมศึกษาเพียงชั่วโมงครึ่ง ได้เห็นและได้ฟังเรื่องน่าสนใจและน่าชื่นชมมากทีเดียวเกี่ยวกับโรงเรียนบ้านแม่จ้อง ซึ่งมีอาจารย์สนธิชัย สมเกตุ เป็นผู้อำนวยการ และคุณอนันต์ ยอดยิ่ง เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษา มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึง ป.6 รวมประมาณ 120 คน

การสร้างสรรค์ที่สำคัญ คือ การบูรณาการวิถีพุทธตลอดกระบวนการตั้งแต่นักเรียนมาถึงโรงเรียนจนกลับบ้าน ใช้หลัก “ศีล – สมาธิ – ปัญญา”, “Constructionism”, และ “บ-ว-ร (บ้านวัดโรงเรียน) แบบแม่จ้อง” ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ

มีวิธีการบางอย่างที่เป็นนวัตกรรมแปลกจากที่ปฏิบัติกันทั่วไป (ห้องเรียนใต้ต้นไม้ เรียกห้องเรียนว่า “บ้าน…..” โดยไม่ระบุชั้น ให้นักเรียนนั่งกับพื้นรอบโต๊ะเรียนแทนนั่งเก้าอี้ ฯลฯ) แต่วิธีเหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับและเป็นโรงเรียนที่มีคนมาศึกษาดูงานกันมาก

ผลงานดีเด่นที่ภาคภูมิใจ ได้แก่ การได้รับรางวัลชนะเลิศ โรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2548 ได้รับรางวัลชนะเลิศโรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับประถมศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ประจำปี 2548 และอื่นๆ อีกมาก

ปัจจัยที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การที่คณะผู้บริหาร คณะครู และชุมชน ตลอดจนเจ้าอาวาสและพระที่วัดซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน มีความร่วมมือกันดี ผู้บริหารและครูเป็นคนดี ปลอดอบายมุข รวมทั้งมีความอุทิศตน มีความมุ่งมั่นพยายาม มีความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และปัจจัยอื่นๆ

สรุปแล้ว เป็นการเยี่ยมศึกษาแบบสั้นๆ ที่สร้างความประทับใจ ความชื่นชมยินดี และแรงบันดาลใจ ให้แก่คณะผู้เยี่ยมศึกษาได้ดีทีเดียว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/35689

<<< กลับ

“วิสัยทัศน์” (VISION) อนาคตการศึกษาไทย

“วิสัยทัศน์” (VISION) อนาคตการศึกษาไทย


เรื่องการศึกษาของไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสังคมไทยได้รับการขัดเกลาโดยระบบการศึกษาที่เป็นอยู่มากว่า 100 ปีแล้ว แต่ความคาดหวังของสังคมที่จะให้การศึกษาไทยไปสู่ทิศทางที่ต้องการคือความสุขของทุกคนก็ยังไปไม่ถึง ดังนั้นทุกคน ทุกองคาพยพ จะต้องทำหน้าที่เคลื่อนตัวไปสู่เป้าหมายให้ได้

            วารสาร “วงการครู” ได้มาสัมภาษณ์แล้วนำไปลงเป็น “เรื่องจากปก” ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2549 โดยใช้หัวข้อและมีสาระดังต่อไปนี้

              “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กับ VISION อนาคตการศึกษาไทย”

                  ทีมงานกองบรรณาธิการวารสาร “วงการครู” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บุคคลที่เป็นทั้งนักปราชญ์ นักคิด นักปฏิบัติ เคยทำงานคลุกคลีมาแล้วหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน โดยเฉพาะด้านการศึกษาถือเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการร่วมร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งท่านสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตการศึกษาของไทย กับแนวทางที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของสังคมที่คาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแวดวงการศึกษาน่าจะหยิบยกบางประเด็นไปประยุกต์ใช้ได้

    

          ถาม หัวใจหลักของการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ในมุมมองของท่านมีแนวทางอย่างไรบ้าง

            ตอบ ประเด็นหลักๆที่ต้องพิจารณาได้แก่ ประการแรก เน้นการเรียนการสอน ข้อสำคัญผู้เรียนจะต้องเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ไม่ใช่ อาจารย์ หรือครู และการเรียนรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ซึ่งผู้เรียนต้องได้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย เป้าหมายของการเรียนการสอนนั้นต้องได้ 3 อย่าง คือ 1. ความดี 2. ความสุข และ 3. ความสามารถ การเรียนการสอนหากเริ่มกันที่ความดีแล้ว เรื่องของความสุขจะตามมา เมื่อเกิดความสุข พลังที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถนั้นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็สามารถที่จะทำได้ โดยแกนหลักคือรัฐบาลนั่นเอง ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาฯมองในเรื่องดังกล่าว ทุกกระบวนการจะเดินตามอย่างที่ว่าได้ แต่ในขณะนี้บอกว่า เก่ง ดี มีความสุขเหมือนเป็นการกระตุ้นถึงความเก่ง การเก่งคือการเอาชนะ ต้องยึดตัวเองเป็นหลัก เอารัดเอาเปรียบ เพื่อประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว เมื่อใดก็ตามที่ไม่เก่ง ไม่เป็นผู้ชนะ ไม่มีสิ่งใดมาชดเชยชีวิตได้ ก็ลงเอยด้วยความทุกข์ เป็นความเลวร้ายที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงเช่นกัน

ประการที่2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครู การพัฒนาครูก็สำคัญยิ่ง การสร้างครู การดูแลครู ให้เป็นผู้ที่มีความดี ความสุข และความสามารถนั้น ต้องพิจารณา เพราะเมื่อครูมีทั้งความดี ความสุขและความสามารถแล้ว ครูก็สามารถทำหน้าที่ที่ดี รัฐบาลจึงควรจะทำให้ครูมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ ดูตัวอย่างง่ายๆ เรื่องของหนี้สินครู ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับครูมาตลอดนั้น ทำให้ครูมีความทุกข์ แล้วการพัฒนาความรู้ความสามารถก็จะไม่เต็มที่

สำหรับประการสุดท้าย เป็นเรื่องของระบบบริหารการศึกษา ตรงนี้ต้องมองไปที่ ปรัชญา แนวคิด นโยบาย ก็คือ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติที่ทำโดยรัฐบาล รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล คงต้องปฏิบัติหรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องของเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องของการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น เรื่องของการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการ เรื่องของคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ จะต้องสอดคล้องกับ ปรัชญา แนวคิด หลักการที่ดี ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั่นเอง

ความจริง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติในปัจจุบันดีมาก แต่การนำไปปฏิบัติยังไม่สัมฤทธิ์ผล ล้วนแต่เกิดจากระบบการบริหารไม่เข้มแข็ง หรือการบริหารจัดการไม่ดีพอไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเน้นปฏิรูปหรือให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับโครงสร้าง ของกระทรวง หรือหน่วยงานภายในกระทรวงเอง นำสู่ปัญหาข้อขัดแย้งหลายอย่าง ดังนั้นทุกอย่างต้องเริ่มที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาฯ สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

“หากจะปฏิรูปการศึกษา ต้องเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเท่านั้น”

ถาม กรณีการกระจายอำนาจนำระบบการศึกษาไปให้ส่วนท้องถิ่นจัดการดูแล ท่านเห็นด้วยหรือไม่

ตอบ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของการสร้างและพัฒนาคน ให้เป็นคนดี มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นทุกคนควรจะมีการร่วมมือกัน ลูกหลานก็เป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ โดยหลักการควรจะมีกลไกในการจัดการดูแลตนเอง นั่นก็คือท้องถิ่นน่าจะเป็นผู้ที่ดูแลจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมดีกว่าคนอื่นมาดูแลจัดการเพราะท้องถิ่นเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเรื่องของประชาชนในท้องถิ่น และเป็นเรื่องของลูกหลานเขา ฉะนั้น ลูกหลานของคนในพื้นที่ ในชุมชน เขาต้องดูแลอย่างดีเพื่อพัฒนาลูกหลานเขาในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานกลางในระดับชาติ มีหน้าที่ในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย สนับสนุน กำกับดูแลในเรื่องที่สำคัญๆเชื่อมโยงทุกส่วน ซึ่งบทบาทของท้องถิ่นกับกระทรวงศึกษาฯต้องประสานพลังเพื่อการพัฒนาบุคลากร เด็ก และเยาวชน ประเด็นอยู่ที่ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาฯจัดการแบบรวมศูนย์ พอเปลี่ยนมาเป็นการกระจายอำนาจ ช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้เองมันเป็นศิลปะและสำคัญมาก ที่มีปัญหาขึ้นมาเพราะใช้กระบวนการที่มีปัญหา จึงจัดการไม่ได้ ผมคิดว่าต้องมีการออกแบบวิธีการให้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทรัพยากรต่างๆให้มีคุณภาพ เป็นเรื่องของการประสานบทบาทของแต่ละฝ่าย ส่วนกลางกำกับดูแลในเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนท้องถิ่นให้ประชาชนดูแลกันเอง คิดว่าจะดีขึ้น ขณะนี้มีท้องถิ่นหลายแห่งที่มีการจัดการศึกษาเองได้ดีอยู่แล้ว

            ถาม เรื่องหนี้สินครู ท่านใกล้ชิดปัญหามากสมัยเป็นผอ.ออมสิน มีแนวทางช่วยเหลือครูอย่างไร

            ตอบ สมัยผมเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้เห็นปัญหาความทุกข์ของครูมาก โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครู ผมเลยจัดตั้ง “โครงการพัฒนาชีวิตครู” โดยใช้เงินกองทุนของออมสินกว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ในระดับหนึ่งประมาณ 50,000 – 60,000 คน และขณะนี้ก็ยังช่วยเหลือกันอยู่ หนี้สินครูเป็นปัญหาสั่งสมมานาน แต่ต้องสร้างกลไกในเรื่องของการพึ่งตนเอง และร่วมมือกัน ใช้หลักการคือเจ้าของปัญหาต้องเป็นคนแก้ปัญหา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศธ. ธนาคารออมสิน และครู ช่วงหลังมามีการประสานอีกหน่วยงานคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมาร่วมด้วย ขณะนี้มี สกศค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ดูแลอยู่ แต่ต้องสานต่อในเชิงพัฒนาให้มาก แล้วสิ่งต่างๆจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติ ความร่วมมือ ความสามารถในการจัดการ ยังต้องแก้ไข โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่ใช้เงินธนาคารออมสินเป็นหลัก เรื่องหนี้สินครูขณะนี้กระทบหนักเหมือนกัน ครูที่เป็นหนี้มากเกินกำลังส่งคืนั้นมีจำนวนกว่าแสนคน นี่คือความทุกข์ของครู แต่จะคลี่คลายได้ถ้ารัฐรู้ปัญหา รู้วิธีการ มีความมุ่งมั่นที่ดี ก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้  

            ถาม การศึกษาของบ้านเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแตกต่างกันแค่ไหน

            ตอบ เท่าที่ทราบในต่างประเทศ อย่างเวียดนาม ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก ซึ่งครูมีรายได้สูง เป็นอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมและมีเกียรติ เมื่อมาดูบ้านเราในอดีต ข้าราชการครูจะเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก คนเมื่อก่อนอยากเป็นครูเพราะได้รับการเชิดชูจากสังคม แต่เดี๋ยวนี้มันผิดแผกไปจากเดิม คนที่เคยเป็นครูก็ไม่อยากเป็นครู กลายสภาพเป็นอาชีพที่อยู่ในลำดับท้ายๆในสังคมไทยไป ตรงนี้ล้วนมาจากหลายๆ สาเหตุ แต่ข้อสำคัญคือเกิดจากระบบราชการที่อ่อนด้อยมายาวนาน เป็นผลให้เกิดความอ่อนด้อยของข้าราชการเอง ตัวข้าราชการเสื่อมถอย ความจริงในเรื่องการศึกษานั้นคนที่สำคัญคือตัวครู การที่ครูมีคุณภาพด้อยลงจึงมีผลกระทบมาก แต่การที่จะทำให้ครูมีศักยภาพสูงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อธิบดีเก่งหนึ่งคนไม่มีความหมาย เมื่อครูด้อยก็จะกระทบในเรื่องของการพัฒนาความรู้ความสามารถเมื่อสะสมนานๆ เข้าจึงน่าเป็นห่วง ดังนั้นเราต้องสร้างครูใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา

            ถาม ในอนาคตอยากเห็นการศึกษาไทยแบบไหน

            ตอบ ต้องมองที่รัฐบาลว่าจะมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะจุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือรัฐ เพราะเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ รัฐต้องมีนโยบายรวมถึงยุทธศาสตร์ที่ดี และต้องรวมพลังกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวครู และบุคลากรส่วนต่างๆล้วนเป็นพลังที่จะต้องพูดจากับรัฐบาล นอกจากนี้ก็มีผู้ปกครอง เยาวชน ซึ่งควรมีบทบาทสำคัญที่ต้องแสดงออกถึงความต้องการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เช่นกัน มีส่วนในการเข้ามาช่วย และ หลายๆ ฝ่ายต้องประสานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดขึ้น สิ่งที่ออกมาคือการกระทำน่าจะไปในทางที่ดีขึ้น กระทรวงศึกษาฯเอง มีคนเก่งเยอะมาก แต่ก็น่าฉงน ที่ไม่สามารถจัดการเรื่องการศึกษาให้ดีขึ้นได้ หรือจะเป็นเพราะฝ่ายการเมือง ผู้ที่มีอำนาจยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเพราะประชาชนให้มาทำหน้าที่แล้วต้องทำไห้ดี หรือจะเป็นข้าราชการที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ต้องมีการเกื้อกูลและถ่วงดุลกันด้วย การเมืองต้องทำหน้าที่ให้ดีขึ้นและทำให้ได้ผล ถือเป็นหน้าที่และภารกิจที่สังคมคาดหวัง

              ถาม ทำไมรัฐบาลทุกยุคไม่เคยประกาศผลงานด้านการศึกษาตามที่สังคมคาดหวังเลย

            ตอบ การจัดการด้านการศึกษานั้น เราเห็นเพียงแต่รูปแบบที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง แต่เนื้อหาสาระยังเดิมๆ อาจเป็นเพราะเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องที่ใหญ่ ซับซ้อนและสะสมปัญหามานาน การแก้ไขอย่างที่สังคมความคาดหวังนั้นจึงยังไม่เห็นผลชัดเจน ประหนึ่งมีกำแพงใหญ่ขวางกั้นอยู่

อย่างไรก็ดี มีแนวคิดของนายแพทย์ประเวศ วะสี มาใช้พังทลายกำแพงนี้ได้ เรียกว่าแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบด้วยพลัง 3 อย่าง พลังแรกเรียกว่า “พลังปัญญา” เป็นพลังที่มาจากความคิด การวิจัย การจัดการระบบความรู้ต่างๆ ทั้งหมดให้เข้าใจเหตุผล อย่างเจาะจง เจาะลึก พลังที่สอง คือ “พลังสังคม” มาจากสังคมในทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึง ครู อาจารย์ บุคคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง เยาวชน ซึ่งเกาะเกี่ยวผสมผสานแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด เชื่อมต่อพลังปัญญา จะเกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันไปสู่ผู้มีอำนาจ นั่นคือพลังที่สาม หรือ “พลังนโยบาย” เป็นเรื่องของอำนาจทางการเมือง ที่จะตัดสินใจบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เรื่องที่ยากหากได้รับการดูแลทั้งทางลึกและกว้างเป็นพลวัตรจะสำเร็จ แนวคิดนี้ได้ทำมาแล้วกับเรื่องการปฏิรูปการเมืองและกำลังใช้อยู่ขณะนี้ใน เรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ต้องทำเป็นขบวนการและทำต่อเนื่องด้วย

            จะเห็นว่าเรื่องการจัดการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ เป็นรากฐานของการปลูกฝังและพัฒนาคน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพมีศักยภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับระบบ และกับคนทุกภาคส่วน ดังนั้น การแสวงหาความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงพลังความรู้ ความสามารถ และความพยายาม จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง  

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

6 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/37521

<<< กลับ

แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน

แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน


      (1 ก.ค. 49) ไปร่วม “มหกรรมจัดการความรู้ เรื่อง สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน” จัดโดย “หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ร่วมกับ “มูลนิธิดร.ครูชบ–ปราณี ยอดแก็ว” และ “สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา” โดยการสนับสนุนของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และ ศตจ. (ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ) โดยจัดที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ห้องประชุมโรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ อำภอเมือง จังหวัดสงขลา (ผมไปร่วมเฉพาะที่ตำบลน้ำขาว)

มหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการทำกรณีศึกษาและการจัดการความรู้จากประสบการณ์การสร้างสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชนรวม 5 กรณีใน 5 จังหวัด คือ

1. สงขลา  (เครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาททำสวัสดิการภาคประชาชนแก้จนอย่างยั่งยืน)

            2. ลำปาง  (เครือข่ายออมทรัพย์เพื่อสร้างสวัสดิการวันละบาท)

                       3. ตราด  (เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต)

            4. สมุทรปราการ  (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลในคลองบางปลากด)

            5. นครศรีธรรมราช (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ กึ่งอำเภอนบพิตำ)

ผู้เป็นหลักในการทำการศึกษา คือ อาจารย์ภีม ภคเมธาวี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการศึกษาที่มีคุณค่าน่าชื่นชม ควรนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี โดยหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบองค์กรการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน ทั้งในฐานะองค์กรการเงินชุมชนเอง ในฐานะผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในฐานะหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสนใจในการพัฒนาระบบสถบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน            ในเวทีกลางแจ้งที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ ผมได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน” โดยให้ความเห็นว่าในอนาคต ขบวนองค์กรการเงินชุมชนอาจได้รับการขับเคลื่อนไปภายใต้แนวทางใดแนวทางหนึ่งดังนี้

1. แนวทางแบบ “รัฐโน้มนำ” ซึ่งจะเกิดขึ้นหากรัฐบาลใช้ “กองทุนหมู่บ้าน” เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน

2. แนวทางแบบ “รัฐหนุนแนว” ซึ่งจะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอใน “ร่างแผนแม่บทองค์กรการเงินชุมชน” ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นแม่งานและอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงขั้นสุดท้าย

3. แนวทางแบบ “ประชาชนนำน้าว” ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินโดยรัฐบาลให้การรับรู้และสนับสนุนตามที่ประชาชนเสนอแนะหรือตามที่เห็นว่าเหมาะสมสอดรับกับแนวทางของภาคประชาชน

ผมให้ความเห็นว่า ทั้ง 3 แนวทางมีความเป็นไปได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ผมเองเห็นว่าแนวทางแบบที่ 2 และ 3 น่าจะดีกว่าแนวทางแบบที่ 1 และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร สิ่งที่มีคุณค่าแน่นอนและควรดำเนินการให้บังเกิดผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้แก่

1. การให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา หรือ “การพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และ 9

2. การประสานความร่วมมือและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน

3. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศที่ดีพอและมากพอ

4. การจัดการความรู้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการความรู้ภายในองค์กร การจัดการความรู้ระหว่างองค์กร การจัดการความรู้ภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย การจัดการความรู้ภายประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนควรมีการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ประกอบด้วย

5. การพัฒนาความสามารถในการจัดการ รวมถึง การจัดการองค์กรตนเอง การจัดการเครือข่าย การจัดการสนับสนุน (จากแหล่งต่างๆ) ให้ได้ทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความราบรื่นเรียบร้อย ฯลฯ

ไพบุลย์ วัฒนศิริธรรม

13 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/38472

<<< กลับ