ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส


(3 มิ.ย. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เตรียมอุดมฟอรัม ครั้งที่ 1” จัดโดย สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (คุณวิชัย ทองแตง เป็นนายกสมาคม) ผู้ร่วมอภิปรายอื่นๆในหัวข้อนี้ ได้แก่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในงานนี้ ทั้งผู้จัด ผู้กล่าวเปิดงาน ผู้ปาฐกถาพิเศษ และผู้อภิปรายทั้งหมด ล้วนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่รุ่น 5 (พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์) จนถึงรุ่น 35 (ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ)

ได้แสดงความคิดเห็นในการอภิปราย ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

กระแสโลกโดยรวม ไขว่คว้าความมั่งคั่งร่ำรวย ไล่ล่าความเจริญทางวัตถุ มุ่งเพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่าคือ การมุ่งสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขหรือภาวะเป็นสุขร่วมกัน อันได้แก่ ภาวะเป็นสุขทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ

กระแสโลก พยายามสร้างความสำเร็จจากการแข่งขันให้ชนะ แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่า คือ การสร้างความสำเร็จร่วมกัน ด้วยการร่วมมือ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน            กระแสโลก ได้สร้างความทุกข์อันเกิดจาก ความโลภมาก ความหลงผิด ความเป็นปฏิปักษ์ ความไม่สุจริต ไม่ชอบธรรม ไม่ยุติธรรม และอื่นๆ

โอกาสที่ประเทศไทย จะทำได้ดีกว่ากระแสโลก น่าจะมีอยู่ คือ การมุ่งแนวทางตามคำแนะนำของพระพุทธทาสภิกขุ (ซึ่งองค์การยูเนสโก ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญที่โลกควรระลึกถึงในโอกาสครบ 100 ปี นับจากวันเกิด) และคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว (ซึ่งครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และองค์การสหประชาชาติได้ถวาย “รางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตในการพัฒนามนุษย์”) คำแนะนำนั้น ได้แก่ “การออกเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามลำดับ

“เศรษฐกิจพอเพียง” หมายความรวมถึง ชีวิตพอเพียง สังคมพอเพียง ประเทศพอเพียง และโลกพอเพียง

“ความพอเพียง” คือ ความไม่โลภมาก ความไม่ทำลาย ความไม่เบียดเบียน แต่เป็นความพอเหมาะพอดี ความมั่นคง ความสมดุลย์ และความยั่งยืน

“เศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็น “เศรษฐกิจ” แห่งความถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม หรือเป็น “เศรษฐกิจคุณธรรม” นั่นเอง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

19 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/34751

<<< กลับ

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม


“สันติวิธี” เป็นการมุ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นการมุ่งประโยชน์ร่วมกัน เป็นการเห็นคุณค่าของ “สันติภาพ” หรือ “สันติภาวะ”

“วัฒนธรรม” เป็นแบบแผนการ คิด พูด ทำ ที่สั่งสมจนเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติเป็นปกติในกลุ่มชนหนึ่งๆ

“สันติวิธี” ควรพัฒนาเป็น “วัฒนธรรม” และ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรมี “สันติวิธี” อยู่ด้วย หรือ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรนำสู่ “สันติภาวะ”

                    “วัฒนธรรม” เชื่อมโยงแบบ “พหุปฏิสัมพันธ์” กับ “จิตสำนึก” “ระบบคิด” และ “การปฏิบัติ”

“จิตสำนึก” / “ระบบคิด” 2 แบบ ได้แก่

1. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “สมานฉันท์” เช่น

1.1 ตามธรรมะพระพุทธเจ้า

• กัลยาณมิตตตา

• พรหมวิหาร 4

• อปริหานิยธรรม 7

• บุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นต้น

1.2 ตามพระราชดำริในหลวง

• รู้ รัก สามัคคี

• ไมตรี (พระราชดำรัส 5 ธ.ค. 42)

• เศรษฐกิจพอเพียง

• เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

• คุณธรรม 4 ประการอันเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี (พระราชดำรัส 9 มิ.ย. 49) เป็นต้น

1.3 ตามหลักการพัฒนา/การบริหาร/การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ดี

• The 7 Habits of Highly Effective People

• Appreciative Inquiry (AI)

• Appreciation, Influence, Control (AIC)

• Knowledge Management (KM)

• Participatory Learning

• Learning Organization

• Conflict Management/Resolution

• Dialogue

• Restorative Justice   เป็นต้น

2. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “ปฏิปักษ์” ได้แก่

• ต่อสู้แย่งชิง

• แก่งแย่งแข่งขัน

• พวกเราพวกเขา

• เราดีเขาเลว

• คณะนิยม (ปฏิปักษ์กับคนอื่น)

• โลภมากอยากได้ (เงิน อำนาจ อิทธิพล ฯลฯ)   เป็นต้น

“วัฒนธรรมที่ดี” สามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง แต่ “สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม” อาจกลายเป็นสาเหตุหรือปัจจัยให้เกิดการขัดแย้งได้ เช่น การมองว่า “วัฒนธรรมของเรา” ดีกว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” หรือการพยายามนำ “วัฒนธรรมของเรา” ไปครอบงำคนอื่น หรือ การมองว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” ยังไม่ดีพอ หรือการติดยึดกับ “วัฒนธรรมของเรา” จนเกินความพอดี    เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารงานวัฒนธรรม

1. การค้นหา “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” ที่เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” หรือ “สันติวิธี”

2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” เหล่านั้น รวมถึงประเด็นต่อเนื่อง

3. การรวมตัวเป็น “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” ของ “บุคคล” หรือ “องค์กร” หรือ “พื้นที่” เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

4. การจัดกิจกรรม “ค้นหาจุดดีเด่น” และ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “จัดการความรู้” (Knowledge Management) (ตามข้อ 1. และ 2.) ภายใน “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” (ตามข้อ 3.)

5. “การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (Interactive Learning through Action) อย่างต่อเนื่อง

(บันทึกความคิดสำหรับการร่วมอภิปราย หัวข้อ “สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม” เมื่อ 13 ก.ค.49 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การฝึกอบรมผู้บริหารเครือข่ายวัฒนธรรม” ประจำปี 2549 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/40140

<<< กลับ

จะสร้าง “สมานฉันท์” จากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร

จะสร้าง “สมานฉันท์” จากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร


        คำว่า “สมานฉันท์” มีน้ำเสียงไพเราะ มีความหมายงดงาม คือหมายความว่า “ความพอใจร่วมกัน” หรือ “ความเห็นพ้องกัน”

“สมานฉันท์” เป็นได้ทั้ง “ผลลัพธ์” และ “วิธีการ”

ถ้าเป็น “ผลลัพธ์” เราจะพูดว่า “ขอให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมไทย” เป็นต้น

แต่ถ้าพูดว่า “ขอให้เรามาสมานฉันท์กันเถิด” เรากำหลังหมายถึงว่า ขอให้เรามา “ดำเนินการ” ในอันที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น

ตรงนี้แหละที่ยาก แต่ก็เป็นไปได้และควรพยายามทำให้ได้

สำคัญที่ต้องเข้าใจให้ถูก และทำให้ดี  

อย่างนี้ยังไม่ใช่ “สมานฉันท์”

ถ้าคนฝ่ายหนึ่งบอกว่า “เรามาสมานฉันท์กันนะ” โดยมีความหมายว่า “ที่พวกคุณคัดค้านต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่น่ะ ขอให้หยุดเสียเถอะ บ้านเมืองจะได้สงบสุข”

อย่างนี้ยากจะเกิดความ “สมานฉันท์” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” หรือ “ความเห็นพ้องกัน” เพราะอีกฝ่ายก็คงจะบอกว่า “ถ้าคนที่เราคัดค้านต่อต้านลาออกไปตามที่มีคนจำนวนมากเรียกร้อง พวกเราก็ยินดียุติความเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้าน”

ซึ่งฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ลาออกก็จะยังคงไม่ยอมลาออก เรื่องจึงจะยังคงเป็นความขัดแย้ง หรือยังไม่เป็นความสมานฉันท์อยู่นั่นเอง

หรือฝ่ายแรกอาจบอกว่า “ในเมื่อเราจะมีกระบวนการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว การเคลื่อนไหวอย่างอื่นควรยุติ” อีกฝ่ายก็คงตอบว่า “ไม่ได้ขัดข้องเรื่องการเลือกตั้งแต่ยังไม่มั่นใจในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง และขณะเดียวกันขอให้มีกระบวนการสอบสวนความผิดของผู้อยู่ในตำแหน่งสำคัญบางคน โดยไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย”

ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่ค่อยเห็นโอกาสที่จะมีการดำเนินการตามที่ฝ่ายที่สองเสนอ ดังนั้น ความขัดแย้งหรือความไม่สมานฉันท์จึงยังคงดำรงอยู่

นอกจากนั้น ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยข้องใจเกี่ยวกับจริยธรรม ความสุจริต ความน่าเชื่อถือ การมีพฤติกรรมเหมาะสม และความชอบธรรม ของผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในอำนาจ ถ้าความสงสัยข้องใจนี้ยังมีอยู่มาก การเลือกตั้งจะไม่ช่วยคลี่คลายและความยังไม่สมานฉันท์ คือความยังไม่ “พอใจร่วมกัน” จะยังคงอยู่

แล้ว “สมานฉันท์” ที่จริงแท้ควรเป็นอย่างไร

จะเกิดความ “สมานฉันท์” จริงแท้ได้ต้องมีทั้ง “กระบวนการ” ที่เห็นพ้องต้องกัน และการบรรลุ “ผลลัพธ์” ที่เห็นพ้องต้องกัน โดยเป็นความเห็นพ้องต้องกันของ “ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น ลงลึก ซับซ้อน และกว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อน

                มีอยู่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาก นับโดยสังเขปได้ดังนี้

1. พตท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะใกล้ชิด

2. ผู้นำทางการเมืองฝ่ายคัดค้านพตท.ทักษิณ

3. ผู้นำทางการเมืองฝ่ายสนับสนุนพตท.ทักษิณ

4. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

5. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คาราวานคนจน”

6. กลุ่มประชาชนอื่นๆที่คัดค้านพตท.ทักษิณ

7. กลุ่มประชาชนอื่นๆที่สนับสนุนพตท.ทักษิณ

8. กลุ่มประชาชนที่ไม่แสดงจุดยืนในทางสนับสนุนหรือคัดค้านพตท.ทักษิณ

9. กรรมการการเลือกตั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่

10. ฝ่ายรักษาการสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่แสดงจุดยืนบ่อยครั้ง

11. ฝ่ายตุลาการบางส่วนที่แสดง จุดยืนบ่อยครั้ง

12. ฝ่ายอื่นๆนอกจากที่กล่าวข้างต้น

“ผู้เกี่ยวข้อง” อาจมีมากกว่านี้หรือต่างไปจากนี้ก็ได้ ในกระบวนการสมานฉันท์จะเปิดกว้างและยืดหยุ่นไว้ ให้มีการจัดการตนเองและจัดการร่วมกันจนลงตัวได้ในที่สุด

ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเหล่านี้ ต้องเห็นชอบร่วมกันก่อนเกี่ยวกับ “กระบวนการ” ที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หากยังไม่เห็นพ้องต้องกันในขั้นนี้ กระบวนการจะสะดุดตั้งแต่ต้น

บทบาทของ “คนกลาง” ในการแก้ความขัดแย้ง

โดยนัยนี้ การขอให้คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็น “คนกลาง” ในการคลี่คลายความขัดแย้ง อาจเกิดปัญหาหากผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญยังไม่เห็นพ้องกัน หรืออาจเกิดความสับสนเนื่องจากคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็น “คู่กรณี” ในความขัดแย้งอยู่ด้วย ทำให้ทำหน้าที่ได้ยากหรือไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ที่อาจเป็นไปได้ คือ คุณบรรหาร ช่วยเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการให้มีการ “พูดจากัน” ในวงเล็กๆก่อน แล้วพยายามหาผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบหรือยอมรับร่วมกันให้มาทำหน้าที่ “คนกลาง” อย่างแท้จริงในขั้นถัดไป ซึ่งอาจเป็นคนกลางคนเดียว หรือเป็น “คณะคนกลาง” ก็ได้

“คนกลาง” จะทำงานได้ผลก็ยังต้องเสนอแนะหรือจัดให้มี “กระบวนการ” ซึ่งเห็นชอบร่วมกันในขั้นตอนต่างๆทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถนำไปสู่ความ “สมานฉันท์” คือ “ความพอใจร่วมกัน” ในที่สุด

“กระบวนการ” ดังกล่าวนี้ รวมถึงการตอบประเด็นว่า จะใช้การเจรจาหารือกันหรือไม่ ใครบ้างจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาหารือ จะแยกการเจรจาหารือเป็นหลายขั้นตอนไหม และแบ่งอย่างไร วิธีเจรจาหารือจะทำอย่างไร จะเปิดเผยมากน้อยแค่ไหน ในจังหวะใด และประเด็นอื่นๆอีกมากทีเดียว ซึ่งคนกลางจะต้องเอื้ออำนวยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามหาความเห็นพ้องเกี่ยวกับ “กระบวนการ” ในแต่ละขั้นตอน ก่อนที่จะดำเนินการตามกระบวนการเหล่านั้นเพื่อพิจารณา “สาระ” ต่างๆในลำดับถัดไป

การจัด “กระบวนการ”ทั้งหลายก็เพื่อให้สามารถเจรจาหารือกันอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์ นำสู่การเห็นพ้องต้องกันใน “สาระ” ที่สำคัญตามลำดับจนในที่สุดเป็น “ความเห็นพ้องกัน” ในเรื่องทั้งหมด ทำให้สลายความขัดแย้งที่เป็นปัญหา  กลายเป็น “ความพอใจร่วมกัน” หรือ ความ “สมานฉันท์” นั่นเอง

ตรงนี้ถือว่ายากที่สุด หรือท้าทายที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุดและถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน มากที่สุด

ดังได้กล่าวแล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน มีความเข้มข้น ลงลึก ซับซ้อน และกว้างขวาง มากทีเดียว

ฉะนั้น การบรรลุ “ความเห็นพ้องกัน” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” โดย “ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” จึง “ยากมากๆ” และจะต้องเป็นความเห็นพ้องกันในหลายๆประเด็นที่สำคัญพร้อมกันไป มิใช่เห็นพ้องกันเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา

ประเด็นที่สำคัญเหล่านี้อาจจะรวมถึง

1. การ “เว้นวรรค” หรือไม่เว้นวรรคของพตท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมเงื่อนไขต่างๆที่ผูกพันกับการเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคดังกล่าว

2. สถานภาพและบทบาทของกรรมการเลือกตั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่ พร้อมเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง

3. วิธีทำให้ฝ่ายต่างๆมั่นใจพอสมควรว่าการเลือกตั้ง วันที่ 15 ตุลาคม 2549 จะมีความ “เรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม”

4. วิธีดำเนินการกับความสงสัยข้องใจในความสุจริตถูกต้องของผู้นำทางการเมืองให้พอเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้

5. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลปกครอง

6. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และกลุ่มอื่นๆที่คัดค้านพตท.ทักษิณ

7. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของกลุ่ม “คาราวานคนจน” และกลุ่มอื่นๆที่สนับสนุนพตท.ทักษิณ

8. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของฝ่ายอื่นๆ เช่น นักการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ นักปฏิบัติการสังคม ฯลฯ

9. มาตรการระยะสั้นในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ

10. แผนดำเนินการระยะยาวในการปฏิรูปและพัฒนาทางสังคมและการเมือง

  ถึงยากแค่ไหนก็ควรพยายาม

ในการดำเนินการจริงๆ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเป็นผู้พิจารณาและหาความเห็นพ้องในการเลือกประเด็นที่จะนำมาเจรจาหารือเป็นช่วงๆ โดยอาจแปรเปลี่ยนขัดเกลาเพิ่มเติมเมื่อเวลาผ่านไป

การจะบรรลุความห็นพ้องกันในเรื่องทั้งหมดข้างต้น ต้องการความพยายามร่วมกันโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงใจ จริงจัง ด้วยความพากเพียร อดทน ใช้สติ ใช้ปัญญา โดยมีคนกลางที่เหมาะสม ช่วยจัดกระบวนการที่ดี และให้เวลาที่มากพอเพื่อเรื่องทั้งหมดนี้

ส่วนบรรดา “ผู้เฝ้ามอง” โดยเฉพาะสื่อมวลชน และ “กองเชียร์” ทั้งหลาย ก็ควรพยายามให้ความเป็นธรรมอย่างสร้างสรรค์ และให้กำลังใจอย่างเหมาะสม ต่อผู้เข้าสู่กระบวนการเจรจาหารือทั้งหมด และต่อทุกๆฝ่าย รวมถึง

“คนกลาง” หรือ “คณะคนกลาง” ด้วย

                เพราะเขาเหล่านั้น คือผู้ที่จะช่วยกันพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งแตกแยกที่สร้างความเสียหายมากมาย ไปสู่ความ “สมานฉันท์” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” ซึ่งน่าจะหมายถึงสภาพอันพึงปรารถนาที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่ความเจริญงอกงามของประเทศไทย ของสังคมไทย และของประชาชนชาวไทยโดยรวม  ในที่สุด

(หมายเหตุ      บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 24 ก.ค. 49 คือ 1 วัน ก่อนศาลอาญาพิพากษาจำคุก“3 กกต.” นำลงใน Webblog : paiboon.gotoknow.org วันที่ 28 ก.ค. 49 และลงเป็นบทความใน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับ 7 ส.ค. 49 หน้า 7)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/41313

<<< กลับ

 

สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม

สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม


(ปัจฉิมกถา ในการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ “เครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” 4 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จัดโดย “โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน (คสม.)” มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.))

โครงการนี้ได้ดำเนินงานมาโดยมีเนื้อหาสาระที่มีคุณประโยชน์เป็นอันมาก ได้ก่อให้เกิดทั้งกลไก เครือข่ายอาสาสมัคร ฐานข้อมูล และยังเกิดการสื่อสาร การจัดการความรู้ จนกระทั่งมีการนำเสนอสิ่งที่ควรจะเป็นนโยบายสาธารณะหรือมาตรการดำเนินการของหน่วยงานหลักๆทั้งในระดับชาติท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาต่างๆ ถือเป็นโครงการที่มีคุณประโยชน์ที่น่าจะคุ้มค่าใช้จ่าย เวลา และพลังงานที่ได้เสียไปโดยควรคำนึงไว้ว่าพลังงานจำนวนมาก เป็นพลังงานอาสาสมัคร ซึ่งถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความภาคภูมิใจและเป็นคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

            คำถามที่จะต้องเกิดขึ้นในการสิ้นสุดโครงการแม้จะเป็นเพียงระยะที่หนึ่งก็คือ ใครควรจะทำอะไรต่อ

ก่อนอื่นต้องกล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นคำใหญ่ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญถึงขั้นมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็ได้ดำเนินงานจนใกล้จะครบวาระของคณะกรรมการชุดแรก

            หลายคนอาจจะมีคำถามว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร คนส่วนหนึ่งเข้าใจและตอบได้ แต่คนจำนวนมากในประเทศไทยรวมทั้งผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญๆ เช่น ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น อาจจะยังไม่เข้าใจ หรือไม่ซึ้งว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของพวกเขาอย่างไร

คำว่า “สิทธิมนุษยชน” จะแปลให้ง่ายก็คือ สิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม โดยหวังว่าถ้ามีสิทธิที่ว่านี้ แล้วไม่มีใครไปละเมิด ก็น่าจะนำไปสู่ความสุขที่ชอบธรรม นั่นคือ เรากำลังพูดกันถึงเรื่องทุกขภาวะและสุขภาวะ ซึ่งน่าจะป็นประเด็นร่วมกันของทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน กระทรวงต่างๆ องค์กกรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้ง สสส. ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนโครงการนี้ นี่คงเป็นเหตุที่ว่า ทำไม สสส. จึงสนับสนุนโครงการนี้

            ส่วนคำถามที่ว่าควรทำอะไรต่อนั้น คิดว่าสิ่งที่เริ่มมานี้ดีแล้ว เพราะมีประชาคมที่ดำเนินการในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้โครงการนี้ มีการร่วมมือ ศึกษา คิดค้น ดำเนินการ แก้ปัญหา เกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายและนำเสนอเรื่องราว ให้กับส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค กระทรวง และหน่วยงานอื่นๆได้รับรู้

ส่วนคนที่จะดำเนินการต่อนั้น กลุ่มแรกที่มีความสำคัญมาก น่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนนี้ต้องดำเนินการต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องรอใคร โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภายใต้โครงการ คสม. นี้ เนื่องจากทั้งแรงงาน กำลังสมอง งบประมาณ ล้วนอยู่ในวิสัยที่จะจัดหาจัดการได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กลไกที่สอง ที่น่าจะทำอะไรต่อได้คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้จะไม่ได้มาฟังในเวทีนี้ ก็น่าจะพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆได้ โดยนำข้อเสนอที่ได้ในเวทีนี้ไปร่วมพิจารณาดำเนินการ

กลไกที่สามคือ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจและอื่นๆ เพราะทุกหน่วยงานล้วนมีความเกี่ยวพันกับสุขภาวะ ทุกขภาวะ ของประชาชนทั้งสิ้น ยิ่งได้รับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ยิ่งต้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

            อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเครือข่ายชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำงานจริง ดูแลคุ้มครองกันเองอย่างเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด โดยขณะนี้มีหลายพันตำบลที่เริ่มสร้างแผนแม่บทชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นแผนที่รวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตคน ครอบครัว ชุมชน ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนก็น่าจะรวมอยู่ในแผนแม่บทเหล่านี้

คำว่า “แผน” หมายถึงการจัดการ ซึ่งแปลว่าต้องมีการศึกษาสถานการณ์ วิเคราะห์ ขบคิด กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ ตลอดจนติดตามวัดผล สรุปบทเรียน แล้วนำมาพัฒนาต่อเนื่องในทุกเรื่อง และยิ่งสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมาเรียนรู้ร่วมกัน จัดการความรู้ร่วมกัน ก็จะมีความรู้ ความเข้าใจ มีพลังที่มากขึ้นและดีขึ้น รวมถึงความสามารถที่จะมีผลต่อหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะที่อาจจะมาร่วมด้วย และถ้าทำได้ดีก็ขยายวงไปในระดับชาติได้

หน่วยงานต่างๆถ้ามีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ และหากในส่วนฐานรากทำได้ดีแม้เพียงบางส่วน แต่ถ้าสามารถนำขึ้นมาให้มีผลต่อการพิจารณาของหน่วยงานส่วนกลาง เมื่อหน่วยงานกำหนดนโยบายที่ดีก็จะมีผลไปทั่วประเทศ ด้วยระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ หากเน้นที่ชุมชนท้องถิ่นให้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง น่าจะสามารถทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับการส่งเสริม คุ้มครองตามที่ปรารถนากันอย่างบรรลุผลได้ดีขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ

ขออนุโมทนาให้ความพยายามนี้จงประสบผลสำเร็จ และหน่วยงานต่างๆได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และประสานความร่วมมือกันกับส่วนอื่นๆในสังคม เพื่อว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องความสุข ความทุกข์ของคน ครอบครัว ชุมชน สังคม จะได้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

11 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/44268

<<< กลับ

การมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

การมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย


( Power Point ประกอบการบรรยายหัวข้อ “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” เมื่อ 1 ส.ค. 49 ณ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร “ธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับกลาง” รุ่นที่ 4 จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า )

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

14 ก.ย. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/50099

<<< กลับ

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี


   (ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2549  ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ)

วิกฤตที่ให้บทเรียนมีคุณค่า

                เมื่อไม่นานมานี้เราก็มีวิกฤตทางธรรมชาติเหตุการณ์สึนามิ เรามีวิกฤตเกี่ยวกับน้ำท่วมอาคารถล่มก็มีอยู่เสมอ สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นวิกฤต แต่ถ้าเรามองโดยยกตัวเองขึ้นเหนือเหตุการณ์ แล้วมองอย่างวิชาการ หรือมองแบบธรรมะ ธรรมะคือความเป็นจริง คือธรรมชาติ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือปรากฏการณ์ เป็นปรากฏการณ์ที่ย่อมผันแปรจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง และในปรากฏการณ์นี้ก็มีพัฒนาการ อาจถึงขั้นที่ผมเรียกว่า นวพัฒนาการ คือ มีพัฒนาการใหม่ๆอยู่ในปรากฏการณ์ด้วย

                เมื่อสักครู่ผมเรียนถามท่านอธิการบดีว่ามีคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหรือไม่ ท่านบอกว่ามี เป็นภาควิชา ผมคิดว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงการเรียนรู้ที่น่าสนใจ อย่างยิ่ง สำหรับคนไทยและสังคมไทย โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์  ยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทำให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่าง เกิดความเขัาใจ หรือคิดว่าเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการประเทศ การบริหารจัดการสังคม ที่เราอาจจะเรียกว่ารัฐศาสตร์

                ผมเชื่อว่าอาจารย์หลายๆ ท่านคงคิดแบบเดียวกับผม ว่าบทเรียน ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเมืองไทยมีมากทีเดียว จริงอยู่เรามีต้นทุน คือความเครียด ความกังวล ความขัดแย้ง การต่อสู้ ความรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกเดือดร้อน รู้สึกเป็นทุกข์ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป การพัฒนาประเทศเกิดภาวะสะดุดหยุดชะงัก  เหล่านี้คือ ต้นทุนของสิ่งที่เราเรียกว่าวิกฤตทางการเมือง

                ท่ามกลางวิกฤตได้เกิดพัฒนาการ ความรู้ความเข้าใจ ความตื่นตัวของคนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม บทบาทของภาคประชาชน จริยธรรม ความถูกต้อง ความชอบธรรม เหล่านี้คือการเรียนรู้ เป็นพัฒนาการทางปัญญา ของคนไทยและสังคมไทยเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ที่ผมเห็นว่ามีคุณค่ายิ่ง และที่อาจเรียกว่า นวพัฒนาการ คือ ได้เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ขึ้นมา การใช้รัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมาย การใช้กระบวนการทางสังคม การค้นหาทางออก โดยเฉพาะที่ได้รับอานิสงส์และพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นส่วนหนึ่งของนวพัฒนาการ ในเรื่องการเมืองการปกครองของสังคมไทย

โดยสรุปแล้ว ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นนักวิชาการ ผมจึงอยากจะเสนอว่าเราไม่จำเป็นต้องมองว่าสังคมไทยหรือการเมืองไทยเกิดวิกฤต แต่มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง มีทั้งปัญหา และความเสียหาย พร้อมกับมีโอกาส และพัฒนาการ เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วผมคิดว่าคงไม่ติดลบ อาจจะเป็นบวกพอประมาณ ที่พูดเช่นนี้อาจเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่ผมคิดว่าการมองโลกในแง่ดีน่าจะเป็นคุณมากกว่ามองโลกในแง่ร้าย หรือถ้ามองให้เป็นสัจธรรมก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้ามองเป็นสัจธรรมจะไม่มีอะไรดีไม่มีอะไรร้าย ที่พระพุทธทาสบอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเองหรือ ตถตา

ความขัดแย้งกับสันติวิธี

                ท่ามกลางความขัดแย้งและวิกฤตได้มีความพยายามที่จะนำสันติวิธีมาใช้ ผมเองก็ได้เขียนบทความในเรื่องสันติวิธี โดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เขียนไปเพื่อแสดงความคิดเห็นให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง ปรากฏว่ามีคนขานรับ มาชวนผมไปช่วยดำเนินการให้มีการพูดจากันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ทำได้รอบเดียว เพราะสถานการณ์พลิกผันไปเร็วมาก เท่าที่ทำไปก็เห็นว่า สันติวิธีเป็นไปได้ โดยจัดให้คนที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน ไม่ถึงระดับสูงสุดแต่เป็นระดับกลาง มาคุยกันว่าสิ่งที่เราต้องการร่วมกันคืออะไร จะมีทางไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ลองตั้งประเด็นว่าอะไรบ้างที่เราสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ อะไรที่ยังไม่เห็นพ้องต้องกัน ปรากฏว่าหลายข้อเห็นพ้องต้องกันได้ แม้กระทั่งข้อที่บอกว่าน่าจะมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบกรณีการขายหุ้นชินคอร์เปอร์เรชั่น คิดว่าข้อนี้ตกลงกันได้นะครับ แต่ไม่สามารถจะสานต่อได้ เนื่องจากว่าเหตุการณ์พลิกผันเร็วมาก ในที่สุดเหตุการณ์อย่างอื่นก็มามีกระแสเหนือกว่าความพยายามในเรื่องสันติวิธี

                ที่จริงได้มีฝ่ายอื่นพยายามอยู่เหมือนกันที่จะใช้กระบวนการสันติวิธี สันติวิธี หมายถึง มาพูดคุยกันไม่ใช่มาเถียงกัน ไม่ใช่มาโต้กัน หรือโต้กันคนละเวทีก็ไม่ใช่สันติวิธี แต่ความพยายามที่ว่านั้นก็ยังไม่สำเร็จเช่นกัน

                กลับมาดูว่าในสังคมเรา เรื่องของความขัดแย้งย่อมมีเป็นธรรมดา และขณะนี้เราเห็นความขัดแย้งระดับใหญ่ก็คือ ความขัดแย้งในสังคม อาจจะถือว่าเป็นความขัดแย้งที่แบ่งคนได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย แบ่งเป็นสองข้างเลย และแบ่งย่อยไปถึงว่าในแต่ละจังหวัดก็มีสองข้าง ในแต่ละหน่วยงานก็มีสองข้าง ในกลุ่มก็มีสองข้าง แม้กระทั่งในระดับครอบครัวก็ยังมีสองข้าง

                ความขัดแย้งสามารถมีอยู่ทั่วไป ในมหาวิทยาลัยอาจมีความขัดแย้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องของท่านเอง ในโรงเรียนก็อาจมีความขัดแย้งระหว่างครูด้วยกัน ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน  ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างครูกับผู้ปกครอง ในบางประเทศมีความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรง อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีผิวสีที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้สังคมจึงคิดค้นวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่าง และท่ามกลางโอกาสที่จะมีความขัดแย้งเมื่อใดก็ได้

ความพยายามที่จะใช้กระบวนการสันติวิธีมีมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้มีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน หรือระหว่างรัฐที่มีเรื่องขัดข้องกันอยู่

สันติวิธีแบบชั้นเดียวกับแบบสองชั้น

                กล่าวโดยทั่วไป กระบวนการสันติวิธีนี้ ผมได้เคยแยกไว้ให้ฟัง ง่ายๆ ที่จริงเรื่องมันซับซ้อน แต่ผมพยายามพูดให้ ง่ายๆ สันติวิธีมีแบบชั้นเดียวกับแบบสองชั้น การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย เขาก็อ้างว่าเป็นกระบวนการสันติวิธี เป็นวิธีอหิงสา ถ้าไปดูประกาศของเขายังแถมคำว่า อโหสิ อีกด้วย อหิงสามาจากมหาตมะ คานธี หรือ Non-violence วิธีการที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้เป็นสันติชั้นเดียว ก็คือใช้กระบวนการที่ไม่รุนแรง ไม่ใช้อาวุธ ขนาดบอกว่าถ้าถูกตีจะไม่ตีตอบ แต่ที่ว่าชั้นเดียวก็คือ เป็นสันติวิธีเพื่อที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเอานายกออกให้ได้ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมจำนน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งต่างจากที่ทางใต้นะครับ ทางใต้นั้นใช้ความรุนแรง เช่น กรณีตากใบเป็นต้น แต่ครั้งนี้ไม่ใช้ความรุนแรง ตำรวจไม่ถืออาวุธ แต่รัฐบาลก็พยายามจะเอาชนะเหมือนกัน คือพยายามให้พันธมิตรต้องสลายไป ต้องเลิกไป แถมมีการใช้มาตรการทางกฎหมายด้วย ก็ถือเป็นสันติวิธีเพราะไม่ได้ใช้อาวุธ แต่วิธีอย่างนี้เรียกได้ว่า เป็นสันติวิธีชั้นเดียว

                สันติวิธีที่ไม่ใช่ชั้นเดียว แต่เป็นสันติวิธีสองชั้น หมายถึง การใช้กระบวนการที่เป็นสันติเพื่อให้บรรลุผลที่เป็นสันติ นั่นคือมีความตกลงร่วมกัน หรือพอใจร่วมกัน หรือชนะด้วยกันนั่นเอง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสันติวิธีที่สมบูรณ์แบบ คือเป็นกระบวนการสันติและเกิดสันติตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ

ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจะได้มาซึ่งสันติวิธีสองชั้น ในการนี้ควรพิจารณาถึงสถานการณ์สองแบบ แบบที่หนึ่ง ได้แก่ในสถานการณ์เย็น คือไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งรุนแรง ในสถานการณ์แบบนี้การใช้สันติวิธีสองชั้นดูจะไม่ยากนักแม้ไม่ถึงกับง่าย แต่ในสถานการณ์แบบที่สองจะยากกว่า คือในสถานการณ์ร้อน เช่นถึงขั้นต่อสู้กันด้วยอาวุธที่ศรีลังกา ตะวันออกกลาง หรือทางภาคใต้ของเรา

ตัวอย่างสันติวิธีในประเทศไทย

ตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการสันติวิธีที่น่าสนใจ และเป็นสันติวิธีแบบสองชั้น ได้แก่ การแก้ปัญหาสลัมหรือชุมชนแออัดในเมือง ในกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดอยู่ประมาณ 1,000 แห่ง แถวสุขุมวิทนี้ไม่ค่อยมี ที่คลอง เตยเยอะหน่อย และทั้งประเทศมีชุมชนแออัดประมาณ 2,000 กว่าแห่ง การแก้ปัญหาชุมชนแออัด เคยทำด้วยวิธีไล่รื้อ เกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง ผมเคยดูวิดีโอเกี่ยวกับการไล่รื้อ เขาบันทึกภาพสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดูแล้วสะเทือนใจมาก เพราะว่าตำรวจเข้าไปรื้อย้ายโดยใช้กำลัง ชาวบ้านก็วิ่งวุ่น กอดข้าวกอดของ ไม่ยอมไป ตำรวจลากไป ลูกหลานเห็นพ่อแม่ถูกลากไปก็วิ่งมากอด เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก เหตุเกิดเพราะเจ้าของที่ดินเขาต้องการที่ดินมาทำประโยชน์ แรกๆ ก็ให้อยู่ ต่อมาที่ดินแพงขึ้นจึงต้องการให้ชาวบ้านออกไป ชาวบ้านไม่ยอมออกเพราะว่าอยู่มานานแล้ว และยังไม่มีที่ไปที่ลงตัว เกิดเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อในหลายกรณี และบางกรณีในอดีตได้กลายเป็นความรุนแรง

ถามว่าปัญหาชุมชนแออัดเช่นนี้ จะใช้กระบวนการสันติวิธีแบบสองชั้นได้ไหม คำตอบคือ ได้ เมื่อเช้านี้ผมอยู่จังหวัดขอนแก่น ไปทำพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ผมเคยเป็นประธาน เดี๋ยวนี้เป็นประธานที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสนับสนุนโครงการนี้  ด้วยวิธีเชิญชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาวางแผนด้วยกัน พัฒนาด้วยกัน ทุกฝ่ายมีใครบ้าง สำคัญที่สุดคือชาวบ้านที่อยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด ให้เขาเป็นแกนกลางในการพัฒนา แต่กว่าจะให้เขามาคิดที่จะพัฒนาได้นี้ ต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการทางสังคม

                กรณีของสลัมที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่และผมได้ไปทำพิธีเปิดเมื่อเช้านี้ เขาใช้เวลาประมาณสองปี เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น ที่น่าสนใจคือ มีนักพัฒนาชุมชนเข้าไป มีอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมไปช่วยคิดในเรื่องการวางผังวางแปลน มีอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ไปช่วยดำเนินการในทางสังคม มีเจ้าหน้าที่เทศบาล มีเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีผู้นำชุมชน ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาสองปี จนกระทั่งสามารถพัฒนาโครงการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ เจ้าของที่เดิม เจ้าของที่ใหม่ เทศบาลที่ดูแล และชาวบ้านเอง สามารถตกลงกันได้ ไม่ต้องมีการไล่รื้อ ไม่ต้องทำให้ประชาชนต้องย้ายออกไปก่อนเวลาที่เขาพร้อม แต่สามารถที่จะมีโครงการร่วมกัน และเกิดเป็นความพอใจร่วมกันขึ้นมาได้ เมื่อเช้าผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไป นายกเทศมนตรีก็ไป อธิการบดีส่งรองอธิการบดีไป อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นสันติวิธี ทำให้เรื่องซึ่งเป็นปัญหาได้รับการคลี่คลายแก้ปัญหาแล้วมีความเห็นพ้องต้องกันได้โดยสันติ อย่างไรก็ดี กรณีที่กล่าวมานี้เป็นการใช้สันติวิธีในสถานการณ์เย็น ที่ว่าเย็นเพราะว่าแม้เป็นปัญหาแต่ก็ยังไม่มีความขัดแย้งแบบปะทะกันหรือต่อสู้กัน

ตัวอย่างสันติวิธีในต่างประเทศ

                ตัวอย่างที่น่าสนใจในต่าง ประเทศก็มี เช่นที่ประเทศเเคนนาดา ซึ่งได้เคยมีการพาประธานรัฐสภาไทยกับส .ส.และส.ว.บางท่านไปดูงาน ที่แคนาดา เขามีกระบวนการที่เรียกว่า Citizens’ Dialogue ซึ่งได้มีผู้ใช้ภาษาไทยว่า สานเสวนาประชาชน หรือสานเสวนาประชาคม ก็คือการพูดคุยกันในหมู่ประชาชน เขาจะเลือกประชาชนที่สนใจและเกี่ยวข้องเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 40 – 50 คน ทำหลายพื้นที่ ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ มีตัวอย่างที่ไปดูมาเช่นว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศแคนาดาจะไปทางไหน หรือว่าระบบบริการสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร เขาก็จัดให้คนมาพูดคุยกัน จนกระทั่งได้มีความเห็นร่วม ซึ่งความเห็นร่วมจะต้องมีการสังเคราะห์และก็พูดคุยกันยกระดับขึ้นไป ในที่สุดก็ไปพูดคุยกันในระดับนโยบายแล้วได้ความเห็นร่วมออกมา นี่ก็เป็นสันติวิธีอีกแบบหนึ่งซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า Citizens’ Dialogue หรือที่แปลเป็นไทยว่า สานเสวนาประชาคม

                ในประเทศสวีเดนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาจะพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพหรือ Health Promotion รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว คณะกรรมาธิการก็ไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมถึงข้าราชการและรัฐบาลท้องถิ่นอันได้แก่ เทศบาลทั้งหลาย ใช้เวลารวมประมาณสามปี ใช้วิธีการหลากหลายและระดมความคิดกันหลายรอบหลายมิติมาก จนกระทั่งได้ความเห็นร่วมออกมา แล้วจึงไปเสนอในรัฐสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ออกมาโดยเรียบร้อย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบการสร้างเสริมสุขภาพของสวีเดน เมื่อปีที่แล้วเขานำเสนอเรื่องนี้ในการประชุมที่จัดโดยองค์การอนามัยโลกในประเทศไทย น่าสนใจมาก

                ประเทศไทยเราเองก็มีขบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้กระบวนการรับฟัง ความเห็นของประชาชนจำนวนมาก มีการพูดคุยกันในระดับชาวบ้าน ระดับคนชั้นกลาง ระดับนักวิชาการ ข้าราชการ นักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง หลายรอบมาก ซึ่งนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันที่จะมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ แล้วดำเนินการจนเรื่องเข้ารัฐสภา ผ่านวาระแรกแล้วเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง บังเอิญเกิดยุบสภาเรื่องจึงจะต้องถอยไปหน่อยหนึ่ง คือกลับไปตั้งคณะกรรมาธิการใหม่

สันติวิธีในสถานการณ์ร้อน

                ตัวอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นการใช้กระบวนการสันติวิธี ซึ่งมีเทคนิค มีวิธีการมากพอสมควร แต่เป็นการใช้ในสถานการณ์เย็น ทีนี้ในเป็นสถานการณ์ร้อนจะเป็นยังไง สถานการณ์ร้อนคือมีความขัดแย้งแล้ว สู้กันแล้ว บางแห่งใช้อาวุธแล้ว กรณีประเทศไทยความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ได้มีการใช้อาวุธ แต่ก็สู้กันด้วยวาจา สู้กันด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ในจิตใจมีความเป็นปฎิปักษ์ ไม่เป็นมิตร อย่างนี้เรียกว่า สถานการณ์ร้อน

                แต่แม้ในสถานการณ์ร้อน ก็มีกระบวนการสันติวิธีได้ ที่ใช้กันอยู่เราเรียกว่ากระบวนการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือ Conflict Resolution through peaceful means หรือ Conflict Management บ้างก็เรียกว่า Conflict Transformation เป็นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง แปรเปลี่ยนให้ไปในรูปที่จัดการได้ แม้ในกรณีที่รบพุ่งกันมาเป็นสิบๆปี เช่นที่ตะวันออกกลาง เขาก็ได้จัดให้มีการเจรจากันเพื่อจะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี คือ แก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้อาวุธ แต่ด้วยการพูดจากัน ที่ศรีลังกาขัดแย้งกันมาคงไม่น้อยกว่า 20 ปี ก็กำลังมีชาวนอร์เวย์มาเป็นคนกลางช่วยให้มีการเจรจากัน แต่ว่าคุยกันไปทีนึงแล้วก็หยุด คุยกันใหม่แล้วก็หยุด มีการมาคุยกันที่ประเทศไทยครั้งหนึ่งท่านอาจจะจำได้ ได้ความคืบหน้าไปบ้างแล้วก็หยุด

                คงต้องยอมรับว่า ถ้าเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นแบบที่ศรีลังกาหรือที่ ตะวันออกกลาง หรือที่บางประเทศในอัฟริกา มันก็ยาก แม้ในประเทศไทยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ยังไม่ก้าวหน้าจนถึงขั้นที่สามารถจัดกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้ เพราะยังหาคู่ขัดแย้งไม่เจอ ถ้ามีคู่ขัดแย้งชัดก็สามารถชวนมาคุยกันได้ แต่นี่หาไม่เจอว่าคู่ขัดแย้งคือใคร รู้แต่ผลของการกระทำของเขา คือ มีการทำร้าย มีการฆ่า มีการทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเรารู้ว่าใครคือคู่กรณี สามารถจะเชิญชวนมาเจรจากันได้

สันติวิธีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนั้น มีวิทยาการอันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ผมเองเคยไปร่วมกระบวนการนี้ในกรณีของการวางท่อก๊าซไทย – พม่า ไม่ใช่ไทย – มาเลเซีย แต่เป็นไทย – พม่า ที่กาญจนบุรี โดยเป็นผู้จัดกระบวนการร่วมกับคุณหมอวันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนั้นท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ให้บริการทางวิชาการ จัดฝึกอบรม ให้การเรียนรู้ และให้บริการที่จะไปดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องจากท่อก๊าซไทย – พม่า ถือเป็นโจทย์ชิ้นใหญ่พอสมควร ตอนนั้นผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาและอยู่ในคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม มีการร้องเรียน เรื่องเกี่ยวกับการวางท่อก๊าซไทย – พม่า คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมเห็นว่าน่าจะลองใช้กระบวนการสันติวิธีและติดต่อสถาบันสันติศึกษาให้ช่วยดำเนินการ เมื่อถามไปยังฝ่ายรัฐ ฝ่ายรัฐเห็นด้วยตอบตกลง ครั้นเมื่อไปติดต่อชาวบ้าน ชาวบ้านบอกขอดูก่อนว่าใครจะมาจัดการ ต้องใช้เวลาคุยกับชาวบ้านสามรอบถึงตอบตกลง จากนั้นจึงจัดกระบวนการเจรจาระหว่างคู่กรณี ซึ่งฟากของฝ่ายรัฐบาลมอบหมายให้ปตท.ดูแล สถาบันสันติศึกษาได้จัดให้ ปตท.และชาวบ้าน เข้ากระบวนการเรียนรู้เรื่องสันติวิธี ใช้เวลาฝ่ายละสองวัน แยกกันยังไม่เจอกัน ต้องเรียนรู้ว่าสันติวิธีเป็นอย่างไร และเขาจะต้องเตรียมตัวอย่างไร

พอทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้เริ่มต้นแล้ว จึงให้มาเจอกัน ใช้เวลาอีกสองวันเจรจากันว่า จะเจรจากันอย่างไร หรือเจรจาหาข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีเจรจา คือยังไม่พูดว่าปัญหาเรื่องท่อก๊าซเป็นอย่างไร แต่พูดว่าจะคุยกันแบบไหน จะนั่งกันอย่างไร ใครดำเนินการ จะเปิดให้ใครเข้าร่วมบ้าง ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร และอื่นๆ  ขั้นตอนนี้คล้ายๆ กับที่ ทปอ . หรือที่ประชุมอธิการบดี และ P – NET พยายามจะจัดให้มีการเจรจา กันระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ แต่วิธีการที่เขาทำเขายังไม่สามารถคุยเรื่องกระบวนการให้จบ เขาไปคิดอะไรบางอย่างแล้วเสนอออกไป ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเห็นด้วยแค่นี้แต่มีเงื่อนไขอย่างนั้น อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีเงื่อนไขอย่างนี้ ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ในขั้นกระบวนการ จึงไม่สามารถเปิดการเจรจาได้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรื่องการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนี้ มีศาสตร์ มีศิลป์ มีกระบวนการ มีวิธีการ ที่ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ให้เพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51072

<<< กลับ

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี (ต่อ)

วิกฤติการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี (ต่อ)


สถาบันการศึกษากับสันติวิธี

                ขอเข้าประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันการศึกษาในเรื่องสันติวิธี ในต่างประเทศ เช่นที่อเมริกา  ที่แคนาดา สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีหน่วยงานเป็นหน่วยพิเศษหรือเป็นคณะเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเเรกในประเทศไทยที่ตั้งหน่วยงานเพื่อศึกษาวิจัยและให้บริการในเรื่องสันติวิธี โดยตั้งสถาบันสันติศึกษาขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ในขณะที่นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นอธิการบดี ทั้งนี้โดยการแนะนำและสนับสนุนของ คุณหมอประเวศ วะสี ผมเองที่บังเอิญเป็นเพื่อนกับคุณหมอวันชัย ก็ได้สนใจเรื่องสันติวิธีและมีส่วนร่วมสนับสนุนคุณหมอวันชัยให้ดำเนินการในเรื่องสันติวิธีด้วย ซึ่งคุณหมอวันชัยก็สนใจและกระตือรือร้น ลงทุนไปเรียนรู้ที่แคนาดา ไปเห็นรูปแบบเขาก็เอามาตั้งบ้าง เรียกว่า สถาบันสันติศึกษา ในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

                ต่อมา ก็ได้เกิดศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลขึ้นที่สถาบันพระปกเกล้า โดยผมเป็นผู้เสนอแนะ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคนแรก ต่อมาภายหลังได้ไปเชิญคุณหมอวันชัย ซึ่งเกษียณจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้มาเป็นผู้อำนวยการ ทางด้านมหาวิยาลัย ได้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาในเรื่องสันติวิธี ตามด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีขึ้นไม่นานมานี้ มีอาจารย์ ดร.โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ได้ตั้งศูนย์หรือโครงการศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้ง อาจมีมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกที่ได้ดำเนินการในเรื่องสันติวิธีในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และผมพึ่งทราบด้วยความยินดีว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็ได้ตั้งสถาบันสันติศึกษาหรืออะไรทำนองนี้ขึ้นมาด้วยแล้วเหมือนกัน

                ท่านอาจจะทราบหรือไม่ว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ สันติวิธี เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้เสนอให้ออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีและให้ถือเป็นนโยบายสำคัญอันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของประเทศ คำสั่งนี้ท่านนายกทักษิณได้ลงนามประกาศใช้แล้ว เป็นคำสั่งที่ 187/2546 นั่นคือประกาศใช้มาเกือบ 3 ปีแล้ว และล่าสุดได้มีการเสนอเรื่องยุทธศาสตร์สันติวิธีเข้าไปในครม . ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบ และได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า เป็นหน่วยงานที่จะไปสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ อันได้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ในการที่จะมีหน่วยงาน หรือมีการศึกษาวิจัยหรือมีการให้บริการในเรื่องสันติวิธี

                รวมแล้วจะเห็นว่าในประเทศไทยเรา สถาบัน การศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยได้มีบทบาทในเรื่องสันติวิธีมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทั้งกำลังก่อตัว กำลังงอกเงยมากขึ้น และเป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกำลังริเริ่ม เรื่องนี้ขึ้นด้วย

วิธีดำเนินการของสถาบันการศึกษา

                คำถามต่อไปคือ แล้วจะทำอะไร อย่างไร ผมเชื่อว่าท่านก็คงจะต้องไปศึกษาพิจารณา ดูว่าที่ไหนเขาทำกันอย่างไรบ้าง แล้วท่านก็มาพัฒนาของท่านเองในเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกระบวนการสันติวิธี กล่าวโดยทั่วไป สถาบันการศึกษามีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างท่านคงทราบดีนะครับ ท่านจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิต ท่านมีงานศึกษาวิจัย และท่านมีงานบริการสังคม ทั้ง 3 ลักษณะนี้สันติวิธีเข้าไปได้ทั้งสิ้น เพราะสันติวิธีเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม เป็นกระบวนการทางสังคม และเป็นเทคนิควิธีการ อยู่ที่ไหนก็เกี่ยวข้องได้ อยู่ที่ไหนก็ใช้ประโยชน์ได้ ในบ้านก็ใช้ประโยชน์ได้ ในครอบครัว ในชุมชน ในหน่วยงาน ในตัวเราเองยังใช้ได้เลย ฉะนั้นถ้าสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต้องการจะพัฒนาบทบาทในเรื่องสันติวิธีให้มากขึ้น ท่านก็สามารถจะพัฒนาแทรกเข้าไปหรือหนุนเสริมเข้าไปในการเรียนการสอน ในการวิจัยค้นคว้า และในการบริการสังคม 

                ที่จริงอาจจะอาศัยโอกาสที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เกิดความขัดแย้งที่ยังไม่มีความรุนแรง แต่ เป็นความขัดแย้งที่กว้างใหญ่ และเป็นความขัดแย้งที่สำคัญ เราอาจใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสที่เราจะพัฒนาทางการเมือง พัฒนาทางสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง ขณะนี้ก็มีการพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง หลายฝ่ายพูดถึงการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง เพราะการเมืองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว การเมืองเป็นกลไกของสังคม มีมิติต่างๆ ทางสังคม ซึ่งรวมทั้งจิตใจ คุณธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่จะต้องมีการทบทวนและพัฒนาหรือปฏิรูป หรืออภิวัฒน์คือ ทำให้ดีทำให้เจริญขึ้นไปอีก ถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งในการแก้ปัญหา ในการปฏิรูป ในการพัฒนา หรืออภิวัฒน์ ดังกล่าว เราสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมและการเมืองได้

                บางครั้งเราใช้คำว่า เป็นกระบวนการสร้างสันติ ในภาษาอังกฤษ คือ Peace Building เป็นการสร้างสันติ ใช้สันติวิธีให้เกิดสันติสุข ก็คือมีความเห็นพ้องต้องกันหรือตกลงกันได้และ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมเรามุ่งมาดปรารถนา สถาบันการศึกษาจึงอยู่ในวิสัยที่จะสอดแทรก หรือหนุนเสริม เรื่องสันติวิธีเข้าไปในการเรียนการสอน ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และในการบริการสังคมหรือบริการทางวิชาการ ในการทำเช่นนี้ ถ้าท่านมีหน่วยงานพิเศษที่จะทำเรื่องนี้ ก็จะมีกลุ่มบุคคลที่จับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาจะต้องเข้ามาทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องพอสมควร ถึงจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งและปฏิบัติได้ดี สิ่งที่ยากคือการปฏิบัติ ความเข้าใจในทฤษฎีนั้นไม่ถึงกับยาก แต่เรื่องปฏิบัติให้ได้ดีนี่ยาก ต้องอาศัยทั้งความรู้ความเข้าใจที่ดี ทัศนคติที่เหมาะสม และความชำนาญที่เพียงพอ ผมเคยได้รับมอบหมายให้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ธรรมศาสตร์ตอนที่เขาทะเลาะกันว่าจะย้ายไปรังสิตเมื่อไหร่ ด้วยความที่ผมไม่ชำนาญ แม้จะได้สนใจและศึกษา แต่ยังไม่ชำนาญ จึงคิดว่าทำได้ไม่ดีนัก ได้ผลเพียงระดับหนึ่ง คิดว่าถ้าทำอีกครั้งหนึ่งน่าจะทำได้ดีกว่า

สันติวิธีต้องสร้างสมความรู้ความชำนาญ

                ฉะนั้นเรื่องสันติวิธีจึงต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา ต้องฝึกฝน ต้องสร้างสมความชำนาญ เหมือนกับการเป็นอาจารย์ ถ้าท่านมีชั่วโมงบินสูงท่านก็ทำได้ดีเมื่อเทียบกับอาจารย์ใหม่ๆ ที่ยังขาดประสบการณ์ยังไม่ได้ฝึกฝนมาก ยิ่งเรื่องสันติวิธี ยิ่งต้องฝึกฝน ยิ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยุ่งยากและซับซ้อน ก็ยิ่งต้องใช้ศิลปะวิทยาการและความชำนาญมาก ผมเคยเขียนในบทความว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ลำพังคนกลางธรรมดาอาจไม่พอ อาจต้องมีบุคคลระดับที่เป็นร่มบารมีมาช่วยด้วย นี่คือศิลปะควบคู่วิทยาการ

                ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสันติวิธีโดยมีพระบารมีของพระองค์ท่านช่วยเอื้ออำนวย ประเทศไทยและสังคมไทยโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่มีพระประมุขซึ่งทรงมีพระปรีชาญาณลึกล้ำ ทรงมีพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณสูงส่ง ถือเป็นร่มบารมีใหญ่ที่ช่วยให้ในที่สุดแล้วเรากำลังคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยดึงผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสู่กระบวนการ เป็นกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ที่ผมขอเรียกว่าเป็น นวัตกรรม หรือเป็น นวพัฒนาการ ที่นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ควรต้องศึกษา ซึ่งมีได้ในประเทศไทยที่มีลักษณะพิเศษ มีองค์ประกอบพิเศษ สังคมอื่นประเทศอื่นคงจะมาลอกแบบไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เราจะไปลอกแบบแคนาดาลอกแบบอเมริกามาทั้งดุ้นก็ไม่ได้และไม่ควร เราต้องพยายามพัฒนาระบบและวิธีการที่เหมาะสมของเราขึ้นมา 

                จึงกลับมาข้อสรุปเดิมว่า สถาบันการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยในเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีหรือกระบวนการสันติวิธี เพราะสถาบันการศึกษา มีคณาจารย์ ซึ่งเหมาะสมอยู่แล้วในการศึกษาวิจัย หาความจริง สร้างความดี ความจริงและความดีเป็นฐานของสันติวิธี ที่จะนำไปสู่ความสันติสุขร่วมกัน เราไม่สามารถจะมีความสันติสุขร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ถ้าเผื่อเราไม่มีความจริงและความดีเป็นฐาน มหาวิทยาลัยเป็นที่ๆ เหมาะสมอย่างยิ่งในการค้นหา สร้างสรรค์ พัฒนา ความจริงและความดี แล้วนำมาเผยแพร่ นำมาประยุกต์ใช้ นำมาใช้ประโยชน์ โดยมีการศึกษาทบทวนและปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย นี่คือบทบาทของสถาบันการศึกษา

ควรมีเครือข่ายสันติวิธี

                เรื่องการแก้หรือจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือการใช้สันติวิธีเพื่อสร้างสันติสุข ไม่ว่าจะในสถานการณ์ ร้อนหรือในสถานการณ์เย็น เป็นบทบาทที่มหาวิทยาลัยน่าจะมีได้อย่างเหมาะสม และผมมีความเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแห่งนี้ มีความพร้อม มีศักยภาพ จึงขอเอาใจช่วย ขอสนับสนุนความริเริ่มของท่านที่จะมีหน่วยงาน มีคณะบุคคล ที่จะศึกษา วิจัย พัฒนา และให้บริการในเรื่องสันติวิธี ให้เกิดผลดีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สถาบันของท่านเองก็จะพัฒนามากขึ้นๆ ขยายวงบริการได้มากขึ้นและดีขึ้น พร้อมกันนั้น ท่านก็สามารถโยงใยกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทหรือสนใจในเรื่องสันติวิธีด้วยกัน รวมทั้งสามารถโยงใยเป็นเครือข่ายกับหน่วยงาน เช่น สถาบันพระปกเกล้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ และอื่นๆ 

                ผมขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ และถ้ามีอะไรที่ผมหรือองค์กรที่ผมเกี่ยวข้องจะสามารถให้ความร่วมมือหรือประสานงานด้วย ผมจะยินดี เพราะสิ่งที่คิดที่ทำในเรื่องสันติวิธี เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ร่วม คือการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ด้วยความสันติ เจริญ สุข อย่างวัฒนาสถาพร ขอบคุณครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51076

<<< กลับ

นักวิชาการหนุน “ทักษิณ” ถอย ใช้กระบวนการสันติลดวิกฤติ

นักวิชาการหนุน “ทักษิณ” ถอย ใช้กระบวนการสันติลดวิกฤติ


(ข้อความข่าวจาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2549 หน้า 1, 3)

นักวิชาการ หวั่นสังคมวิกฤติ เกิดสงครามกลางเมือง แนะ “ทักษิณ” ถอย ดับความแตกแยก เหตุวิกฤติหลักมาจาก “ผู้นำ” และลดการผูกขาด ขจัดกลุ่มทุนการเมืองที่ได้อภิสิทธิ์กว่ารายอื่น ขณะเดียวกัน ต้องยึดหลักสมานฉันท์ในการแก้ปัญหา รวมทั้งอภิวัฒน์สื่อกันอย่างจริงจัง

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดโครงการเสวนา “วาระรัฐบาลใหม่” ในหัวข้อ “ทางออกฝ่าวิกฤติความขัดแย้งของชาติ” เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อารง สุทธาศาสน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาโลกอิสลาม และดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงความขัดแย้งระดับชาติในปัจจุบัน มี 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายเอากับฝ่ายไม่เอา กลุ่มที่ 2 คือความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาถึงกลไกของรัฐ นโยบายของรัฐ แล้วก็ต่อไปถึงสังคมไทยด้วย กลุ่มที่ 3 เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะซึ่งมีอยู่มาก แบบที่ 3 ที่จริงเป็นเรื่องปกติในนานาประเทศจะมีอยู่เสมอ คือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบาย และโครงการสาธารณะ แต่สำหรับประเทศไทยมันถูกโยงเข้าไปในเรื่องกลไกของรัฐนโยบายของรัฐและอื่นๆ

ซึ่งเหล่านี้เกี่ยวพันไปถึงระบบ โครงสร้าง ทัศนคติ จิตสำนึกลึกลงไป ฉะนั้นถ้าเผื่อว่าจะแก้ไขหรือผ่อนคลาย ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดง่ายๆ ทำง่ายๆ เช่น บางคนบอกปฏิวัติรัฐประหารคงไม่ใช่ หรือว่าเลือกตั้งให้รู้ไปว่าฝ่ายไหนชนะฝ่ายไหนแพ้ก็ไม่ใช่ หรือบอกว่ายอมกันเถอะแล้วมาจับมือกันก็ไม่ใช่

“สาเหตุขัดแย้งที่ใหญ่มากเป็นสาเหตุเชิงโครงสร้าง หมายถึงระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ที่เราเป็นสังคมเชิงดิ่ง สังคมเชิงอุปถัมภ์ สังคมเชิงอำนาจ และยังมีเรื่องของกิเลส ความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากรวย ความโกรธหรือความเป็นปฏิปักษ์ความอาฆาตมาดร้ายต่อกัน

ทางออกที่คิดได้คือ พยายามให้อยู่ด้วยกันได้อย่างร่มรื่น อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ อย่างมีความสมานฉันท์ แต่เหตุที่รัฐบาลนี้มีปัญหามากในแง่ของความไม่ลงตัวเกิดความขัดแย้งขึ้นเพราะว่าไม่มีความสมาน สมานนี่แปลว่ารัฐบาลกับประชาชนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลมกลืนเข้าหากัน นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลไม่ได้มองตัวเองว่าอยู่เหนือประชาชน หรือว่าแปลกแยกจากประชาชน และคำว่าประชาชนต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมด ถ้ารัฐบาลไปมองว่าประชาชนบางส่วนไม่ใช่พวก ประชาชนบางส่วนเป็นศัตรู นี่แปลว่าไม่สมาน

แนะผู้นำถอย-พักรบเปิดสมานฉันท์

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทางออกที่สรุปได้มี 4 ทางคือ ข้อ1 ทำตัวสมานโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในการจัดการ ข้อ 2 ทำให้มีการลดกิเลสและนำไปสู่ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความมีคุณธรรมจริยธรรม ข้อ 3 จัดกระบวนการและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น กระบวนการที่เรียกว่าสันติวิธี และข้อ 4 ผู้นำควรตัสินใจดำเนินการในทางที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

“การแก้ปัญหาวันนี้ ผู้นำต้องถอยออกมา พักรบ เปิดช่องให้ใจ เชื่อว่าหลังกลับจากต่างประเทศ ท่านคงคิด และอาจทำอะไรอย่างที่เราคาดไม่ถึงได้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสนอให้พิจารณา คือ จัดประชุมครม.สัญจรที่สวนโมกข์ ไชยา ประชุมเสร็จก็นิมนต์พระมานำปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาร่วมกัน เพื่อจะได้เกิดปัญญาที่ถือเป็นก้าวแรกของการเปิดช่องให้ใจ นอกจากนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบ และอภิวัฒน์วัฒนธรรม” นายไพบูลย์ กล่าว

วิกฤติส่วนตัวผู้นำส่งผลระดับชาติ

ดร.อารง กล่าวว่า ถ้าเราจะดูวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เราจะต้องย้อนไปดูอดีตสักนิดนึงว่าเรื่องทั้งหมดมันเกิดจากวิกฤติของผู้นำเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง คนอื่นไม่เกี่ยว เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้นำเท่านี้เอง มีหรือไม่มีอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่าตั้งข้อสงสัย แต่ผู้นำแทนที่จะคลี่คลายก็ผลักวิกฤติตัวเองให้เป็นวิกฤติทางการเมือง ให้เป็นวิกฤติของชาติ เรื่องก็บานปลายใหญ่โต ทุกระบบก็ขัดแย้งกันหมด หากไม่แก้ไข อาจจะเลวร้ายถึงสงครามกลางเมือง

ดังนั้นทางออกจุดแรกคือ การเว้นวรรคทางการเมืองของผู้นำ เพราะผู้นำในขณะนี้คนจำนวนมากกลืนเข้าไปไม่ได้หมือนคนเป็นไข้ “กินของดีก็คายออก กินของไม่ดีก็คายออก” เพราะฉะนั้นการที่หลายคนพูดว่าผู้นำจะต้องเว้นวรรคในทางการเมืองเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันปั่นจากวิกฤติของผู้นำเพียงคนเดียว

“เว้นวรรคแล้วก็ต้องทำลายระบอบด้วย คือ จุดเริ่มต้นถ้าไม่เว้นวรรคคลี่คลายไม่ได้หรอก ที่สำคัญท่านผู้นำต้องใจกว้างพอ ไม่ต้องมาตำหนิท่านหรอก แต่การถอยมาสักระยะหนึ่งจะคลี่คลายได้จุดหนึ่ง ประการที่สอง การเลือกตั้งนี่สำคัญ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี มันก็จะคลี่คลายจุดเดือดได้อีกจุดหนึ่งเหมือนกัน ส่วนรัฐบาลใหม่ ควรทำอะไรให้มันแตกต่างจากรัฐบาลชุดนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้หลายๆ คนได้ทำนั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกค่อนข้างจะมาก”

ชี้กลุ่มทุนเป็นปัจจัยความขัดแย้ง

ด้าน ดร.ผาสุก กล่าวยอมรับว่า กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจของไทย เป็นตัวประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งในการเมือง และสังคมไทย พอเราพูดถึงความขัดแย้ง ถึงแม้ในช่วงระยะต้นๆ เราจะพบว่ากลุ่มทุนจะเงียบ ไม่ออกมาแสดงอะไร แต่ความขัดแย้งมันคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว เช่นเมื่อวันก่อน คุณบัณฑูร ล่ำซำ ลุกขึ้นมาพูดว่าทุนเทศทับทุนไทย อันนี้มันเป็นตัวแสดงความขัดแย้งระหว่างการแข่งขันของทุนต่างประเทศกับทุนไทย

“ปัจจุบันใครใกล้ชิดกับอำนาจ ก็สามารถเข้าถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือสัมปทานบางอย่าง หรือว่าสิทธิพิเศษอะไรบางอย่าง ก็อาจอยู่รอดปลอดภัยได้ดีกว่าคนอื่นๆ ตรงนี้มันนำไปสู่ความขัดแย้ง บางคนจะวิเคราะห์ออกมาว่ามันเป็นการขัดแย้งระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่ แล้วก็ให้คำจัดความว่าทุนเก่าคือ ทุนอาจจะโยงกับศักดินาแต่ที่พูดชัดเจนคือ เป็นทุนแบบดั้งเดิม อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับว่า คุณเป็นทุนที่อยู่วงนอก หรืออยู่วงในของการเมือง”

ชี้ทางออกกำจัดผูกขาด-อภิสิทธิ์

ดร.ผาสุก อธิบายว่าที่ตอนนี้ มันกลายเป็นเรื่องของทุนนิยมพรรคพวก ส่วนทุนวงนอกตอนแรกๆ ก็ต้องเงียบเสียงไว้ก่อน เพราะถ้าขืนเสียงดังก็อาจจะถูกตัดขา หรือตัดหู แต่ระยะต่อมาเราเริ่มได้ยินเสียงแล้วว่าทุนที่อยู่วงนอกเริ่มบอกแล้วว่า ตอนนี้ทำอะไรมันติดขัดไปหมดเลย มีการแทรกแซงเต็มไปหมด

“ความขัดแย้งตอนนี้มันเริ่มถึงจุดที่กลุ่มทุนที่อยู่วงนอกเริ่มรู้สึกว่าทนไม่ได้แล้ว จึงเริ่มประสานกับส่วนอื่นๆ ที่มีความไม่พอใจในเรื่องอื่นๆ และจากจุดนี้ต่อไปดิฉันคิดว่าเมื่อกลุ่มทุนที่เป็นผู้ขัดแย้งแสดงชัดเจนขึ้น ก็เป็นจุดวิกฤติของอำนาจรัฐบาลปัจจุบัน” ดร.ผาสุก กล่าว

ทางออกในประการแรก คือ โยงกับเรื่องนักธุรกิจวงนอกวงใน ก็คือจะต้องกำจัดการผูกขาดทั้งหลาย การเข้าถึงอภิสิทธิ์ทั้งหลายโดยรูปธรรม

“สิ่งสำคัญอีกอันที่ต้องตามมาก็คือ การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันที่ทำให้เกิดเอาเงินภาษีของประชาชนไปเข้ากระเป๋าตัวเอง หรือนำไปใช้อย่างสาดเสียเทเสีย อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างจริงจัง” ดร.ผาสุก กล่าว

เทียนชัย หนุนพลังประชาชนสู้

ดร.เทียนชัย เห็นว่า ไม่คิดว่าคุณทักษิณจะลาออก ไม่มีทาง เราต้องอยู่กับท่านอีกนาน เพราะคนๆ นี้เงินมันเยอะ เงินกับอำนาจมันอยู่ด้วยกัน ทางออกผมคิดว่ามันอยู่ที่ประชาชน คำถามคือ ปัจจุบันประชาชนจะแสดงอำนาจที่เราเรียกประชาธิปไตยออกมาได้อย่างไร อย่างมีพลังที่สุดที่เราสามารถจะแสดงได้ มันคือตัวที่จะดุลอำนาจ และจะไปควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ที่มันเลวร้ายทั้งหมด

เขายังกล่าวอีกว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การอภิวัฒน์สื่อ เพราะบทบาทของสื่อนี่สำคัญมากในยุคโลกาภิวัตน์ ทางออกที่สอง เป็นขบวนการทางสังคม ที่กลุ่มทางสังคมต้องออกมาช่วยกันแสดง ไม่ใช่พวกอาจารย์เท่านั้นที่ต้องออกมา แต่ว่าจะต้องมีองค์กรทางสังคมอื่นๆ แสดงบทบาทกัน อย่างเช่น สภาพัฒน์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/51936

<<< กลับ

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย


ตามล่าหา “GNH” (Gross National Happiness)

ระหว่างวันที่ 25 – 29 สิงหาคม 2549 คณะของเรา 14 ชีวิต จาก 10 องค์กร ผนวกด้วยผู้นำการทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรมอีก 2 คน จากประเทศไทย ได้มุ่งสู่ประเทศภูฏาน เพื่อค้นหาตัว “GNH” (“Gross National Happiness” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ) อันลือเลื่องไปทั่วโลกและได้รับความสนใจเป็นพิเศษในประเทศไทย

เราพยายามไปดูว่าตัว “GNH” หน้าตาเป็นอย่างไร มีพี่น้องลูกหลายแผ่ขยายไปมากเพียงใด ได้รับความนิยมและนำไปอยู่ในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน ในองค์กร ในสถาบัน และในหมู่ประชาชนทั่วไป อย่างเข้มข้นจริงจังขนาดไหน และวิธีเลี้ยงดู “GNH” ให้เจริญงอกงาม มีชีวิตชีวา เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ

เราตั้งเป้าหมายไว้มาก และรู้อยู่แล้วว่าคงไม่สมประสงค์ทั้งหมดหรอก คงได้เท่าที่เป็นไปได้ภายในเวลาเพียง 5 วัน และภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

“ GNH ” หรือ “ Gross National Happiness ” ถือกำเนิดในประเทศภูฏาน ในปี 2517 โดยเป็นพราะราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก หลังจากที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2515

พราะราชปณิธานนั้น คือ “ Gross National Happiness is more important than Gross National Product. ” หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีความสำคัญมากกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ”

น่าจะเทียบเคียงได้กับ “พระปฐมบรมราชโองการ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ปัจจุบันพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี ได้ฝังรากชัดเจนเป็นอุดมการณ์และเป้าประสงค์แห่งชาติ ( National Goal) ซึ่งปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเริ่มใช้ในปี 2008 ปรากฏในวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล เป็นธงชัยและแนวดำเนินการให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย ลงไปถึงอยู่ในหนังสือเรียนและบทเรียนสำหรับนักเรียนระดับมัธยมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

GNH อยู่ในรัฐธรรมนูญและอยู่ในโรงเรียน

ร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมี 34 มาตรา) มาตรา 9 ว่าด้วยหลักการสำหรับนโยบายแห่งรัฐ ( Principles of State Policy ) วรรค 2 ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องมุ่งสร้างเงื่อนไขทั้งหลายอันจะนำสู่การบรรลุ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ( The State shall strive to promote those conditions that will enable the pursuit of Gross National Happiness. )

ในหนังสือเรียน “ Bhutan Civics ” ว่าด้วยระบบการปกครอง สถาบันทางสังคม และหน้าที่พลเมืองของภูฏาน บทที่ 9 (จากทั้งหมด 10 บท) เป็นบทว่าด้วย National Goals (เป้าหมายแห่งชาติ) และระบุชัดเจนว่า เป้าหมายแห่งชาติที่สำคัญประกอบด้วย

  1. Gross National Happiness (ความสุขมวลรวมประชาชาติ)
  2. People’s participation (การมีส่วนร่วมของประชาชน)
  3. National self – reliance (การพึ่งพาตนเองได้ของชาติ)
  4. Sustainability                (การพัฒนาอย่างยั่งยืน)
  5. Preservation and promotion of cultural and traditional values

(การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และประเพณี)

  1. National integration (ความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ)

ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งไกลจากเมืองหลวงพอสมควรและเราได้เข้าไปเยี่ยมโดยไม่ได้วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเรียนชั้นมัธยมปลาย เล่าว่า เขาเรียนเกี่ยวกับ GNH ในบทเรียนรวม 3 วิชา คือ หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

สำหรับโรงเรียนชั้นประถม ครูใหญ่ของโรงเรียนที่เราได้ไปเยี่ยมบอกว่าไม่มีการสอน GNH ในหลักสูตรโดยตรง แต่ GNH เป็นหลักสำคัญที่โรงเรียนจะประยุกต์สอดแทรกให้กลมกลืนอยู่ทั่วๆไป และครูใหญ่ผู้นั้นมีความภูมิใจว่าโรงเรียนเขาเป็นโรงเรียนแห่งความสุข และเขามั่นใจว่าเด็กนักเรียนของเขามีความสุขกับชีวิตในโรงเรียน ซึ่งวัดได้จากการที่เด็กเต็มใจอยากมาโรงเรียนและไม่ขาดเรียนเป็นต้น

สี่เสาหลักของ GNH

เราพบว่า GNH ไม่ใช่อุดมการณ์ลอยๆ แต่มีแนวปฏิบัติชัดเจน เรียกว่า “สี่เสาหลัก” ( Four Pillars ) ดังนี้

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้
  2. การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม
  4. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (หรือการมีธรรมาภิบาล)

ทั้ง 4 เสาหลักนี้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน แสดงถึงความจริงจังหนักแน่นในระดับชาติ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ (เสาหลักที่ 1 ) กับเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (เสาหลักที่ 4 ) ปรากฏโดยปริยายอยู่ในมาตรา 9 ว่าด้วยหลักการของนโยบายแห่งรัฐ ( Principles of State policy ) ส่วนเสาหลักที่ 2 การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับเสาหลักที่ 3 การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม ปรากฏเด่นชัดในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 (ว่าด้วย “ Culture ”) และมาตรา 4 (ว่าด้วย “ Environment ”) ตามลำดับ

เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เขากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเลยว่าจะต้องรักษาพื้นที่ป่าไว้ให้มีไม่น้อยว่าร้อยละ 60 ตลอดไป

เมื่อมีโอกาสได้ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงและองค์กรต่างๆของภูฏาน พบว่าเขาสามารถอธิบายขยายความการนำ GNH ตามแนวทางของ “สี่เสาหลัก” ไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนพอสมควร

เรารับทราบด้วยว่า เขากำลังพยายามพัฒนาตัวชี้วัด GNH ในลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็น “ภาวะเป็นสุข” (วัดเชิงภววิสัย) และ “ความรู้สึกสุข” (วัดเชิงอัตวิสัย) แต่ยังไม่ถึงกับลงตัวแน่ชัดและใช้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขายินดีและประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาตัวชี้วัดเกี่ยวกับ “ความสุข” ดังกล่าว

สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของประเทศไทย

สะท้อนมาดูประเทศไทยของเรา เรามีพระปฐมบรมราชโองการตั้งแต่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งเป็นพระราชสัตยาธิษฐานตามโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทย

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 44) ได้เริ่มต้นนวัตกรรมทางความคิดที่ให้ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และมีการประดิษฐ์คำพูดเชิงวัสัยทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ “คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

ในแผนฯ 8 ยังระบุด้วยว่าจะมีการสร้างดัชนีชี้วัดเพื่อวัดผลกระทบขั้นสุดท้ายของการพัฒนา ทั้งในด้านการพัฒนา คน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ครั้นมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 49) ได้สานต่อแนวคิด “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ

จุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศตามแผนฯ 9 มุ่งเน้นให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย” โดยกำหนดสภาพสังคมไทยที่พึงประสงค์ ว่าควรเป็น “สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ” บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และสังคมที่พึงประสงค์ดังกล่าว ควรประกอบไปด้วย 3ลักษณะ ได้แก่ (1) สังคมคุณภาพ (2) สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และ(3) สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน

ภายใต้แผนฯ 9 ยังได้มีการพัฒนา “ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข” และดัชนีหรือตัวชี้วัดอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดัชนีชี้วัดทุนทางสังคม เป็นต้น

และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 54) ได้กำหนดเป็น “วิสัยทัศน์ประเทศไทย”ว่า มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดย “คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

ไทยกับภูฏานจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกันได้ดี

จะเห็นว่าอุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของประเทศไทย ตามที่ระบุในแผนฯ 10 กับแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ( Gross National Happiness – GNH ) ของภูฏานนั้น เทียบเคียงกันได้อย่างดี รวมทั้งข้อความใน “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ยังสอดครับกับแนวทาง “4 เสาหลัก” ของภูฏานอีกด้วย

ในรายละเอียดของแผนฯ 10 ได้กำหนดเป็น “ยุทธศาตร์” ขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯสู่การปฏิบัติ รวม 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
  2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
  3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
  4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
  5. ยุทธศาตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

อ่านแล้วน่าจะถือได้ว่าประเทศไทยกับภูฏาน สามารถและควรจะเป็น “เพื่อนร่วมเดินทาง” ในเส้นทางแห่งการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะต่างมีเป้าหมายและแนวทางที่คล้ายกันมาก

เมื่อเป็นเพื่อนกันก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆและด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงรูปธรรมและในทางจิตใจต่อทั้งสองฝ่าย

แนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยที่ควรลงมือทำ

ในขณะที่ภูฏานเดินหน้าไปแล้วพอสมควรทีเดียวในการใช้ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ “ GNH ” เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ให้ความสำคัญกับ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” หรือ “ GNP ” มากนัก ประเทศไทยเราเองแม้จะมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาคนและการสร้าง “ความเป็นสุข” ( Well-being ) ของคนและสังคม มาตั้งแต่แผนฯ 8 แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยและสังคมไทยโดยรวมได้เน้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” ( GNP ) หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” ( Gross Domestic Product – GDP ) กับเรื่องของรายได้ที่เป็นตัวเงินเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้

ดังนั้น ในโอกาสของการเข้าสู่ช่วงเวลาของแผนฯ 10 ที่กำหนดให้ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็น “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ภายใต้ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็นจังหวะเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทั้งรัฐบาลไทย ฝ่ายการเมือง หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ท้องถิ่น ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม จะเอาจริงเอาจังกับการมุ่งมั่นดำเนินการต่างๆรวมถึงการปฏิบัติตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้ได้อย่างดีที่สุด

แนวทางตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการที่ระบุในแผนฯ 10 นั้นถือได้ว่าดีพออยู่แล้ว แต่สำคัญที่ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้

จะปฏิบัติได้ ต้องรู้ว่าใครเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เหล่านั้น แล้วจัดกระบวนการให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ฯลฯที่เกี่ยวข้อง มาร่วมมือประสานงานประสานพลังกันให้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

บทบาทในการจัดกระบวนการเช่นนี้ น่าจะเป็นของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ – สศช.) แต่สภาพัฒน์ไม่จำเป็นและไม่สมควรต้องมีบทบาทเป็นผู้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการนั้น เพราะบทบาทหน้าที่ที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผู้รับผิดชอบครบถ้วนอยู่แล้ว

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52975

<<< กลับ

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย (ต่อ)

จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย (ต่อ)


ถึงเวลาทำดัชนีชี้วัดความสุขให้ใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริง

เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งที่ควรลงมือทำอย่างจริงจัง คือการพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุข ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริง โดยเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

จะทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้ ต้องจัดกระบวนการให้ผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญๆทั้งหมดมาร่วมมือประสานงานกันในความพยายามร่วมกัน

ในการนี้ควรต้องให้ความสำคัญต่อภาคประชาชน ภาคชุมชน และภาคท้องถิ่น ให้มากเป็นพิเศษ เพราะภาคเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา และควรเป็น “ตัวตั้ง” ในการวัด “ความสุข” หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ดังนั้น การกำหนดตัวชี้วัดหรือดัชนีชี้วัด จึงควรต้องให้ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญทั้งในการให้ข้อมูลและความคิดเห็น ในการให้ความเห็นชอบต่อระบบและวิธีการที่จะนำมาใช้ ในการนำระบบและวิธีการที่ตกลงกันมาประยุกต์ใช้จริง และในการติดตามผล พร้อมกับการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เรื่องดัชนีชี้วัดความสุขนี้ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆในระดับนานาชาติ ดังนั้น ประเทศไทยจึงสามารถทำเรื่องนี้ของเราไป พร้อมๆกับการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติและผู้สนใจในประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึงประเทศภูฏานที่ได้พยายามพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขทั้งที่เป็นเชิง ภววิสัย (ภาวะเป็นสุข) และเชิงอัตวิสัย (ความรู้สึกสุข) อยู่แล้ว

ที่สำคัญ ควรมองเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข เป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “กุศโลบาย” ให้เกิดการตื่นตัว การพัฒนาความคิด การพัฒนาทัศนคติ การพัฒนาศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมและการร่วมมือประสานงานระหว่างผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ และร่วมปรับปรุงพัฒนา อย่างต่อเนื่อง

การใช้ดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข เป็น “เครื่องมือ” หรือ “กุศโลบาย” เช่นนี้ สำคัญกว่า มีคุณค่ามากกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่าการมีดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งการจะสร้างความถูกต้องสมบูรณ์ของดัชนีชี้วัดที่ว่านี้ ย่อมยากมากอยู่แล้ว และถ้าจะหาข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็ย่อมยากมากยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้นจึงไม่ควรมุ่งหาดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ควรมุ่งสร้าง “เครื่องมือ” ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเป็นประโยชน์คุ้มค่าและมีความเหมาะสมกว่ามาก

การลงทุนที่คุ้มค่า

กล่าวโดยสรุป ถ้าคณะ “ตามล่าหา GNH ” ที่เดินทางไปประเทศภูฏานรวม 5 วัน สามารถช่วยกันทำให้มีการดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ที่เสนอมาข้างต้น คือ

(1) การร่วมมือประสานงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องภายใต้อุดมการณ์และยุทธศาสตร์ของแผนฯ 10 ในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย และ

(2) การร่วมมือประสานงานในระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเพื่อพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุขจนสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นประโยชน์และต่อเนื่อง

ถ้าทั้ง 2 เรื่องนี้เกิดได้จริง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คณะผู้ “ตามล่าหา GNH ” ดังกล่าวต้องใช้ไป ก็จะคุ้มเกินคุ้มหลายตลบ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/52976

<<< กลับ