เงินการพนันหวย เพื่อพัฒนาสังคม?

เงินการพนันหวย เพื่อพัฒนาสังคม?


(ข่าวลงในคอลัมน์ “กวนน้ำให้ใส เมื่อน้ำขุ่น ‘สารส้ม’ จึงมากวนให้ใส” ของนสพ.แนวหน้า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 หน้า 5)

                คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาสังคม โดยดึงเอาเงินกำไรจากการขายหวย 2 ตัว 3 ตัว ของสำนักงานกองสลากฯ ซึ่งเป็นการพนัน นำมาช่วยดูแลสังคม เช่นเครื่องอำนวยความสะดวก คนพิการ ผู้สูงอายุ ดูแลปัญหาเด็กและเยาวชน

                ประเมิณว่า กำไรจากการขายหวยบนดิน ปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท น่าจะได้มาใส่กองทุนฯ ปีละสัก 5,000 ล้านบาท

                แนวคิดนี้ เทียบเคียงมาจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ (สสส.) ที่นำเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่มาตั้งเป็นกองทุนดำเนินการด้านสุขภาพ

                วิธีคิด คือ เมื่อเหล้ากับบุหรี่เป็นตัวทำลายสุขภาพ ก็เลยต้องเอารายได้ที่ได้มาจากเหล้ากับบุหรี่นั่นแหละ มาช่วยในด้านการเสริมสร้างสุขภาพ เช่นเดียวกัน เมื่อหวยเป็นการทำลายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคม ก็เลยจะต้องนำเงินรายได้จากหวยนั่นเองมาช่วยในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                ถามว่า วิธีคิดแบบนี้ ผิดหรือไม่ ?

                ตอบว่า ไม่ผิด

                ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่อยากจะให้กองทุนเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ทางสังคม

                ตอบว่า เห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว เพราะเห็นว่าบ้านเราได้ละเลยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มานานแล้ว

                ยิ่งกว่านั้น ในขบวนการพัฒนาสังคม คนที่เข้าอกเข้าใจดีที่สุดและทำงานมาต่อเนื่องยาวนาน ก็คือคุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม นี่แหละ ท่านย่อมเข้าใจดีว่า งานพัฒนาสังคมมีหลายมิติ ซึ่งบางอย่าง หากดำเนินการผ่านกลไกที่เป็นกองทุนในลักษณะดังกล่าว ก็จะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลดี ยิ่งกว่าการดำเนินการผ่านกลไกราชการปกติ

                ทั้งนี้ กองทุนที่จะตั้ง ก็จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามอย่างแนวคิดที่รัฐมนตรีนำเสนอไว้

                แต่…ยังมีข้อคิดที่ควรพิจารณากันสักหน่อย

               ทำอย่างไรไม่ให้เหมือนยุครัฐบาลทักษิณ ที่เอาเงินหวยบนดินไปให้เป็นทุนการศึกษาเด็กๆ

               ทำให้เกิดค่านิยมสับสน เพราะการศึกษาเป็นของดี ส่วนการเล่นพนันหวยเป็นของไม่ดี แต่การพนันหวยกลับเป็นผู้มีพระคุณต่อการศึกษา คนเล่นหวยและเจ้ามือหวยก็ทวงบุญคุณเอากับสังคมได้ว่า เป็นการพนันหวยบนดินที่มีประโยชน์ต่อสังคม

                เด็กที่ได้รับทุนการศึกษา ก็สับสน เพราะโดยจิตสำนึกและการอบรมคุณธรรม ศีลธรรม ก็ได้รับการปลูกฝังว่าการพนันเป็นของไม่ดี เป็นอบายมุขอันเป็นหนทางสู่หายนะ แต่ในชีวิตจริงตนเองกลับเป็นหนี้บุญคุณกับหวยบนดิน !

                จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาพที่ว่า การเล่นพนันหวยบนดิน หรือคนเล่นพนันหวยบนดิน หรือสำนักงานกองสลากฯ เป็นผู้มีพระคุณต่องานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ?

                ไม่ให้เกิดภาพว่า ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาสังคมฯ ต้องเป็นหนี้บุญคุณของหวยบนดิน ?

                แม้การจะออกกฎหมายฯ ผ่านสภานิติบัญญัติ ในลักษณะคล้าย ๆ กับกองทุน สสส. ก็ช่วยให้เกิดความละมุนละม่อมส่วนหนึ่ง เพราะสามารถอธิบายได้ว่าเป็นกฎหมายที่ผ่านจากฝ่ายนิติบัญญัติ อุปโลกน์ว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ถือว่าการเอาเงินหวยบนดินมาใช้เป็นเงินกองทุนฯ เป็นการทำตามกฎหมายบ้านเมือง ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมือง

                แต่ก็ยังไม่อาจหลบเลี่ยงข้อเท็จจริงได้อยู่ดีว่า เงินที่จะเอามาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาสังคมฯ นั้น นำมาจากเงินการพนันหวยบนดิน ที่ถือว่าเป็น “เงินบาป”

                “หวยบนดิน” ก็เอาไปคุยเป็นบุญคุณได้ว่า ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีกองทุนพัฒนาสังคมฯ !

                วิธีที่ดีที่สุด งดงามที่สุด แนบเนียนที่สุด มีอยู่แล้ว และใช้กันมายาวนาน คือ วิธีการงบประมาณแผ่นดินตามปกติ นั่นเอง

                หากเห็นว่า กองทุนพัฒนาสังคมฯ เป็นเรื่องที่ดี ควรจะทำ  รัฐบาลก็น่าจะจัดสรรเงินให้ผ่านกระบวนการงบประมาณแผ่นดินรายปี โดยเงินที่จัดสรรให้กองทุนดังกล่าว  ก็คือเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้  ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตร ฯลฯ  และรายได้ของรัฐจากกิจการต่าง ๆ รวมถึงเงินรายได้จากหวยบนดินด้วย

                วิธีนี้ “หวยบนดิน” จะไม่มีความชอบธรรมใดๆ ไม่สามารถทวงบุญคุณเอาจากการทำงานพัฒนาสังคมดังกล่าวได้เลย เพราะเงินทุนที่นำมาใช้ในกองทุนฯ ไม่ใช่เงินหวยบนดินโดยตรง แต่เป็นเงินของประชาชนทั้งประเทศ ที่ผ่านการคลุกเคล้าผสมผสานเงินภาษีอากรและรายได้ของรัฐจากิการต่างๆ เข้าด้วยกัน

                ในอนาคต ต่อให้ไม่มี “หวยบนดิน” ซึ่งเป็นการพนัน เป็นอบายมุขแต่ก็ยังจะมี “กองทุนพัฒนาสังคม”  ซึ่งเป็นการทำเรื่องดี ๆ เป็นหนทางของการพัฒนาสังคม ได้ต่อไป

                “หวยบนดิน” จะอ้างไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีกองทุนพัฒนาสังคมฯ ตรงกันข้าม เราคนไทยจะได้พูดได้เต็มปากว่า ถึงไม่มีหวย ไม่มีอบายมุข ไม่มีสิ่งเสื่อมทรามทั้งหลาย เราก็ยังสามารถทำสิ่งที่ดีงามขึ้นมาได้ในสังคมของเรา

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68729

<<< กลับ

‘อเนก นาคะบุตร’ กับภารกิจสลาย คลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม

‘อเนก นาคะบุตร’ กับภารกิจสลาย คลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม


“สังคมไทยกำลังอยู่ใน ภาวะเสี้ยนยา ยาตัวนี้ก็คือนโยบายประชานิยม ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ อนาคตจะเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่หรือคลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม เป็นระเบิดที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้ ซึ่งอาจระเบิดขึ้นในเร็วๆ นี้

(ข่าวลงใน นสพ.โพสต์ทูเดย์ โดย นันทยา วรเพชรายุทธ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 หน้า 9)

การปฏิรูปสังคมไทยนับว่าหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูประบบการเมือง  โดยเฉพาะการจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่สังคมที่สามารถอยู่เย็นเป็นสุดร่วมกัน  และเพื่อไม่ให้การกำหนดทิศทางของสังคมเกิดจากคนในเมืองหลวงหรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.)  ที่จะขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จ  โพสต์ทูเดย์  จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษของ  อเนก  นาคะบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ  พม.  ที่จะมาให้ทัศนะว่า  พม.จะเดินไปอย่างไรบนเส้นทางปฏิรูปสังคมอันท้าทายต่อจากนี้

พม.จะเดินหน้าปฏิรูปสังคมอย่างไร

ในอดีตพื้นที่ความคิดอยู่ที่กรุงเทพฯ  ขณะที่  76  จังหวัด  เป็นเพียงพื้นที่รับคำสั่ง  ดังนั้น  พม.จะทำหน้าที่เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนมาเป็นผู้กำหนดแผนแม่บทพัฒนาสังคม  เช่น  เวทีเสวนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่เชิญตัวแทนจากทุก  76  จังหวัดมาร่วม  โดยมีเนื้อหาคือ  การแสดงเจตจำนงที่ต้องการให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ  และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ  ที่นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง

การปฏิรูปสังคมครั้งนี้คือการที่มีปัญหาแล้วทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา  โดยเราจะสร้างพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันและส่งเสริมให้เกิดการจัดการพัฒนาคนในชุมชน  การทำให้สังคมเข้มแข็งของ  พม.  จึงเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเจตนารมณ์ของบ้านเมือง  ไม่ใช่รอความคาดหวังจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว  เช่นให้ร่วมกันคิดว่า  สังคมอยู่เย็นเป็นสุขในอีก  5-10  ปี  ข้างหน้าเป็นอย่างไร

ใน  1  ปีนี้จะเห็นอะไรบ้าง

2-3  เดือนนี้จะมีแผนแม่บทการพัฒนาสังคมระดับประเทศที่เกิดจากการระดมความเห็นจากแต่ละจังหวัด  คาดว่าจะเสร็จในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์  รวมทั้งจะส่งเสริมให้สังคมหันมาดูแลผู้ถูกทอดทิ้งให้มากขึ้นในทุกชุมชน  นอกจากนี้ต้องจัดระบบวางแผนเศรษฐกิจพอเพียงในทุกชุมชนทั่วประเทศ  โดยมีแผนการเงินการคลังร่วมกัน  ระหว่าง  ท้องถิ่น  ภาคธุรกิจ  รัฐบาลกลาง  เพื่อไปปรับระบบเศรษฐกิจและวิธีคิดเรื่องการบริโภคและแนวทางการผลิต  หวังว่าจะลดคลื่นใต้น้ำได้จำนวนหนึ่งด้วยการทำให้สังคมแข็งแรง

จากนั้นในเดือนเมษายนจะเริ่มเสนอ  พ.ร.บ.ชุมชนท้องถิ่นเข้าสภารวมถึง  พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม  พ.ร.บ.เศรษฐกิจพอเพียง  และ  พ.ร.บ.ส่งเสริมเด็ก  ครอบครัว  และเยาวชน  โดยอาจมีการต้องกองทุนช่วยเหลือสังคมต่างๆ  ซึ่งมีความคิดที่จะนำเงินสลากกินแบ่งมาช่วยและสุดท้าย  คาดว่า  ใน  1  ปี  น่าจะสามารถปรับโครงสร้างทางสังคมได้ ประมาณ  20  จังหวัด

เมื่อประชาชนได้เงินหรือสิ่งของมาง่ายๆ  จึงเกิดภาวการณ์ติดค่านิยมบริโภคแบบใหม่ที่เลิกยาก  เช่น  ค่านิยม  ขาวสวยหมวยอึ๋ม  ถ้าไม่ขาวก็ไม่สวย  สังคมถูกล้างสมองด้วยการบริโภคขนานใหญ่  และเป็นการพึ่งพิงแนวคิดของตะวันตก  จึงเกิดความรู้สึกปฏิเสธสิ่งที่ตนเองมีอยู่และขอบเขตที่ตนเองสามารถหาได้เองจริงๆ  กลายเป็นต้องพึ่งงบประมาณขนานใหญ่ที่รัฐบาลจัดให้  จึงนำสู่ความขัดแย้งว่า  ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้  อีก  3  เดือนหรืออนาคตข้างหน้าก็จะเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่  หรือคลื่นใต้น้ำภาคสังคมตามมา  เป็นระเบิดที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้  ซึ่งอาจระเบิดขึ้นในเร็วๆ  นี้

สังคมไทยกำลังอยู่ใน  ภาวะเสี้ยนยา  ยาตัวนี้ก็คือนโยบายประชานิยม  เช่น  เมื่อเด็กติดโทรศัพท์  มือถือ  พ่อแม่ต้องคอยเติมเงินบัตรโทรศัพท์ให้ลูกเช่นเดียวกับรัฐบาลต้องเติมเงินลงในนโยบายประชานิยมเพื่อให้เงินไหล  เพราะถ้าเงินไม่ไหลก็จะเกิดอาการพ่อแม่ไม่รักหนู  เกิดการต่อรองหนักจนกลายเป็นปัญหา  ตอนนี้รัฐบาลกำลังเจอภาวะเสี้ยนยา  ถ้ารัฐบาลไม่ให้ก็เจอเกิดภาวะแตกแยกในสังคม  ซึ่งไม่ใช่จากการเมือง  แต่เป็นภาวะติดการบริโภคนิยม

ที่ผ่านมาการจัดการทุนถูกบิดเบือนให้ผิดวัตถุประสงค์ไป  เนื่องจากชุมชนและองค์กรที่กำกับนโยบายประชานิยมอ่อนแอ  ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบ  ได้ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินผิดเพี้ยน  ตรงนี้ไม่อยากโทษรัฐบาลเก่าฝ่ายเดียว  ประชาชนก็มีส่วนทำให้เกิดความเพี้ยนเช่นกัน

ส่วนต่อมาคือ  ความรู้สึกติดพรรคการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้ง  ใครอยู่พรรคเสียงข้างมากอย่างพรรคไทยรักไทยจะรู้สึกว่าพรรคนี้สุดยอด  ส่วนพรรคอื่นไม่ดี  ทำให้เกิดระบบเมมเบอร์ชิปของความจงรักภักดีแบบลดแลกแจกแถม  โดยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง  เทียบได้กับการขายตรงที่เจาะลงไปถึงชุมชนฐานราก  ซึ่งทำให้การรวมกลุ่มทางชุมชนอ่อนแอ  เพราะชุมชนอาศัยพึ่งพิงระบบเมมเบอร์ชิปแทนการรวมกลุ่ม

เรียกว่าสภาพรุนแรงถึงขั้นวิกฤต

วิกฤตวันนี้คือวิกฤตสังคม  ข้าราการอ่อนแอเกิดการแปรรูป  (Privatize)  คล้ายกับรัฐวิสาหกิจภายในระบบข้าราชการ  คนที่อยู่ไม่มีแรงจูงใจ  ส่วนหนึ่งคือรัฐบาลชุดที่แล้วบริหารงานแบบไม่ผ่านระบบข้าราชการ  ส่งนโยบายไปถึงผู้รับโดยตรง  เป็นการบริหารแบบซีอีโอ  แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการดีเพราะข้ามความล่าช้าไป  แต่ก็ทำให้บทบาทของข้าราชการหายไป  ข้าราชการจึงอ่อนแอ

ธรรมชาติของสังคม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ผมคิดว่าไม่พร้อม  แต่เราก็ต้องทำถึงที่สุด  เราพยายามช่วยเหลือคนที่ถูกทอดทิ้งในสังคมก่อน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้งเดิม  ผู้ที่ประสบความเดือดร้อน  ผู้ที่ผิดหวังหรือถูกหลอกให้เชื่อในนโยบายประชานิยมที่ผ่านมา  ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจถูกหลอกใช้ให้เป็นคลื่นใต้น้ำ  ให้เกิดความเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นในสังคม  ซึ่งเราต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งความเข้าใจไปที่คนกลุ่มนี้  เรียกว่าเป็นเรื่องบังคับที่ต้องทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากสื่อรวมถึงทุกภาคส่วน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68731

<<< กลับ

ตั้งสภาผู้นำท้องถิ่น ดันการเมืองรากแก้วเข้มแข็ง

ตั้งสภาผู้นำท้องถิ่น ดันการเมืองรากแก้วเข้มแข็ง


     (สัมภาษณ์พิเศษลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2549 หน้าที่ 2)

                นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ผมจะเสนอเรื่องชุมชน ซึ่งเหมือนมองจากพื้นดินขึ้นสู่ฟ้า คำถามคือชุมชนท้องถิ่นเรียนรู้อะไรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแยกแยะออกมาได้ 7 ประการ คือหนึ่ง การเรียนรู้ทุกข์สุขอย่างเฉียบพลัน ซึ่งไม่ได้ลบทั้งหมด มีบวกในเรื่องราคาเกษตรบางตัวดีขึ้น แต่ทางลบการจ้างงานหยุด ต้องกลับไปชนบท เพื่อทำมาหากินเท่าที่จะทำได้ 

                ประการที่ 2 เรียนรู้ว่าบางชุมชน การป้องกันที่มีศักยภาพดีมีภูมิคุ้มกันดีมีการเรียนรู้ค้นความจริง เตรียมการสร้างความคุ้มกันเช่น ตำบลแม่เรียง นครศรีธรรม  ผู้นำได้รางวัลแมกไซไซ

                ประการที่ 3 เกิดวิกฤติคำพูดใหม่ทีเรียกว่า “ตาข่ายคุ้มครองทางสังคม” สร้างวิสาหกิจชุมชนรองรับลูกหลาน และเกิดจากภาครัฐ ตั้งกองทุนทางสังคม กองทุนต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ชุมชนดูแลกันเอง

                ประการที่ 4 เรียนรู้ยานขนานใหญ่ประชานิยม  เกิดโครงการต่าง ๆ มากมาย  กองทุนหมู่บ้าน  30  บาท  พักหนี้เกษตรกร  หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  เน้นการเจริญทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดอำนาจนิยมและคะแนนเสียงนิยมในท้องถิ่น

                “ช่วงนี้ชุมชนเรียนรู้มากมาย  ถูกถาโถมจากมาตรการทางประชานิยมทั้งบวกและลม  ชุมชนที่มีศักยภาพดีก็นำเงินไปสร้างประโยชน์ที่ไม่มีความพร้อมก็ไปทำลายด้อยศักยภาพจากกระแสประชานิยมที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าประชานิยมไม่ได้เรียนรู้เรื่องอื่น  กิจกรรมของรัฐมากมาย  โลกาภิวัตน์  ชุมชนมีวิวัฒนาการ  การพึ่งตัวเองมากขึ้น”

                ประการที่  5  ชุมชนเข้าสู่ยุคของการทำแผนชุมชนระดมความคิดออกมาเป็นแผนปฏิบัติ  เป็นแผนทางสังคมวัฒนธรรม  การจัดชุมชนที่เน้นการพึ่งพาตัวเองขยายวงออกไปจำนวนมาก   จากจุดเริ่มต้นวิกฤติเศรษฐกิจ  ขยายวงการจัดการชุมชนในรูปแบบต่างๆ  รำทำแผนชุมชน  การพัฒนาเกษตรธรรมชาติ และมีการเรียนรู้กันว่าการจัดการในเชิงการเมืองที่เรียกว่างการเมืองแบบสมานฉันท์  ในเชิงการเมืองที่เรียกว่าการเมืองแบบสมานฉันท์มากขึ้น  เรียนรู้ว่า  การเลือกตั้งแบบเดิมก่อให้เกิดความแตกแยก  กลับไปสู่การพูดจาก  หารือ  อาศัยผู้อาวุโสผู้ตำตามธรรมชาติแม้แข่งขันถือเป็นมิตร

                ประการที่ 6 การเรียนรู้ควบคู่การจัดการชุมชน  คือการเรียนรู้เรื่องจิต  หรือมนุษย์นิยมการพัฒนาที่มีคนเป็นหลัก  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  8  แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้นำเอาแผนฯ  8  มาปฏิบัติเจาะจงเข้มข้น  แต่ปรัชญาซึมซับไปสู่ชุมชนไม่น้อย  ทำให้เกิดคำว่าพอเพียงได้รับความนิยม  ซึ่งได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                ประการที่ 7 การเรียนรู้ที่สำคัญสู่อนาคต  มีจิตนาการ  ซึ่งการเรียนรู้ที่สำคัญมาก  การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณการทุกฝ่ายประสานความร่วมมือกัน  หลักการที่ปฏิบัติเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งไม่ใช่มองทั้งประเทศ

                นายไพบูลย์  กล่าวว่า  หลักการข้อที่  1  ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง  และหลักการข้อที่  2  คือการประสานร่วมมือกันทุกฝ่าย  จั้งแต่ประชาชนองค์กรชุมชน  อบต.  และเทศบาล  ข้าราชการส่วนภูมิภาค  มีกลไกประสานความร่วมมือทุกฝ่าย  น่าจะเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนา  มีเป้าหมายที่สำคัญ  สังคมอยู่เย็นเป็นสุขเป็นเป้าหมายร่วมกันที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นำออกมาเป็นเป้าหมายร่วมที่เรียกว่า  สังคมท้องถิ่นดีงานอยู่เย็นเป็นสุข  และยุทธศาสตร์ในการจัดการท้องถิ่น  มี  3  ส่วน  คือ  1.  สังคมไม่ทอดทิ้งกัน  2.  สังคมเข้มแข็ง  และ  3.  สังคมคุณธรรม

                นอกจากนี้จิตนาการสู่อนาคต  คือการจัดให้มีสภาที่ปรึกษาของท้องถิ่นที่ไม่มีอำนาจ  แต่มีบทบาทในการคิดพิจารณาศึกษาติดตามให้ความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อท้องถิ่น  ซึ่งมีคณะทำงาน  ยกร่าง พ.ร.บ.ที่จะเสนอให้มีสภาที่ปรึกษาชุมชนท้องถิ่น  แต่ชื่อยังไม่ชัดเจน  เพราะว่าเป็นจินตนาการที่สำคัญช่วยสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่น  ถือเป็นฐานรากที่สำคัญช่วยสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง

                “สิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องเร่งดำเนินการ  คือการยกร่างกฎหมายในการจัดตั้งสภาผู้นำท้องถิ่นแม้จะไม่มีอำนาจ  แต่เพื่อให้คำปรึกษากับการเมืองในระดับพื้นที่ในการสร้างการเมืองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง”  นายไพบูลย์  กล่าว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68735

<<< กลับ

ความคิดเห็น เรื่อง “สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” ของ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)

ความคิดเห็น เรื่อง “สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” ของ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)


(บทสัมภาษณ์ความคิดเห็นลงในรายงานวิจัย เรื่อง “คุณธรรมในธุรกิจ : สถานการณ์ดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” โดย นางจุฬา สุดบรรทัด ภาคผนวก 2 หน้า 84 นำเสนอปี 2549)

                อาจารย์ไพบูลย์รู้จักบางจากฯ ตั้งแต่คุณโสภณ  สุภาพงษ์ เป็นผู้จัดการ แต่มารู้จักมากขึ้นปี ๒๕๓๑ จำได้ที่บางจากฯ ทำงานกับชุมชน อาจารย์ไพบูลย์ก็เริ่มทำงานกับชุมชน ปี ๒๕๒๙ โดยเริ่มดำเนินการเต็มเวลาอย่างจริงจัง ปี ๒๕๓๑

                            ภาพลักษณ์ของบริษัทบางจากฯ สมัยนั้น เห็นว่า พยายามทำงานเพื่อสังคมชัดเจน สมัยนั้นอาจารย์ไปบางจากฯ บ่อย เป็นเครือข่ายโดยร่วมวงกับกระบวนการพัฒนาด้านต่าง ๆ เท่าที่จำได้มีเครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ และบางจาก แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยได้ยินที่บางจากต่างคือ ๑. ทำให้โรงกลั่นไปกับธุรกิจ เช่น เปิดปั๊มสหกรณ์ การให้ชาวบ้านขายของผ่านร้านค้า ๒. ให้พนักงานเข้ามามีบทบาท ๓. ทำโดยเข้าไปร่วมกับผู้อื่น ทั้งในระดับความคิด เคลื่อนไหวกระบวนการ และปฏิบัติการ

                            การที่บริษัทบางจากฯ ใช้แนวคิดการทำธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคมนั้น ที่จริงธุรกิจกับประโยชน์ประชาชนกลมกลืนกันอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ประชาชนจะไม่ซื้อ เพียงแต่จุดเน้นต่างกัน แต่ถ้ากลมกลืนลึกซึ้งอย่างที่บางจากทำเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ ที่อื่น ๆ ทำก็มีที่กลมกลืนที่ทำกับชาวบ้านที่มาดูแลเลี้ยงไก่ ปลูกพืช หรือธนาคารกรุงเทพให้สินเชื่อยุคบุกเบิกผ่านเกษตรกร

                            การดำเนินกิจกรรมของบริษัทบางจากฯ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันไม่ได้สังเกตว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่

                            กิจกรรมส่วนใหญ่ที่บริษัทบางจากฯ ได้ทำเพื่อสังคม สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมหรือไม่นั้น เห็นว่าสังคมใหญ่ซับซ้อนมาก องค์กรหนึ่งทำได้เท่าที่วิสัยจะทำได้ ถ้าแห่งหนึ่งทำดี คนอื่นเห็นดีจะได้เอาอย่าง

                            กิจกรรมของบริษัทบางจากฯ ที่ควรได้รับการสนับสนุนคงมีความหลากหลาย แล้วแต่ผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษากัน จะมากำหนดรูปแบบก่อนไม่ได้ การทำอะไรขึ้นกับสถานการณ์และคนเกี่ยวข้อง ไม่ควรมีสูตรตายตัว

                            สังคมควรมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรธุรกิจได้เข้ามาร่วมช่วยเหลืออุ้มชูสังคม โดยทำได้หลายรูปแบบ

                            ๑. เห็นใครทำดีก็สนับสนุนอย่างมั่นคงเหนียวแน่น ซื้อสินค้า ถือหุ้น

                            ๒. ให้ความสนใจมีการติดตามศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งที่จะทำขยายวง

                            ๓. อาจยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้คุณค่าต่อคนดี ส่วนคนที่ไม่ดีมีผลเสีย ถ้าสังคมเห็นคงไม่จำเป็นถึงขั้นต้องต่อต้านก็เพียงแต่ไม่นิยม ไม่ซื้อสินค้า ไม่ถือหุ้น

                            ๔. ฝ่ายวิชาการมีการศึกษาวิจัยให้เห็นทั้งดีและไม่ดี ควรศึกษาธุรกิจที่รัฐทำด้วย เช่น ยาสูบ และกิจการที่มีลักษณะการพนัน

                            เรื่องธุรกิจกับสังคม เชื่อว่ามีมาแต่เราไม่ได้ค้น ขณะเดียวกันการทำประโยชน์ก็มีหลากหลาย ทำให้ดี ซื่อสัตย์ ขายสิ่งที่เหมาะสม ไม่เสียสมดุล ก็ดี ไม่จำเป็นต้องทำอย่างบางจาก

                            องค์กรที่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริงในประเทศไทยมี ๑. บางจาก (แต่ไม่ทราบเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร) ๒. สหพัฒน์ สายคุณณรงค์ กลุ่มแพน ๓. ออมสิน ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์พยายามทำให้การทำงานของออมสินกับการทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีแนวคิดว่า “ธนาคารเจริญ สังคมได้ประโยชน์ พนักงานเป็นสุข” เพราะการทำประโยชน์ต้องทำอย่างยั่งยืน เกื้อกูลกันอย่างสมดุล ถ้าไม่สมดุลจะไม่ยั่งยืน

                            การที่ยุค ๒๐๐๐ นี้ กระแสโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม ถึงกับบรรจุเข้าไว้เป็นหลักสูตร และมีการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการยกระดับความรู้ให้ดีขึ้นไปอีก

                            การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมจะสามารถช่วยเศรษฐกิจ สังคม การเมือง/สภาวะโดยรวมของประเทศได้ โดยพยามยามทำมากขึ้น คนไปประยุกต์ต่อ ผลในที่สุดก็เยอะ

                            การดำเนินการตามแนวคิด “ทำธุรกิจควบคู่กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม” มีผลต่อบริษัทบางจากฯ และสังคม ก็อาจเป็นทัศนคติ ท่าที การสื่อความ จึงไม่น่าสรุปว่า เพราะทำประโยชน์จึงมีปัญหา เพราะอย่างน้อยสังคมก็ตอบรับดี ทำประโยชน์…ดี เป็นการทำหน้าที่ที่ดี เพื่อจะได้ค้นหาอะไรดี ๆ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐ คงเป็นเรื่องบุคคล

                            นอกจากที่ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมปีแห่งการพัฒนางานอาสาสมัครไทย เคยกล่าวถึงจิตวิญญาณอาสาสมัครและบริษัทบางจากฯ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๖ ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน เมื่อ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุมใหญ่บริษัทบางจากฯ ในโอกาสที่อาจารย์ได้รับเชิญมาให้ความรู้สมาชิกชมรมฯ เรื่อง กิจกรรมงานอาสาสมัครไทย ความตอนหนึ่งว่า “เทคโนโลยีไม่มีจิตใจ แต่คนซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมีจิตใจ คนจึงควรเป็นนายของเทคโนโลยี คนและสังคมควรมีความเมตตา กรุณา (Compassion) จิตวิญญาณที่สำคัญ คือการนึกถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง ซึ่งในที่สุดจะเกิดผลสะท้อนกลับมาเอื้อต่อผู้มีจิตวิญญาณนั้นเอง ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทบางจากฯ ซึ่งทำความดีมาตลอด จึงได้รับผลดี ทำให้บริษัทอยู่รอดได้” 

                            ปัจจุบันในองค์กรต่าง ๆ เกิดชมรมมากมายเป็น Corporate social investment กิจกรรมกึ่งอาสาสมัครเกิดผลดีด้านอื่นด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่น่าส่งเสริมโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งยังมีเวลามากในการ “ให้” กับสังคม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68741

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 4 (4 ม.ค. 2550)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 4 (4 ม.ค. 2550)


สวัสดี “สันติ” ปีใหม่ 2550 !

                เหตุการณ์ลอบวางระเบิด ให้ระเบิดในเวลาไล่เลี่ยกัน ถึง 8 จุด ในกรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน และบาดเจ็บสาหัสถึงเล็กน้อยอีก กว่า 40 คน นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ที่ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ในระดับนี้ เกิดขึ้นในส่วนใจกลางประเทศ

                เป็นการจงใจทำร้ายบุคคลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับความขัดแย้งหรือการต่อสู้ระหว่างค่ายหรือคณะซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นค่ายใดคณะใด

                เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะโดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นผู้รับเคราะห์กรรมถึงขนาดบาดเจ็บล้มตาย

                เรื่องเช่นนี้ ได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าเห็นใจประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง แต่เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูว่าเป็นการจำกัดพื้นที่และมีประเด็นเฉพาะ

                ส่วนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นการไม่จำกัดพื้นที่และไม่จำกัดประเด็นกันแล้ว

                ไม่รู้ว่าใครมุ่งเอาชนะใคร ด้วยเหตุอะไร เพื่ออะไร และเมื่อทำอย่างเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ได้แล้ว อาจทำอีกเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้

                อนิจจา ! สังคมไทยได้เข้าสู่ภาวะวังวนของความรุนแรงแบบไร้ขอบเขตแล้วหรือนี่ ? นับเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดอย่างสุดๆ !

                ผมและคณะจากกระทรวง พม. (ท่านปลัดวัลลภ ฯลฯ) ได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล รวม 16 คน ณ โรงพยาบาล 5 แห่ง เป็นคนวัยทำงาน 11 คน นักศึกษา 2 คน เด็กนักเรียน 1 คน และชาวต่างประเทศ 2 คน เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2550

                กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นนี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงได้แก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สังกัดกระทรวงมหาดไทย) กระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งมีหน่วยรักษาพยาบาลอยู่ในสังกัด) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีนี้คือกรุงเทพมหานคร) เป็นหลัก

                ดังนั้น ผมและคณะจากกระทรวง พม. จึงไปเยี่ยมเพื่อแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และเป็นกระทรวงที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนให้สังคมไทยพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมที่เข้มแข็ง สังคมที่มีสันติสุข และประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต (หรือมี “ความมั่นคงของมนุษย์” นั่นเอง)

                การไปเยี่ยม ทำให้ได้เห็นได้สัมผัสและรู้สึกได้ชัดเจนถึงความทุกข์ทรมานของผู้ประสบเคราะห์กรรมที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นอะไรด้วยเลยเกี่ยวกับความขัดแย้งหรือการขับเคี่ยวต่อสู้ของกลุ่มบุคคลที่วางแผนดำเนินการอันร้ายแรงครั้งนี้

                ในใจผมจึงอยากประณามกลุ่มคนที่วางแผนดำเนินการวางระเบิดเวลาเมื่อคืน 31 ธ.ค. 49 เพราะเป็นการกระทำที่โหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ไร้น้ำใจ และไร้เหตุผล โดยสิ้นเชิง เว้นแต่เป็นเหตุผลในลักษณะของความเห็นแก่ประโยชน์ของฝ่ายตนโดยไม่อนาทรต่อความเสียหายแม้ถึงชีวิตที่เกิดแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์

                ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องตั้งสติ มองให้ลึกและไกล

                ทำให้เห็นว่า สังคมไทย เคยได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งความอยู่เย็นเป็นสุข มีความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นมิตรไมตรี ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

                เราไม่ใช่สังคมแห่งความรุนแรง เราไม่แบ่งข้างต่อสู้ห้ำหันกันแบบเอาเลือดเอาเนื้อ โดยเฉพาะเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์

                เหตุการณ์ 31 ธันวาคม 2549 ทำให้ผมต้องคิดใหม่ ตั้งสติใหม่ ตั้งปณิธานใหม่

                ผมคิดว่า จะต้องร่วมมือกันระหว่างผู้เห็นพ้อง ชักชวนผู้คนในสังคมให้ร่วมกันสร้างสังคมไทย ที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เน้นความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นมิตรไมตรี ความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อย่างที่สังคมไทยเคยเป็น และยังเป็นอยู่ในบางส่วน

                พร้อมกันนั้น ก็เสริมเติมผสมผสานด้วยหลักการและวิธีการสมัยใหม่ที่ใช้ถ้อยคำว่า “สันติวิธี” “สันติสมานฉันท์” และ “สันติวัฒนธรรม” เป็นต้น

                ยิ่งมีเหตุการณ์แบบ 31 ธ.ค. 49 ยิ่งต้องเพิ่มระดับปณิธาน ความมุ่งมั่น และความพยายามร่วมกัน ให้มากขึ้นไปอีก

                เพื่อช่วยกันเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ ความมีสันติภาพและสันติสุข อย่างยั่งยืน ให้ได้ในที่สุด

                สวัสดี “สันติ” ปีใหม่ ครับ!

                                                                                                  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/70802

<<< กลับ

บทบาทของผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย ในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย เพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง

บทบาทของผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย ในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย เพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง


(บทปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย ในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย เพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง” ในการสัมมนาวิชาการผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (CGEO) จัดโดย สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ณ ห้องแกรนต์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์)

            การประเมินในการสร้างความเสมอภาคและบทบาทของสตรีในหน่วยงาน ระดับกรมมีทางพอที่จะทำได้อีกจากมากพอสมควรจนถึงมาก การดำเนินงานในเรื่องการส่งเสริมบทบาทและความเสมอภาคของสตรี ได้ทำมา 5 ปี ภายใต้การมีตำแหน่ง CGEO และได้ใช้ความพยายามพอสมควร โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว  เป็นหน่วยงานกลางสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ ระดับกรมทั้งหลายซึ่งมีประมาณ 125 กรม บางกรมทำได้ดี  และทำได้ดีจนกระทั่งมีผู้บริหารที่เป็นสตรีพอ ๆ กับที่ไม่ใช่สตรีและมีบางกรมทำได้ดีถึงงานข้างนอก คือ ไปส่งเสริมประชาชนให้มีความตระหนักในบทบาทของสตรีทำให้สัดส่วนของสตรีที่มีบทบาทในกิจกรรมทางสังคม กิจการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมีสัดส่วนของสตรีเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีคือทั้งกรณีภายในหน่วยงานทำให้สตรีมีความเสมอภาคและมีบทบาทมากขึ้นกับงานที่ไปถึงประชาชนทำให้ภาคประชาชนมีความตระหนัก และมีกิจกรรมที่ส่งเสริมบทบาทของสตรีมากขึ้น แต่ที่ยังไม่ชัดเจน คือที่ทำไปกว้างขวางพอหรือยัง เพราะมีทั้งหมด 125 กรม มีเท่าใดไม่เป็นไรเพราะสิ่งที่มีก็มีแล้ว แต่จะมีประโยชน์ถ้าเรามาพินิจพิเคราะห์ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไรให้ชัดเจนที่สุด นั้นคือเราต้องศึกษาความเป็นจริง การที่จะทำอะไรให้สำเร็จโดยเฉพาะการแก้ปัญหายากๆ หรือการที่จะสร้างสภาพที่ดีกว่า เช่น เรื่องของสตรีในแง่ของความเสมอภาค ในแง่การส่งเสริมบทบาท นอกเหนือไปจากการที่จะละเว้น กำจัด ขจัดการกระทำร้ายต่อสตรี เรื่องสตรีที่แย่ที่สุด คือการทำร้ายสตรี ไปสร้างความรุนแรงกับสตรี แต่การที่มีกฎหมายข้อบังคับ กติกา ที่ปิดกั้นไม่ให้ความเท่าเทียม ตรงนี้คือสิ่งที่ไม่ดี แต่ดีที่สุดที่เราสามารถส่งเสริมบทบาทสถานภาพของสตรีได้อย่างเต็มที่ การที่จะทำอะไรให้สำเร็จ ความเป็นจริงสำคัญที่สุด คือต้องรู้ความเป็นจริง ว่ามีสถิติ ข้อมูล แค่ไหนอย่างไรเกี่ยวกับการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติในแต่ละกรม ว่ามีอยู่ในลักษณะที่ละเอียด ถูกต้อง ต่อเนื่อง ในการมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เปรียบเทียบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อมากระตุ้นความสนใจ  เพื่อการทำให้เห็นลู่ทางที่จะพัฒนาการใช้ข้อมูลอย่างเต็มที่ การใช้ข้อมูลอย่างเต็มที่ยังมีทางทำได้อีกมาก 

            ถัดจากความเป็นจริงก็คือ การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ผู้เอื้ออำนวยต่อการจัดการความรู้ ถึงขึ้นเป็นวิทยากรได้ถือว่าเข้าใจพอสมควร และเข้าใจแล้วได้นำมาปฏิบัติ อย่างเข็มข้นจริงจังภายในกระทรวงหรือไม่ ถ้าได้นำมาปฏิบัติอย่างเข็มข้นจริงจังตามกระบวนการ  จัดการความรู้ถือว่าดี แต่แม้ทำในกระทรวงแล้วก็ยังไม่ดีพอ ดียิ่งขึ้นควรจะมีการจัดการความรู้ระหว่างกระทรวง ฉะนั้น เห็นว่าที่ท่านทั้งหลายที่เป็น CGEO หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานของ CGEO ถ้าท่านได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับ

            1. เรื่องของความเป็นจริง คือความรู้ มีการศึกษา เก็บสถิติข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์

ให้เห็นความเป็นจริง

  1. ถ้าท่านได้ให้มีการจัดการความรู้ภายในกระทรวงและระหว่างกระทรวง

            ถ้าท่านได้ทำสองอย่าง ผมเชื่อว่าจะช่วยให้การพยามเจตนารมย์ของการมี CGEO บรรลุผลได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ดีขึ้นแน่นอน ถ้าเริ่มตั้งแต่วันนี้ มหกรรมการจัดการความรู้ที่ไบเทคบางนา เป็นสุดยอดของงานเรื่องการจัดการความรู้ รูปแบบการจัดงาน และสาระตลอดจนกระบวนการที่อยู่ในงาน และมีหน่วยราชการไปแสดงหลายหน่วยงาน ชาวบ้านจัดการความรู้อย่างเข็มข้นสามารถมาเป็นวิทยากรได้ 

            ฉะนั้นจึงถือโอกาสนี้ ที่มาพบกับท่านทั้งหลาย ที่มาร่วมงานกับกระทรวงพัฒนาสังคม ที่ส่งเสริม เรื่องการพัฒนาสังคมและเราก็มียุทธศาสตร์สังคมสามด้าน คือ 

  1. สังคมไม่ทอดทิ้งกัน การดูแลซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรต่อกัน
  2. สังคมเข้มแข็ง ความเข็มแข้งทุกระดับทุกส่วนของสังคม ชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม กลุ่มคนมีความเข็มแข้งมากขึ้น รวมถึงกลุ่มสตรี สถาบันครอบครัวเข็มแข็งบทบาทสตรีเข็มแข็ง จะรวมอยู่ในคำว่าสังคมเข็มแข็ง
  3. สังคมคุณธรรม ส่งเสริมคุณธรรมความดี

            ซึ่งทั้ง 3 ยุทธศาสตร์จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ความเข้มแข็ง ความมีคุณธรรม ผสมกลมกลืนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในเรื่องของสตรีการไม่ทอดทิ้งกันในเรื่องสตรี เช่น ถูกทำร้าย กดขี่ ได้รับความไม่เท่าเทียม การเสริมสร้างความเข็มแข็งของบทบาทสตรีและการส่งเสริมคุณธรรมเกี่ยวพันกันหมด ในสตรี ทั้งหมดรวมอยู่ในสิ่งที่เป็นการพัฒนาสังคมและรวมถึงการพัฒนาบทบาท ศักดิ์ศรี สถานภาพ คุณค่า ความเท่าเทียมของสตรี เป็นภารกิจซึ่งทุกคนเกี่ยวข้องไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ไม่มากก็น้อย คือเป็นเหตุที่ท่านต้องมาในวันนี้ 

            จึงอยากจะเสนอแนะว่าท่านจะสามารถช่วยกันทำให้กระบวนการส่งเสริมความเท่าเทียมและบทบาทของสตรีเข้มข้นจริงจังได้อย่างไร ถ้าท่านทำได้ดีแล้วก็ทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกแล้วสองอย่างที่       เสนอแนะ คือ 

  1. มีข้อมูล สถิติ มีความจริงให้ปรากฏ ซึ่งจะต้องไปเก็บค้นหา ไปเก็บ รวบรวมอย่างต่อเนื่อง 

            2.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการความรู้ ขอให้ทำอย่างครบกระบวนการ ให้มีความครอบคลุม เข้มข้น จริงจัง เทียบเท่า ที่เขาจัดการความรู้กันตามที่ปรากฏในมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ที่สถาบันส่งเสริมจัดการความรู้เพื่อสังคมที่จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว และถ้าสนใจติดต่อขอเอกสาร เครื่องช่วยทั้งหลาย และพยายามทำกันในกระทรวงก่อน ถ้ามีหลายกรมก็ทำระหว่างกรมในกระทรวง และใช้การจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือ และทำในเรื่องสตรี Gender ก็จะอาศัยการจัดการความรู้มาช่วยด้วย แต่เมื่อมีการจัดทำภายในกระทรวงแล้วก็ควรจะมีการจัดทำระหว่างกระทรวง และลองนำดาวเด่นของกระทรวงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกระทรวงบ้าง จะทำให้การเรียนรู้การพัฒนามากขึ้น การแพร่ขยายกว้างมากขึ้น 

            ฉะนั้นหน่วยงานที่ทำได้ไม่ดีนักก็จะดีขึ้น หน่วยงานที่ทำได้พอประมาณก็จะถึงขั้นดีมาก หน่วยงานที่ทำได้ดีมากก็จะรักษาความดีมากนั้นไว้ และยังมีโอกาสได้เผื่อแผ่ความดีมากไปให้คนอื่นและขอให้การสัมมนาในวันนี้ประสบความสำเร็จ เป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง คือความสำเร็จในภาระกิจในเรื่องเกี่ยวกับสตรี

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

5 ม.ค. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/71069

<<< กลับ

แนวนโยบายประสานพลังภาครัฐ – ภาคประชาชน ฟื้นฟูชุมชนประสบอุทกภัย

แนวนโยบายประสานพลังภาครัฐ – ภาคประชาชน ฟื้นฟูชุมชนประสบอุทกภัย


(สาระสำคัญจากการบรรยายเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การประสานพลังภาครัฐ – ภาคประชาชน ฟื้นฟูชุมชนประสบอุทกภัย” จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันพุธที่ 10 มกราคม 2550 ณ โรงแรมปริ๊นพาเลซ กรุงเทพมหานคร)

  1. การฟื้นฟูที่ดี คือ การฟื้นฟูเชิงพัฒนา : เตรียมพร้อม ป้องกัน สร้างความเข้มแข็ง
  2. การพัฒนาที่ดีมีหลัก 3 ประการ : พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ
  3. การร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้การพัฒนามีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ
  4. ควรมีการประสานทุนงบประมาณจากหลายฝ่าย รวมถึงทุนงบประมาณจากประชาชนและประชาสังคม และทุนที่สำคัญมากในการพัฒนา คือ “ทุนมนุษย์” กับ “ทุนสังคม”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

11 ม.ค. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/72050

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)


กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ทำอะไรใน 3 เดือน ?

กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ได้ดำเนินงานมาครบ 3 เดือน ภายใต้รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ โดยมีผมเป็นรัฐมนตรีว่าการ

ได้มีการประมวลผลงาน 3 เดือน และจะมีการแถลงข่าวในวันพุธที่ 17 ม.ค. นี้

เค้าโครงของการประมวลผลงาน จะประกอบด้วย (1) ผลงานที่เป็นการร่วมสนับสนุนภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล อันได้แก่ การแก้ปัญหาอุทกภัย การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความสมานฉันท์ และการสร้างธรรมาภิบาล (2) ผลงานตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน อันได้แก่ การสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน การสร้างสังคมเข้มแข็ง และการสร้างสังคมคุณธรรม และ (3) ผลงานในการเสนอแก้ไขปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

            พร้อมกันนี้ ผมเองก็เลยถือโอกาสทบทวนตัวเองด้วยว่า ได้พยายามทำอะไร ทำได้ผลขนาดไหน ได้เรียนรู้อะไร และจะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร

ได้พยายามทำอะไร ?

ผมคิดว่า ผมได้พยายามทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มี “เป้าหมายใหญ่” และมี “ยุทธศาสตร์ใหญ่” (หรือ ”แนวทางใหญ่” ) ชัดเจนเป็นอันดับต้น

ได้ผลออกมาคือ “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็น “เป้าหมายใหญ่” ร่วมกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย และถือเป็น “เป้าหมายใหญ่ในนโยบายด้านสังคมของรัฐบาล” ไปด้วยโดยปริยาย

สอดคล้องกับ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 – 54) ที่มุ่งให้เกิด “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

ส่วน “ยุทธศาสตร์ใหญ่” หรือ “แนวทางใหญ่” ที่ได้กำหนดชัดเจน คือ “ยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน” ดังได้กล่าวข้างต้น ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม

เมื่อได้ “เป้าหมายใหญ่” และ “ยุทธศาสตร์ใหญ่” หรือ “แนวทางใหญ่” แล้ว สิ่งสำคัญที่กระทรวง พม.ได้พยายามทำ ซึ่งน่าจะถือเป็น “นวัตกรรม” ได้ คือ การสร้าง “ระบบจัดการ” ภายใต้ 3 บริบท อันได้แก่ (1) บริบทพื้นที่ (2) บริบทกลุ่มคน และ (3) บริบทประเด็น

นั่นคือ ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นั้น มิใช่นำยุทธศาสตร์แต่ละส่วนมาดำเนินการแยกจากกัน แต่เป็นการนำยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ส่วนมาดำเนินการร่วมกัน ภายใต้การจัดการในแต่ละบริบท

และการจัดการที่สำคัญมากที่สุด คือ “การจัดการในบริบทพื้นที่” ซึ่งเป็นการจัดการบนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ

นอกจาก “นวัตกรรมในเรื่องระบบจัดการ” ดังกล่าวแล้ว “นวัตกรรม” อีกอย่างหนึ่งที่กระทรวง พม.ได้ดำเนินการ คือ การนำ “การจัดความรู้” ( Knowledge Management หรือ KM) มาเป็น “กระบวนการสนับสนุน” ที่สำคัญ ให้กับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใหญ่ 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการใน 3 บริบท

ได้ผลขนาดไหน ?

กล่าวได้ว่า ใน 3 เดือนแรก ผมได้พยายามจับภาพใหญ่ กำหนดเป้าหมายใหญ่ แนวทางใหม่ และระบบจัดการหลักรวมถึง ระบบสนับสนุนสำคัญ ให้ลงตัว คิดว่าได้ผลพอสมควร ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินการต่อไปมีโอกาสสูงที่จะบรรลุผลตามนโยบายได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ในส่วนของการปฏิบัติจริง ได้มีการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์” เริ่มจาก “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง กระจายไปทั่วประเทศ คือทุกจังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดได้เน้นให้มีการใช้ “ตำบล” และ “เทศบาล” เป็นตัวตั้ง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

จังหวัดที่ได้ทำชัดเจนหน่อย คือ จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 47 จังหวัด ซึ่งนอกจากจะมีการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านพังทั้งหลังหรือบางส่วน ด้วยเงินชดเชยประมาณ 1,200 ล้านบาทแล้ว ที่สำคัญคือจะมี “โครงการฟื้นฟูชุมชน” โดยมีงบประมาณสนับสนุน 150 ล้านบาท อีกด้วย

โครงการฟื้นฟูชุมชนนี้ ใช้หลักการ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ นั่นเอง

นอกจากการดำเนินการตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ในบริบทพื้นที่แล้ว ก็ได้มีการดำเนินการใน “บริบทกลุ่มคน” และ “บริบทประเด็น” ควบคู่กันไป

ใน “บริบทกลุ่มคน” กระทรวง พม.มี “กลุ่มเป้าหมาย” ชัดเจนอยู่แล้ว ได้แก่ (1) เด็ก (2) เยาวชน (3) ผู้ด้อยโอกาส (4) คนพิการ (5) ผู้สูงอายุ (6) สตรี (7) ครอบครัว

การดำเนินการในส่วนนี้ จึงไม่สู้ยากนัก กระทรวงฯ เองมีฐานงานค่อนข้างดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงเป็นการสานต่องานที่กระทรวงทำอยู่ โดยนำยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน มาประยุกต์ใช้ให้หนักแน่นขึ้น กับมีการประสานความร่วมมือ รวมพลังสร้างสรรค์ จากหลายๆ ฝ่ายในสังคม ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ให้เข้มข้นกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยรวมๆ คิดว่า งานด้านกลุ่มคนนี้ ได้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรมเป็นลำดับ แม้ว่าจะยังคงมีข้อท้าทายอยู่เป็นอันมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

ส่วนการดำเนินการใน “บริบทประเด็น” ได้มีการกำหนดประเด็น และเริ่มลงมือปฏิบัติไปในเบื้องต้นแล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม” หรือ ศกอส.) ขึ้นภายในกระทรวงฯ (2) การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี (3) การส่งเสริมชีวิตมั่งคงปลอดอบายมุข (4) การส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจนโดยประชาชน

ทั้งนี้ รวมถึงการสานต่อการดำเนินการที่กระทรวงฯ ทำอยู่แล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (2) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชนในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจน (ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.) (4) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยโดยทั่วไป (ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ หรือ กคช.)

ล่าสุด กระทรวงฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง” หรือ “ศปลร.” ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการดำเนินการภายใต้ประเด็น “การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี” ด้วย

การดำเนินการภายใต้ “บริบทประเด็น” ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ การศึกษาพิจารณายกร่างกฎหมายที่จะมีผลต่อการพัฒนาสังคม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (2) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม (ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง เป็นส่วนประกอบสำคัญของ “สังคมเข้มแข็ง”) (3) กฎหมายสนับสนุนการสร้างสังคมคุณธรรม และ (4) กฎหมายสนับสนุนการพัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อสังคม

            สรุปแล้ว ผมคิดว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการไปไม่น้อยทีเดียวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการ 3 บริบท

ได้เรียนรู้อะไร ?

ผมคิดว่า 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผมได้เรียนรู้มากเลย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐบาล และการบริหารรัฐบาล เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐมนตรี และการบริหารกระทรวง เรียนรู้เกี่ยวกับความยากในการจัดสรรเวลาและพลังงานเพื่อจัดการกับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ซึ่งผมอาจจะยังจัดได้ไม่ดีเต็มที่ เรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพหรือโอกาสและข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการพัฒนานโยบาย และในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีกมาก

ผมเองถือว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้” อยู่แล้ว และคำว่า “เรียนรู้” ผมหมายความรวมถึง “การปฏิบัติ” ด้วย ดังนั้น ผมจึงพอใจที่มีโอกาสได้ “เรียนรู้” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้นทีเดียว

จะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร ?

โดยที่ผมนิยม “การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม” ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผมจึงจะไม่สรุปเอาเองคนเดียวว่า จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไปอย่างไร แต่จะปรึกษาหารือร่วมกันกับผู้ร่วมงาน ซึ่งจัดได้เป็น 3 ส่วน (1) ทีมงานของรัฐมนตรี (2) ผู้บริหารของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด และ (3) ภาคีพันธมิตรนอกสังกัดกระทรวงฯ ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและนอกภาครัฐ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ผมไม่มีความคิดของตนเอง ผมมีแน่นอน และมีมากด้วย เพียงแต่ผมเชื่อในเรื่องการผสมผสานความคิด และการรวมพลังสร้างสรรค์ ซึ่งผมเห็นว่าจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่า และยั่งยืนกว่าการคิดและทำ โดยให้ผู้นำเป็นศูนย์กลางผลักดันและตัดสินใจแต่ผู้เดียว

อย่างไรก็ดี มีอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า จะพยายามปรับปรุง คือ การจัดสรรเวลาและพลังงานให้กับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้  ก็อยากได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทั้งหลาย เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐมนตรี พม. (คือผมนั่นแหละ) เพื่อผมจะได้รับทราบมุมมองของผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสถานะต่างๆ แล้วนำมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนางานของกระทรวงฯ ต่อไป

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/72744

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 6 (29 ม.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 6 (29 ม.ค. 50)


กระทรวง พม.ได้รับเกียรติและปลื้มปิติเมื่อทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” มาเยี่ยมวัง

วันที่ 19 มกราคม 2550 เป็นวันที่ผมพร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) รู้สึกได้รับเกียรติและปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารที่ทำการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และมีชื่อเรียกกันในกระทรวงฯ อย่างไม่เป็นทางการว่า “ตึกวัง” (หรือ “อาคาร 4” ถ้าเป็นทางการ)

คณะทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” ในวันนั้น คือ มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย พร้อม บุตร ญาติ และเพื่อน อีก 12 คน คือ

  1. คุณเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา  (บุตรชาย)
  2. คุณณัฐญาดา ณ สงขลา  (บุตรชาย)
  3. คุณฤชา ขจรเนตรติกุล
  4. ม.ร.ว.หญิง อัจฉรีเพราพรรณ (วุฒิชัย) วรรณพฤกษ์
  5. คุณอัศฏาพร วรรณพฤกษ์
  6. ม.ร.ว.เฉลิมฉัตร วุฒิชัย ณ อยุธยา
  7. คุณเอมอร วุฒิชัย
  8. ม.ล.อภิชิต วุฒิชัย
  9. คุณหญิงวิจันทรา (คชเสนี) บุนนาค
  10. คุณประพาพิมพ์ (สุวรรณศร) ศกุนตาภัย
  11. คุณจันทรา ปิตรชาติ  และ
  12. Mr. Geoffrey Longfellow

มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย เป็นพระธิดาของ พลเอกและพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  กับหม่อมประพันธ์  วุฒิชัย ณ อยุธยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 42  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กับเจ้าจอมมารดาทับทิม  พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ  ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2426  ในพระบรมมหาราชวัง

พ.ศ. 2440  ได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถ  ไปทรงเรียนวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2448  เสด็จกลับประเทศไทย เข้ารับราชการทางทหารเรือ  ได้เลื่อนยศตามลำดับจนเป็นพลเรือเอก  เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2467  และพลเอก เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2474

ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2467  ต่อมาเมื่อมีการรวมกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน  เรียกว่า “กระทรวงกลาโหม”  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2474 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2475 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จึงได้ลาออกจากราชการ

กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้เริ่มประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการ อยู่เป็นเวลานาน ต่อมาประชวรเป็นอัมพาต และพระโรคนิ่ว ในปี พ.ศ. 2482 จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2490 ก็ประชวรเป็นโรคน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด)  และสิ้นพระชนม์ในวันที่  18 ตุลาคม พ.ศ. 2490  ที่วังถนนกรุงเกษม (วังสะพานขาว)  รวมพระชนมายุได้  64 ปี

ในด้านพระประวัติส่วนพระองค์  ได้เสกสมรสและทรงมีพระโอรสธิดากับ มจ.หญิง พร้อมเพราพรรณ  รวม 6 พระองค์  คือ

(1) มจ.ทรงวุฒิไชย  วุฒิชัย

(2) นาวาโท มจ.อุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย

(3) มจ.หญิง สุวภาพเพราพรรณ  วุฒิชัย  (สวัสดิวัฒน์)

(4) มจ.หญิง

(5) มจ.ชาย

(6) มจ.ชาย

สามพระองค์สุดท้าย  สิ้นชีพตักษัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์และยังไม่มีพระนาม

เมื่อพระชายา (มจ.หญิงพร้อมเพราพรรณ)  สิ้นชีพตักษัยแล้ว  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ทรงมีพระโอรสธิดากับหม่อมประพันธ์ อีก 4 พระองค์ ได้แก่

(1) มจ.ไกรสิงห์  วุฒิชัย

(2) มจ.วุฒิสวาท  วุฒิชัย

(3) มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย

(4) มจ.วุฒิวิทู  วุฒิชัย

สำหรับ มจ.หญิง  วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย  ไม่ได้ประสูติที่  “วังสะพานขาว” แต่ประสูติที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย (ในปัจจุบัน)  ในช่วงเวลาที่พระบิดาได้แปรที่ประทับจากกรุงเทพฯ  ไปอยู่ที่เกาะปีนังภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ประมาณสองปี

ท่านหญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย   (หรือ  “ท่านหญิงปีนัง” หรือ “ท่านหญิงนัง”) ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต  ทรงวาดรูปและเขียนหนังสือเป็นอาชีพ  และมีงานอดิเรกคือ ทำสวน  ตกแต่งบ้าน และออกแบบผ้าปักไหมและปักบนผ้าใบสำหรับแขวนกำแพง

“วังสะพานขาว”   นี้  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5)  ทรงสร้างพระราชทานให้แก่พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษแล้ว  ซึ่งสร้างเสร็จทำพิธีขึ้นตำหนักเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  ทรงใช้เป็นที่ประทับและที่ทรงงานราชการด้วย

ภายหลังสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ใน    พ.ศ. 2490  แล้ว  ในปี พ.ศ. 2493  กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากทายาท  เพื่อเป็นที่ตั้งของกรมประชาสงเคราะห์  ซึ่งเดิมอาศัยพื้นที่พระราชวังสราญรมย์อยู่

ตำหนักที่ประทับ (ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารที่ทำการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เป็นตึกรูปทรงแข็งแรง สง่างาม สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (ฝรั่ง) ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชการที่ 5 เป็นอาคารสองชั้น ด้านหลังมีหอคอยเพิ่มขึ้นเป็นสามชั้น มีการใช้ศิลปะลายปูนปั้นประดับตามซุ้มหน้าต่าง  ตามรอยต่อนอกอาคารระหว่างชั้นบน  ชั้นล่าง  มุมอาคาร  เหนือคูหาโค้งที่มุขหน้า  และคูหาโค้งตามช่องเฉลียงชั้นล่าง ชั้นบนด้านหลังมีระเบียงแล่นไปจดกับส่วนหอคอย

ภายในตัวตำหนัก  แบ่งซอยเป็นห้องต่างๆ 10 ห้อง ชั้นล่าง 4 ห้อง ชั้นบน 6 ห้อง (ไม่นับโถงบันได โถงกลางชั้นบน และห้องน้ำ ซึ่งอยู่ด้านหลัง) ห้องทุกห้องในแต่ละชั้น มีประตูเปิดทะลุถึงกันหมด ประตูและหน้าต่างแต่ละบานมีขนาดสูงใหญ่ ล้อมด้วยกรอบไม้สีเข้ม เหนือประตูและหน้าต่างมีทับหลังเป็นแผ่นไม้ฉลุลายละเอียด  บนผนังห้องประดับด้วยศิลปะปูนปั้น  แบบเดียวกับภายนอกตำหนัก  สอดรับกับลายฉลุบนเพดานห้อง

ปัจจุบัน  ตำหนักกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  วังสะพานขาว  ได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถานที่สวยงาม  ควรแก่การชื่นชมและศึกษา

มีประเด็นว่า  วังสะพานขาวนี้มีอายุเท่าไร ?   ถ้าคำนวณว่าสร้างวังเสร็จเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  ถึงปัจจุบันคงจะครบ 100 ปี ในวันที่  16 มกราคม 2550

แต่บังเอิญผมได้ความรู้มาว่า ธนาคารไทยพาณิชย์  ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449  เขาจะนับว่ามีอายุครบ 100 ปี  ในวันที่  30  มกราคม 2550  ไม่ใช่วันที่  30 มกราคม 2549

เนื่องจากว่า  เมื่อมีการเปลี่ยนรอบปีจาก เมษายน – มีนาคม มาเป็น มกราคม – ธันวาคม ในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ช่วงเวลามกราคม – มีนาคมของปีต่างๆ ก่อน พ.ศ. 2484 หายไป 1 ปี

ดังนั้น  วังสะพานขาว ซึ่งสร้างเสร็จและมีพิธีขึ้นตำหนักในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  จึงจะมีอายุครบ 100 ปี  ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551  เนื่องจากหากยังนับรอบปีแบบเดิม คือ เมษายน – มีนาคม วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551  (ตามระบบปัจจุบัน)  จะเท่ากับวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  (ในระบบเดิม)

ท่านหญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย และคณะ  ได้ให้เกียรติมาเยี่ยม  “วังสะพานขาว”  เมื่อวันที่ 19  มกราคม  2550  โดยผม  ปลัดกระทรวงฯ  เลขานุการรัฐมนตรีฯ  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ  จำนวนหนึ่ง  ให้การต้อนรับ

หลังจากสักการะศาลพลเรือเอกกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรที่อยู่ด้านหน้าของอาคารตำหนักแล้ว  ท่านหญิงฯ และคณะได้เยี่ยมชมภายในอาคารตำหนักอย่างค่อนข้างละเอียด  ได้ชี้ว่าห้องไหนเคยมีลักษณะอย่างไร  เคยใช้เป็นอะไรหรือทำอะไร  มีกิจกรรม  บรรยากาศ ฯลฯ อย่างไร  เป็นที่น่าสนใจและน่าประทับใจของพวกเราที่ไม่เคยได้รับทราบเรื่องราวอย่างละเอียดและจากผู้ที่เคยอยู่อาศัยเองเช่นนี้

ท่านหญิงและคณะยังได้กรุณาและให้เกียรตินั่งสนทนากับพวกเราอีกเป็นเวลานานพอสมควร  โดยได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตที่เกี่ยวกับวังสะพานขาว  และการใช้ชีวิตในวังสะพานขาวแห่งนี้ในหลายแง่หลายมุม

ท่านหญิงฯ ยังได้มอบหนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ซึ่งท่านหญิงฯ เป็นผู้ประพันธ์เอง  ใช้นามปากกาว่า “วุฒิเฉลิม”  เป็นหนังสือได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544  ฉบับที่มอบให้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2  เมื่อ พ.ศ. 2544  จัดจำหน่ายโดย บริษัทศรีสาระ โทร. 0 2255 5597 – 8

หนังสือเล่มนี้  ผมได้อ่านแล้วด้วยความซาบซึ้ง ประทับใจ และได้คุณค่าทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และปัญญา

ข้อความใน “บทนำ” ของหนังสือ (หน้า 5) ปรากฏดังนี้

“ลายน้ำทอง”  เขียนในรูปนวนิยาย  จากความทรงจำ เป็นเรื่องของชีวิตตอนปลายของพ่อ  และเหตุการณ์ที่ประทับใจลูก  ตั้งแต่จำความได้จนสิ้นพ่อไป

แม้พ่อจะเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน รับใช้ชาติ รับราชการ มีตำแหน่งสูง ทั้งทางทหารบกและทหารเรือ  เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในที่สุด  ท่านไม่เคยทรงใช้อำนาจในทางที่ผิด  ทรงมีแต่ความโอบเอื้ออารีและเมตตาต่อทุกคน

ลูก ๆ ได้รับการสั่งสอนให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีศีล มีสัตย์ รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ที่ประเสริฐสุด  ได้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ได้ร่วมกันสร้างชาติไทย  ให้เป็นไทมาจนถึงทุกวันนี้……………. ”

และใน “บทส่งท้าย”  (หน้า 497) มีข้อความดังนี้ครับ

“เรื่อง ‘ลายน้ำทอง’ เป็นเรื่องที่เขียนจากความทรงจำจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพ่อกับลูกคู่หนึ่ง ตั้งแต่ลูกเริ่มจำความได้ จนกระทั่งพ่อต้องจากไปเมื่อลูกอายุ 13 ปีเศษ

สามสิบปีเศษที่เป็นชีวิตตอนปลายของพ่อ  และสิบสามปีเศษที่เป็นชีวิตตอนต้นของลูก

ความรัก  ความสนิทสนม  ไว้วางใจ  ของบุคคลสองคนที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของพ่อกับลูก  แม่กับลูก  สามีต่อภรรยา  พี่ต่อน้อง  น้องต่อพี่  เพื่อนต่อเพื่อน ฯลฯ

บุคคลที่สามจะไม่มีวันเข้าใจหรือล่วงรู้ถึงความรู้สึกที่บุคคลทั้งสองนั้นมีต่อกัน

หรือล่วงรู้คำพูดที่บุคคลนั้น ๆ พูดต่อกันโดยเฉพาะ

หรือแม้จะได้ยิน  ได้รู้  ก็ไม่มีวันจะเข้าใจถึงจิตใจที่บุคคลคู่นั้นเข้าใจ  และมีความรู้สึกอย่างลึกซื้งต่อกัน  ไม่ว่าจะในทางใด

เสด็จในกรมในเรื่อง คือ พลเอกและพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระปิยมหาราชและเจ้าจอมมารดาทับทิม………………………… ”

และข้อความท้ายสุดของ “บทส่งท้าย”( หน้า 502) คือ

“ผู้ตั้งชื่อเรื่องว่า  ‘ลายน้ำทอง’  คือ  คุณสุกัญญา  ชลศึกษ์  หรือ  ‘กฤษณา  อโศกสิน’ ”

หนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ดีจริง ๆ ครับ  อ่านแล้วได้ทั้งอารมณ์  ความรู้สึก ที่นุ่มนวล  ละเอียดอ่อน  ปลุกเร้าสิ่งที่เป็นคุณธรรม  ความดี  ความงดงาม  ให้สติ  ให้ปัญญา  พร้อมกับสะท้อนให้เห็นสัจธรรม   ความเป็นจริงของชีวิตและสังคม   สอดแทรกอยู่ใน  “เรื่องเล่า”   ของท่านหญิง วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย ซึ่งได้แก่  “ท่านหญิงน้อย”  ใน  “นวนิยาย”  นี้  นั่นเอง

ประโยชน์และคุณค่าจากการอ่านเรื่อง  “ลายน้ำทอง”  ยังรวมถึงคำบรรยายลักษณะของ “วังสะพานขาว”  อย่างค่อนข้างละเอียด ตลอดจนการสะท้อนภาพชีวิต  สังคม  และเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น  (ประมาณ พ.ศ. 2477 – 2490)  ในสายตาของ  “ท่านหญิงน้อย”  หรือ   ท่านหญิง (มจ.หญิง) วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย  นั่นเอง

ต้องขอขอบพระทัยท่านหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย และขอบพระคุณคณะผู้ร่วมการเยี่ยม  “วังสะพานขาว”  เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550  เป็นอย่างสูง  สำหรับเกียรติและความอบอุ่นที่ให้แก่พวกเราชาวคณะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ตลอดจน ข้อมูล  ความรู้  ข้อคิดอันมีคุณค่าอีกนานัปการ  รวมถึงที่บรรจุอยู่ในหนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ที่ท่านหญิงฯ  กรุณามอบให้ผมและท่านปลัดฯ  คนละหนึ่งเล่ม

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/75142

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 7 (5 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 7 (5 ก.พ. 50)


ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมกำลังเคลื่อนตัวไป

            การขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม” โดยกระทรวง พม. ดูว่ากำลังเคลื่อนตัวไปอย่างเป็นรูปธรรม มีความก้าวหน้าในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง ในขณะที่การขับเคลื่อนเชิงกลุ่มเป้าหมายและเชิงประเด็นทางสังคมก็ดำเนินควบคู่กันไป

            ขอทวนความจำว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม” ประกอบยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง (ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง) และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม โดยในการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัตินั้น จะดำเนินการใน 3 บริบทหลัก คือบริบทพื้นที่ บริบทกลุ่มเป้าหมาย และบริบทประเด็นทางสังคม

            ตัวอย่างรูปธรรมที่เกิดขึ้น ในรอบประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ซึ่งผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ได้แก่การไปเปิดโครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” และร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกันด้วยขบวนการสวัสดิการชุมชน” ที่ตำบลดอนยอ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เมื่อ 20 มกราคม 2550 ไปเปิดป้ายชุมชนแสดงการเสร็จสิ้นของโครงการ “บ้านมั่นคง” (ในเมือง) ที่ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร เมื่อ 25 มกราคม 2550 และไปเปิดโครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” ที่บ้านหัวคู ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 29 มกราคม 2550

            สังเกตว่าทุกโครงการที่กล่าวข้างต้น ได้ใช้หลักการสำคัญ 3 ข้อที่ผมย้ำอยู่บ่อยๆ ได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คือ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชน (ชุมชน) มีบทบาทสำคัญ และ(3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ ในทุกโครงการจะเห็นว่าชาวบ้านที่เกี่ยวข้องเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญ เป็นผู้คิด ผู้วางแผน ผู้ตัดสินใจ และผู้กำหนดภาระผูกพันของตนเอง ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งอบต. อบจ. และกทม. (ในกรณีบ้านมั่นคงชุมชนคลองลำนุ่น) ได้ให้การสนับสนุนอย่างดีในฐานะองค์กรที่ดูแลในเรื่องสวัสดิการสังคมและการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมกันนั้นราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่หน่วยงานของจังหวัด อำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ศูนย์พัฒนาสังคมจังหวัด (ศพส.) และหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลาง ซึ่งในกรณีโครงการดังกล่าวข้างต้น ได้แก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็ร่วมสนับสนุนอยู่อย่างใกล้ชิด

            ในการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกันด้วยขบวนการสวัสดิการชุมชน” ของจังหวัดนครนายก ผู้ร่วมลงนามได้แก่ตัวแทนของ (1) จังหวัดนครนายก (2) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก (3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก (4) ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 17 จังหวัดนครนายก (5) ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (6) ขบวนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครนายก  (7) ขบวนการสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออก และ(8) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมี (9) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานสักขีพยาน

            ในส่วนของการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม โดยมี “กลุ่มเป้าหมาย” เป็นตัวตั้ง คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ “วาระเพื่อเด็กและเยาวชน พ.ศ.2550” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 ประกอบด้วยมาตรการสำคัญคือ (1) การส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว (2) การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมของเด็กและเยาวชน (3) การส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ0-6ปี) (4) การส่งเสริม “จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก” และ(5) การส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัว

            ข้อสุดท้ายของวาระเพื่อเด็กและเยาวชน มีผลเท่ากับเป็นการขับเคลื่อนงานที่มี “ครอบครัว” เป็นกลุ่มเป้าหมายไปด้วย ส่วนการขับเคลื่อนงานสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ก็มีความก้าวหน้าในลักษณะต่างๆเช่นกัน (เช่นแผนงานที่จะเพิ่มสัดส่วนสตรีในการเป็นสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การค้นหาวิธีพัฒนากองทุนผู้สูงอายุให้สามารถทำประโยชน์ได้ดีและอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น การพยายามพัฒนาระบบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การเร่งรัดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ เป็นต้น)

            สำหรับการขับเคลื่อนงานในบริบทของ “ประเด็นทางสังคม” มีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ ในเรื่อง “การส่งเสริมสังคมคุณธรรม” ได้มีการจัด “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26-28 มกราคม 2550 ซึ่งกระทรวงพม. เป็นเจ้าภาพร่วม และรมว.พม. เป็นผู้รับมอบ “ปฏิญญาคุณธรรมว่าด้วยสังคมรู้ รัก สามัคคี” จากที่ประชุมสมัชชาโดยได้เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี แล้วเมื่อ 30 มกราคม 2550 ก่อนนำปฏิญญาดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันกับข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงจากศ.นพ. ประเวศ วะสี ทั้งนี้โดยกระทรวง พม.ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมดังกล่าว โดยให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย

            การขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นทางสังคมที่สำคัญ และมีความก้าวหน้าที่ดี อีกเรื่องหนึ่ง คือ “วาระแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม” ซึ่งนำเสนอโดย “คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.)” และครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 30 มกราคม 2550 ให้ดำเนินการต่อไป

            ชุดมาตรการตามวาระแห่งชาตินี้จะประกอบด้วยมาตรการด้านการเงินการคลัง เพื่อสังคมมาตรการด้านการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งที่ดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และในวิชาการทหารที่ดูแลโดยกระทรวงกลาโหม มาตรการอนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติภารกิจอาสาช่วยเหลือสังคม ได้โดยถือเป็นการปฏิบัติราชการและไม่ถือเป็นวันลา ภายในกำหนด 5 วันทำการต่อปี เป็นต้น

            จากที่เล่ามานี้ ถ้าจะบอกว่า “เครื่องยนต์พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” กำลังมีอุณหภูมิ สูงขึ้นเป็นลำดับ ก็คงจะได้กระมังครับ

                                                           สวัสดีครับ

                                                          ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76414

<<< กลับ