จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 6 (29 ม.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 6 (29 ม.ค. 50)


กระทรวง พม.ได้รับเกียรติและปลื้มปิติเมื่อทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” มาเยี่ยมวัง

วันที่ 19 มกราคม 2550 เป็นวันที่ผมพร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) รู้สึกได้รับเกียรติและปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารที่ทำการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และมีชื่อเรียกกันในกระทรวงฯ อย่างไม่เป็นทางการว่า “ตึกวัง” (หรือ “อาคาร 4” ถ้าเป็นทางการ)

คณะทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” ในวันนั้น คือ มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย พร้อม บุตร ญาติ และเพื่อน อีก 12 คน คือ

  1. คุณเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา  (บุตรชาย)
  2. คุณณัฐญาดา ณ สงขลา  (บุตรชาย)
  3. คุณฤชา ขจรเนตรติกุล
  4. ม.ร.ว.หญิง อัจฉรีเพราพรรณ (วุฒิชัย) วรรณพฤกษ์
  5. คุณอัศฏาพร วรรณพฤกษ์
  6. ม.ร.ว.เฉลิมฉัตร วุฒิชัย ณ อยุธยา
  7. คุณเอมอร วุฒิชัย
  8. ม.ล.อภิชิต วุฒิชัย
  9. คุณหญิงวิจันทรา (คชเสนี) บุนนาค
  10. คุณประพาพิมพ์ (สุวรรณศร) ศกุนตาภัย
  11. คุณจันทรา ปิตรชาติ  และ
  12. Mr. Geoffrey Longfellow

มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย เป็นพระธิดาของ พลเอกและพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  กับหม่อมประพันธ์  วุฒิชัย ณ อยุธยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 42  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กับเจ้าจอมมารดาทับทิม  พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ  ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2426  ในพระบรมมหาราชวัง

พ.ศ. 2440  ได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถ  ไปทรงเรียนวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2448  เสด็จกลับประเทศไทย เข้ารับราชการทางทหารเรือ  ได้เลื่อนยศตามลำดับจนเป็นพลเรือเอก  เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2467  และพลเอก เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2474

ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2467  ต่อมาเมื่อมีการรวมกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน  เรียกว่า “กระทรวงกลาโหม”  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2474 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2475 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จึงได้ลาออกจากราชการ

กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้เริ่มประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการ อยู่เป็นเวลานาน ต่อมาประชวรเป็นอัมพาต และพระโรคนิ่ว ในปี พ.ศ. 2482 จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2490 ก็ประชวรเป็นโรคน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด)  และสิ้นพระชนม์ในวันที่  18 ตุลาคม พ.ศ. 2490  ที่วังถนนกรุงเกษม (วังสะพานขาว)  รวมพระชนมายุได้  64 ปี

ในด้านพระประวัติส่วนพระองค์  ได้เสกสมรสและทรงมีพระโอรสธิดากับ มจ.หญิง พร้อมเพราพรรณ  รวม 6 พระองค์  คือ

(1) มจ.ทรงวุฒิไชย  วุฒิชัย

(2) นาวาโท มจ.อุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย

(3) มจ.หญิง สุวภาพเพราพรรณ  วุฒิชัย  (สวัสดิวัฒน์)

(4) มจ.หญิง

(5) มจ.ชาย

(6) มจ.ชาย

สามพระองค์สุดท้าย  สิ้นชีพตักษัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์และยังไม่มีพระนาม

เมื่อพระชายา (มจ.หญิงพร้อมเพราพรรณ)  สิ้นชีพตักษัยแล้ว  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ทรงมีพระโอรสธิดากับหม่อมประพันธ์ อีก 4 พระองค์ ได้แก่

(1) มจ.ไกรสิงห์  วุฒิชัย

(2) มจ.วุฒิสวาท  วุฒิชัย

(3) มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย

(4) มจ.วุฒิวิทู  วุฒิชัย

สำหรับ มจ.หญิง  วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย  ไม่ได้ประสูติที่  “วังสะพานขาว” แต่ประสูติที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย (ในปัจจุบัน)  ในช่วงเวลาที่พระบิดาได้แปรที่ประทับจากกรุงเทพฯ  ไปอยู่ที่เกาะปีนังภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ประมาณสองปี

ท่านหญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย   (หรือ  “ท่านหญิงปีนัง” หรือ “ท่านหญิงนัง”) ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต  ทรงวาดรูปและเขียนหนังสือเป็นอาชีพ  และมีงานอดิเรกคือ ทำสวน  ตกแต่งบ้าน และออกแบบผ้าปักไหมและปักบนผ้าใบสำหรับแขวนกำแพง

“วังสะพานขาว”   นี้  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5)  ทรงสร้างพระราชทานให้แก่พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษแล้ว  ซึ่งสร้างเสร็จทำพิธีขึ้นตำหนักเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  ทรงใช้เป็นที่ประทับและที่ทรงงานราชการด้วย

ภายหลังสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ใน    พ.ศ. 2490  แล้ว  ในปี พ.ศ. 2493  กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากทายาท  เพื่อเป็นที่ตั้งของกรมประชาสงเคราะห์  ซึ่งเดิมอาศัยพื้นที่พระราชวังสราญรมย์อยู่

ตำหนักที่ประทับ (ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารที่ทำการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เป็นตึกรูปทรงแข็งแรง สง่างาม สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (ฝรั่ง) ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชการที่ 5 เป็นอาคารสองชั้น ด้านหลังมีหอคอยเพิ่มขึ้นเป็นสามชั้น มีการใช้ศิลปะลายปูนปั้นประดับตามซุ้มหน้าต่าง  ตามรอยต่อนอกอาคารระหว่างชั้นบน  ชั้นล่าง  มุมอาคาร  เหนือคูหาโค้งที่มุขหน้า  และคูหาโค้งตามช่องเฉลียงชั้นล่าง ชั้นบนด้านหลังมีระเบียงแล่นไปจดกับส่วนหอคอย

ภายในตัวตำหนัก  แบ่งซอยเป็นห้องต่างๆ 10 ห้อง ชั้นล่าง 4 ห้อง ชั้นบน 6 ห้อง (ไม่นับโถงบันได โถงกลางชั้นบน และห้องน้ำ ซึ่งอยู่ด้านหลัง) ห้องทุกห้องในแต่ละชั้น มีประตูเปิดทะลุถึงกันหมด ประตูและหน้าต่างแต่ละบานมีขนาดสูงใหญ่ ล้อมด้วยกรอบไม้สีเข้ม เหนือประตูและหน้าต่างมีทับหลังเป็นแผ่นไม้ฉลุลายละเอียด  บนผนังห้องประดับด้วยศิลปะปูนปั้น  แบบเดียวกับภายนอกตำหนัก  สอดรับกับลายฉลุบนเพดานห้อง

ปัจจุบัน  ตำหนักกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  วังสะพานขาว  ได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถานที่สวยงาม  ควรแก่การชื่นชมและศึกษา

มีประเด็นว่า  วังสะพานขาวนี้มีอายุเท่าไร ?   ถ้าคำนวณว่าสร้างวังเสร็จเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  ถึงปัจจุบันคงจะครบ 100 ปี ในวันที่  16 มกราคม 2550

แต่บังเอิญผมได้ความรู้มาว่า ธนาคารไทยพาณิชย์  ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449  เขาจะนับว่ามีอายุครบ 100 ปี  ในวันที่  30  มกราคม 2550  ไม่ใช่วันที่  30 มกราคม 2549

เนื่องจากว่า  เมื่อมีการเปลี่ยนรอบปีจาก เมษายน – มีนาคม มาเป็น มกราคม – ธันวาคม ในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ช่วงเวลามกราคม – มีนาคมของปีต่างๆ ก่อน พ.ศ. 2484 หายไป 1 ปี

ดังนั้น  วังสะพานขาว ซึ่งสร้างเสร็จและมีพิธีขึ้นตำหนักในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  จึงจะมีอายุครบ 100 ปี  ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551  เนื่องจากหากยังนับรอบปีแบบเดิม คือ เมษายน – มีนาคม วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551  (ตามระบบปัจจุบัน)  จะเท่ากับวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  (ในระบบเดิม)

ท่านหญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย และคณะ  ได้ให้เกียรติมาเยี่ยม  “วังสะพานขาว”  เมื่อวันที่ 19  มกราคม  2550  โดยผม  ปลัดกระทรวงฯ  เลขานุการรัฐมนตรีฯ  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ  จำนวนหนึ่ง  ให้การต้อนรับ

หลังจากสักการะศาลพลเรือเอกกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรที่อยู่ด้านหน้าของอาคารตำหนักแล้ว  ท่านหญิงฯ และคณะได้เยี่ยมชมภายในอาคารตำหนักอย่างค่อนข้างละเอียด  ได้ชี้ว่าห้องไหนเคยมีลักษณะอย่างไร  เคยใช้เป็นอะไรหรือทำอะไร  มีกิจกรรม  บรรยากาศ ฯลฯ อย่างไร  เป็นที่น่าสนใจและน่าประทับใจของพวกเราที่ไม่เคยได้รับทราบเรื่องราวอย่างละเอียดและจากผู้ที่เคยอยู่อาศัยเองเช่นนี้

ท่านหญิงและคณะยังได้กรุณาและให้เกียรตินั่งสนทนากับพวกเราอีกเป็นเวลานานพอสมควร  โดยได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตที่เกี่ยวกับวังสะพานขาว  และการใช้ชีวิตในวังสะพานขาวแห่งนี้ในหลายแง่หลายมุม

ท่านหญิงฯ ยังได้มอบหนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ซึ่งท่านหญิงฯ เป็นผู้ประพันธ์เอง  ใช้นามปากกาว่า “วุฒิเฉลิม”  เป็นหนังสือได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544  ฉบับที่มอบให้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2  เมื่อ พ.ศ. 2544  จัดจำหน่ายโดย บริษัทศรีสาระ โทร. 0 2255 5597 – 8

หนังสือเล่มนี้  ผมได้อ่านแล้วด้วยความซาบซึ้ง ประทับใจ และได้คุณค่าทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และปัญญา

ข้อความใน “บทนำ” ของหนังสือ (หน้า 5) ปรากฏดังนี้

“ลายน้ำทอง”  เขียนในรูปนวนิยาย  จากความทรงจำ เป็นเรื่องของชีวิตตอนปลายของพ่อ  และเหตุการณ์ที่ประทับใจลูก  ตั้งแต่จำความได้จนสิ้นพ่อไป

แม้พ่อจะเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน รับใช้ชาติ รับราชการ มีตำแหน่งสูง ทั้งทางทหารบกและทหารเรือ  เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในที่สุด  ท่านไม่เคยทรงใช้อำนาจในทางที่ผิด  ทรงมีแต่ความโอบเอื้ออารีและเมตตาต่อทุกคน

ลูก ๆ ได้รับการสั่งสอนให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีศีล มีสัตย์ รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ที่ประเสริฐสุด  ได้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ได้ร่วมกันสร้างชาติไทย  ให้เป็นไทมาจนถึงทุกวันนี้……………. ”

และใน “บทส่งท้าย”  (หน้า 497) มีข้อความดังนี้ครับ

“เรื่อง ‘ลายน้ำทอง’ เป็นเรื่องที่เขียนจากความทรงจำจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพ่อกับลูกคู่หนึ่ง ตั้งแต่ลูกเริ่มจำความได้ จนกระทั่งพ่อต้องจากไปเมื่อลูกอายุ 13 ปีเศษ

สามสิบปีเศษที่เป็นชีวิตตอนปลายของพ่อ  และสิบสามปีเศษที่เป็นชีวิตตอนต้นของลูก

ความรัก  ความสนิทสนม  ไว้วางใจ  ของบุคคลสองคนที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของพ่อกับลูก  แม่กับลูก  สามีต่อภรรยา  พี่ต่อน้อง  น้องต่อพี่  เพื่อนต่อเพื่อน ฯลฯ

บุคคลที่สามจะไม่มีวันเข้าใจหรือล่วงรู้ถึงความรู้สึกที่บุคคลทั้งสองนั้นมีต่อกัน

หรือล่วงรู้คำพูดที่บุคคลนั้น ๆ พูดต่อกันโดยเฉพาะ

หรือแม้จะได้ยิน  ได้รู้  ก็ไม่มีวันจะเข้าใจถึงจิตใจที่บุคคลคู่นั้นเข้าใจ  และมีความรู้สึกอย่างลึกซื้งต่อกัน  ไม่ว่าจะในทางใด

เสด็จในกรมในเรื่อง คือ พลเอกและพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระปิยมหาราชและเจ้าจอมมารดาทับทิม………………………… ”

และข้อความท้ายสุดของ “บทส่งท้าย”( หน้า 502) คือ

“ผู้ตั้งชื่อเรื่องว่า  ‘ลายน้ำทอง’  คือ  คุณสุกัญญา  ชลศึกษ์  หรือ  ‘กฤษณา  อโศกสิน’ ”

หนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ดีจริง ๆ ครับ  อ่านแล้วได้ทั้งอารมณ์  ความรู้สึก ที่นุ่มนวล  ละเอียดอ่อน  ปลุกเร้าสิ่งที่เป็นคุณธรรม  ความดี  ความงดงาม  ให้สติ  ให้ปัญญา  พร้อมกับสะท้อนให้เห็นสัจธรรม   ความเป็นจริงของชีวิตและสังคม   สอดแทรกอยู่ใน  “เรื่องเล่า”   ของท่านหญิง วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย ซึ่งได้แก่  “ท่านหญิงน้อย”  ใน  “นวนิยาย”  นี้  นั่นเอง

ประโยชน์และคุณค่าจากการอ่านเรื่อง  “ลายน้ำทอง”  ยังรวมถึงคำบรรยายลักษณะของ “วังสะพานขาว”  อย่างค่อนข้างละเอียด ตลอดจนการสะท้อนภาพชีวิต  สังคม  และเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น  (ประมาณ พ.ศ. 2477 – 2490)  ในสายตาของ  “ท่านหญิงน้อย”  หรือ   ท่านหญิง (มจ.หญิง) วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย  นั่นเอง

ต้องขอขอบพระทัยท่านหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย และขอบพระคุณคณะผู้ร่วมการเยี่ยม  “วังสะพานขาว”  เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550  เป็นอย่างสูง  สำหรับเกียรติและความอบอุ่นที่ให้แก่พวกเราชาวคณะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ตลอดจน ข้อมูล  ความรู้  ข้อคิดอันมีคุณค่าอีกนานัปการ  รวมถึงที่บรรจุอยู่ในหนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ที่ท่านหญิงฯ  กรุณามอบให้ผมและท่านปลัดฯ  คนละหนึ่งเล่ม

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/75142

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *