วาระหลัก สสส. ปี 2549 “60 ปี 60 ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน”

วาระหลัก สสส. ปี 2549 “60 ปี 60 ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน”


(18 – 20  มี.ค. 49) ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “วาระหลัก สสส. ปี 2549 : 60 ปี 60 ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน” ณ เซอร์เจมส์รีสอร์ท จ.สระบุรี โดยมีหัวข้อของขั้นตอนการประชุมดังนี้

· กิจกรรมนำเข้าสู่เนื้อหา “สุนทรียสนทนา”
· นำเสนอ/แลกเปลี่ยนผลงานความสำเร็จของงานเด็กและเยาวชนจากกรณีตัวอย่าง
· สร้างเป้าหมายงานเด็ก/เยาวชนในวาระหลักปี 2549 ร่วมกัน
· หาแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายงานเด็ก/เยาวชนในวาระหลักปี 2549 ร่วมกัน
· วางแผนงาน/โครงการ (เป้าหมาย/กิจกรรม/งบประมาณ)
· ประเมินผล/สรุป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
22 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/20324

<<< กลับ

การพัฒนา “แผนงานจิตตปัญญาศึกษา” (Contemplative Education) มหาวิทยาลัยมหิดล

การพัฒนา “แผนงานจิตตปัญญาศึกษา” (Contemplative Education) มหาวิทยาลัยมหิดล


(20 มี.ค. 49) ร่วมประชุมหารือเพื่อพัฒนา “แผนงานจิตตปัญญาศึกษา” (Contemplative Education) ซึ่งมหาวิทยลัยมหิดล และสถาบันอาศรมศิลป์/โรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกับเครือข่ายด้านการเรียนรู้และการปฏิบัติหลายองค์กร ได้ริเริ่มพัฒนาขึ้นเป็นเบื้องต้น และนำมาให้ที่ประชุมวันนี้ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็น
            ที่มาของแผนงานนี้ คือ การเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์โดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาจากกระบวนการเรียนรู้จริงและให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านในอย่างแท้จริง
            แผนงานนี้ประกอบด้วย แผนการดำเนินงานทางด้านการวิจัย การจัดหลักสูตรฝึกอบรม/ปฏิบัติ และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน
            วิจักขณ์ พานิช (กำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ (Naropa) ประเทศสหหรัฐอเมริกา) ให้ความหมายของ Contemplative Education ว่า “หมายถึงการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยของคำคำนี้ มิใช่แสดงถึงรูปแบบของการศึกษา หรือระบบการศึกษา แต่เน้นไปที่ “กระบวนการ” คำคำนี้เหมือนเป็นการจุดประกายความหมายใหม่ให้เราย้อนกลับไปหาราก คุณค่า และความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ ที่มีผลระยะยาวต่อชีวิตของคนคนหนึ่งทั้งชีวิต”
            ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เสนอ กระบวนการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษา ไว้ดังนี้
1.   การเข้าถึงโลกทัศน์และชีวิต เรามองโลก มองธรรมชาติอย่างไร หากเราเข้าถึงความจริงจะพบความงามในนั้นเสมอ เมื่อเราเข้าถึงธรรมชาติก็จะถึงความเป็นอิสระ
2.   กิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรมที่เกี่ยวกับชุมชน ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมอาสาสมัคร (Volunteer) สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจ
3.   การปลีกวิเวกไปอยู่ในธรรมชาติ สัมผัสธรรมชาติ (Retreat) ได้รู้ใจตนเอง เมื่อจิตสงบเชื่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ จะเกิดปรากฎการณ์ต่างๆขึ้น
4.      การทำสมาธิ (Maditaion)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
22 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/20325

<<< กลับ

การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น

การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น


(23 มี.ค. 49) ไปร่วม “โครงการสังคมสนทนา” หัวข้อ “การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น” จัดโดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (ครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ เป็นประธาน คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นผู้อำนวยการ)
ในการสนทนานี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ แล้วมีการนำเสนอ “ความรู้การจัดการทางสังคม : การเมืองสมานฉันท์” โดย
1. คุณอัครชัย ทศกูล ตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
2. คุณประสาน ขันติวงศ์ ตำบลเสียว อ.โพธิศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ
3. คุณสนิท สายรอคำ ตำบลน้ำเกี๋ยน กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน
4. คุณโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ (บ้านหนองกลางดง) ต.ศิลาลอย กิ่งอ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
ผมรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการสนทนาสำหรับการนำเสนอข้างต้น และในเอกสารการประกอบการสนทนา ซึ่งใช้ชื่อว่า “การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น” ได้ลงบทสัมภาษณ์ผม โดยคุณกฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์ แห่งทีมงานไทยเอ็นจีโอ และ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ข้อความของบทสัมภาษณ์ ปรากฏดังนี้


การเมืองสมานฉันท์ ..ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม


เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นกำลังแบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย บนเจตนาที่ชัดเจนชี้ขาด ถึงความไม่ชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการแบ่งข้างแยกขั้วตัดสินผลแพ้ชนะกันด้วยการวัดพลังทาง สังคมจนเกิดการแยกยื้อมวลชนและ/หรือกดดันด้วยพลังต่าง ๆ ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าเมื่อทำตามกติกา ไม่ได้ก็ต้องไล่ออกโดยพลังประชาชนบนท้องถนน ขณะอีกฝ่ายย้ำและประกาศชัดว่าตนถูกต้องและยังมี ความชอบธรรม ยัน ‘ขออยู่ทำงานต่อไป เพื่อชาติ’ พร้อมจัดกำลังหนุนเตรียมพร้อม ขณะคนไทยกำลังจับตา สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในความรู้สึกคนไทยถูกสั่นคลอนตกอยู่ในภาวะบีบคั้น ให้เลือกข้างถึงแม้ว่ากลุ่มองค์กรทางสังคมการเมือง (ทั้ง2ฝ่าย) หลากหลายกลุ่มจะเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจถึงหนทางที่เป็นไปได้และนำเสนอทางออกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากมายหลายทางก็ตาม
ถึงกระนั้นไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย แนวทาง

การเมืองสันติ – สมานฉันท์ โดย อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ย้ำเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้จำเป็นต้องมีคนกลางเข้าช่วยดำเนินการ และมั่นใจว่า”บุคคลอันเป็นที่น่าเชื่อถือได้ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกันหลายคน” และหนึ่งในแนวทางที่จะนำมาจัดการให้สังคมเป็นสุขได้นั้น คือ
“แนวคิดใหม่ การเมืองสมานฉันท์”


แนวคิดหลัก คือการสวนกระแสการเมืองแบบเก่า สังคมโดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของ การขัดแย้ง  โต้แย้งและใช้พลังอำนาจทางสังคมในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเอาชนะคะคานทั้งที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น การเมืองเป็นเรื่องของการบริหารจัดการและการตรวจสอบการใช้อำนาจ การเมืองเป็น เรื่องการจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

การเมืองเป็นการจัดการการใช้อำนาจบริหารจัดการ ไม่ใช่ต่อสู้แย่งชิง การเมืองสมานฉันท์เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่อาจจะไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ การเมืองไทยในรอบ 80 ปีที่ผ่านมาเป็น เรื่องของความขัดแย้ง แก่งแย่ง ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป

หรือกระทั่ง ณ วินาทีนี้ที่เราบอกว่าเรามีประชาธิปไตยเต็มใบหรือมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด (เท่าที่เคยมีมา) แต่จะเห็นได้ว่า กระบวนการทางการเมืองของเรายังอยู่ในลักษณะแบ่งแยกขัดแย้ง ไม่ว่าจะอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่ได้มาอย่างราบรื่นสันติ – สมานฉันท์ การบริหารจัดการ หลังจากบังคับใช้รัฐธรรมนูญถือเป็นการจัดการบนแนวทางสันติ – สมานฉันท์
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงแนวทางการเมืองสมานฉันท์นั้น เราพบว่า ในส่วนการเมืองท้องถิ่นกระบวนการจัดสรร หรือสรรหาคณะทำงานเพื่อเข้าสู่ระบบอำนาจทางการบริหารก็มีการจัดการบนแนวทางสันติ – สมานฉันท์ หรือในระดับสากลการสรรหาสันตะปาปาผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ใช้กระบวนการสร้าง ฉันทามติกันนานพอสมควร หรือการสรรหาผู้นำ WTO มีการสร้างกระบวนการทางฉันทามติเพื่อขจัด ความขัดแย้งนำไปสู่ทางออก ความคิดเห็นต่างไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความขัดแย้งหรือมีผู้แพ้ – ผู้ชนะ การเมืองแนวทางสมานฉันท์คือ การตั้งคำถามกับระบบการเมืองแบบมีแพ้มีชนะ แพ้-ชนะที่วัดเอาจาก ระบบการลงคะแนนเสียง การเมืองสมานฉันท์จะใช้ระบบฉันทามติ สร้างบทสรุปที่ตกลงกันได้ สำหรับ กระบวนการจัดการการเมืองในระดับย่อยต่างๆ ตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หรือ คณบดีหลายแห่ง ใช้ระบบฉันทามติปรึกษาหารือเพื่อลงความเห็นร่วมกันว่าอะไรใครหรือมีประเด็นใด ที่เหมาะสมก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฏหมายและกระบวนการทางสังคมจนเกิดเป็นความเห็นพ้อง อย่างไม่มีการแบ่งฝักฝ่ายหรือแพ้-ชนะ

การเมืองสมานฉันท์รูปแบบการขจัดความขัดแย้ง


การเมืองสมานฉันท์เกิดเป็นจริงได้ในสองกรณี กรณีที่หนึ่ง คนหรือกลุ่มคนในสังคมมีเป้าประสงค์ต้องการเห็นการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ กรณีที่สองคือสังคมมุ่งเป้าเข้าสู่ความสุขไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การครอบครองอำนาจโดยใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้มองอำนาจเป็นเป้าหมายแต่มองความสุขสมบูรณ์ของสังคมร่วมกันเป็นเป้าหมาย หากสังคมยังมองเรื่องอำนาจเป็นเป้าหมายจะเป็นเชื้อประทุของความขัดแย้ง เลยเถิดไปถึงการสร้างวิธีการ ใดก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจแทนที่จะสร้างสังคมที่ดีเป็นสังคมการเมืองสมานฉันท์  การเมืองบนแนว ทางสมานฉันท์ต้องค่อย ๆ สร้างตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร เป็นกระบวนการการจัดการสร้างสันติ – สมานฉันท์ซึ่งในระดับย่อยสร้างได้ง่ายกว่าระดับชาติ สร้างในระดับย่อยเพื่อขยาย ผลไปในระดับชาติ หากการเมืองในระดับย่อยยังมีการแบ่งแยก แย่งชิง เราจะไปหวังให้การเมืองในระดับ ชาติเป็นการเมืองแนวสมานฉันท์คงลำบาก  ต้องเริ่มแนวทางสมานฉันท์ในระบบการเมืองระดับย่อยก่อน มุ่งหมายและส่งเสริมการเมืองแบบประชาชนมีส่วนร่วม มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการใช้อำนาจ ในการตรวจสอบอำนาจ ในการแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฎิบัติได้ในบางเรื่อง ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมเรียนรู้ ร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอนุวัติตามมาตรา 59 และ 76 ของรัฐธรรมนูญ
การมีส่วนร่วมที่ดีหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนจากหลาย ๆ ฝ่ายได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ร่วมคิดร่วมทำโดยใช้เหตุผล และคุณธรรม จากข้อมูลกรองไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน สร้างทัศนคติเชิงสันติ – สร้างสรรค์ – สมานฉันท์ ตลอดจนสร้าง วัฒนธรรม การคิด – การพูด – การทำเชิงสมานฉันท์ เกิดเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง – การปกครองซึ่งเป็นวิธีการป้องกันและจัดการกับความขัดแย้งที่ได้ผลดีที่สุด แต่ความขัดแย้งไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหาย ความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดความบาดหมางเคียดแค้น

ยุติทัศนะทางการเมืองเพื่อการแย่งชิง

กระบวนการการแย่งชิงในการเมืองระดับชาติมีอยู่มากและกำลังระบาดไปถึงการเมืองในระดับท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าการเมืองบนแนวทางสมานฉันท์จะไม่มี อาจจะมีน้อยแต่ก็มีศักยภาพ เป็นความหวังในการดำเนินการเพื่อเข้าสู่หนทางการเมืองแนวสมานฉันท์ที่จะแปรเปลี่ยน การเมืองเชิงขัดแย้งแย่งชิงให้หมดไป อาจจะเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายกว่าการกระทำโดยเฉพาะในสถานการณ์ การเมืองในปัจจุบันที่ความขัดแย้งต่อสู้ช่วงชิงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้ขยายตัวออกไป อันเป็นภาวะที่เราคง ต้องมาทำความเข้าใจถึงเหตุและผลของเหตุการณ์ตามหลัก ‘อิทัปปัจจยตา’  ความเป็นเหตุเป็นผล ต่อเนื่องซึ่งกันและกัน หรือตาม ‘หลักทฤษฎีระบบ’ หลายสิ่งหลายอย่างเกาะเกี่ยวเป็นปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกิดอะไรขึ้นอย่างหนึ่งจะเกิดเหตุกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ สภาพการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ ยากต่อการแก้ไข แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขไม่ได้ ในหลายกรณีที่เกิดความขัดแย้งจนกระทั่งใช้อาวุธรบราฆ่าฟันก็ยังไม่มีกรณีใดที่สายเกินไปที่จะใช้ กระบวนการสันติ – สมานฉันท์ ในบางประเทศต่อสู้ฆ่าฟันกันด้วยอาวุธมาหลายปีก็ยังสามารถมานั่งโต๊ะเจรจากันได้ ระบบการเมืองของประเทศไทยยังไม่สายเกินไปที่จะนำการเมืองแนวสันติ – สมานฉันท์ มาใช้ ซึ่งอาจเรียกว่า กระบวนการสันติวิธี หรือกระบวนการจัดการความขัดแย้ง,แก้ปัญหาความขัดแย้ง, แปรเปลี่ยนความขัดแย้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคนกลางทำหน้าที่จัดกระบวนการให้คู่ขัดแย้งได้มาพูดคุยกัน แล้วนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาในที่สุด
ทางเลือกของนายกฯอาจไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่ง


ขณะนี้มีเงื่อนไขให้นายกฯสองทาง ฝ่ายหนึ่งบอกให้ลาออกอีกฝ่ายหนึ่งบอกให้ทำงานต่อได้ การยื่นเงื่อนไขอย่างนี้เป็นเรื่องยากที่จะหาทางขจัดข้อขัดแย้ง เพราะจะเกิดฝ่ายที่ชนะกับฝ่ายที่แพ้จนเป็นเหตุของความเคียดแค้น เป็นบทสรุปที่ไม่นำเข้าสู่การเห็นพ้องต้องกัน ต้องคิดให้กว้างถึงทางออกที่จะนำไปสู่ความพอใจร่วมกัน อาจต้องดำเนินการช้าๆ ค่อยๆ ศึกษาและจัดกระบวนการในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งในเรื่องนี้คนที่ทำหน้าที่คนกลางจะเป็นผู้จัดกระบวนการที่สอดคล้องกับการเมืองบนแนวทางสมานฉันท์ สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่คนกลางเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ต้องมีความจริงใจ เชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการ เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจของคู่ขัดแย้ง การจะบอกว่าใครจริงใจหรือไม่อาจจะดูยากแต่คนกลางต้องสามารถทำให้กระบวนการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น นำไปสู่บทสรุปและเกิดการปฏิบัติที่เป็นจริงภายใต้กลไกการควบคุมเพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติตามที่ตกลงกัน

การเมืองสมานฉันท์เป็นการจัดการทางสังคมรูปแบบหนึ่ง


เป็นการจัดการความสัมพันธ์ของบุคคลเพื่อหาข้อยุตินำไปสู่ผลซึ่งเป็นความพอใจร่วมกัน การเมืองเชิงสมานฉันท์หรือการเมืองเชิงสันติ  – สมานฉันท์ต้องใช้กระบวนการทางสังคมเข้าไปดำเนินการ เกิดขึ้นได้ทั้งในสภาและนอกสภา ไม่ใช่กระบวนการเชิงกฎหมายหรือกระบวนการในระบบสภาเพียงเท่านั้น หรือเป็นส่วนหนุนกระบวนการทางกฎหมายให้เกิดเป็นภาวะยืดหยุ่นและอยู่ร่วมกันได้ การเมืองเกี่ยวข้อง กับการจัดการเชิงอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ระบบสภาหรือกฎหมายเพียงสถานเดียว แต่อาจอาศัยอำนาจทางสังคมเข้าไปจัดการร่วมกันทั้งสังคม
ทั้งนี้ อ.ไพบูลย์ ระบุว่า หากทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับแนวทางการเมืองสมานฉันท์และยอมให้มีคนกลางก็จะสามารถจัดกระบวนการได้ และยังเชื่อว่ามีบุคคลอื่น ๆ อีกมากในสังคมที่มีความเหมาะสมในการเป็นคนกลาง “ผมคิดว่า ในเมืองไทยมีอีกหลายคนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย” โดยส่วนตัวแล้วไม่มีความเห็น เรื่องการถอดถอนหรือยื่นเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพราะแนวทางการเมืองแบบสมานฉันท์ จะต้องไม่เริ่มที่การให้ใครต้องทำอย่างนั้นหรือต้องทำอย่างนี้ แต่เน้นไปที่จุดประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกันว่าคืออะไร
เป้าหมายที่สูงกว่าการลาออกหรือไม่ลาออกคืออะไร

“ขณะนี้เราไปให้ความสำคัญกับการลาออกหรือไม่ลาออกของตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเพียงวิธีการไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย การลาออกหรือไม่ลาออกของนายกฯ ไม่ได้หมายความว่าสังคมจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างหากร่างกายเราป่วยวิธีการคือกินยาชนิดใด เป้าหมายคือร่างกาย เราเป็นปกติหายป่วย แต่มียาให้เลือกเพียงสองขนานแล้วมาเถียงกันว่าขนานไหนจะทำให้ร่างกายหายป่วย อย่างนี้จะเถียงกันไม่จบสิ้น เกิดเป็นความขัดแย้ง ที่น่าพิจารณาคือ มีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่”

“เรื่องลาออก-ไม่ลาออกไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่สุด ความขัดแย้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดี โต้กันไปโต้กันมาแล้วเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้เราไม่ได้ใช้กระบวน การสันติ – สมานฉันท์ เรากำลังใช้ กระบวนการการต่อสู้ – เรียกร้อง เป็นการคิดวิธีการเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ร่วมคิดวิธีการด้วย เป็นการยื่นเงื่อนไขเพียงข้างเดียว “ฝ่ายหนึ่งบอกว่า นายกฯต้อง ลาออก ขณะที่ฝ่ายนายกยืนกรานว่ายังไงก็ไม่ออก” ส่วนว่าเมื่อลาออกแล้วจะทำอย่างไรต่อไปข้อนี้ยังไม่ชัดเจน”
“การมานั่งพูดคุยกันทั้งหมดอาจจะยังทำไม่ได้ทันที จุดนี้เป็นหน้าที่ของคนกลาง คนกลางอาจเข้าไปพูดกับฝ่ายหนึ่ง แล้วจึงไปพูดกับอีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะต้องทำหลาย ๆ รอบจนได้รับความไว้วางใจและเห็นลู่ทางชัดเจนขึ้น เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสมก็จะสามารถจัดให้ทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายมานั่งพูดคุยเจรจากันโดยตรง แล้วพยายามหาบทสรุปที่จะบรรลุจุดประสงค์ร่วมกันซึ่งมิใช่บนฐานของจุดยืนที่ขัดแย้งกันคือออกหรือไม่ออก ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สร้างความขัดแย้ง แพ้ -ชนะกันไปข้างหนึ่ง และไม่ใช่กระบวนการเจรจาหาข้อยุติร่วม ความจริงทางเลือกใหญ่ของนายกฯวันนี้มีด้วยกัน 3 ทาง คือ อยู่บริหารงานต่อไป ลาออก และยุบสภา หากเลือกทางหนึ่งทางใดใน 3 ทางนี้โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นจะเกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่จากความไม่พอใจของฝ่ายที่แพ้”

ดังนั้นต้องพยายามหาข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ทุกฝ่ายพอใจหรือรับได้ หากนายกฯบริหารประเทศต่อไปจะเพิ่มเงื่อนไขอะไร หรือ ถ้าลาออกจะต้องมีเงื่อนไขอะไร หรือหากเลือกยุบสภาจะทำอย่างไรให้เกิดสภาพที่แต่ละฝ่ายรับได้ อย่างนี้คือวิธีการบนแนวทางการเมืองสมานฉันท์ ซึ่ง อ.ไพบูลย์ย้ำเอาไว้ในบรรทัดถัดมาว่า “ทั้งสองฝ่ายหรือผู้เกี่ยวข้องต้องสมัครใจให้เกิดการพูดจาหาข้อตกลงโดยมีบุคคลอิสระช่วยทำหน้าที่ ‘คนกลาง’ ให้ การเจรจาถึงจะเกิดขึ้นได้ หากทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการเจรจาหรือไม่ต้องการคนกลางก็คงไม่มีใครจะเข้าไปทำให้เพราะจะทำไม่ได้ “ อ.ไพบูลย์ สรุป

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ
และวิทยาลัยการจัดการทางสังคม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/21444

<<< กลับ

ทางออกของวิกฤตในสังคมไทยแก้ได้ด้วยการเจรจา

ทางออกของวิกฤตในสังคมไทยแก้ได้ด้วยการเจรจา


(26 มี.ค. 49) ไปร่วมอภิปรายใน “การสานเสวนา” เรื่อง “ทางออกของวิกฤตในสังคมไทยแก้ได้ด้วยการเจรจา” ร่วมจัดโดย ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, ศูนย์คุณธรรม, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดที่ห้องประชุมของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาคารพญาไทพลาซ่า
            วัตถุประสงค์ของการสานเสวนาครั้งนี้ ได้แก่
1. เพื่อเป็นเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน จัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
2. เพื่อสร้างเครือข่ายและแนวร่วมที่ยึดถือแนวทางในการเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง
3. เพื่อเสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยแนวทางสันติวิธี
4. เพื่อเผยแพร่แนวคิดสันติวิธีไปสู่การปฏิบัติของทั้งภาครัฐและเอกชน
            ผู้เริ่มอภิปรายนำ ประกอบด้วยตัวแทนขององค์กรร่วมจัด ดังนี้

1. ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์                ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล                                                                                 สถาบันพระปกเกล้า
2. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม             ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม

3. รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์          ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ

                                                             มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. รศ.ดร.โคทม อารียา                   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี

มหาวิทยาลัยมหิดล
การสานเสวนาเป็นไปด้วยดี ได้ข้อสรุปเป็นการวางแผนที่จะดำเนินการเท่าที่สามารถทำได้ในแนวทางของ “สันติวิธี” หรือ “สันติวิถี” โดยผู้เข้าร่วมการเสวนาจำนวนหนึ่งอาสาเป็นผู้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
30 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/21802

<<< กลับ

การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลโดยภาคประชาชน

การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลโดยภาคประชาชน


(7 เม.ย. 49) ร่วมการประชุมระดมสมอง เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่อง การออม การจัดสวัสดิการ และเกื้อกูลโดยภาคประชาชน” จัดโดย “แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขภาพแห่งชาติ (มสช.)” (นพ.สมศักดิ์ ชุนหรัศมิ์ เป็นผู้อำนวยการ) ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ในเรื่อง “การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลโดยภาคประชาชน” พบปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในหลายพื้นที่ที่ได้ใช้ทุนทางสังคมในท้องถิ่นมาส่งเสริมการทำงานร่วมกันในการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในชุมชน ทั้งในด้านสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ ท่ามกลางสภาพการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันที่พบว่า ยังมีปัญหาการออมที่ไม่พอเพียงและระบบสวัสดิการยังไม่ทั่วถึง ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อยู่ในภาคชนบทยังขาดหลักประกันทางสังคมอันนำมาซึ่งการบั่นทอนคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ทาง มสช. จึงได้ประสานกับ กลุ่มงานสำนักนโยบายการออมและการลงทุน (โดย คุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์) ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (กระทรวงการคลัง) ในฐานะเป็นหน่วยงานนโยบายของรัฐ ที่กำลังมีแนวคิดในการผลักดันนโยบายจัดตั้งระบการออมเพื่อสวัสดิการของชุมชนจัดเวทีระดมสมองขึ้น
ในเวทีระดมสมอง ได้มีการนำเสนอกรณีการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชนเองจากทั้ง 4 ภาคของประเทศ (โดยครูชบ ยอดแก้ว จ.สงขลา คุณสามารถ พุทธา จ.ลำปาง คุณสมนึก ไชยสงค์ จ.มหาสารคาม คุณพล ศรีเพชร จ.พังงา คุณพรทิพย์ ศิริบาล จ.ปทุมธานี คุณประจวบ แต่งทรัพย์ จ.ชัยภูมิ คุณละออ อินมารี จ.สุโขทัย คุณอุดร บุตรสิงห์ จ.อุทัยธานี)
ผมได้ให้ความเห็นว่า ชุมชนในประเทศไทยได้มีวิวัฒนาการการจัดการเงินทุนที่อาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ
1. การจัดการเงินทุนที่เน้นการใช้สินเชื่อหรือเงินกู้
2. การจัดการเงินทุนที่เน้นการออมมากขึ้น
3. การจัดการเงินทุนโดยมุ่งเรื่องสวัสดิการ
ทั้ง 3 ช่วงนี้ไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่มีรอยต่อและการเหลื่อมทับกันอยู่ด้วย จนในปัจจุบันได้เกิดระบบการจัดการเงินทุนที่มีทั้ง 3 ลักษณะผสมผสานกันอยู่ในสัดส่วนต่างๆตามแต่วิวัฒนาการของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละกรณี
และผมมีข้อคิดเห็นเชิงเสนอแนะ 3 ประการ ดังนี้
1. ความริเริ่มของชุมชนในการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนขึ้นมาเอง ถือเป็นเรื่องที่มีคุณค่าน่าชื่นชม น่าสนับสนุน และน่าส่งเสริม เพราะเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และในสังคมที่กว้างกว่าชุมชน พร้อมๆกับถือเป็นนวัตนกรรมและความสามารถของชุมชนที่น่าภาคภูมิใจอีกด้วย
2. กองทุนประเภทที่สมาชิกจ่ายเงินสมทบก่อนโดยมีเงื่อนไขจะได้รับประโยชน์ในภายหลังภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ย่อมมีความเสี่ยงอยู่หลายประการ ทำนองเดียวกับการประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันอื่นๆ ความเสี่ยงเหล่านี้รวมถึง
(1) ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้พึงได้รับประโยชน์ในอนาคต
(2) ความเสี่ยงจากนำเงินที่สะสมได้ไปลงทุนให้มีผลตอบแทนสูงพอ
(3) ความเสี่ยงจากการกำหนดประโยชน์ซึ่งสมาชิกจะได้รับที่อาจสูงเกินไปจนกองทุนรับภาระไม่ได้ในบางเวลา หรืออาจต่ำเกินไปจนไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรม
ดังนั้น ทั้งชุมชนและผู้ส่งเสริมสนับสนุนจึงควรคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งหลายที่กองทุนสวัสดิการมีอยู่ และพิจารณาหาทางบริหารความเสี่ยงให้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
3. ภาครัฐน่าจะพิจารณาส่งเสริมสนับสนุนระบบสวัสดิการชุมชนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี ดังต่อไปนี้
(1) การสนับสนุนด้วยวิชาการ ความรู้ และการจัดการความรู้
(2) การสนับสนุนด้วยระบบและวิธีการจัดการ รวมถึงการประสานความร่วมมือ
(3) การสนับสนุนด้วยงบประมาณหรือเงินทุนสมทบในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
10 เม.ษ. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/23395

<<< กลับ

กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(2)

กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(2)


(27 เม.ย. 48) ไปบรรยายหัวข้อ “กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง” ในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียน “ป่าชุมชนสู่ความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองบนฐานการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” จัดโดย “แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย” (Thailand Collaborative Country Support Programme – ThCCSP) ภายใต้ “ศุนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” (Regional Community Forestry Training Center for Asia and the Pacific – RECOFTC)
ได้ใช้ Power Point ดังต่อไปนี้ประกอบการบรรยาย

สำหรับ “แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย” (ThCCP) ได้รับการสนับสนุนจาก Danish International Developmant Agency (DANIDA) มีระยะเวลาดำเนินงานระหว่าง 2003-2007 คุณสมหญิง สุนทรวงศ์ (โทร. 0-9778-6913) เป็นหัวหน้าโครงการ มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน 8 พื้นที่ คือ 1.ชุมชนแม่ทา ต.แม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ 2.ชุมชนกาลอ ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา 3.ชุมชนซำผักหนาม ต.หนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 4.ชุมชนร่มโพธิ์ทอง ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกรียบ จ.ฉะเชิงเทรา 5.ชุมชนห้วยหินดำ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 6.ชุมชนเขาราวเทียนทอง ต.เนินขาม กิ่งอำเภอเนินขาม จ.ชัยนาท 7.ชุมชนเปร็ดใน ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด 8.ชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำขาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/26416 

<<< กลับ

ตุ้มโฮมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอีสาน เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน

ตุ้มโฮมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอีสาน เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน


(28 เม.ย. 48) ตอนเช้าไปร่วมพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคง “ชุมชนตะวันใหม่” (ซึ่งย้ายมาจาก “ชุมชนไดนาโม”) ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น (นายเจตน์ ธนวัตน์) เป็นประธาน
“โครงการบ้านมั่นคงสำหรับชุมชนแออัด” ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยสนับสนุนให้ชุมชนแออัดนั้นเองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลักในการพัฒนา
ตอนสายประมาณ 10.00-11.30 น. เดินทางไปที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นที่จัดงาน “มหาบุญไทบ้าน อีสานพอเพียง” เข้าร่วมการบันทึกเทปโทรทัศน์ช่อง 11 รายการ “เวทีชาวบ้าน” หัวข้อ “ตุ้มโฮมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอีสาน เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน” (“ตุ้มโฮม” คือ ร่วมกัน) ผู้เข้าร่วมรายการเป็นหลักประกอบด้วย 1.คุณสังคม เจริญทรัพย์ (ประธานร่วมศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชน – ศตจ.ปชช.) 2.คุณสมคิด ศิริวัฒนกุล (กรรมการ ศตจ.ปชช.) 3.คุณเจตน์ ธนวัฒน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น) 4.คุณพิชัย รัตนพล (ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน – พอช.) และ 5.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) โดยมีคุณประพจน์ ภู่ทองคำ เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วน “ชาวบ้าน” ที่ร่วม “เวที” ด้วยก็ได้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน “มหาบุญไทบ้าน อีสานพอเพียง” ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 49 นั่นเอง
ต่อมาประมาณ 12.00 น. ไปร่วมพิธีเปิด “ศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน” และ “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน ภาคอีสาน” ซึ่งอยู่ในบริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/26434

<<< กลับ

สรุปความเห็น “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนใต้”

สรุปความเห็น “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนใต้”


1.กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโจทย์ที่แท้จริงและท้าทายต่อนโยบายสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ของรัฐบาลไทย และของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. สถานการณ์และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“ทุกข์”) เป็นที่รับรู้กันอยู่เพียงพอแล้ว
3. การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“สมุทัย”) ควรใช้แนวที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้วิเคราะห์ไว้ โดยแบ่งสาเหตุเป็น 3 ชั้น คือ (1) ชั้นบุคคล     (2) ชั้นโครงสร้าง และ (3) ชั้นวัฒนธรรม
4. การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“นิโรธ”) ควรถือว่า “ความมั่นคงของมนุษย์” เป็นเป้าหมายสุดท้าย ซึ่งมีชุดตัวชี้วัด 10 หมวด ได้แก่ (1) ที่อยู่อาศัย (2) สุขภาพอนามัย         (3) การศึกษา (4) การมีงานทำและรายได้ (5) ความมั่นคงส่วนบุคคล (6) ครอบครัว (7) การสนับสนุนทางสังคม (8) สังคม-วัฒนธรรม (9) สิทธิและความเป็นธรรม (10) การเมืองและธรรมาภิบาล (คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบชุดตัวชี้วัดนี้เมื่อ 30 สิงหาคม 2548)
5. แนวทางสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (“มรรค”) ควรประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประการดังนี้ (1) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่นรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) การเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์ของฝ่ายต่างๆสู่เป้าหมายร่วมกัน (3) บทบาทเอื้ออำนวยของฝ่ายรัฐรวมถึงการมีกฎหมาย ข้อบังคับ โครงสร้าง และกลไกที่เหมาะสม (4) การใช้หลักการและกระบวนการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (หรือ “การสร้างสันติ” – Peace building) (5) การจัดการความรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โดยมี “ชุดตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์” เป็น “ยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์” พร้อมกับเป็น “แกนหลัก” และ “เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน” ของยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการ ดังแสดงด้วยภาพต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

หมายเหตุ  เป็นสรุปความเห็นที่นำเสนอในการอภิปราย เมื่อ 9 พ.ค. 49 หัวข้อ “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ประเทศไทยกับความมั่นคงของมนุษย์ : จุดยืนและก้าวต่อไป” จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่าง 8 – 9 พฤษภาคม 2549
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
11 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/28066

<<< กลับ

การสร้างคน สร้างชาติ และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของประเทศเวียดนาม

การสร้างคน สร้างชาติ และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของประเทศเวียดนาม


(10 – 13 พ.ค. 49) ร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานการส่งเสริมคุณธรรมของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ผู้ร่วมคณะ 35 คน ประกอบด้วยพระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวังโส ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ดร.รุ่ง แก้วแดง   ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คุณมัณฑนา ศังขะกฤษณ์ คุณวินัย รอดจ่าย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และคนอื่นๆจากหลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการศึกษาและการพัฒนาคน
            จุดที่ไปศึกษาดูงาน ประกอบด้วย
            1. An Duong Primary School กรุงฮานอย ระดับประถมศึกษา
2. The Humanity Cultural Social Scientific University กรุงฮานอย เป็นมหาวิทยาลัยระดับประเทศ
3. Baichay Halong School เมืองฮาลอง ระดับประถมศึกษา
สลับกับศึกษาดูงานที่เป็นเนื้อหาสาระว่าด้วยการศึกษาและการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยตรง ก็ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสัมผัสกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศและวิถีชีวิตของประชาชนชาวเวียดนามอีกพอสมควร ได้แก่ การชมเส้นทางจากสนามบินโนยบายเข้ากรุงฮานอย ย่านชุมชนเก่าแก่ในกรุงฮานอย บ้านพักและที่ทำงานของท่านประธานโฮจิมินห์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ มหาวิทยาลัยวันเหมียวที่มีอายุเกือบ 1,000 ปี สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1070 วัดเสาเดียว พิพิธภัณฑ์ทหาร พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ การแสดงหุ่นกระบอกน้ำ การชมเส้นทางระหว่างกรุงฮานอยกับเมือง Halong Bay การชมธรรมชาติทางทะเลของ Halong Bay ซึ่งเป็นมรดกโลก 1 ใน 5 แห่งของเวียดนาม
มีรายการแถมตามคำขอแบบทันทีทันใดของคณะศึกษาดูงาน คือการเยี่ยมชมชุมชนหมู่บ้านชนบทที่อยู่ข้างเส้นทางระหว่าง Halong Bay กับฮานอย รายการนี้ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการล่วงหน้า จึงพบเห็นสภาพที่เป็นธรรมชาติปกติของชาวหมู่บ้านชนบทเวียดนาม ได้แก่ สภาพบ้านเรือนแบบเรียบง่ายพออยู่ได้ การทำมาหากินที่ทุกคนได้รับการจัดสรรทรัพยากรพื้นฐานโดยเฉพาะที่ดินอย่างเสมอภาค หมู่บ้านที่เราแวะเยี่ยมชมคงจะมีรายได้คงเหลือพอสมควรเพราะกำลังสร้างศาลเจ้าใหม่สวยงาม มูลค่าประมาณ 3 – 4 ล้านบาท มีวัดแบบเรียบง่ายซึ่งมีบริเวณสำหรับกิจกรรมร่วมกัน เช่น ลานสำหรับการออกกำลังกาย (ได้เห็นผู้สูงอายุรำพัดประกอบดนตรี) ลานสำหรับหัดขับรถมอร์เตอร์ไซค์ ที่ประทับใจคณะผู้ศึกษาดูงานมาก ได้แก่ ความเป็นกันเอง มีน้ำใจ กระตือรือล้นที่จะต้อนรับขับสู้และอำนวยความสะดวกต่างๆแบบทันทีทันใด สีหน้าที่แสดงถึงความสุขสงบ และชื่นบาน รวมทั้งได้พบสนทนากับเด็กนักเรียนหลายคนซึ่งมีความกล้าพูดภาษาอังกฤษแบบไม่กี่คำกับพวกเรา และแสดงออกอย่างมีชีวิตชีวาโดยไม่มีความขี้อายหรือหวั่นกลัว
           
            สาระสำคัญที่ได้จากการศึกษาดูงาน สรุปโดยย่อ คือ
            1. รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในอันดับสูงสุด จัดสรรงบประมาณให้มากเป็นพิเศษ มีนโยบายจัดการศึกษาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมให้ถือปฏิบัติทั้งประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน
2. ครูได้รับการสนับสนุนมากจากรัฐบาล รวมถึงการจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้ผู้ต้องการมีอาชีพครูโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้เงินเดือนครูสูงเป็นอันดับสองรองจากทหารและทัดเทียมกับเงินเดือนแพทย์ ครูได้รับการนับถือและมีสถานะสูงทางสังคม ครูมีการเรียนรู้และพัฒนาทั้งตามหลักสูตรพิเศษในช่วงปิดเทอมและในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ประจำสัปดาห์ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยให้ครูในเวียดนามเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
3. ครูโดยเฉพาะในชั้นประถมมองตัวเองว่าเป็นทั้งครูและผู้ปกครองคนที่สองของนักเรียน โรงเรียนจึงเป็นเหมือนบ้านที่สองของนักเรียนไปด้วย มีความร่วมมือสูงระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและโรงเรียนกับชุมชน โดยมีคณะกรรมการของชุมชนเป็นกลไกดำเนินการนอกเหนือจากการติดต่อโดยตรงระหว่างครูกับผู้ปกครองรายคน
4. ระบบการศึกษาในเวียดนาพยายามให้บ้านเป็นเสมือนโรงเรียนไปด้วย เป็นการเรียนจากการปฏิบัติ เช่นในการช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน และทำกิจกรรมในชุมชน เป็นต้น ในภาคกลางของเวียดนามมีการกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาทำ “การบ้าน 5 ข้อ” ทุกวันดังนี้*
(1) วันนี้หนูทำความดีอะไรบ้าง
(2) วันนี้หนูช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้านอะไรบ้าง
                        (3) วันนี้ชุมชนของหนูมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง
(4) ให้รายงานข่าวหนึ่งข่าวเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม
(5) ให้รายงานข่าวหนึ่งข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โลก

การบ้าน 5 ข้อนี้ ส่งผลให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักคุณธรรมความดี รู้จักจริยธรรม รู้จักชุมชนตนเอง รู้จักครอบครัวตัวเอง รู้จักประเทศตนเอง และรู้จักสังคมโลก

5. การศึกษาในเวียดนามมีเข็มมุ่งอยู่ที่ “อุดมการณ์ 5 ข้อ” ของประธานโฮจิมินห์ หรือ “ลุงโฮ” ของเด็กๆ โดยทุกห้องเรียนจะมีเป็นแผ่นป้ายแสดงข้อความของอุดมการณ์ 5 ข้อ ไว้อย่างเด่นชัดซึ่งได้แก่
(1) รักชาติ รักประชาชน
(2) เรียนดี ทำงานดี
                        (3) สามัคคี มีวินัย
                        (4) รักษาอนามัยดี
                        (5) ถ่อมตน ซื่อสัตย์ กล้าหาญ
นอกจากนั้นยังมีแผ่นป้ายอีกแผ่นหนึ่งที่มีความเด่นชัดเท่าเทียมกัน แสดงข้อความซึ่งเป็นคำกล่าวของประธานโฮจิมินห์ ว่า
“ประเทศชาติจะสวยงาม ชนชาติเวียดนามจะก้าวหน้า เคียงบ่าเคียงไหล่กับ 5 ทวีป หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเรียนของลูกหลาน”
            6. การศึกษาของเวียดนามเน้นการมีคุณธรรมและประพฤติดีเป็นอันดับต้น แต่ก็มุ่งให้มีวิชาการและความสามารถด้วย มีการให้รางวัลและสิ่งจูงใจแก่นักเรียนที่ประพฤติดีเรียนดีอย่างเป็นระบบ เช่นการให้ผ้าผูกคอสีแดง การให้รางวัลระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ เป็นต้น เป็นการแข่งขันกันทำความดีตลอดเวลา อย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง
7. มีการให้รางวัลผู้ทำหน้าที่ครูได้ดีเช่นเดียวกัน เช่นเป็นครูดีเด่นระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ เป็นต้น โรงเรียน 2 แห่งที่เราไปเยี่ยมจัดอยู่ในกลุ่มโรงเรียนดีเด่น มีครูดีเด่นและนักเรียนดีเด่นจำนวนมาก บทบาทของครูใหญ่ก็มีความสำคัญสูง เป็นผู้ดูแลให้ครูมีการจัดการเรียนการสอนได้ดี มีการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติงาน เช่นการประชุมประจำสัปดาห์เพื่อทบทวนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา หาทางแก้ไขและป้องกันปัญหารวมทั้งพยายามพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกอยู่เสมอๆ
8. ทั้งครูและนักเรียนเขียนหนังสือแบบคัดบรรจงเป็นหลัก ทั้งในเอกสารเตรียมการสอนของครู การเขียนบทเรียนบนกระดานหน้าชั้น การเขียนหนังสือของเด็กในสมุดของทุกวิชา ทั้งนี้โดยใช้ปากกาหมึกซึมซึ่งช่วยในการเขียนตัวอักษรให้สวยงามเป็นระเบียบ ระบบนี้น่าจะช่วยสร้างสมนิสัยประณีต เป็นระเบียบ มีวินัย มีสมาธิ มีสุนทรียภาพ ที่มีคุณค่าต่อบุคคลและต่อสังคมรวมถึงคุณค่าในการปฏิบัติหน้าที่การงานให้ดี
9. นักเรียนที่ได้ผ้าผูกคอสีแดงจะได้รับการดูแลเพิ่มเติมจากครูพิเศษเพื่อการนี้ นักเรียนมีการประเมินให้คะแนนกันเองในด้านต่างๆ และให้ครูนำไปประเมินต่อ ในระดับเยาวชนมีการจัดกิจกรรมเยาวชน เช่น เป็นกลุ่มอาสาสมัครไปทำความดีในลักษณะต่างๆ ได้แก่ การช่วยชุมชน ช่วยผู้เดือดร้อน ช่วยดูแลการจราจร ช่วยแนะนำผู้มาสมัครเข้าเรียน เป็นต้น
10. พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีบทบาทสำคัญมากในการบริหารประเทศรวมถึงในการบริหารการศึกษา ซี่งถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาชาติด้วยการพัฒนาคนทั้งในด้านคุณธรรมความสามารถ และการมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในระดับบริหารจะต้องเป็นสมาชิกพรรคซึ่งจะต้องผ่านเงื่อนไขที่เข้มงวดรวมถึงการมีทั้งความดีและความสามารถ การเป็นสมาชิกพรรคจึงไม่ใช้เรื่องง่ายแต่ก็เป็นที่พึงปรารถนาของชาวเวียดนามโดยทั่วไปที่ประสงค์จะมีความก้าวหน้าในต่ำแหน่งหน้าที่การงาน โดยนัยนี้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงเป็นทั้งกลไกการจัดการขนาดใหญ่สำหรับประเทศและสังคมของเวียดนาม พร้อมๆกับเป็นกลไกส่งเสริมและควบคุมคุณภาพของบุคลากรไปในตัว
หมายเหตุ
            1. รายละเอียดจากการศึกษาดูงานครั้งนี้มีอีกมาก ผู้ร่วมคณะศึกษาดูงานแต่ละคนมีการบันทึกในลักษณะต่างๆกัน คนหนึ่งที่บันทึกอย่างละเอียดเป็นรายวันรวมทั้งสรุปเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์ด้วย คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งได้เขียนบันทึกนั้นลงใน Webblog “Gotoknow.org” ภายใต้ชื่อ Gotoknow.org/thaikm
2. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประทศเวียดนาม” ซึ่งทำการศึกษาวิจัยโดย รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาตีพิมพ์เป็นเอกสารเรียบร้อยแล้วและได้ใช้เอกสารดังกล่าวประกอบการศึกษาดูงานครั้งนี้ด้วย
3. ในระหว่างการศึกษาดูงาน ได้มีกระบวนการสะท้อนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะๆ ทำนอง AAR (After Action Review) ซึ่งเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามาก รวมทั้งได้นัดหมายที่จะให้คณะผู้ศึกษาดูงานได้พบกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่แต่ละคนได้ดำเนินการหรือจะดำเนินการ รวมถึงกิจกรรมที่อาจจะดำเนินการร่วมกันโดยหลายคนหรือหลายฝ่ายด้วย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
17 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/29367

<<< กลับ

การสร้าง สร้างชาติ สร้างจิตสำนึก และมโนธรรมในสังคม

การสร้าง สร้างชาติ สร้างจิตสำนึก และมโนธรรมในสังคม


(25 พ.ค. 49) ไปเป็นวิทยากรใน หัวข้อ “การสร้างคน สร้างชาติ สร้างจิตสำนึก และมโนธรรมในสังคม” ในหลักสูตร “นักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” ประจำปี 2549 รุ่นที่ 47,48,49 และ50 (ร่วมสัมมนาพร้อมกัน) จัดโดยสำนักงาน กพ.
ได้ใช้ Power Point ดังต่อไปนี้ประกอบการบรรยายและนำอภิปราย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

29 พ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/31742

<<< กลับ