การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลโดยภาคประชาชน

การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลโดยภาคประชาชน


(7 เม.ย. 49) ร่วมการประชุมระดมสมอง เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่อง การออม การจัดสวัสดิการ และเกื้อกูลโดยภาคประชาชน” จัดโดย “แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขภาพแห่งชาติ (มสช.)” (นพ.สมศักดิ์ ชุนหรัศมิ์ เป็นผู้อำนวยการ) ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ในเรื่อง “การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลโดยภาคประชาชน” พบปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในหลายพื้นที่ที่ได้ใช้ทุนทางสังคมในท้องถิ่นมาส่งเสริมการทำงานร่วมกันในการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในชุมชน ทั้งในด้านสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ ท่ามกลางสภาพการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันที่พบว่า ยังมีปัญหาการออมที่ไม่พอเพียงและระบบสวัสดิการยังไม่ทั่วถึง ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อยู่ในภาคชนบทยังขาดหลักประกันทางสังคมอันนำมาซึ่งการบั่นทอนคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ทาง มสช. จึงได้ประสานกับ กลุ่มงานสำนักนโยบายการออมและการลงทุน (โดย คุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์) ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (กระทรวงการคลัง) ในฐานะเป็นหน่วยงานนโยบายของรัฐ ที่กำลังมีแนวคิดในการผลักดันนโยบายจัดตั้งระบการออมเพื่อสวัสดิการของชุมชนจัดเวทีระดมสมองขึ้น
ในเวทีระดมสมอง ได้มีการนำเสนอกรณีการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชนเองจากทั้ง 4 ภาคของประเทศ (โดยครูชบ ยอดแก้ว จ.สงขลา คุณสามารถ พุทธา จ.ลำปาง คุณสมนึก ไชยสงค์ จ.มหาสารคาม คุณพล ศรีเพชร จ.พังงา คุณพรทิพย์ ศิริบาล จ.ปทุมธานี คุณประจวบ แต่งทรัพย์ จ.ชัยภูมิ คุณละออ อินมารี จ.สุโขทัย คุณอุดร บุตรสิงห์ จ.อุทัยธานี)
ผมได้ให้ความเห็นว่า ชุมชนในประเทศไทยได้มีวิวัฒนาการการจัดการเงินทุนที่อาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ
1. การจัดการเงินทุนที่เน้นการใช้สินเชื่อหรือเงินกู้
2. การจัดการเงินทุนที่เน้นการออมมากขึ้น
3. การจัดการเงินทุนโดยมุ่งเรื่องสวัสดิการ
ทั้ง 3 ช่วงนี้ไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่มีรอยต่อและการเหลื่อมทับกันอยู่ด้วย จนในปัจจุบันได้เกิดระบบการจัดการเงินทุนที่มีทั้ง 3 ลักษณะผสมผสานกันอยู่ในสัดส่วนต่างๆตามแต่วิวัฒนาการของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละกรณี
และผมมีข้อคิดเห็นเชิงเสนอแนะ 3 ประการ ดังนี้
1. ความริเริ่มของชุมชนในการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนขึ้นมาเอง ถือเป็นเรื่องที่มีคุณค่าน่าชื่นชม น่าสนับสนุน และน่าส่งเสริม เพราะเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และในสังคมที่กว้างกว่าชุมชน พร้อมๆกับถือเป็นนวัตนกรรมและความสามารถของชุมชนที่น่าภาคภูมิใจอีกด้วย
2. กองทุนประเภทที่สมาชิกจ่ายเงินสมทบก่อนโดยมีเงื่อนไขจะได้รับประโยชน์ในภายหลังภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ย่อมมีความเสี่ยงอยู่หลายประการ ทำนองเดียวกับการประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันอื่นๆ ความเสี่ยงเหล่านี้รวมถึง
(1) ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้พึงได้รับประโยชน์ในอนาคต
(2) ความเสี่ยงจากนำเงินที่สะสมได้ไปลงทุนให้มีผลตอบแทนสูงพอ
(3) ความเสี่ยงจากการกำหนดประโยชน์ซึ่งสมาชิกจะได้รับที่อาจสูงเกินไปจนกองทุนรับภาระไม่ได้ในบางเวลา หรืออาจต่ำเกินไปจนไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรม
ดังนั้น ทั้งชุมชนและผู้ส่งเสริมสนับสนุนจึงควรคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งหลายที่กองทุนสวัสดิการมีอยู่ และพิจารณาหาทางบริหารความเสี่ยงให้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
3. ภาครัฐน่าจะพิจารณาส่งเสริมสนับสนุนระบบสวัสดิการชุมชนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี ดังต่อไปนี้
(1) การสนับสนุนด้วยวิชาการ ความรู้ และการจัดการความรู้
(2) การสนับสนุนด้วยระบบและวิธีการจัดการ รวมถึงการประสานความร่วมมือ
(3) การสนับสนุนด้วยงบประมาณหรือเงินทุนสมทบในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
10 เม.ษ. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/23395

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *