การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น

การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น


(23 มี.ค. 49) ไปร่วม “โครงการสังคมสนทนา” หัวข้อ “การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น” จัดโดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (ครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ เป็นประธาน คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นผู้อำนวยการ)
ในการสนทนานี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ แล้วมีการนำเสนอ “ความรู้การจัดการทางสังคม : การเมืองสมานฉันท์” โดย
1. คุณอัครชัย ทศกูล ตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
2. คุณประสาน ขันติวงศ์ ตำบลเสียว อ.โพธิศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ
3. คุณสนิท สายรอคำ ตำบลน้ำเกี๋ยน กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน
4. คุณโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ (บ้านหนองกลางดง) ต.ศิลาลอย กิ่งอ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
ผมรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการสนทนาสำหรับการนำเสนอข้างต้น และในเอกสารการประกอบการสนทนา ซึ่งใช้ชื่อว่า “การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น” ได้ลงบทสัมภาษณ์ผม โดยคุณกฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์ แห่งทีมงานไทยเอ็นจีโอ และ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ข้อความของบทสัมภาษณ์ ปรากฏดังนี้


การเมืองสมานฉันท์ ..ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม


เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นกำลังแบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย บนเจตนาที่ชัดเจนชี้ขาด ถึงความไม่ชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการแบ่งข้างแยกขั้วตัดสินผลแพ้ชนะกันด้วยการวัดพลังทาง สังคมจนเกิดการแยกยื้อมวลชนและ/หรือกดดันด้วยพลังต่าง ๆ ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าเมื่อทำตามกติกา ไม่ได้ก็ต้องไล่ออกโดยพลังประชาชนบนท้องถนน ขณะอีกฝ่ายย้ำและประกาศชัดว่าตนถูกต้องและยังมี ความชอบธรรม ยัน ‘ขออยู่ทำงานต่อไป เพื่อชาติ’ พร้อมจัดกำลังหนุนเตรียมพร้อม ขณะคนไทยกำลังจับตา สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในความรู้สึกคนไทยถูกสั่นคลอนตกอยู่ในภาวะบีบคั้น ให้เลือกข้างถึงแม้ว่ากลุ่มองค์กรทางสังคมการเมือง (ทั้ง2ฝ่าย) หลากหลายกลุ่มจะเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจถึงหนทางที่เป็นไปได้และนำเสนอทางออกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากมายหลายทางก็ตาม
ถึงกระนั้นไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย แนวทาง

การเมืองสันติ – สมานฉันท์ โดย อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ย้ำเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้จำเป็นต้องมีคนกลางเข้าช่วยดำเนินการ และมั่นใจว่า”บุคคลอันเป็นที่น่าเชื่อถือได้ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกันหลายคน” และหนึ่งในแนวทางที่จะนำมาจัดการให้สังคมเป็นสุขได้นั้น คือ
“แนวคิดใหม่ การเมืองสมานฉันท์”


แนวคิดหลัก คือการสวนกระแสการเมืองแบบเก่า สังคมโดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของ การขัดแย้ง  โต้แย้งและใช้พลังอำนาจทางสังคมในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเอาชนะคะคานทั้งที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น การเมืองเป็นเรื่องของการบริหารจัดการและการตรวจสอบการใช้อำนาจ การเมืองเป็น เรื่องการจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

การเมืองเป็นการจัดการการใช้อำนาจบริหารจัดการ ไม่ใช่ต่อสู้แย่งชิง การเมืองสมานฉันท์เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่อาจจะไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ การเมืองไทยในรอบ 80 ปีที่ผ่านมาเป็น เรื่องของความขัดแย้ง แก่งแย่ง ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป

หรือกระทั่ง ณ วินาทีนี้ที่เราบอกว่าเรามีประชาธิปไตยเต็มใบหรือมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด (เท่าที่เคยมีมา) แต่จะเห็นได้ว่า กระบวนการทางการเมืองของเรายังอยู่ในลักษณะแบ่งแยกขัดแย้ง ไม่ว่าจะอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่ได้มาอย่างราบรื่นสันติ – สมานฉันท์ การบริหารจัดการ หลังจากบังคับใช้รัฐธรรมนูญถือเป็นการจัดการบนแนวทางสันติ – สมานฉันท์
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงแนวทางการเมืองสมานฉันท์นั้น เราพบว่า ในส่วนการเมืองท้องถิ่นกระบวนการจัดสรร หรือสรรหาคณะทำงานเพื่อเข้าสู่ระบบอำนาจทางการบริหารก็มีการจัดการบนแนวทางสันติ – สมานฉันท์ หรือในระดับสากลการสรรหาสันตะปาปาผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ใช้กระบวนการสร้าง ฉันทามติกันนานพอสมควร หรือการสรรหาผู้นำ WTO มีการสร้างกระบวนการทางฉันทามติเพื่อขจัด ความขัดแย้งนำไปสู่ทางออก ความคิดเห็นต่างไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความขัดแย้งหรือมีผู้แพ้ – ผู้ชนะ การเมืองแนวทางสมานฉันท์คือ การตั้งคำถามกับระบบการเมืองแบบมีแพ้มีชนะ แพ้-ชนะที่วัดเอาจาก ระบบการลงคะแนนเสียง การเมืองสมานฉันท์จะใช้ระบบฉันทามติ สร้างบทสรุปที่ตกลงกันได้ สำหรับ กระบวนการจัดการการเมืองในระดับย่อยต่างๆ ตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หรือ คณบดีหลายแห่ง ใช้ระบบฉันทามติปรึกษาหารือเพื่อลงความเห็นร่วมกันว่าอะไรใครหรือมีประเด็นใด ที่เหมาะสมก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฏหมายและกระบวนการทางสังคมจนเกิดเป็นความเห็นพ้อง อย่างไม่มีการแบ่งฝักฝ่ายหรือแพ้-ชนะ

การเมืองสมานฉันท์รูปแบบการขจัดความขัดแย้ง


การเมืองสมานฉันท์เกิดเป็นจริงได้ในสองกรณี กรณีที่หนึ่ง คนหรือกลุ่มคนในสังคมมีเป้าประสงค์ต้องการเห็นการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ กรณีที่สองคือสังคมมุ่งเป้าเข้าสู่ความสุขไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การครอบครองอำนาจโดยใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้มองอำนาจเป็นเป้าหมายแต่มองความสุขสมบูรณ์ของสังคมร่วมกันเป็นเป้าหมาย หากสังคมยังมองเรื่องอำนาจเป็นเป้าหมายจะเป็นเชื้อประทุของความขัดแย้ง เลยเถิดไปถึงการสร้างวิธีการ ใดก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจแทนที่จะสร้างสังคมที่ดีเป็นสังคมการเมืองสมานฉันท์  การเมืองบนแนว ทางสมานฉันท์ต้องค่อย ๆ สร้างตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร เป็นกระบวนการการจัดการสร้างสันติ – สมานฉันท์ซึ่งในระดับย่อยสร้างได้ง่ายกว่าระดับชาติ สร้างในระดับย่อยเพื่อขยาย ผลไปในระดับชาติ หากการเมืองในระดับย่อยยังมีการแบ่งแยก แย่งชิง เราจะไปหวังให้การเมืองในระดับ ชาติเป็นการเมืองแนวสมานฉันท์คงลำบาก  ต้องเริ่มแนวทางสมานฉันท์ในระบบการเมืองระดับย่อยก่อน มุ่งหมายและส่งเสริมการเมืองแบบประชาชนมีส่วนร่วม มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการใช้อำนาจ ในการตรวจสอบอำนาจ ในการแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฎิบัติได้ในบางเรื่อง ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมเรียนรู้ ร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอนุวัติตามมาตรา 59 และ 76 ของรัฐธรรมนูญ
การมีส่วนร่วมที่ดีหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนจากหลาย ๆ ฝ่ายได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ร่วมคิดร่วมทำโดยใช้เหตุผล และคุณธรรม จากข้อมูลกรองไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน สร้างทัศนคติเชิงสันติ – สร้างสรรค์ – สมานฉันท์ ตลอดจนสร้าง วัฒนธรรม การคิด – การพูด – การทำเชิงสมานฉันท์ เกิดเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง – การปกครองซึ่งเป็นวิธีการป้องกันและจัดการกับความขัดแย้งที่ได้ผลดีที่สุด แต่ความขัดแย้งไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหาย ความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดความบาดหมางเคียดแค้น

ยุติทัศนะทางการเมืองเพื่อการแย่งชิง

กระบวนการการแย่งชิงในการเมืองระดับชาติมีอยู่มากและกำลังระบาดไปถึงการเมืองในระดับท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าการเมืองบนแนวทางสมานฉันท์จะไม่มี อาจจะมีน้อยแต่ก็มีศักยภาพ เป็นความหวังในการดำเนินการเพื่อเข้าสู่หนทางการเมืองแนวสมานฉันท์ที่จะแปรเปลี่ยน การเมืองเชิงขัดแย้งแย่งชิงให้หมดไป อาจจะเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายกว่าการกระทำโดยเฉพาะในสถานการณ์ การเมืองในปัจจุบันที่ความขัดแย้งต่อสู้ช่วงชิงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้ขยายตัวออกไป อันเป็นภาวะที่เราคง ต้องมาทำความเข้าใจถึงเหตุและผลของเหตุการณ์ตามหลัก ‘อิทัปปัจจยตา’  ความเป็นเหตุเป็นผล ต่อเนื่องซึ่งกันและกัน หรือตาม ‘หลักทฤษฎีระบบ’ หลายสิ่งหลายอย่างเกาะเกี่ยวเป็นปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกิดอะไรขึ้นอย่างหนึ่งจะเกิดเหตุกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ สภาพการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ ยากต่อการแก้ไข แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขไม่ได้ ในหลายกรณีที่เกิดความขัดแย้งจนกระทั่งใช้อาวุธรบราฆ่าฟันก็ยังไม่มีกรณีใดที่สายเกินไปที่จะใช้ กระบวนการสันติ – สมานฉันท์ ในบางประเทศต่อสู้ฆ่าฟันกันด้วยอาวุธมาหลายปีก็ยังสามารถมานั่งโต๊ะเจรจากันได้ ระบบการเมืองของประเทศไทยยังไม่สายเกินไปที่จะนำการเมืองแนวสันติ – สมานฉันท์ มาใช้ ซึ่งอาจเรียกว่า กระบวนการสันติวิธี หรือกระบวนการจัดการความขัดแย้ง,แก้ปัญหาความขัดแย้ง, แปรเปลี่ยนความขัดแย้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคนกลางทำหน้าที่จัดกระบวนการให้คู่ขัดแย้งได้มาพูดคุยกัน แล้วนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาในที่สุด
ทางเลือกของนายกฯอาจไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่ง


ขณะนี้มีเงื่อนไขให้นายกฯสองทาง ฝ่ายหนึ่งบอกให้ลาออกอีกฝ่ายหนึ่งบอกให้ทำงานต่อได้ การยื่นเงื่อนไขอย่างนี้เป็นเรื่องยากที่จะหาทางขจัดข้อขัดแย้ง เพราะจะเกิดฝ่ายที่ชนะกับฝ่ายที่แพ้จนเป็นเหตุของความเคียดแค้น เป็นบทสรุปที่ไม่นำเข้าสู่การเห็นพ้องต้องกัน ต้องคิดให้กว้างถึงทางออกที่จะนำไปสู่ความพอใจร่วมกัน อาจต้องดำเนินการช้าๆ ค่อยๆ ศึกษาและจัดกระบวนการในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งในเรื่องนี้คนที่ทำหน้าที่คนกลางจะเป็นผู้จัดกระบวนการที่สอดคล้องกับการเมืองบนแนวทางสมานฉันท์ สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่คนกลางเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ต้องมีความจริงใจ เชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการ เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจของคู่ขัดแย้ง การจะบอกว่าใครจริงใจหรือไม่อาจจะดูยากแต่คนกลางต้องสามารถทำให้กระบวนการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น นำไปสู่บทสรุปและเกิดการปฏิบัติที่เป็นจริงภายใต้กลไกการควบคุมเพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติตามที่ตกลงกัน

การเมืองสมานฉันท์เป็นการจัดการทางสังคมรูปแบบหนึ่ง


เป็นการจัดการความสัมพันธ์ของบุคคลเพื่อหาข้อยุตินำไปสู่ผลซึ่งเป็นความพอใจร่วมกัน การเมืองเชิงสมานฉันท์หรือการเมืองเชิงสันติ  – สมานฉันท์ต้องใช้กระบวนการทางสังคมเข้าไปดำเนินการ เกิดขึ้นได้ทั้งในสภาและนอกสภา ไม่ใช่กระบวนการเชิงกฎหมายหรือกระบวนการในระบบสภาเพียงเท่านั้น หรือเป็นส่วนหนุนกระบวนการทางกฎหมายให้เกิดเป็นภาวะยืดหยุ่นและอยู่ร่วมกันได้ การเมืองเกี่ยวข้อง กับการจัดการเชิงอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ระบบสภาหรือกฎหมายเพียงสถานเดียว แต่อาจอาศัยอำนาจทางสังคมเข้าไปจัดการร่วมกันทั้งสังคม
ทั้งนี้ อ.ไพบูลย์ ระบุว่า หากทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับแนวทางการเมืองสมานฉันท์และยอมให้มีคนกลางก็จะสามารถจัดกระบวนการได้ และยังเชื่อว่ามีบุคคลอื่น ๆ อีกมากในสังคมที่มีความเหมาะสมในการเป็นคนกลาง “ผมคิดว่า ในเมืองไทยมีอีกหลายคนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย” โดยส่วนตัวแล้วไม่มีความเห็น เรื่องการถอดถอนหรือยื่นเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพราะแนวทางการเมืองแบบสมานฉันท์ จะต้องไม่เริ่มที่การให้ใครต้องทำอย่างนั้นหรือต้องทำอย่างนี้ แต่เน้นไปที่จุดประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกันว่าคืออะไร
เป้าหมายที่สูงกว่าการลาออกหรือไม่ลาออกคืออะไร

“ขณะนี้เราไปให้ความสำคัญกับการลาออกหรือไม่ลาออกของตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเพียงวิธีการไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย การลาออกหรือไม่ลาออกของนายกฯ ไม่ได้หมายความว่าสังคมจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างหากร่างกายเราป่วยวิธีการคือกินยาชนิดใด เป้าหมายคือร่างกาย เราเป็นปกติหายป่วย แต่มียาให้เลือกเพียงสองขนานแล้วมาเถียงกันว่าขนานไหนจะทำให้ร่างกายหายป่วย อย่างนี้จะเถียงกันไม่จบสิ้น เกิดเป็นความขัดแย้ง ที่น่าพิจารณาคือ มีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่”

“เรื่องลาออก-ไม่ลาออกไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่สุด ความขัดแย้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดี โต้กันไปโต้กันมาแล้วเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้เราไม่ได้ใช้กระบวน การสันติ – สมานฉันท์ เรากำลังใช้ กระบวนการการต่อสู้ – เรียกร้อง เป็นการคิดวิธีการเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ร่วมคิดวิธีการด้วย เป็นการยื่นเงื่อนไขเพียงข้างเดียว “ฝ่ายหนึ่งบอกว่า นายกฯต้อง ลาออก ขณะที่ฝ่ายนายกยืนกรานว่ายังไงก็ไม่ออก” ส่วนว่าเมื่อลาออกแล้วจะทำอย่างไรต่อไปข้อนี้ยังไม่ชัดเจน”
“การมานั่งพูดคุยกันทั้งหมดอาจจะยังทำไม่ได้ทันที จุดนี้เป็นหน้าที่ของคนกลาง คนกลางอาจเข้าไปพูดกับฝ่ายหนึ่ง แล้วจึงไปพูดกับอีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะต้องทำหลาย ๆ รอบจนได้รับความไว้วางใจและเห็นลู่ทางชัดเจนขึ้น เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสมก็จะสามารถจัดให้ทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายมานั่งพูดคุยเจรจากันโดยตรง แล้วพยายามหาบทสรุปที่จะบรรลุจุดประสงค์ร่วมกันซึ่งมิใช่บนฐานของจุดยืนที่ขัดแย้งกันคือออกหรือไม่ออก ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สร้างความขัดแย้ง แพ้ -ชนะกันไปข้างหนึ่ง และไม่ใช่กระบวนการเจรจาหาข้อยุติร่วม ความจริงทางเลือกใหญ่ของนายกฯวันนี้มีด้วยกัน 3 ทาง คือ อยู่บริหารงานต่อไป ลาออก และยุบสภา หากเลือกทางหนึ่งทางใดใน 3 ทางนี้โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นจะเกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่จากความไม่พอใจของฝ่ายที่แพ้”

ดังนั้นต้องพยายามหาข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ทุกฝ่ายพอใจหรือรับได้ หากนายกฯบริหารประเทศต่อไปจะเพิ่มเงื่อนไขอะไร หรือ ถ้าลาออกจะต้องมีเงื่อนไขอะไร หรือหากเลือกยุบสภาจะทำอย่างไรให้เกิดสภาพที่แต่ละฝ่ายรับได้ อย่างนี้คือวิธีการบนแนวทางการเมืองสมานฉันท์ ซึ่ง อ.ไพบูลย์ย้ำเอาไว้ในบรรทัดถัดมาว่า “ทั้งสองฝ่ายหรือผู้เกี่ยวข้องต้องสมัครใจให้เกิดการพูดจาหาข้อตกลงโดยมีบุคคลอิสระช่วยทำหน้าที่ ‘คนกลาง’ ให้ การเจรจาถึงจะเกิดขึ้นได้ หากทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการเจรจาหรือไม่ต้องการคนกลางก็คงไม่มีใครจะเข้าไปทำให้เพราะจะทำไม่ได้ “ อ.ไพบูลย์ สรุป

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ
และวิทยาลัยการจัดการทางสังคม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/21444

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *