ภาคีความร่วมมือไทย – คานาดา : สู่สังคมสมานฉันท์

ภาคีความร่วมมือไทย – คานาดา : สู่สังคมสมานฉันท์


(5 มี.ค. 49) ไปร่วมสัมมนาจัดโดย มูลนิธิวิเทศพัฒนา (Development Cooperation Foundation หรือ DCF ซึ่งมีคุณวิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธาน ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ เป็นเลขาธิการ และ คุณนฤมล ลิม เป็นผู้อำนวยการ) ที่โรงแรม “Cabbages and Condoms Resort” ที่พัทยา ซึ่งเป็นของคุณมีชัย วีระไวทยะ
หัวข้อการสัมมนา คือ “Thai – Canada Partnerships : Toward Harmonised Societies” มีผู้เข้าร่วมสัมมนาปราณ 50 คน สัมมนากัน 1 วันครึ่ง (วันที่ 4 มีนาคมเต็มวัน และวันที่ 5 มีนาคมครึ่งวัน)
ผมตีความหัวข้อสัมมนาเป็นภาษาไทยว่า “ภาคีร่วมมือไทย – คานาดา : สู่สังคมสมานฉันท์” และให้ความเห็นไว้บางประการดังนี้
1. ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆจากต่างประเทศหลายแห่งรวมถึงประเทศคานาดา ซึ่งประเทศไทยและคนไทยควรต้องขอบคุณในความปรารถนาดีและการสนับสนุนจากต่างประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยควรพยายามพึ่งตนเองให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทำมากขึ้นแล้ว เช่น การมี “สถาบันพระปกเกล้า” พร้อมงบประมาณจากรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองการปกครอง การมี “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)” พร้อมงบประมาณจากรัฐเพื่อสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาประชาสังคม การมี “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” พร้อม “กองทุน” ที่ได้จากส่วนเพิ่มของภาษีสุราและบุหรี่ ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนสสส.นี้ สามารถสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาได้หลากหลายมาก รวมถึงการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และน่าจะรวมถึงการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ด้วย (ทั้งสองประเด็นนี้ คือ เรื่องที่ประเทศคานาดาได้ให้เงินช่วยเหลือต่อประเทศไทยผ่านมูลนิธิวิเทศพัฒนา และเป็นฐานที่มาของการจัดสัมมนาครั้งนี้) ดังนั้น ในอนาคต จึงน่าจะเป็นไปได้ที่จะพยายามให้ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน เช่น สสส. สำหรับโครงการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้าง “สังคมสมานฉันท์” (Harmomised Societies)  หรือ “สุขภาพทางสังคม” (Social Health)
2. ประเทศไทยควรยินดีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ปรารถนาดีหรือเป็นพันธมิตร เช่น ประเทศคานาดา ในการจัดการความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน ตลอดการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองที่ดี ทั้งนี้โดยใช้เงินสนับสนุนจากภายในประเทศไทยเอง และอาจมีบางส่วนที่เป็นการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรเช่นคานาดาด้วย (คาดว่าประเทศคานาดาจะยังคงสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาในระดับกลุ่มประเทศ หรือ ภูมิภาค (Regional) ต่อไป แม้ว่าจะลดการสนับสนุนสำหรับประเทศที่มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นแล้ว เช่น ประเทศไทย)
3. น่าจะมีความพยายามในประเทศไทย ที่จะให้เกิดกลไกทำนอง “เครือข่ายองค์กรเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย” (Network of Organizations for the Development of Democracy – NODD) ซึ่งอาจจะประกอบด้วย องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สถาบันพระปกเกล้า หน่วยราชการบางแห่ง องค์การมหาชนบางแห่ง สถาบันการศึกษาบางแห่ง องค์กรประชาสังคม (Civil Society Organizations) บางแห่ง องค์กรภาคประชาชน (People’s Organizations) บางแห่ง เป็นต้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
8 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/18022

<<< กลับ

 

“กระบวนการสันติ” และการเยี่ยม “พี่น้อง” ที่สนามหลวง

“กระบวนการสันติ” และการเยี่ยม “พี่น้อง” ที่สนามหลวง


(4 – 5 มี.ค. 49) ไปร่วมงานประชุมหารือกับ คุณจอน อึ๊งภากรณ์ (สมาชิกวุฒิสภาและผู้รับรางวัลแม็กไซไซคนล่าสุดของประเทศไทย) และคนอื่นๆอีกประมาณ 15 คน เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 49 เกี่ยวกับภาวะวิกฤตทางการเมืองและทางสังคม มีข้อสรุปเป็น “จดหมายเปิดผนึก” ของกลุ่มที่ไปร่วมประชุมหารือซึ่งลงใน นสพ.มติชน วันที่ 5 มี.ค. 49 หน้า 2 ดังนี้
จดหมายเปิดผนึกจากส.ว.-นักวิชาการ ถึงประชาชนชาวไทย-วอนใช้”สันติ”
เช้าวันนี้ (4 มีนาคม) บุคคลผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ ได้ร่วมกันปรึกษาหารือถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วยความห่วงใยว่าอาจจะเกิดความรุนแรง จึงมีความเห็นร่วมกันว่า
1.การชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และไม่ใช้กำลัง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย มีความชอบธรรม เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.การต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติที่เกิดขึ้น เป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทางการเมืองอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญ และเป็นเวทีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพลเมือง
3. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ และส่วนอื่นๆ พึงตระหนักในบทบาทของการส่งเสริมให้เกิดความสงบ สันติ และเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมือง โดยวางตัวเป็นกลางและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด
4.ขอให้ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มยึดมั่นในสันติวิธี และหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบ
5.ขอเรียกร้องต่อประชาชนไทยให้ร่วมกันตรวจสอบสื่อสารมวลชนทุกแขนง และร่วมกันสร้างสรรค์มาตรการเพื่อลงโทษสื่อที่บิดเบือน เลือกปฏิบัติ อาทิ การเชิญชวนให้งดเว้นการดู ฟัง และอ่าน หรืองดเว้นการซื้อสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อนั้น เป็นต้น
4 มีนาคม 2549
เกษม ศิริสัมพันธ์               จอน อึ๊งภากรณ์                  นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ         ทิชา ณ นคร                       ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
พระไพศาล วิสาโล            มาลี พฤกษ์พงศาวลี          รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
วิรัตน์ วัฒนศิริธรรม          ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์       สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
อมรา พงศาพิชญ์               ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
ไปเยี่ยม “พี่น้อง” ที่สนามหลวง
            ตอนเย็นของวันที่ 5 มี.ค. 49 ได้ไปเยี่ยม “พี่น้อง” ซึ่งชุมนุมกันอยู่ที่ ท้องสนามหลวง โดยอัดสำเนาข้อความดังต่อไปนี้ ไปเผยแพร่ด้วย
            “ผมสนับสนุน
            กระบวนการชุมนุมของกลุ่มประชาชน เพื่อแสดงความเห็นและเรียกร้อง
            อย่างสงบ สันติ อดทน อดกลั้น โดยใช้สติ ปัญญา ความดี ความรู้ เป็นพลังสำคัญ
            เพราะนี่คือกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและร่วมไตร่ตรอง ที่มีความชอบธรรมและเหมาะสม
ตามหลักการและเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 76 และอื่นๆ)
รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ถือปฏิบัติกันในประเทศที่ได้รับการพัฒนาทางการเมืองมากกว่าประเทศไทยอีกด้วย
ด้วยความปรารถนาดีต่อส่วนรวม
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  5 มีนาคม 2549”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
10 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/18423

<<< กลับ

“สันติวิธี” กับทางออกจากวิกฤตทางสังคมไทย

“สันติวิธี” กับทางออกจากวิกฤตทางสังคมไทย


(10 มี.ค. 49) ได้เขียนบทความหัวข้อ “‘สันติวิธี’ กับทางออกจากวิกฤตสังคมไทย” ส่งให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมกันในวันที่ 9 มี.ค.ซึ่งบางฉบับได้นำไปออกในรูปแบบ “On – line” ในวันที่ 9 มี.ค.นั้นเลย ได้แก่ นสพ.“คม ชัด ลึก” “ผู้จัดการ” และ “ข่าวสด”
มาวันนี้ (10 มี.ค.) ได้มีหนังสือพิมพ์เท่าที่เห็น 2 ฉบับ ลงบทความแบบไม่ตัดทอน คือ นสพ.ไทยโพสต์ (หน้า 1 และ 4) และนสพ.กรุงเทพธุรกิจ (หน้า 15)
จากบทความที่ลงทั้งแบบ “On – line” และแบบสิ่งพิมพ์ ทำให้สถานีวิทยุ 2 แห่ง และโทรทัศน์ 1 แห่ง ขอสัมภาษณ์และให้ไปออกรายการในประเด็นการใช้ “สันติวิธี” เพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตของประเทศไทย
ข้อความในบทความปรากฎดังนี้

“สันติวิธี” กับทางออกจากวิกฤตสังคมไทย
โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
“สันติวิธี” กับวิกฤตสังคมไทย
หลายฝ่ายได้ออกมาเรียกร้องหรือเสนอแนะให้ใช้ “สันติวิธี” ในการคลี่คลายภาวะ “วิกฤต” ของสังคมไทยในขณะนี้
รวมทั้งผมเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่ขอเรียกตัวเองว่า “นักสันติวิธี”
มี รศ.ดร.โคทม อารียา (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล) รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในสังกัดรัฐสภา) เป็นต้น
ส่วนผมเองเป็นประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
“ศูนย์คุณธรรม” มีพันธกิจในการส่งเสริม “ขบวนการคุณธรรม” ซึ่งย่อมรวมถึง “ขบวนการสันติวิธี” ไปด้วยโดยปริยาย เพราะ “สันติวิธี” ก็คือ “คุณธรรม” อย่างหนึ่งนั่นเอง
ประเทศไทยของเรากำลังประสบภาวะวิกฤต ทั้งทางการเมืองและทางสังคม ซึ่งถ้าคลี่คลายไม่ได้จะนำไปสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ
รวมถึงอาจเกิดการปะทะรุนแรง ถึงขั้น บาดเจ็บ ล้มตาย ทรัพย์สินเสียหาย ฯลฯ
กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลในดวงจิตของคนไทยและสังคมไทยอย่างน่าเศร้าเสียใจอีกครั้งหนึ่ง

“”“”“”

“สันติวิธี” เป็นสะพานสู่ทางออกจากวิกฤต
“สันติวิธี” จึงน่าจะเป็น “สะพานสู่ทางออก” จาก “วิกฤตสังคมไทย” ในปัจจุบัน
“สันติวิธี” มีได้ 2 แบบ คือ “แบบชั้นเดียว” และ “แบบสองชั้น”
“สันติวิธีแบบชั้นเดียว” คือ การเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ “ความรุนแรง” แต่มุ่งให้ได้ “ชัยชนะ” ของฝ่ายตน แบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อหิงสา” (Non-violence)
ส่วน “สันติวิธีแบบสองชั้น” ได้แก่การใช้วิธีการอันเป็นสันติ รวมถึงการพูดจาต่อรอง (Negotiation) เพื่อให้ได้ “ข้อตกลงร่วมกัน” ซึ่งเป็นที่พอใจหรือยอมรับได้ร่วมกันทุกฝ่าย แบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การสร้างสันติ” (Peace Building)
ถ้าประยุกต์หลักการและความหมายข้างต้นเข้ากับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้  จะเห็นว่ามี “คู่ขัดแย้ง” อยู่ 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายรัฐบาลรักษาการ (2) ฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้าน (3) ฝ่ายชุมนุมเรียกร้อง (ให้นายกฯทักษิณ ลาออกและเว้นวรรคทางการเมือง)
ทั้ง 3 ฝ่ายกำลังใช้ “สันติวิธีแบบชั้นเดียว” คือ ไม่ใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือทางอาวุธ แต่มีการใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีตลอดจนกลอุบายต่างๆที่กล่าวหาหรือกดดัน หรือสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้เพื่อให้ฝ่ายตนได้รับ “ชัยชนะ”
ควรใช้ “สันติวิธีแบบสองชั้น”
ยังไม่มีฝ่ายใดพยายามใช้ “สันติวิธีแบบสองชั้น” คือ หาทางพูดจาต่อรองเพื่อให้ได้ “ข้อตกลงร่วมกัน” โดยอาจจะมีหรือไม่มี “คนกลาง” ช่วยด้วยก็ได้
“คนกลาง” ในกระบวนการสันติวิธีนี้ ยังมีได้ 2 แบบหลักๆ คือ (1) แบบช่วย “เอื้ออำนวย” (Facilitating) คือช่วยประสานเชื่อมต่อ (เช่น พูดกับฝ่ายนั้นทีฝ่ายนี้ที เพื่อนำเข้าสู่การพูดจาต่อรองอย่างพร้อมหน้าเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม)  ช่วยจัดกระบวนการ ช่วยดำเนินการประชุม ฯลฯ
คนกลางแบบที่ (2) คือ ช่วยเป็น “ร่มบารมี” ให้คู่กรณีได้มาพูดจากันในบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการปรองดองกันได้ง่ายขึ้น คนกลางแบบนี้มักเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้อาวุโส” หรือ “ผู้มีตำแหน่งฐานะ” ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง
กรณีความขัดแย้งทั่วไป  อาจใช้คนกลางแบบใดแบบหนึ่งก็เพียงพอ  แต่ในบางกรณีที่มีความยากและซับซ้อนหรือละเอียดอ่อนมากๆ อาจอาศัยคนกลางทั้ง 2 แบบ ร่วมกันก็ได้
สมมุติว่า ทั้ง 3 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้  ยอมหันหน้ามาพูดจากัน และสมมุติด้วยว่า  สามารถตกลงหาบุคคล ซึ่งเห็นชอบหรือยอมรับร่วมกันมาช่วยทำหน้าที่ “คนกลาง” ให้
คำถามต่อไปคือ “จะมีทางตกลงกันได้หรือ?” ในเมื่อคู่ขัดแย้งมี “จุดยืน” ที่สวนทางกันอย่างชัดเจน
เป็นหน้าที่ของ “คนกลาง” ที่จะพยายามชวนให้ทุกฝ่ายละวาง “จุดยืน” ของตนแล้วมุ่งหา “จุดประสงค์” ร่วมกัน
เช่น จุดประสงค์ร่วมกัน อาจได้แก่ “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความเจริญสุขร่วมกัน” หรืออาจตั้งจุดประสงค์ร่วมกันว่าเพื่อสนองต่อพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ทั้งนี้ “สันติวิธี” จะไม่พยายามค้นหา ว่าใครถูกใครผิด หรือใครดีใครไม่ดี แต่จะพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งสู่ข้อตกลงร่วมกันเป็นหลัก
เมื่อได้จุดประสงค์ร่วมกันแล้ว ขั้นต่อไปคือพยายามหา “วิธีการ” สู่การบรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน
การพูดจาต่อรองในเรื่องที่ยากและซับซ้อนเช่นวิกฤตการเมืองและสังคมไทยครั้งนี้  คงต้องใช้เวลาให้มากพอ  แต่ถ้าตกลงจุดประสงค์ร่วมกันได้แล้ว  การค้นหาวิธีการมักจะเป็นไปได้ในที่สุด

“ชุดวิธีการ” ที่จะช่วยให้ออกจากวิกฤต
ซึ่ง “วิธีการ” ที่ว่านั้น คงจะเป็น “ชุดวิธีการ” คือมีหลาย ๆ อย่างที่ตกลงกันว่าจะทำพร้อมกันไป
ผมจะลองใช้จินตนาการว่า อาจบรรลุข้อตกลงเป็น “ชุดวิธีการ” เช่น ทำนองนี้
1. ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549
2. ให้ กกต. และกลไกต่าง ๆ พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
3. ให้มีการหาเสียงหรือรณรงค์อย่างเปิดเผยเป็น 2 ฝ่ายหลัก  คือ ฝ่ายขอให้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย  (หรือพรรคอื่นที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง) และฝ่ายขอให้งดเว้นการออกเสียง (เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาหรือไม่เห็นชอบต่อ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี)
4. พตท.ทักษิณ ชินวัตร ตกลงและประกาศ จะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อาจจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจยังคงเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หรือเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค
5. รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 จะเป็นรัฐบาลและสภาฯชั่วคราว มีหน้าที่หลักคือ  (1) การดูแลให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามปกติ (2) การดูแลและดำเนินการเกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง 60 ปี ครองราชย์ (3) การดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่จะทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ภายในประมาณสิ้นปี 2549 โดยเป็นที่เห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย
6. การแก้ไขปรับปรุงส่วนอื่นๆของรัฐธรรมนูญ ให้ทำภายหลังมีการเลือกตั้งครั้งใหม่(ประมาณปลายปี 2549)  แล้ว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของส่วนต่างๆของสังคมอย่างกว้างขวาง  ซึ่งมากกว่า 3 ฝ่าย ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่
7. ให้ทั้ง 3 ฝ่าย ละเว้น จากการบริภาษ ยั่วยุ เสียดสี หรือการให้ร้ายอย่างไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายอื่นๆ
8. ให้ฝ่ายชุมนุมเรียกร้องยุติการชุมนุม  ฝ่ายรัฐบาลรักษาการสนับสนุนให้สื่อทุกประเภทมีอิสระในการดำเนินงาน และฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้านประกาศจะเข้าเสนอตัวในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายหลังการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแล้ว
ที่ผมลองจินตนาการดูข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่าง หรือ“ตุ๊กตา” ให้เห็นว่า น่าจะมีทางบรรลุข้อตกลงได้ ถ้าได้พูดจาต่อรองกันโดยมีคนกลางช่วยเอื้ออำนวย และมีจุดประสงค์ที่ได้พิจารณาเห็นชอบร่วมกันเป็นตัวตั้ง

“”            1.             2.             3.             4.            5.             6            7.             8.

สู่การปฏิรูประบบคุณธรรม สังคม และการเมือง
ส่วนคำว่า “ส่วนต่างๆของสังคม” ที่ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะรวมถึง (1) ภาคชุมชนฐานราก (ประชาชน ชาวบ้าน ทั้งในชนบทและในเมือง) (2) ภาคธุรกิจ (3) ภาควิชาการ
ทั้งนี้ โดยถือว่า (4) “ภาคประชาสังคม” (Civil Society) (5) ภาคการเมือง ฝ่ายรัฐบาล (6) ภาคการเมืองฝ่ายค้าน นั้น รวมอยู่ในคู่ขัดแย้ง 3 ฝ่าย ซึ่งต้องร่วมในกระบวนการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
รวมแล้วจึงเป็น 6 ฝ่ายหรือ 6 ภาคส่วนของสังคม ที่ควรมีบทบาทร่วมกันในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ
นอกจากแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แล้ว ผมยังเห็นว่าทั้ง 6 ฝ่าย น่าจะร่วมกันศึกษาพิจารณา ประเด็นที่ใหญ่กว่า และสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

นั่นคือ ประเด็นว่าด้วย “การปฏิรูประบบคุณธรรม สังคม และการเมืองไทย”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
10 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/18465

<<< กลับ

บทบาทของภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองในปัจจุบัน

บทบาทของภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองในปัจจุบัน


(12 มี.ค. 49) ไปร่วมประชุมชน เรื่อง “บทบาทของภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองในปัจจุบัน” จัดโดย (1) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล (ดร.โคทม อารียา เป็นผู้อำนวยการ) (2) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา (ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นผู้อำนวยการ) (3) ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า (นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นผู้อำนวยการ) (4) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ดร.อมรา พงศ์ศาพิชญ์ เป็นผู้อำนวยการ) และ (5) เครื่อข่ายพุทธิกา ทั้งนี้ โดยความเอื้อเฟื้อด้านสถานที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดร.โคทม อารียา เป็นประธาน)
ผู้ดำเนินการประชุม คือ ดร.โคทม อารียา โดยมีผู้เริ่มอภิปรายซึ่งนั่งบนเวทีอีก 3 คน ได้แก่ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ดร.อมรา พงศ์ศาพิชญ์ และผม (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ซึ่งเป็นประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)
ทางผู้จัดการประชุมในอัดสำเนาบทความที่ผมเขียน เรื่อง “‘สันติวิธี’ กับทางออกจากวิกฤตสังคมไทย” แจกผู้เข้าประชุมด้วย ผู้เข้าประชุมมาจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมเป็นหลัก รวมประมาณ 50 คน
ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันหลากหลาย รวมถึงการใช้กระบวนการ “สันติวิธี” การมี “คนกลาง” ช่วยเอื้ออำนวยและหรือเป็น “ร่มบารมี” ฯลฯ
ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญและน่าสนใจเป็นพิเศษ คือข้อเสนอให้บุคคลในภาควิชาการ (คณาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ) มีบทบาทในเรื่องการให้ข้อมูล ความรู้ การเผยแพร่ความรู้รวมถึงข้อเท็จจริงและความเป็นจริงต่างๆ ตลอดจนการจัดการความรู้ ให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งคณาจารย์มหาวิทยาลัยก็กระจายตัวทั่วประเทศอยู่แล้ว อันเป็นวิธีช่วยให้ประชาชนทั่วประเทศโดยเฉพาะประชาชนฐานรากมีความรู้ความเข้าใจเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปในสังคม ทั้งเป็นการปูพื้นฐานที่ดีให้กับการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เป็นอารยะ เจริญ ก้าวหน้า และมั่นคง ไปพร้อมกัน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
14 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/19021

<<< กลับ

การจัดทำแผนพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย

การจัดทำแผนพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย

(13 มี.ค. 49) ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำแผนพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) (เจ้าของรื่องคือ “คณะอนุกรรมการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย”)
ได้ให้ความเห็นว่า วิสัยทัศน์ หรือ พันธกิจ ของการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย น่าจะเป็นการมุ่งให้บัณฑิตทุกคน “ทำความดี มีความสุข และพัฒนาความสามารถ” อยู่เป็นประจำ แทนการระบุว่า มุ่งให้บัณฑิตเป็น “คนเก่ง คนดี มีความสุข” ที่นิยมใช้กัน
และเสนอแนะว่า “แผนพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย” จะประสบความสำเร็จด้วยดี หากมี (1) จินตนาการ (2) ขบวนการ และ (3) การจัดการ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
เก็บตกจากการประชุม : “ความรู้” ควรอยู่ในอุ้งมือแห่ง “ความรัก”

ไพบูลย์วัฒนศิริธรรม
16 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/19277

<<< กลับ

วิกฤตความขัดแย้งและการระงับความขัดแย้งในสังคมไทย

วิกฤตความขัดแย้งและการระงับความขัดแย้งในสังคมไทย


(14 มี.ค. 49) ไปบรรยายหัวข้อ “วิกฤตความขัดแย้งและการระงับความขัดแย้งในสังคมไทย” ให้กับนิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตชั้นปีที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย เป็นคณบดี) จำนวน 235 คน ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา “กฎหมายกับสังคม”
การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาดูงาน “กฎหมายกับความเป็นจริงในสังคม” ระหว่างวันที่ 14 – 17 มี.ค. 49 ซึ่งเป็นโครงการที่จัดเป็นประจำทุกปี และในปีนี้จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตซึ่งศึกษากฎหมายได้เรียนรู้สภาพความเป็นจริงของกฎหมายในแง่มุมต่างๆ อาทิ กฎหมายกับการพัฒนาประเทศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการระงับข้อพิพาท ตลอดปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เหมาะสมของกฎหมาย และปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ
ในการบรรยายได้อาศัย PowerPoint ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ประกอบการบรรยาย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

16 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/19315

<<< กลับ

การฟื้นฟูพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ประสบภัยสึนามิชายฝั่งอันดามัน

การฟื้นฟูพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ประสบภัยสึนามิชายฝั่งอันดามัน


(15 มี.ค. 49) ไปร่วมประชุม “Advisory Committee Meeting for Japan Social Development Fund for Tsunami” จัดโดยสำนักงานธนาคารโลก ณ ประเทศไทย (Mr. Ian Porter เป็น Country Director คุณภมรรัตน์ ตันสงวนวงศ์ 0-2686-8361 เป็นผู้ประสานงานสำหรับกิจกรรมนี้)
ภายใต้  Japan Social Development Fund for Tsunami ได้มี Implementing Partners ภายใต้ 3 โครงการดังต่อไปนี้
1. JSDF 1 : The Population and Community Development Association (สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน), The Local Development Institute (สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา)/ Civil Society of Satun (ประชาคมสตูล), The Chumchonthai Foundation (มูลนิธิชุมชนไทย)
2. JSDF 2 : The World Vision Foundation of Thailand (มูลนิธิศุภนิมิตร)
3. JSDF 3 : The Asia Foundation (มูลนิธิอาเซีย)
ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น จะสำเร็จด้วยดีและอย่างยั่งยืน ถ้าใช้หลักการสำคัญ คือ
Area–based, Community–driven, Collaborative, Holistic, Continuing Development
เก็บตก : ควรเรียกกลุ่มคนที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็น “คนไทย” แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ว่า “คนถิ่นพลัด” ไม่ใช่ “คนพลัดถิ่น”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
17 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/19665

<<< กลับ

เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง


(15 มี.ค. 49) ไปร่วมประชุมที่จัดโดย “เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง” (คุณจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ประสานงาน) ร่วมกับ “คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา” (นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน)
วัตถุประสงค์ของการประชุม คือ “เพื่อให้ทุกฝ่ายที่ให้ความเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ได้มาพบปะกันเพื่อร่วมกันเสนอทางออกของวิกฤตในปัจจุบัน รวมถึงการหาแนวทางในการสร้างเครือข่ายร่วมกันในการดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปสังคมและการเมืองในระยะยาว เป็นการรวมพลังความคิด พลังปัญญา พลังประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพและเกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
ได้เสนอความเห็นว่า วิกฤตของประเทศไทยในขณะนี้ อาจแบ่งได้เป็น
1. วิกฤตระยะสั้น         ซี่งเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร
2. วิกฤตระยะยาว        เป็นวิกฤตของประเทศโดยรวม ที่ได้สะสมความไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุล ทางการเมือง ทางสังคม ทางคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนทางเศรษฐกิจ และ ทางวิถีชีวิตโดยทั่วไป
ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการมี “เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง” เพื่อมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะคลี่คลาย “วิกฤตระยะยาว” ดังกล่าวในข้อ 2 และนำพาประเทศไทยและสังคมไทยไปในทิศทางของการพัฒนาที่ดี สมดุล และยั่งยืน ต่อไป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
17 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/19666

<<< กลับ

การส่งเสริมการทำความดีอันเนื่องจากวันสำคัญต่างๆในรอบปี

การส่งเสริมการทำความดีอันเนื่องจากวันสำคัญต่างๆในรอบปี


(17 มี.ค. 49) เป็นประธานการประชุม จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) เพื่อหารือระดมความคิดเกี่ยวกับ การส่งสริมการทำความดีอันเนื่องจากวันสำคัญต่างๆในรอบปี โดยเฉพาะวันวิสาขบูชา ซึ่งจะมาถึงในเวลาอีกไม่นาน (12 พ.ค. 49)

ที่ประชุมระดมความคิดได้หลากหลายและเป็นความคิดดีๆซึ่งแปลงเป็นข้อเสนอเบื้องต้นให้ดำเนินโครงการ 9 โครงการ ดังนี้
1. โครงการบันทึกการทำความดีระหว่างเข้าพรรษา
2. โครงการสัปดาห์ระดมธรรมเพื่อสันติสุข เทศกาลวันวิสาขบูชาโลก
3. โครงการคืนวิถีชีวิตชาวพุทธให้สังคมไทย
4. โครงการ 90 ล้านความดี 60 ปีทรงครองราชย์สันติภาพสู่ดวงใจ (หรือโครงการ 9 ล้านความดี ถวายในหลวง)
5. โครงการการประกวดโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ (เยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง) (กำลังดำเนินการอยู่แล้ว)
6. โครงการเขียนความดีจากใจถวายในหลวง
7. โครงการความดีรอบตัวที่ฉันเห็น
8. โครงการขบวนการก่อการดี (เน้นเยาวชนโดยอาศัยตัวดี-เดี๋ยวเป็นรูปธรรมในการสื่อ)
9. โครงการพัฒนาองค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องในโอกาส 100 ปีท่านพุทธทาสเพื่อสังคมไทย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
21 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/20189

<<< กลับ

ความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริจาคช่วยสังคมโดยบริษัทธุรกิจ

ความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริจาคช่วยสังคมโดยบริษัทธุรกิจ


(17 มี.ค. 49) ร่วมประชุมหารือที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริจาคช่วยสังคมโดยบริษัทธุรกิจ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ศ.หิรัญ รดีศรี ประธานที่ปรึกษา Corporate Governance Center และคุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการและประธานศูนย์ระดมทุน) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือ
            ที่ประชุมได้พูดถึงประเด็นซึ่งเกี่ยวพันกันอยู่หลายส่วน รวมถึง
            · บรรษัทภิบาลที่ดีหรือ “ธรรมาภิบาลธุรกิจ” (Good Corporate Governance)
· ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยบริษัทธุรกิจ (Corporate Social Responsibility – CSR)
· การบริจาคช่วยสังคมโดยบริษัทธุรกิจ (Corporate Philanthropy หรือ Corporate Giving)
· สภาพที่เป็นอยู่ สภาพที่พึงปรารถนา และวิธีการสู่สภาพที่พึงปรารถนา
ได้ให้ความเห็นว่า แนวทางการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริจาคช่วยสังคมโดยบริษัทธุรกิจ น่าจะประกอบด้วย
1. การเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Networking)
2. การจัดการข้อมูลและความรู้ (Information and Knowledge Management)
3. การสร้างและการเผยแพร่ความรู้ (Knowledge Creation and Dissemination)
4. การหนุนแนะให้มีนโยบายที่ดี (Policy Advocacy) ในระดับ และรูปแบบต่างๆ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรม
21 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/20194

<<< กลับ