หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (1)

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (1)


(เอกสารประกอบการอภิปราย หัวข้อ “ Reshaping Economic Development with Gross National Progress Index ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ An International Conference “Asia : Road to New Economy” จัดโดย The Nation และ Asia News Network ที่โรงแรม Plaza Athenee เมื่อ 21 สิงหาคม 2552)

 

หลักการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

หลักการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีทั้งหมด 7 หลัก

  1. คิดเอง ทำเอง คือ การสร้างตัวชี้วัดที่ควรเป็นเรื่องของแต่ละชุมชนและแต่ละท้องถิ่น ตัวชี้วัดที่ราชการคิดขึ้นมาเช่น จปฐ. เป็นตัวชี้วัดที่ดี แต่ชาวบ้านไม่ได้คิดเอง การใช้ประโยชน์จึงน้อย กลายเป็นว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เก็บข้อมูลให้ราชการ แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนในตำบล (หน่วยที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบขั้นพื้นฐานของท้องถิ่น มี อบต. / สภาองค์กรชุมชน ที่เป็นกลไกของประชาชนในการปกครองตนเอง) ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลไกกับระบบราชการกลาง (ราชการส่วนภูมิภาคเชื่อมต่อกับท้องถิ่น) สังคมไทยเราการทำงานส่วนท้องถิ่น + ราชการภูมิภาค ยังไม่เชื่อมโยงการทำงาน เรากำลังเน้นเรื่องการทำงานของท้องถิ่น และภาคประชาชน (อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน) ดังนั้นตัวชี้วัดแต่ละตำบลต้องคิดเอง ทำเอง และสามารถจะเรียนรู้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆได้ แต่สุดท้ายชุมชนต้องตัดสินใจเอง ในที่สุด อะไรที่ชุมชนคิดเอง ทำเองจะถูกนำมาใช้ประโยชน์
  2. ร่วมมือ รวมพลัง ในท้องถิ่นมีหลายกลุ่ม / องค์กร ขบวนชุมชนท้องถิ่นต้องมีการร่วมมือ รวมพลังกันภายใน จึงจะสามารถได้รับความร่วมมือ กับ อบต. ราชการภูมิภาค สถาบันการศึกษา NGO เอกชน พ่อค้า นักธุรกิจ ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจถ้าจัดการเชื่อมโยงให้ดีสามารถจะมีบทบาทได้มาก เช่นที่จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ต้นแบบ OTOP เป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งมาก และมีการจัดการที่ดีจนมีชื่อเสียง ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกลไกการทำงาน แต่จะต้องมีการเชื่อมโยงปรัชญา แนวคิด เป้าหมาย การเชื่อมโยงกับธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก หรือแม้กระทั่งนักการเมืองหากมีบทบาทที่เหมาะสมก็จะมีความสำคัญมากเช่นกัน ดังนั้นการให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันได้จึงเป็นการดีที่สุด คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันอย่างเป็นมิตรอย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ชุมชนเป็นสุข
  3. อะไรก็ได้ เมื่อมาร่วมคิด ร่วมทำตัวชี้วัด ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว อาจจะศึกษาจากพื้นที่อื่นได้ แต่ไม่ใช่การเลียนแบบ ให้พิจารณาร่วมกันว่าอะไรดี อะไรเหมาะสมและใช้ฉันทามติเป็นตัวตัดสินใจร่วมกัน เช่น เมืองชีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา มีการกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาที่ประชาชนมาร่วมกันกำหนดแล้วขอให้เทศบาลนำไปดำเนินการพัฒนา ประชาชนจะคอยติดตามผล ตัวอย่างตัวชี้วัด เช่น จำนวนปลาแซลมอนที่อยู่ในแม่น้ำ แสดงถึงคุณภาพของสภาพแวดล้อม หรือในบางพื้นที่ของบ้านเราเช่นที่บ้านจำรุง จังหวัดระยอง ในการดูคุณภาพดินให้ดูจากจำนวนไส้เดือนในดิน และมีการเปรียบเทียบปีต่อปี ดังนั้นเรื่อง เป้าหมายและตัวชี้วัดจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องเลือก จะเป็นอะไรก็ได้ที่คนในชุมชนพอใจร่วมกัน โดยเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาอยู่ที่ความสุข หรือ “อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” อยู่กันสบาย สงบ สันติ ร่มเย็น ตรงข้ามกับอยู่ร้อน นอนทุกข์ และไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ แต่เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน ดิน น้ำ ป่า เป็นความสุขที่ไม่ไปสร้างความทุกข์ให้คนอื่น มีความสุขจากการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันอย่างพอเพียง มีการปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจดี “ความสุขร่วมกัน” จึงสามารถเป็นเป้าหมายร่วมของคนในตำบลได้ ซึ่งการที่ผู้คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร จังหวัด ประเทศตลอดจนสังคมโลก จะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้นั้น จะต้องมีเสาหลักคอยค้ำจุน เป็นเสาหลักของการสร้างความเจริญ มั่นคง แข็งแรง และ“อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ให้กับผู้คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร จังหวัด ประเทศ ตลอดจนสังคมโลก โดยเสาหลักนั้นประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ความดี ความสุข และความสามารถ

 

ความดี ความสามารถทำให้มีความสุขและมีความสามารถจึงทำอะไรให้งานสำเร็จได้ ผลการพัฒนาต้องนำไปสู่ความสุข ความสุขจะอยู่ได้ไม่นานถ้าขาดความดีและความสามารถ ดังนั้นทั้ง 3 เสาหลักจึงพึ่งพา เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และควรต้องมีทั้ง 3 เสาหลักให้มากพอและอย่างได้ความสมดุล

เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในโลก สิ่งที่ทำให้เกิดคือ ความโลภ การแก่งแย่งแข่งขัน อยากรวย อยากใหญ่โต อยากมีกำไร เกินขอบเขต การสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนวางใจว่าจะช่วย แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยง ธุรกิจในอเมริกาจึงได้ล้มละลายและขยายไปทั่วโลกด้วยสาเหตุว่าความดีบกพร่อง ความดีจึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่อสังคมและต่อเศรษฐกิจ

  1. คิดจริง ทำจริง ต้องตั้งใจและจริงจังกับความคิด คิดได้แล้วให้ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์ เพราะในโลกนี้ไม่มีความสมบูรณ์ และความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนให้เข้าใจและพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
  2. เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่ลงมือทำ อาจเทียบเคียงกับตำบลอื่น ๆด้วย ทบทวนเหตุการณ์เพื่อเรียนรู้และพัฒนาต่อไป แบบที่อาจเรียกว่า “วงจรการพัฒนา” ซึ่งได้แก่( 1) คิดหรือวางแผน (2)ลงมือปฏิบัติ (3) วัดผลหรือประเมินผล และ(4) ปรับปรุงพัฒนา   ทั้ง 4 ข้อนี้ทำให้ เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

การเรียนรู้และพัฒนาเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง เหมือนกับพระต้องพิจารณาตนเอง เพื่อการปรับปรุงตนเอง การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดก็เช่นกัน คิดไป ทำไป วัดผลประเมินผลไป และปรับปรุงพัฒนาไป   ก็จะเกิดการปรับปรุงพัฒนาตัวชี้วัดให้ดีขึ้นเรื่อยๆแม้เมื่อตอนเริ่มต้นอาจไม่ดีนัก

  1. ร่วมสร้างขบวนการ เป็นการขยายผลให้ครอบคลุมระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ จึงต้องใช้พลังและความพยายาม บทบาทนักวิชาการจะมีเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ระดับตำบล เพราะมีหน่วยงานหลายหน่วยงาน ในระดับตำบล เช่น อนามัย สาธารณสุข เกษตร การศึกษา บทบาทของหน่วยงานที่มีข้อมูลในระดับตำบลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และมีการใช้ระบบสารสนเทศ( IT) เข้ามาช่วยสนับสนุนตัวชี้วัดของชาวบ้านได้ การสร้างขบวนการเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างกว้างขวาง และให้ได้ผล มีหลักสำคัญเพื่อใช้ในการสร้างขบวนการ คือ N K C P M

N = Network                    เครือข่าย การเชื่อมโยง

K = Knowledge               ความรู้ ข้อมูล การศึกษาวิจัย การจัดการความรู้

C = Communication       การสื่อสาร สื่อต่าง ๆ  สื่อท้องถิ่น วิทยุ โทรทัศน์

P = Policy                         นโยบายระดับท้องถิ่น /จังหวัด /ประเทศ กฎหมาย /ข้อบังคับ /การจัดสรรงบประมาณ ที่เอื้ออำนวยหรือไม่เป็นอุปสรรค

M = Management            การบริหารจัดการที่ดี มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

  1. แข็งขัน บันเทิง ต้องคิดและทำอย่างเอาใจใส่ มีความจริงจัง พร้อมกับมีความสุข ไม่ร้อนรนและเร่งรีบ ต้องทำไปแล้วมีความสุขด้วย เช่น รูปธรรมของคุณแหลม ชาวนาที่ยโสธร ทำงานพัฒนาต้องมีความสุขเพราะทำเรื่องดี ๆ

 

 

กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

 

ในการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีกระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน เปรียบเหมือนการเดินขึ้นบันได 5 ขั้น คือ

  1. มีเป้าหมายที่ดีและชัดเจน เป้าหมายร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ คือประชาชนในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเราต้องร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ดีและชัดเจนโดยถามตนเองว่า เป้าหมายเราดีไหม ชัดเจนไหม ที่สำคัญคือเราต้องรวมพลังกันให้ได้ เรื่องที่ทำจะง่าย แต่จะยากถ้าเราเห็นไม่ตรงกันหรือมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น
  2. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดีและชัด หมายถึง เราต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมาย กุญแจสำคัญคืออะไร มีกุญแจอยู่ 3 ดอก เพื่อไขไปสู่ความสำเร็จหรือเสาหลัก 3 ต้น ที่จะค้ำยันให้องค์กรชุมชนมั่นคง หรือกงล้อ 3 กงล้อ ที่จะหมุนไปเรื่อย ๆ ได้แก่

1) ความดี ถ้าเราปราศจากความดี จะไม่เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ความดี คือการทำสิ่งที่เป็นคุณ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ     และสร้างศักยภาพที่จะทำดีในตนเองและชุมชน

2) ความสามารถ เราอาจจะดี แต่ถ้าไม่สามารถก็ไม่ดี เราต้องคิดเป็น คิดเก่ง มีความสามารถในการทำ ทำได้ ทำเป็นในเรื่องต่างๆ เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ขนม ทำนา เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทำการค้า ทำธุรกิจ

3) ความสุข ความสุขในที่นี้ คือ สุขภาวะ หรือภาวะที่เป็นสุข ทั้งทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณหรือปัญญา และความสุขทางสังคมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ที่เริ่มจากในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในชุมชน ในตำบล ในองค์กร ไปจนถึงในสังคม

 

ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างตัวชี้วัด เราต้องสร้างตามหลัก 3 ข้อนี้ ซึ่งเพื่อให้รู้ว่า ถ้าจะให้มีความดีนั้นดูได้จากอะไร มีความสามารถด้านใดบ้าง เช่น ถ้าเรามีกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งมีการจัดการที่ดี เราก็นำมาเป็นตัวชี้วัดความสามารถได้  ส่วนความสุข ถ้าเราจะดูความสุขทางกายเราก็อาจจะดูจากการเจ็บป่วย ถ้าจะดูความสุขทางใจอาจจะดูจากคนที่มีสุขภาพจิตดี   ดูความสุขทางสังคมก็อาจดูจากความสุขของครอบครัว ซึ่งเราต้องเลือกเพียงบางตัวที่เป็นประโยชน์ เพื่อตอบเป้าหมายใหญ่ให้ได้ รวมแล้วประมาณ 10-20 ตัวก็พอ เพราะถ้าทำเรื่องหนึ่งได้ดีจะหมายถึงเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องก็จะดีด้วย มันจะสะท้อนกันและกัน เราจึงไม่ต้องวัดทุกเรื่อง แต่เลือกเพียงบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและสามารถวัดได้ ถ้าสำคัญแต่วัดไม่ได้หรือวัดได้ยาก ก็ไม่ควรเลือก เช่นเรื่องที่เป็นนามธรรมหลายเรื่องมีความสำคัญแต่วัดได้ยากมาก

การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัด นี้ แต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางพื้นที่อาจจะมีคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ต้องเหมือนกันทีเดียว

  1. มีวิธีการที่จะได้ตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระบุได้ว่าจะมาจากแหล่งใด โดยวิธีการใด ฯลฯ
  2. มีวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้ผลตามตัวชี้วัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่นวิธีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อสำรวจดูสิ่งที่ดีๆที่เรามีอยู่แล้ว หรือทำได้ดีอยู่แล้ว ว่ามีอะไรบ้าง หรือจะศึกษาเพิ่มเติมเรียนรู้จากที่อื่นก็ได้ ที่เขาทำแล้วได้ผลดี เราสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้ได้จากทั้งทางงานวิจัย การศึกษาดูงาน การเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจากการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ และนำมาพิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไรหรือมีวิธีการอะไรที่เราจะนำมาปรับปรุงพัฒนากันต่อให้ดียิ่งขึ้นได้

ตัวอย่างธนาคารคนจนที่ชื่อธนาคารกรามีน ( Grameen Bank) ที่บังคลาเทศ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ประชาชนเป็นเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (กว่า 90%) สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริง ทุกสัปดาห์เขาจะมาประชุมกัน ก่อนประชุมเขาจะมีการกล่าวปณิธาน16 ข้อ บอกว่าเราจะมุ่งมั่นทำอะไรบ้าง เราจะไม่ทำอะไรบ้าง นั่นคือเขาทำความดี เขาสร้างความสามารถ และเขามีความสุข   ธนาคารแห่งนี้ดำเนินงานมาดีมากจนผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส (Dr.Muhammad Yunus) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2549

  1. มีการติดตามผลที่ดีและเหมาะสม คือ ต้องวัดผล เช่น สภาองค์กรชุมชนฯ ทำงานมา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ผลการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดมความคิด หาทางทำงานให้ดีขึ้น อะไรที่ดีหรือสำเร็จก็ขยายผลต่อ อะไรไม่ดีก็หาวิธีการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การติดตามผลจึงเป็นการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/291505

<<< กลับ

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (2)

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (2)


สรุปเป้าหมาย ตัวชี้วัด การพัฒนาของขบวนชุมชนท้องถิ่น  ต.บ้านเลือก  อ.โพธาราม  จ.ราชบุรี

(ฉบับปรับปรุงจากเวที วันที่ 29 ก.ค. 52 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง) ดังนี้

       เป้าหมาย ตัวชี้วัด วิธีได้ตัวชี้วัด วิธีบรรลุเป้าหมาย

(ที่สำคัญ)

1. คนในตำบลมีสุขภาพแข็งแรง

 

 

1. จำนวนผู้ป่วยในตำบลลดลง (โรคเบาหวาน ความความดันโลหิตสูง ไข้เลือดออก) สถิติผู้ป่วยรายเดือนจากสถานีอนามัยและโรงพยาบาลโพธาราม 1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพโดยกลุ่ม อสม.ร่วมกับสถานีอนามัย

2. อสม.ร่วมกับสถานีอนามัยออกหน่วยเคลื่อนที่ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ครอบครัว และคนในชุมชน มีการตรวจสุขภาพพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

2. คนในตำบลมีความสามัคคี

 

 

2. จำนวนโครงการ/กิจกรรมของชุมชนที่สำคัญที่สำเร็จด้วยความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ(เช่น จัดขบวนสงกรานต์ (ฟื้นเวียง) กิจกรรมวันแม่ ฯลฯ) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญของชุมชน (เช่น จัดขบวนสงกรานต์ (ฟื้นเวียง) กิจกรรมวันแม่ ฯลฯ) 1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์คนในตำบลเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน

วิธีการ

–  เดินเคาะประตูบ้าน

–  ให้ตรงต่อเวลานัดหมาย

–  เน้นจิตสำนึกการมีส่วนร่วม

3. คนในตำบลมีรายได้และชีวิตที่มั่นคง

 

 

3. การออมในชุมชนเพิ่มขึ้น

4. หนี้ที่เป็นปัญหาลดลง

5. จำนวนครอบครัวที่ตกเกณฑ์ จ.ป.ฐ. ไม่มี/หรือลดลง/ที่เกินเกณฑ์มีเพิ่มมากขึ้น

1. สถิติการเงินจากทุกกลุ่มกองทุนในชุมชนทั้งข้อมูลสมาชิกที่มีการออมเงินในกองทุนชุมชนและจำนวนเงินออมต่อครัวเรือนในกองทุนชุมชน

2. ข้อมูล จปฐ.ของชุมชน

1. สร้างอาชีพเสริมขึ้นในชุมชนโดยกลุ่มกิจกรรมในชุมชน

2. รณรงค์ในเรื่องของการออมโดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในทุกหมู่บ้านรวมทั้งพัฒนาให้เข้มแข็งมีความน่าเชื่อถือเชื่อมโยงเป็นสถาบันการเงินระดับตำบล

4. คนในตำบลมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและตำบล

 

6. การมีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญของขบวนชุมชน จำนวนผู้มีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญของขบวนชุมชน  ประกอบด้วย

1.  กลุ่ม อสม.

2.  กลุ่มผู้สูงอายุ

3.  กองทุนหมู่บ้าน

4.  กลุ่มสตรี

5.  กลุ่มเยาวชน

6.  ประชาคม

(ข้อมูลจากกลุ่มทั้งตำบลอย่างน้อย 10 กลุ่ม) ประมวลสรุปทุก 6 เดือน

1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนในตำบลเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มและแก้ไขปัญหา

2. เชิญภาคีที่รับผิดชอบเข้าร่วมการประชุม

5. ตำบลปลอดยาเสพติด

 

 

7. จำนวนคดียาเสพติดลดลง

8. จำนวนผู้ติดยาเสพติดลดลงและหรือไม่มีผู้เสพใหม่

1. สถิติจาก สถานีตำรวจภูธรโพธาราม

2. ข้อมูลจากการสอบถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุก 3 เดือน

1. สร้างเครือข่ายเยาวชนในตำบล

2. จัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น กีฬา อาชีพ วาดภาพ ดนตรี ฯลฯ

3. การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อ แม่ เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มผู้ติดยาเสพติด

4. ประสานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก

5. ตรวจติดตามกลุ่มเสี่ยงยาเสพติด

6. เป็นตำบลที่อนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น(ฟื้นเวียง)

 

 

9. ประเพณีลาวเวียงมีความคงอยู่ มีความดีและมีการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม จำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีฟื้นเวียงประจำปีของชุมชน 1. ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในชุมชนพาเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญในชุมชน

2. รณรงค์เรื่องการแต่งกาย / ภาษา ในการเข้าร่วมกิจกรรม

3. ใช้ภาษาท้องถิ่นจัดเสียงตามสายในชุมชน

4. ตั้งกลุ่มดนตรีพื้นบ้าน และวัฒนธรรมแต่งกายท้องถิ่น (ลาวเวียง)

7. ผู้นำมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีคุณธรรม มีความคิดสร้างสรรค์และเสียสละ

 

10. มีผู้นำคนรุ่นใหม่มาร่วมกิจกรรมงานพัฒนาของชุมชนร่วมกับสภาองค์กรชุมชนเพิ่มมากขึ้น

11. ผู้นำมีคุณภาพสูงขึ้นทั้งในมิติความดี ความสามารถ และความสุข

 

 

1. การประเมินตนเองของผู้นำตามแบบประเมินภาวะผู้นำที่สภาองค์กรชุมชนจัดทำขึ้นโดยจัดประเมินตามกลุ่มผู้นำใน4ส่วน (คือ ผู้บริหารท้องถิ่น/ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน/ องค์กรชุมชนและสภาฯ/ คนรุ่นใหม่) ทุก 6 เดือน

2. การสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในบทบาทของผู้นำชุมชนท้องถิ่น ของกลุ่มต่างๆ (คือ ผู้บริหารท้องถิ่น/ ท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน/ องค์กรชุมชนและสภาฯ/ คนรุ่นใหม่) ตามแบบสอบถามที่จัดทำขึ้นทุก 6 เดือน

1. จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนระดับหมู่บ้าน (สภาผู้นำ) และมีเวทีปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาผู้นำทั้งภายในและนอกชุมชนต่อเนื่อง

2. จัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อติดตามงานสม่ำเสมอ

3. สร้างรูปธรรมความสำเร็จในกิจกรรมงานพัฒนาร่วมกันของผู้นำในชุมชน/ ตำบล

8. คนในตำบลมีสวัสดิการชุมชนที่ดี

 

 

12. คนในตำบลเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม สวัสดิการชุมชนเพิ่มขึ้น

13. กองทุนสวัสดิการชุมชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น

14. คนในตำบลทุกเพศทุกวัยได้รับสวัสดิการที่ชุมชนจัดขึ้น

สถิติการดำเนินงานด้านสวัสดิการจากทุกกองทุน กลุ่ม/ องค์กร ในชุมชน จัดประมวลดูความก้าวหน้าทุก 3 เดือน 1. จัดตั้งสถาบันการเงินฯ ระดับตำบลและรณรงค์ขยายจำนวนสมาชิกกองทุนให้ครบทุกครอบครัวในชุมชน

2. รณรงค์ให้มีการจัดสวัสดิการให้ครบทุกประเภทของกลุ่มองค์กรการเงินและกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในตำบล

3. เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนกับกองทุนอื่นๆ ในชุมชน

9. กลุ่ม องค์กรชุมชน ในตำบลบ้านเลือกมีความเข้มแข็ง

 

 

15. มีกลุ่ม องค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น

16. มีกลุ่ม องค์กรชุมชนที่ต้องฟื้นฟูความเข้มแข็งลดลง

ข้อมูลจากจากเวทีการวิเคราะห์ความเข้มแข็งกลุ่ม องค์กร ต่างๆ ในชุมชนของสภาองค์กรชุมชนตามกรอบเครื่องมือที่สภาองค์กรชุมชนจัดทำขึ้น (จัดเวทีปีละ 2 ครั้ง) 1. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานความเข้มแข็งของแต่ละประเภทกลุ่ม กลุ่ม องค์กรชุมชน

2. ประเมินความเข้มแข็งของแต่ละกลุ่ม

3. การประสานหน่วยงานต่างๆมาสนับสนุนการพัฒนาหนุนเสริมกิจกรรมกลุ่ม

4. มีการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนในระดับตำบล

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/293233

<<< กลับ

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (3)

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (3)


 

สรุปเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาของขบวนชุมชนท้องถิ่น  ต.หนองพันจันทร์  อ.บ้านคา  จ.ราชบุรี

(ฉบับปรับปรุงจากเวที วันที่ 29 ก.ค. 52 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง) ดังนี้

       เป้าหมาย ตัวชี้วัด วิธีได้ตัวชี้วัด วิธีบรรลุเป้าหมาย

(ที่สำคัญ)

1.  คนในตำบลมีฐานะมั่นคง มีความสุข 1. การออมเงินของครัวเรือนในกองทุนต่างๆของหมู่บ้านและตำบลมีเพิ่มมากขึ้น

2. ครัวเรือนที่เป็นหนี้ก่อทุกข์ (หนี้สินที่เป็นปัญหา)  มีจำนวนลดลง   จนมั่นใจว่าสามารถปลดหนี้ (ที่เป็นปัญหา) ได้

3. มีจำนวนคนตกเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ลดลง

 

1. สำรวจสถิติเงินออมรายเดือนของครัวเรือน ในกองทุนต่างๆ ของครัวเรือน  และสถิติครัวเรือนที่มีการออมสม่ำเสมอ

2. สำรวจสถิติหนี้สินของครัวเรือนในกองทุนต่างๆ

3. ข้อมูลจากการสำรวจสถิติข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.)

1. จัดกิจกรรมรณรงค์ครอบครัวตัวอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยการจัดทำบัญชีครัวเรือน การลดรายจ่าย  การเพิ่มรายได้ และการดำรงชีพตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีการจัดกิจกรรมการออมเงินมากขึ้น รณรงค์ ให้ใช้หลักการจัดสรรรายได้ 70 : 30  คือ รายได้  100  บาท  ใช้จ่ายในครัวเรือน  70  บาท  อีก  30  บาท  เป็นเงินออม

2. ใช้สถิติข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) จากข้อมูลรายได้  เพื่อนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์หาแนวทางการวางแผนการดำเนินกิจกรรม

 

2.  ตำบลสีขาว  ปลอดอบายมุขและ
ยาเสพติด
4. คดีที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข หรือยาเสพติด น้อยลง

 

สำรวจสถิติจากสถานีตำรวจ  คดีที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข  และยาเสพติดทุก 3 เดือน 1. รณรงค์ ลด ละ เลิก อบายมุข และยาเสพติด

2. ส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายให้กับประชาชน

3. ผู้นำสภาองค์กรชุมชนตำบลและผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นเป็นคนคุณภาพมีความเข้มแข็ง 5. คุณภาพผู้นำ ที่มีทั้งความดี (มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความ ซื่อสัตย์ เสียสละ โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล) มีความสามารถ และมีความสุข เพิ่มขึ้น 1. ประมาณการนับจำนวนผู้นำที่เข้าร่วมกิจกรรมงานพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง ทั้งในการกำหนดวิธีการ ร่วมรับผิดชอบการดำเนินงาน และติดตามแก้ไขปัญหาในแต่ละประเด็นงานของชุมชน

2. การสำรวจประเมินภาวะผู้นำชุมชนท้องถิ่น ตามแบบประเมินที่สภาองค์กรชุมชนจัดทำขึ้น

1. มีการประชุมปรึกษาหารือเรื่องราวของชุมชนเป็นประจำ

2. นำผลการสำรวจประเมินภาวะผู้นำชุมชนท้องถิ่นมาสะท้อนกลับปรับปรุงและพัฒนาภาวะผู้นำ

4. อนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม 6. กิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมของตำบลหนองพันจันทร์เกิดเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คนมีความภาคภูมิใจ ประมาณการนับจำนวนผู้มีส่วนร่วมในการให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในตำบล ในแต่ละครั้ง 1. จัดประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำ ให้เป็นประเพณีท้องถิ่นประจำปี

2. การประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดประเพณีวัฒนธรรม

5. มีการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีการจัดภูมิทัศน์ที่สวยงาม  ดูแล้วเกิดความรักในธรรมชาติและมีความรักความผูกพันในชุมชนท้องถิ่น 7. พื้นที่ ป่าไม้ในตำบลที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นมีจำนวนพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น

8. จำนวนครัวเรือนที่มีส่วนร่วมในการจัดภูมิทัศน์ให้ชุมชนหนองพันจันทร์ มีความร่มรื่น มีความสวยงามเช่นการปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับ ริมถนน บริเวณหน้าบ้าน บริเวณสถานที่สาธารณสมบัติของชุมชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

1. สำรวจสถิติจำนวนพื้นที่ป่ารวมทั้งตำบล ทั้งพื้นทีป่าธรรมชาติและพื้นที่ป่าที่มีการปลูกต้นไม้ที่รวมกันเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถดูแลรักษาไว้ไม่ให้ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และดูแลไม่ให้คนล่าสัตว์ป่า

2. ประมาณการนับจำนวนสถิติของสมาชิกในชุมชนที่มีการให้ความร่วมมือ มีส่วนร่วมปรับภูมิทัศน์ของชุมชนทั้งการปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับ ริมถนน บริเวณบ้าน บริเวณสถานที่สาธารณสมบัติของชุมชน

1. ส่งเสริมการปลูกป่า ในวันสำคัญต่าง ๆ

2. สนับสนุนให้กลุ่มองค์กรชุมชนจัดกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับสมาชิกในชุมชน

3. จัดกิจกรรมให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

4. รณรงค์ให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมในการจัดภูมิทัศน์ชุมชนหนองพันจันทร์ให้มีความร่มรื่น มีความสวยงาม เช่นปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับริมถนน บริเวณหน้าบ้าน บริเวณสถานที่สาธารณสมบัติของชุมชน

6. กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย องค์กรชุมชนในตำบลเข้มแข็ง 9. มีกลุ่ม องค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น

10. มีกลุ่ม องค์กรชุมชนที่ต้องฟื้นฟูความเข้มแข็งลดลง

ประมวลข้อมูลกลุ่ม องค์กรชุมชนจากจากเวทีการวิเคราะห์ความเข้มแข็งกลุ่ม องค์กร ต่างๆ ในชุมชนของสภาองค์กรชุมชนตามกรอบเครื่องมือที่สภาองค์กรชุมชนจัดทำขึ้น (จัดเวทีวิเคราะห์ปีละ 2 ครั้ง) 1. ทำแผนพัฒนากลุ่มองค์กรในตำบล

2. ประสานแผนงานความร่วมมือกับท้องถิ่น และองค์กรภายนอก

3. พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้มีความสามารถจัดการเรียนรู้ ถ่ายทอด วิธีการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มแต่ละประเภท และให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่/ ชุมชน

7. คนในตำบลมีสุขภาพอนามัยที่ดี 11. คนในชุมชนที่มีความเจ็บป่วย ด้วยโรคร้ายแรงมีจำนวนลดลง

12. จำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมดูแลสุขภาพมากขึ้น

 

1. สำรวจสถิติ คนในชุมชนที่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงจากสถานีอนามัยตำบล และโรงพยาบาลบ้านคา

2. ประมาณการนับจำนวนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมด้านสุขภาพชุมชน เช่นเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม อสม.

1. มีการจัดกิจกรรมการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

2. ส่งเสริมให้คนในชุมชนออกกำลังกายเ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/293250

<<< กลับ

แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11

แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11


(สรุปคำอภิปราย “แนวคิด ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ในการประชุมประจำปี 2552 เรื่อง “จากวิสัยทัศน์ 2570…สู่แผนฯ 11” วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

 

เป็นการนำเสนอตัวชี้วัดความสำเร็จและกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา  ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและโครงสร้างที่เอื้ออำนวย กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน และการวางแผนในลักษณะเคลื่อนที่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ภาพรวมของการวางแผน การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านมา มีการอภิวัตน์หรือการปรับปรุงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 มีการเพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาสังคมเข้าไปในแผน และในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนอย่างสูงมาก ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 นี้ น่าจะถึงเวลาที่ควรมีการอภิวัตน์การวางแผนอีกครั้ง โดยควรเปลี่ยนชื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น “แผนพัฒนาประเทศ” เพื่อให้เป็นการวางแผนที่ครอบคลุมทุกเรื่องที่สำคัญอย่างเป็นบูรณาการ ไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น และควรให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและแก้ไขปัญหา
  2. ตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา และกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา
    • ตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา ควรมีตัวชี้วัด “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ใน 4 ส่วนอย่างได้ดุล ดังนี้
  • ในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ตำบล เทศบาล จังหวัด
  • ในองค์กรที่คนมาทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน
  • ในประเด็นสำคัญที่ภาคประชาชนร่วมกับภาครัฐเห็นว่าสำคัญ
  • ระดับประเทศ

ปัจจุบัน สศช. จัดทำตัวชี้วัดเฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น สำหรับตัวชี้วัดข้อ 1 และ 2 ควรให้ประชาชนสร้างตัวชี้วัดเอง ตลอดจนใช้ตัวชี้วัดเพื่อการวางแผน การจัดการ การปฏิบัติ ติดตามผล และปรับปรุงพัฒนาด้วยชุมชนเองจึงจะเกิดผล

  • กงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนา
  • ความมีสุขภาวะ ทางกาย ทางใจ ทางปัญญา ทางสังคม
  • ความดี ได้แก่ การทำสิ่งเป็นคุณ ไม่ทำสิ่งเป็นโทษ สร้างศักยภาพที่จะทำดี
  • ความสามารถ ในการคิด ในการทำ ในการจัดการ

ดังนั้น การสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา จึงควรวัดผลที่แสดงความมีสุขภาวะ การมีความดี การมีความสามารถ เป็นสำคัญ

  1. ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา และโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

3.1  ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ เช่น ตำบล เทศบาล จังหวัด
  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน อาทิ สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา เป็นต้น
  • ประชาชนและภาครัฐที่ร่วมกันดูแลจัดการประเด็นที่เห็นร่วมกันว่าสำคัญ เช่น ภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น

3.2    โครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา

(1)  โอนอำนาจการจัดการพัฒนาพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์และบูรณาการ รวมถึงการมีจังหวัดที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ตามรัฐธรรมนูญ

(2)  ยังคงมีผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมสำนักงานเล็กๆ มีหน้าที่ประสานนโยบายส่วนกลางกับ อบจ. และกลุ่มจังหวัด

  1. กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน
    • กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชน โดยการจัด “สานเสวนาประชาชน” (Citizen Dialogue) ให้ครบทุกส่วนของประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากแต่ละส่วน ได้แก่
  • ประชาชนในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ตำบล เทศบาล จังหวัด (เชิงท้องถิ่น)
  • ประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน (เชิงองค์กร)
  • ประชาชนและภาครัฐที่ร่วมกันดูแลจัดการประเด็นที่เห็นร่วมกันว่าสำคัญ (เชิงประเด็น)
    • ภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน ดังนี้

(1)  ภาครัฐ หมายรวมถึง รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ

(2)  ประชาชน หมายรวมถึง ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนองค์กร ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม (Civil Society) องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่ม ชมรม เครือข่าย ฯลฯ

(3)  ภาครัฐมีส่วนร่วม หมายรวมถึง ร่วมในกระบวนการวางแผน ในการปฏิบัติตามแผน ในการวัดผลและเรียนรู้เพื่อปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

(4)  ภาครัฐสนับสนุน หมายรวมถึง สนับสนุนกระบวนการวางแผน สนับสนุนการปฏิบัติตามแผน ตลอดจนการวัดผลเพื่อเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนด้วยโครงสร้าง กลไก กฎหมาย นโยบาย มาตรการ งบประมาณ ฯลฯ ที่เหมาะสม

  1. การวางแผนในลักษณะ “เคลื่อนที่” (Moving Plan) เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อถึงเวลาใช้แผน ทำให้แผนดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นๆ อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 10 จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่มีการ “เคลื่อนที่” (Moving) ซึ่งหมายถึง การทบทวนแผน (Review) หรือ “วางแผนใหม่” (Replan) ทุก 2 ปี พร้อมการ “เคลื่อนที่” ไปข้างหน้า 2 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

5.1  แผนระยะสั้น ระยะเวลา 2 ปี นับจากปัจจุบัน เน้นจุด “คานงัด” สำคัญในการเคลื่อนสู่แผนระยะกลางอย่างน่าพึงพอใจ ตัวอย่างเช่น การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีจินตนาการและสร้างสรรค์เพื่อผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว การสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและการเมืองด้วยกระบวนการสันติวิธี การสร้างความเจริญสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและมีบทบาทสำคัญ เป็นต้น

5.2  แผนระยะกลาง ระยะเวลา 6 ปี เน้นยุทธศาสตร์ (Strategy) และแผนงานสำคัญ (Program)

5.3  แผนระยะยาว ระยะเวลา 12 ปี เน้นผลสำเร็จสุดท้ายอันพึงปรารถนาร่วมกัน (หรือวิสัยทัศน์) และทิศทางสำคัญในการบรรลุผลสำเร็จสุดท้าย

ดังนั้น เมื่อรวมระยะเวลาของแผนทั้ง 3 ระยะแล้ว จะเป็นระยะเวลาในการวางแผนทั้งหมด 20 ปี ซึ่งสำหรับการวางแผนแล้ว ระยะเวลา 20 ปี หรือแม้กระทั่ง 50 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่ยาวนานหรือไกลเกินไป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/293263

<<< กลับ

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์


(สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม  ลงในหนังสือรายงานประจำปี พ.ศ. 2552)

“ศูนย์คุณธรรม”  ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลากว่า 5 ปี  ได้ใช้กระบวนการ  “ขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม”  เป็นหลักในการส่งเสริมคุณธรรมความดีในสังคมไทย รวมถึงในการดำเนินชีวิต ในครอบครัว ในชุมชน ในองค์กร และในสังคมโดยรวม  ปรากฏเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจและเป็นรูปธรรมกระจายไปอย่างกว้างขวางในชุมชน องค์กร สถาบัน และอื่นๆ  ทั่วประเทศและในหลายรูปแบบ  โดยที่ยังมีข้อบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ และความขัดข้องต่างๆอยู่ด้วย  ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของงานที่ใหญ่ สำคัญ สลับซับซ้อน และมีความยาก  เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ  เช่น การส่งเสริมสุขภาพ  การส่งเสริมประชาธิปไตย การส่งเสริมธรรมาภิบาล เป็นต้น

ขณะนี้ “ศูนย์คุณธรรม” กำลังอยู่ในสภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือสภาวะเปลี่ยนผ่าน  โดยได้เปลี่ยนจากองค์กรที่มีความเป็นอิสระและมีความคล่องตัวพอสมควร ภายใต้การกับกับดูแลห่างๆจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้  (สบร.)  ซึ่งเป็นองค์การมหาชน  มาเป็นหน่วยงานภายในของ สบร. ซึ่งมีความเป็นอิสระและความคล่องตัวลดลงจากเดิมมาก  ขณะเดียวกันก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้  “ศูนย์คุณธรรม”  เป็นองค์การมหาชนอีกองค์การหนึ่งทำนองเดียวกับตัว สบร. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนและมีความเป็นอิสระคล่องตัวตามเจตนารมณ์ของ  พรบ. องค์การมหาชนอยู่แล้ว

ในสภาวะของการ “เปลี่ยนผ่าน” ดังกล่าว  ผมจึงมีข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในความพยายามที่จะให้ “ศูนย์คุณธรรม” สามารถดำเนินภารกิจได้อย่างประสบความสำเร็จดีที่สุด  ดังต่อไปนี้

1.  สถานภาพขององค์กร  ศูนย์คุณธรรมควรมีสถานภาพที่มีความเป็นอิสระและมีความคล่องตัวเทียบเท่าองค์การมหาชน  เช่น สบร. พอช. สสส. ฯลฯ  ด้วยเหตุผลซึ่งควรชัดเจนอยู่ในเจตนารมณ์ของ พรบ.องค์การมหาชน  และเป็นเหตุผลเดียวกันกับในการจัดตั้ง สบร. พอช. สสส. ฯลฯ เป็นองค์การมหาชน

2.  ประธานและคณะกรรมการ  ควรมีระบบการสรรหาประธานและคณะกรรมการ  “ศูนย์คุณธรรม” อย่างพิถีพิถัน  เพื่อให้มีบุคคลที่จะเป็นเสาหลักที่มั่นคงพร้อมกับสามารถชี้ทิศทางสำคัญควบคู่กับการกำกับดูแลอย่างแข็งขันให้กับการดำเนินงานของศูนย์ฯได้อย่างต่อเนื่อง

3.  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่  มีความสำคัญมาก  โดยเฉพาะผู้บริหารสูงสุด  จึงควรมีกระบวนการสรรหาที่พิถีพิถันเช่นเดียวกับการสรรหาประธานและคณะกรรมการ  รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสมด้วย

4.  เป้าหมายขององค์กร  ควรมีเป้าหมายที่เข้าใจง่ายและชัดเจน  ซึ่งเรื่อง  “การส่งเสริมคุณธรรม” คือการ “ส่งเสริมความดี” และ “ความดี” อาจอธิบายง่ายๆว่าประกอบด้วย  (1) การทำสิ่งที่เป็นคุณ  (2) การไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ  (3) การสร้างศักยภาพที่จะทำดี  (4) การสร้างทัศนคติละเว้นสิ่งที่ไม่ดี

5.  วิธีดำเนินงาน  ข้อนี้สำคัญมากหรือมากที่สุด  จะต้องมีวิธีดำเนินงานซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะสร้างพลังขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างกว้างขวาง  ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อการนี้อาจประกอบด้วย

5.1  ยุทธศาสตร์หลัก  ได้แก่การขับเคลื่อน  “ขบวนการส่งเสริมความดี” ใน “องค์กร” และใน “ชุมชน”  ซึ่ง “องค์กร” หมายถึงกลไกที่บุคคลมารวมตัวกันประกอบการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  ได้แก่ องค์กรธุรกิจ องค์กรภาครัฐ องค์กรศาสนา สถาบันการศึกษา องค์กรสาธารณประโยชน์ ฯลฯ  ส่วน “ชุมชน” คือ พื้นที่หรือกลไกที่กลุ่มคนมีวิถีชีวิตและหรือมีกิจกรรมร่วมกันอยู่เป็นประจำ  มีความผูกพันเกี่ยวข้อง  ตลอดจนมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกระทบต่อกันและกัน  โดยทั่วไปได้แก่  (1) “ชุมชนท้องถิ่น” ซึ่งมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง เช่น หมู่บ้าน ตำบล ย่าน กลุ่มบ้าน กลุ่มท้องถิ่น เขต อบต.  เขตเทศบาล เขตจังหวัด ฯลฯ  และ (2) “ชุมชนกิจกรรม” ซึ่งมีกิจกรรมเป็นตัวตั้ง  เช่น ชุมชนกลุ่มข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนศิลปวัฒนธรรม ชุมชนเครือข่ายอาสาสมัคร เป็นต้น  และในระหว่าง “ชุมชน” 2 ประเภท นี้ “ชุมชนท้องถิ่น” ถือว่าสำคัญที่สุดเพราะกระจายครอบคลุมพื้นที่และประชากรทั่วประเทศ

5.2  ยุทธศาสตร์สนับสนุน  ควรประกอบด้วยพลังและปัจจัยที่จะหนุนนำและหนุนเนื่องให้ “ยุทธศาสตร์หลัก” ประสบความสำเร็จด้วยดี  ยุทธศาสตร์สนับสนุนที่สำคัญได้แก่  (1) นโยบายรวมถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลแห่งชาติ ขององค์กรภาครัฐ และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของ “ศูนย์คุณธรรม”  (2) การสื่อสารสาธารณะที่มีพลังและมีประสิทธิภาพทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น  (3) การวิจัยและการจัดการความรู้ที่เหมาะสมและเพียงพอ  (4)  การสร้างเครือข่ายเชื่อมประสาน “องค์กร” “ชุมชน” และขบบวนการต่างๆในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมความดีให้เกิดพลังร่วมและพลังหนุนเสริมซึ่งกันและกันอย่างมีคุณภาพและอย่างต่อเนื่อง  และ (5) การพัฒนาองค์กร “ศูนย์คุณธรรม” ให้มีครบทั้ง “ความดี” “ความสามารถ” และ “ความสุข” อย่างเพียงพอ สมดุล และบูรณาการ

ผมเชื่อว่า หากสามารถนำข้อคิดเห็นดังกล่าวข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในการจัดตั้ง “ศูนย์คุณธรรม” ในฐานะองค์กรที่มีสถานภาพแบบใหม่  หรือแม้แต่ในสถานภาพการดังเช่นปัจจุบันก็ตาม  น่าจะช่วยให้การดำเนินภารกิจอันสำคัญและทรงคุณค่าของ “ศูนย์คุณธรรม” มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จดีขึ้นอย่างแน่นอน

ในโอกาสนี้ ใคร่ขอให้กำลังใจคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ของ “ศูนย์คุณธรรม”  ว่าที่ได้พยายามทำมาในอดีตนั้น ถือว่าได้ทำดีมี่สุดแล้ว และหวังว่าจะสามารถทำได้ดียิ่งๆขึ้นต่อไปในอนาคต  ดัวยการพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ สร้างความเห็นที่เป็นฉันทามติร่วมกัน  แล้วใช้ความ “รู้ รัก สามัคคี”  เป็นพลังขับเคลื่อนงานของ “ศูนย์คุณธรรม” ไปสู่ความสำเร็จที่มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจได้ในที่สุด

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ธันวาคม  2552

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/319589

<<< กลับ

ส.ค.ส. ปี 53

ส.ค.ส. ปี 53


 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/321259

<<< กลับ

แผนชุมชนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน

แผนชุมชนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน


(คำบรรยายเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การวางแผนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  จัดโดย  ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ณ ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์  วันที่ 30 พฤษภาคม 2551)

                ท่านคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ท่านวิทยากร เพื่อนๆ พี่น้องที่รักและเคารพทุกคนครับ  ผมยินดีและดีใจที่ได้มาร่วมในการสัมมนาสำคัญที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จัดขึ้น  ครั้งแรกก็แปลกใจหน่อยว่า เกี่ยวกันอย่างไร สถาปัตยกรรมศาสตร์กับการวางแผนเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่ยั่งยืน  แต่เมื่อทราบว่าสิ่งหนึ่งที่มีการเรียนการสอนกันที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็คือ เรื่องของการวางแผนพัฒนาเมือง การวางผังเมือง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เรียนที่สอนกันในสถาบัน โดยเฉพาะในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น  ซึ่งเดิมนั้นการวางผังเมืองก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย แต่ตามแนวทางการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดมอบหมายอำนาจหน้าที่นี้ไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การวางผังเมืองกับเรื่องของการวางแผนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน อาจจะไม่เหมือนกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เกี่ยวข้องและควรจะเกี่ยวข้อง  ที่แล้วมาเป็นปัญหาเพราะว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้การวางผังเมืองก็เป็นการวางผังเมืองไป การพัฒนาท้องถิ่นก็พัฒนาไป ไม่ได้เกี่ยวกันหรือไม่ได้เกี่ยวกันอย่างสนิทชิดเชื้ออย่างผสมกลมกลืน หรือที่เราเรียกว่าอย่างบูรณาการ  มิหนำซ้ำ การวางผังเมืองยังขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเป็นหลัก แม้จะมีการรับฟังความเห็นจากท้องถิ่น ก็ยังไม่ใช่เป็นเรื่องของท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อท้องถิ่น  ส่วนเรื่องการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นมีคนเกี่ยวข้องอยู่ ๓ ฝ่าย ฝ่ายที่ ๑ เบื้องต้นก็คือราชการส่วนภูมิภาค ด้วยเหตุว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบรวมศูนย์มาช้านาน ราชการส่วนภูมิภาคเป็นเครื่องมือของราชการส่วนกลาง มีหน้าที่ไปวางแผนพัฒนาท้องถิ่น ฉะนั้นคนที่อยู่ในท้องถิ่นจึงอยู่ในสภาพที่เรียกว่าถูกพัฒนามาโดยตลอด คือไม่ได้เป็นผู้พัฒนา ถูกพัฒนาเพราะราชการส่วนกลางมอบหมายราชการส่วนภูมิภาคให้ไปพัฒนาท้องถิ่น บางครั้งราชการส่วนกลางก็ลงไปพัฒนาเสียเอง เป็นการพัฒนาจากภายนอก  ดำเนินการมาช้านาน

                จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๘ ที่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สังคม และท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นจึงเริ่มมีบทบาทในการวางแผนพัฒนาตนเองชัดเจนขึ้น และชุมชนที่มีความริเริ่ม มีความกล้าหาญสามารถดำเนินการไปก็มีตัวอย่าง เช่น ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช  คุณลุงประยงค์ รณรงค์ ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นผู้ที่บุกเบิกการพัฒนาท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่น เพื่อคนในท้องถิ่น แต่เป็นส่วนน้อยมาก  ฉะนั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ คือช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ ๘ ก็อาจกล่าวได้ว่า ได้เริ่มระบบของการพัฒนาท้องถิ่นที่คนท้องถิ่นมีส่วนมีบทบาทร่วมด้วย ถึงเรียกว่าเป็น “ชุมชนร่วมพัฒนา” จากเดิมที่ถูกพัฒนาก็ได้ร่วมพัฒนา จากความริเริ่มของชุมชนที่พยายามพัฒนาตนเอง วางแผนเอง และมีกรรมวิธีในการวางแผนที่ละเอียด ศึกษาจากข้อมูลข้อเท็จจริง เก็บข้อมูลอาจไม่ใช่แบบหลักวิชาทางสถิติ หรือใช้แผนที่ภูมิศาสตร์ แบบสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เป็นการเก็บข้อมูล เช่น รายได้-รายจ่ายครัวเรือน ทรัพย์สิน-หนี้สิน ผลหมากรากไม้ที่มีอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติ  ก็ใช้สามัญสำนึก ชุมชนเข้ามาร่วมพัฒนาวางแผนพัฒนาชุมชน  การริเริ่มนั้นได้มีชุมชนอีกหลายแห่งได้รับรู้ เรียนรู้ ประยุกต์ใช้การพัฒนาทำให้การวางแผนชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ขยายวงกว้างขึ้นๆ

                ต่อมาในช่วงแผน ๙ และแผน ๑๐ ความคิดในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้โดดเด่นขึ้นมา แผน ๙ กำหนดให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง  แผน ๑๐ ตอกย้ำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ยิ่งรัฐบาลที่แล้วก็เป็นรัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียงก็ตอกย้ำเข้าไปอีก และชุมชนหลายแห่งได้ก้าวหน้าถึงขั้นที่สามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้อย่างมีหลักการ มีวิธีการ มีกระบวนการ กำหนดเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หลายแห่งก็ใช้ภาษาสมัยใหม่ เช่น ยุทธศาสตร์ (เดิมเค้าไม่ใช้กัน) ชาวบ้านก็เรียนรู้เร็ว เดี๋ยวนี้ใช้ภาษา อังกฤษกันเยอะ เช่น ดิฉันเป็น Board อยู่ที่นั่น ทีแรกก็ฟังเป็น Board อะไร  ตาบอดรึอะไรบอด เป็น Board ก็เป็นกรรมการ  Board คือกรรมการ  ชาวบ้านใช้กันเพราะเดี๋ยวนี้รัฐบาลนิยมใช้ภาษาต่างประเทศ  อาจจะเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนหน้าโน้น  แม้กระทั่งชื่อสถานีโทรทัศน์ เขาก็ใช้ภาษาต่างประเทศ  Modern Nine  เดี๋ยวนี้ก็มี NBT  แต่ฉบับของประชาชนก็เป็นภาษาไทย ทีวีไทยทีวีสาธารณะ  เป็นภาษาไทยมีภาษาบาลีด้วย

                ในช่วงแผน ๑๐ ประกอบกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำแผนชุมชนได้ก้าวหน้าถึงขั้นที่มีตัวอย่างดีๆ ให้ดูเยอะเลย  ตำบลที่สามารถทำแผนชุมชนได้ดีนับเป็นพันตำบล มีเครือข่าย เช่น ที่เขาเรียกตัวเองว่าเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง ๔ ภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายของประชาชน ดำเนินการโดยภาคประชาชน มีหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์การมหาชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ช่วยเป็นผู้อำนวยความสะดวกเป็นฝ่ายเลขานุการให้  แต่เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาคก็ดำเนินการเอง  มีการจัดให้มีการเรียนรู้ ขยายผล  มีศูนย์เรียนรู้ขยายวงออกไปมาก  แล้วไปต่อเชื่อมกับขบวนการของชาวบ้าน  เป็นเรื่องสวัสดิการชุมชนจัดระบบสวัสดิการกันเอง โดยใช้เงินออมของตนเองไม่ได้ใช้เงินจากรัฐ  แต่มีรัฐบาลที่เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง รวมทั้งราชการส่วนกลางบางแห่งเห็นว่าที่ชาวบ้านมีสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องดี  จึงนำงบประมาณไปสมทบเพื่อให้การจัดสวัสดิการชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ขยายวงก้าวหน้า

                ลักษณะเช่นนี้ทำให้เรื่องของชุมชนกับการวางแผนมาถึงขั้นที่ผมเรียกว่า “การที่ชุมชนเป็นผู้พัฒนา” คือพัฒนาปรับเปลี่ยนจากเป็นผู้ถูกพัฒนา คิดเอง ทำเอง จัดการเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความก้าวหน้าด้านนี้ยังคงดำเนินอยู่  ล่าสุดมีการออกพระราชบัญญัติมารองรับและสนับสนุนการรวมตัวกันของภาคประชาชนที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน และได้เกิดสภาองค์กรชุมชนอย่างเป็นทางการแห่งแรกที่ตำบลศรีสว่าง อำเภอควนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าประชุมทางการในที่สาธารณะเมื่อสัก ๒ เดือนมานี้ ผมก็ไปร่วมกับเค้าด้วยเพราะเชื่อว่าจะมีสภาองค์กรชุมชนเกิดขึ้นตามมา  ซึ่งสภาองค์กรชุมชนเป็นกรอบเป็นแนวทางทำให้ประชาชนที่รวมตัวกันเป็นองค์กรจำนวนมากนับหมื่นทั่วประเทศสามารถที่จะจัดระบบตนเองได้ดียิ่งขึ้น  ภายใต้ชื่อสภาองค์กรชุมชนคือ การรวมเป็นเครือข่ายขององค์กรชุมชนโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้งในระดับตำบล  และสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรส่วนท้องถิ่น กับราชการส่วนภูมิภาค กับหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรสาธารณะประโยชน์ภาคประชาสังคม เป็นต้น  การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายไม่ได้แปลว่าจะกันตัวเองออกจากคนอื่น  ที่จริงแล้วต้องประสานกับคนอื่น  สรรพสิ่งในโลกเกี่ยวพันกันหมด  การพัฒนาที่ดีคือ การพัฒนาที่ประสานเชื่อมโยงสอดคล้องบูรณาการซึ่งกันและกัน  ไม่ควรเป็นการพัฒนาที่แยกกันหรือสู้กัน  การพัฒนาการเมืองไทยปัจจุบันในลักษณะของการสู้กันพัฒนาได้ยาก  ต้องเชื่อมโยงกัน  เราจัดกลุ่มได้  แต่กลุ่มก็โยงกันเป็นพันธมิตรผู้ที่ปรารถนาดีต่อกัน เกื้อกูลกัน

                ฉะนั้น ที่พัฒนามาจนถึงขั้นนี้ สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าของขบวนการชุมชน  ผมอยากจะใช้คำว่าขบวนการชุมชน และอยากจะเห็นว่าเป็นขบวนการไม่ใช่เป็นแค่รูปแบบ ไม่ใช่เป็นแค่วิธีการ  เป็นขบวนการหมายถึงมีการขับเคลื่อน มีการดำเนินการ มีการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ ต่อเชื่อมกันขยายวงออกไป เพิ่มพลังในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  ผมมีความเชื่อว่าถ้าคนจำนวนมากมารวมกัน โดยเฉพาะรวมตัวกันในลักษณะที่ตัวเองเปิดเชื่อมโยงกับคนอื่น พลังแห่งความดีจะมีอำนาจเหนือพลังแห่งความไม่ดี  ถ้าคนรวมตัวกันโดยไม่แยกจากคนอื่น ความดีจะมีประโยชน์ คนจะเห็นเอง  แต่ความชั่วจะทำให้เกิดความเสียหายเขาก็ไม่ทำ เช่น คนในกลุ่มนี้พอรวมตัวกันก็ไปกันใหญ่เลยจะเกิดประโยชน์อะไร  รวมตัวกันแล้วช่วยกันคิดช่วยกันทำ มีอาหารเข้ามาจัดแบ่งกันกินแทนที่จะแย่งกัน ฉะนั้น คนรวมตัวกันในลักษณะที่อิสระเสรีแบบเปิดพลังสร้างสรรค์จะมากกว่า

                มีบทพิสูจน์เยอะแยะในทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ว่า การที่ประชาชนรวมตัวกันร่วมคิดร่วมทำ  เชื่อมเครือข่ายทำให้เกิดความเป็นมิตรเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ทุนทางสังคม เปรียบเสมือนทุนทางการเงิน  ทุนเปรียบเสมือนผู้ให้กำลัง  เงินให้กำลังเพราะว่าเอาไปซื้อของได้  ทุนทางสังคมก็คือกำลังทางสังคม ทำให้สังคมมีพลังมากขึ้น  ถ้าคนเรามีความเป็นมิตร รักสามัคคี ปรารถนาดีต่อกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน จะเห็นว่าเป็นกำลัง ทำอะไรก็ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่ต้องจ้างตำรวจมาคอยกันขโมย ไม่ต้องจ้างคนมาตรวจคอยจับผิด  เกิดความผิดมาก็ต้องมาสอบสวน เสียพลังงาน เสียค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก  ชุมชนที่มีความสุจริต ทำงานกันดี รักใคร่ปรองดอง จะเจริญก้าวหน้าเห็นได้ชัด  แต่ชุมชนไหนมีการทุจริต ยิ่งผู้นำไม่สุจริต หรือแม้แต่ผู้นำสุจริตแต่สมาชิกไม่สุจริต จะยุ่งยากวุ่นวายกำลังจะอ่อนลงไป  เรียกว่าทุนทางสังคมถูกบ่อนทำลาย  ฉะนั้น ความดี ความรัก ความสามัคคี การเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มเครือข่ายเชื่อมโยงกันเป็นสภาองค์กรชุมชนหรืออย่างอื่น เป็นทุนทางสังคม  มีบางคนไปตีความว่า ถ้าเกิดสภาองค์กรชุมชนแล้วจะเกิดความแตกแยกวุ่นวายมาก เพราะเขามองไปว่าพลังความชั่วจะออกมา  ถ้าคนรวมตัวกันแล้วจะเกิดพลังความชั่วก็เป็นไปได้  ก็ถ้าโจรรวมตัวกันเขาถึงจะทำความชั่ว  แต่โดยทั่วไป ถ้าคนรวมตัวกันโดยไม่มีใครมาบังคับตามความสมัครใจ  ความดีจะมีความโดดเด่นขึ้นมา  เพราะความดีทำให้เกิดผลดี  มองดูก็รู้ว่าทำดีแล้วจะได้ดี

                ฉะนั้น  เป็นที่น่าดีใจว่าบัดนี้เราได้มาถึงขั้นที่ชุมชนจำนวนมากพอสมควรสามารถวางแผนพัฒนาตนเอง  เป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขของชุมชน  และโดยทั่วไปการพัฒนาของชุมชนจะโน้มไปในทางที่ยั่งยืนมากกว่าการพัฒนาที่คนข้างนอกจัดให้หรือการพัฒนาที่เป็นไปตามกระแสทางธุรกิจ  เช่น  ส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ราคาดีบ้างไม่ดีบ้าง เสียหายบ้าง เกิดการไม่มั่นคง  แต่พัฒนาแบบแผนชุมชนที่เขาทำกัน  ศึกษาข้อมูลความเป็นจริง  รู้ว่าปัญหาคืออะไร โอกาสคืออะไร  ศักยภาพคืออะไร  แล้วพัฒนาช่วยกันคิดช่วยกันทำ  ทำไปแล้วก็ศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ  ไปศึกษาเรียนรู้จากคนอื่นที่เค้าทำ  เช่นนี้แนวโน้มจะไปทางที่ยั่งยืน  ยั่งยืนหมายถึงว่าพัฒนาไปแล้วเกิดผลที่ดีขึ้นดีขึ้นโดยไม่สะดุด  ถ้าพัฒนาไปแล้วสะดุด เรียกว่าไม่ยั่งยืน เช่น พัฒนาไปแล้วดินเสื่อมหมด สะดุดไม่ยั่งยืน  พัฒนาไปแล้วคนเป็นโรคจากสารพิษในท้องนาจากยาฆ่าแมลง  พัฒนาไปแล้วน้ำเสีย  อย่างนี้ไม่ยั่งยืน

                พัฒนาไปแล้วไม่สะดุดไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนเข้ามาไม่ได้แปลว่าพัฒนาแล้วสิ่งแวดล้อมดีอย่างเดียว  คือคำว่าการพัฒนาแบบยั่งยืนของฝรั่งเริ่มมาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม  แต่ในประเทศไทยเราก้าวหน้ากว่าฝรั่ง  ยั่งยืนของเรานั้นหมายถึงยั่งยืนด้วยประการทั้งปวง สิ่งแวดล้อมก็รวมด้วย เศรษฐกิจก็รวมด้วย คุณธรรมจริยธรรมก็รวมด้วย  พัฒนาไปแล้วมีความดีเกิดขึ้น  ถ้าพัฒนาไปแล้วมีความชั่ว มีความเลว ทุจริต แก่งแย่งแข่งขัน โลภโมโทสัน จะไม่ยั่งยืน  เดี๋ยวก็มีคนโกงไป  กลุ่มออมทรัพย์หลายแห่งที่ล้มไปเพราะพัฒนาไปแล้วมีความโลภมีความชั่วเกิดขึ้นก็เป็นอันต้องล้มเลิกไป  แต่ส่วนใหญ่ไปได้ดีเพราะว่ามีความดี  การวางแผนที่จะยั่งยืนนั้นต้องมีความดี คุณธรรม คุณธรรมก็คือความดี ความงาม ความถูกต้อง ความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมต่อประชาชน  เราเรียกว่าความดี

                ฉะนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความดี  แล้วทั้งหมดสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทฤษฎีนี้ให้  เพราะเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การทำอะไรที่พอประมาณ ที่สมเหตุสมผล ที่มีภูมิคุ้มกันป้องกันความเสี่ยง  มีภูมิคุ้มกันหมายความว่าป้องกันความเสี่ยง เกิดปัญหาอะไรขึ้นก็รองรับได้  การออมทรัพย์ไว้ก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงมีภูมิคุ้มกัน  การรักษาคุณภาพดิน คุณภาพน้ำก็คือป้องกันความเสี่ยง  การปลูกพืชหลายๆ อย่างก็เป็นการป้องกันความเสี่ยง  ที่ยังป้องกันได้ยากก็คือปัญหาภัยธรรมชาติ  ก็มีทางถ้าเกิดว่าเราสามารถจัดระบบการประกันภัยพืชผล  ซึ่งเคยพยายามเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว  ธ.ก.ส. ก็เตรียมลงเงินไว้แล้ว  แต่จะต้องลงกัน ๓ ฝ่าย  ผมจะไม่ได้ว่าฝ่ายไหนไม่ลง  เรื่องก็เลยชะงักไป  การประกันภัยพืชผลเป็นเรื่องยากแต่ทำได้เป็นวิธีป้องกันความเสี่ยง  ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ทำอะไรพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่มากไป ไม่เว่อร์ไป มีเหตุผล ต้องอธิบายได้  ไม่ใช่เชื่อตามเขา ใครเขาว่าอะไรก็เชื่อ เห็นเขาทำก็ทำบ้าง ไม่มีเหตุมีผล ต้องคิดด้วยเหตุด้วยผล  แล้วก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน  แล้วก็ยังต้องมีการใช้ความรู้ ต้องศึกษา ต้องคิด ใช้ข้อมูล มีการเรียนรู้จากตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น  และต้องมีความดี มีคุณธรรม มีความรัก ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน  นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง

                ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายทำแผนพัฒนาชุมชนโดยเน้นการพึ่งตนเอง เน้นการร่วมมือกันเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย เรียนรู้จากตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น ดูข้อมูลให้ดี คิดหลายๆ อย่าง ทำหลายๆ อย่างให้ผสมกลมกลืนจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี  ฉะนั้น ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ริเริ่มโครงการที่จะผสมผสานเรื่องการวางผังเมืองเข้ากับการวางแผนชุมชนเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม  และหวังว่าท่านทั้งหลายที่มาร่วมกิจกรรมนี้ท่านจะทำแผนชุมชนอยู่แล้ว  ท่านอาจจะทำได้ดีอยู่แล้ว เป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนอยู่แล้ว สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว  แต่ก็ยังมีเรื่องที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมพัฒนาเพิ่มเติม  ในชีวิตในโลกในสังคมไม่มีอะไรหรอกที่บอกว่าดีที่สุดแล้วปรับปรุงไม่ได้แล้ว  จะปรับปรุงได้เสมอ  พัฒนาต่อได้เสมอ  บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่แห่งหนึ่งบอกว่าไม่มีอะไรที่ปรับปรุงไม่ได้  ฉะนั้น เขาจะทำเช่น เรื่อง QC หรือการให้พนักงานเสนอความคิดเห็น  ปรากฏว่าบริษัทใหญ่ เช่น โตโยต้า พวกเรารู้จักโตโยต้ากันหมด  มีใครไม่เคยนั่งรถโตโยต้า  ผมนั่งเป็นประจำ รถผมเป็นรถโตโยต้า  ปีหนึ่งเขาจะได้รับคำแนะนำจากพนักงานเป็นแสนๆ ความเห็นว่าให้ปรับปรุงอะไรบ้างทุกปี  แล้วเค้าก็เลือกมานำไปปรับปรุง  แล้วก็ให้รางวัลที่แนะนำ  เค้าถึงเจริญเติบโตจากรถกระป๋องที่สู้ฝรั่งไม่ได้เลย จนกระทั่งกลายเป็นรถชั้นนำรายได้มาก  ไม่ทราบเป็นอันดับ ๑ หรือ ๒  แล้วก็ราคาไม่แพง  คุณภาพดีไม่เสียบ่อย  เค้าปรับปรุงอยู่เรื่อย ปรับปรุงตรงนั้นตรงนี้เล็กๆ น้อยๆ เค้าปรับปรุงอยู่เรื่อย  หรือ QC เค้าให้คนกลุ่มเล็กๆ มาประชุมวิเคราะห์กันอยู่เรื่อยว่างานที่เราทำอยู่นี่เป็นอย่างไร  มีปัญหาตรงไหนบ้าง  เหตุของปัญหาคืออะไร  ถ้าเราจะแก้ แก้ยังไง  แล้วแก้ให้ได้ผลยั่งยืนทำยังไง  ฉะนั้น ถ้าท่านทำแผนชุมชนแล้วนึกว่าท่านทำดีที่สุดแล้วไม่ปรับปรุง ท่านจะล้าหลังไปเรื่อยๆ  ท่านต้องคิดว่าทุกอย่างปรับปรุงได้  จึงจะเกิดการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ  ทำให้ความเจริญก้าวหน้าเกิดอย่างต่อเนื่อง

                การทำแผนชุมชนให้ได้ผลเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนสอดคล้องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผสมผสานเข้ากับศาสตร์อื่นๆ ได้เสมอ รวมถึงศาสตร์เรื่องการวางผังเมือง การทำแผนที่ภูมิศาสตร์ การคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องไม่ลืมผู้คน  พวกผังเมืองบางทีลืมคน คิดแต่ผัง ลืมไปว่าคนก็อยู่ในนั้น ลืมคน ลืมสัตว์ ลืมพืช ต้องรวมหมด คน สัตว์ พืช ดิน น้ำ ทุกอย่างผสมผสานกัน เกื้อกูลซึ่งกันละกัน หรือไม่ก็มีผลในทางทำลายซึ่งกันและกัน  ถ้าองค์ประกอบดีก็จะเกื้อกูลกัน องค์ประกอบไม่ดีทำลายกัน  ฉะนั้น ศาสตร์การวางผังเมืองเขาผสมผสานเข้ากับการวางแผนชุมชนที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นผู้ทำแผน เป็นแผนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เป็นหลัก

                ส่วนคนอื่นๆ ก็เกี่ยวข้องด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวข้องอันดับแรกเลยเพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนนั่นเอง หมายถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดีๆ มีเยอะ  ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเชียร์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มเกิดมา เพราะเชื่อว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชน ซึ่งอยู่ใกล้ประชาชนที่สุด  แล้วถ้าจัดระบบการเลือกตั้งที่ดีได้คนดีเข้ามา โดยประชาชนไม่ทิ้ง ไม่ใช่ว่าเลือกเสร็จก็ปล่อยให้เขาบริหารไปเลย  เลือกเสร็จยังต้องติดตามดูแลต้องมีส่วนร่วมตลอด  เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยแบบร่วมคิด  ประชาธิปไตยเหล่านี้มี ๓ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ เขาเรียกประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราเลือก สส. เลือก อบต.ไปแล้วก็ปล่อยให้เค้าจัดการไป  ระดับที่ ๒ เค้าเรียกว่า มีส่วนร่วม คือเลือกไปแล้วยังต้องติดตามดูแลให้ความคิดความเห็น  ระดับที่ ๓ ก็คือ แบบร่วมคิด บางทีก็เรียกว่าแบบร่วมไตร่ตรอง คือ มีส่วนในการคิดในการทำแทบจะเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แบบหลังนี่เป็นแบบที่ก้าวหน้าที่สุด  ตอนนี้ประชาธิปไตยแบบร่วมคิดในระดับชาติจะทำยากหน่อย แต่ทำได้และควรทำ ซึ่งในประเทศไทยเรายังก้าวไปไม่ถึง  เรายังเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนถึงมีปัญหาอยู่นี่  พอประชาชนจะมีส่วนร่วมกลายเป็นว่าประชาชนมีความเห็นไม่ตรงรัฐบาล กลายเป็นผู้บ่อนทำลายชาติ อย่างนี้ยังไม่ใช่ทัศนคติที่มองประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ต้องมองประชาชนเป็นเจ้าของ  ความเห็นทุกอย่างของประชาชนถือว่าสำคัญ  แต่ท้องถิ่นทำได้ไม่ยาก  ที่ท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนเป็นเนื้อเดียวกันได้ไม่ยาก จะเป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน  เลือก อบต.ไปแล้วก็ยังติดตามดูแล ร่วมคิดร่วมทำ  เป็นประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นแบบร่วมคิดร่วมทำ  ภาษาอังกฤษเรียกว่า Deliberative Democracy ใครที่อยากใช้ภาษาอังกฤษ แบบแรกเค้าเรียกว่า Representative Democracy คือแบบตัวแทน  แบบที่ ๒ เค้าเรียกว่า Participatory Democracy แบบมีส่วนร่วม  แต่แบบที่ก้าวหน้าที่สุดเรียกว่า Deliberative Democracy คือแบบร่วมคิดร่วมทำ  ที่ท้องถิ่นทำได้เพราะว่าตำบลไม่ใหญ่เกินไป  มีหลายแห่งที่ก้าวหน้าถึงขั้นว่าการเลือกคนไปบริหาร อบต. เขาปรึกษาหารือกันในหมู่ประชาชน  ก็มีผู้นำอาวุโสเป็นแกนแล้วก็ปรึกษาหารือกัน  จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าใครควรจะเป็นผู้นำ ใครควรจะเป็นผู้บริหาร  เวลาไปเลือกก็เลยได้คนนั้น  เขาเรียกการเมืองท้องถิ่นแบบนี้ว่าการเมืองเชิงสมานฉันท์  มีหลายแห่งแล้วและเป็นตัวอย่างที่ดีมากให้กับท้องถิ่นอื่นๆ และควรจะเป็นตัวอย่างให้กับระดับประเทศด้วย  ที่จริงการพัฒนาถ้าเริ่มจากท้องถิ่น เริ่มจากพื้นฐานจะดีมากเพราะเป็นความแน่นหนามั่นคง  เริ่มจากข้างบน เร็วแต่อาจไม่มั่นคง  ดีที่สุดก็คือทำทั้ง ๒ ทาง ระดับบนก็พยายามทำให้ดี ระดับล่างนี่ทำดีไปเรื่อยๆ  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี  มีชุมชนที่ดีมากขึ้นๆ จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งให้กับสังคมไทย  แล้วการเมือง เศรษฐกิจสังคมระดับประเทศจะดีไปด้วย และดีอย่างมั่นคง  ดีอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงในระดับชาติ

                ผมจึงหวังว่า การสัมมนาของท่านทั้งหลายในวันนี้ จะเป็นการผสมผสานบูรณาการหลายๆอย่างที่มีอยู่แล้ว การทำแผนชุมชน การพัฒนาอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง การวางผังเมือง การพัฒนาเมืองและภูมิภาคที่เป็นศาสตร์ ซึ่งเรียนและสอนกันในสถาบันผสมกลมเกลียวกันเข้ามา  ถ้าจะไปเอาศาสตร์เรื่องการวางผังเมืองก็จะได้เรียนรู้เรื่องการทำแผนที่ การใช้ภูมิศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ใช้หลายๆอย่างเข้ามาผสมผสานก็ทำให้การทำแผนชุมชนที่ทำอยู่แล้วดีขึ้นไปอีก ก้าวหน้าขึ้นไปอีก  และอย่างที่ผมกล่าวไว้แล้วว่า การศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม การพัฒนาเพิ่มเติมไม่มีวันจบหรอกครับ ทำไปได้เรื่อยๆ  ท่านทำไปท่านก็ติดตามผลตัวเองไปด้วยว่า ทำไปแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ตรงไหนดีตรงไหนไม่ดีควรจะปรับปรุงอะไรได้อีก ไปศึกษาจากคนอื่นได้อะไรก็เอามาผสม ไปศึกษาเรื่องการวางผังเมืองได้ความคิดความเห็นอะไรดีๆ ก็เอามาผสม

                เครื่องมือใหม่ๆ หลายอย่างที่เอามาใช้ได้  เครื่องมือหนึ่งซึ่งผมพยายามส่งเสริมให้ใช้แต่ยังใช้กันไม่มากก็คือ การทำตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนา หรือตัวชี้วัดสภาพความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน  ตามแผน ๑๐ กำหนดไว้ว่า เป้าหมายสุดท้าย วิสัยทัศน์ของการพัฒนาคือสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  “สังคม” ก็หมายถึงประชาชนทั้งหมด คำว่า ”อยู่เย็นเป็นสุข” เป็นคำไทยๆ หมายถึง ดีด้วยประการทั้งปวง ร่างกาย จิตใจ แล้วก็ “ร่วมกัน” ไม่ใช่สุขอยู่คนเดียวหรือกลุ่มเดียว  เป็นสุขร่วมกัน  ถ้าในชุมชนก็เป็นสุขกันทั้งชุมชน ในสังคมก็เป็นสุขกันทั้งสังคม สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันทั้งระดับชาติระดับท้องถิ่น  ฉะนั้น ในตำบลหนึ่งเราก็บอกได้ว่า ถ้าตำบลเราจะเป็นตำบลที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สภาพที่เป็นอยู่จริงๆ คืออะไร  ท่านก็แยกได้นะว่า เรื่องปัจจัย ๔ เป็นอย่างไรบ้าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เป็นอย่างไร สุขภาพอนามัยเป็นอย่างไร เราก็อยากมีสุขภาพที่ดีใช่ไหม ความปลอดภัยเป็นอย่างไร  สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ดินฟ้าอากาศ ทรัพยากรต่างๆ เรื่องของศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างไร  เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ  ครอบครัวเราเป็นอย่างไร  การศึกษาเป็นอย่างไร  เพราะการศึกษาจะช่วยให้เราพัฒนาระยะยาว วัฒนธรรมเป็นอย่างไร อิสรภาพ เสรีภาพเราเป็นยังไง  เรามีเสรีภาพ เรามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นมากแค่ไหน  คุณธรรมในจิตใจ ความรักความสามัคคีร่วมกันเป็นอย่างไร  เราดูสภาพพวกนี้ได้แล้วก็หาตัวชี้วัดออกมา พอได้ตัวชี้วัดอย่างนี้ ท่านก็มาคิดได้สิว่าปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ปีหน้า ปีนู้น เราอยากให้ดีขึ้นอย่างไร  ท่านกำหนดเป้าหมายได้  พอกำหนดเป้าหมายได้แบบนี้ ท่านก็มาคิด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วิธีการว่าทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย  จะทำให้การคิดแผนงานของท่านนี่มีพลังมากขึ้น มีทิศทางดีขึ้น มีรายละเอียดดีขึ้น แล้วก็ตรวจสอบได้นะว่า พอสิ้นปีได้ผลสักแค่ไหน สมหวังแค่ไหน ผิดหวังแค่ไหน  ท่านก็เรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้อีก

                ฉะนั้น การใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือเป็นเรื่องที่น่าทำ โดยใช้ตัวชี้วัดไม่ใช่ชี้วัดรายได้อย่างเดียว แต่ชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นตัวชี้วัดที่บูรณาการ  เรื่องนี้สอดคล้องกับกระแสในโลกกำลังก่อตัวแล้วก็กำลังแรงขึ้น ที่เรียกว่า GNH (Gross National Happiness) หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ  ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศภูฏาณอย่างเป็นจริงเป็นจัง  ประกาศเป็นนโยบายประเทศ อยู่ในรัฐธรรมนูญเลย  รัฐธรรมนูญเขาเขียนเลยว่าจะต้องมีเป้าหมายคือความอยู่เย็นเป็นสุข  แม้กระทั่งป่าไม้ เขาเขียนในรัฐธรรมนูญเลยว่าต้องรักษาไว้ไม่น้อยกว่าเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ เขาบอกไว้เลย  แล้วรัฐบาลก็ใช้นโยบาย GHN  มีหลายประเทศสนใจก็จัดประชุมทางวิชาการกันมา  ๓ ปีแล้ว  ปีที่แล้วมาจัดที่ประเทศไทย  ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นำความคิดเรื่อง GHN มาใช้  ตั้งแต่แผน ๘  เราพูดกันถึงความสุขมวลรวมประชาชาติ แต่ไม่ดังเท่าภูฏาณ  ภูฏาณเขาประเทศเล็กนิดเดียว แต่เขาดังกว่าเพราะเขาเอาจริงเอาจังมาก และมีการศึกษาวิจัย มีสถาบันตั้งกันมาเพื่อการนี้  มีชาวต่างประเทศไปวิจัยแล้วก็มาประชุมวิชาการกัน  บ้านเราเมืองไทยมันใหญ่ก็เลยมีหลายเรื่อง เรื่องดีๆ ถูกเรื่องที่ไม่ค่อยดีกลบไปหมด  ขณะนี้เรื่องดีๆ ก็มีเยอะ ประเทศไทยขณะนี้ ณ วันนี้  แต่เรื่องไม่ดีมันเยอะมันเลยกลบ ข่าวก็มีแต่เรื่องไม่ดี เรื่องดีน้อย  เราต้องช่วยกันค้นหาเรื่องดีแล้วก็เอาเรื่องดีมาพูดแล้วมาทำ  แล้วเรื่องไม่ดีจะค่อยๆ หายไปหรือน้อยลง

                ฉะนั้น เรื่องการใช้ตัวชี้วัด ผมอยากจะส่งเสริมและผมเองได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาชุมชนมาเป็นเวลานาน  ๒๐ ปีคงจะได้ ก็คิดว่าถึงเวลาที่สามารถจะนำเอาวิธีการต่างๆ ที่ดีๆ มาผสมผสาน โดยเฉพาะเรื่องการมีตัวชี้วัดสภาพความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน จะเรียกว่าตัวชี้วัดความสุขก็ได้ มีคนศึกษาวิจัยอยู่แต่ยังไม่ถึงขั้นมาประยุกต์ปฏิบัติ  ผมอยากให้เอามาประยุกต์ปฏิบัติได้  ก็เคยคุยกับชุมชนหลายแห่ง  รวมทั้งที่ชุมชนหนองสาหร่ายที่คุณ  ศิวโรฒจะมาพูด  ลองทำขึ้นมาแล้วเราก็มาเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ  ไม่มีสูตรสำเร็จ  ผมไม่ได้มีสูตรสำเร็จให้ เพียงแต่มีความคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี  แล้วเรื่องการวางผังเมืองนี่ ถ้าเกิดทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจะเผยแพร่เรื่องนี้  มีสิ่งดีๆ อยู่ในนั้น  เรื่องการวางผังเมืองเราก็มาผสมผสานกัน ในชนบท ในเมือง  หลักใหญ่แล้วเหมือนกัน แต่ว่ารายละเอียดจะต่างกัน  ในเมืองก็มีขบวนการระดับโลกที่เขาเรียกว่า Healthy City ก็คือเมืองแห่งความสุขนั่นเอง  แล้วก็จะมีการกำหนดตัวชี้วัด มียุทธศาสตร์ มีวิธีการต่างๆ  การวางผังเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของ Healthy City เรามาแปลงคำว่า Healthy City เป็นคำว่า Healthy Community คือชุมชนเป็นสุข  ยังมีแผนงานที่ สสส. สนับสนุนอยู่เยอะเหมือนกัน  ฉะนั้น เรามีหลายๆ อย่างที่เป็นพื้นฐานเอื้อต่อการพัฒนาชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยเฉพาะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  และผสมผสานศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งการวางผังเมืองและการนำตัวชี้วัดเข้ามา

                ผมหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากการสัมมนาครั้งนี้ และเชื่อว่าความพยายามร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย บนพื้นฐานของความรัก ความเป็นมิตร ความปรารถนาดี จะช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ความสันติสุขร่วมกันดียิ่งขึ้นตลอดไป  ผมขอเปิดการประชุมและขอสวัสดี ขอขอบคุณและขอให้ทุกท่านจงมีความสันติ ความเจริญ และความสุขโดยทั่วกัน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/323795

<<< กลับ

บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์


สรุปการสัมภาษณ์ ให้กับคณะนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)  เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2552  ณ บ้านเลขที่ 54 ถนนสุขุมวิท 61)

 

ผู้เข้าร่วมการสัมภาษณ์

 

  1. นางสาวกิ่งกนก           ชวลิตธำรง                นักวิจัยนโยบาย สวทน.
  2. นายนนทวัฒน์            มะกรูดอินทร์             ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  3. นายปรินันท์               วรรณสว่าง                ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  4. นางสาวพสชนัน          นิรมิตรไชยานนท์        ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  5. นางสาวภัทรวรรณ        จารุมิลินท                 ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
  6. นางสาวสิริพร              พิทยโสภณ               นักวิจัยนโยบาย สวทน.
  7. นางสาวอุบลทิต           จังติยานนท์              ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.

 

 

สรุปการสัมภาษณ์

 

1. ทิศทางอนาคตในการพัฒนาสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ

 

คำว่า “สังคม” ในที่นี้ หมายถึง “ประเทศ ซึ่งรวมถึง การเมือง เศรษฐกิจ ธรรมชาติ มนุษย์ ดวงดาว จักรวาล เป็นต้น”

 

ประเด็นใหญ่ของสังคม ประกอบด้วย

 

  • ธรรมชาติ (ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศ) – ที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งเย็นจนเป็นน้ำแข็ง ร้อนระอุ ในอนาคต น่าจะเกิดปัญหาหลายเรื่องทั้งสิ่งแวดล้อม สารพิษ น้ำท่วม แผ่นดินทรุด (การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ ส่งผลให้ธรรมชาติเกิดความไม่สมดุล)
  • มนุษย์ – ความไม่สมดุลระหว่างคนและธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ในอดีต ยังมีประชากรจำนวนไม่มาก เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ คนสามารถย้ายถิ่นฐานได้
  • ระบบการบริหารจัดการบ้านเมือง – ระบบทั้งหมดของประเทศ เช่น ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม (วัตถุประสงค์ของการแยกระบบ คือ สะดวกในการบริหารจัดการ ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น) ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กัน (ในระบบใหญ่ มีระบบย่อย ไปจนถึงระบบย่อยที่สุด) ทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองได้ดี มีคุณภาพ ในปัจจุบัน บ้านเมืองเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งแตกแยกในหลายมิติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการความขัดแย้งเท่านั้น

 2. อะไรที่จะนำสังคมไทยก้าวไปสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

 

ภาพพึงประสงค์ของสังคมในอนาคต คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยใช้กลไก 3 เสาหลักดังแสดงในรูปด้านล่าง

2.1       ปัจจัยสำคัญในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์  

  • ระบบการเมือง – การมีระบบการเมืองที่ดี จะทำให้สามารถดูแลบริหารจัดการบ้านเมืองได้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เช่น ความยากจน

 

2.2       ประเด็นนโยบายที่คิดว่าสำคัญและเร่งด่วน 

  • การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
  • การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ
  • การพัฒนาระบบการเมือง

 

2.3       บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)  ในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์

  • วทน. กับการพัฒนา – วทน. มีบทบาทในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ  ทำตามความต้องการของสังคม มากกว่าที่จะอยู่ตามลำพัง โดยการไปค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว และนำมาขยายผลต่อไปในวงกว้าง
  • วทน. กับการเมือง – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการความรู้ ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การสื่อสารระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลางดีขึ้น ทำให้คนรู้เท่าทัน แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้
  • วทน. กับการเรียนรู้ – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน
  • วทน. กับเศรษฐกิจชุมชน – วทน. สามารถรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้สินค้าชุมชนมีคุณภาพดีขึ้น  มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

 

2.4       กลไกที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

  • พลัง 3 ส่วนเกื้อหนุนกัน (พลังทางความรู้ พลังทางสังคม พลังทางนโยบาย) – พลังทางความรู้จะได้ผลเร็ว ส่วนพลังทางสังคมจะต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน
  • การกระจายอำนาจการปกครอง – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมมาก ในอนาคต แนวคิดนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  นายกเทศมนตรี  และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีคุณภาพมากขึ้น
  • การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย – ต้องทำงานร่วมกัน ไม่แข่งขันกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดตนเองเป็นหลัก
  • การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม – ในการกำหนด/ผลักดันนโยบาย ควรจะมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาช่วยกัน
  • การสำรวจหาต้นแบบที่ดีมาขยายผล – ควรนำผลงานวิจัยชุมชนที่ประสบความสำเร็จของชาวบ้าน มาต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การจัดทำแผนชุมชน – สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ ในระยะแรก แผนชุมชนเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยชาวบ้านในชุมชน ต่อมา ได้มีการนำยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้เกิดแผนชุมชนทั่วประเทศ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/324275

<<< กลับ

องค์กรชุมชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

องค์กรชุมชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย


(เอกสารประกอบการบรรยาย  หัวข้อ  “องค์กรชุมชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย”  จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า  หลักสูตร พรรคการเมืองกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 7   ที่ อาคารรำไพพรรณี ณ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อ 30 มกราคม 2553)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/337000

<<< กลับ

การพัฒนาคน : เป้าหมายและกระบวนการสำคัญของการพัฒนาชุมชน

การพัฒนาคน : เป้าหมายและกระบวนการสำคัญของการพัฒนาชุมชน


เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาคน : เป้าหมายและกระบวนการสำคัญของการพัฒนาชุมชน”  ในการอบรมหลักสูตร  “ปรัชญาการทำงานเพื่อชุมชนและวิเคราะห์ชุมชน”  ภายใต้โครงการ  “พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”  ณ  ห้องประชุมเทเวศ  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/350423

<<< กลับ