ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองใหม่ เน้นชุมชน

ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองใหม่ เน้นชุมชน


(จากข่าว   “พันธมิตรเผยแผนรัฐบาลชง ตั้ง ‘ส.ส.ร.’”  ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 24 กันยายน 51   หน้า 1 ต่อหน้า 15) 

                พันธมิตรเผยแผนรัฐบาลเตรียมตั้ง ส.ส.ร. หวังยุติความขัดแย้ง  สงสัยมีวาระซ่อนเร้น ใช้เป็นเหยื่อล่อปลา   “บวรศักดิ์-ไพบูลย์”  ชูสูตรสภาองค์กรชุมชน ช่วยสร้างการเมืองใหม่

“ไพบูลย์”  เผยสูตรใหม่เน้นชุมชน

                วันเดียวกัน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีการประชุมผู้แทนสภาองค์กรชุมชนที่เป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง 76 จังหวัด และมีการเสวนาเรื่อง  “สภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนา การเมืองภาคพลเมือง” โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า แม้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาหลายครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการค้นหารูปแบบการเมืองที่ควรจะเป็น เช่น การเมืองใหม่ ซึ่งคำว่าใหม่โดยทั่วไปหมายถึงดีขึ้น แต่จะดีขึ้นอย่างไรคงต้องมีข้อคิดและทฤษฎีมากมายหลายสูตร แต่สูตรที่ยังไม่ค่อยมีการเสนอคือสิ่งที่ชุมชนทำกันอยู่แล้ว และเป็นการเมืองในความหมายกว้าง โดยมีการจัดการสังคม ชีวิตผสมผสานกันไป

                นายไพบูลย์  กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังไม่นำไปสู่การเมืองที่ปรารถนา เพราะรัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดโครงสร้างกลไก แต่การเมืองมีมากกว่านั้น มีกระบวนการเงื่อนไข วัฒนธรรม และความคิดจิตใจที่ผันแปรเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง หรืออยู่อย่างโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม การที่คำนึงถึงการเกาะเกี่ยวแต่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวโดยไม่พัฒนาสังคมให้เท่าทันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการเรียกร้องหาการเมืองใหม่  ซึ่งยากประสบความสำเร็จหากคิดและทำการเมืองในความหมายแคบ  หรือแก้ไข  รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/211161

<<< กลับ

โอกาสทองที่จะแก้วิกฤตไทย ด้วยรัฐบาลพิเศษเฉพาะกาลเพื่อความปรองดองแห่งชาติ

โอกาสทองที่จะแก้วิกฤตไทย ด้วยรัฐบาลพิเศษเฉพาะกาลเพื่อความปรองดองแห่งชาติ


คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ  2 ธ.ค. 51  ยุบ 3  พรรคการเมือง  นายกฯ ต้องพ้นตำแหน่ง

วิกฤตประเทศไทยคลี่คลายชั่วคราว แม้ยังไม่หมดไป

เปิดโอกาสทองที่จะแก้วิกฤตของประเทศไทยให้ได้อย่างแท้จริง  โดยอยู่ที่การจัดรัฐบาลใหม่   ให้เป็นรัฐบาลพิเศษ

เฉพาะกาลเพื่อความปรองดองแห่งชาติ

หลักการสำคัญ

                เป็นรัฐบาลพิเศษเฉพาะกาล   มีภารกิจหลัก 3 ข้อ

  1. สร้างความปรองดองแห่งชาติ
  2. แก้วิกฤตเศรษฐกิจพร้อมกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินให้ดำเนินไปได้เป็นปกติเรียบร้อย
  3. จัดให้มีการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเห็นพ้อง  ซึ่งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

                      แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่   ( = สิ้นสุดภารกิจรัฐบาลพิเศษเฉพาะกาล)

สูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจได้รับการพิจารณา

  1. พรรคใหญ่ลำดับ 1  กับพรรคเล็ก ๆ โดย นายกฯอาจมาจากพรรคเล็ก
  2. พรรคใหญ่ลำดับ 2  กับพรรคเล็ก ๆ ซึ่งรวมกันแล้วมีคะแนนเสียงเพียงพอ  และนายกฯ อาจมาจาก

                     พรรคเล็ก 

  1. พรรคใหญ่ลำดับ  1 และ 2 รวมกัน   อาจรวมพรรคเล็กบางพรรคด้วย  และอาจมีพรรคเล็กบาง

                     พรรคเป็นฝ่ายค้าน     หรืออาจรวมทุกพรรคโดยไม่ต้องมีฝ่ายค้าน    (เนื่องจากเป็นรัฐบาลพิเศษ เฉพาะกาล)

ข้อสำคัญ : ควรมีกระบวนการหารือร่วมกันหรือ “สานเสวนา” ระหว่างพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีสมาชิกใน

                สภาผู้แทนราษฎร   เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกัน   เกี่ยวกับหลักการสำคัญ  สูตรการจัดตั้ง

                รัฐบาล  และเงื่อนไขต่าง ๆ โดยควรรับฟังความเห็นและเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม

                มาประกอบการพิจารณาด้วย

                                                                                                                ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

                                                                                                                    5  ธันวาคม   2551

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/227651

<<< กลับ

วิสัยทัศน์สื่อสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย / สสท.)

วิสัยทัศน์สื่อสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย / สสท.)


ทิศทางของไทยพีบีเอส

                – เป็นสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นของประชาชน ดำเนินงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม และมุ่งให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์สูงสุด ต่อประชาชน และต่อสังคม

เนื่องจากที่มาของ ไทยพีบีเอส คือ สื่อสาธารณะของประชาชน การดำเนินงานจึงควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในโทรทัศน์สาธารณะ และสื่ออื่นๆ เพื่อให้เป็นสถานีของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และยืนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างประโยชน์ที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน

เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย ซึ่งการจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคุณภาพได้นั้น ไทยพีบีเอสจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และมีจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยการบริการข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ประชาชนได้คิด วิเคราะห์ และควรให้ความสำคัญกับข่าวชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สะท้อนถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในสังคม โดยสามารถนำประเด็นเนื้อหาในพื้นที่ของตนมาเผยแพร่สู่สาธารณะ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ เนื่องจากไทยพีบีเอส ต่างจากองค์การสื่ออื่นๆ เพราะไทยพีบีเอส เน้นการรับใช้สังคมเป็นหลัก จึงควรนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ ไม่ผูกติดกับเรตติ้ง แต่ยังคำนึงถึงความเป็นปุถุชนของผู้ชมผู้เป็นเจ้าของ โดยมีความบันเทิงที่มีสาระ และมีสัดส่วนสาระประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลาย โดยปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

ยกระดับสังคมแห่งภูมิปัญญา ผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อประโยชน์ระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ในยุคปัจจุบัน สังคมเติบโตอย่างก้าวกระโดดบนการสื่อสารอย่างไร้พรมแดน ทำให้วัฒนธรรมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว ไทยพีบีเอสจะต้องเป็นสื่อกลางที่ให้สังคมได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบข้างอย่างไม่ตื่นตระหนกและไม่นิ่งเฉยจนเกินไป ซึ่งการเรียนรู้นั้นจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้ในสังคม โดยไม่ลืมความเป็นไทย

สำหรับการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น บนความงดงามทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก ต้องมีการเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ ตลอดจนการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ลืมตัวตน ไม่ลืมบ้านเกิดและรักถิ่นฐานของตน ทำให้เกิดการกลับไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างเข้าใจและยั่งยืน

ส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ไทยพีบีเอสต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้สังคมเกิดการเรียนรู้ความเป็น “พลเมือง” เพราะประชาชนจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้บริโภค” หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเพียงด้านเดียวและฉาบฉวย แต่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันเสนอประเด็นในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในสังคม

สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ผ่านการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ และการจัดกิจกรรมให้กับประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับทางสถานี ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนของประชาชนต่อสถานี เช่น การรณรงค์วันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของสังคม โดยการสร้างความรัก ความเข้าใจกัน ผ่านกิจกรรมของรายการ และให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารสองทาง และได้ร่วมมือในทางปฏิบัติ หรือกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและสุขภาวะของประชาชน การสร้างสังคมให้มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เป็นต้น โดยไทยพีบีเอสต้องเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กับสังคม

ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ 

  1. ความเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นจริงและมีความหมาย

                เนื่องจาก ไทยพีบีเอส เป็นของประชาชน ประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการของไทยพีบีเอส จึงต้องมีช่องทางที่หลากหลายในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็น “สภาผู้ชม” ที่มาจากแต่ละภูมิภาคและความหลากหลายทางสังคมตามกฎหมาย โดยสภาผู้ชม จะคอยติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง ซึ่งถือเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่หลุดจากความนิยมของประชาชน โดยการนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้ชมไปพัฒนาให้ตอบสนองตามความต้องการในบริบทของสังคมไทย และการแทรกแซงก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมกับการมีกระบวนการจัดการที่ดี โดยมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสภาผู้ชม

                นอกจากนี้ควรเปิดช่องทางรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เช่น การสร้างเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ชมของไทยพีบีเอสอีกทางหนึ่ง การเปิดสายโทรศัพท์ให้ผู้ชมเสนอแนะ ติชม ร้องเรียน หรือการรับฟังผ่านการเขียนจดหมาย เพื่อให้ความคิดเห็นและคำแนะนำจากสภาผู้ชมและจากผู้ชมที่แสดงความคิดเห็นผ่านมายังสื่อต่างๆ นำสู่การปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารกิจการและรายการของไทยพีบีเอส ให้เหมาะสมและทันกับสถานการณ์อย่างดีที่สุด

  1. บทบาทที่สร้างสรรค์และเหมาะสมของคณะกรรมการนโยบาย 

                เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการพัฒนาสื่ออย่างสร้างสรรค์ บทบาทของคณะกรรมการนโยบายจึงควรเป็นผู้วางทิศทางผ่านการกำหนดนโยบายขององค์กร ตลอดจนการกำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมเพื่อคุ้มครองรักษาความเป็นอิสระ โดยการปฏิสัมพันธ์ของคณะกรรมการนโยบาย และฝ่ายบริหารจัดการต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสม โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของฝ่ายปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ

  1. การบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง

สิ่งสำคัญของการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ต้องเกิดจากการจัดการที่ดีในหลายมิติ ทั้งการวางระบบการจัดการ บุคลากร ข้อบังคับด้านจริยธรรม เทคโนโลยี สภาผู้ชม การสนับสนุนจากประชาชน และจากรัฐบาล

และสิ่งแรกของการนำมาซึ่งการบริหารจัดการที่ดี คือ การได้ผู้อำนวยการสถานีที่ดี เพื่อนำสู่การสร้างบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพ สามารถเลือกใช้บุคลากรให้เหมาะสมกับงาน ดังนั้นการสรรหาผู้อำนวยการสถานีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการวางระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ว่องไว ได้ผล และประหยัดงบประมาณ

  1. บุคลากรสื่อที่มีคุณภาพ ผ่านการสร้างและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

                 รูปแบบการนำเสนอเพื่อเป็นที่นิยมและน่าติดตาม ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่ง ต้องผ่านการสร้างและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อพัฒนาการผลิตรายการที่สร้างสรรค์ และการพัฒนาสัดส่วนรายการที่เหมาะสมกับสังคมไทย

  1. การประยุกต์ใช้หลักการและวิธีการทางการตลาดที่มีประสิทธิผล ทั้งในเชิงผลผลิตขององค์กร และในเชิงสังคม

โดยดึงเทคนิคการตลาด เพื่อดึงความสนใจของคนมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการตลาดทางสังคม เพื่อผลิตรายการที่มีคุณภาพ และตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

  1. ความเป็นมืออาชีพและความเคร่งครัดสม่ำเสมอในหลักจรรยาบรรณ

                สร้างและดึงความเป็นมืออาชีพของกรรมการนโยบาย ผู้บริหาร และบุคลากร มาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยืนอยู่บนหลักจรรยาบรรณของความเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งควรประกอบด้วย ความเที่ยงตรง เป็นกลาง และเป็นธรรม ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณและความเป็นอิสระของวิชาชีพ รับผิดชอบต่อสาธารณชน สนองผลประโยชน์สาธารณะ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคล คุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงการคำนึงต่อผลกระทบทางจิตใจของการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก

  1. การใช้สื่อหลายระบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเท่าทันการพัฒนาของสังคม

                ไทยพีบีเอส จะต้องเป็นสื่อสาธารณะที่ก้าวทันต่อการพัฒนาของสังคมและเทคโนโลยี เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่นำสู่ความเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการใช้สื่อในหลายช่องทาง ซึ่งไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะของประชาชน จึงควรปรับตัวให้ทันต่อพัฒนาการของสังคมและเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสื่อบนช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งปฏิสัมพันธ์และผสมผสานกันได้ด้วย

  1. การศึกษา เรียนรู้ วิจัย และพัฒนา อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง 

                การพัฒนาสังคมต้องพัฒนาแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งความรู้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น รายการสารคดี ยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยจะเติบโตได้ต้องมีการพัฒนาแนวคิด รายการสารคดีที่มีประเด็นเนื้อหาของสังคมไทย ให้เกิดการเรียนรู้เข้าใจ ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือความงดงามของความเป็นไทย แม้กระทั่งการเปิดโลกวัฒนธรรมให้กับเพื่อนบ้านได้เห็นความงดงามของไทย

                ดังนั้นควรมีการศึกษา เรียนรู้ วิจัย และพัฒนา อย่างต่อเนื่อง เช่นการศึกษาดูงานจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตรายการที่มีสาระสร้างสรรค์พร้อมกับเป็นที่นิยม เพื่อเป็นข้อมูลนำมาพัฒนารายการใหม่ๆที่เข้ากับบริบทของสังคมไทย ต้องมีการลงทุนที่ดี และอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดความหลากหลายของเนื้อหา และมีรายการในรูปแบบใหม่ๆที่มีคุณภาพ เหมาะกับทุกกลุ่มวัย ตลอดจนการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชม เช่น ช่วงเวลาใดที่เด็กรับชมรายการโทรทัศน์มากที่สุด ช่วงเวลาใดที่เป็นกิจกรรมของครอบครัว เพื่อให้การนำเสนอตรงตามความต้องการของผู้ชม โดยไทยพีบีเอสจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานความรู้ จินตนาการ ให้กับเด็ก เยาวชน และไม่ควรละเลย รายการสำหรับผู้สูงอายุ เช่นกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/229051

<<< กลับ

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต


หากผมไม่เป็นโรคที่หนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมคงไม่รู้ซึ้งว่าผมไม่ได้มี “สุขภาวะ” ดีอย่างที่คิด และเกิดความตระหนักอย่างชัดเจนว่า เรื่อง “สุขภาวะ” นั้น ควรต้อง “สร้างสม” กันตลอดชีวิต ยิ่งคิดได้และลงมือปฏิบัติเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น

ไม่เป็น (โรค)   ไม่รู้ (สึก)

ผมเคยคิดว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพตนเองได้ค่อนข้างดี เช่นกินอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย พักผ่อน พัฒนาจิต มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง ฯลฯ

สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” ที่หมายถึงภาวะเป็นสุขทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และทางสังคม

ผมเคยคิดว่า โดยทั่วไปผมมีสุขภาพในเกณฑ์ดี ในทางร่างกาย ผมไม่ค่อยป่วยหรือมีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นหวัดเป็นไข้น้อยมาก นานๆจึงเป็นสักครั้ง และผมมักปล่อยให้หายเองหรือรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ดื่มน้ำ พักผ่อน นั่งสมาธิ ซึ่งโดยมากอาการหวัดอาการไข้จะหายไปในเวลาอันสั้น ตลอดชีวิตการทำงาน ผมใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลและมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลน้อยมาก

ผมไม่เคยต้องเข้านอนในโรงพยาบาลหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการรักษาพยาบาลโรคประเภทหนักๆตั้งแต่วัยเด็กถึงผ่านวัยเกษียณอายุ

                จนกระทั่งเมื่อผมมีอายุ 63 ปีเศษ ในปี 2547

ปรากฏว่า ผมมีก้อนเนื้อที่ส่วนหัวของตับอ่อน ซึ่งไปกดท่อน้ำดี น้ำดีไม่เข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ทำให้ผมรับประทานอาหารไม่ได้

ผมจึงต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์ตัดเอาตับอ่อนส่วนหัว (พร้อมก้อนเนื้อ) ออกไปประมาณ 30 % ท่อน้ำดีพร้อมถุงน้ำดีทั้งหมด กระเพาะประมาณ 30 % และ Duodenum (ส่วนเชื่อมจากกระเพาะสู่ลำไส้เล็ก) ประมาณ 30 ซม.

ผมอยู่พักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านก่อนที่จะค่อยๆทยอยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัด กว่าที่สุขภาพจะกลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับก่อนการล้มป่วย

การเจ็บป่วยครั้งนั้น ทำให้ผมให้ความเอาใจใส่กับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ และดูเหมือนว่าสุขภาพของผมทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิตใจ ปัญญา (จิตวิญญาณ) และสังคม อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะพอใจได้

จวบจนเดือนตุลาคม 2550 เมื่อผมมีอายุประมาณ 66 ปีครึ่ง ผมต้องเข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันรวม 3 เส้น

ครั้งนี้แพทย์ใช้วิธี “สวนหัวใจ” ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ และผมต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงหนึ่งสัปดาห์ แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านอีกหนึ่งสัปดาห์ก็สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้

แต่ผมต้องรับประทานยาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง) หลายเม็ดต่อวันทุกวันไปตลอดชีวิต ! รวมทั้งต้องดูแลระมัดระวังเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และสุขภาพจิต มากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันอาจกลับมาอีก ซึ่งสามารถมีอันตรายถึงชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน !

หลังจากการรักษาด้วยวิธี “สวนหัวใจ” เรียบร้อยแล้ว ผมรู้สึกมีสุขภาพปกติและใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น คือในเดือนเมษายน 2551 ผมไปตรวจร่างกาย พบว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่ไขมันหุ้มไตข้างขวา แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดเอาไตข้างขวาออก

                ผมจึงต้องเข้ารับการ “ผ่าตัดใหญ่” เป็นครั้งที่สองในชีวิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ขณะที่มีอายุ 67 ปีเศษ ครั้งนี้การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง แพทย์ตัดไตข้างขวากับลำไส้ที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 5 ซม. ออกไป

ผมพักฟื้นในโรงพยาบาลหนึ่งเดือน แล้วกลับมาพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายที่บ้าน สังเกตว่าครั้งนี้การฟื้นฟูร่างกายมีความยากและใช้เวลานานกว่าเมื่อผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในปี 2547 ขณะที่เขียนบทความนี้การผ่าตัดผ่านพ้นไป 4 เดือนเศษแล้ว สุขภาพของผมดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตปกติได้พอสมควร แต่การฟื้นฟูร่างกายยังคงต้องดำเนินการอยู่

การฟื้นฟูร่างกายที่ว่านี้ รวมถึงการพยายามป้องกันไม่ให้สภาพ “เนื้องอก” หรือ “มะเร็ง” (Cancer) นั่นเอง กลับมาอีก หรือถ้าจะกลับมา (ซึ่งย่อมมีโอกาสเป็นเช่นนั้นเพราะเกิดมา 2 ครั้งแล้ว) ก็ในเวลาที่นานที่สุด

ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องดูแลไม่ให้โรคหลอดเลือดอุดตัน (ซึ่งเคยเกิดแล้ว) เกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นได้ยากที่สุด เท่าที่จะทำได้

ข้อคิดเรื่องสุขภาพ

                ประสบการณ์ด้านสุขภาพของผมที่มีสุขภาพค่อนข้างดีถึงดีมากมาตลอดตั้งแต่วัยเด็กจนอายุ 63 ปีเศษ แต่มาเป็นโรคชนิดหนักหน่วงถึง 2 โรค ซึ่งในปัจจุบันเป็นโรคที่ทำให้คนไทย (และคนในประเทศอื่นๆส่วนใหญ่) เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ คือใน 1-3 อันดับแรก ทำให้ผมได้ศึกษาเรื่องราวและครุ่นคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อคิดและข้อสรุปที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจทั้งหลายดังนี้ครับ

ข้อที่หนึ่ง  โรคทั้งหลายที่คนเราเป็น โดยเฉพาะโรคหนักหน่วงเช่นโรคมะเร็งและโรคหัวใจโดยทั่วไปแล้ว มิได้เกิดจากเหตุฉับพลัน แต่มาจากการสะสมของสาเหตุหลากหลายเป็นเวลานานๆ อาจเป็น 10 ปี 20 ปี หรือกว่านั้น ทำให้ร่างกาย “เสียความสมดุล” สะสมมากขึ้นๆ มี “ภูมิคุ้มกัน” อ่อนแอลงๆ ปัจจัยอันเป็นที่มาของโรคชนิดต่างๆสะสมมากขึ้นๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งหรือสถานะหนึ่ง อาการของโรคจึงปรากฏ เช่นเนื้องอกเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง มีสารอุดทางเดินของเลือดในที่ใดที่หนึ่ง หรือแม้กระทั่งโรคเป็นไข้เป็นหวัด ก็มาจากการสะสมความไม่สมดุลและความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันที่มากจนถึงระดับที่เมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะที่ผิดปกติ จึงเกิดอาการเป็นไข้เป็นหวัด ซึ่งถ้าร่างกายมีความสมดุลดีและมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอจะไม่มีอาการเป็นไข้เป็นหวัดดังกล่าว

โรคอื่นๆไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคกระดูก โรคกล้ามเนื้อ โรคทางเดินอาหาร โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคสมอง โรคผิวหนัง ฯลฯ รวมทั้งโรคจิตโรคประสาท โดยทั่วไปแล้วล้วนมีสาเหตุมาจากการสะสมของปัจจัยต่างๆ ซึ่งในที่สุดทำให้อาการของโรคปรากฏขึ้น

ข้อที่สอง สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสะสมของปัจจัยอันทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆพอสรุปได้ดังนี้ คือ (1) อาหารที่ไม่เหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ (3) การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ (4) สภาพจิตใจที่ไม่ดีพอ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตรวมถึงข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลบางประการหรือหลายประการ

ปัจจัยอันก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้ มีผลกระทบหรือปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย ดังนั้นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นผลสุดท้ายของสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งที่สะสมจนถึงจุดที่อาการโรคปรากฏ หรืออาจมาจากสาเหตุหลายข้อที่สะสมรวมทั้งผสมผสานปฏิสัมพันธ์กันแล้วทำให้เกิดโรคขึ้น

ข้อที่สาม คนเราย่อมปรารถนาจะมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น แต่คำว่า   “สุขภาพ” ที่ดีที่สุดเป็นอย่าไร ความหมายที่เป็นสากล (ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก คือ World Health Organization หรือ WHO ) ของ คำว่า “สุขภาพ” คือประกอบด้วย (1) สุขภาพทางกาย (2) สุขภาพทางจิตใจรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ (3) สุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณที่เข้าถึงคุณธรรม ความดี และความสงบมั่นคงทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง และ (4) สุขภาพทางสังคมหรือทางสัมพันธภาพกับผู้คนและกลุ่มคนในสังคม ดังนั้น ความปรารถนาที่จะมีสุขภาพดีของเราจึงควรเป็น “สุขภาพ” ที่ครอบคลุมบูรณาการความหมายทั้ง 4 ด้านของ “สุขภาพ” จึงจะถือว่าน่าพอใจที่สุด

ข้อที่สี่ หนทางสู่ “สุขภาพ” ที่พึงปรารถนา เป็นเรื่องที่ควรสะสมหรือสร้างสมกันตลอดชีวิต ถ้าเป็นไปได้ คือ ตั้งแต่ก่อนเกิดและในวัยเด็ก (ซึ่งจะต้องดูแลดำเนินการโดยพ่อ แม่) ต่อเนื่องตลอดไปจนชั่วชีวิต เพื่อให้ปัจจัยต่างๆที่มีส่วนช่วยสร้างสุขภาพเกิดขึ้นอย่างดีที่สุดและมากที่สุด ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าว ได้แก่   (1) อาหารที่เหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่เพียงพอ (3) การพักผ่อนที่เพียงพอ (4) สภาพจิตใจที่ดีพอ และ(5) แบบแผนการดำเนินชีวิต รวมถึงอาชีพการงานและกิจวัตรกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้โดยไม่เปิดโอกาสให้ข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางเกิดขึ้นและสะสมจนเป็นเหตุให้เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆขึ้นในที่สุด

“สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต

การ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าวข้างต้นนั้น ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าใดก็ดีเท่านั้น ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ควรเริ่มให้กับบุตรธิดาของตนตั้งแต่เนิ่นๆที่สุด ยิ่งเริ่มคิดและลงมือทำตั้งแต่ก่อนลูกเกิดหรือเมื่อยังอยู่ในครรภ์มารดาก็เป็นการดี สำหรับผู้ที่เป็นเด็กหรือเยาวชน เริ่มดูแลตนเองได้พอสมควร ก็ควรคิดและปฏิบัติในอันที่จะ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพทั้ง 5 ข้อ โดยอาจอยู่ภายใต้การแนะนำดูแลของพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยตามสมควร ส่วนคนที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ควรดูแลตนเองอย่างเต็มที่ในเรื่องการ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพโดยเริ่มคิดและลงมือทำเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งในขณะนั้นอาจจะคิดว่าตนเองมีสุขภาพดีอยู่ดังเช่นที่ผมเคยคิด แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยก่อโรคอาจจะกำลังสะสมมากขึ้นๆโดยเราไม่รู้ตัว ซึ่งกรณีโรคมะเร็งและโรคหัวใจ (และหลอดเลือด) มักมีภาวะเช่นนั้น

ในกรณีที่เราได้ปล่อยให้ปัจจัยก่อโรคมีโอกาสสะสมจนเราเกิดโรคขึ้นจริงๆแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะคิดแก้ไขและป้องกัน เพราะนั่นคือดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และโอกาสที่โรคจะหายไปหรือไม่กลับมาเกิดอีกก็ย่อมมีอยู่เสมอ โดยยังสามารถใช้หลัก “ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ประการ” มาประยุกต์ปฏิบัติอันได้แก่ (1) อาหารเหมาะสม (2) ออกกำลังกายเพียงพอ (3) พักผ่อนเพียงพอ (4) พัฒนาจิตใจ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตเหมาะสม

กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง

ผมเองเข้ากรณีที่เพิ่งกล่าวถึง คือ ได้เกิดโรคที่มีความหนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง 2 ครั้ง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 ครั้ง ผมจึงต้องให้แพทย์เป็นผู้แก้ไขคือ รักษาด้วยการผ่าตัด (กรณีโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง) และสวนหัวใจ (กรณีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน) ส่วนผมได้เริ่มปฏิบัติในเชิงป้องกันโดยอาศัยหลัก “ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ข้อ” มาประยุกต์เข้ากับกรณีของตนเอง ดังนี้

  1. อาหาร หลังจากการเจ็บป่วยครั้งล่าสุดซึ่งชี้ว่าอาหารจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการป้องกันการกลับมาของโรค ผมได้เลือกที่จะรับประทานอาหารในแนว “ธรรมชาตินิยม” ได้แก่ “แมคโครไบโอติกส์” (Macrobiotics) หรือ “ชีวจิต” โดยประยุกต์ดัดแปลงบ้างตามที่ผมเห็นสมควรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของตัวผมและภาวะแวดล้อม อาหารที่เป็นพื้นคือ ข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย ผักหลายๆชนิด รับประทานแบบสดหรือปรุงแต่งไม่มาก ถั่วและเมล็ดพืชหลายๆชนิดทั้งเปลือกอ่อนและเปลือกแข็ง ผลไม้หลายๆชนิด ส่วนใหญ่รับประทานแบบสดหรือคั้นน้ำ ซึ่งที่กล่าวมาคืออาหารแนว “ธรรมชาตินิยม” หลักๆ โดยผมได้เสริมด้วยปลาและไข่สลับกันไปมาตามคำแนะนำของแพทย์และนักโภชนาการที่ผมปรึกษาอยู่ เรื่องอาหารแนว “ธรรมชาตินิยม” ยังมีแง่มุมที่พึงปฏิบัติอีกหลายประการ เช่น การเลือกวัตถุดิบ เครื่องมือในการปรุง กรรมวิธีการปรุง วิธีรับประทาน ทัศนคติและ “ธรรมะ” ในการรับประทาน ฯลฯ ซึ่งผมได้พยายามปฏิบัติเท่าที่สามารถทำได้
  2. การออกกำลังกาย ผมพยายามออกกำลังกายทุกเช้าให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญพอๆกับวิธีการออกกำลังกายที่ดี ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของแต่ละคน ผมได้เลือกออกกำลังกายที่ประกอบด้วย “การหายใจลึกยาว” ประมาณ 10 นาที “การยืดอวัยวะ” ประมาณ 15 นาที “การเสริมกำลังแขนขา” ประมาณ 10 นาที และ “การเดินเร็ว” ประมาณ 20 นาที รวมทั้งหมดผมใช้เวลาในการออกกำลังกายตอนเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง หรือกว่าเล็กน้อย และในระหว่างออกกำลังกายทั้งหมดนี้ ผมพยายามใช้ “สมาธิ” และ “พลังจิต” เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของ “พลังปราณ” (หรือพลัง “ชี่”) ควบคู่ไปด้วย
  3. การพักผ่อน ผมพยายามเข้านอนให้เป็นเวลาที่ไม่ดึกนัก และพยายามนอนหลับให้ได้ประมาณคืนละ 7 ชั่วโมง ในเรื่องนี้คุณภาพของการหลับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรณีของผมคิดว่ายังไม่ถึงกับดีนักและจะต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาต่อไป นอกจากนั้น ผมก็พยายามให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนในรูปแบบต่างๆในช่วงเวลากลางวันด้วยเท่าที่พึงทำได้
  4. สภาพจิตใจ ผมโชคดีที่ได้สนใจพยายามพัฒนาสภาพจิตใจโดยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน ทำให้สามารถเผชิญภาวะเป็นโรคประเภทหนักหน่วงทั้ง 3 ครั้งได้โดยมีจิตใจสงบเป็นปกติ มาบัดนี้ที่ผมอยู่ในภาวะเป็นทั้งโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพจิตใจมากขึ้นเพราะเชื่อว่า สภาพจิตใจมีผลอย่างสำคัญต่อการรักษาและป้องกันการเป็นโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหัวใจ การพัฒนาสภาพจิตใจที่ผมพยายามปฏิบัติ ได้แก่ การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา การฝึกพลังจิต การสร้างทัศนคติเชิงบวกและสร้างสรรค์เกี่ยวกับชีวิต   เกี่ยวกับผู้คนรอบข้าง เกี่ยวกับภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆที่ต้องเผชิญ และอื่นๆ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/234131

<<< กลับ

 

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต (ต่อ)

ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต (ต่อ)


  1. แบบแผนการดำเนินชีวิต ผมพยายามดูแลให้แบบแผนการดำเนินชีวิตของผมอยู่ในแนวพอเพียงพอประมาณและเรียบง่ายราบรื่น  ไม่สุดโต่งเร่งร้อนหรือมีภาวะบีบคั้นกดดันเกินสมควร  ซึ่งควรเป็นผลดีต่อสุขภาพหรือสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ  คงต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผมทำหน้าที่ผู้บริหารในคณะรัฐบาล  การจัดแบบแผนการดำเนินชีวิตอย่างที่ผมคิดว่าเหมาะสม  ย่อมทำให้ยากหน่อย  ครั้นมาบัดนี้ที่ผมเป็นคนเกษียณอายุและพ้นภาระการเป็นผู้บริหารแล้ว  จึงสามารถจัดแบบแผนการดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับที่คิดว่าควรจะเป็น

เพื่อ  “สุขภาวะ”  ที่ดีขึ้นของคนทุกคน

                นั่นนั้นคือการพยายามปฏิบัติ 5 ข้อเพื่อพัฒนาและสร้างสม  “ปัจจัยสร้างสุขภาพ”   ซึ่งผมสรุปได้หลังจากการต้องเข้ารับการ  “ผ่าตัดใหญ่”  ครั้งล่าสุด  เมื่อเดือนมิถุนายน  2551  ที่ผมนำมากล่าวถึงในบทความนี้  มิใช่เพื่อแสดง  “สูตรสำเร็จ”  หรือคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ประการใด  เป็นความพยายามคิดและทำเท่าที่ผมสามารถคิดได้ทำได้  ภายใต้สถานการณ์ที่ผมเผชิญอยู่  จุดประสงค์ของบทความนี้  รวมถึงการเล่าถึงประสบการณ์และความพยายามของผมในเรื่องสุขภาพ  ก็โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยเป็นข้อมูล  เป็นข้อคิด  และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ที่สนใจได้นำไปพิจารณาดู  โดยทุกท่านสามารถพิจารณาหาข้อสรุปเองหรือนำสิ่งที่ผมเสนอไปประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละคนได้ตามที่เห็นว่าสมควร

                ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยและคนทั้งโลกมี  “สุขภาวะ”  ดีขึ้น  ทั้งทางกาย  ทางจิตใจ  ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ  และทางสังคม  โดยเฉพาะอยากเห็นว่ามีการ  “ป้องกัน”  และการ  “สร้างเสริมสุขภาพ”  ด้วยการ  “สร้างสมปัจจัยสร้างสุขภาพ”  กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตหรือโดยเร็วที่สุดต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต  โดยในส่วนของผมเองนั้นยินดีใช้เวลาในช่วงท้ายของชีวิตที่ยังเหลืออยู่  อุทิศให้กับการ  “สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ”  เท่าที่จะสามารถทำได้

                (ลงในหนังสือ  “สุขภาวะ  สร้างได้”  เรื่องราวดีๆที่สร้างสุขภาวะที่ดีให้ทุกคน  ประกอบด้วยความเรียงจากเด็ก  เยาวชน  คนหนุ่มสาว  และประชาชนจากทั่วประเทศ  พร้อมนักเขียนกิตติมศักดิ์  คำนำโดย  ประเวศ  วะสี  จัดพิมพ์เผยแพร่โดย  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ธันวาคม  2551)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/234137

<<< กลับ

ออกแบบประเทศไทย 2562 เพื่ออนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ประเด็นสังคมและชุมชน

ออกแบบประเทศไทย 2562 เพื่ออนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ประเด็นสังคมและชุมชน


(บทสัมภาษณ์  นำลงในเอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “ออกแบบประเทศไทย  2562  :  หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก”  วันที่  28 ก.พ. – 1  มี.ค.  2552  ณ  โรงแรมโรสการ์เด้น  ริเวอร์ไซค์  สวนสามพราน  จ.นครปฐม)

สถานการณ์ปัจจุบัน

                สถานการณ์ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นทวิวิกฤตกล่าวคือ การเมืองมีความสับสนวุ่นวาย ไม่มั่นคง และมีการเผชิญหน้าระหว่างกัน การปกครองแม้จะมีความพยายามกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแต่ยังคงบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่มีความไม่สมดุลโดยพื้นฐานจึงถือว่าอยู่ในสภาวะวิกฤต  ในขณะที่ความสัมพันธ์ของประชาชนในสังคมถูกแบ่งข้างทางความคิดกระทบต่อสุขภาพทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย  การศึกษาและการเรียนรู้ไม่สามารถแสดงบทบาทในการเกื้อหนุนสังคมได้  วัฒนธรรมและจิตสำนึกที่สั่งสมมาตามกระแสทุนนิยมของสังคมโลกทำให้ประชาชนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นหรือเข้าลักษณะบริโภคนิยม โดยรวมสังคมไทยยังคงมีปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกปัจจุบัน ซึ่งการจัดการสังคมที่ดีนั้นควรเป็นการจัดการแบบองค์รวม เชิงระบบ อย่างมีพลวัต และอย่างเป็นขบวนการ โดยมีเป้าหมายให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และมีกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและธุรกิจ สังคมและสุขภาพการศึกษาและการเรียนรู้ วัฒนธรรมและจิตสำนึก

อนาคตและการรับมือ

                การพัฒนาด้านการเมืองการปกครองสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการระบบทางสังคม  โดยกลุ่มผู้มีบทบาทในการผลักดันและขับเคลื่อนที่สำคัญคือ นักการเมือง (ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น) ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักจริยธรรม ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนองค์กร และประชาสังคม ซึ่งมาตรการนำทางในระยะ 10 ปีข้างหน้าที่จะนำสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันคือ

  1. ปฏิรูปคุณภาพและปฏิบัติการทางการเมือง ให้เป็นการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน  และมุ่งพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยแบบสันติ อารยะ สามัคคี
  2. กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและ “ชุมชนท้องถิ่น” ให้ได้อย่างแท้จริง   พร้อมกับเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นและ “ชุมชนท้องถิ่น” ในการพัฒนาตนเองให้มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างบูรณาการและมั่นคงยั่งยืน
  3. พัฒนา “ชุมชนองค์กร”และ “ภาคประชาสังคม”ให้มีความเข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุข  พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 
  4. พัฒนาภาคธุรกิจและภาควิชาการให้มีขีดความสามารถในการสร้างความเจริญแบบพอเพียง สมดุลย์ และมั่นคงยั่งยืน  
  5. ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ให้เป็นการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างบูรณาการ  พร้อมทั้งมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีในระบบการจัดการศึกษาเรียนรู้ทุกระดับ
  6. ขับเคลื่อนขบวนการทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาวะ วัฒนธรรมและจิตสำนึก ที่มุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/244925

<<< กลับ

ศิลปะการรวมพลังสร้างอนาคต

ศิลปะการรวมพลังสร้างอนาคต


 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/248256

<<< กลับ

สามเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคมกับบทบาทของศูนย์คุณธรรม

สามเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคมกับบทบาทของศูนย์คุณธรรม


สามเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคม

กับบทบาทของศูนย์คุณธรรม

            ในชีวิตและในสังคม สิ่งที่เป็นเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคม มี 3 ส่วนคือ  ความดี ความสามารถ และความสุข

                 ความดี คือ คุณธรรม จริยธรรม การคิด การพูด การกระทำอย่างถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ และมีคุณค่า

                ความสามารถ คือ ความสามารถในการคิด การพูด การกระทำ การบริหาร การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำเร็จของภารกิจ

                ความสุข คือ ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และความสุขทางสังคมคือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

                 สามเสาหลักนี้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความดี เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม

             สังคมไทยเรามีความพยายามที่จะรักษาไว้และพัฒนาความมีคุณธรรมจริยธรรมมาโดยตลอด ทั้งโดยธรรมชาติ โดยความตั้งใจ โดยนโยบาย และโดยหน่วยงานต่างๆ ที่รัฐหรือประชาชนตั้งขึ้น

                ศูนย์คุณธรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม การขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคม ให้เป็นขบวนการทางสังคมที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง ตลอดสามปีที่ผ่านมา ถือว่าได้เริ่มต้น จุดประกาย กระตุ้น เสริมหนุน กิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ที่เอื้อต่อการเกิดขบวนการคุณธรรมในสังคม โดยเฉพาะที่จัดทำในรูปของสมัชชาคุณธรรมที่มีทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติต่อเนื่องกันมา 3 ปี และมีแผนที่จะดำเนินการเป็นประจำต่อไป

                ถือได้ว่าการขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมความดีในสังคม ซึ่งเป็นภารกิจหลักของศูนย์คุณธรรม ที่ได้เริ่มต้นทำมาแล้ว โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนจากหลายภาคส่วน และหลายระดับในสังคม ตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ ได้ผลในระดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมผลลัพธ์และศักยภาพ ในการสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

                  เชื่อว่าการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรมจริยธรรม ได้มีเชื้อก่อขึ้นแล้วอย่างกว้างขวาง และประชาชนหลายภาคส่วนที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง น่าจะมีความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความพยายามที่จะเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์   เพื่อดำเนินการเรื่องคุณธรรมจริยธรรมต่อไปด้วยพลังของตนเอง ผสมผสานกับพลังของกลไกอื่นๆ ในสังคม ซึ่งรวมถึงศูนย์คุณธรรมที่เป็นหน่วยงานเล็กๆ แต่ช่วยจุดประกายและเชื่อมร้อยกลุ่มต่างๆ ให้ขับเคลื่อนเป็นขบวนการใหญ่

                 ในปีที่ผ่านมาและปีที่จะถึง ประเทศไทยและโลกอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยยังมีวิกฤติด้านการเมืองและสังคมผสมเข้าไปด้วย หากวิเคราะห์ลงลึกเชิงระบบจะเห็นว่า สามเสาหลักของสังคมคือ ความดี ความสามารถ และความสุข เกิดความไม่สมดุล เกิดความพร่อง โดยเฉพาะความพร่องด้านความดี เป็นผลให้เกิดความพร่องด้านความสามารถและความสุขไปด้วย

                  จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก จะต้องเร่งฟื้นฟู เสาหลักด้านความดี ซึ่งรวมถึงคุณธรรมจริยธรรม และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้จบ จึงจะช่วยให้ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก ฟื้นคืนและพัฒนาสู่ความเจริญแบบมั่นคงและยั่งยืนได้ ซึ่งสอดรับกับภารกิจหลักของศูนย์คุณธรรม

                     ขออำนวยพร ให้ศูนย์คุณธรรมมีความเป็นองค์กรที่เข้มแข็งและสามารถ บนฐานความดีและคุณธรรมจริยธรรมในตนเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพลังสร้างสรรค์ ให้สังคมไทยดำเนินไปสู่ความเจริญแบบมั่นคงและยั่งยืน สมตามเจตนารมณ์และปณิธานขององค์กรต่อไป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/248829

<<< กลับ

เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต (AIC)

เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต (AIC)


การประชุมระดมความคิด แบบมีส่วนร่วมสูง ( Highly Participative ) ของผู้เกี่ยวข้องทุก ฝ่าย โดยใช้กระบวนการ เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต ( AIC : Appreciation , Influence , Control ) ผสมผสานร่วมกับ เทคนิคการรวบรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์
( TCT : Total Creative Thinking )

 

 

———————————————————

ไพบูลย์     วัฒนศิริธรรม

วิเชียร   ศรีลูกหว้า

มีนาคม ๒๕๕๒

 

การที่จะส่งเสริมให้คนมีความร่วมมือกัน รักกัน และ มีการเรียนรู้ร่วมกันได้นั้น ได้มีคนพยายามค้นคว้าวิธีการโดยการพัฒนา และ วิจัยมาแล้วมากกว่า ๕๐ ปี จนกลายเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า A – I – C   ( โดย William E. Smith และ Turid Sato แห่งสถาบัน ODII สหรัฐอเมริกา ) ซึ่งได้ผ่านการวิจัย   และทดลองใช้รวมทั้งได้มีการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ผู้เขียนเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการทดลอง และนำมาประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับประยุกต์กระบวนการ ขั้นตอน ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม วัฒนธรรมแบบไทย ๆ อย่างได้ผล

 

                A – I – C   เป็นกระบวนการ และ เทคนิคในการนำคนที่ต้องการทำงานร่วมกันทั้งหมดในระบบใดระบบหนึ่ง หรือ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เข้ามา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ( Workshop ) ร่วมกัน ซึ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำมาใช้ในการ จัดทำแผนพัฒนาองค์กร ชุมชน และ สังคม เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะช่วยก่อให้เกิด พลังแห่งความร่วมมือ ได้อย่างดียิ่ง โดยมีขั้นตอน / กระบวนการดำเนินการตามลำดับ รวม ๓ ขั้น ดังนี้

 

ขั้นที่ ๑ A : APPRECIATION   ( การสร้างพลังเมตตา )

 

คือ กระบวนการที่ทำให้ทุกคนให้การยอมรับและชื่นชม ( APPRECIATION ) คนอื่น โดยที่ไม่รู้สึกที่ไม่ดี หรือ แสดงการต่อต้าน หรือ วิพากษ์วิจารณ์

 

กระบวนการในชั้นนี้ ทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมจะมีโอกาสในการแสดงออกได้อย่างทัดเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ทั้ง ข้อเท็จจริง เหตุผล และ ความรู้สึกของตน ตลอดจนการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง เมื่อทุกคนได้แสดงออกโดยได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกที่ดี มีความสุข มีความอบอุ่น และ จะเกิด พลังร่วม ขึ้นในระหว่างคนที่มาประชุมร่วมกัน

 

ขั้นที่ ๒ I : INFLUENCE ( การสร้างพลังปัญญา )

 

คือ การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่แต่ละคนมีอยู่ มาช่วยกันกำหนด วิธีการสำคัญ หรือ         ยุทธศาสตร์ ( STRATEGY ) ที่จะทำให้บรรลุ วิสัยทัศน์ร่วม ( SHARED VISION ) หรือ อุดมการณ์ร่วม   ( SHARED IDEAL ) ของกลุ่มที่มาประชุมร่วมกันได้อย่างดีที่สุด

 

กระบวนการในชั้นนี้ ทุกคนยังมีโอกาสทัดเทียมกัน ให้เกียรติ ให้โอกาส ซึ่งกันและกัน รับฟังข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน โต้เถียงกันด้วยเหตุและผล ยอมรับกัน จะทำให้เกิด พลังร่วมของสติปัญญา        ที่แต่ละคนมี และ นำออกมาร่วมกันกำหนด วิธีการสำคัญที่จะทำให้บรรลุ วิสัยทัศน์ร่วม หรือ อุดมการณ์ร่วม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะมี ปฏิสัมพันธ์ ( INFLUENCE หรือ INTERACTION) ซึ่งกันและกันสูงมาก เพื่อให้ได้ วิธีการสำคัญ ที่กลุ่มเห็นว่าดีที่สุดนั่นเอง

 

ขั้นที่ ๓ C : CONTROL   ( การสร้างพลังพัฒนา )

 

คือ การนำเอา วิธีการสำคัญ มากำหนดเป็น แผนปฏิบัติการ ( ACTION PLAN ) อย่างละเอียดว่า จะทำอะไร อย่างไร มีหลักการและเหตุผลอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ใครจะต้องให้ความร่วมมือ จะต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายเท่าไร จะได้จากแหล่งใดบ้าง กลุ่ม / องค์กร / หน่วยงาน ฯลฯ ของตนเอง มีงบประมาณ และ ทรัพยากรอะไรสนับสนุนบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

 

กระบวนการในชั้นนี้ สมาชิกของกลุ่มแต่ละคนจะตัดสินใจเลือกเองด้วยความสมัครใจว่า    แต่ละคนจะรับอาสาที่จะรับผิดชอบในเรื่องใด หรือ จะให้ความร่วมมือในเรื่องใด หรือ จะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องใด เป็นการกำหนด ข้อผูกพัน ( COMMITMENT ) ให้กับตนเอง เพื่อ ควบคุม ( CONTROL ) ให้เกิดการกระทำอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย หรือ อุดมการณ์ร่วมกัน ในที่สุด ซึ่งก็ คือ การก่อเกิด พลังร่วมของการพัฒนา นั่นเอง

สรุป A – I – C   คือ กระบวนการรวมพลังสร้างอนาคต เป็นการสร้างพลังร่วมในการทำงานร่วมกันของคนหลายฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะเกิดประสิทธิผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการ ที่ช่วยในการดึงพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วในกลุ่ม / องค์กร / หน่วยงาน / ตัวบุคคล ฯลฯ ซึ่งต้องการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันด้วยการยึดหลักของ ความเมตตา ซึ่งถือว่าเป็น ธรรมะอย่างสูง เพราะคนที่จะมี หรือ ให้ความรักความเมตตาคนอื่น ได้นั้น ต้องรับฟังคนอื่นด้วยความอดทน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกับตน เพราะฉะนั้น ตัว A ( เอ ) จะทำให้เกิดพลังแห่งความดี ถ้าใครมีมาก หรือฝึกได้ถึงขั้นจะถือได้ว่าเป็นผู้ที่บรรลุ การพัฒนาทางจิตวิญญาณ ( SPIRITUAL DEVELOPMENT ) และคน ๆ นั้นจะมีความสุขมาก ซึ่งเมื่อคนที่เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมโดยมีความรักความเมตตาต่อกันแล้ว ก็จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการทำงานด้วยกัน ซึ่งก็ คือ ตัว I ( ไอ ) จะทำให้เกิดพลังร่วมของสติปัญญา เพราะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง ( INTERACTIVE LEARNING THROUGH ACTION ) ซึ่งกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น ต้องการการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้ทุกคนตระหนักในความรับผิดชอบ และ ควบคุมตนเอง  ซึ่งก็ คือ ตัว C ( ซี ) ไปสู่การกระทำที่เป็นความต้องการร่วมกัน นั่นเอง

 

อาจสรุปได้ว่าเทคนิค AIC จะช่วยก่อให้เกิด พลังของความร่วมมือ แบบไทย ๆ ว่า…………

 

                A คือ   รู้ รัก สามัคคี          I คือ   ร่วมกันคิด       C คือ ร่วมกันทำ

 

การรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ( TCT : Total Creative Thinking ) เป็นเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการจัดประชุมระดมความคิด เพื่อการพัฒนาองค์กร โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ ความคิดเชิงบวก มากกว่า ความคิดเชิงลบ กล่าวคือ

 

  • ความคิดเชิงบวก ( positive thinking ) คือ การมองอะไรในทัศนะของความเป็นไปได้ เป็นการคิดเพื่อมองหาช่องทางของความสำเร็จ และ มีความเชื่อว่าทุกอย่างทำสำเร็จได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือ ไม่ช้าก็เร็ว
  • ความคิดเชิงลบ ( negative thinking ) คือ การมองอะไรในทัศนะของความเป็นไปไม่ได้ เป็นการคิดแบบปิดกั้นความคิดตัวเอง ไม่พยายามมองหาช่องทางของความสำเร็จ และ มักจะมีความเชื่อว่าทำไปก็ไม่สำเร็จ หรือ ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากนี้ ยังพยายามฉุดรั้งความคิดของคนอื่นอีกต่างหาก ( คุณเคยพูด หรือ เคยได้ยินคำพูดอย่างนี้บ้างไหม เช่น “เรื่องนี้ไม่มีทางทำได้สำเร็จหรอก” “อย่าไปเสียเวลาคิดเลย คนมีอำนาจเขาคงไม่เห็นด้วย” ถ้าเคยพูด หรือ เคยได้ยินมาบ้าง ก็ให้รับรู้ไว้ด้วยว่า ตัวคุณ หรือ คนที่พูด นั้น เป็นคนประเภทนี้แหละ )

 

ขั้นตอนและกระบวนการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยผสมผสานเทคนิค AIC + TCT

 

ขั้นที่ ๑ ตัวเอง ( SELF )

 

  • ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคน คิดคนเดียวตามลำพัง โดยการนำสิ่งที่ตนเองรับรู้หรือ ประสบการณ์ตรงของตนเองที่ได้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องผสมกับความคิดของตนเองที่มีอยู่ โดยการจดบันทึกไว้ในกระดาษสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

 

ขั้นที่ ๒ คนอื่น ( OTHERS )

 

  • นำข้อสรุปความคิดเห็นของตนเอง ( แต่ละคน) มาเสนอ และ แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในกลุ่มย่อย โดยทุกคนที่เสนอ หรือ แสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ Appreciation คือ การนำ พลังเมตตา ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ โดยการชื่นชมยินดีต่อความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม รับรู้ด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และ มองเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่แต่ละคนนำเสนอ
  • รวบรวมความคิดเห็นของแต่ละคนเป็น ความคิดเห็นรวบยอดของกลุ่ม โดยการรวมประเด็นที่เหมือนๆ กันเข้าด้วยกัน และ แยกแยะประเด็นที่แตกต่างกันออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ หาข้อ สรุปร่วมกันเป็นประเด็นใหม่ ที่สมาชิกในกลุ่มมีความพอใจและเห็นชอบร่วมกัน โดยสมาชิกทุกคนร่วมกันเสนอหรือแสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ Influence คือ การนำ พลังปัญญา ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันแบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกและช่วยกันหล่อหลอมความคิดของทุกคนเข้าด้วยกันให้เป็นความคิดและข้อสรุปของกลุ่มโดยไม่มีการขัดแย้ง

 

ขั้นที่ ๓ องค์รวม ( THE WHOLE )

 

  • นำข้อสรุปของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มตามขั้นตอนที่ ๒ มาเสนอในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ (รวมทุกกลุ่ม)
  • สมาชิกในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เสนอแนะเพิ่มเติมความสมบูรณ์ โดยสมาชิกทุกคนยังคงร่วมกันเสนอ หรือ แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของ หลักการ A และ I
  • สรุปรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็น ความคิดรวบยอดองค์รวม ของที่ประชุม
    โดยสมาชิกทุกคนตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ TCT คือ การรวบรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น ข้อเสนอหรือความคิดใดๆที่เป็น เชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ในที่ประชุม ผู้เสนอจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือ ไม่ควรนำเสนอ
  • เมื่อได้ความคิดรวบยอดองค์รวม ที่ตกผลึก ตามความต้องการร่วมกันแล้ว จึงนำมากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และ ความต้องการร่วมกัน โดยสมาชิกทุกคนแสดงตนในการเข้าร่วมบนพื้นฐานของ หลักการ Control คือ การนำพลังพัฒนามาควบคุมตนเองสู่การ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260442

<<< กลับ

 

สารจากประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

สารจากประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ


องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) คือ สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นของประชาชน ดำเนินงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม และมุ่งให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์สูงสุดต่อประชาชน และต่อสังคมการดำเนินงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางนี้ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้ามามีบทบาทในทีวีไทย และสื่ออื่นๆ เพื่อให้เป็นสถานีของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และยืนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างประโยชน์ที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน ในการกำหนดทิศทางการให้บริการของ ส.ส.ท.

“สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ” เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นกลไกหลักที่ทำงานควบคู่กับ ส.ส.ท. ในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ชมและผู้ฟังแล้วสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้นกลับมายัง ส.ส.ท. เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการ และการผลิตรายการขององค์การให้มีคุณภาพสอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและสังคมตลอดจนสะท้อนความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการทั้งสิ้น ๕๐ คน มาจาก ๙ ภูมิภาค ทั่วประเทศไทย และ ๑๖ กลุ่มเฉพาะทางสังคม ที่มีความหลากหลาย

สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการจะคอยติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง ซึ่งถือเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่หลุดจากความนิยมของประชาชน โดยการนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้ชมฯ ไปพัฒนาให้ตอบสนองตามความต้องการในบริบทของสังคมไทย และการแทรกแซงก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมกับการมีกระบวนการจัดการที่ดี   โดยมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดบทบาทหรืออำนาจในสภาผู้ชม และจะต้องขยายผลการสร้างเครือข่ายผู้ชมและผู้ฟังให้กว้างขวางออกไปด้วย

การจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคุณภาพได้นั้น ส.ส.ท. จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และมีจิตสำนึกสาธารณะ   ด้วยการบริการข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรง   รอบด้าน   สมดุล   ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ทำให้ประชาชนได้คิด   วิเคราะห์   และควรให้ความสำคัญกับข่าวชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม   สะท้อนถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่   ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม  เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน   และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในสังคมโดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ  ทั้งนี้สามารถนำประเด็นเนื้อหาในพื้นที่ของตนมาเผยแพร่สู่สาธารณะ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน อาจพบความยากลำบากบ้างในการเริ่มบุกเบิกความเป็นสื่อสาธารณะที่แตกต่างจากองค์การสื่ออื่นๆ เพราะเน้นการรับใช้สังคมเป็นหลัก  การที่ต้องนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพไม่ผูกติดกับเรตติ้ง แต่ยังคำนึงถึงความเป็นปุถุชนของผู้ชมผู้เป็นเจ้าของ โดยมีความบันเทิงที่มีสาระ และมีสัดส่วนสาระประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลาย โดยปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ การดำเนินงานจึงมุ่งหวังเพื่อยกระดับสังคมแห่งภูมิปัญญา ผ่านการให้ข่าวสารและข้อมูลความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน  ให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและในโลก เพื่อประโยชน์ที่สร้างสรรค์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ให้ได้อย่างดีที่สุด

          นอกจากนี้พันธกิจหลักอีกด้านหนึ่งคือ การส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้สังคมเกิดการเรียนรู้ความเป็น  “พลเมือง” เพราะประชาชนจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้บริโภค” หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเพียงด้านเดียวและฉาบฉวย แต่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เป็นการสื่อสารสองทางเพื่อร่วมกันพัฒนา ร่วมกันเสนอประเด็นในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของสังคมสืบไป

 

 

                                                             (นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม)

                                                          ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260765

<<< กลับ