สารจากประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

สารจากประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ


องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) คือ สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นของประชาชน ดำเนินงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม และมุ่งให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์สูงสุดต่อประชาชน และต่อสังคมการดำเนินงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางนี้ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสูงสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้ามามีบทบาทในทีวีไทย และสื่ออื่นๆ เพื่อให้เป็นสถานีของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และยืนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างประโยชน์ที่แท้จริงอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน ในการกำหนดทิศทางการให้บริการของ ส.ส.ท.

“สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ” เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นกลไกหลักที่ทำงานควบคู่กับ ส.ส.ท. ในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ชมและผู้ฟังแล้วสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้นกลับมายัง ส.ส.ท. เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการ และการผลิตรายการขององค์การให้มีคุณภาพสอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและสังคมตลอดจนสะท้อนความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการทั้งสิ้น ๕๐ คน มาจาก ๙ ภูมิภาค ทั่วประเทศไทย และ ๑๖ กลุ่มเฉพาะทางสังคม ที่มีความหลากหลาย

สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการจะคอยติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง ซึ่งถือเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่หลุดจากความนิยมของประชาชน โดยการนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้ชมฯ ไปพัฒนาให้ตอบสนองตามความต้องการในบริบทของสังคมไทย และการแทรกแซงก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมกับการมีกระบวนการจัดการที่ดี   โดยมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดบทบาทหรืออำนาจในสภาผู้ชม และจะต้องขยายผลการสร้างเครือข่ายผู้ชมและผู้ฟังให้กว้างขวางออกไปด้วย

การจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคุณภาพได้นั้น ส.ส.ท. จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และมีจิตสำนึกสาธารณะ   ด้วยการบริการข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรง   รอบด้าน   สมดุล   ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ทำให้ประชาชนได้คิด   วิเคราะห์   และควรให้ความสำคัญกับข่าวชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม   สะท้อนถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่   ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม  เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน   และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในสังคมโดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ  ทั้งนี้สามารถนำประเด็นเนื้อหาในพื้นที่ของตนมาเผยแพร่สู่สาธารณะ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน อาจพบความยากลำบากบ้างในการเริ่มบุกเบิกความเป็นสื่อสาธารณะที่แตกต่างจากองค์การสื่ออื่นๆ เพราะเน้นการรับใช้สังคมเป็นหลัก  การที่ต้องนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพไม่ผูกติดกับเรตติ้ง แต่ยังคำนึงถึงความเป็นปุถุชนของผู้ชมผู้เป็นเจ้าของ โดยมีความบันเทิงที่มีสาระ และมีสัดส่วนสาระประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลาย โดยปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ การดำเนินงานจึงมุ่งหวังเพื่อยกระดับสังคมแห่งภูมิปัญญา ผ่านการให้ข่าวสารและข้อมูลความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน  ให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและในโลก เพื่อประโยชน์ที่สร้างสรรค์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ให้ได้อย่างดีที่สุด

          นอกจากนี้พันธกิจหลักอีกด้านหนึ่งคือ การส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้สังคมเกิดการเรียนรู้ความเป็น  “พลเมือง” เพราะประชาชนจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้บริโภค” หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเพียงด้านเดียวและฉาบฉวย แต่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เป็นการสื่อสารสองทางเพื่อร่วมกันพัฒนา ร่วมกันเสนอประเด็นในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของสังคมสืบไป

 

 

                                                             (นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม)

                                                          ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260765

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *