จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 36 (3 ธ.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 36 (3 ธ.ค. 50)


ระหว่างอยู่ในรัฐบาล  พยายามไม่ไปต่างประเทศ แต่ก็ต้องไปบ้าง

               ระหว่างผมทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาว่ามีภารกิจต้องทำมาก โดยต้องอยู่ในประเทศ จึงพยายามไม่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะการไปต่างประเทศแต่ละครั้ง มักต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง การต้องมีพิธีการต่างๆ กับเรื่องจิปาถะค่อนข้างมาก และสาระที่ได้จากการเดินทางไปต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไปประชุม ก็มักมีน้อยหรือไม่มากนัก ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

                ฉะนั้น ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลชั่วคราว ผมจึงตัดสินใจไม่เดินทางไปเองในกรณีได้รับเชิญไปประชุมต่างประเทศ โดยจะมอบหมายให้ผู้อื่นไปแทน เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นต้น

                ต่อมาเมื่อผมได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.). โดยมีหมอพลเดช  ปิ่นประทีป  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ (กระทรวง พม.) ผมก็ยิ่งสะดวกขึ้น เพราะสามารถมอบหมายให้ รมช. ไปต่างประเทศแทน  ซึ่งเป็นผลให้หมอพลเดชต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง

                ที่คงจะทารุณหน่อย   คือระหว่างวันที่ 5 ถึง 15 ธ.ค. นี้ หมอพลเดช ในฐานะ รมช.พม. ต้องเดินทางไปประชุมแทนผมที่ประเทศเวียดนาม (กรุงฮานอย) ระหว่าง 5-7 ธ.ค. กลับมาประเทศไทยแล้วไปประชุมที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค. จากนั้นบินตรงไปกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประชุมในวันที่ 14 ธ.ค. ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

                ดีแล้วที่ผมไม่ไปเอง  เพราะสภาพร่างกายของผมคงยังไม่เหมาะที่จะสมบุกสมบันขนาดนั้น ! (แต่หมอพลเดชยังหนุ่มกว่ามาก  และบอกว่าสู้ไหว !)

                ที่จริงยังมีรายการประชุมที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค. ซึ่งผมมอบหมายให้รักษาการปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าคณะไปแทน

                อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลา 13 เดือนเศษที่ผมอยู่ในรัฐบาล ก็ได้มี 2 ครั้งที่ผมจำเป็นต้องไปต่างประเทศ เพราะได้รับการเชิญและร้องขออย่างเจาะจงตัวให้ไป ซึ่งเป็นการไปกล่าวปาฐกถา  ไม่ใช่ไปประชุมธรรมดา

                ครั้งแรก ไปพูดเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนในการประชุม ซึ่ง ESCAP เป็นผู้จัดที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2550 

                ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไปพูดเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจนในเมือง ในการประชุม ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่ง Cities Alliance เป็นผู้จัด

                สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลนี้ เพียง 2-3 เดือนข้างหน้า ผมคิดว่าน่าจะไม่มีเหตุให้ผมต้องเดินทางไปต่างประเทศอีก

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                             ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/151117

<<< กลับ

งานพัฒนาชุมชน ภายใต้โลกยุคใหม่ ขับเคลื่อนเพื่อโลกอนาคต

งานพัฒนาชุมชน ภายใต้โลกยุคใหม่ ขับเคลื่อนเพื่อโลกอนาคต


ประเด็นประกอบการปาฐกถาพิเศษ

โดย

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรี

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วันที่ 17 ธันวาคม 2550 เวลา 9.20-10.20 น.

ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 1

ณ อุทยานการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

  1. โลกยุคใหม่ ไร้พรหมแดน
  • มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก
  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ภูมิภาค ประเทศ และชุมชนท้องถิ่นจะเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี ผลกระทบจะมีทั้งด้านการพัฒนาและการสร้างปัญหา
  • กระแสโลกาภิวัตน์ มีลักษณะอยู่ในบริบทของความโลภ ความหลง และความรุนแรง
  • งานพัฒนาชุมชนภายใต้โลกยุคใหม่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงต้องการการปรับตัวในการขับเคลื่อน
  1. สาระสำคัญของงานพัฒนาชุมชน
  • ความหมาย : การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นทุกรูปแบบ ทุกด้าน ทั้งกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อนามัย จิตใจโดยความร่วมมือของประชาชนในชุมชนเอง และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีการวางแผนและการจัดการสู่สภาพที่พึงปรารถนา
  • ปรัชญา : เป็นการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนพื้นฐานของศรัทธา โดยเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถ มีพลัง และมีความพ้อมที่จะพัฒนาถ้ามีโอกาส
  • อุดมการณ์ คือ สร้างพลังชุมชนเละใช้พลังชุมชนในการพัฒนา ซึ่งพลังชุมชนในการพัฒนาเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  • พัฒนาชุมชน มีความเป็นกระบวนการคือ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีแบบแผนขั้นตอนของการวิเคราะห์ การวางแผน การดำเนินการ การประเมินผล
  • งานพัฒนาชุมชนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศได้
  1. บริบทของการขับเคลื่อน
  • เป้าหมายการพัฒนาชุมชน

                            Ø       ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

Ø       สังคมคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การเมืองสมานฉันท์

  • หลักการพัฒนาที่ฐานการขับเคลื่อนอยู่ที่ชุมชน ( Community – Driven Development)

Ø       พื้นที่เป็นตัวตั้ง

Ø       ชุมชนเป็นแกนหลัก

Ø       ประชาชนมีบทบาทสำคัญ

Ø       รวมพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน

Ø       บูรณาการทุกเรื่อง

  • บริบทของการขับเคลื่อน

ขับเคลื่อนทั้งระบบ : กฎหมาย – นโยบาย – โครงสร้าง – ยุทธศาสตร์- แผนงาน – การดำเนินงาน – งบประมาณ

ขับเคลื่อนทุกระดับ : ชุมชน – ท้องถิ่น – ภูมิภาค – ประเทศ – โลก

ขับเคลื่อนเป็นกระบวนการ  : เชื่อมโยงทุกกลไก ทุกภาคส่วน ร่วมกันอย่างมีพลัง

  1. การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
  • นโยบายรัฐบาล

                รัฐมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ทุกชุมชนท้องถิ่น และประชาสังคม ให้สามารถบริหารจัดการตนเองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การปกครอง และทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

  • แนวทาง
  1. สร้างความเป็นธรรมทั้งด้านกฎหมายและสังคม
  2. ความเป็นเจ้าของตามวิถีชีวิต
  3. การมีส่วนร่วมที่แท้จริงตลอดกระบวนการ
  • ปัจจัยของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

                Ø       ทัศนคติการพึ่งตนเองและร่วมมือกันของชุมชน

Ø       การเรียนรู้และการพัฒนาผ่านปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

Ø       การเชื่อมโยง รวมตัวกันเป็นเครือข่าย

Ø       มีกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม

Ø       การมีนโยบายที่เอื้ออำนวย

  • การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยมีแนวทางให้ประชาชนเป็นเจ้าของการพัฒนาอย่างแท้จริง 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเป็นจุดๆในบางพื้นที่ตามโครงการพัฒนา แต่มีการทำงานที่ใช้พื้นที่เป็นหลัก และทำงานครอบคลุมเต็มพื้นที่ คือเชื่อมโยงชุมชนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานและภาคีอื่นๆ ให้เห็นภาพรวมและการทำงานร่วมกัน โดยประชาชนเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปถูกทาง จัดระบบการทำงานและจัดความสัมพันธ์ใหม่ในท้องถิ่น ตั้งแต่ระบบข้อมูล แผนงาน งบประมาณ การบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา ให้เป็นระบบและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากเราสามารถทำได้จริงจัง กว้างขวาง เราจะเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่น ประเทศและประชาธิปไตยระบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่ดำเนินการแนวนี้ เช่น แผนชุมชน บ้านมั่นคง สวัสดิการชุมชน องค์กรการเงินชุมชน

  • การบริหารจัดการชุมชน
  1. ข้อมูล                                                 2. ความรู้
  2. คน                                                      4. องค์กร
  3. การจัดความสัมพันธ์                       6. กิจการ
  4. เงิน                                                     8. กองทุน
  5. ชุมชน
  • การสร้างการเมืองสมานฉันท์ในท้องถิ่น
  1. ภาคประชาชนต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ร่วมคิด ร่วมทำให้พึ่งตนเองได้
  2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหนุนเสริมภาคประชาชน
  3. ราชการส่วนภูมิภาค กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องเดินเข้าหาประชาชนใช้อำนาจหนุนเสริมมากกว่าสั่งการ
  4. ภาคประชาสังคมและผู้รู้ต้องมีบทบาทหนุนเสริมประชาชน
  5. รัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายจัดสรรงบประมาณสนับสนุนภาคประชาชน
  6. การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนระดับโครงสร้างและนโยบาย

การพัฒนาชุมชนจะประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย ตามปรัชญาและอุดมการณ์ได้ ไม่เพียงแต่การดำเนินงานที่ดีระดับชุมชนท้องถิ่น การสนับสนุนระดับมหภาคจะมีบทบาทสำคัญมาก

                5.1 รัฐธรรมนูญกับชุมชน

รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ความสำคัญกับชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่นและรับรองสิทธิชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เกื้อหนุนต่องานพัฒนาชุมชน

                5.2 กระบวนการทางกฎหมาย

การมีกฎหมายที่รองรับ เอื้ออำนวยต่องานและขบวนการพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งความสำคัญไม่ได้อยู่ที่สาระของกฎหมายอย่างเดียว แต่สำคัญที่ใช้กระบวนการเสนอกฎมายเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของชุมชน ขบวนการชุมชน ขบวนการทางสังคมของทุกฝ่ายร่วมกันซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของสังคม การพัฒนาประชาธิปไตย และการสร้างธรรมาภิบาล

ตัวอย่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน  พรบ. สุขภาพแห่งชาติ

                5.3 การปฏิรูปสังคมและการเมือง

  • งานพัฒนาชุมชนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนและชุมชน แต่ชุมชนอยู่ภายใต้ระบบใหญ่ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาการปฏิรูปสังคมและการเมืองไปสู่สิ่งพึงปรารถนาควบคู่ไปด้วย
  • ประชาธิปไตยคือประชาชนมีบทบาทสำคัญ ประชาชนคือองค์ประกอบสำคัญของสังคม รากฐานของสังคมคือชุมชน ประชาชนจะมีบทบาทได้ดีและสังคมจะพัฒนาได้อย่างมั่นคงยั่งยืนก็เมื่อมีชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนที่เข้มแข้งจะเป็นชุมชนที่พอเพียงพร้อมกับเป็นประชาธิปไตย ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนพอเพียง และชุมชนประชาธิปไตย เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และควรเป็นเรื่องเดียวกัน

                5.4 การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

  • นโยบายรัฐที่มีความสำคัญต่องานพัฒนาชุมชนในระดับโครงสร้างและส่งผลต่อปฏิบัติการในพื้นที่
  • การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนต้องพิจารณาถึง
  1. องค์ประกอบสำคัญของนโยบายที่ครบถ้วน
  2. ปรัชญา แนวคิด ทิศทาง ยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโยงกัน
  3. ระดับของนโยบายที่เชื่อมต่อทุกระดับตั่งแต่ท้องถิ่น จังหวัด ภาค ประเทศ และสังคมโลก
  4. กระบวนการสร้างนโยบายที่มีเวทีการเรียนรู้ร่วมกัน
  5. การบริหารนโยบายที่ดี ทั้งการดำเนินงาน การวัดผล และการพัฒนา

                5.5 การเรียนรู้และการจัดการความรู้

  • ต้องมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ
  • สร้างการเรียนรู้ร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  • มีการจัดการความรู้ ยกระดับจากประสบการณ์ บทเรียนไปสู่องค์ความรู้ที่มีสาระและคุณค่า ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้สังคมไทย ความรู้สังคมโลก
  1. บทสรุป

งานพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการและขบวนการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ เพราะปรัชญา อุดมการณ์ ที่ถูกต้องและใช้ได้ตลอดกาล แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ผู้เกี่ยวข้องต้องรู้เท่าทัน สามารถรับมือและบริหารจัดการการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลง ทั้งการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นและประเทศ ต้องทำอย่างเป็นระบบเป็นขบวนการในทุกระดับ โดยยังคงยึดมั่นในหลักการสำคัญที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และหัวใจสำคัญคือ การยึดมั่นความดี การเรียนรู้ต่อเนื่องและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/154757

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 37 (22 ธ.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 37 (22 ธ.ค. 50)


รู้สึกเหมือนกำลังจะปิดเทอมแต่ยังมีการบ้านและต้องรอผลสอบ

                เดือนธันวาคม 2550 เป็นช่วงเวลาที่ผมมีกิจกรรมสำคัญๆหลายรายการ รวมถึงการได้ประชุมคณะกรรมการในรอบ “ปิดท้าย” หรือ “ก่อนปิดท้าย” หลายคณะ

                วันที่ 1 ธันวาคม ร่วมพิธีเริ่มกิจกรรมปิดโครงการ “ทำดีเพื่อพ่อ” ซึ่งจะมีกิจกรรมระหว่าง 1-5 ธ.ค. 50 

                วันที่ 2 ธันวาคม ร่วมพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ได้ชมการแสดงและการสวนสนามที่สง่า งดงาม และน่าประทับใจ

                วันที่ 3 ธันวาคม ร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นข้าราชการที่ดีที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในตอนเช้า

                เป็นประธานการประชุมรอบ “ปิดท้าย” ของคณะกรรมการอำนวยการโครงการ “เจ้าพระยาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” โดยคณะกรรมการมีมติให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่แล้ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ให้สนับสนุนโครงการนี้ต่อไป โดยอาจปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการและแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

                บ่าย เป็นประธานรับฟังการนำเสนอและมอบรางวัลในโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม จัดโดย “ศูนย์คุณธรรม”

                ช่วงค่ำ เป็นประธาน (แทนท่านนายกรัฐมนตรี) ในพิธีถวายพระพรชัยมงคลโดยผู้แทนศาสนาต่างๆ จัดโดยมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ณ บริเวณท้องสนามหลวง

                วันที่ 4 ธันวาคม ร่วมพิธีเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังสวนจิตรลดา

                วันที่ 5 ธันวาคม ร่วมในพิธีเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคม ณ “มุขเด็จ” พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันนี้

                ช่วงบ่าย ร่วมในพิธีเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทรงถวายสมณศักดิ์แด่พระภิกษุ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

                จากนั้น (ช่วงค่ำ) ไปร่วมในพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ณ บริเวณท้องสนามหลวง จัดโดยมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

                วันที่ 6 ธันวาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ซึ่งน่าจะเป็นการประชุม “ปิดท้าย” ก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดปัจจุบัน

                วันที่ 7 ธันวาคม เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะนี้ยังจะมีการประชุมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงยังไม่ “ปิดท้าย”

                ตอนค่ำ เข้าร่วมกิจกรรม “สโมสรสันนิบาต” ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นองค์ประธาน เสร็จแล้วไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเสด็จทอดพระเนตรการแสดงบัลเลต์ โดยคณะ “Mariinsky” ที่ลือชื่อก้องโลก จากประเทศรัสเซีย ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

                วันที่ 8 ธันวาคม (ค่ำ) ไปร่วมในพิธีไว้อาลัยและสวดศพ “คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” ณ วัดวชิรธรรมสาธิต ถนนสุขุมวิท 101 คุณวนิดา (มด) เป็น “เอ็นจีโอ” (นักพัฒนาอิสระ) ที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นมาก เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ขณะอายุเพียง 52 ปี

                วันที่ 9 ธันวาคม (กับคุณหญิงชฎา) ไปต้อนรับเลขาธิการสหประชาชาติ Mr. Ban Ki-Moon และภริยาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เลขาธิการสหประชาชาติมาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 9- 10 ธ.ค. 50 โดยมีกำหนดเข้าพบหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 ธ.ค. ช่วงเช้า และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบ่ายวันเดียวกัน

                วันที่ 10 ธันวาคม ร่วมในการต้อนรับเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเป็นพิธีการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีต้อนรับ แล้วนายกรัฐมนตรีแนะนำคณะรัฐมนตรีและทูตานุทูต จากนั้นนายกรัฐมนตรีพบหารือเฉพาะตัวกับเลขาธิการสหประชาชาติ ก่อนการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะ (ซึ่งผมร่วมอยู่ด้วย) กับเลขาธิการสหประชาชาติและคณะ ก่อนการร่วมกันแถลงข่าวและร่วมในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ตึกสันติไมตรี

                ระหว่างวันที่ 10 ตอนค่ำ – วันที่ 12 ธ.ค. ผมต้องรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีซึ่งเดินทางไปราชการ ณ ประเทศบาห์เรน และท่านรองนายกฯโฆษิต อยู่ระหว่างเดินทางไปประเทศเยอรมนี และเดนมาร์ก

                วันที่ 11 ธันวาคม เช้า (กับคุณหญิงชฎา) ไปส่งเลขาธิการสหประชาชาติและภริยาที่สนามบินสุวรรณภูมิ

                เป็นประธานการประชุม ครม. แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปต่างประเทศและท่านรองนายกฯโฆษิต  ก็อยู่ต่างประเทศเช่นเดียวกัน ผมจึงได้รับมอบหมายให้รักษาราชการแทนท่านนายกรัฐมนตรี

                ตอนค่ำ เป็นประธานการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ “คณะกรรมการแห่งปี” (Board of the Year Award) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ “สมาคมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” (Institute of Directors – I.O.D.) และองค์กรร่วมจัดอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

                วันที่ 12 ธันวาคม เช้า เข้าร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำเสนอร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หลังจากที่ผมได้นำเสนอ (สั้นๆ) ฉบับร่างของรัฐบาล และสมาชิก สนช. (ว่าที่ รอ.จิตร์ ศิรธรานนท์) ได้นำเสนอฉบับของสมาชิก สนช. แล้ว ได้มีการอภิปรายโดยสมาชิก สนช. หลายคน ในขณะที่มีกลุ่มประชาชน นำโดยคุณจอน อึ๊งภากรณ์ ชุมนุมกันนอกสภาฯ รณรงค์ให้สภาฯยุติการประชุมหรือยุติร่างกฎหมายที่ประชาชนคัดค้าน แล้วได้บุกเข้าไปในสภาฯถึงหน้าห้องประชุม ทำให้การประชุมต้องหยุดชะงักและประธานสั่งเลิกประชุมสำหรับวันนี้ โดยการพิจารณาร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ยังไม่เสร็จสิ้น (ยังไม่ได้ลงมติรับหลักการ)

                เดินทางไปบรรยายหัวข้อ “ธรรมาภิบาลราชการไทย” ให้กับนักศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารและตำรวจ ปี 4 และนักเรียนเตรียมทหาร ปี 3 พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ รวมประมาณ 1,000 คน ณ โรงเรียนเตรียมทหาร ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งจัดโดยกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

                วันที่ 13 ธันวาคม เช้า (กับ รมต.ธีรภัทร์) พบสนทนากับคุณจอน อึ๊งภากรณ์ และคณะเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. และความเห็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยผมรับที่จะถ่ายทอดความเห็นของคุณจอนและคณะต่อท่านนายกรัฐมนตรี และท่านประธาน สนช. ซึ่งผมได้ดำเนินการในเวลาต่อมา

                ช่วงสายไปร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประชุมเริ่มด้วยการพิจารณาร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยไม่มีผู้อภิปรายต่อ จึงลงคะแนนรับหลักการทั้ง 2 ร่าง คือ ทั้งร่างของรัฐบาลและร่างของ สนช. แต่ให้ใช้ร่างของ สนช. เป็นหลัก และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 48 คน โดยกำหนดให้แปรญัติได้ภายใน 5 วัน

                บ่าย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าเป็นการประชุมนัดก่อนสุดท้ายภายใต้รัฐบาลชุดนี้

                ค่ำ เป็นประธาน (แทนท่านนายกรัฐมนตรี) ในงานมอบถ้วยรางวัลและเลี้ยงสังสรรค์ หลังการแข่งขันกีฬาระหว่างหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

                วันที่ 14 ธันวาคม เช้า เป็นประธานมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                บ่าย เป็นประธานร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างไทย (โดย รมว. พม.) กับโปรตุเกส (โดยเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย) เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดภูเก็ต

                จากนั้น เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2551 ซึ่งได้ข้อสรุปหลักการและแนวทางการจัดประชุมที่ชัดเจน และนัดประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 ม.ค. 51

                วันที่ 15 ธันวาคม เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปีของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย”

                วันที่ 17 ธันวาคม เดินทางไปที่ “อุทยานการเรียนรู้” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “งานพัฒนาชุมชนภายใต้โลกยุคใหม่ ขับเคลื่อนเพื่อโลกอนาคต” ในการสัมมนาทางวิชาการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 1 เรื่อง “ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน เพื่อโลกอนาคต” วันที่ 17 – 18 ธ.ค. 50 จัดโดยภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวิชาการพัฒนาชุมชน (จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ)

                กลางวัน ร่วมโต๊ะสนทนาพร้อมรับประทานอาหารกับท่านนายกรัฐมนตรี (ซึ่งจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกวันจันทร์ เป็นการร่วมโต๊ะสนทนา พร้อมรับประทานอาหารกลางวันแบบง่ายๆ ระหว่างนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีทุกคน และทีมงานของท่านนายกฯ 3 คน)

                บ่าย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ซึ่งคาดว่า เป็นการประชุมนัดสุดท้ายภายใต้รัฐบาลนี้

                ค่ำ ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองฉลองการครบ 100 ปี ของวันชาติประเทศภูฏาน

                วันที่ 18 ธันวาคม เข้าร่วมประชุม ครม. ซึ่งมีวาระมากเป็นพิเศษ กว่า 40 เรื่อง และประชุมจนถึง 16.00 น.

                บ่าย (กับคุณหญิงชฎา) ไปร่วมเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเสด็จทอดพระเนตร งาน “ศิลป์แผ่นดิน” ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม งานเริ่มประมาณ 16.30 น. เสด็จถึงงานประมาณ 17.00 น. และเสด็จกลับประมาณ 19.30 น.

                วันที่ 19 ธันวาคม เช้า เป็นประธานเปิดการสัมมนาเปิดตัวโครงการ “ทศวรรษแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ แล้วมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอรัฐมนตรี คณะที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปใน วันที่ 23 ธ.ค.

                บ่าย เป็นประธานการลงนามความร่วมมือโครงการ “สโมสรต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งดำเนินการโดย มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทยในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และธนาคารออมสิน

                จากนั้น เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการจัดประชุมนานาชาติเรื่อง “ชุมชนปลอดภัย” ซึ่งได้จัดขึ้นไปเรียบร้อยแล้วและครั้งนี้เป็นการประชุม “ปิดงาน” โดยมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เรื่อง “ชุมชนปลอดภัย”ในประเทศไทยต่อไปให้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น

                ตอนเย็น ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้สื่อข่าวคณะหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

                วันที่ 20 ธันวาคม เช้า เป็นประธานเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่องเกี่ยวกับการจัดระเบียบหอพัก และประกาศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการจดทะเบียนหอพัก แล้วมาเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และถือเป็นการประชุม “ปิดงาน” ไปด้วยในตัว

                บ่าย เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ” ต่อด้วยการเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ทั้ง 2 คณะนี้เป็นการประชุม “ปิดท้าย” ก่อนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

                เย็น ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้สื่อข่าวอีกคณะหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

                วันที่ 21 ธันวาคม เช้า เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” 

                บ่าย  เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” ทั้งสองคณะนี้ได้กำหนดที่จะประชุมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนกลางเดือนมกราคม 2551

                เย็น ประชุม “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล” (พิจารณากรณีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยผมเข้าร่วมด้วยเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากติดพันกับการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู ฯ ซึ่งยืดเยื้อมากเพราะมีการพิจารณาการสรรหาเลขาธิการกองทุนฯ   ซึ่งมีประเด็นหลายชั้นแต่ในที่สุดก็หาข้อสรุปได้และได้เลขาธิการคนใหม่คือคุณนคร ศรีวิพัฒน์ แทนคุณจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ซึ่งรักษาการเลขาธิการมานานเกือบ 2 ปี สำหรับการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลฯ  ถือเป็นการประชุม “ปิดท้าย” ก่อนทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี

                วันที่ 21 ธันวาคม นี้เป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยสภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติในช่วง 3 วัน (19-21 ธ.ค.) รวม 65 ฉบับ อนุสัญญา 1 ฉบับ เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตลอดสมัยการประชุมรวมทั้งสิ้น 215  ฉบับ สำหรับร่าง พรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ในสัปดาห์นี้ จึงเป็นอันยุติไปโดยไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้แต่งตั้งไว้แล้ว (แต่รัฐบาลใหม่สามารถหยิบยกร่าง พรบ. นี้ขึ้นมาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่งได้ภายใน 60 วัน หลังจากเข้ารับหน้าที่) 

                วันที่ 22  ธันวาคม  เช้า ไปร่วมกิจกรรมจัดโดยสภามหาวิทยาลัยมหิดลชื่อว่า “เวทีเสวนาสานพลังมหิดล (Mahidol Policy Dialogue): มองปัจจุบัน… สร้างสรรค์อนาคต” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม ใช้เวลาครึ่งวัน

            ที่สรุปมาเป็นภาพกิจกรรมเกี่ยวกับภารกิจของผมตลอดเดือนธันวาคม 2550 จนถึงวันนี้ (22 ธ.ค.) พรุ่งนี้ (23 ธ.ค. 50)  คือวันสำคัญที่จะกำหนดการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยและประเทศไทย

            ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกคล้ายๆ กำลังจะปิดเทอม แต่ยังมีการบ้านให้ทำ และยังต้องรอผลสอบ  คือผลของเหตุการณ์ วันที่ 23 ธ.ค.50 นั่นเอง !

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                         ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/155878

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 38 (2 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 38 (2 ม.ค. 51)


วันเวลาที่ผ่านไป ควรเป็นการเรียนรู้และการพัฒนาของคนและสังคม ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ สวัสดีปีใหม่ครับ !

                ในโอกาสการเปลี่ยนปีปฏิทิน จาก พ.ศ. 2550 เป็น พ.ศ. 2551 ผมขออวยพรให้ “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทุกท่านมีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีสติปัญญาความสามารถที่เข้มแข็ง มีความอยู่เย็นเป็นสุขในตัวเอง และอยู่ในสังคมแห่งความสันติสมานไมตรีที่มั่นคงยั่งยืน ตลอดกาลนาน !

                วันเวลาที่ผ่านไปไม่ว่าจะนับจากเมื่อใด ผมเห็นว่าคนไทยและสังคมไทยได้เรียนรู้และได้พัฒนาดีขึ้นในหลายประการ แม้จะยังมีส่วนที่ไม่ดีอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนและสังคมอันยากจะถึงซึ่งความสมบูรณ์ ไม่ว่าจะในอดีต ในปัจจุบัน หรือในอนาคต

                เราจึงต้องพยายามอยู่เสมอที่จะเรียนรู้ให้มากและพัฒนาให้ดี ทั้งที่ทำตามลำพังและร่วมกันทำ เพื่อให้คนไทย และสังคมไทยมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เราควรเน้นการคิดและทำเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า มากกว่าการบ่นว่าอดีต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ปัจจุบัน โดยไม่ทำอะไร

                สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเวลาทำงาน 4 วัน (วันที่ 24 ธ.ค. หยุดราชการอันเนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.)

                วันที่ 25 ธ.ค. (เช้า)ร่วมประชุม ครม. ซึ่งมีวาระพอประมาณไม่มากจนเกินไป (กลางวัน)ไปร่วมการเลี้ยงขอบคุณคณะอนุกรรมการและผู้สนับสนุน “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” (ที่ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)  (บ่าย)ไปกล่าวปาฐกถามอบนโยบายการกระจาย “กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม” สู่ภูมิภาคและท้องถิ่น แล้วไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายโครงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เป็นการประชุมปิดท้าย)

                วันที่ 26 ธ.ค. (เช้า)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (บ่าย)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (อยู่ระยะหนึ่งแล้วมอบหมาย รมช.นพ.พลเดช เป็นประธานแทน) (เย็น)บันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์งานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 3 (จะจัดปลายเดือนมกราคม 2551 วันที่ 25 – 27)

                วันที่ 27 ธ.ค. (เช้า)เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน” แล้วไปเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ” (กทม./นนทบุรี/นครปฐม/ปทุมธานี/สมุทรปราการ/สมุทรสาคร) (บ่าย)ไปปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย” เนื่องในวัน “กำพล วัชรพล” จัดโดย “มูลนิธิไทยรัฐ” (ที่ สนง. นสพ.ไทยรัฐ) (เย็น/ค่ำ)ร่วมประชุมหารือเรื่องเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (TITV ปัจจุบัน)

                วันที่ 28 ธ.ค. (วันทำงานสุดท้ายของปี) เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่อง “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด” และมีการพบหารือกับบุคคลคณะต่างๆ กับกิจกรรมอื่นๆ

                สำหรับ “ผลสอบ” หรือผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธ.ค. นั้น เป็นที่ทราบและมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันมากแล้ว ผมเองขอให้ความเห็นสั้นๆ โดยย้อนกลับไปที่ข้อความตอนต้นของจดหมายฉบับนี้ก็นะครับ !

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157153

<<< กลับ

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 1)

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 1)


ปาฐกถาพิเศษ โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                                                                     รองนายกรัฐมนตรี

                                 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                         ในโอกาสวัน “กำพล วัชรพล” จัดโดย มูลนิธิไทยรัฐ ณ อาคารสำนักงาน นสพ.ไทยรัฐ

วันที่ 27 ธันวาคม 2550

 

เรียนคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ท่านประธานกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ เรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย ควรจะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ และเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความดี กันมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสนี้ผมใคร่ขอเสนอ “บันไดวน 4 ขั้น” ในการเสริมสร้างคุณธรรมและความดี ที่เรียกว่าบันไดวน เพราะว่าเป็นขั้นบันไดที่จะต่อเนื่อง และวนเวียนขึ้นไปหรือลงมา แล้วแต่กรณี แต่เราย่อมคาดหวังว่าจะเป็นการวนขึ้นไปสู่สภาพที่ดีขึ้น ดีขึ้น และเป็นบันไดที่อาจจะเดินข้ามจากหนึ่งไปสาม กลับมาสองแล้วไปสี่ จากสี่ก็ไปหนึ่งใหม่ วนขึ้นไปเป็นลำดับ

คำว่า “คุณธรรม” หมายความได้ต่างๆ นาๆ เพื่อให้ง่าย ผมขอใช้คำว่า “ความดี” แทนคุณธรรม เพราะความดีคือสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ดีในตัว ทำแล้วดี เกิดผลดี เช่นเดียวกับคุณธรรม คุณธรรมเป็นเรื่องที่ดี เป็นความถูกต้อง เป็นความดีงาม เป็นความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น ฉะนั้นพูดง่ายๆ คุณธรรมคือความดี และความดีเป็นคุณธรรม ถ้าสังคมเรามีความดีมากเท่าไหร่ ต่อเนื่องลึกซึ้งมากเท่าไหร่ แพร่ขยายกว้างขวางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นฐาน เป็นโครง เป็นพลังให้กับสังคมมากขึ้นเท่านั้น

“บันไดขั้นที่หนึ่ง” ของการเสริมสร้างความดีในสังคม คือ การค้นหาความดี เราอยากเห็นความดี เราอยากทำความดี เราอยากให้มีความดีมากๆ ในสังคม ไม่ต้องไปที่ไหนไกล มองที่ตัวเรา มองที่ครอบครัว มองที่เพื่อน มองในองค์กร ในชุมชนและในสังคม จะพบความดีมากมาย ถ้าไม่มีความดีในตัวเรา ในครอบครัว ในองค์กร ในชุมชน ในสังคม ป่านนี้เราคงย่อยยับอับจนเป็นอันมาก ถ้าไม่มีความดีอยู่ในเครือข่ายไทยรัฐ ป่านนี้คงไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งงอกงามเป็นมูลนิธิไทยรัฐที่ทำประโยชน์มาก เกิดโรงเรียนไทยรัฐที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่เพราะมีความดีเราจึงอยู่ดัวยกันได้และเจริญงอกงามอยู่เป็นประจำ

แต่ก็น่าแปลกใจนะครับ ในสังคม ในสื่อสารมวลชน แม้กระทั่งในการพูดจา บ่อยครั้งเหลือเกินเราทำตรงกันข้าม เราพยายามค้นหาความเลว ค้นหาความไม่ดี บางทีไม่มีความไม่ดีอยู่นะครับ แต่เราอยากเห็นความไม่ดี เราเลยไปสร้างขึ้นมาทั้งๆ ที่ ไม่มีความจริง หรือมีอยู่เล็กน้อยเราขยายให้ใหญ่ มีความดีกับความไม่ดีอยู่คู่กัน หรือมีความดีอยู่มากพร้อมกับมีความไม่ดีอยู่บ้าง เราไม่สนใจความดี แต่เราไปค้นเอาความไม่ดีขึ้นมา ถ้าเราลองตั้งสติ นั่นคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ลองคิดดู ในครอบครัวเรา ถ้าทุกวันที่เราเจอกันพ่อ แม่ ลูก เราเที่ยวค้นหาว่าลูกคนไหนมีความเลวอะไรบ้าง พ่อเลวยังไงบ้าง แม่ไม่ดียังไงบ้าง ครอบครัวนั้นคงจะไม่มีความสุขเป็นแน่แท้ ในความเป็นจริงก็มีครับ ครอบครัวที่เป็นเช่นนั้น และย่อมถึงซึ่งความเสื่อมโทรม บางครั้งหายนะ บางครั้งเป็นข่าวอื้อฉาวในสังคม เพราะความที่ค้นหาความเลวมาห่ำหั่นกัน แต่ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่อบอุ่นมีความสุข เจอหน้า พ่อ แม่ ลูก เราคงไม่ถามว่าวันนี้ลูกทำความเลวอะไรบ้าง หรือว่าไอ้หนูทำไมแย่อย่างนี้ บ่อยครั้งที่พ่อแม่ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ค้นหาความไม่ดีของลูกและพร่ำบ่น จนลูกซึ่งมีทั้งดีและไม่ดีกลายเป็นคนไม่ดีไปเลย

จากอุทาหรณ์ง่ายๆ นี้ครับ จะเห็นว่าการค้นหาความดี สร้างคุณอนันต์ แต่การมุ่งค้นหาความไม่ดี สามารถสร้างโทษมหันต์ ผมเกี่ยวข้องกับองค์กรหนึ่งคือ “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม” หรือ “ศูนย์คุณธรรม” มีหลักการและหลักคิดเป็นอันมากที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ ข้อหนึ่งคือการส่งเสริมความดีและการค้นหาความดี ได้มีการไปทำวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ ในชุมชนหนึ่งมีนักวิจัยเข้าไป ชวนชาวบ้านมาพูดคุย ถามว่าคนไหนเขาดียังไงบ้าง พบว่าทุกคนมีความดี ทุกคนมีจุดแข็ง ทุกคนสร้างประโยชน์ นำมาประมวลเป็นข้อมูล เอาไปติดไว้ที่ท่ามกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านมาดู เกิดความประทับใจว่า โอ้โฮ พวกเรานี้ก็มีดีต่างๆนาๆ มากทีเดียว ถ้าเผื่อเรานำความดีมาเชื่อมโยงกัน นำมาใช้ นำมาประสานเข้าด้วยกัน เราก็สามารถเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็ง มีความสุขได้ไม่ยาก

ทดลองทำกรณีโรงเรียน ทีแรกไปถามเด็กนักเรียนว่ามีปัญหาหรือความไม่ดีอะไรบ้าง จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ปรากฏว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จ นักเรียนไม่ค่อยสนใจ ต่อมาลองใหม่ ถามเอ๊ะพวกเรามีดีอะไรบ้าง แล้วเราจะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง ปรากฏว่านักเรียนสนุกมีความสุข แล้วก็ทำกันมากขึ้น การค้นหาความดีเป็นยุทธศาสตร์ เป็นศิลปะ ในทางวิชาการบริหารได้มีเทคนิค ที่เรียกว่า Appreciative Inquiry (แอพพรีซิเอทีฟ อินไควเออรี่) หรือ เอไอ อีกเทคนิคหนึ่งคล้ายๆ กันที่เขาเรียกว่า เอไอซี หรือ Appreciation Influence Control (แอพพรีซิเอชัน อินฟลูเอนซ์ คอนโทรล) สองเทคนิคนี้สอดคล้องต้องกันและไปในทิศทางที่ตั้งอยู่บนหลักคิดว่า ความดี ความเข้มแข็ง ความสามารถ มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าค้นหาให้พบ และนอกจากพบแล้วให้ความชื่นชม ให้เกียรติ ให้คุณค่า จะเกิดพลังยิ่งใหญ่ขึ้นมา คนทุกคน มีความดีมีความเข้มแข็งมีความสามารถ และคนทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีคุณค่า เมื่อคนทุกคนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า ไม่ใช่รู้สึกเพราะรู้สึกเองแต่รู้สึกเพราะว่ามีคนมาเห็นมีคนมาชื่นชม ก็เกิดกำลังใจ เกิดความภาคภูมิใจ เกิดพลังที่จะคิดและทำและพูดในสิ่งที่ดีมากขึ้น เทคนิคนี้ได้ใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นเทคนิคในการจัดการ ช่วยให้องค์กรทั้งเล็กและใหญ่พัฒนาก้าวหน้าได้มาก เป็นศาสตร์ที่เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ เป็นตำรา เป็นคู่มือการบริหาร ขยายวงกว้างออกไป ฉะนั้นเรื่องการค้นหาความดี ชื่นชมความดี เป็นทั้งหลักการ และเป็นเทคนิควิธีการด้วย ที่จะทำให้ความดีปรากฏตัว เพิ่มพลัง ขยายวงมากขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในโรงเรียน ที่นี่ท่านทั้งหลายมาจากโรงเรียนกันมาก บางแห่งคงใช้อยู่แล้ว ซึ่งควรใช้ต่อไปโดยพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ถ้ายังไม่ได้ใช้ก็ควรพิจารณานำมาใช้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าเทคนิคของการค้นหาความดีนี้ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงในการที่จะส่งเสริมคุณธรรม ส่งเสริมความดี นั่นเป็นบันไดขั้นที่1

“บันไดขั้นที่ 2” คือ การเรียนรู้ความดี ความดีหรือคุณธรรมนั้น เมื่อปรากฏอยู่ เมื่อเราค้นหามาได้ สามารถและควรที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปรียบเทียบ เชื่อมโยง สานต่อ พัฒนาต่อ สร้างนวัตกรรมต่อ เราเรียกว่าเป็น “การเรียนรู้” การเรียนรู้คือการปฏิบัติและพัฒนา การเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ข้อมูลเท่านั้น การเรียนรู้ที่แท้จริงก็คือการได้ปฏิบัติและพัฒนาด้วย ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักการศึกษาคงเข้าใจดี การเรียนรู้ความดีมีวิธีการได้หลายอย่าง ที่ใช้กันมากขณะนี้อย่างหนึ่งเรียกว่า “การจัดการความรู้” หรือ Knowledge Management เป็นการเรียนรู้ที่รอบด้านบูรณาการ สามารถที่จะ เกิดความซาบซึ้ง เกิดความลึกซึ้ง และเกิดการพัฒนาได้มาก เพราะการเรียนรู้เช่นนี้ นั่นคือในระบบการจัดการความรู้ ไม่ได้มีแต่สาระ แต่เข้าไปถึงจิตใจ เข้าไปถึงอารมณ์ เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครบมิติ ครบด้าน ทำให้ความรู้ที่มีอยู่ นอกจากได้รับการค้นพบ เช่นเดียวกับการค้นหาความดีแล้ว ยังจะมีการนำมาประมวล จัดระบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดความเป็นพลวัต ความมีชีวิตจิตใจ เกิดการเคลื่อนไหว และเกิดการนำไปปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเขาเรียกว่า เป็นผู้เรียนรู้ หรือผู้ปฏิบัติเชิงการเรียนรู้ ถ้าทำกันในกลุ่มเขาเรียกว่าชุมชนผู้ปฏิบัติหรือชุมชนที่เรียนรู้ ซึ่งในภาษาของการจัดการความรู้ จะเรียกว่าคอมมิวนิตี้ออฟแพรคทิส (Community of Practice) หรือ ซีโอพี หรือ ในภาษาของ Learning Organization (เลิร์นนิ่ง ออร์แกนไนเซชั่น) หรือองค์กรเรียนรู้ ก็เรียกว่า Learning Team หรือ Learning Group (เลิร์นนิ่งทีม หรือ เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) คือ เป็นกลุ่มที่เรียนรู้ เป็นทีมที่เรียนรู้ ฉะนั้นการเรียนรู้ความดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ความดีที่มีอยู่นั้นเกิดพลังขึ้นมา เกิดปฏิสัมพันธ์ และเกิดพัฒนาการต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

บันไดขั้นที่ 3 ครับ การสื่อสารความดี ในครอบครัวเราต้องสื่อสาร ครอบครัวสื่อสารไม่ยากเพราะว่ามีสมาชิกไม่กี่คน และอยู่ใกล้ชิดกัน ปัจจุบันสมาชิกครอบครัวอาจจะต้องอยู่ห่างกันบ้าง ก็มีเครื่องมือสื่อสารทำให้สื่อสารกันได้สะดวก ในองค์กร ในชุมชน เราต้องสื่อสาร ยิ่งในสังคม การสื่อสารได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ มีทั้งคุณค่าและมีทั้งปัญหา ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านสังคม ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง และได้ตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการ ชื่อว่า คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยเห็นความสำคัญของสื่อและการสื่อสาร ที่มีทั้งคุณและโทษ คุณนั้นมากมายแน่นอนครับ ทุกวันนี้ถ้าใครไม่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารน่าจะไม่ใช่คนที่อยู่ในโลกปัจจุบัน ต้องเกี่ยวข้องและเกี่ยวข้องมากกับการสื่อสาร แต่พร้อมกันนั้นเราจะพบว่าในบทวิเคราะห์วิจารณ์ทางด้านสังคม จะพูดถึงมหันตภัยของสื่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนทั่วไป อย่างไรก็ดี ในความพยายามของรัฐบาลปัจจุบันที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราว ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็มีส่วนหนึ่งที่ได้พยายามที่จะให้เกิดการพัฒนาเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน ในทางที่สร้างสรรค์ ที่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงกรณีของการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ และการดูแลในเรื่องของการโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีข้อที่ยังถกเถียง ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นะครับ โดยเฉพาะวันนี้ผมมาพูดที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งได้มีบทวิเคราะห์วิจารณ์ทั้งในทางสนับสนุนและในทางคัดค้าน ในเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดาครับที่ย่อมมีการวิเคราะห์วิจารณ์ในทางต่างๆกันได้ และก็เป็นอิสระ เป็นเสรีภาพของสื่อที่จะทำ แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า เห็นความสำคัญของสื่อและการสื่อสาร

มาโยงเข้าเรื่องความดีและคุณธรรม การใช้สื่อ การสื่อสาร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยให้ความดีที่มีอยู่ได้รับการรับรู้ แพร่กระจายออกไป และไปหนุนเสริมให้เกิดความดีมากขึ้น ขยายวงมากขึ้น รายการโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต ล้วนแล้วแต่สามารถจะช่วยให้เกิดการสื่อสารในเรื่องความดีมากกว่าในเรื่องความไม่ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า มักจะมีคำกล่าวว่าเรื่องดีๆ ขายไม่ได้ ต้องเรื่องร้ายๆ ถึงจะขายดี เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เป็นไปได้ไหมที่เรื่องดีๆ ขายได้ และเรื่องดีๆสร้างประโยชน์ได้

ในบางประเทศเช่นที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งบังเอิญผมเคยไปมา เขามีสถานีโทรทัศน์ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่หวังกำไร ที่เป็นสาธารณะ บริหารงานโดยไม่ใช่เป็นธุรกิจ แต่เป็นประชาสังคม มีรายได้จากการบริจาคและอื่นๆรวมถึงรายได้จากการเก็บและแยกขยะ โดยเขามีขบวนการเก็บขยะมาแปรรูปและจำหน่าย ทำเป็นขบวนการทั่วประเทศ มีอาสาสมัครตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนกระทั่งคนแก่อายุ 70-80 บางครั้งประธานาธิบดีก็ไปช่วยเก็บขยะด้วย ได้ขยะมา แยกแยะอย่างดี นำไปจำหน่าย ซึ่งเขามีความพิถีพิถันมาก เป็นศาสตร์และเป็นศิลปะทีเดียวนะครับ ผมไปเห็นมา เช่นว่า กระดาษหนังสือนี่นะครับ เขาจะมานั่งตัด ที่เป็นสีนั้นแยกไปอีกพวกหนึ่ง ขาวดำอีกพวกหนึ่ง เพราะมูลค่าต่างกัน ถ้าเป็นสายไฟ เขาจะมีวิธีเอาปลอกสายไฟนั้นออกให้เหลือแต่ทองแดง เพราะถ้านำขยะไปจำหน่ายระหว่างที่แยกอย่างมีหลักวิชาและอย่างพิถีพิถันกับไม่แยก ราคาจะต่างกันเยอะ ผลคือการเก็บขยะของเขา สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ซึ่งทันสมัย และเทียบเคียงกับสถานีโทรทัศน์ของธุรกิจได้เลย เขาสามารถมีรายได้จากการเก็บขยะถึง 25% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่เหลือก็มาจากการบริจาค และจากการโฆษณาที่มีแต่การแสดงชื่อบริษัท ไม่มีการโฆษณาสินค้า ปรากฏว่ารายการของโทรทัศน์แห่งนี้มีแต่เรื่องดีๆพร้อมกับเป็นที่นิยมของประชาชนด้วย

ในการนำเสนอเรื่องการทำความดี เขามีศิลปะ มีเทคนิควิธีการ ทำให้คนชอบและนิยม นั่นคือคนซื้อนั่นเอง ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับต้นๆ หนึ่งหรือสองหรือสามของสถานีโทรทัศน์ในประเทศ นี่เป็นตัวอย่าง และก็มีสถานีโทรทัศน์ทำนองนี้อีกหลายช่องที่ประเทศไต้หวัน แสดงว่าเรื่องดีๆ ทำให้ขายได้ ก็ได้ ในประเทศไทยเรา ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าจากสื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วยว่า มีแน่นอนที่ว่าเรื่องดีๆ ขายได้ เพราะเขาเคยเขียนเล่าเรื่องที่เป็นการทำความดี ปรากฏว่าคนอ่านกันมากเลย นิยมกันมากเลย และถามหาเขียนจดหมายมาโทรศัพท์มามากมาย ก็แปลว่าเรื่องดีๆนั้นขายได้ครับ แต่ต้องมีศิลปะ มีวิธีการให้ดีนะครับ

ฉะนั้นถ้าเรามีการค้นหาความดี เรามีการเรียนรู้ความดี เราสามารถจะสื่อสารความดีให้เป็นที่รับรู้ ให้เป็นที่สนใจ และประทับใจ ผมเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ที่ดีๆ ก็มีใช่ไหมครับขณะนี้ ที่คนนิยมกัน แต่บางรายการน่าเสียดายที่ว่าที่คนนิยมนั้นน่ะ ไม่ใช่เป็นของไทย เป็นของต่างประเทศ แต่ก็แปลว่าเรื่องดีๆ ขายได้ แล้วคนไทยก็น่าจะทำได้ ทำออกมาให้สื่อของเรา ได้สื่อสารความดีเป็นหลัก เรื่องดีๆก็จะแพร่ขยายออกไป เราก็จะอยู่ในบรรยากาศของความดี มีจิตใจ อารมณ์ ได้คิดได้ฟังได้เห็นในเรื่องที่ดี เมื่อคิดเรื่องที่ดี ก็จะไปทำเรื่องที่ดี พอเราคิดเรื่องที่ดี ทำเรื่องที่ดี อยู่ในบรรยากาศของความดีมากขึ้นๆ เรื่องไม่ดีจะลดไปเองโดยปริยาย

กลับมาพูดถึงในระดับครอบครัว ถ้าเราค้นหาความดี เรียนรู้ความดี สื่อสารความดีกันในครอบครัว ทำเรื่องดีๆ ไปมากๆ เรื่องไม่ดีจะน้อยลงหรือหมดไปเลย ที่แม่อาจจะมีจุดอ่อนบ้าง พ่ออาจจะทำอะไรไม่ดีบ้าง ลูกอาจจะเกเรบ้าง แต่พอเราเน้นเรื่องความดี ทำเรื่องดีไห้มากๆ ส่วนที่ไม่ดีจะค่อยๆหายไป แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไปหยิบยกความเลวขึ้นมาด่าทอกัน เอาเรื่องความเลว มากล่าวหากัน ชี้หน้าว่ากัน ความเลวจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการทำความเลวที่เป็นการประชดด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พอผมเข้ามารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ปัญหาแรกที่ต้องจัดการคือปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือ ผมก็รีบไปจัดการ เพราะในด้านการดูแลพื้นที่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งมีปัญหาหมอกควัน ก็ไปจัดการ ซึ่งเรื่องหมอกควันนี้เป็นเรื่องยาว แต่ว่ามีอยู่ประเด็นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการทำความไม่ดีเพื่อประชด คือ ราชการด้วยความที่ไม่เข้าใจเรื่องของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวเขา ก็ไปออกกติกาบังคับโน่นบังคับนี่เกี่ยวกับการเผาป่า ซึ่งชาวเขาเขาไม่เข้าใจ หรือเขาทำตามไม่ได้ พอเขาทำตามไม่ได้ ก็ถูกจับถูกลงโทษ ชาวเขาจำนวนหนึ่งเลยเผามากขึ้นเป็นการประชด คือในส่วนที่เขาทำดีเราอาจไม่ได้ไปค้นพบและชื่นชมให้มากพอ แต่เราเที่ยวไปคิดว่าเขาทำไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และไปกล่าวหาเขา ไปจับเขามาทำโทษ ผลจึงออกมาว่า ที่เขาเคยทำดีเลยเลิกทำ แล้วมาทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นการแก้แค้น เป็นการประชด เขาพูดเองนะครับ ว่าบางทีเขาก็เผาเพื่อประชด เพราะว่าเขาทำดีไปไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครชื่นชม และยังถูกจับอีก ถูกกล่าวหาอีก อย่างนี้เป็นต้นนะครับ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนด้วยว่าเรื่องความดีนั้น เราควรพยายามค้นหา พยายามชื่นชม พยายามเรียนรู้และพัฒนา พยายามสื่อสาร จึงจะเป็นผลดีและเกิดประโยชน์

คราวนี้ก็มาถึง บันไดขั้นที่ 4 คือ การขับเคลื่อนความดี ความดีเป็นทุน ความดีเป็นประโยชน์ ความดีเป็นเครื่องมือ เป็นปัจจัย ถ้าขับเคลื่อนให้เคลื่อนไหว ให้เชื่อมโยง ให้ประสาน ให้เกิดพลัง ถ้าไม่ทำลึก ก็ทำกว้าง ความดีจะงอกเงย มีพลังมากขึ้น เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในระยะหลังๆ ที่ผมกล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่าได้มีขบวนการความดีมากขึ้น องค์กรที่ผมกล่าวถึงเมื่อตอนต้น คือ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรม เป็นองค์กรหรือองค์การของรัฐ เป็นองค์การย่อยอยู่ในองค์การมหาชน ที่ชื่อว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร. เป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีองค์การย่อยซึ่งเคยมีอยู่ 7 องค์การย่อย แต่ปัจจุบันได้มีการควบรวมเหลือ 5 องค์การย่อย

ศูนย์คุณธรรมเป็นหนึ่งใน 5 องค์การย่อยนั้น ซึ่งได้ใช้กระบวนการขับเคลื่อนความดี ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาที่เรียกว่าสมัชชาในระดับพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับพื้นที่ที่เป็นจังหวัด และหลายๆจังหวัดก็มาร่วมกันจัดสมัชชาระดับภาค แล้วปีหนึ่งก็มาจัดสมัชชาระดับชาติ ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 2550 สมัยรัฐบาลปัจจุบัน ใช้หัวข้อว่า “ถึงเวลาคุณธรรมนำสังคมไทย” ผลการจัดสมัชชา ทำให้ได้ข้อสรุปซึ่งนำเสนอต่อรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกันสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้หยิบยกเรื่องคุณธรรมความดีขึ้นมา แล้วมีข้อเสนอมาที่รัฐบาล รัฐบาลก็ดำเนินการตามข้อเสนอ ซึ่งรวมถึงการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ดีร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่สามารถจะผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้นไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ ยังวนเวียนอยู่ในระดับของรัฐบาล แต่ก็ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องการขับเคลื่อนคุณธรรมด้วยการส่งเสริมให้มีสมัชชาในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ ได้ทำมาปีนี้เป็นปีที่ 3 นะครับ ได้ทำมาจนกระทั่งถึงขั้นที่จะจัดสมัชชาระดับชาติ ในปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังอยู่ในสมัยรัฐบาลนี้นะครับ เว้นแต่รัฐบาลใหม่ตั้งได้รวดเร็วมาก จนกระทั่งรัฐบาลนี้ต้องพ้นหน้าที่ไปก่อนปลายเดือนมกราคม แต่เรื่องรัฐบาลนี้รัฐบาลหน้าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการขับเคลื่อนความดี ในลักษณะที่เป็นขบวนการ คือไม่ได้ทำกันเรื่องเดียวหรือจุดเดียว ถ้าจัดสมัชชาระดับพื้นที่ หรือท้องถิ่น หรือจังหวัด แปลว่าคนที่นั่นเขามาพบปะพูดคุยกันว่า เรื่องคุณธรรมความดีนั้นเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วแค่ไหน ยังไม่มีแค่ไหน หรือมีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง แล้วเราควรจะทำอะไรอีก เพื่อให้พื้นที่ของเรา ท้องถิ่นของเรา จังหวัดของเรา ดีขึ้น มีคุณธรรม มีความดีมากขึ้น นำไปสู่ชุมชนและสังคมที่ดีขึ้น

ชุมชนและสังคมที่ดีขึ้น จะเป็นชุมชนและสังคมที่มีความสุขด้วย ซึ่งสามารถจำแนกต่อไปได้ว่าความสุขมีอะไรบ้าง ความสุขทางร่างกาย สุขภาพดี ความสุขทางจิตใจ มีจิตใจเป็นปกติสุข ความสุขทางสังคม หมายถึงอยู่ร่วมกันแล้วเป็นปกติสุข มีสันติสุข ความสุขที่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีปัจจัย 4 เพียงพอ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ความสุขที่ได้พัฒนาสติปัญญาผ่านการศึกษา ความสุขที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความสุขที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ความสุขที่ระบบการเมืองการปกครองเอื้ออำนวยให้สิทธิเสรีภาพ ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง ก็แล้วแต่จะจำแนกไปว่าความสุขมีอะไรบ้างนะครับ จะเรียกว่าความสุขมวลรวม หรือ Gross Happiness ก็ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีขบวนการระดับประเทศที่เขาเรียกว่า GNH หรือ Gross National Happiness ที่จะมาแทนหรือเสริม GNP หรือ GDP คือ Gross National Product หรือ Gross Domestic Product พอดีเห็นหน้าคุณสมชาย กรุสวนสมบัติ ท่านเคยเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ซึ่งทำเรื่องรายได้ประชาชาติ ทำเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ประชาชนต้องการถูกไหมครับ ดังคำกล่าวสมัยคุณสมชายยังอยู่ที่สภาพัฒน์ฯว่า พัฒนามา 7 แผนหรือแผน 1-7 ได้ผลคือเศรษฐกิจดีแต่สังคมมีปัญหาและการพัฒนาไม่ยั่งยืน ฉะนั้นแผน 8 จึงหันมาเน้นการพัฒนาคนและสังคม แผน 9 ยังคงเน้นการพัฒนาคนและสังคมโดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง แผน 10 เจริญรอยตามแผน 8 และ 9 โดยตอกย้ำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่ง และมีเป้าหมายสูงสุดหรือวิสัยทัศน์การพัฒนาว่า “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งการพัฒนาประเทศให้เกิดความสุขจะต้องรวมถึงการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย เช่น วันนี้เราพูดถึงเรื่องโลกร้อน โดยจะต้องพัฒนาสังคมให้อยู่ได้ในโลกโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าทำลายไปแล้วจะกลับมาเป็นมหันตภัยกับประชาชนกับมนุษย์

(ยังมีต่อ)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157162

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 39 (7 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 39 (7 ม.ค. 51)


ปีใหม่ที่มีเรื่อง ดีๆ ผสมกับเรื่อง ยุ่งๆ อยู่ด้วยเป็นธรรมดา

                 ปีใหม่ที่เวียนมาครั้งใด เราก็อวยพรให้กันและกัน ให้ทุกอย่างดีขึ้นกับทุกคน ให้สุขภาพดี กิจการงานดี ชีวิตดี มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เกิดความสงบสุขสันติ มีความรักความสามัคคี เป็นมิตรไมตรีซึ่งกันและกัน และอื่นๆ

                แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะปีเก่าหรือปีใหม่ หรือช่วงเวลาใด จะมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ความสุขและความทุกข์ ความเจริญและความเสื่อม ความเป็นมิตรและความเป็นปฏิปักษ์ ความราบรื่นและความยุ่งเหยิง ความสันติและความรุ่มร้อน ปะปนคละเคล้ากันไป

สำหรับคนไทยทั่วประเทศ พอวันขึ้นปีใหม่เพิ่งผ่านไป ก็ได้ทราบถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในวันที่ 2 ม.ค. 51 ซึ่งสร้างความเศร้าโศกเสียใจอาลัยรักอย่างกว้างขวาง แต่พร้อมกันนั้นคนไทยทั้งหลายก็ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงที่มีต่อประชาชนและสังคมไทย พระปรีชาสามารถในด้านต่างๆอันน่าปลื้มปิติ และพระจริยาวัตรที่งดงามตลอดจนพระเมตตาปราณีอย่างลึกซึ้งของพระองค์ท่าน ซึ่ งจะสถิตย์อยู่ในใจของคนไทยโดยทั่วไปตราบนานเท่านาน

                สำหรับผมเอง เริ่มทำงานวันแรก 2 ม.ค. 51 ก็เจอเรื่อง “ยุ่งๆ” 2 เรื่อง คือเกี่ยวกับ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)” (ที่ผมเป็นประธาน) เรื่องหนึ่ง กับที่เกี่ยวกับ “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)” (ที่ผมเป็น รมว.และนพ.พลเดช เป็น รมช.) อีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องกองทุน “กฟก.” เป็นการชุมนุมของ “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการจัดการหนี้สินของชาวนาที่ยังค้างคาอยู่และเกี่ยวกับการสรรหาและแต่งตั้ง “เลขาธิการ กฟก.” ซึ่งเรื่องหลังนี้จะเกี่ยวกับผมเป็นการเฉพาะเจาะจงมากหน่อย เนื่องจากผมเป็นประธานคณะกรรมการ กฟก. ซึ่งรับผิดชอบและตัดสินใจในขั้นตอนสำคัญๆของกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กฟก.

ข้อเรียกร้องคือ ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการและการตัดสินใจแต่งตั้งเลขาธิการ กฟก. คนใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการแต่งตั้งและทำสัญญาที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะพิจารณาประเด็นและแง่มุมต่างๆให้เรียบร้อยตลอดจนนำเข้าหารืออีกรอบหนึ่งในคณะกรรมการ กฟก. ในวันที่ 11 ม.ค. 51 นี้ เพื่อให้ได้รับความเห็น ชอบร่วมกันและเกิดความเรียบร้อยราบรื่นอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนเรื่องกระทรวง “พม.” ได้มีการออกหนังสือร้องเรียนและเรียกร้องโดยไม่ระบุชื่อผู้ร้องเรียน แจกจ่ายให้สื่อมวลชนหน้าห้องประชุม ครม. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการย้ายปลัดกระทรวงไปเป็นที่ปรึกษาระดับ 11 สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ร้องเรียน (ซึ่งไม่ระบุชื่อ) เห็นว่าไม่ควรดำเนินการและเรียกร้องให้ระงับการย้ายไว้ก่อน พร้อมทั้งกล่าวหารัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการว่าเจตนาไม่บริสุทธ์กับมีข้อกล่าวหาอื่นๆด้วย

เรื่องนี้ผมกับ รมช.พลเดช ได้หารือกันแล้ว เห็นควรนำเข้าหารือในการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ในวันที่ 8 ม.ค. 51 เพื่อพิจารณาร่วมกันว่า ควรดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อให้เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมทั้งเกิดผลดีต่อข้าราชการกระทรวง พม. โดยรวม เป็นผลดีต่อองค์กรคือตัวกระทรวง พม. และเป็นผลดีต่อสังคมรวมถึงประชาชนในที่สุด

                นอกจากเรื่อง “ยุ่งๆ” ดังกล่าว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พบกับเรื่อง “ดีๆ” เสียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การแสดงความรัก ความปรารถนาดี และความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน ที่อบอุ่นสร้างสรรค์จรรโลงใจ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ในหมู่ญาติ หมู่มิตร หมู่เพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมสถาบัน ฯลฯ ทำให้เห็นชัดว่า “ความรักความเป็นมิตร” หรือ “เมตตาธรรม” เป็น “เครื่องค้ำจุนโลก” ได้จริงๆ

การประชุม ครม. (วันที่ 2 ม.ค.) เป็นไปด้วยดี ยังคงมีเรื่อง “ดีๆ” ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบหลายเรื่อง

การประชุม “คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. คณะที่ 2” (เช้าวันที่ 3 ม.ค.) ซึ่งผมเป็นประธาน ก็เป็นไปด้วยดี มีการสรุปข้อคิดว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้มีทัศนคติ มีวิธีคิด และใช้กระบวนการที่ช่วยให้สามารถกลั่นกรองเรื่องได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการคลี่คลายกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งให้หาข้อยุติร่วมกันได้อย่างราบรื่นในที่สุด

(บ่ายวันที่ 3 ม.ค.) เป็นประธานการประชุมหารือปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กับสำนักงบประมาณ สามารถหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกันได้ จากนั้นให้สัมภาษณ์ยาวกับผู้จัดทำวารสาร “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” โดยให้ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้ได้ผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน และประเด็นอื่นๆ

(วันที่ 4 ม.ค.) (เช้า) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการซึ่งรัฐบาลเพิ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยประสานการติดตามเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ได้ข้อสรุปที่ดีเกี่ยวกับวิธีดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะลงมือทำเลยพร้อมทั้งรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

(กลางวัน) เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการ “วังปลาไทยเทิดไท้องค์ราชัน” ซึ่งกรมประมงเป็นผู้ดำเนินการในเขตแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฎว่าที่ทำไปแล้ว 9 แห่ง ได้ผลดีจึงจะขยายการดำเนินการต่อไปอีกตลอดช่วงแม่น้ำเจ้าพระยา

(บ่าย) เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 6 พฤษภาคม 2550” (ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ) เป็นการประชุมปิดงานซึ่งเสร็จสิ้นเรียบร้อยหมดแล้ว มีงบประมาณเหลือประมาณ 150 ล้านบาท (จากที่ได้รับจัดสรร) ซึ่งคณะกรรมการเห็นควรส่งคืนกระทรวงการคลังต่อไป

                สรุปแล้ว จะเห็นว่าในสัปดาห์แรกของปีผมได้พบกับ “เรื่องดีๆ” มากกว่า “เรื่องยุ่งๆ” หรือ “เรื่องไม่ดี” อย่างชัดเจน ผมจึงเชื่อว่า สภาพตลอดปี 2551 จะคล้ายๆกัน คือ มีเรื่องดีๆมากกว่าเรื่องไม่ดีหลายเท่า

สวัสดีครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157923

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 40 (8 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 40 (8 ม.ค. 51)


ไม่คาดคิดว่าผมกำลังจะอำลากระทรวงการพัฒนาสังคมฯไปพร้อมกับความรู้สึกเศร้าแล เสียใจ แทรกอยู่ในความรู้สึกดีๆ

                อีกประมาณ 1 เดือน คงเป็นเวลาที่ผมจะต้องอำลากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ที่ได้ทำหน้าที่มาปีเศษ

                ผมมีความรู้สึกดีๆสะสมอยู่เป็นอันมากเกี่ยวกับการทำงานกับกระทรวง พม.

                แต่ที่ไม่เคยคาดคิด คือ เมื่อวันอำลามาถึงผมจะมีความรู้สึกเศร้าและเสียใจ แทรกอยู่ด้วยในความรู้สึกดีๆเหล่านั้น

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีฐานมาจาก “กรมประชาสงเคราะห์” ซึ่งเคยสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนย้ายมาสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จนในที่สุดเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ” สังกัดกระทรวง พม.

                ผมรู้จักและคุ้นเคยกับ “กรมประชาสงเคราะห์” ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2529 รู้จักคุ้นเคยกับอธิบดีของกรมนี้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ คุณหญิงสมศรี กันธมาลา คุณไสว พราหมณี เป็นต้น และยังรู้จักคุ้นเคยกับข้าราชการอีกหลายคน

                ได้ช่วยงานและร่วมงานกับกรมนี้มาเป็นอันมากและตลอดมา จนกระทั่ง “กรมประชาสงเคราะห์” เปลี่ยนชื่อและมาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง พม. ผมก็ยังตามมาช่วยงานต่อ

                สำหรับกระทรวง พม. ในฐานะเป็นกระทรวงใหม่นั้น ผมเกี่ยวข้องตั้งแต่การตั้งชื่อกระทรวงและการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ ในช่วงการพิจารณาจัดตั้งและต่อมาถึงระยะแรกหลังการจัดตั้ง

                เมื่อกระทรวงฯดำเนินงานเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ผมก็ได้ช่วยงานและร่วมงานกับกระทรวงฯมากขึ้นและอย่างใกล้ชิด

                ผมจึงรู้สึกเหมือนเป็น “ญาติสนิท” หรือ “เพื่อนสนิท” ของกระทรวงฯมาเป็นเวลานาน

                เมื่อพลเอกสุรยุทธ์มาทาบทามให้ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ในรัฐบาลของท่าน (เดือนตุลาคม 2549) ผมจึงรับเป็นรัฐมนตรีโดยไม่รู้สึกลำบากใจเท่าใด เนื่องจากรู้สึกคุ้นเคยกับกระทรวงนี้ดี

                หลังจากที่ผมเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรี พม. แล้ว ผมเห็นว่างานของกระทรวงฯเดินหน้าไปได้ดีและเร็ว ทั้งนี้โดยความร่วมแรงร่วมใจพากเพียรพยายามของผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงฯ ซึ่งผมชื่นชมและขอบคุณมาตลอด

                ผู้บริหารตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดีหรือเทียบเท่า และคนอื่นๆ ล้วนมีความสามารถและความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน

                เราทำงานอย่างเป็นทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมมือสนับสนุนกันด้วยความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน ทำให้งานของกระทรวงฯลุล่วงก้าวหน้าไปด้วยดี เป็นที่พอใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย

                โดยเฉพาะปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของข้าราชการประจำ มีประสบการณ์และความสามารถสูง ผมให้ความชื่นชม ให้ความนับถือ และให้การสนับสนุนมาตลอด เช่น แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ มอบอำนาจในการสั่งการและดำเนินงานของกระทรวงฯอย่างเต็มที่ ให้ความไว้วางใจในการช่วยแก้ปัญหาและจัดการงานยากๆหลายเรื่อง เป็นต้น

                ส่วนอธิบดีและผู้บริหารอื่นๆ ผมก็ชื่นชมในความสามารถและความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ความไว้วางใจและให้การสนับสนุนในทางต่างๆมาโดยตลอดเช่นกัน

                มีคำกล่าวหา มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียน เกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ อยู่เป็นระยะๆตั้งแต่ในช่วงแรกที่ผมเข้ารับตำแหน่ง แต่ในเมื่อไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องเรียน และไม่มีเหตุหลักฐานชัดเจนพอที่จะทำให้คำร้องเรียนมีน้ำหนัก ผมจึงไม่ได้ลงมือทำอะไร เพียงแต่เก็บเรื่องไว้เฉยๆ

                จนกระทั่งคำกล่าวหาร้องเรียนสะสมบานปลายปรากฏในสื่อมวลชนจำนวนมาก (เมื่อเดือน ต.ค. 50) ผมและรมช. (พลเดช) จึงต้องตัดสินใจเสนอท่านนายกฯให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยพยายามสรรหาประธานและกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าได้รับการยอมรับสูงในความเที่ยงธรรมและความสามารถ

                คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน สามารถสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงเสนอท่านนายกฯได้ในเดือนธันวาคม 2550

                ผลของการสอบข้อเท็จจริงแสดงว่า ข้อร้องเรียนต่างๆต่อผู้บริหารระดับสูงนั้น มีมูลเหตุอยู่จริง ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการต่อไปอีก และจะเป็นการสมควรหากจะย้ายผู้บริหารระดับสูงออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ไปดำรงตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่ง

                นี่คือที่มาของการที่ได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ดังเป็นที่ทราบกัน

                ผมและรมช.พลเดช ได้ไตร่ตรองพร้อมทั้งปรึกษากับท่านนายกฯด้วยแล้ว เห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด คือ ดีต่อประโยชน์ส่วนรวม อันได้แก่ ประโยชน์ของกระทรวง พม. ประโยชน์ของข้าราชการ พม.โดยรวม และประโยชน์ของสังคมและประชาชน

                ไม่มีประโยชน์ของผม หรือของ รมช.พลเดช หรือของท่านนายกฯเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ประการใด

                พวกเราทั้งหมดที่มาเป็นรัฐบาล กำลังจะลาจากในเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น เรามิได้ต้องการอำนาจต้องการประโยชน์ หรือต้องการอิทธิพลใดๆ เราขอเพียงที่จะอำลาจากกันด้วยความรักและความเป็นมิตรไมตรีต่อกันก็พอใจแล้ว

                แต่ดูเหมือนว่า กรณีของผมและรมช.พลเดช กับกระทรวง พม. และข้าราชการกระทรวง พม. ทำท่าจะไม่เป็นดังที่ผมคาดหวังเสียแล้ว จากการที่มีข่าวลงในสื่อมวลชนว่า ผู้บริหารและข้าราชการจำนวนหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนท่านนายกฯ กล่าวหาผมกับ รมช.พลเดช ว่าปฏิบัติไม่เหมาะสมและทำความเสียหายให้กับกระทรวงฯและข้าราชการของกระทรวงฯนานาประการ

                แม้ผมจะมีสติและปัญญาพอที่จะไม่หวั่นไหวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้าและเสียใจ

                เหมือนพ่อแม่ที่รักลูก พยายามทำเพื่อลูกและเพื่อครอบครัวมาตลอด แล้วมาได้รับคำกล่าวหาจากลูกว่า พ่อแม่ เป็นผู้ทำร้ายลูก ทำร้ายครอบครัว

                อดไม่ได้หรอกครับที่จะรู้สึกเศร้าและเสียใจไม่มากก็น้อย

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                           ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/158119

<<< กลับ

สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น

สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น


(บทความ เรื่อง “สังคมคู่คุณธรรมด้วยบันไดวน 4 ขั้น” จาก นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 51 หน้า X-CIR 5)

                ชีวิตอยู่ดีมีสุข เป็นความปรารถนาที่เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าอายุอานามเท่าไร ทำอาชีพแบบไหนล้วนอยากให้มีอยากให้เป็น แต่อย่างไรก็ตามการเดินสู่เป้าหมายอันเป็นยอดปรารถนาคงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เกิดความสับสนระหว่างเก่งแต่โกงนั้นควรจะยอมรับกันได้หรือเปล่า

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยต่อไป เมื่อเร็วๆ นี้ในโอกาสการประกาศผลรางวัล “กำพล วัชรพล” สำหรับวิทยานิพนธ์ด้านสื่อสารมวลชน ประจำปี 2550 ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งนับว่าน่าคิดและน่านำไปปฏิบัติได้ และคงทำให้ความปรารถนาเป็นจริงได้ไม่ มากก็น้อย

                นายไพบูลย์ กล่าวว่า “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทยเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ผมอยากให้เข้าใจว่าคำว่า คุณธรรม นั้นมีความหมายเดียวกับคำว่า ความดี เพราะคุณธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่ในตัวเอง ทำแล้วจะเกิดผลดีต่อทั้งตนเองและสังคม ซึ่งเฉกเช่นเดียวกันกับความดีนั่นเอง ดังนั้น การจะเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้นั้น เราต้องเริ่มต้นจากหลักการของบันไดวน 4 ขั้น ดังนี้

                บันไดขั้นที่ 1 การค้นหาความดี การจะสร้างสังคมที่ดีได้นั้นต้องเริ่มจากการค้นหาความดีที่มีอยู่ในตัวของบุคคลนั้นๆ ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ ถ้าเราอยากเห็นคนดีไม่ต้องไปไหนไกล ให้มองที่ตัวเรา , ครอบครัว , เพื่อน และคนรอบข้าง แล้วเราจะเห็นความดีมากมายที่อยู่รายรอบ แต่เราเองกลับทำตรงกันข้าม เราพยายามที่จะค้นหาแต่ความเลว ขยายความเลวที่มีอยู่น้อยนิดให้กับสังคมได้รับรู้ คนไทยมักให้ความสำคัญกับเรื่องร้ายๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งดีงามจึงไม่ถูกตีแผ่ให้ปรากฏเท่าใดนัก คนทุกคนย่อมมีสิ่งดีๆ ในตัวเอง มีเกียรติมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า หากมีใครสักคนเห็นคุณค่าในตัวของเราและชื่นชม เราก็คงจะรู้สึกดีและอยากจะทำความดีนั้นต่อไป แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากใครคนหนึ่งโดนขุดคุ้ยความเลวที่มีอยู่ให้คนอื่นได้รับรู้ มันก็จะยิ่งเกิดการกระทำที่ต่อต้านและกระทำความเลวนั้นๆ ซ้ำอีก เพราะฉะน การค้นหาความดีเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพลังแห่งความดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

                บันไดขั้นที่ 2 การเรียนรู้ความดี เมื่อเราค้นหาความดีจากบันไดขั้นที่ 1 เจอแล้ว เราก็ควรจะเรียนรู้ความดีนั้น ปฏิบัติ พัฒนาและขยายต่อไป อย่างที่เรียกกันว่า การจัดการความรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการครบด้าน ทำให้ความดีที่มีอยู่ได้เรียนรู้และถูกจัดระบบพร้อมที่จะเคลื่อนไหวต่อไป เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ความดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ความดีที่ถูกค้นหานั้นเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                บันไดขั้นที่ 3 การสื่อสารความดี การสื่อสารความดีนั้นทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มต้นที่ครอบครัวเราก่อน เพราะประชากรในครอบครัวจะมีอยู่น้อยและใกล้ชิด หากสังคมไทยในทุกวันนี้ยังมีข้อจำกัดให้ต้องอยู่ห่างเหินและไกลกัน อาจบั่นทอนความสัมพันธ์นั้นได้ แต่เราก็ยังมีเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์ที่จะช่วยสานความสัมพันธ์ที่ดีนั้นได้อีกวิธีหนึ่งเช่นกัน แต่ในปัจจุบันเราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับมหันตภัยของสื่อเนื่องจากเราเสพสื่อกันอย่างผิดประเภท จะมีคำพูดที่ว่า เรื่องดีๆ ขายไม่ได้แต่เรื่องร้ายๆ จะขายได้ดี แต่ผมยังมั่นใจและเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคมก็ยังเป็นที่นิยมและมีให้เห็นอยู่บ้าง

                บันไดขั้นที่ 4 การขับเคลื่อนความดี ความดีเป็นทุนและประโยชน์ หากความดีนั้นเคลื่อนไหวก็จะงอกเงยและเกิดพลังมากขึ้น เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนความดีอย่างเป็นขบวนการ จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน เช่น เมื่อเห็นความดีของคนในครอบครัว ก็ให้สังเกตดูว่าต้องเพิ่มเติมอะไรตรงไหน และพัฒนาความดีนั้นต่อไปเรื่อยๆ จากการขับเคลื่อนความดีระดับครอบครัว ควรขยายไปที่ระดับชุมชน ระดับองค์กร ระดับพื้นที่ ไปจนถึงการขับเคลื่อนในระดับประเทศ อย่างในหลายๆโรงเรียนที่ยึดหลักวิถีทางพุทธศาสนา ก็เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนความดีให้มีพลังและพัฒนาต่อไป

                การจะสร้างความดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถทำได้อย่างเป็นขบวนการ จากบันไดขั้นที่ 1 ไปจนถึงขั้นที่ 4 วนแบบนี้เรื่อยไป ก็จะได้สังคมที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพอย่างแน่นอน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/158239

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 41 (14 ม.ค. 51)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 41 (14 ม.ค. 51)


ปัญหาที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) คือ โอกาสของ การพัฒนาใหม่

                เรื่องที่ผมต้องให้ความสนใจและให้เวลามากหน่อยในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ปัญหากระทรวง พม. กับปัญหากองทุน กฟก.

                หลังจากเขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 40” แล้ว ผมได้เชิญให้ผู้บริหารของกระทรวงฯ ตั้งแต่รองอธิบดีขึ้นไปมาพบหารือกัน (วันที่ 8 ม.ค.) เราคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์ ช่วยกันระดมความคิดหาทางดำเนินการให้สถานการณ์ดีขึ้น รวมถึงให้มีการพัฒนาในด้านต่างๆดีขึ้น อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำก็พูดกันด้วยโดยไม่มีการพูดให้ร้ายใครหรือมีการคิดมาตรการที่จะให้เกิดผลเสียแก่ใคร

                รายงานข่าวทางสื่อมวลชนจึงออกมาในเชิงสร้างสรรค์หลังจากนั้น และข่าวเชิงปัญหาและความขัดแย้งก็ค่อยๆเงียบไปในเวลาต่อมา

                เรื่องกองทุน กฟก. มีปัญหาขัดข้องอยู่พอสมควรเกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขาธิการใหม่ ซึ่งยังมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ผมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือนอกรอบ 2 ครั้ง (วันที่ 7 และ 10 ม.ค.) ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะเห็นพ้องต้องกันได้ พอวันประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ (11 ม.ค.) ต้องใช้เวลาจาก 14.00 น. ถึง 19.00 น. จึงได้มติแบบเฉียดฉิว (อีกครั้งหนึ่ง) ยืนยันการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ตามที่ที่ประชุมได้มีมติไว้แล้ว และให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่อไป รวมถึงให้รักษาการเลขาธิการคนเดิมยุติการปฏิบัติงานกับแต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการเป็นผู้รักษาการเลขาธิการเป็นการชั่วคราวจนกว่าเลขาธิการคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่ได้โดยเรียบร้อย

                ทั้งเรื่องกระทรวง พม. และกองทุน กฟก. คงจะยังมีปัญหาข้อขัดข้องต่อไปอีก นี้เป็นธรรมดาขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งย่อมเกิดขึ้นเป็นระยะๆในชีวิตอันยาวไกลขององค์กร แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายมีทัศนคติเชิงบวกและสร้างสรรค์ หันหน้าเข้าหากัน ใช้ความดี ใช้ความรักความเป็นมิตร ความสามัคคีปรองดอง ใช้ความรู้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ร่วมคิด ร่วมพิจารณา ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำนินการ ร่วมเรียนรู้และพัฒนาจากผลการดำเนินการ ฯลฯ เช่นนี้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผมมั่นใจว่า จะเกิด “การพัฒนาใหม่” ทั้งในกระทรวง พม. และกองทุน กฟก. ทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อประชาชนตลอดจนเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมกันไป

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                         ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/159170

<<< กลับ

คำกล่าวเปิดงานการประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของอาเซียน ครั้งที่ 11

คำกล่าวเปิดงานการประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของอาเซียน ครั้งที่ 11


(คำกล่าวเปิด The 11th Meeting of ASEAN Tourism Ministers” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 ณ ห้องวิภาวดีบอลลูม โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์)

                           Address by His Excellency Mr. Paiboon Wattanasiritham

                                                      Deputy Prime Minister

                          and Minister of Social Development and Human Security

                                                  at the Opening Ceremony

                              of the 11th Meeting of ASEAN Tourism Ministers

                                                       21 January 2008

                    Vibhavadee Ballroom A-B, Sofitel Centara Grand, Bangkok Hotel

Excellencies,

Distinguished Guests and Delegates,

Ladies and Gentlemen,

            It is my pleasure and honour to preside over the Opening Ceremony of the 11th Meeting of ASEAN Tourism Ministers today.  It is also my particular pleasure to be able to welcome His Excellency Dr. Surin Pitsuwan, our new ASEAN Secretary-General, who is here attending his first ministerial-level ASEAN meeting in Thailand.  Let me assure you, Mr. Secretary-General, of Thailand’s full support for your future efforts.

            Tourism is extremely important for all of us in ASEAN.  It contributes to the socio-economic development of each of our countries and is intimately linked to many aspects of our cooperation.  I am thus glad to note the progress in the implementation of ASEAN cooperation on tourism, particularly the integration with the transportation sector, as transportation is a means to facilitate the travel of tourists and help our ASEAN region truly become a Single Destination.  I look forward to seeing more joint efforts that build on recent improvements to our road and rail networks as well as new air hubs and low-cost airlines in the region to enhance connectivity and drive future growth.

            For example, roads and bridges in the north of Thailand, linking the south of China passing through the LAO PDR and Thailand to Malaysia and Singapore, will facilitate the travel of Chinese tourists to our region.  Already, the route from Thailand crossing the Mekong River by the new bridge to the LAO PDR and Viet Nam has become popular among tourists.  In addition the Southern Corridor facilitates the travel of tourists between Cambodia and Viet Nam, while Cruise Tourism links Brunei Darussalam, Indonesia and the Philippines.

            With this enhanced connectivity, the ASEAN Summit in Singapore paid recognition to tourism as a key success indicator in realizing the ASEAN Economic Community.  But as we develop our tourism resources, we must also keep an eye on sustainability so as to ensure that future generations can also enjoy our rich natural and historical heritage.  I therefore appreciate the efforts being made to enhance sustainable development of the tourism sector, while uplifting the competitiveness of tourism service providers.  The challenge is to promote sustainable tourism involving substantial numbers of tourist arrivals while safeguarding our overall environment and national treasures.  I urge all stakeholders to join hands in investing in our common future.

            To be sure, we cannot stand still.  We need to add value to out tourism services and work more closely with our partners.  I am pleased to learn that under the umbrella of this ASEAN Tourism Forum, besides the ASEAN Plus Three Meeting with the Tourism Ministers of China, Japan and Korea, the ASEAN Tourism Ministers will also be meeting with their counterparts from the high growth markets of India and Russia.  Moreover, there will be consultations with international organizations such as the World Tourism Organization (WTO) and the International Organization for Standardization (ISO), including discussions on upgrading the standards of the spa business which is one of the service industries in our region with high potential.

            I particularly welcome the meetings of Tourism Ministers under the frameworks of the Greater Mekong Sub-region (GMS) and the Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT). Indeed it is concrete initiatives under such practical frameworks that will contribute to socio-economic development on the ground.  The Visit IMT-GT Year 2008 is one such initiative, and I am sure other exciting projects will emerge in the future.

Excellencies,

Ladies and Gentlemen,

            In reiterating our warm welcome to all delegates, I do hope that you will have a happy and fruitful time in Thailand.  I wish the ASEAN Tourism Ministers’ Meeting and all related Meetings successful outcomes.  It is now my great pleasure to declare the Meeting open.

            Thank you.

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/160799

<<< กลับ