ข้อคิดเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

ข้อคิดเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10


1. “แผนฯ 10” ควรมีลักษณะใหม่ที่เป็น “แผนชี้ทิศทาง” จริงๆ นั่นคือ มีสาระสำคัญๆในเชิง วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และทิศทาง ที่ไม่มีรายละเอียดมากเหมือนในแผนฯฉบับก่อนๆ หรือเหมือนที่ร่างไว้แล้วในร่างแผนฯ 10 “แผนชี้ทิศทาง” นี้ ควรเป็น “แผนฯของสังคม” มากกว่าเป็น “แผนฯของรัฐบาล” คล้ายๆกับที่ “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็น “แนวนโยบายของรัฐบาล” ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันได้มีระบบการจัดทำ “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” ตามอายุของแต่ละรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานต่างๆของรัฐต้องยึดถือเป็นหลัก จึงไม่ควรมีแผนฯในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนว่าจะยึดถือแผนใดเป็นหลักในการปฏิบัติงาน

2. แผนฯ 10 ควรมีวิสัยทัศน์ที่จะก่อให้เกิดสภาวะ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ( “Peace and Happiness Together”) น่าจะดีกว่าการใช้คำว่า “ความอยู่ดีมีสุข” (“Green and Happiness Society”) ตามที่ปรากฎในร่างแผนฯ 10

3. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการอัญเชิญพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็น “ปรัชญานำทาง” ในแผนฯ 10 ต่อจากแผนฯ 9 แต่ควรทำให้มีความหมายและบังเกิดผลอย่างแท้จริงด้วยการระบุกลไก วิธีการ งบประมาณ ฯลฯ ที่เหมาะสมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็น “ประเทศพอเพียง” ในทุกมิติ ทุกภาคส่วน และทุกระดับของสังคมไทย (รวมถึงในมิติการเมืองการปกครอง ในภาคธุรกิจ ในระดับผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น)

4. “ยุทธศาสตร์” ที่สำคัญเพื่อนำสู่สภาวะ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ตามแนวทางของ “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะประกอบไปด้วย (1) ความดี (2) การเรียนรู้ และ(3) การจัดการ โดยมีรายละเอียดดังระบุในภาพข้างต้น และควรมีหลักการ “คุณธรรมนำการเรียนรู้” แทนที่จะใช้หลักการ “ความรู้คู่คุณธรรม” ตามที่ยกร่างไว้

5. ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ และตัวชี้วัด ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

6. ควรมีแนวทางการพัฒนาที่ “พื้นที่เป็นตัวตั้ง” “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และ “ทุกฝ่ายประสานร่วมมือ”

7. ในการพัฒนาคนและสังคม ควรให้ครบถ้วนทั้ง “บุคคล” “โครงสร้าง” และ “จิตสำนึกและวัฒนธรรม” อย่างสมดุลย์และเพียงพอ

(บันทึกความคิดสำหรับการอภิปรายในการประชุมกลุ่มที่ 1 เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้” ร่วมกับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน โดยมีรศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานการอภิปราย และคุณกิติศักดิ์ สินธุวนิช (รองเลขาธิการสภาพัฒน์) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การประชุมประจำปี 2549” เรื่อง “แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 : สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน” จัดโดย สศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เมื่อ 30 มิ.ย. 49 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

13 ก.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/38476

<<< กลับ

หลักการสำคัญในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความยากจนของประชาชน (ต่อ)

หลักการสำคัญในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความยากจนของประชาชน (ต่อ)


ข้อสุดท้ายในเรื่องการจัดการคือ การเป็นองค์กรที่เรียนรู้ กลุ่มคนที่เรียนรู้ และเครือข่ายที่เรียนรู้ คำว่าเป็นองค์กร กลุ่มคนหรือเครือข่ายที่เรียนรู้ มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวาง แต่รวมๆแล้วหมายถึง (1) การที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างชัดเจน เช่นวิสัยทัศน์คือการอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน  (2) มีการคิดเชิงระบบ หมายถึงการมองเห็นทุกอย่างเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ซึ่งการมองเห็นความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของสิ่งทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก (3) การมีระบบคิดที่สร้างสรรค์รวมถึงการคิดเชิงบวกอันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ง่ายและราบรื่น (4) การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมรวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ และ (5) การที่ทุกคนในองค์กรเป็นนักเรียนรู้ ช่างคิด ช่างพิจารณา ช่างศึกษาค้นคว้าอยู่เป็นประจำ ลักษณะทั้ง 5 ประการนี้เป็นองค์ประกอบของการเป็นองค์กรหรือกลุ่มคนหรือเครือข่ายที่มีการเรียนรู้ซึ่งรวมถึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย

            รวมแล้วจึงเป็นองค์ประกอบของการจัดการที่มีคุณภาพ ได้แก่หนึ่งคุณธรรมจริยธรรม สองการใช้ข้อมูลและข้อสนเทศ   สามการจัดการความรู้  และสี่การเป็นองค์กรหรือกลไกที่เรียนรู้

ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อนพี่น้องที่รักและเคารพทุกท่าน ผมขอขอบคุณอีกครั้งที่เชิญมาพูดและร่วมกิจกรรมในวันนี้ เชื่อว่าพวกเราได้ทำสิ่งที่ดีมากๆ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล เป็นงานใหญ่ งานสำคัญ และหวังว่าเราจะได้ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมความเป็นกัลยาณมิตร ความเป็นภาคีพันธมิตร ขยายแนวร่วม ขยายกิจกรรม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพในทุกด้านๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สุขและความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะเป็นการถวายความจงรักภักดี ร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำความดีเป็นปฏิบัติบูชาร่วมกัน ขอบคุณครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

4 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/38811

<<< กลับ

ภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ

ภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ


(2 ก.ค. 49) ไปปาฐกถาปิด “งานสร้างสุข ภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “4 ปี 4 ภาค พลังสร้างสุขทั่วไทย” และได้มีการจัดงานไปแล้ว 3 ภาค ภาคใต้เป็นภาคสุดท้าย จัดที่อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระหว่าง 30 มิ.ย. –1 ก.ค. 49 สรุปสาระสำคัญของปาฐกถาได้ดังนี้

แนวทางการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1. เป็นการขับเคลื่อนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของประเด็น เป็นเจ้าของปัญหา เป็นผู้แก้ปัญหา  เป็นผู้พัฒนา ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุผลสุดท้ายที่พึงปรารถนา อันได้แก่ “ความอยู่เย็นเป็นสุข อย่างบูรณาการ” ของประชาชน

2. เป็นการขับเคลื่อนโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือ ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ผนวกด้วยการขับเคลื่อนเชิงประเด็น ทั้งนี้ โดยประชาชนและองค์ประกอบในพื้นที่มีบทบาทสำคัญ ในขณะที่บุคคล องค์กร หน่วยงาน และโครงการจากภายนอกพื้นที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่ฝ่ายเจ้าของเรื่อง

3. ประชาชนในพื้นที่ควรเป็นผู้บูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งภายในพื้นที่ด้วยกันและจากภายนอกพื้นที่ ทั้งการบูรณาการเชิงประเด็นและการบูรณาการเชิงหน่วยงาน ทั้งนี้ คำว่า “ประชาชนในพื้นที่” หมายความรวมถึงองค์กรและกลไกทั้งหลาย ที่อยู่ในพื้นที่ และ บุคคล องค์กร หน่วยงาน โครงการจากภายนอกพื้นที่ ควรเชื่อมประสานความร่วมมือกันให้ดีที่สุดด้วย

4. ควรมีระบบข้อมูล สารสนเทศ และตัวชี้วัด ที่ทุกฝ่ายใช้ร่วมกัน โดยประชาชนในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเนื้อหาพร้อมกระบวนการในการจัดเก็บ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการใช้ประโยชน์และแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะๆ ในการนี้สมควรมีโครงการสนับสนุนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความต่อเนื่อง รองรับด้วย

5. ควรมีการจัดการความรู้ทั้งภายในพื้นที่และข้ามพื้นที่ ทั้งภายในเครือข่ายและข้ามเครือข่าย ทั้งภายในประเด็นและข้ามประเด็น ทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศ

6. ควรเชื่อมโยงงานสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการความรู้เข้ากับ การสื่อสารสาธารณะ และการเสนอแนะนโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายสาธารณะ ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งอาจให้ถึงระดับข้ามประเทศ ในการนี้อาจมีกระบวนการ “ประชาพิจารณ์” หรือ “การปรึกษาสาธารณะ” ที่เหมาะสมด้วยก็ได้

7. ควรมีการพัฒนาคุณภาพในการจัดการ ทั้งในเชิงคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นการจัดการตนเอง (ภายในองค์กร ภายในท้องถิ่น) การจัดการเครือข่าย (ความร่วมมือ การเชื่อมประสาน การขับเคลื่อนขบวนการ ฯลฯ) และการจัดการการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งนี้ คำว่า “การจัดการ” รวมถึงการจัดการงาน/กิจกรรม เงิน/ทรัพยากร คน/กลุ่มคน และ “การจัดการทางสังคม” (Social management)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

17 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39290

<<< กลับ

บันได 5 ขั้น แก้ปัญหาความยากจน : แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง

บันได 5 ขั้น แก้ปัญหาความยากจน : แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง


ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาความยากจน โดยการถือตัวเลขรายได้เป็นเกณฑ์ ก็มีเรื่องราวหนึ่งผ่านเข้ามานั่นก็คือความรู้ที่ว่าประเทศภูฏาณ เขาวัดฐานะของประชาชนที่ความสุขมวลรวม หรือ GNH โดยยึดถือหลัก 4 ประการ คือ การพัฒนาต้องเน้นความเสมอภาค การดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลวัฒนธรรม และจะต้องมีธรรมาภิบาล

ในขณะที่บ้านเรา ถ้าใครมีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20,000 บาท ถือว่าเป็นคนจน ซึ่งเรื่องนี้ประมวลดูคร่าวๆแล้ว ผู้คนไม่ค่อยจะเห็นด้วยซักเท่าไหร่ จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า “ความจน” เป็นปัญหาสำคัญที่กัดกร่อนชีวิตผู้คนมาเป็นเวลานาน เป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ อีกมากมาย โดนศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน หรือ ศตจ.ปชช. จึงเดินหน้าแก้จน ตามทิศทางของตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

ศตจ.ปชช.ได้ใช้ยุทธศาสตร์งานพัฒนาที่สั่งสมบ่มเพาะมานาน 6 ประเด็น ไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจน นั้นก็คือ การปรับวิถีการผลิตไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ทำแต่พอกินไม่หวังร่ำรวย การแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินให้กับชาวชนบทที่ไม่มีที่ดินที่ทำกินเป็นของตนเอง การที่ชุมชนจะต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชาวชุมชนเองทั้งดิน น้ำ ป่า และชายฝั่ง การร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเป็นของชาวบ้านเอง เป็นการแบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน การร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับคนจนในเมือง การร่วมกันพัฒนากองทุนของชาวบ้านเองไปสู่การแก้หนี้ และประการสุดท้ายขบวนการชาวบ้านจะต้องช่วยเหลือต่อกันยามที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง 7 ประการนี้ มีกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนโดยใช้กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือ พร้อมมีการตั้ง ศตจ.ปชช.ประจำจังหวัดขึ้นใน 42 จังหวัด เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีพื้นที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศใหญ่ ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็มีส่วนคล้ายกับแนว “ความสุขมวลรวม” ของประเทศภูฏาณอยู่ไม่น้อย

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ศตจ.ปชช. ประจำจังหวัดทั้ง 42 จังหวัด รวมประมาณ 1,000 คน ได้มาประชุมหารือเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน มีอยู่ช่วงหนึ่งได้เชิญ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์คุณธรรมและประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “แปรวิกฤตความยากจน สร้างชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

อ.ไพบูลย์บอกว่า วันนี้ภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10 กว่าปีมาก ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า “รัฐทำราษฎร์ตาม” ต่อมาได้รับอิทธิพลจากแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาจนทำให้คำกล่าวข้างต้นเปลี่ยนไปเป็น “รัฐกับประชาชนร่วมกันพัฒนา” คือภาคประชาชนร่วมรับรู้ ร่วมมือกันทำ แต่มาวันนี้ได้พัฒนาไปอีกระดับนั่นก็คือ ราษฎร์ทำ รัฐหนุน กล่าวคือ ประชาชนมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนา สามารถกำหนดแนวคิดทิศทางความต้องการของตนเองและชักชวนให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหนุนมาช่วยกันทำงานในแนวทางของประชาชนได้มากขึ้น

อ.ไพบูลย์ให้ข้อคิดอีกว่า ในการแปรวิกฤตความยากจนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งนั้น จะต้องอาศัยปัจจัยในการขับเคลื่อนสามอย่างด้วยกัน คือ ใจ สมอง และสองมือ

เริ่มที่ ใจ คนมีใจเป็นใหญ่ เป็นส่วนที่คอยกำกับการกระทำทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้น คนที่จะทำงานให้ดีได้ ใจต้องมีคุณธรรม และต้องทำความคิดให้ตรงให้ถูกต้อง หากมีใจที่เข้มแข็งและวิถีคิดถูกต้อง ก็จะแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ ที่สำคัญก็คือคนเราจะต้องตั้งปณิธานให้มั่น ต้องเป็นปณิธานในทางที่ดี เช่น “เราจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” อย่างนี้ก็จะหายจนได้ และต้องเอาชนะปัญหาให้ได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง

ส่วนที่สองคือ สมอง หมายถึง การรู้จักวางแผน เพื่อนำไปสู่การจัดการร่วมกัน ชาวบ้านจะแก้ปัญหาหรือทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ จะต้องวางแผนร่วม จัดการร่วม และรับประโยชน์ร่วม โดยมีบันไดที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จ 5 ขั้น

บันไดขั้นแรก ต้องเน้นทำงานในพื้นที่เล็กๆ อย่าไปคิดทำพื้นที่ใหญ่ เพราะจะไม่แน่นหนา ต้องเน้นที่พื้นที่เล็กก่อน เช่น ครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล ฯลฯ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะในพื้นที่เล็กสามารถจัดการร่วมกันได้ดี ดังนั้น พื้นที่ยิ่งใหญ่ก็ทำยิ่งยาก สู้เลือกทำในพื้นที่เล็กๆ จะเกิดความเข้มแข็งมากกว่า

บันไดขั้นที่สอง ดูว่าในพื้นที่เล็กมีองค์ประกอบดีๆ อะไรบ้าง แล้วเอามาดูร่วมกัน ออกความคิดร่วมกันให้มากที่สุด มีการจัดการร่วมกันให้เป็นองค์กรชุมชน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ ทุกภาคส่วนจะมีแผนแล้วเอาแผนนั้นมาปรับใช้ เรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาด้วยกัน เอาของดีภายในชุมชนมาจัดหมวดหมู่ เช่น เกษตรกรรม สวัสดิการ ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หน่วยงานส่วนภูมิภาค และภาคประชาชน เป็น 3 ประสานร่วมกันทำ

ส่วนบันไดขั้นที่สาม การจัดการที่จะประสบผลสำเร็จต้องมีข้อมูล ความรู้ ตัวชี้วัด เป้าหมาย สี่อย่างนี้ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลให้ดี เช่น การเก็บข้อมูลรายรับรายจ่าย แล้วตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อทุกคนมีข้อมูลแล้วก็เอามารวมกัน ทำเป็นแผนแบบผสมผสาน โดยคนในชุมชนมีความเห็นตรงกัน

บันไดขั้นที่สี่ ควรจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่เดียวกัน หารือกันอยู่เป็นนิตย์และพร้อมเพรียงกัน พัฒนาความรู้ความสามารถเป็นระยะๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ใกล้เคียงกัน มาประชุมเรียนรู้เพื่อจะได้มีอะไรดีๆ แล้วมาแลกกัน

ส่วนบันไดขั้นสุดท้าย เราต้องมองถึงความเชื่อมโยงประสานกันระหว่างพื้นที่ นำมาสานต่อกันเป็นขั้นๆ ขึ้นมา ให้เป็นหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ นำมาเกี่ยวโยงเข้าด้วยกัน ทำให้แผนงาน นโยบาย ผสมผสานกลมกลืนกัน จนมีคุณภาพประสิทธิภาพใหม่อย่างมีพลัง เมื่อถักทอกันเป็นเครือข่าย มีการประสานกันจนประสบผลสำเร็จได้แล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นผลดีต่อตัวเราและเพื่อนๆ ทั้งประเทศ นี่คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง

ส่วนที่สาม สองมือ ทุกคนมีกันอยู่แล้ว เรามีสองมือบวกกับเพื่อนๆ อีกสองมือ ในชุมชนมีเท่าไหร่เอามารวมกันจนเป็นพันๆ มือ นี่คือความสามัคคี แล้วลงมือปฏิบัติ พัฒนา ปรับปรุง จนเกิดเป็นประสบการณ์ การได้เรียนรู้ใหม่ๆ จะได้ประสบการณ์ จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้กระทำไปสรุป เมื่อเราทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องก็จะได้ผลดียิ่งๆ ขึ้น นั่นคือการก้าวไปข้างหน้า จนสร้างความเชื่อมั่นแล้วเดินไปด้วยกัน เช่นนี้แล้วความยากจนก็จะไม่เหลืออยู่ในระบบความคิด เพราะคนได้ร่วมกันขจัดความยากจนไปแล้ว

            อาจารย์กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ต้องอาศัยใจ สมอง และสองมือ เชื่อมโยง รวมจิต รวมใจ เพื่อให้แต่ละพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาไปจนครบวงจร ก็จะก้าวไปสู่สังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืนได้

                  (จาก นสพ.มติชนรายวัน 16 ก.ค. 49 หน้า 9 เป็นรายงานจากการสัมมนาที่จัดโดย “ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” (ศตจ.ปชช.) เมื่อ 4 ก.ค. 49 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ)  

ไพบูลย์ วัฒนศริธรรม

17 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39511

<<< กลับ

จิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน

จิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน


เมื่อปี 2547 มีชาวไทยคนหนึ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซ คนๆ นี้ จบการศึกษาแค่ ป.4 เป็นชาวบ้านที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่ได้รับรางวัลเพราะเขาได้สั่งสมความรู้ ภูมิปัญญา ความสามารถ เกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ในตำบลที่เขาอยู่คือตำบลไม้เรียง “ชุมชนเข้มแข็ง” หมายถึงชุมชนที่คิดพึ่งตนเอง จัดการตนเอง ดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้นักวิชาการและนักพัฒนาจำนวนหนึ่งซึ่งประทับใจและชื่นชม ได้ไปศึกษา ไปเรียนรู้ และนำมาเผยแพร่ ต่อมามีคนสนใจไปเยี่ยมเยือนและทำความเข้าใจมากขึ้น มาทดลองทำบ้าง เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีโครงการชื่อว่า “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” ซึ่งผมมีส่วนในการยกร่างและเสนอรัฐบาลให้เห็นชอบ ได้รับอนุมัติเงินประมาณ 4,800 ล้านบาท ไปส่งเสริมเรื่องการฟื้นฟูชุมชนและการทำแผนชุมชนได้ผลระดับหนึ่ง

ต่อมาเมื่อโครงการนั้นเสร็จสิ้นก็มีหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งสภาพัฒน์และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่ผมเป็นประธานและเป็นผู้ช่วยก่อตั้งขึ้นมา ได้มาสานงานต่อจนถึงทุกวันนี้ คำว่า “แผนชุมชน” เป็นที่เข้าใจและยอมรับในวงกว้างรวมทั้งในภาครัฐบาล  เมื่อรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ตั้ง “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน” หรือ ศตจ. ก็ได้เปิดโอกาสให้ขบวนการชุมชนสมทบเข้ามาชื่อว่า ศตจ.ปชช. หรือ “ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” เป็นเครือข่ายชุมชนที่ทำแผนแม่บทชุมชนเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล ทำไปจนกระทั่งถึงระดับหนึ่งก็มีการบูรณาการงานของชาวบ้านเข้ากับงานของรัฐบาล ได้ทดลองทำใน 12 จังหวัดนำร่องในการบูรณาการงานพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ทางด้านในเมืองได้มีขบวนการคนจนในเมืองรวมกลุ่มเป็นชุมชนด้วยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันทำโครงการที่ชื่อว่า “โครงการบ้านมั่นคง” เป็นโครงการที่ชาวบ้านมีบทบาทสำคัญมากในการคิด การวางแผน และการกำหนดเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้ทำโครงการบ้านมั่นคงขยายไปขณะนี้ประมาณ 200 เขตเทศบาลทั่วประเทศ รวมถึงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของคำว่า “การพัฒนาชุมชน” เมื่อผมเข้ามาทำงานในด้านนี้ก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับชาวบ้านทั้งในชนบทและในเมือง ได้พบได้เห็นได้ซึมซับได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้รับเอาสิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาจากชาวบ้านมากมายจริงๆ สั่งสมผสมผสานกลายเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า “ระบบคิด” และถ้าลึกลงไปเรียกว่า “จิตสำนึก” สิ่งเหล่านี้สั่งสมก่อรูปขึ้นมาในที่สุดก็เป็นตัวกำกับการคิดการพูดการทำของเรา

ฉะนั้น “จิตสำนึก” และ “ระบบคิด” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในความเห็นของผม โดยเฉพาะในงานพัฒนาชุมชน สิ่งที่ผมได้สั่งสมมาคือการได้เห็นศักยภาพ เห็นขีดความสามารถ เห็นภูมิปัญญา รับรู้ถึงคุณค่าศักดิ์ศรีของคนทุกคน ผมจะไม่ใช้คำว่า “ไปช่วยเหลือ”“ไปสงเคราะห์”“ไปสร้างอำนาจให้” แต่จะใช้คำว่า “ไปสนับสนุนให้เขาสร้างความสามารถขึ้นมา ให้เขาสร้างศักยภาพขึ้นมา ให้เขาสร้างอำนาจขึ้นมา” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ผมได้คลุกคลีสัมผัสอยู่ในวงการพัฒนาชุมชนเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมหวังว่าในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนของท่านทั้งหลาย คงจะได้ตระหนักถึงมิติเหล่านี้ นั่นคือ การที่เราไปทำงานกับชุมชนก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนและชุมชนเขาได้จัดการตนเอง ได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ ได้เพิ่มศักยภาพของเขาเอง และนั่นจะเป็นการพัฒนาที่แท้จริง เป็นการพัฒนาที่เรียกว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (People-centered Development) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยอยู่แล้ว

สิ่งที่นำมาพูดในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โยงไปถึงสิ่งทีลึกอยู่ในใจที่เรียกว่า “จิตสำนึก” และรวมถึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสมองที่เรียกว่า “ระบบคิด” หวังว่าท่านจะได้นำไปประกอบการคิดการพิจารณาของท่าน และนำไปสู่การทำกิจกรรมที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนนำมาซึ่งความสุขใจ ความอิ่มใจ ความภาคภูมิใจ รวมทั้งตัวท่านเองก็ได้เรียนรู้ ได้พัฒนาความคิด พัฒนาความสามารถของท่าน พร้อมกันไปด้วย

                (สรุปคำบรรยายในฐานะวิทยากรพิเศษในวันเริ่มต้นปีโรตารี 2549-2550 ของสโมสรโรตารีบางรัก ณ โรงแรมตะวันนารามาดา เมื่อ 6 ก.ค. 49)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

18 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39512

<<< กลับ

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม


“สันติวิธี” เป็นการมุ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นการมุ่งประโยชน์ร่วมกัน เป็นการเห็นคุณค่าของ “สันติภาพ” หรือ “สันติภาวะ”

“วัฒนธรรม” เป็นแบบแผนการ คิด พูด ทำ ที่สั่งสมจนเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติเป็นปกติในกลุ่มชนหนึ่งๆ

“สันติวิธี” ควรพัฒนาเป็น “วัฒนธรรม” และ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรมี “สันติวิธี” อยู่ด้วย หรือ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรนำสู่ “สันติภาวะ”

                    “วัฒนธรรม” เชื่อมโยงแบบ “พหุปฏิสัมพันธ์” กับ “จิตสำนึก” “ระบบคิด” และ “การปฏิบัติ”

“จิตสำนึก” / “ระบบคิด” 2 แบบ ได้แก่

1. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “สมานฉันท์” เช่น

1.1 ตามธรรมะพระพุทธเจ้า

• กัลยาณมิตตตา

• พรหมวิหาร 4

• อปริหานิยธรรม 7

• บุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นต้น

1.2 ตามพระราชดำริในหลวง

• รู้ รัก สามัคคี

• ไมตรี (พระราชดำรัส 5 ธ.ค. 42)

• เศรษฐกิจพอเพียง

• เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

• คุณธรรม 4 ประการอันเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี (พระราชดำรัส 9 มิ.ย. 49) เป็นต้น

1.3 ตามหลักการพัฒนา/การบริหาร/การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ดี

• The 7 Habits of Highly Effective People

• Appreciative Inquiry (AI)

• Appreciation, Influence, Control (AIC)

• Knowledge Management (KM)

• Participatory Learning

• Learning Organization

• Conflict Management/Resolution

• Dialogue

• Restorative Justice   เป็นต้น

2. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “ปฏิปักษ์” ได้แก่

• ต่อสู้แย่งชิง

• แก่งแย่งแข่งขัน

• พวกเราพวกเขา

• เราดีเขาเลว

• คณะนิยม (ปฏิปักษ์กับคนอื่น)

• โลภมากอยากได้ (เงิน อำนาจ อิทธิพล ฯลฯ)   เป็นต้น

“วัฒนธรรมที่ดี” สามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง แต่ “สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม” อาจกลายเป็นสาเหตุหรือปัจจัยให้เกิดการขัดแย้งได้ เช่น การมองว่า “วัฒนธรรมของเรา” ดีกว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” หรือการพยายามนำ “วัฒนธรรมของเรา” ไปครอบงำคนอื่น หรือ การมองว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” ยังไม่ดีพอ หรือการติดยึดกับ “วัฒนธรรมของเรา” จนเกินความพอดี    เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารงานวัฒนธรรม

1. การค้นหา “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” ที่เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” หรือ “สันติวิธี”

2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” เหล่านั้น รวมถึงประเด็นต่อเนื่อง

3. การรวมตัวเป็น “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” ของ “บุคคล” หรือ “องค์กร” หรือ “พื้นที่” เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

4. การจัดกิจกรรม “ค้นหาจุดดีเด่น” และ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “จัดการความรู้” (Knowledge Management) (ตามข้อ 1. และ 2.) ภายใน “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” (ตามข้อ 3.)

5. “การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (Interactive Learning through Action) อย่างต่อเนื่อง

(บันทึกความคิดสำหรับการร่วมอภิปราย หัวข้อ “สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม” เมื่อ 13 ก.ค.49 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การฝึกอบรมผู้บริหารเครือข่ายวัฒนธรรม” ประจำปี 2549 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/40140

<<< กลับ

จะสร้าง “สมานฉันท์” จากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร

จะสร้าง “สมานฉันท์” จากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร


        คำว่า “สมานฉันท์” มีน้ำเสียงไพเราะ มีความหมายงดงาม คือหมายความว่า “ความพอใจร่วมกัน” หรือ “ความเห็นพ้องกัน”

“สมานฉันท์” เป็นได้ทั้ง “ผลลัพธ์” และ “วิธีการ”

ถ้าเป็น “ผลลัพธ์” เราจะพูดว่า “ขอให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมไทย” เป็นต้น

แต่ถ้าพูดว่า “ขอให้เรามาสมานฉันท์กันเถิด” เรากำหลังหมายถึงว่า ขอให้เรามา “ดำเนินการ” ในอันที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น

ตรงนี้แหละที่ยาก แต่ก็เป็นไปได้และควรพยายามทำให้ได้

สำคัญที่ต้องเข้าใจให้ถูก และทำให้ดี  

อย่างนี้ยังไม่ใช่ “สมานฉันท์”

ถ้าคนฝ่ายหนึ่งบอกว่า “เรามาสมานฉันท์กันนะ” โดยมีความหมายว่า “ที่พวกคุณคัดค้านต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่น่ะ ขอให้หยุดเสียเถอะ บ้านเมืองจะได้สงบสุข”

อย่างนี้ยากจะเกิดความ “สมานฉันท์” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” หรือ “ความเห็นพ้องกัน” เพราะอีกฝ่ายก็คงจะบอกว่า “ถ้าคนที่เราคัดค้านต่อต้านลาออกไปตามที่มีคนจำนวนมากเรียกร้อง พวกเราก็ยินดียุติความเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้าน”

ซึ่งฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ลาออกก็จะยังคงไม่ยอมลาออก เรื่องจึงจะยังคงเป็นความขัดแย้ง หรือยังไม่เป็นความสมานฉันท์อยู่นั่นเอง

หรือฝ่ายแรกอาจบอกว่า “ในเมื่อเราจะมีกระบวนการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว การเคลื่อนไหวอย่างอื่นควรยุติ” อีกฝ่ายก็คงตอบว่า “ไม่ได้ขัดข้องเรื่องการเลือกตั้งแต่ยังไม่มั่นใจในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง และขณะเดียวกันขอให้มีกระบวนการสอบสวนความผิดของผู้อยู่ในตำแหน่งสำคัญบางคน โดยไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย”

ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่ค่อยเห็นโอกาสที่จะมีการดำเนินการตามที่ฝ่ายที่สองเสนอ ดังนั้น ความขัดแย้งหรือความไม่สมานฉันท์จึงยังคงดำรงอยู่

นอกจากนั้น ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยข้องใจเกี่ยวกับจริยธรรม ความสุจริต ความน่าเชื่อถือ การมีพฤติกรรมเหมาะสม และความชอบธรรม ของผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในอำนาจ ถ้าความสงสัยข้องใจนี้ยังมีอยู่มาก การเลือกตั้งจะไม่ช่วยคลี่คลายและความยังไม่สมานฉันท์ คือความยังไม่ “พอใจร่วมกัน” จะยังคงอยู่

แล้ว “สมานฉันท์” ที่จริงแท้ควรเป็นอย่างไร

จะเกิดความ “สมานฉันท์” จริงแท้ได้ต้องมีทั้ง “กระบวนการ” ที่เห็นพ้องต้องกัน และการบรรลุ “ผลลัพธ์” ที่เห็นพ้องต้องกัน โดยเป็นความเห็นพ้องต้องกันของ “ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น ลงลึก ซับซ้อน และกว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อน

                มีอยู่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาก นับโดยสังเขปได้ดังนี้

1. พตท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะใกล้ชิด

2. ผู้นำทางการเมืองฝ่ายคัดค้านพตท.ทักษิณ

3. ผู้นำทางการเมืองฝ่ายสนับสนุนพตท.ทักษิณ

4. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

5. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คาราวานคนจน”

6. กลุ่มประชาชนอื่นๆที่คัดค้านพตท.ทักษิณ

7. กลุ่มประชาชนอื่นๆที่สนับสนุนพตท.ทักษิณ

8. กลุ่มประชาชนที่ไม่แสดงจุดยืนในทางสนับสนุนหรือคัดค้านพตท.ทักษิณ

9. กรรมการการเลือกตั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่

10. ฝ่ายรักษาการสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่แสดงจุดยืนบ่อยครั้ง

11. ฝ่ายตุลาการบางส่วนที่แสดง จุดยืนบ่อยครั้ง

12. ฝ่ายอื่นๆนอกจากที่กล่าวข้างต้น

“ผู้เกี่ยวข้อง” อาจมีมากกว่านี้หรือต่างไปจากนี้ก็ได้ ในกระบวนการสมานฉันท์จะเปิดกว้างและยืดหยุ่นไว้ ให้มีการจัดการตนเองและจัดการร่วมกันจนลงตัวได้ในที่สุด

ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเหล่านี้ ต้องเห็นชอบร่วมกันก่อนเกี่ยวกับ “กระบวนการ” ที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หากยังไม่เห็นพ้องต้องกันในขั้นนี้ กระบวนการจะสะดุดตั้งแต่ต้น

บทบาทของ “คนกลาง” ในการแก้ความขัดแย้ง

โดยนัยนี้ การขอให้คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็น “คนกลาง” ในการคลี่คลายความขัดแย้ง อาจเกิดปัญหาหากผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญยังไม่เห็นพ้องกัน หรืออาจเกิดความสับสนเนื่องจากคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็น “คู่กรณี” ในความขัดแย้งอยู่ด้วย ทำให้ทำหน้าที่ได้ยากหรือไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ที่อาจเป็นไปได้ คือ คุณบรรหาร ช่วยเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการให้มีการ “พูดจากัน” ในวงเล็กๆก่อน แล้วพยายามหาผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบหรือยอมรับร่วมกันให้มาทำหน้าที่ “คนกลาง” อย่างแท้จริงในขั้นถัดไป ซึ่งอาจเป็นคนกลางคนเดียว หรือเป็น “คณะคนกลาง” ก็ได้

“คนกลาง” จะทำงานได้ผลก็ยังต้องเสนอแนะหรือจัดให้มี “กระบวนการ” ซึ่งเห็นชอบร่วมกันในขั้นตอนต่างๆทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถนำไปสู่ความ “สมานฉันท์” คือ “ความพอใจร่วมกัน” ในที่สุด

“กระบวนการ” ดังกล่าวนี้ รวมถึงการตอบประเด็นว่า จะใช้การเจรจาหารือกันหรือไม่ ใครบ้างจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาหารือ จะแยกการเจรจาหารือเป็นหลายขั้นตอนไหม และแบ่งอย่างไร วิธีเจรจาหารือจะทำอย่างไร จะเปิดเผยมากน้อยแค่ไหน ในจังหวะใด และประเด็นอื่นๆอีกมากทีเดียว ซึ่งคนกลางจะต้องเอื้ออำนวยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามหาความเห็นพ้องเกี่ยวกับ “กระบวนการ” ในแต่ละขั้นตอน ก่อนที่จะดำเนินการตามกระบวนการเหล่านั้นเพื่อพิจารณา “สาระ” ต่างๆในลำดับถัดไป

การจัด “กระบวนการ”ทั้งหลายก็เพื่อให้สามารถเจรจาหารือกันอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์ นำสู่การเห็นพ้องต้องกันใน “สาระ” ที่สำคัญตามลำดับจนในที่สุดเป็น “ความเห็นพ้องกัน” ในเรื่องทั้งหมด ทำให้สลายความขัดแย้งที่เป็นปัญหา  กลายเป็น “ความพอใจร่วมกัน” หรือ ความ “สมานฉันท์” นั่นเอง

ตรงนี้ถือว่ายากที่สุด หรือท้าทายที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุดและถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน มากที่สุด

ดังได้กล่าวแล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน มีความเข้มข้น ลงลึก ซับซ้อน และกว้างขวาง มากทีเดียว

ฉะนั้น การบรรลุ “ความเห็นพ้องกัน” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” โดย “ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” จึง “ยากมากๆ” และจะต้องเป็นความเห็นพ้องกันในหลายๆประเด็นที่สำคัญพร้อมกันไป มิใช่เห็นพ้องกันเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา

ประเด็นที่สำคัญเหล่านี้อาจจะรวมถึง

1. การ “เว้นวรรค” หรือไม่เว้นวรรคของพตท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมเงื่อนไขต่างๆที่ผูกพันกับการเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคดังกล่าว

2. สถานภาพและบทบาทของกรรมการเลือกตั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่ พร้อมเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง

3. วิธีทำให้ฝ่ายต่างๆมั่นใจพอสมควรว่าการเลือกตั้ง วันที่ 15 ตุลาคม 2549 จะมีความ “เรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม”

4. วิธีดำเนินการกับความสงสัยข้องใจในความสุจริตถูกต้องของผู้นำทางการเมืองให้พอเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้

5. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลปกครอง

6. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และกลุ่มอื่นๆที่คัดค้านพตท.ทักษิณ

7. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของกลุ่ม “คาราวานคนจน” และกลุ่มอื่นๆที่สนับสนุนพตท.ทักษิณ

8. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของฝ่ายอื่นๆ เช่น นักการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ นักปฏิบัติการสังคม ฯลฯ

9. มาตรการระยะสั้นในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ

10. แผนดำเนินการระยะยาวในการปฏิรูปและพัฒนาทางสังคมและการเมือง

  ถึงยากแค่ไหนก็ควรพยายาม

ในการดำเนินการจริงๆ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเป็นผู้พิจารณาและหาความเห็นพ้องในการเลือกประเด็นที่จะนำมาเจรจาหารือเป็นช่วงๆ โดยอาจแปรเปลี่ยนขัดเกลาเพิ่มเติมเมื่อเวลาผ่านไป

การจะบรรลุความห็นพ้องกันในเรื่องทั้งหมดข้างต้น ต้องการความพยายามร่วมกันโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงใจ จริงจัง ด้วยความพากเพียร อดทน ใช้สติ ใช้ปัญญา โดยมีคนกลางที่เหมาะสม ช่วยจัดกระบวนการที่ดี และให้เวลาที่มากพอเพื่อเรื่องทั้งหมดนี้

ส่วนบรรดา “ผู้เฝ้ามอง” โดยเฉพาะสื่อมวลชน และ “กองเชียร์” ทั้งหลาย ก็ควรพยายามให้ความเป็นธรรมอย่างสร้างสรรค์ และให้กำลังใจอย่างเหมาะสม ต่อผู้เข้าสู่กระบวนการเจรจาหารือทั้งหมด และต่อทุกๆฝ่าย รวมถึง

“คนกลาง” หรือ “คณะคนกลาง” ด้วย

                เพราะเขาเหล่านั้น คือผู้ที่จะช่วยกันพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งแตกแยกที่สร้างความเสียหายมากมาย ไปสู่ความ “สมานฉันท์” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” ซึ่งน่าจะหมายถึงสภาพอันพึงปรารถนาที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่ความเจริญงอกงามของประเทศไทย ของสังคมไทย และของประชาชนชาวไทยโดยรวม  ในที่สุด

(หมายเหตุ      บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 24 ก.ค. 49 คือ 1 วัน ก่อนศาลอาญาพิพากษาจำคุก“3 กกต.” นำลงใน Webblog : paiboon.gotoknow.org วันที่ 28 ก.ค. 49 และลงเป็นบทความใน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับ 7 ส.ค. 49 หน้า 7)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/41313

<<< กลับ

 

“ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้”

“ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้”


    (บทสัมภาษณ์ลงใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 27-30 กรกฎาคม 2549 หน้าพิเศษ 4 พาดหัวว่า “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : ขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุข ความดีต้องมาก่อนความรู้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษ “ทิศทางการเมืองไทย” ที่ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์บุคคล รวม 8 คน)

ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับผู้บริหารระดับประเทศและยังได้คลุกฝุ่นกับคนจนในท้องถิ่นอยู่เนืองๆ ทำให้ “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม เอ็นจีโออาวุโส มองการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศไทยต่างไปจากคนอื่นๆ เน้นแก้วิกฤตที่เหตุแห่งปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และในวันที่สังคมไทยเดินมาถึงจุดที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มที่ต้องการให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีและกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาฐานเรื่องคุณธรรมความดี เพื่อให้สังคมไทยเดินไปสู่จุดที่มีความสุขร่วมกันในอนาคต

เสริมฐานด้านคุณธรรมความดี

                เดินไปสู่จุดที่มีความสุขร่วมกัน

                “ไพบูลย์” ให้สัมภาษณ์ว่า โดยหลักการแล้วศูนย์คุณธรรมมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของคุณธรรมมีคนเกี่ยวข้องเยอะ ทางศูนย์ก็พยายามไปหนุนเสริมกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่ให้มีการขับเคลื่อนแบบเป็นขบวนการ โดยทำงานในลักษณะเครือข่ายเพื่อให้มีพลัง

เช่น ชาวบ้านมีการรวมตัวกันทำแผนแม่บทชุมชน เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ต้องการอะไรหลายอย่างเข้าไปเสริม เช่น การทำมาหากิน การดูแลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ฉะนั้นสิ่งที่ศูนย์คุณธรรมจะทำได้คือ ไปหนุนขบวนการชุมชนเพื่อให้มีมิติในเรื่องคุณธรรมที่เด่นชัดและหนักแน่นขึ้น

หากจะขยายความในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะประกอบไปด้วย ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางสังคม และความสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของความสุข เรื่องของคุณธรรมความดี เรื่องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่นั้นเกี่ยวพันผสมกลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก ทางศูนย์คุณธรรมจึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขที่ยั่งยืน ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คำว่าดีขึ้นในที่นี้หมายรวมถึงชีวิตดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น สังคมดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อสังคมดี วัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมดี จิตใจคนก็ดี คุณธรรม ความดี ก็ดีตามไปด้วย

                  ซึ่งในช่วงหลังๆ สังคมไทยเริ่มหันมาสนใจประเด็นในเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขกันมากขึ้น แต่การจะหยิบเกณฑ์บางอย่างทางสังคมเพื่อมาเป็นตัวชี้วัดความสุขแบบถูกต้อง เที่ยงตรง คงจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นเรื่องที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เช่น ในแต่ละปีมีคนตายกี่คน มีคนเป็นโรคมะเร็งตายเท่าไหร่ ตรงนี้วัดได้

หรือการจัดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่รัฐบาลนำมาวัดดัชนีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า GNP หรือ GDP หรือผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ก็มีลักษณะเป็นการสร้างเครื่องวัดชนิดหนึ่งขึ้นมา เป็นการประมาณการโดยอาศัยหลักวิชา

ซึ่งบางครั้งหากวิเคราะห์ให้ละเอียดก็จะเห็นว่าดัชนีที่จัดทำขึ้นแต่ละครั้งนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่เยอะ

ซึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ในขณะที่รายได้ประชาชาติสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้ถูกทำลายลง นั่นหมายถึงว่าเราได้ทำลายฐานทุนเพื่อนำไปสร้างรายได้ ซึ่งในระยะยาวไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะฉะนั้นตัววัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมที่ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก

สร้างดัชนีชี้วัด ปรับวิธีคิดชุมชน

                ค้นหาความสุขแทนการสร้างรายได้

                หากวันนี้ประเทศไทยจะหันมาวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ ก็จะมีลักษณะไม่ต่างจากการวัดด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ โดยการสร้างตัวชี้วัดขึ้นมา

การวัดความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานนั้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปศึกษาในรายละเอียด ว่ามีการวัดกันอย่างไร จึงรู้เพียงแต่ว่าความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฏานนั้นตั้งอยู่บนฐานหลัก 4 ประการ

ฐานแรก คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ให้พึ่งตนเองได้ และมีความเสมอภาค

                ฐานที่สอง คือการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม                 ฐานที่สาม คือการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมที่ดีงาม

                  และฐานสุดท้าย ฐานที่สี่ คือการทำให้เกิด และรักษาไว้ซึ่งการบริหาร การปกครองที่ถูกต้องและเป็นธรรม ที่เรียกว่าธรรมาภิบาล

หากการคำนึงถึงความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏานตั้งอยู่บน 4 ฐานหลัก ก็จะสามารถสร้างดัชนีชี้วัดขึ้นมาได้ โดยวัดจาก 4 ฐาน ซึ่งอาจจะไม่วัดที่ตัวความสุขเพียงอย่างเดียว แต่วัดปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขก็ได้

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะวัดเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขอยู่บ้าง ซึ่งทางสภาพัฒน์ เรียกว่าดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข

ซึ่งภาวะที่เป็นสุขประกอบไปด้วยความเป็นสุข 4 อย่าง คือ 1.ความเป็นสุขทางกาย 2.ความเป็นสุขทางใจ 3.ความเป็นสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ แสดงความสุขที่ลึกลงไปในจิตสำนึกในการเข้าถึงคุณธรรม สัจธรรม ความดี ความงามต่างๆ 4.ความเป็นสุขทางสังคม หมายถึงความเป็นสุขในการอยู่ร่วมกัน หรืออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

หากหยิบความหมายของความสุข 4 อย่างมาเป็นดัชนีชี้วัดในเรื่องความสุขมวลรวมของชาติก็สามารถทำได้ เป็นการจับจุดสำคัญๆ มาวัด

การใช้ดัชนีชี้วัดไม่ได้แปลว่าความสำคัญของความสุขอยู่ที่ตัวชี้วัด แต่ความสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความคิด การกระทำ และความสัมพันธ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

เช่น อาจจะมีการส่งเสริมในเรื่องของการสร้างตัวชี้วัดความสุขในชุมชน แทนที่ชาวบ้านจะมาวัดรายได้ของชุมชน ก็หันมาวัดในเรื่องของความสุขแทน เปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านให้ค้นหาว่าความสุขหมายถึงอะไร

ความสุขจะต้องมาจากความดี การอยู่ร่วมกัน มาจากการมีอาชีพ มีปัจจัยสี่ ขณะเดียวกันจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดี มีวัฒนธรรมที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และเมื่อคิดแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามนั้น

การที่ชุมชนปรับความคิด คิดถึงความสุข คิดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข แล้วก็พยายามทำให้เกิดปัจจัยเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่ความสุข ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นการใช้ตัวชี้วัดมาปรับความคิดของชาวบ้าน ปรับการกระทำ ปรับวิถีของคนที่อยู่ร่วมกันให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

เพราะฉะนั้นตัววัดจึงเป็นเสมือนยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดผลที่ดี เช่นเดียวกับวัดเรื่องรายได้ ก็จะทำให้คนไปพะวงกับรายได้ คิดแต่จะสร้างรายได้ แล้วก็เลยนำไปสู่การเบียดเบียน การเอาเปรียบ การแย่งชิงประโยชน์ การสะสม การกอบโกย ฉะนั้นเครื่องวัดไม่ได้สำคัญที่ความสมบูรณ์ของตัววัด แต่สำคัญที่ผลกระทบต่อวิธีคิด วิธีทำ วิธีอยู่ร่วมกันของคนมากกว่า

“ไพบูลย์” กล่าวต่อไปว่า สังคมหนึ่งๆ ย่อมมีสภาวะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังคมไทยได้ผ่านความสันติสุข ความวุ่นวาย ความยากลำบาก หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่เคยหยุดนิ่ง การจะพูดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดีขึ้นหรือเลวลงกว่าในอดีตคงดูได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้ คือที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีความพยายามจะวัดในเรื่องความสุข หรือความเป็นสุขในสังคมเลย จึงเปรียบเทียบได้ยาก

ต่อไปหากมีตัวชี้วัดในเรื่องของความสุข อย่างน้อย 4 ด้าน ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้พยายามทำดัชนีชี้วัดในเรื่องความสุขเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นสภาพัฒน์ได้ทำดัชนีชี้วัดในเรื่องความอยู่ดีมีสุข แบ่งออกเป็น 8 หมวด โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็ได้ร่วมกับนักวิชาการไทยทำดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index)

และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยได้ร่วมกับชาวบ้านที่อีสาน ค้นหาสิ่งที่จะวัดความเป็นสุข ซึ่งก็ได้มา 8 หมวดเช่นกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มการทำมาหากิน เพราะคนเราจะมีความสุขได้ ก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการอาชีพ ความเป็นอยู่ ปัจจัยสี่ การศึกษา วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครองที่ดี

สุดท้ายคือเรื่องของจิตใจของคน จิตใจของการอยู่ร่วมกันหรือที่เรียกกันว่าคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นสุข จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังในระดับชาติ

หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมกันพัฒนา ในระยะแรกอาจจะยังไม่ดีนัก ค่อยๆ ปรับปรุงกันไปก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สามารถติดตามสภาพความเป็นไปของสิ่งที่เรียกว่า ความสุข หรือความเป็นสุขได้

คนไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกันว่าการที่จะทำให้ชีวิตเป็นสุขนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งควรจะเริ่มทำจากระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะตรงนั้นเป็นเสมือนประเทศเล็กๆ หากทำให้คนกลุ่มเล็กๆ ระดับท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการภายในชุมชนโดยยึดความอยู่เย็นเป็นสุขเป็นตัวตั้ง แล้วเฝ้าดูสภาพความเป็นไปว่าเป็นอย่างไร การทำให้ท้องถิ่นดีขึ้นทำอย่างไร จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายผลยกระดับขึ้นมาเป็นจังหวัด ก็จะเห็นพัฒนาการด้านความสุขที่ชัดเจนขึ้น

แต่ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นให้จังหวัดทำดัชนีชี้วัดในเรื่องรายได้ เอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ การวัดทางด้านความอยู่เย็นเป็นสุขจึงด้อยลงไป ซึ่งหากรัฐบาลส่งเสริมให้ท้องถิ่นและจังหวัดอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติก็จะอยู่เย็นเป็นสุขตามไปด้วย

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  

               กุญแจสำคัญนำไปสู่ความสุข

                ประธานศูนย์คุณธรรมกล่าวต่อไปอีกว่า การจะนำสังคมไปสู่ความสุขต้องเริ่มต้นที่เศรษฐกิจพอเพียง เพราะระบบทุนนิยมเอาความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวนำ แต่เศรษฐกิจพอเพียงเอาความพอดีเป็นตัวนำ

                เศรษฐกิจพอเพียงจะมีลักษณะสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ 1.พอประมาณ 2.มีเหตุผล 3.มีภูมิคุ้มกัน 4.ใช้ความรู้ ความรอบรู้ ความรอบคอบ 5.มีคุณธรรม ความดี เน้นให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะความพอดี ความพอประมาณ คือภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดความมั่นคงเป็นปกติสุข อาจจะไม่ร่ำรวย อาจจะไม่ได้เติบโตมาก แต่ว่าอยู่ได้อย่างพอประมาณและเป็นสุข ถ้ามีความรอบรู้ รอบคอบ มีคุณธรรม มีความดี ความสุขก็จะเกิด

เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ความสมดุล ความเป็นสุข จึงไปด้วยกัน ซึ่งต่างจากระบบทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม ที่มักจะนำไปสู่ความสุดโต่ง ความเกินดุล คือบริโภคมากไป ใช้วัตถุมากไป ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากไป แล้วก็อยู่ร่วมกันแบบแข่งขันกันมากไป แทนที่จะให้เกิดความอยู่ด้วยกันอย่างเสมอภาค หรือแบบมีความสุข สังคมก็มีแต่ความขัดแย้ง

การจะก้าวไปสู่สังคมที่ดีและมีความสุข หลายอย่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเมืองการปกครองต้องดี ระดับความคิดความอ่าน การรวมตัวกันของภาคประชาชนต้องมีพลัง ถ้าภาคประชาชนยังคิดอ่านแบบง่ายๆ สั้นๆ เอารายได้ เอาการบริโภคในปัจจุบันเป็นตัวหลัก แม้จะต้องกู้หนี้ยืมสินก็ยอม แล้วอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีการรวมตัวกัน ก็จะนำไปสู่การเมืองการปกครองที่ไม่ดี ภาคประชาชนก็ไม่เข้มแข็ง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ระบอบการเมืองการปกครองของไทยมักจะดึงดูดคนที่ใฝ่หาอำนาจและผลประโยชน์เข้ามาทำงาน ฉะนั้นหากภาคประชาชนเป็นกำลังที่เข้มแข็ง นักการเมืองนักการปกครองก็จะปรับพฤติกรรมของเขาให้เกื้อกูลต่อภาคประชาชน

แต่ถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง แล้วโน้มเอียงไปในทางชอบพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ ทางฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักปกครอง ก็จะเบี่ยงเบนไปทางเอาประโยชน์ เอาอำนาจเป็นหลัก แต่ถ้าประเทศไทยโชคดีได้นักการปกครองที่ดี ก็สามารถที่จะไปเกื้อกูลให้ภาคประชาชน เข้มแข็งได้

หรือถ้ามีนักปกครองที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะไม่ไปครอบงำประชาชน ไม่ไปเอาประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่าไปบริการ ไปรับใช้ประชาชน แล้วไปเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้ประชาชนเข้มแข็ง

แต่ถ้านักการเมืองไปทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ ตรงนั้นจะไม่ใช่คุณสมบัตินักการเมือง นักการปกครองที่ดี

นักการเมือง นักการปกครองที่ดี ควรจะมีทศพิธราชธรรม และมีหลักการบริหารที่เอื้อต่ออำนาจของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้มแข็ง

แต่ในปัจจุบันมีนักการเมืองจำนวนไม่ใช่น้อย จะชอบเข้าไปทำให้ประชาชนเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ เพราะตัวเองจะได้ประโยชน์ แล้วใช้ฐานเสียงที่มีอยู่นั้นกุมอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์วนเวียนอยู่อย่างนั้น

“บางคนบอกว่าจะต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ แต่โดยส่วนตัวอยากเสนอแนะว่า เราควรจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณธรรมนำการเรียนรู้ ถ้าสังคมไทยใช้ฐานความรู้เป็นหลัก การดำเนินชีวิตก็จะเน้นไปที่วัตถุ เพราะความรู้เป็นอาวุธ กิเลสของคนจะเอาความรู้ไปเป็นอาวุธ เพื่อเอาเปรียบคนอื่นๆ ทำร้ายคนอื่น หรือครอบงำคนอื่นๆ หรือเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

แต่สังคมที่ใช้ฐานคุณธรรม หรือใช้คุณธรรม ใช้ความดีนำความรู้ คุณธรรมและความดี เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง มีแล้วดี แล้วถ้าเป็นคุณธรรมนำการเรียนรู้ ก็จะทำให้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานที่ดี ในกรอบที่ดี ก็จะเดินไปในทิศทางที่ดี

ถ้าใช้คุณธรรมนำความรู้ ความรู้ที่เปรียบเสมือนอาวุธ ก็จะกลายเป็นอาวุธทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนจากความคิดที่จะสร้างสังคมฐานความรู้ หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนที่บอกว่า เก่ง ดี มีความสุข ควรเปลี่ยนมาเป็น ทำความดี มีความสุข พัฒนาความสามารถ หรือ ดี สุข สามารถ”

“ไพบูลย์” กล่าวว่า เมื่อคนทำความดี ความดีก็จะก่อให้เกิดความสุข ศูนย์คุณธรรมเชื่อว่าบนฐานเรื่องของคุณธรรม ความดี หากทำไปเรื่อยๆ สังคมจะเข้มแข็งขึ้น

                และในวันที่สังคมไทยมีความเข้มแข็ง มีฐานของคุณธรรมความดี เรื่องที่ไม่ดี ไม่งามต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การทะเลาะ การแตกแยกของสังคมก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปทางที่ดีขึ้น

แผน 10 ต้องชี้ทิศทางความสุขให้ชัด

สำหรับทิศทางการพัฒนาในเรื่องความสุขแบบยั่งยืนของสภาพัฒน์ มีโอกาสทำให้สังคมไทยมีความสุขได้มากน้อยแค่ไหน “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนฯ 10 เห็นว่าไม่ต่างจากแผนฯ 8 หรือแผนฯ 9 เท่าไหร่นัก

แผนฯ 10 จัดเป็นแผนที่ดี มีการประมวลความคิด ความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน พูดถึงสิ่งที่พึงประสงค์ คือ ความเป็นสุขของประชาชน แต่เรื่องเหล่านี้พูดกันมาตั้งแต่แผนฯ 8 แล้ว หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดในแผนฯ 8 จะเห็นว่าเขียนไว้ชัดว่า มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา โดยใช้คำว่า “จะพัฒนาประเทศให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

แผนฯ 9 ก็เช่นกัน มีเรื่องทำนองนี้บรรจุอยู่แล้ว ยังเพิ่มเรื่องของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เข้าไปด้วย เป็นปรัชญานำทาง

ฉะนั้นการที่สภาพัฒน์ระบุว่า เป้าหมายของแผนฯ 10 คือ เรื่องของความเป็นสุข จึงไม่มีอะไรที่จะต้องคาดหวังว่าผลลัพธ์จะแตกต่างจากแผนฯ 8 และหรือแผนฯ 9 เว้นแต่ว่าจะมีการปรับความคิดกันใหม่ ปรับวิธีทำงานกันใหม่

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ในแผนฯ 10 ควรจะจัดทำในลักษณะของแผนฯชี้ทิศทาง ไม่ใช่แผนฯละเอียดมากอย่างที่ทำในปัจจุบัน เท่าที่ดูมีละเอียดถึงขั้นมาตรการเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่จำเป็นเพราะสิ่งที่ต้องการคือทิศทางเท่านั้นส่วนแผนการปฏิบัติย่อยๆนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนเป็นคนคิด เพราะหากทิศทางดีแล้ว แผนปฏิบัติก็จะดีตาม

การที่สภาพัฒน์ไปคิดโครงการต่างๆไว้หมดแล้วแผนปฏิบัติการต้องใช้ถึง 5 ปี บางเรื่องบางอย่างก็ไม่ทันสถานการณ์ ดังนั้นสภาพัฒน์ควรเสนอวิสัยทัศน์ความอยู่เย็นเป็นสุขก็เพียงพอแล้ว ส่วนจะวัดความสุขอย่างไรนั้น ให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการ ให้ประชาชนเป็นผู้วัดและติดตาม

ที่สำคัญในแผนฯ 10 บอกว่าจะใช้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง ตรงนี้ จะต้องบอกให้ชัดว่าจะมีกลไกอย่างไร มีกระบวนการการทำงานอย่างไร มีงบประมาณสนับสนุนขนาดไหน เพราะในแผนฯ 9 ก็เขียนเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีกลไกอะไร การปฏิบัติจึงไม่เกิด

ปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะไปหนุนเสริมวิสัยทัศน์ในเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ดังนั้นจะต้องทำให้ชัด

สรุปแล้วแผนฯ 10 จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนทั้งในเรื่องของความอยู่เย็นเป็นสุขแล้วใช้ประโยชน์จากปรัชญานำทาง คือเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นจริงให้ได้

และสุดท้ายยุทธศาสตร์ในเรื่องของความดี การเรียนรู้ การจัดการ ต้องขยายความตรงนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำอยู่แล้ว

  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/41315

<<< กลับ

กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(1)

กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(1)


(เรียบเรียงโดย ศรินทร์ทิพย์ จานศิลา sarintiptan@yahoo.com 0-4674-2772 ลงใน จดหมายข่าว “ป่ากับชุมชน” ฉบับ เมษายน – มิถุนายน 2549 ซึ่งจัดทำโดย “แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย” (www.ThaiCF.org) ของ “ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC))

“กองทุน”  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

“กองทุน” เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย ควรทำเพื่อความสำเร็จของชุมชนเป็นหลัก

“ชุมชนเข้มแข็ง” คือ…….. ชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการ

การจัดการทรัพยากรท้องถิ่นต้องอาศัยกองทุนเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้น  ต้องจัดการ “กองทุน” และ “ทรัพยากรท้องถิ่น” ภายใต้การจัดการชุมชนโดยรวม

จากคำกล่าวข้างต้นเป็นเสมือนบทสรุปในการบรรยายพิเศษของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ในหัวข้อ “กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง” ในการประชุมสรุปบทเรียน เรื่อง “ป่าชุมชน…สู่ความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองบนฐานการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” ซึ่งมีตัวแทนจากชุมชนในพื้นที่โครงการ 8 พื้นที่ ตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคีความร่วมมือเข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 จัดโดยแผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC)

หลักใหญ่ใจความสำคัญ ได้บรรยายและชี้ให้เห็นความสำคัญของ 3 ประเด็นหลัก คือ

จัดการอะไร ?

จัดการอย่างไร ? จึงจะเกิดการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็งได้

จัดการให้เกิดอะไร ? ทำไมต้องจัดการ ?

“ชุมชนเข้มแข็ง” คือ.ชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการ ซึ่งมีทั้งการจัดการในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน สิ่งที่ชุมชนควรรู้และต้องจัดการใน 9 เรื่อง มีรายละเอียดดังนี้

จัดการข้อมูล

จัดการอะไร

สำหรับรายละเอียดของข้อมูลจะต่างกันตรงที่มีการทำมากหรือทำน้อย ทำเป็นระยะเวลาสั้นหรือยาว ทำเป็นระบบหรือทำแบบฉาบฉวย  เก็บข้อมูลอย่างหยาบหรือละเอียด  ทำเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่อง มีการจดบันทึกหรือจัดทำเป็นเอกสารอย่างเป็นระบบ ฯลฯ
การจัดการข้อมูลถือได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน หากชุมชนสามารถจัดการข้อมูลได้ดี เก็บข้อมูลได้ละเอียดมาก เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็ถือได้ว่ามีพื้นฐานที่ดีด้วย และได้ยกตัวอย่างการทำแผนชุมชนที่ถูกจุดประกายมาจากคุณประยงค์ รณรงค์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกัน มีการเก็บข้อมูลครัวเรือน ค่าใช้จ่าย และรายได้ภายในครัวเรือน เป็นต้น

จัดการความรู้

พยายามรวบรวม ชักจูงให้นำความรู้เหล่านั้นออกมาจากผู้รู้  ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์คุณธรรมฯ ได้ส่งเสริมเรื่องการจัดการความรู้ในเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่  โดยการค้นหาว่าใครเก่งเรื่องอะไร ใครรู้ ใครทำเรื่องอะไรได้  ใครมีความดีอะไร แล้วนำมาติดป้ายไว้ที่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน  ฯลฯ  นอกจากนั้นการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันก็ทำให้เกิดการจัดการความรู้ ข้อดีของการจัดการความรู้ คือ เป็นการสื่อสัมพันธไมตรี เกิดปัญญา อีกทั้งยังได้แนวทางการดำเนินชีวิตและแนวทางในการทำมาหากินอีกด้วย

จัดการคน

คนเรามีความแตกต่างกัน เช่น บางคนเป็นคนดีบางคนก่อกวนและสร้างปัญหา ดังนั้น ในการจัดการคนจึงต้องมีความเหมาะสม  ยกตัวอย่างหมู่บ้านสามขา จังหวัดลำปางที่มีกิจกรรมมากมาย สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่นั่นใช้หลัก 10% นั่นคือ ในคน 10 คน อย่างน้อยน่าจะมีคนเก่ง รู้เรื่องราวต่างๆ และเป็นคนดี อย่างน้อย 1 คน จากนั้นรวบรวมคนเหล่านั้นแล้วจัดตั้งเป็นสภาหมู่บ้าน นัดพบปะกันเป็นประจำ และที่สำคัญ ”คน” เป็นต้นเหตุของความดี ความไม่ดี ความสำเร็จ และความไม่สำเร็จ

จัดการความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ดีมาก คือ การมีความสามัคคี ไว้ใจได้ รักใคร่ กลมเกลียว ร่วมกันทำงาน  (การจัดการความสัมพันธ์ อาจใช้คำว่า การจัดการทางสังคมหรือเชิงสังคม ) และเป็นที่มาของการจัดตั้งวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) ซึ่งมีหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์และสังคม

จัดการกิจกรรม

ยกตัวอย่างเช่น การรวมตัวกันทำวิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในชุมชน ฯลฯ

จัดการเงิน

ยกตัวอย่างเช่น  การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส มีเงินหมุนเวียนพอใช้

จัดการกองทุน

มีการเก็บเงินออม  มีสมาชิก มีการชำระหนี้ มีการนำผลกำไรมาใช้ประโยชน์ต่างๆ

จัดการองค์กร

มีการจัดตั้งองค์กรทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถทำสัญญา และเสียภาษีได้ เช่น สหกรณ์ กลุ่มอนุรักษ์ป่า กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น สำหรับการจัดการองค์กรนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ การดำเนินงานเป็นอย่างไร เป็นต้น

จัดการชุมชน

เป็นการจัดการทุกเรื่องในชุมชน  เช่น  ทรัพยากรธรรมชาติ  วัฒนธรรม  สังคม  เศรษฐกิจ จัดการทั้งหมดเป็นองค์รวมและบูรณาการ

การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้น ชุมชนต้องสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ทั้ง 9 เรื่องข้างต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการจัดการที่ชุมชนทำอยู่แล้ว เพียงแต่มากน้อยต่างกัน

จัดการอย่างไร

“วงจรการจัดการ”

วงจรการจัดการ เป็นวัฏจักร หมุนวนกันไปเรื่อยๆ มี 5 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐาน ที่มาจากประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยน 2) การใช้ความคิด มาจากการพูดคุยกัน และจากการเรียนรู้ 3) การวางแผน มาจากความตั้งใจในการจะดำเนินการอะไร ซึ่งหากมีการจดบันทึกจะเป็นการดี 4) การทำ และสุดท้าย คือ 5) การวัดผล

จัดการให้เกิดอะไร

นิยามของคำว่า “ทุน” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงทุนที่เป็น “เงิน”  แต่ทุนโดยแท้จริงแล้วมีหลายประเภท ได้แก่           สิ่งแรกที่ต้องพยายามให้เกิดคือ ความดี  ถ้าไม่มีจะสั่นคลอน ในขณะเดียวกันความดีต้องควบคู่ไปกับความถูกต้อง  ดีงาม  มีศีลธรรม  จริยธรรม และความสุจริต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนั้นการจัดการยังมีเป้าหมายเพื่อให้กิดความสามารถ  ความสามัคคี  และความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่ดี มั่นคง และยั่งยืนนั้นจะต้องมาจากทั้ง 3 ส่วนรวมกันคือ ความดี ความสามารถ และความสามัคคี

ทุนธรรมชาติ   เช่น  ป่า ต้นไม้ น้ำ เป็นต้น

ทุนมนุษย์ เช่น  คนที่มีความรู้ ความดี ความสามารถ เป็นต้น

ทุนเงิน เช่น  เงินทองที่นำมาจับจ่ายใช้สอย เงินที่ยืมมา ได้รับการจัดสรรมา เป็นต้น

ทุนทางสังคม  เช่น  ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคม รักใคร่ สามัคคี ทำงานร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง มีพลัง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป  “การจัดการคน  จัดการเงิน จัดการทรัพยากรท้องถิ่น และอื่นๆ  ควรทำภายใต้แนวคิดของการจัดการชุมชนให้ดี หากชุมชนใดมีกองทุนอยู่แล้ว มีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้ว ก็สามารถกันเงินออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อทำเรื่องทรัพยากรได้ อาจเป็นกองทุนใหญ่หรือเล็ก  หรือตั้งขึ้นมาใหม่ก็ได้ ยกตัวอย่างการจัดการที่น่าสนใจและเกิดขึ้นแล้วของชุมชนคลองเปี๊ยะ จังหวัดสงขลา มีโครงการพ่อแม่ปลูกต้นไม้ให้ลูก หรือการจัดการกองทุนสวัสดิการที่จังหวัดสงขลา (ครูชบ ยอดแก้ว) และรวมทั้งกองทุนสวัสดิการวันละบาทที่จังหวัดลำปาง

กองทุนทรัพยากรอาจอยู่ในกองทุนใหญ่ก็ได้ ซึ่งต้องเป็นกองทุนที่มีความตั้งใจ มีวัตถุประสงค์ มีกิจกรรม และมีคนดูแลชัดเจน  หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  จะเอาเงินจากไหน  ก็ขอให้เริ่มต้นที่ตัวเราเอง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

2 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/42205

<<< กลับ

การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


            (สรุปคำอภิปราย หัวข้อ “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ประเทศไทยกับความมั่นคงของมนุษย์: จุดยืนและก้าวต่อไป” 8-9 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

ความมั่นคงของมนุษย์ สามารถเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการพัฒนา ในการพัฒนาอาจ มุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้าน แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการชีวิตที่มั่นคงและมีความสุข อย่างเช่น ประเทศภูฏาน ได้ริเริ่มการใช้ตัวชี้วัดการพัฒนาที่เรียกว่า ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) ความสุขของแต่ละคนอาจมีความหมายที่ต่างกันไป อาจเป็นความสุขที่ฉาบฉวยหรือโลดโผน แต่ความสุขที่ลึกซึ้งหมายถึง การมีชีวิตที่ปกติสุข ที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สงบ เรียบร้อย และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์อย่างสันติสุข หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นความมั่นคงของมนุษย์ที่ไม่ถูกกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์หรือเดือดร้อน เป็นลักษณะเดียวกันกับการพัฒนาแบบยั่งยืน ตามแบบการพัฒนาเพื่อชีวิตที่เป็นสุขของประเทศภูฏาน หรือตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ การใช้ความรู้อย่างรอบคอบ และการมีคุณธรรมความดี ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มุ่งหมายไปที่การพัฒนาที่พึงปรารถนา คือการมีชีวิตที่เป็นสุข สงบ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืน

เมื่อเรานิยามความมั่นคงของมนุษย์ในความหมายนี้ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง และในกรณีสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเป็นกรณีที่ชัดที่สุดของประเทศที่จะประยุกต์แนวคิดและหลักการของความมั่นคงของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี หรืออีกนัยหนึ่ง สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นโจทย์ที่แท้จริงและท้าทายของรัฐบาลไทยและของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

หากมองว่าปัญหานี้มีความสำคัญ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ น่าจะประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระทรวงฯได้พัฒนาขึ้นมาและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยตัวชี้วัด 10 หมวด ได้แก่ (1) ที่อยู่อาศัย (2) สุขภาพอนามัย (3) การศึกษา (4) การมีงานทำและรายได้ (5) ความมั่นคงส่วนบุคคล (6) ครอบครัว (7) การสนับสนุนทางสังคม (8) สังคมและวัฒนธรรม (9) สิทธิและความเป็นธรรม และ (10) การเมืองและธรรมาภิบาล

ถ้าหากใช้ตัวชี้วัดทั้ง 10 หมวดนี้นำไปวัดความมั่นคงของมนุษย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้รู้ถึงระดับความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่นี้ได้ และหากทำอย่างต่อเนื่องทุกปีก็จะเห็นความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน หรือแม้แต่จะนำไปเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นก็สามารถทำได้

            การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักอริยสัจจ์ 4

  •        สถานการณ์และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทุกข์) เป็นที่รับรู้กันอยู่เพียงพอแล้ว
  • ·    การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  (สมุทัย) ควรใช้แนวที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้วิเคราะห์ไว้ โดยแบ่งสาเหตุเป็น 3 ชั้น คือ 1) ชั้นบุคคล  2) ชั้นโครงสร้าง และ 3) ชั้นวัฒนธรรม
  • ·    การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นิโรธ) ควรถือว่า ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเป้าหมายสุดท้ายโดยใช้ตัวชี้วัด 10 หมวดของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำและรายได้ ความมั่นคงส่วนบุคคล ครอบครัว การสนับสนุนทางสังคม  สังคมและวัฒนธรรม  สิทธิและความเป็นธรรม และการเมืองและธรรมาภิบาล
  • ·    แนวทางสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มรรค) ควรประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประการ ดังนี้ 1) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  2) การเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์ของฝ่ายต่าง ๆ สู่เป้าหมายร่วมกัน  3) บทบาทเอื้ออำนวยของฝ่ายรัฐรวมถึงการมีกฎหมาย ข้อบังคับ โครงสร้างและกลไกที่เหมาะสม 4) การใช้หลักการและกระบวนการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (หรือการสร้างสันติ-Peace Building)  5) การจัดการความรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โดยมี ชุดตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ เป็น ยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์ พร้อมกับเป็น แกนหลัก และ เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน ของยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการ ดังแสดงด้วยผังต่อไปนี้  

ยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

9 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43764

<<< กลับ