“ไพบูลย์” เดินหน้าปฏิรูปแม้ไร้ “อานันท์”

“ไพบูลย์” เดินหน้าปฏิรูปแม้ไร้ “อานันท์”


(สกู๊ปข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2554  หน้า  5)

 

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป  เปิดเผยเมื่อวันที่ 6  เมษายนว่า  ในการประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ที่มี ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)  เป็นประธานครั้งล่าสุด  ที่ประชุมยืนยันว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยต่อไปแม้  นายอานันท์  ปันยารชุน  จะลาออกจากประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)  ก็ไม่ได้กระทบกับภารกิจของ  คปส.  โดยเฉพาะการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา  เป็นการก้าวไปข้างหน้าของกระบวนการปฏิรูปประเทศ  โดยจะนำมติสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปมาใช้  การจัดสมัชชาระดับชาติครั้งต่อไปควรใช้ความสำคัญกับการจัดสมัชชาระดับพื้นที่โดยให้พื้นที่ใช้ประชาชนเป็นตัวตั้งให้ประชาชนในจังหวัดรู้สึกเป็นเจ้าของ  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปจากฐานราก  การดำเนินการในการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยควรต้องใช้สมัชชาระดับพื้นที่เป็นหลักและโดยภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ  ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน  อาจสนับสนุนให้มีการจัดเวทีสมัชชาระดับพื้นที่  เพื่อเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ จากระดับพื้นที่  สู่การนำเสนอในสมัชชาปฏิรูป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/434527

<<< กลับ

เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน

เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน


เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(ลงในหนังสือ  “แสงแห่งความคิด  ที่จะส่งความสว่างต่อๆไป”  ซึ่งเป็นหนังสือเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ  15  ปี  ของบริษัท  ดาวฤกษ์  คอมมูนิเคชั่นส์  จำกัด  พิมพ์ครั้งแรก  มีนาคม  2554  โดยเป็นบทสัมภาษณ์  “10  ผู้ห่วงใยสังคม”)

                สถานการณ์ประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเป็นห่วงอนาคตประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลลัพธ์ที่เห็น คือ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนสองฝ่ายที่มีความคาดหวังและการรับรู้ที่ต่างกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนด้อยโอกาส ไม่ได้รับความเป็นธรรม และความเสมอภาคในเรื่องต่างๆ จนทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการเร่งสะสางปัญหาอย่างจริงจังครั้งใหญ่จากทุกภาคส่วนของสังคม

แต่ทว่า วิกฤตครั้งนี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิมโดยรอให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศกันใหม่ โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้น โดยให้ “คน” และ “ชุมชน” เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนา”

ด้วยความเชื่อที่ว่า การสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน”ซึ่งเป็น “ทุน” และ “ฐาน” ทางสังคมที่สำคัญให้สามารถจัดการ ดูแล และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จะเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

“กระจายอำนาจสู่ชุมชน”  “ตั้งฐานของชาติให้แข็งแรง”  คือ  หัวใจของการปฏิรูปครั้งนี้

ในอดีต ความเข้มแข็งของสังคมชนบท คือ รากฐานความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดประชาชนในชนบททำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวิถีการดำรงชีวิตกลมกลืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การเร่งรัดพัฒนาประเทศเพียงชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยน ชุมชนอ่อนแอ ประสบความยากจน เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย สังคมไทยในภาพรวมจึงดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การบ่มเพาะให้ประชาชนคุ้นชินแต่การเป็นผู้รอรับ รอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก ยิ่งลดทอนความสามารถและความพยายามในการช่วยเหลือตนเองลง

การปฏิรูปครั้งนี้ จึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปการบริหารประเทศโดยให้ชุมชนมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น มีอิสระในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง เปลี่ยนจากผู้ “รอรับ” เป็นผู้ “ขับเคลื่อน” การพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่า “เรื่องของใคร คนนั้นย่อมรู้ปัญหา รู้ความต้องการ และรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด” โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมเรียนรู้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการโครงการของรัฐและท้องถิ่นเพื่ออนาคตชุมชนด้วยตนเอง สอดคล้องตามความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่สืบทอดมา ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชุมชน เสียสละเพื่อชุมชน ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามแนวทางที่ท้องถิ่นปรารถนา

ในขณะที่ส่วนกลางหรือภาครัฐต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่จากการเป็น “ผู้สั่งการ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” หรือเป็นเพียง “ตัวช่วย” เท่านั้น

 

ย้อนรอยงานพัฒนาชุมชน : มองอนาคต ผ่านอดีต

คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ปรากฏขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ตามแนวคิดของ DR. Y.C. James Yen ผู้ก่อตั้งและประธานองค์การ Institute of International Rural Reconstruction (I.I.R.R.-สถาบันนานาชาติเพื่อการบูรณะชนบท) เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนที่มีใจรักงานพัฒนาชนบท โดยขณะนั้นใช้คำว่า Reconstruction ซึ่งแปลว่า “บูรณะ” อันหมายถึง “การทำของที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น”

แนวคิดการพัฒนาชนบทของดอกเตอร์เยนนั้น จะไม่เน้นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือชุมชน แต่จะเน้นการสร้างนักพัฒนาชุมชนให้เข้าไปคลุกคลี สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ร่วมกับชาวบ้านในการวิเคราะห์ปัญหา สร้างกระบวนการแก้ปัญหา และเริ่มต้นการพัฒนาบนรากฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิม พร้อมทั้งใช้หลักการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน 4 องค์ประกอบ คือ 1. การมีอาชีพ การทำมาหากิน 2. การมีสุขภาพอนามัยที่ดี 3. มีการศึกษาเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ได้ และ 4. การจัดการตนเอง

ส่วนการพัฒนาชนบทในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์1 ใน พ.ศ. 2510 และเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก ถือเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกที่ทำงานพัฒนาชนบทอย่างเป็นกิจลักษณะ ก่อนที่หน่วยงานราชการจะนำหลักการทำนองเดียวกันไปประยุกต์ใช้

กิจกรรมของมูลนิธิฯ ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ได้ชะลอตัวลงชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2531 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ มูลนิธิฯ จึงมีการฟื้นฟู และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่าสี่ทศวรรษแล้ว ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชุมชน

แต่เริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 เมื่อรัฐปรับทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้น “คนและชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนา” มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และกลับหัวปิระมิดการพัฒนา“จากยอดสู่ฐานราก” มาเป็น “จากฐานรากสู่ยอด” ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” (Social Investment Fund : SIF) หรือ “กองทุนชุมชน” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ เป็นทั้ง “โอกาส” และ “บทเรียน” ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับทุนโดยตรงไปบริหารจัดการเอง เกิดโครงการที่ชุมชนคิด พัฒนา และบริหารกันเองอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของภาคประชาชน และเป็นการปรับแนวคิดและกระบวนการทางสังคมใหม่ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน

 

เรียนรู้อุปสรรค มุ่งมั่นพัฒนา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้มาระยะหนึ่งแล้วแต่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะในทางปฏิบัติยังมีปัญหาและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอยู่มาก ได้แก่

                1. การประเมินความสามารถของชุมชนในระดับต่ำ โดยประชาชนถูกมองว่าเป็นผู้ไม่รู้ ไม่มีความคิดในการคิดพัฒนา จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปควบคุม จัดการ เป็นผู้นำความคิดและการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้ชุมชนยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ

                2. การขาดความอดทนและรอคอย ชุมชนเข้มแข็งต้นแบบทั้งหลายไม่ได้เข้มแข็งเพียงชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลานานมากเพื่อเรียนรู้และจัดการวิถีชีวิตของตนเอง แต่ชุมชนโดยมากมักต้องการทางลัด ต้องการสูตรสำเร็จ เมื่อพัฒนาแล้วไม่เห็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้น ก็เกิดความท้อแท้และท้อถอยไปในที่สุด

                3. นิยมเลียนแบบ มากกว่าเรียนรู้ แม้จะมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการดูงาน แต่ใช่ว่าจะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเป็นแค่การเลียนแบบเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

                4. ประชาชนในชนบทขี้เกรงใจ ไม่กล้าแสดงออก ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ทำให้ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง การวางแผนการถ่ายทอดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถวัดผลได้ในทันที

                5. ผู้นำหมู่บ้านตามกฎหมายมักไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติ โดยมากประชาชนจึงไม่ให้การยอมรับ ความร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจึงมีน้อย

                6. ความเคยชินกับกรอบและระบบสั่งการจากข้างบนซึ่งมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ไม่ส่งเสริมความสามารถของชุมชน และยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ

                7. ธรรมชาติของสังคมไทย เป็นสังคมตามกระแส สามารถตื่นตัวได้ง่ายๆ ตามกระแสนิยม แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสังคมที่ลืมง่ายเช่นกัน ธรรมชาติของการพัฒนาต่างๆ จึงมักเอาจริงเอาจังในช่วงต้น แผ่วกลาง และค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด ไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

                8. ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชุมชนกับการพัฒนาที่มักทำกัน กล่าวคือ

  • การพัฒนาชุมชนมุ่งให้ความสำคัญกับคน มากกว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจ
  • เน้นการมีส่วนร่วมโดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญอย่างแท้จริง มิใช่ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามารับรู้หรือร่วมด้วยบ้างตามหลักการหรือเพียงเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น
  • ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและจัดการตนเองได้ โดยรัฐเพียงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและวิชาการตามสมควร แทนที่ จะต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอกตลอด
  • ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือกระบวนการในการคิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ติดตามประเมินผล เรียนรู้จากการปฏิบัติและการประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาต่อไป เป็นวงจรเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง มิใช่ การมุ่งผลสำเร็จหรือเป้าหมายแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ความพยายามในการสร้างชุมชนเข้มแข็งก็ยังดำเนินเรื่อยมาภายใต้หลักการสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือ ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งมีจิตอาสา มีคุณธรรม และมีความสามารถ มีผู้สนับสนุนหรือสมาชิกที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันหรือมีอุดมการณ์ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมหรือการรวมกลุ่มของชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและเชื่อมกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น มีเอกลักษณ์หรือศักยภาพที่โดดเด่น เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงาม หรือทรัพยากรท้องถิ่นมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอก มีการเติบโตหรือพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่เร่งรัดฉาบฉวยมีกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และจากชุมชนสู่ชุมชน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชน มากกว่าความเข้มแข็งจากวัตถุ สามารถผลักดันให้กลไกของรัฐทำงานเอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

                ขณะเดียวกันการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนควรมีองค์ประกอบดังนี้ด้วย คือ ประการแรก ชุมชนต้องวางแผนอย่างมีเป้าหมาย พร้อมสร้างตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ประการที่สอง ต้องมีการขยายผลจากภายในชุมชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกชุมชน ประการที่สาม มีงานศึกษา วิจัย ค้นคว้าด้านวิชาการประกอบร่วมกับการทำงานของชุมชน และประการสุดท้าย มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ปฏิบัติ และสร้างเสริมคุณภาพร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายผลการทำงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

                เหนืออื่นใด คือ ต้องดำเนินไป ภายใต้ 3 กงล้อหลักที่จะขับเคลื่อนชุมชนให้มีทั้งความเข้มแข็ง ความเจริญ และสันติสุข อย่างยั่งยืน คือ

                1. ความดี

                2. ความสามารถ

                3. ความสุข

ความดี หรือ การมีคุณธรรมประจำใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดพื้นฐานความดีจะทำกิจการงานใดๆ ก็ไม่ราบรื่น เช่น หากตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาแล้วมีการฉ้อโกงทุจริต ก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้ หรือมีการค้ายาเสพติด ทะเลาะเบาะแว้ง แตกความสามัคคี ขาดผู้นำที่ดี ชุมชนคงวุ่นวาย ขาดความสงบสุข

ความสามารถ ต้องรู้จักคิด แก้ปัญหา วางแผน จัดการ บริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน

ความสุข ทั้งสุขทางกาย คือ สุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขทางใจ ไม่โลภ โกรธ หลง มัวเมาในกิเลส อบายมุข รู้จักพอ สุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา คือ การเข้าถึงธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอด และสุขทางสังคม คือ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สงบ สันติ

โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน เกื้อกูลกัน อย่างดีพอ เพียงพอ และสมดุล และเกิดกับทั้งตัวคนและตัวชุมชน

 

พัฒนาการงานพัฒนาชุมชน ก้าวย่างอย่างมั่นคง

พัฒนาการของงานพัฒนาชุมชนที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ กระบวนการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง เข้มแข็งพอสมควร การรวมตัวของชาวบ้านทำได้ดีขึ้น เป็นระบบขึ้น เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในระดับจังหวัดและระดับภาค ธุรกิจชุมชนมีการเติบโตและขยายผล มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชน จัดสวัสดิการชุมชนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง เกิดสถาบันการเงินชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล และมีเครือข่ายในระดับจังหวัดและระดับชาติ สมาชิกองค์กรชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพารัฐน้อยลง เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแนวใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ขององค์กรชุมชนที่ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนเท่านั้นแต่ยังเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยง ขยายผล หรือดัดแปลงจากองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ ขณะที่รัฐเองก็ปรับลดบทบาท เพิ่มอำนาจให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมมากขึ้น

อีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของงานพัฒนาชุมชน คือ การที่เครือข่ายชุมชนได้ร่วมกันร่าง “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” ขึ้นในพ.ศ. 2550 เพื่อให้มี พ.ร.บ. ที่จะช่วยหนุนเสริม สร้างการยอมรับการทำงานแบบสภาองค์กรชุมชน และรับรองให้เวทีการปรึกษาหารือของชุมชนมีสถานะที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นประวัติศาสตร์ ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ทำให้องค์กรชุมชนทั้งหลาย รวมทั้งตัวแทนจากทุกหมู่บ้านที่มารวมกันเป็นสภาองค์กรชุมชน มีสถานะที่กฎหมายรองรับ สามารถเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยมีกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก

ซึ่งนับแต่มี “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” กระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดจากชุมชนฐานรากก็มีความเด่นชัดและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทีละเล็กละน้อยอย่างมั่นคง

จริงอยู่ที่การปฏิรูปประเทศไทย มิอาจทำสำเร็จได้ด้วยมิติใดมิติหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ในระยะเวลาพอสมควร

จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ บางเรื่องเป็นไปตามที่คาดหวังและบรรลุไปแล้วบางเรื่องยังต้องสานต่อ ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่บางเรื่องยังมิได้ดำเนินการ

แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ของคนชุมชน ที่ได้ติดตามหรือได้สัมผัสกับพัฒนาการของชุมชนมาหลายสิบปี พอจะมองเห็นความหวังว่า หากการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นไปตามกระบวนการนี้ โดยชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลัก ในการพัฒนา เน้นการจัดการตนเองเป็นกุญแจสำคัญ ก็น่าจะเชื่อได้ว่า ประเทศไทยภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

 

10 ผู้ห่วงใยและปรารถนาดีต่อประเทศไทย  เจ้าของบทสัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้

1. ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

2. ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ

3. ดร. ประเสริฐ ภัทรมัย

ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัททีม

4. ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ

ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ และอาจารย์ประจำภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป

6. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

7. ดร. คณิศ แสงสุพรรณ

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)

และสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง

8. นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ

ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

9. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมือง

การปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10. พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/444117

<<< กลับ

การมีส่วนร่วมของประชาชน … ปัจจัยความเจริญของประเทศ

การมีส่วนร่วมของประชาชน … ปัจจัยความเจริญของประเทศ


บทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(บทสัมภาษณ์ลงในวารสาร TEAM Group  Newsletter  ฉบับที่ 3/2554 (กรกฏาคม-กันยายน ) และลงในฉบับ Online       ที่http://www.teamgroup.co.th/th/news-publications/newsletter. html)

Newsletter ฉบับนี้ เราได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งในอดีตได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  กรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง(พชม.)  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายแห่ง แม้ปัจจุบันที่ล่วงเข้าสู่วัยเกษียณ ท่านก็ยังทำงานรับใช้สังคมในฐานะที่ปรึกษาและสมาชิกในคณะกรรมการต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในสังคมไทยอย่างแท้จริง ท่านเป็นนักคิด นักปฏิบัติ ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สมบูรณ์แบบ และปัญหาของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ให้เกียรติตอบคำถาม ให้ความกระจ่าง และแง่คิดดีๆ ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน แก่ TEAM Group Newsletter  ดังนี้ :-

 

ถาม        เป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คืออะไร

เป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ เพื่อให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนามีความสันติสุขร่วมกัน  นั่นคือสังคมมีความเจริญก้าวหน้า มีความร่มเย็นเป็นสุข และคนในสังคมรู้สึกเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกัน คิดร่วมกัน เห็นชอบร่วมกัน เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงแค่การเลือกผู้แทนเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็เลือกทำสิ่งที่อยากทำ เอาผลประโยชน์ของตนเองกับพวกพ้องเป็นที่ตั้ง ประชาชนกลายเป็นเครื่องมือ… อย่างนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและกว้างขวางต่อเนื่องในกิจการสำคัญของบ้านเมืองในทุกระดับ นำสู่การปฏิบัติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และก่อให้เกิดสังคมที่มีความความสุขแบบบูรณาการ คือ สุขทางกาย สุขทางใจ  สุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และสุขทางสังคมหรือในการอยู่ร่วมกัน   ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่   10 – 11 ใช้คำว่า “ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

ถาม        ลักษณะของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีและมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

ทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมใหญ่โดยรวม หรือเป็นสังคมเล็ก ๆ  เช่น ชุมชนก็ดี องค์กรก็ดี  ล้วนต้องการที่จะมีความสุขร่วมกัน   ในชุมชน  ในองค์กร ในสังคมจะต้องมีเรื่องให้คิด ให้ทำ  มีประเด็น  มีปัญหา  ภัยอันตราย  อุปสรรค   มีศักยภาพ มีโอกาส  และมีการพัฒนาภายใต้แผนงานหรือโครงการต่าง ๆ  หากสมาชิกของสังคมได้มีส่วนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันวิเคราะห์ วิจารณ์ ศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน  ร่วมกันหาข้อคิดเพื่อการปรับปรุงข้อบกพร่อง หรือสร้างนวัตกรรม สร้างการอภิวัฒน์ ให้ดียิ่งขึ้น  การมีส่วนร่วมที่ดี คือการที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย มีกระบวนการ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดคุยแบบสันติวิธี จนได้ข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกันของคนในสังคม ทั้งในกรณีสังคมเล็ก เช่นชุมชน และ องค์กร และในกรณีสังคมใหญ่โดยรวม

การมีส่วนร่วมอาจจะเปรียบได้กับครอบครัว พ่อกับแม่ เป็นสังคมที่เล็กที่สุด ซึ่งต้องร่วมกันเป็นเจ้าของ   ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ พัฒนา แก้ไข ปรับปรุง และเมื่อมีลูก ลูกก็ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั้งครอบครัว จากนั้นเมื่อทำไปแล้วก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าได้ผลดีหรือไม่ หากไม่ดีก็ต้องมีการปรับปรุง แต่เมื่อใดที่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างแบ่งว่าอันนี้ของฉัน อันนั้นของเธอ ไม่เห็นร่วมกัน ก็จะเกิดการแบ่ง การแย่ง และทะเลาะกัน ทำให้เกิดผลเสียนานาประการตามมา  เช่นการทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งชีวิต เป็นต้น  อย่างน้อยที่สุดก็คือขาดความสุขในการอยู่ร่วมกัน

ในสังคมใหญ่ก็เช่นกัน ซึ่งสังคมใหญ่ประกอบไปด้วย  สังคมที่เล็กกว่าได้แก่ ชุมชนท้องถิ่น  อบต.  เทศบาล อบจ. องค์กรภาครัฐ เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์กรภาคธุรกิจ เช่น  บริษัท ห้างหุ้นส่วน และองค์กรภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ สมาคม กลุ่ม ชมรม เครือข่าย สหพันธ์ ฯลฯ  ซึ่งล้วนเป็นบริบท ที่มีการรวมกลุ่มของคน ถ้าทำงานแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมเป็นเจ้าของ หากมีโครงการก็ร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ เช่น หากจะสร้างเขื่อน ก็ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งการไฟฟ้า กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัด  อบต. รวมทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้ง NGO นักกิจกรรมที่มองภาพใหญ่ มาร่วมปรึกษาหารือ ตกลงกันให้ได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้าทำควรทำอย่างไร หากไม่ทำจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ จากนั้นจึงลงมือทำตามข้อตกลงร่วมกัน อย่างนั้นจึงจะเรียกว่า การมีส่วนร่วมที่สมบูรณ์ หรือที่มีคุณภาพ   การทำงานแบบมีส่วนร่วม คือ วิธีที่จะป้องกันปัญหาและแก้ปัญหา  ได้อย่างเบ็ดเสร็จและบูรณาการ

ในประเทศไทยมีตัวอย่างของการมีส่วนร่วมที่ดีมากมายทั่วประเทศ เช่น ที่บ้านหนองกลางดง ต. ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์  ที่ ต.หนองสาหร่าย อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี  และที่ ต. หนองแซง อ. หันคา จ. ชัยนาท และอีกหลายท้องถิ่นหรือตำบลในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งในชุมชนเหล่านี้ จะมีการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ชุมชน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด มัสยิด ชมรม สมาคมในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ เช่น สถานีอนามัย  (ปัจจุบันเรียกว่า โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล) เกษตรตำบล  พัฒนาการตำบล  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (พอช.) พัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ฯลฯ   แม้จะไม่มีสูตรตายตัวในการทำงาน แต่ชุมชนเหล่านี้ก็มีวิธีที่จะดูแลกันด้วยวิถีของการมีส่วนร่วมจากสมาชิกในชุมชน เช่น มีการประชุมผู้นำชุมชนในระดับหมู่บ้าน หรือการประชุมร่วมกันของทุกฝ่ายในระดับตำบลเป็นประจำ  มีการทำงานอย่างสมานฉันท์ บางชุมชนใช้วิธีการมีส่วนร่วมเพื่อสรรหาตัวผู้นำโดยไม่ต้องแบ่งพวกแบ่งพรรคมาแข่งขันต่อสู้กัน  รวมทั้งบางแห่งมีการสร้างแรงจูงใจในการทำความดีโดยการกำหนดตัวชี้วัดความดี เป็นต้น

 

ถาม        กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนควรจะเริ่มเมื่อใด

กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเริ่มโดยเร็วที่สุด คือ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคิดโครงการ โดยก่อนที่จะวางแผน จะต้องดำเนินการการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ เช่น กรณีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประชาชนจากหลากหลายพื้นที่และหลากหลายสาขาอาชีพจากทั่วประเทศควรจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น พิจารณาความเหมาะสมทั้งในด้านเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ฯลฯ   ก่อนที่จะหาข้อสรุปว่าควรจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นหรือไม่      ถ้ามีควรทำที่ไหน อย่างไร  ฯลฯ  ถ้าไม่มีจะมีอะไรทดแทนและทำอย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกันตั้งแต่ต้น และลงมือปฏิบัติตามข้อตกลงทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีและป้องกันมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ถาม        ปัญหาหรืออุปสรรคของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไทย

สาเหตุที่ทำให้การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มาจากหลายปัจจัย สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การที่ผู้มีอำนาจมักจะติดยึดในตัวตนหรือติดยึดกับอำนาจที่มีไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับชาติ  นักการเมืองระดับท้องถิ่น  ข้าราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  คลอดจนผู้บริหารภาคธุรกิจ  อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ การขาดความรู้ความเข้าใจในเทคนิคของกระบวนการการมีส่วนร่วม บางครั้งผู้มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เข้าใจเทคนิควิธีการที่ถูกต้อง  การมีส่วนร่วมที่ประชาชนเพียงแค่มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูล จากนั้นก็เพียงถามความเห็นหรือให้ประชาชนแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ใช่การมีส่วนร่วม แต่เรียกว่าเป็นการ แจ้งให้ทราบ(Inform) หรือเป็นการ โต้วาที (Debate)  ในขณะเดียวกันประชาชนเองก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ดีพอสำหรับการตัดสินใจ     ทำให้การร่วมกันคิดร่วมกันทำ และร่วมกันตัดสินใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เกิดขึ้น   หรือเกิดขึ้นอย่างขาดคุณภาพ      จนบางครั้งนำไปสู่ความบาดหมาง แคลงใจ ขัดแย้ง และแม้กระทั่งเกิดเป็นความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และปัจจัยสุดท้ายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วม คือการที่เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้รับความสนใจและเป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลายในสังคมไทย

ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจและรู้จักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและดีพอ  กระบวนการมีส่วนร่วมจึงจะบรรลุผลสำเร็จได้

ถาม        จะทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สร้างประโยชน์สร้างความสุขขึ้นในสังคมได้อย่างไร

เราควรจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน 2 หน่วยจัดการ หรือ 2 บริบท   ที่เป็นฐานของสังคม คือ ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และ ขุมชนองค์กร หรือ ชุมชนที่ใช้องค์กรเป็นตัวตั้ง เช่น หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ หน่วยราชการ พรรคการเมือง สถานศึกษา สถานศาสนา  บริษัท  สถานประกอบการ  องค์กรภาคประชาสังคม เช่น สมาคม มูลนิธิ กลุ่ม  เครือข่าย ฯลฯ  และองค์กรอื่น ๆ ที่มีคนมาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำต่อเนื่อง  หากทำให้ชุมชนทั้งสองประเภทนี้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดี และสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แบบมีส่วนร่วมได้อย่างมีคุณภาพ จะเกิดผลสุดท้ายคือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในชุมชนทั้งสองประเภทดังกล่าว  และเมื่อใดที่มีประเด็นระดับชาติ ที่ควรต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการจัดการ   คนจากชุมชนหรือจากองค์กรเหล่านี้ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้าใจ และอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ หรือ แม้แต่ในเรื่องของความขัดแย้งในสังคม ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย  ทั้งความขัดแย้งระดับพื้นที่ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้  ความขัดแย้งระดับโครงการ เช่นโครงการสร้างเขื่อน โครงการผลิตไฟฟ้า ฯลฯ  ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งในหมู่นักการเมืองและในหมู่ประชาชน

ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ยังแก้ไม่สำเร็จ ก็เป็นเพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหากลับทำโดยหน่วยงานส่วนกลาง  สำหรับกรณีนี้ คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)  ได้เสนอให้จัดตั้งพื้นที่จังหวัดที่มีปัญหาขึ้นเป็นเขตปกครองพิเศษหรือจังหวัดจัดการตนเอง คล้าย ๆ กับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550  โดยจังหวัดชายแดนเหล่านั้น จะได้รับการปกครองดูแลโดยคนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดโดยตรง และมีอำนาจหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบที่เบ็ดเสร็จบูรณาการโดยไม่มีหน่วยงานส่วนกลางไปสั่งการควบคุมหรือดำเนินการ ทั้งในด้านงาน  เงิน และคน  เว้นแต่ด้านนโยบายระดับชาติที่สำคัญ หรือเมื่อได้รับการร้องขออย่างใดอย่างหนึ่งจากพื้นที่ ถ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการในแนวดังกล่าว   การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์   อย่างกว้างขวาง  และอย่างมีคุณภาพด้วย  นั่นแหละจึงจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณน้อยกว่าในปัจจุบัน และน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ถาม        ปัจจุบันมักจะมีการทำ “ประชาพิจารณ์” เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ เสมอ ขอให้ท่านช่วยอธิบายถึงการทำ “ประชาพิจารณ์” ที่ดี ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

การทำประชาพิจารณ์ที่ดี คือ การหาความเห็นร่วมกัน โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า ประชาเสวนา หรือ Citizen Dialogue   ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Public Deliberation  ไม่ใช่ Public Hearing   คำว่า ประชาพิจารณ์ในประเทศไทย แปลมาจากคำว่า  Public Hearing    ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นนับสิบ ๆ ปีมาแล้ว ในสหรัฐอเมริกา  เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาแสดงความเห็น  โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้รับฟัง รวบรวมสังเคราะห์ความเห็น ให้ข้อพิจารณารวมถึงคำวินิจฉัย  แล้วสรุปส่งให้แก่ผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจมีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่หากไม่เห็นด้วยจะต้องมีคำชี้แจงต่อประชาชน  วิธีการนี้ถือว่าพอใช้ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำวิธีการนี้มาใช้ในประเทศไทยกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากกระทำไม่ครบกระบวนการ คือ ฝ่ายภาครัฐเพียงแค่นำเสนอว่าจะทำโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ดีโดยมีการศึกษาความเหมาะสมหรือคำอธิบายแบบมองไม่ครบด้าน   ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็มักจะตั้งป้อมคัดค้าน หรือบางแห่งถึงขั้นที่ชาวบ้านขัดขวางไม่ยอมให้มีการทำประชาพิจารณ์  หรือมีการทำประชาพิจารณ์แล้วกลายเป็นการโต้เถียงขัดแย้ง ซึ่งบางกรณีขยายเป็นความรุนแรงจนเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือเกิดเป็นคดีความยืดเยื้อต่อไปอีก

ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ปัจจุบันก็ไม่นิยมทำ  Public hearing   หรือประชาพิจารณ์แล้ว  แต่หันมาใช้วิธีการ Public Deliberation  หรือ ประชาเสวนา(หาทางออก)ซึ่งในประเทศคานาดา เรียกว่า  Citizen Dialogue   กระบวนการประชาเสวนา  เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้รับการสรรหาอย่างมีหลักวิชา และมีเหตุมีผลที่ดี  มาร่วมประชุมเพื่อพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์  มีการทำเอกสารประกอบการพิจารณา หรือ Issue Paper  โดยในกระบวนการจะต้องมี “วิทยากรกระบวนการ” หรือ Facilitator  ซึ่งบางแห่งเรียกว่า “กระบวนกร” มาเป็นคนกลางและผู้ดำเนินการในการพูดคุย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นร่วมกัน อย่างสันติวิธีและอย่างสร้างสรรค์  จนได้ข้อสรุป ซึ่งมักเป็น “ชุดมาตรการ” ที่ทุกฝ่ายพอใจ และทำเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อลงมือดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ต่อ ๆ ไป โดยใช้กระบวนการมีส่วนในทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่องด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชน มีเป้าหมายเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ดังนั้นเราจึงหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ด้วยความจริงใจของผู้มีอำนาจ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายในสังคม ที่จะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกปัญหา อีกไม่นาน สังคมไทย คงจะเป็นสังคมที่มีความสงบร่มเย็น กลมเกลียว เจริญก้าวหน้า หรือเป็น “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  อย่างราบรื่น และต่อเนื่องตราบนานเท่านาน

ปรับปรุง 15/08/54

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/448701

<<< กลับ

 

คำกล่าวเปิด “งานรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น”

คำกล่าวเปิด “งานรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น”


      คำกล่าวเปิด

                                                                 “งานรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น”

                                                             ในวันที่  1  พฤษภาคม  2551   เวลา  8.00 -12.45  น.

                                                     ณ  สวนศรีนครเขื่อนขันธ์  อ.พระประแดง  จ.สมุทรปราการ

                                                     โดย  คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ

                                              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                                                                                   …………………………………

 

                ท่านประธานคณะทำงานเฉพาะกิจโครงการรวมพลังอุตสาหกรรมทำดีเพื่อพ่อ องค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชน    นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า (คุณณรงค์  ดวงดี) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว (คุณจงรัก  แป้นเล็ก) หัวหน้ากลุ่มกิจการและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (คุณสมยศ  กีรติวุฒิกุล)   หัวหน้าศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ (คุณพิทักษ์  จงสัจจา)  ท่านผู้ประกอบการและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

                ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธาน “งานรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น” ในครั้งนี้ การรวมพลังอุตสาหกรรมทำดีเพื่อพ่อ เป้าหมายจัดทำทะเบียนคลังโลหิต 1 ล้านคน และปลูกต้นไม้  9 ล้านต้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก   เป็นความตั้งใจ  การร่วมแรงร่วมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมกันทำความดีเพื่อในหลวง

                ปัจจุบันสภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาและผลกระทบซึ่งเป็นกระแสที่ทุกฝ่ายต่างต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา  ผมจึงมีความเห็นว่า โครงการรวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสประชาชน   โดยเฉพาะประชาชนภาคอุตสาหกรรมจำนวนหลายล้านคน หันมาให้ความสนใจและร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นไม้เพื่อลดปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจังมากขึ้น และผมยิ่งรู้สึกดีใจที่เห็นภาคเอกชนเสียสละเวลาในวันหยุด คือ วันแรงงาน ซึ่งถือเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีของภาคเอกชน มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวันนี้

                ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้รับทราบว่า  โครงการ “รวมพลังอุตสาหกรรม ทำดีเพื่อพ่อ” “หนึ่งพันอุตสาหการ  หนึ่งล้านคลังโลหิต  เก้าล้านต้นไม้เพื่อพ่อ”  ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ  นับตั้งแต่  นักอุตสาหกรรม และเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 20 องค์กร ได้ไปรวมพลังกันกว่า 1,000  คน  กล่าวคำปฏิญาณทำดีเพื่อพ่อ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550  ที่ผ่านมา

                การมารวมกันทำกิจกรรมปลูกต้นไม้และร่วมกันบริจาคโลหิตครั้งใหญ่ในวันนี้นับว่าเป็นครั้งแรก  ซึ่งจะต้องมีครั้งต่อๆไป  โดยกำหนดนัดหมายไปปลูกต้นไม้ครั้งต่อไป  ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551  และมีเป้าหมายจะปลูกให้ครบจำนวน 9  ล้านต้น  กับทำทะเบียนคลังโลหิต 1 ล้านคน  ภายในระยะเวลา 4 ปี  ความสำเร็จตามที่ตั้งใจดังกล่าว  ต้องอาศัยแรงสนับสนุน  ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายอีกเป็นอันมาก   ครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี  ซึ่งได้มีผู้สนับสนุนงบประมาณ  สิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว    ครั้งต่อๆไปยังต้องการความช่วยเหลือ  ความสนับสนุนเช่นนี้อีก   ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายให้การสนับสนุน  เลือกทำความดี  ตามกำลัง  ตามสถานการณ์  และโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละคน  ต่อไป

                ขอขอบคุณทุกๆฝ่าย  ที่สนับสนุนให้การจัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี  ได้แก่  ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์  โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  กรมป่าไม้ที่ให้การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้  กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สนับสนุนงบประมาณก้อนแรกเพื่อดำเนินกิจกรรม  บรรดานักอุตสาหกรรม  ผู้ประกอบการ  พนักงานที่มาร่วมกิจกรรม  องค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชน  องค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า องค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว  ซึ่งอำนวยความสะดวกในฐานะเจ้าของบ้าน  

                ท้ายที่สุดนี้ ผมขอแสดงความยินดี และขออนุโมทนาบุญกุศล  คุณงามความดี ที่ท่านทั้งหลาย  ได้ตั้งใจและร่วมกันกระทำในครั้งนี้และจะกระทำในครั้งต่อๆไป  ขอให้การคิดดี  ทำดี ของท่านทั้งหลาย  ส่งผลให้ท่านทั้งหลายพร้อมทั้งครอบครัว  ประสบแต่ความสุข  ความเจริญ  มีความสำเร็จทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว   ช่วยกันสร้างสรรค์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมของเรามีความสมดุล สงบเย็นและมีสันติสุข ตลอดไป

                บัดนี้ ได้เวลาอันสมควร ผมขอเปิดงาน   “รวมพลังอุตสาหกรรมปลูกป่า 9 ล้านต้น”  ณ  บัดนี้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/180126

<<< กลับ

การจัดการภัยพิบัติ แบบมีส่วนร่วม บูรณาการ และครบวงจร

การจัดการภัยพิบัติ แบบมีส่วนร่วม บูรณาการ และครบวงจร


(เอกสารประกอบการปาฐกถา  เรื่อง  “การจัดการภัยพิบัติ  แบบมีส่วนร่วม  บูรณาการ  และครบวงจร”  ในงาน ปฏิรูป…การจัดการภัยพิบัติ  “  ร่วมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส  วาระรำลึก  ๖ ปี สึนามิ   จัดโดยมูลนิธิชุมชนไทย  เมื่อวันที่  ๒๑ ธันวาคม   ๒๕๕๓  ณ . โรงแรมปรินซ์พาเลซ  กรุงเทพมหานคร)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/416783

<<< กลับ

‘คสป. – นักวิชาการ’ หนุน ‘อานันท์’ จี้รัฐบาลรับลูก

‘คสป. – นักวิชาการ’ หนุน ‘อานันท์’ จี้รัฐบาลรับลูก


(บทสัมภาษณ์ลงใน  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่  24  กรกฎาคม  2553)

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

คณะ กรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)

โดยทั่วไปแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ควรเลิกใช้โดยเร็วก็ยิ่งดี เพราะเท่ากับว่าประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ แต่รัฐบาลก็เกี่ยงว่าสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ทุกคนอยากให้ปกติ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีที่ควรใช้กระบวนการสันติวิธีหรือสันติเสวนาเพื่อให้ คู่กรณีได้พบปะหารือกันซึ่งเป็นศิลปะที่ต้องมีขั้นตอนและวิธีการเหมาะสม และต้องมีคนที่รู้วิธีการมาช่วยทำ จากเรื่องง่ายไปหาเรื่องยาก

เช่น ขณะนี้เมื่อข้างหนึ่งเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ทำสัญญาประชาคมกับอีกข้างหนึ่งว่าจะต้องไม่ใช้วิธีการรุนแรงที่ทำให้คน อื่นเดือดร้อน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ทำอย่างที่ตกลงกันไว้ก็กลับไปสู่เงื่อนไขเดิม แต่เรื่องแบบนี้คิดข้างเดียวก็จะตอบตัวเองลำบากเพราะไม่ได้พูดจากับอีกฝ่าย หนึ่ง

“ผมคิดว่ากระบวนการเช่นนี้ ควรเริ่มโดยรัฐบาลที่แสดงท่าทีเลิก พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่รัฐบาลก็อาจต้องการหลักประกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องพูดจากันโดยหาคนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ อาจพูดเรื่องง่าย ๆ ก่อน อาจใช้คณะกรรมการชุดคุณคณิต ณ นคร ก็ได้ ถ้าเป็นที่ยอมของทั้งสองฝ่ายก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วย ก็ให้เสนอคนมาใหม่จนได้คนซื่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันแล้วให้เป็นคนกลางในการเจรจา  เริ่มต้นเราอาจเอาคนที่ไม่ต้องมีสถานะสูงนักก่อนแล้วค่อยขยับ ผมว่าเราต้องพยายามดีกว่าไม่พยายาม ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นชัดว่ามีความพยายาม และถ้าพยายามก็ควรให้สังคมได้รับรู้ เพราะเป็นเรื่องที่ดี”

                ในฐานะ ที่เป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม หรือทำงานเชิงรุกมากกว่าเป็นฝ่ายรับ แต่ต้องเป็นการรุกแบบสร้างสรรค์ คือแบบพี่ใหญ่ที่เข้าไปหาน้องเล็ก ไม่ใช่ให้น้องเล็กไปหา และต้องไปอย่างผู้ใหญาผู้มีสติปัญญา

ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้เหมาะสมกว่าเดือนพฤษภาคมเสียอีก เพราะช่วงนั้นเป็นหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ตอนนี้สถานการณ์เย็นลงมาก แม้จะเชื่อกันว่ามีบางกลุ่มอยู่ใต้ดิน แต่การที่สังคมไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และช่วยกันคิดว่าทำอะไร หากใครไม่ร่วมด้วยก็ต้องชวนเขาเข้ามาให้ได้

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/380883

<<< กลับ

บันทึกการประชุม… เตรียมการสู่ “สภาประชาชนฯ”

บันทึกการประชุม… เตรียมการสู่ “สภาประชาชนฯ”


(บทความโดยภาสกร  จำลองราช  ลง นสพ.มติชนรายวัน  ฉบับ วันที่  23  พฤษภาคม  2553  หน้า  9)

แม้การประชุมใหญ่สภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย  ในวันที่ 20 พฤษภาคม  จะต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  แต่เมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา  ก็ได้มีการจัดประชุมเตรียมการขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์  ซึ่งตอนนั้นเครือข่ายต่างเห็นตรงกันว่าน่าจะเดินหน้าจัดประชุมสภาประชาชนฯในวันที่ 20  พฤษภาคม แต่สุดท้ายเมื่อความรุนแรงถึงขั้นจลาจลและเผาบ้านเผาเมือง พร้อมกับการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน

การประชุมเตรียมการมีองค์กรเข้าร่วมประชุมกว่า 100 องค์กร และได้มีบันทึกการประชุมไว้อย่างน่าสนใจโดยบางส่วนระบุไว้ดังนี้

เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพมหานคร จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุม จึงมีความเห็นร่วมกันในการระดมความคิดเห็นเพื่อหาวิธีการผ่อนคลาย ยุติความรุนแรง และการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในการชุมนุมให้มีความปลอดภัย

พระไพศาลวิสาโล  กล่าวให้สติแก่ที่ประชุม ว่า “…หลังจากเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภา 2535 เราไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์สูญเสียแก่ผู้คนจำนวนมากอีก ไม่ว่าใครจะสูญเสียในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แม้ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน คนเหล่านั้นก็เป็นคนไทย แม้ว่าจะใส่เสื้อสีต่างจากเรา ก่อนที่เขาจะเป็นคนสีอะไรก็เป็นคนไทย และเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา มีพ่อแม่ มีคนรัก มีคนที่รอคอยเขากลับบ้าน การจากไปของเขาไม่น่ายินดีหรือได้รับชัยชนะ เราต้องเห็นอกเห็นใจ ไม่เอาความเครียดแค้น ความพยาบาทเข้ามาครองใจเรา ความเป็นมนุษย์ไม่ชนะความเมตตากรุณา เสียงปืนยังดังต่อไป  แต่อย่าให้เสียงปืนดังกลบเสียงแห่งสันติภาพ ความเห็นอกเห็นใจ อย่าให้ความโกรธ ความเกลียดชนะความเป็นมนุษย์ เราคงจะปฏิรูปไม่ได้หากสังคมไทยยังมีความโกรธ เกลียด พยาบาท หากบ้านเมืองตกอยู่ในสงครามการเมือง มีความรุนแรง ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยุติหรือน้อยบรรเทาเบาบาง ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ขอถือโอกาสให้เราได้ไว้อาลัยแก่ผู้ที่สูญเสียไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม”

หลังจากนั้นได้มีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอเพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง เพราะทุกชีวิตมีความหมาย เราจะทำอย่างไรไม่ให้มีการยิงกัน การฆ่ากัน

และได้มีการอธิบายจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า การปฏิรูปประเทศเป็นของประชาชนไม่เกี่ยวรัฐบาล ซึ่งการผลักดันเรื่องปฏิรูปประเทศไทยมาจากภาคประชาชนก่อนที่รัฐบาลจะเสนอให้มีแผนปรองดอง โดยภาคประชาชนเป็นคนเริ่มก่อนให้มีทางเลือกทางออกจากความรุนแรง นำมาสู่การปฏิรูปประเทศ

ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้มีการออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง และกำลังอาวุธ ให้มีการกำหนดพื้นที่อภัยทาน พื้นที่สีขาว แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยเฉพาะ เด็ก ผู้หญิงและผู้สูงอายุ, ไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อหน่วยพยาบาลและผู้สื่อข่าว และให้มีการเจรจาระหว่าง นปช. และรัฐบาล  แต่แถลงการณ์นี้ออกในนามเครือข่ายต่างๆ ไม่ใช้ชื่อสภาประชาชนฯ

  • ความคิดเห็นและข้อเสนอต่อการจัดงาน “สภาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย”

1. มีข้อเสนอให้เลื่อนการจัดงานสภาประชาชน ปฏิรูประเทศไทย ในวันที่ 20 พฤษภาคม ออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ที่รุนแรง และคุยด้วยกันไม่ได้เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างกันอยู่ และการจัดงานในวันที่ 20 จะทำให้ถูกมองหรือถูกเข้าใจว่าเข้าเป็นงานของรัฐบาล หรือตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการสร้างภาพแผนปรองดอง

อย่างไรก็ตาม  มีผู้เห็นว่าไม่ควรเลื่อนวันจัดงานเนื่องจาก เรื่องปฏิรูปเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวให้ยกระดับเหนือความขัดแย้ง ต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป มีทั้งข้อเสนอให้ยุติความรุนแรง และการปฏิรูปยังต้องเดินหน้าต่อไป การก่อความรุนแรงอาจจะมีมาจากหลายส่วน หากทหารหยุด แต่ฝ่ายอื่นอาจจะไม่หยุด การปฏิรูปไม่ใช่ของรัฐบาลอย่างเดียว ชาวบ้านพยายามต่อรองเจรจามาหลายปีแล้ว ไม่ใช่คนจนจะมาฉวยโอกาสมาแก้คุณภาพชีวิตในตอนนี้ แต่เป็นเรื่องที่นักการเมืองหยิบฉวยเรื่องมาเป็นนโยบาย ในฐานะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาทุกเรื่อง เพราะปัญหาชาวบ้านถูกละเลยมาตลอด

ที่ประชุมเข้าใจร่วมกันว่า การจัดเวทีการปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 20 เพื่อเป็นพื้นที่ที่ประชาชนกำหนดชะตากรรมตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นหรือจัดโดยรัฐบาล

2. มีข้อเสนอให้จัดงานปฏิรูประเทศไทย ในวันที่ 20 แต่มีการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมประเด็นในการประชุม เช่น เรื่องการใช้ความรุนแรง, การเยียวยาแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิต, และการลดความเกลียดชัง

(เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่คลี่คลาย และมีทีท่าว่าจะรุนแรงกว่าเดิม รวมทั้งมีการประกาศหยุดราชการ ในวันที่ 17 พฤษภาคม แกนนำเครือข่ายจึงมีการประสานหารือกัน และตกลงให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน โดยยังไม่กำหนดวัน เวลาใหม่)

  • ข้อเสนอและประเด็นปัญหาเพิ่มเติม เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ก่อนการจัดประชุม การเตรียมการสภาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 16 พฤษภาคม  มีการจัดประชุมย่อยของหลายเครือข่าย ซึ่งมีข้อเสนอในการจัดกลุ่มประเด็นการปฏิรูปได้ดังนี้

1.ทิศทางการลดช่องว่างคนรวยคนจน 2.การพัฒนาระบบสวัสดิการ 3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง 4.ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม 5.การปฏิรูประบบราชการ 6.การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น

ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอ ข้อเสนอประเด็นปัญหาเพิ่มเติม ดังนี้ การทำวิสัยทัศน์ เช่น สังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ,การปฏิรูปสื่อ,การปฏิรูปการศึกษา,การปฏิรูปวัฒนธรรม ใช้ศาสนาเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา,การปฏิรูปพรรคการเมือง,การปฏิรูปวิธีการงบประมาณของประเทศ ให้ องค์กรประชาชนสามารถใช้งบประมาณได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงาน,ปฏิรูประบบการเกษตร เช่น ให้องค์กรของเกษตรกร (วิสาหกิจชุมชน,กลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตร) เป็นผู้นำกำหนดนโยบายการเกษตร, ให้มีสภาเกษตรกรระดับตำบล ,ความมั่นคงทางอาหาร,แก้ไขปัญหายาเสพติด,การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ปฏิรูปองค์กรอิสระ การสร้างธรรมาภิบาลในระบบราชการ  การส่งเสริมให้มีการเลือกคนดีเป็นผู้แทนราษฎร  การแก้ไขกฎหมาย และรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง,มีการแยกประเด็นปัญหาของประชาชนที่เป็นเรื่องร้อน ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน,การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง

  • ข้อเสนอต่อกลไก อำนาจหน้าที่สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย

–  เป็นกลไก เครื่องมือ กระบอกเสียง และดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาให้ของประชาชน

–  เป็นกลไกที่มีระยะห่างจากรัฐ

–  สภาประชาชน เป็น สภาฯที่เปิดกว้าง ดำเนินงานต่อเนื่อง ขยายวง มีประสิทธิภาพ ไม่ให้มองเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

–  เป็นเวทีที่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศในระยะยาว และการตรวจสอบในอำนาจรัฐ

–  เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจ ใช้ความรู้ และเชื่อมโยงภาครัฐ

–  เป็นองค์กรที่ผลักดันให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐปฏิบัติงาน ถ้ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

–  การจัดโครงสร้างองค์กรต้องมีลักษณะเป็นแนวราบ เช่น คณะทำงาน คณะประสานงาน เป็นต้น

–  มีแผนปฏิบัติการของสภาประชาชน แยกเป็นแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการ และประเด็นเนื้อหาการปฏิรูป

 

(ขอขอบคุณ คุณภาสกร  จำลองราช  แห่งหนังสือพิมพ์มติชนรายวันที่อนุญาตให้นำบทความนี้มาใช้)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/361487

<<< กลับ

การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)”

การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)”


1. ประเด็นเรื่องที่ควรทำ

ควรใช้วิกฤติครั้งใหญ่เป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยและสังคมไทยโดยรวม  ในอันที่จะฟื้นฟูพร้อมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น  โดยพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

1.1  การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายบอบช้ำจากวิกฤติการณ์อย่างเหมาะสมทั่วถึงและรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

1.2  การสร้าง  “ความเป็นธรรม”  และ  “ความยุติธรรม”  ที่เหมาะสมกับทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาค  ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระโปร่งใส

1.3  การค้นหา  “ความจริง”  อย่างโปร่งใสโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง  ให้ปรากฏต่อสังคมไทยและสังคมโลก  เพื่อให้เกิด  “การเรียนรู้และพัฒนา”  จาก  “ความเป็นจริง”  อย่างสร้างสรรค์  โดยอาจศึกษา  “ความจริง”  2 ระดับ  คือ  (1) ระดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (“ความจริงระดับต้น”)  และ  (2)  ความจริงที่วิเคราะห์เจาะลึกถึงปัจจัยพื้นฐาน  โครงสร้าง  ระบบ  วัฒนธรรม  ฯลฯ  ที่มีความสลับซับซ้อนและมีพลวัตตลอดเวลา  (“ความจริงระดับลึกและกว้าง”)

1.4  การฟื้นฟูอาคารสถานที่ กิจการ วิถีชีวิต จิตใจ  และบรรยากาศทางสังคม  ให้เข้าสู่ภาวะปกติ  (ดีเท่าเดิมหรือดียิ่งกว่าเดิม)  รวมถึงการใช้ธรรมะ  “สุทธิ  ปัญญา  เมตตา  ขันตี”  (ที่พระพุทธทาสเคยแนะนำต่อนายกฯสัญญา  ธรรมศักดิ์  ในปี 2517)  การให้ความรักความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อร่วมชาติทุกคน  การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกฝ่าย  ความอดทนอดกลั้น  การมีใจเปิดกว้างเปิดรับข้อมูลและความคิดอย่างสร้างสรรค์โดยไม่มีอคติ  การมีไมตรีจิตปรารถนาดีต่อทุกคนทุกฝ่าย  ความเห็นอกเห็นใจ  การให้อภัย  การแสดงความเสียใจ  การขอโทษ  การแสดงความรับผิดชอบ  การคืนดีและปรองดอง  ฯลฯ  ซึ่งสรุปแล้วคือการใช้  “ความดี”  หรือ  การ  “คิดดี  พูดดี  ทำดี”  นั่นเอง

1.5  การ  “ปฏิรูปประเทศไทย”  อย่างสร้างสรรค์  เป็นรูปธรรม  และบูรณาการ  โดยเป็นกระบวนการที่ประชาชนและฝ่ายอื่นๆทุกฝ่ายเข้าร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์จริงจังและต่อเนื่อง  แม้เปลี่ยนรัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภา  (ตัวอย่าง  ร่างแนวทาง  “การปฏิรูปประเทศไทย”  ซึ่งนำเสนอโดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน  เมื่อ  16 พ.ค. 53  ปรากฏใน  “บันทึกการประชุมเตรียมการสู่ สภาประชาชนฯ  ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์  ‘มติชนรายวัน’  23 พ.ค. 2553  หน้า 9)

1.6  การเชื่อมโยงผสมผสานและประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมระหว่างเรื่องข้างต้นกับ  “แผนปรองดองแห่งชาติ”  ของนายกรัฐมนตรี  (อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)  รวมถึงการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างเหมาะสม  โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ  (Key stakeholders)  มีโอกาสได้ปรึกษาหารือหาข้อสรุปหรือข้อตกลงร่วมกัน  โดยกระบวนการ  “สันติสานเสวนา”  (Peacebuilding  Dialogue)

 

2. วิธีดำเนินการ

ควรให้ความสำคัญกับ  “กระบวนการ”  (Process)  และ  “ทัศนคติ” (Attitude)  ควบคู่กับการพิจารณา  “สาระ” (Content)  ของ  “การฟื้นฟูประเทศไทย”  ซึ่งรวมถึง  “แผนปรองดองแห่งชาติ”  ของนายกรัฐมนตรี

2.1  “กระบวนการ”  ที่ดี  ได้แก่  การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  การมี  “คนกลาง”  (หรือ  “วิทยากร”  หรือ  “ผู้รับใช้”)  ช่วย  “จัดกระบวนการ”  อย่างเหมาะสม  (ซึ่ง  “คนกลาง”  ดังกล่าวต้องเป็นที่เห็นชอบร่วมกันของผู้เข้าร่วมกระบวนการ  (คู่กรณี)  ทุกฝ่าย)  การใช้วิธีการที่หลากหลายต่อเนื่องและครบขั้นตอนอย่างบูรณาการ  ฯลฯ

2.2  “ทัศนคติ”  ที่พึงปรารถนาและควรเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นในจิตใจอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้เกี่ยวข้อง  ได้แก่  ความอดทนอดกลั้น  ความเห็นอกเห็นใจ  ความมีใจเปิดกว้าง  การรับฟังและพยายามเข้าใจคนอื่น  ความเป็นมิตรไมตรี  การมองผู้อื่นเป็นเพื่อนมนุษย์หรือพี่น้องร่วมชาติร่วมสุขร่วมทุกข์กันทั้งสิ้น  ความเอื้ออาทรผ่อนปรนยืดหยุ่น  การคิดเชิงบวกและสร้างสรรค์  การมุ่งแก้ปัญหาด้วยปัญญาและสันติวิธี  การมองวิกฤติเป็นโอกาส  การใช้ปัญหาสร้างปัญญา  การใช้  “ธรรมะ”  หรือ  “ปรัชญา”  ที่ดีๆจากทุกศาสนาทุกวัฒนธรรม  ฯลฯ

2.3  “สาระ”  ที่ดี  ควรให้ครบประเด็น  เป็นรูปธรรม  มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมชัดเจน  มีกลไกวิธีการติดตามผลเพื่อกำกับกระบวนการให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน  รวมทั้งเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง  ฯลฯ

องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน  จะเอื้อซึ่งกันและกัน  กล่าวคือ  “กระบวนการ” ที่ดี  จะช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น  นำไปสู่การได้สาระที่ดี  ในทางกลับกัน “ทัศนคติ” ที่ดี  ทำให้สามารถจัดกระบวนการที่ดีและได้สาระที่ดี  โดยสะดวกมากขึ้น  และเมื่อได้  “สาระ”  ที่ดี  ทัศนคติที่ดีจะตามมา  รวมถึงการจัดกระบวนการที่ดีก็ทำได้ง่ายขึ้นไปอีก  ฯลฯ  ดังนี้เป็นต้น

 

3. ระดับการดำเนินการ

ควรดำเนินการใน 3 ระดับเป็นหลัก  ควบคู่กันไป  ได้แก่

3.1  ระดับประเทศ  (หรือระดับชาติ)

3.2  ระดับจังหวัด   (หรือระดับกลุ่มจังหวัด)

3.3  ระดับตำบล     (หรือท้องถิ่น  เช่น  หมู่บ้าน  เขตนิเวศ  ฯลฯ)

ในแต่ละระดับ  ควรใช้หลักการ  (1) “ประชาชน (ในพื้นที่) เป็นเจ้าของเรื่องและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ”  (2) “คนภายนอกเป็นผู้เอื้ออำนวย (Facilitator) หรือสนับสนุน (Supporter)” และ (3) “ทุกฝ่ายประสานความร่วมมืออย่างเหมาะสมมีคุณภาพและประสิทธิภาพ”

อนึ่ง  นอกจากดำเนินการโดยใช้  “พื้นที่”  เป็นตัวตั้ง  ยังสามารถดำเนินการโดยใช้  “ประเด็น”  หรือ  “กลุ่มคน”  หรือ  “องค์กร”  เป็นตัวตั้ง  ได้อีกด้วย

 

4.  กลไกสนับสนุนการดำเนินการ

4.1  ควรมี “กองทุนฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย”  เพื่อสนับสนุนการดำเนินการต่างๆดังกล่าวข้างต้น  โดยมีกองทุนสำหรับแต่ละจุดดำเนินการ  ทั้งในระดับชาติ  ระดับจังหวัด  และระดับตำบล  แหล่งเงินทุนควรมาจากภาครัฐ  ภาคธุรกิจ  ภาคประชาสังคมและประชาชน  รวมถึงองค์กรและบุคคลต่างๆตามความสมัครใจ  ผู้ดูแลกองทุนอาจเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ตกลงกัน

4.2  ควรมี  “หน่วยเลขานุการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย”  เพื่อประสานเอื้ออำนวยและสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยในแต่ละจุด/พื้นที่/ประเด็น  โดยพยายามให้มีรูปแบบที่เรียบง่าย  กระทัดรัด  คล่องตัว  ดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ  จะจัดตั้งที่ไหนอย่างไรให้เป็นผลของการหารือตกลงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง

 

5. บทบาทของสถาบันอุดมศึกษา  (และองค์กร/กลุ่มคนอื่นๆ โดยประยุกต์หลักการ  แนวคิด  วิธีปฏิบัติ  ฯลฯ  ทำนองเดียวกัน)

5.1  ควรมีการจัดให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ  ได้มาประชุมปรึกษากันเกี่ยวกับบทบาท  แนวคิด  หลักการ  แนวทาง  และวิธีการ ฯลฯ  ของสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุน  “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย”  ดังกล่าวข้างต้น

5.2  อาจมีการเสนอให้ใช้แนวคิด  “หนึ่งจังหวัดหนึ่งสถาบันอุดมศึกษา  (หรือมากกว่า)”  เพื่อกระจายภารกิจให้สามารถดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศได้พร้อมๆกัน  รวมทั้งให้มี  “การจัดการความรู้”  (Knowledge Management)  หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาแนวคิด  หลักการและวิธีการในเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้นไปอีก  ได้อย่างต่อเนื่อง

5.3  สถาบันอุดมศึกษา  (และองค์กร/กลุ่มคนอื่นๆ)  ที่มีความสนใจและพร้อมที่จะร่วมดำเนินการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ  ในระดับใดระดับหนึ่งหรือหลายหลายระดับ  ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น  ฯลฯ  ควรเลือกดำเนินการได้ตามที่สถาบันอุดมศึกษา  (และองค์กร/กลุ่มคน)  นั้นๆเห็นสมควร

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/361486

<<< กลับ

เอกสารฉบับย่อ : การปรับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยชุดตัวชี้วัดการพัฒนาแบบบูรณาการ

เอกสารฉบับย่อ : การปรับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยชุดตัวชี้วัดการพัฒนาแบบบูรณาการ


(เอกสารประกอบการอภิปราย  หัวข้อ  “Reshaping Economic Development with Gross National Progress Index”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ  An International Conference  “Asia : Road to New Economy”  จัดโดย  The Nation  และ  Asia News Network  ที่โรงแรม  Plaza Athenee  เมื่อ  21  สิงหาคม  2552)

การนำเสนอการสัมมนาจะประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ :

ประการแรก จะกล่าวถึงหลักการและกระบวนการในการพัฒนาชุด ตัวชี้วัดที่สามารถนำไปใช้ได้ในระดับปฏิบัติ และนำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอย่างยั่งยืน

หลักการพื้นฐานของชุดตัวชี้วัดการพัฒนาแบบบูรณาการแบบใหม่ ประกอบไปด้วย:

–         มีความครอบคลุมและมีการบูรณาการในเนื้อหาสาระ กระบวนการ และวิธีการ

–         ยึดหลักแนวคิด 3 ฐานหลักของการพัฒนา ได้แก่  1. ความดี 2. ความสามารถ และ 3. ความสุข หรือสุขภาวะ

–         ร่วมมือกันอย่างเชื่อมโยงและมีพลวัตทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  

–         ในระดับท้องถิ่น ชุดตัวชี้วัดจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาของชุมชนโดยมุ่งตรงสู่ผลลัพธ์ ดังนั้น ควรให้เกิดความเข้าใจเรื่องตัวชี้วัด  การดำเนินการพัฒนาตัวชี้วัด  และการนำตัวชี้วัดไปใช้ร่วมกัน  โดยแต่ละชุมชนและเพื่อแต่ละชุมชน

–         การพัฒนาชุดตัวชี้วัดระดับท้องถิ่นควรเน้นหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาที่ชัดเจน 2.  มีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดได้ และนำไปใช้ได้ในระดับปฏิบัติเพื่อดำเนินการชี้วัดความก้าวหน้าตามเป้าประสงค์ในการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง 3. ระบุได้ว่าจะได้ตัวชี้วัดจากแหล่งใด  ด้วยวิธีใด  4. ปรับปรุงพัฒนาชุดตัวชี้วัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

–         ในระดับชาติ ชุดตัวชี้วัดควรได้รับความเห็นพ้องร่วมกันในสังคมอย่างเป็นองค์รวม มิใช่ถูกกำหนดโดยฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ หรือ นักวิจัย แต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ผู้แทนจากทุกภาคส่วนในสังคมควรมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและกำหนดเนื้อหาสาระ ตลอดจนการนำชุดตัวชี้วัดไปใช้อย่างต่อเนื่อง

ประการสุดท้าย ในการพัฒนาตัวชี้วัดระดับท้องถิ่น  มีกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในระดับตำบล   ซึ่งจะยืนยันว่า หลักการพื้นฐานดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้จริงและเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยกรณีตัวอย่างดังกล่าวยังคงมีการดำเนินการอยู่  และได้ใช้ชุดตัวชี้วัดการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้และพัฒนา พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วนในพื้นที่

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/291500

<<< กลับ

สาระสำคัญของปาฐกถาพิเศษในวันสันติภาพสากล

สาระสำคัญของปาฐกถาพิเศษในวันสันติภาพสากล


Essence of Keynote Address

                                             By Mr.Paiboon  Wattanasiritham

                                               Former Deputy Prime Minister of Thailand

                                        On the Occasion of the International Day of Peace

                                                               September 18, 2008

                                       At the UPF – Asia International Leadership Conference

                              “Toward a New Paradigm of Leadership and Good Governance

                                                         for Development and Peace”

                                                             September 16- 18, 2008

                                                  The Emerald Hotel, Bangkok , Thailand

Your Excellencies, Distinguished Delegates from Asian Nations, Ambassadors for Peace, Ladies and Gentlemen :

            On this important day commemorating the International Day of Peace organized by the Universal Peace Foundation and Thailand’s Ministry of Social Development and Human Security, it is a great honour and privilege for me to give a keynote address to this distinguished meeting of leaders and delegates from as many as 20 Asian Nations.

Ladiies and Gentlemen,

            Over 60 years ago, the Second World War brought about the United Nations, with hopes that it would play a key role in bringing about peace in the world.

            Looking back, the actual outcomes have not been as satisfactory as has been hoped, even though the world has so far been without a war as serious as, or on a scale comparable to, the Second World War. Let’s keep our fingers crossed!

What Should We Do?

            As leaders and members of the 3 major components of society, we should all play our part in helping bring about peace in all its aspects and dimensions, as well as at all levels, of the national and global societies.

            We can do one or more of the following :

                         –         resolve (damaging) conflicts

                        –         prevent (damaging) conflicts

                        –         develop ingredients or components of peace

                        –         build the foundation for peace.

The 3 Major Components of Society

Leadership for Peace

            A leader for peace needs to have a good vision, be committed to a mission, possess the right concepts, the right skills, and be a learning person.

The Crucial Building Blocks for Peace

The Crucial Factors for Sustainable Peace

A Leader for Peace

Conclusion

            Let’s make each day in our lives “A Day of Peace”, as well as “A Day for Peace”!

            Peace for All! and

            All for Peace!

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/212698

<<< กลับ