บันทึกการประชุม… เตรียมการสู่ “สภาประชาชนฯ”

บันทึกการประชุม… เตรียมการสู่ “สภาประชาชนฯ”


(บทความโดยภาสกร  จำลองราช  ลง นสพ.มติชนรายวัน  ฉบับ วันที่  23  พฤษภาคม  2553  หน้า  9)

แม้การประชุมใหญ่สภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย  ในวันที่ 20 พฤษภาคม  จะต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  แต่เมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา  ก็ได้มีการจัดประชุมเตรียมการขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์  ซึ่งตอนนั้นเครือข่ายต่างเห็นตรงกันว่าน่าจะเดินหน้าจัดประชุมสภาประชาชนฯในวันที่ 20  พฤษภาคม แต่สุดท้ายเมื่อความรุนแรงถึงขั้นจลาจลและเผาบ้านเผาเมือง พร้อมกับการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน

การประชุมเตรียมการมีองค์กรเข้าร่วมประชุมกว่า 100 องค์กร และได้มีบันทึกการประชุมไว้อย่างน่าสนใจโดยบางส่วนระบุไว้ดังนี้

เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพมหานคร จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุม จึงมีความเห็นร่วมกันในการระดมความคิดเห็นเพื่อหาวิธีการผ่อนคลาย ยุติความรุนแรง และการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในการชุมนุมให้มีความปลอดภัย

พระไพศาลวิสาโล  กล่าวให้สติแก่ที่ประชุม ว่า “…หลังจากเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภา 2535 เราไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์สูญเสียแก่ผู้คนจำนวนมากอีก ไม่ว่าใครจะสูญเสียในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แม้ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน คนเหล่านั้นก็เป็นคนไทย แม้ว่าจะใส่เสื้อสีต่างจากเรา ก่อนที่เขาจะเป็นคนสีอะไรก็เป็นคนไทย และเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา มีพ่อแม่ มีคนรัก มีคนที่รอคอยเขากลับบ้าน การจากไปของเขาไม่น่ายินดีหรือได้รับชัยชนะ เราต้องเห็นอกเห็นใจ ไม่เอาความเครียดแค้น ความพยาบาทเข้ามาครองใจเรา ความเป็นมนุษย์ไม่ชนะความเมตตากรุณา เสียงปืนยังดังต่อไป  แต่อย่าให้เสียงปืนดังกลบเสียงแห่งสันติภาพ ความเห็นอกเห็นใจ อย่าให้ความโกรธ ความเกลียดชนะความเป็นมนุษย์ เราคงจะปฏิรูปไม่ได้หากสังคมไทยยังมีความโกรธ เกลียด พยาบาท หากบ้านเมืองตกอยู่ในสงครามการเมือง มีความรุนแรง ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยุติหรือน้อยบรรเทาเบาบาง ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ขอถือโอกาสให้เราได้ไว้อาลัยแก่ผู้ที่สูญเสียไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม”

หลังจากนั้นได้มีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอเพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง เพราะทุกชีวิตมีความหมาย เราจะทำอย่างไรไม่ให้มีการยิงกัน การฆ่ากัน

และได้มีการอธิบายจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า การปฏิรูปประเทศเป็นของประชาชนไม่เกี่ยวรัฐบาล ซึ่งการผลักดันเรื่องปฏิรูปประเทศไทยมาจากภาคประชาชนก่อนที่รัฐบาลจะเสนอให้มีแผนปรองดอง โดยภาคประชาชนเป็นคนเริ่มก่อนให้มีทางเลือกทางออกจากความรุนแรง นำมาสู่การปฏิรูปประเทศ

ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้มีการออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง และกำลังอาวุธ ให้มีการกำหนดพื้นที่อภัยทาน พื้นที่สีขาว แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยเฉพาะ เด็ก ผู้หญิงและผู้สูงอายุ, ไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อหน่วยพยาบาลและผู้สื่อข่าว และให้มีการเจรจาระหว่าง นปช. และรัฐบาล  แต่แถลงการณ์นี้ออกในนามเครือข่ายต่างๆ ไม่ใช้ชื่อสภาประชาชนฯ

  • ความคิดเห็นและข้อเสนอต่อการจัดงาน “สภาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย”

1. มีข้อเสนอให้เลื่อนการจัดงานสภาประชาชน ปฏิรูประเทศไทย ในวันที่ 20 พฤษภาคม ออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ที่รุนแรง และคุยด้วยกันไม่ได้เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างกันอยู่ และการจัดงานในวันที่ 20 จะทำให้ถูกมองหรือถูกเข้าใจว่าเข้าเป็นงานของรัฐบาล หรือตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการสร้างภาพแผนปรองดอง

อย่างไรก็ตาม  มีผู้เห็นว่าไม่ควรเลื่อนวันจัดงานเนื่องจาก เรื่องปฏิรูปเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวให้ยกระดับเหนือความขัดแย้ง ต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป มีทั้งข้อเสนอให้ยุติความรุนแรง และการปฏิรูปยังต้องเดินหน้าต่อไป การก่อความรุนแรงอาจจะมีมาจากหลายส่วน หากทหารหยุด แต่ฝ่ายอื่นอาจจะไม่หยุด การปฏิรูปไม่ใช่ของรัฐบาลอย่างเดียว ชาวบ้านพยายามต่อรองเจรจามาหลายปีแล้ว ไม่ใช่คนจนจะมาฉวยโอกาสมาแก้คุณภาพชีวิตในตอนนี้ แต่เป็นเรื่องที่นักการเมืองหยิบฉวยเรื่องมาเป็นนโยบาย ในฐานะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาทุกเรื่อง เพราะปัญหาชาวบ้านถูกละเลยมาตลอด

ที่ประชุมเข้าใจร่วมกันว่า การจัดเวทีการปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 20 เพื่อเป็นพื้นที่ที่ประชาชนกำหนดชะตากรรมตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นหรือจัดโดยรัฐบาล

2. มีข้อเสนอให้จัดงานปฏิรูประเทศไทย ในวันที่ 20 แต่มีการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมประเด็นในการประชุม เช่น เรื่องการใช้ความรุนแรง, การเยียวยาแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิต, และการลดความเกลียดชัง

(เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่คลี่คลาย และมีทีท่าว่าจะรุนแรงกว่าเดิม รวมทั้งมีการประกาศหยุดราชการ ในวันที่ 17 พฤษภาคม แกนนำเครือข่ายจึงมีการประสานหารือกัน และตกลงให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน โดยยังไม่กำหนดวัน เวลาใหม่)

  • ข้อเสนอและประเด็นปัญหาเพิ่มเติม เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ก่อนการจัดประชุม การเตรียมการสภาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 16 พฤษภาคม  มีการจัดประชุมย่อยของหลายเครือข่าย ซึ่งมีข้อเสนอในการจัดกลุ่มประเด็นการปฏิรูปได้ดังนี้

1.ทิศทางการลดช่องว่างคนรวยคนจน 2.การพัฒนาระบบสวัสดิการ 3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง 4.ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม 5.การปฏิรูประบบราชการ 6.การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น

ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอ ข้อเสนอประเด็นปัญหาเพิ่มเติม ดังนี้ การทำวิสัยทัศน์ เช่น สังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ,การปฏิรูปสื่อ,การปฏิรูปการศึกษา,การปฏิรูปวัฒนธรรม ใช้ศาสนาเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา,การปฏิรูปพรรคการเมือง,การปฏิรูปวิธีการงบประมาณของประเทศ ให้ องค์กรประชาชนสามารถใช้งบประมาณได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงาน,ปฏิรูประบบการเกษตร เช่น ให้องค์กรของเกษตรกร (วิสาหกิจชุมชน,กลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตร) เป็นผู้นำกำหนดนโยบายการเกษตร, ให้มีสภาเกษตรกรระดับตำบล ,ความมั่นคงทางอาหาร,แก้ไขปัญหายาเสพติด,การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ปฏิรูปองค์กรอิสระ การสร้างธรรมาภิบาลในระบบราชการ  การส่งเสริมให้มีการเลือกคนดีเป็นผู้แทนราษฎร  การแก้ไขกฎหมาย และรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง,มีการแยกประเด็นปัญหาของประชาชนที่เป็นเรื่องร้อน ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน,การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง

  • ข้อเสนอต่อกลไก อำนาจหน้าที่สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย

–  เป็นกลไก เครื่องมือ กระบอกเสียง และดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาให้ของประชาชน

–  เป็นกลไกที่มีระยะห่างจากรัฐ

–  สภาประชาชน เป็น สภาฯที่เปิดกว้าง ดำเนินงานต่อเนื่อง ขยายวง มีประสิทธิภาพ ไม่ให้มองเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

–  เป็นเวทีที่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศในระยะยาว และการตรวจสอบในอำนาจรัฐ

–  เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจ ใช้ความรู้ และเชื่อมโยงภาครัฐ

–  เป็นองค์กรที่ผลักดันให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐปฏิบัติงาน ถ้ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

–  การจัดโครงสร้างองค์กรต้องมีลักษณะเป็นแนวราบ เช่น คณะทำงาน คณะประสานงาน เป็นต้น

–  มีแผนปฏิบัติการของสภาประชาชน แยกเป็นแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการ และประเด็นเนื้อหาการปฏิรูป

 

(ขอขอบคุณ คุณภาสกร  จำลองราช  แห่งหนังสือพิมพ์มติชนรายวันที่อนุญาตให้นำบทความนี้มาใช้)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/361487

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *