การมีส่วนร่วมของประชาชน … ปัจจัยความเจริญของประเทศ

การมีส่วนร่วมของประชาชน … ปัจจัยความเจริญของประเทศ


บทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(บทสัมภาษณ์ลงในวารสาร TEAM Group  Newsletter  ฉบับที่ 3/2554 (กรกฏาคม-กันยายน ) และลงในฉบับ Online       ที่http://www.teamgroup.co.th/th/news-publications/newsletter. html)

Newsletter ฉบับนี้ เราได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งในอดีตได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  กรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง(พชม.)  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายแห่ง แม้ปัจจุบันที่ล่วงเข้าสู่วัยเกษียณ ท่านก็ยังทำงานรับใช้สังคมในฐานะที่ปรึกษาและสมาชิกในคณะกรรมการต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในสังคมไทยอย่างแท้จริง ท่านเป็นนักคิด นักปฏิบัติ ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สมบูรณ์แบบ และปัญหาของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ให้เกียรติตอบคำถาม ให้ความกระจ่าง และแง่คิดดีๆ ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน แก่ TEAM Group Newsletter  ดังนี้ :-

 

ถาม        เป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คืออะไร

เป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ เพื่อให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนามีความสันติสุขร่วมกัน  นั่นคือสังคมมีความเจริญก้าวหน้า มีความร่มเย็นเป็นสุข และคนในสังคมรู้สึกเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกัน คิดร่วมกัน เห็นชอบร่วมกัน เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงแค่การเลือกผู้แทนเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็เลือกทำสิ่งที่อยากทำ เอาผลประโยชน์ของตนเองกับพวกพ้องเป็นที่ตั้ง ประชาชนกลายเป็นเครื่องมือ… อย่างนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและกว้างขวางต่อเนื่องในกิจการสำคัญของบ้านเมืองในทุกระดับ นำสู่การปฏิบัติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และก่อให้เกิดสังคมที่มีความความสุขแบบบูรณาการ คือ สุขทางกาย สุขทางใจ  สุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และสุขทางสังคมหรือในการอยู่ร่วมกัน   ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่   10 – 11 ใช้คำว่า “ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

ถาม        ลักษณะของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีและมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

ทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมใหญ่โดยรวม หรือเป็นสังคมเล็ก ๆ  เช่น ชุมชนก็ดี องค์กรก็ดี  ล้วนต้องการที่จะมีความสุขร่วมกัน   ในชุมชน  ในองค์กร ในสังคมจะต้องมีเรื่องให้คิด ให้ทำ  มีประเด็น  มีปัญหา  ภัยอันตราย  อุปสรรค   มีศักยภาพ มีโอกาส  และมีการพัฒนาภายใต้แผนงานหรือโครงการต่าง ๆ  หากสมาชิกของสังคมได้มีส่วนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันวิเคราะห์ วิจารณ์ ศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน  ร่วมกันหาข้อคิดเพื่อการปรับปรุงข้อบกพร่อง หรือสร้างนวัตกรรม สร้างการอภิวัฒน์ ให้ดียิ่งขึ้น  การมีส่วนร่วมที่ดี คือการที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย มีกระบวนการ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดคุยแบบสันติวิธี จนได้ข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกันของคนในสังคม ทั้งในกรณีสังคมเล็ก เช่นชุมชน และ องค์กร และในกรณีสังคมใหญ่โดยรวม

การมีส่วนร่วมอาจจะเปรียบได้กับครอบครัว พ่อกับแม่ เป็นสังคมที่เล็กที่สุด ซึ่งต้องร่วมกันเป็นเจ้าของ   ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ พัฒนา แก้ไข ปรับปรุง และเมื่อมีลูก ลูกก็ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั้งครอบครัว จากนั้นเมื่อทำไปแล้วก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าได้ผลดีหรือไม่ หากไม่ดีก็ต้องมีการปรับปรุง แต่เมื่อใดที่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างแบ่งว่าอันนี้ของฉัน อันนั้นของเธอ ไม่เห็นร่วมกัน ก็จะเกิดการแบ่ง การแย่ง และทะเลาะกัน ทำให้เกิดผลเสียนานาประการตามมา  เช่นการทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งชีวิต เป็นต้น  อย่างน้อยที่สุดก็คือขาดความสุขในการอยู่ร่วมกัน

ในสังคมใหญ่ก็เช่นกัน ซึ่งสังคมใหญ่ประกอบไปด้วย  สังคมที่เล็กกว่าได้แก่ ชุมชนท้องถิ่น  อบต.  เทศบาล อบจ. องค์กรภาครัฐ เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์กรภาคธุรกิจ เช่น  บริษัท ห้างหุ้นส่วน และองค์กรภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ สมาคม กลุ่ม ชมรม เครือข่าย สหพันธ์ ฯลฯ  ซึ่งล้วนเป็นบริบท ที่มีการรวมกลุ่มของคน ถ้าทำงานแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมเป็นเจ้าของ หากมีโครงการก็ร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ เช่น หากจะสร้างเขื่อน ก็ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งการไฟฟ้า กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัด  อบต. รวมทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้ง NGO นักกิจกรรมที่มองภาพใหญ่ มาร่วมปรึกษาหารือ ตกลงกันให้ได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้าทำควรทำอย่างไร หากไม่ทำจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ จากนั้นจึงลงมือทำตามข้อตกลงร่วมกัน อย่างนั้นจึงจะเรียกว่า การมีส่วนร่วมที่สมบูรณ์ หรือที่มีคุณภาพ   การทำงานแบบมีส่วนร่วม คือ วิธีที่จะป้องกันปัญหาและแก้ปัญหา  ได้อย่างเบ็ดเสร็จและบูรณาการ

ในประเทศไทยมีตัวอย่างของการมีส่วนร่วมที่ดีมากมายทั่วประเทศ เช่น ที่บ้านหนองกลางดง ต. ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์  ที่ ต.หนองสาหร่าย อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี  และที่ ต. หนองแซง อ. หันคา จ. ชัยนาท และอีกหลายท้องถิ่นหรือตำบลในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งในชุมชนเหล่านี้ จะมีการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ชุมชน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด มัสยิด ชมรม สมาคมในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ เช่น สถานีอนามัย  (ปัจจุบันเรียกว่า โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล) เกษตรตำบล  พัฒนาการตำบล  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (พอช.) พัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ฯลฯ   แม้จะไม่มีสูตรตายตัวในการทำงาน แต่ชุมชนเหล่านี้ก็มีวิธีที่จะดูแลกันด้วยวิถีของการมีส่วนร่วมจากสมาชิกในชุมชน เช่น มีการประชุมผู้นำชุมชนในระดับหมู่บ้าน หรือการประชุมร่วมกันของทุกฝ่ายในระดับตำบลเป็นประจำ  มีการทำงานอย่างสมานฉันท์ บางชุมชนใช้วิธีการมีส่วนร่วมเพื่อสรรหาตัวผู้นำโดยไม่ต้องแบ่งพวกแบ่งพรรคมาแข่งขันต่อสู้กัน  รวมทั้งบางแห่งมีการสร้างแรงจูงใจในการทำความดีโดยการกำหนดตัวชี้วัดความดี เป็นต้น

 

ถาม        กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนควรจะเริ่มเมื่อใด

กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเริ่มโดยเร็วที่สุด คือ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคิดโครงการ โดยก่อนที่จะวางแผน จะต้องดำเนินการการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ เช่น กรณีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประชาชนจากหลากหลายพื้นที่และหลากหลายสาขาอาชีพจากทั่วประเทศควรจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น พิจารณาความเหมาะสมทั้งในด้านเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ฯลฯ   ก่อนที่จะหาข้อสรุปว่าควรจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นหรือไม่      ถ้ามีควรทำที่ไหน อย่างไร  ฯลฯ  ถ้าไม่มีจะมีอะไรทดแทนและทำอย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกันตั้งแต่ต้น และลงมือปฏิบัติตามข้อตกลงทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีและป้องกันมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ถาม        ปัญหาหรืออุปสรรคของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไทย

สาเหตุที่ทำให้การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มาจากหลายปัจจัย สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การที่ผู้มีอำนาจมักจะติดยึดในตัวตนหรือติดยึดกับอำนาจที่มีไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับชาติ  นักการเมืองระดับท้องถิ่น  ข้าราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  คลอดจนผู้บริหารภาคธุรกิจ  อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ การขาดความรู้ความเข้าใจในเทคนิคของกระบวนการการมีส่วนร่วม บางครั้งผู้มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เข้าใจเทคนิควิธีการที่ถูกต้อง  การมีส่วนร่วมที่ประชาชนเพียงแค่มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูล จากนั้นก็เพียงถามความเห็นหรือให้ประชาชนแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ใช่การมีส่วนร่วม แต่เรียกว่าเป็นการ แจ้งให้ทราบ(Inform) หรือเป็นการ โต้วาที (Debate)  ในขณะเดียวกันประชาชนเองก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ดีพอสำหรับการตัดสินใจ     ทำให้การร่วมกันคิดร่วมกันทำ และร่วมกันตัดสินใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เกิดขึ้น   หรือเกิดขึ้นอย่างขาดคุณภาพ      จนบางครั้งนำไปสู่ความบาดหมาง แคลงใจ ขัดแย้ง และแม้กระทั่งเกิดเป็นความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และปัจจัยสุดท้ายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วม คือการที่เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้รับความสนใจและเป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลายในสังคมไทย

ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจและรู้จักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและดีพอ  กระบวนการมีส่วนร่วมจึงจะบรรลุผลสำเร็จได้

ถาม        จะทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สร้างประโยชน์สร้างความสุขขึ้นในสังคมได้อย่างไร

เราควรจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน 2 หน่วยจัดการ หรือ 2 บริบท   ที่เป็นฐานของสังคม คือ ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และ ขุมชนองค์กร หรือ ชุมชนที่ใช้องค์กรเป็นตัวตั้ง เช่น หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ หน่วยราชการ พรรคการเมือง สถานศึกษา สถานศาสนา  บริษัท  สถานประกอบการ  องค์กรภาคประชาสังคม เช่น สมาคม มูลนิธิ กลุ่ม  เครือข่าย ฯลฯ  และองค์กรอื่น ๆ ที่มีคนมาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำต่อเนื่อง  หากทำให้ชุมชนทั้งสองประเภทนี้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดี และสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แบบมีส่วนร่วมได้อย่างมีคุณภาพ จะเกิดผลสุดท้ายคือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในชุมชนทั้งสองประเภทดังกล่าว  และเมื่อใดที่มีประเด็นระดับชาติ ที่ควรต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการจัดการ   คนจากชุมชนหรือจากองค์กรเหล่านี้ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้าใจ และอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ หรือ แม้แต่ในเรื่องของความขัดแย้งในสังคม ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย  ทั้งความขัดแย้งระดับพื้นที่ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้  ความขัดแย้งระดับโครงการ เช่นโครงการสร้างเขื่อน โครงการผลิตไฟฟ้า ฯลฯ  ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งในหมู่นักการเมืองและในหมู่ประชาชน

ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ยังแก้ไม่สำเร็จ ก็เป็นเพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหากลับทำโดยหน่วยงานส่วนกลาง  สำหรับกรณีนี้ คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)  ได้เสนอให้จัดตั้งพื้นที่จังหวัดที่มีปัญหาขึ้นเป็นเขตปกครองพิเศษหรือจังหวัดจัดการตนเอง คล้าย ๆ กับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550  โดยจังหวัดชายแดนเหล่านั้น จะได้รับการปกครองดูแลโดยคนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดโดยตรง และมีอำนาจหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบที่เบ็ดเสร็จบูรณาการโดยไม่มีหน่วยงานส่วนกลางไปสั่งการควบคุมหรือดำเนินการ ทั้งในด้านงาน  เงิน และคน  เว้นแต่ด้านนโยบายระดับชาติที่สำคัญ หรือเมื่อได้รับการร้องขออย่างใดอย่างหนึ่งจากพื้นที่ ถ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการในแนวดังกล่าว   การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์   อย่างกว้างขวาง  และอย่างมีคุณภาพด้วย  นั่นแหละจึงจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณน้อยกว่าในปัจจุบัน และน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ถาม        ปัจจุบันมักจะมีการทำ “ประชาพิจารณ์” เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ เสมอ ขอให้ท่านช่วยอธิบายถึงการทำ “ประชาพิจารณ์” ที่ดี ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

การทำประชาพิจารณ์ที่ดี คือ การหาความเห็นร่วมกัน โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า ประชาเสวนา หรือ Citizen Dialogue   ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Public Deliberation  ไม่ใช่ Public Hearing   คำว่า ประชาพิจารณ์ในประเทศไทย แปลมาจากคำว่า  Public Hearing    ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นนับสิบ ๆ ปีมาแล้ว ในสหรัฐอเมริกา  เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาแสดงความเห็น  โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้รับฟัง รวบรวมสังเคราะห์ความเห็น ให้ข้อพิจารณารวมถึงคำวินิจฉัย  แล้วสรุปส่งให้แก่ผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจมีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่หากไม่เห็นด้วยจะต้องมีคำชี้แจงต่อประชาชน  วิธีการนี้ถือว่าพอใช้ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำวิธีการนี้มาใช้ในประเทศไทยกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากกระทำไม่ครบกระบวนการ คือ ฝ่ายภาครัฐเพียงแค่นำเสนอว่าจะทำโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ดีโดยมีการศึกษาความเหมาะสมหรือคำอธิบายแบบมองไม่ครบด้าน   ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็มักจะตั้งป้อมคัดค้าน หรือบางแห่งถึงขั้นที่ชาวบ้านขัดขวางไม่ยอมให้มีการทำประชาพิจารณ์  หรือมีการทำประชาพิจารณ์แล้วกลายเป็นการโต้เถียงขัดแย้ง ซึ่งบางกรณีขยายเป็นความรุนแรงจนเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือเกิดเป็นคดีความยืดเยื้อต่อไปอีก

ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ปัจจุบันก็ไม่นิยมทำ  Public hearing   หรือประชาพิจารณ์แล้ว  แต่หันมาใช้วิธีการ Public Deliberation  หรือ ประชาเสวนา(หาทางออก)ซึ่งในประเทศคานาดา เรียกว่า  Citizen Dialogue   กระบวนการประชาเสวนา  เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้รับการสรรหาอย่างมีหลักวิชา และมีเหตุมีผลที่ดี  มาร่วมประชุมเพื่อพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์  มีการทำเอกสารประกอบการพิจารณา หรือ Issue Paper  โดยในกระบวนการจะต้องมี “วิทยากรกระบวนการ” หรือ Facilitator  ซึ่งบางแห่งเรียกว่า “กระบวนกร” มาเป็นคนกลางและผู้ดำเนินการในการพูดคุย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นร่วมกัน อย่างสันติวิธีและอย่างสร้างสรรค์  จนได้ข้อสรุป ซึ่งมักเป็น “ชุดมาตรการ” ที่ทุกฝ่ายพอใจ และทำเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อลงมือดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ต่อ ๆ ไป โดยใช้กระบวนการมีส่วนในทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่องด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชน มีเป้าหมายเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ดังนั้นเราจึงหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ด้วยความจริงใจของผู้มีอำนาจ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายในสังคม ที่จะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกปัญหา อีกไม่นาน สังคมไทย คงจะเป็นสังคมที่มีความสงบร่มเย็น กลมเกลียว เจริญก้าวหน้า หรือเป็น “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  อย่างราบรื่น และต่อเนื่องตราบนานเท่านาน

ปรับปรุง 15/08/54

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/448701

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *