จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 19 (18 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 19 (18 มิ.ย. 50)


กรณี ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ได้สร้างปรากฏการณ์   “ความก้าวหน้า” ใน “ความไม่ก้าวหน้า” อย่างน่าสนใจและอย่างมีคุณค่ายิ่ง

เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้วที่เรื่องของ “ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน” เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ รวมทั้งมีบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆต่อเนื่องมาทุกวัน และมีท่าทีว่าจะยังคงมีข่าวและบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างแน่นอน

                เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนเริ่มเป็นข่าวหน้า 1 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยมีเนื้อข่าวว่าร่าง พรบ. นี้ถูกคัดค้านในที่ประชุม ครม. ในขณะที่ผมได้ชี้แจงต่อ ครม. ว่าร่าง พรบ. ฉบับนี้มีความสำคัญเป็นลำดับที่หนึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงฯที่สนองนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลตามที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายหลังการเข้ามารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

                เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็ได้มีเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้านจากหลายๆฝ่าย หลายๆกลุ่ม หลายๆบุคคล

                สื่อมวลชนส่วนใหญ่ นักพัฒนาโดยรวม นักวิชาการโดยรวม องค์กรชุมชนโดยรวม ได้ให้ความเห็นในเชิงสนับสนุน ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

                ส่วนเสียงคัดค้านมาจากกระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 3 สถาบัน (ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันติบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย) กับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เป็นหลัก

                ในจังหวัดต่างๆหลายจังหวัด ได้มีกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

                แต่ก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านบางคนได้พูดสนับสนุนร่าง พรบ. ฉบับนี้

                ทางด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีสมาชิกจำนวนหนึ่งประกาศว่าจะนำเสนอร่าง พรบ. ในสาระทำนองเดียวกันเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ด้วยไม่ว่ารัฐบาลจะเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนตามข้อเสนอของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯหรือไม่ก็ตาม

                สำหรับนักวิชาการ ได้มีการจัดสัมมนาพิจารณาร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนที่จุฬาลงกรณ์มหาลัยไปแล้ว และทราบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจำนวนหนึ่งกำลังจะจัดสัมมนาในเรื่องนี้เช่นกัน

                และพอจะคาดหมายได้ว่า การตื่นตัวรับรู้ การศึกษาเรียนรู้ การวิเคราะห์วิจารณ์ การพินิจพิจารณา ฯลฯ เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์ชุมชนและประเด็นที่เกี่ยวพันกัน จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย

                ดังนั้น แม้ว่า ครม. จะยังไม่เห็นชอบร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ก่อนนำมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ยังมีเสียงคัดค้านจากกระทรวงมหาดไทย และกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าความก้าวหน้าของร่าง พรบ. ฉบับนี้ คงต้องเกิดการสะดุดหรือชลอในช่วงเวลาหนึ่งเป็นอย่างน้อย

                แต่จากปรากฏการณ์ดังที่ผมได้ลำดับมาโดยสังเขป อาจกล่าวได้ว่ากรณี ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนนี้ ได้สร้าง “ความก้าวหน้า” ใน “ความไม่ก้าวหน้า” ได้อย่างน่าสนใจและอย่างมีคุณค่าทีเดียว!

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                       ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/104237

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 20 (2 ก.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 20 (2 ก.ค. 50)


การขับเคลื่อน ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ได้ผลน่าพึงพอใจ และยังคงเดินหน้าต่อไป

                ผลของการขับเคลื่อน “ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน” ที่เรียกได้ว่าเป็น “ความก้าวหน้า” ใน “ความไม่ก้าวหน้า” นั้น พอสรุปได้ดังนี้

                (1) การนำเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ได้ก่อให้เกิดการรับรู้ การพิจารณา การวิเคราะห์ การวิจารณ์ การเคลื่อนไหว กิจกรรมการสัมมนา ฯลฯ อย่างกว้างขวาง และต่อเนื่อง มากกว่าที่เคยมีมาในอดีตสำหรับประเด็นเกี่ยวกับชุมชน องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน

                (2) การเสนอข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน รวมถึงบทวิเคราะห์วิจารณ์หลากหลายรูปแบบและมุมมองได้ดำเนินมาในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ (โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ) อย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์เต็ม และแม้ในสัปดาห์ที่ 4 ก็ยังมีข่าวและข้อความพาดพิงถึงอยู่เป็นครั้งคราว

                (3) ปรากฏการณ์ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็น “การเรียนรู้ของสังคม” ครั้งสำคัญเกี่ยวกับชุมชน องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน กับความสำคัญในเชิงการพัฒนาท้องถิ่น การสร้างความเข้มแข็งของสังคม การพัฒนาประชาธิปไตย การสร้างธรรมาภิบาล และอื่นๆ

                (4) จากเสียงสะท้อนของหลายๆฝ่ายในสังคม เห็นชัดว่าเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย มาจากหน่วยงานและกลไกของรัฐด้านการปกครองเป็นหลัก ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในขณะที่เสียงสนับสนุนมาจากภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน เป็นสำคัญ นอกจากนั้น ก็ได้มีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน จำนวนหนึ่ง ที่สนับสนุนหลักการของร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน แต่มิได้พูดกับสื่อมวลชน จึงไม่ปรากฏเป็นข่าว

                 (5) ในส่วนของ ครม. นั้น การพิจารณาเรื่อง ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ยังไม่เสร็จสิ้น โดยได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในเชิงหลักการก่อนส่งกลับมาให้ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันได้มี สมาชิกสภานิติบัญญัติติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนหนึ่งดำเนินการเพื่อจะเสนอร่าง พรบ. เกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ (สนช.) ในเร็วๆนี้

รวมความแล้ว ต้องถือว่า การขับเคลื่อนร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ ผลกระทบ และการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง อย่างมากมาย กว้างขวาง และก้าวไกล เกินกว่าที่คาดคิดไว้ด้วยซ้ำ จึงนับเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจทีเดียว

                และการขับเคลื่อน หรือเคลื่อนไหว ยังมิได้หยุดยั้งแต่ประการใด ยังคงเดินหน้าต่อไป เพียงแต่ผู้ขับเคลื่อนหรือเคลื่อนไหวมีหลายฝ่ายมากขึ้น และกระบวนการ สาระ จังหวะ ลีลา ฯลฯ ในการขับเคลื่อนหรือเคลื่อนไหว ก็มีหลากหลาย ไปด้วย

                เรื่องนี้ จะเป็นเสมือนภาพยนต์เรื่องยาว ต้องติดตามดูกันนานหน่อยครับ

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                        ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/107941

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 21 (18 ก.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 21 (18 ก.ค. 50)


ผลงาน 9 เดือนกับเสียงสะท้อนจากสังคม

                กว่า 9 เดือนแล้วที่รัฐบาลนี้บริหารงานมา

                ผมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ดูแลงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 4 เดือนกว่าที่ผ่านมา ได้รับผิดชอบในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคมอีกตำแหน่งหนึ่ง

                ผมคิดว่าตัวเองได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการทำหน้าที่ และเชื่อว่ารัฐมนตรีทั้งคณะล้วนใช้ความพยายามกันเต็มที่ทั้งนั้น

                ดูผลงานของกระทรวงต่างๆก็เห็นว่ามีความก้าวหน้ากันทั้งสิ้น

                แต่ไม่ว่าจะมีผลงานจริงอย่างไร ข้อสำคัญยังอยู่ที่ว่าประชาชนเขาคิดว่ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีทำได้ดีหรือไม่ดีแค่ไหน

                ดังนั้น การฟังความเห็นหรือเสียงสะท้อนจากประชาชนหรือจากสังคมจึงสำคัญ ซึ่งความเห็นส่วนหนึ่ง คือความเห็นของสื่อมวลชน

                ในช่วงเวลา 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลงานของรัฐบาล และของรัฐมนตรีหรือของกระทรวงต่างๆ

                ผลงานของรัฐบาลในสายตาของประชาชนจากผลการสำรวจดังกล่าว นับว่ายังไม่โดดเด่นนัก หรืออยู่ในระดับพอใช้ และผลงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ ปรากฏว่าอยู่ระดับปานกลาง

                เสียงสะท้อนเช่นนี้ คงไม่ใช่การวินิจฉัยที่ถือว่าถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเป็นการประเมินจากความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง

                แต่ผมคิดว่าคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงผมด้วย ควรรับฟังเสียงสะท้อนและนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อจะหาทางทำงานให้ดียิ่งขึ้น

                อย่างไรก็ดี ได้มีเสียงสะท้อนบางส่วนที่เป็นผลจากการวิเคราะห์เจาะลึกมากกว่าการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างในลักษณะ “โพล” ต่างๆ

                เช่น ความเห็นของคอลัมนิสต์คนหนึ่ง ลงใน นสพ. Bangkok Post วันที่ 12 July 2007 หน้า 14 ดังนี้ครับ

“Spotlight

ABOUT POLITICS

Two achievers salvage cabinet

Two government ministers have emerged as key to salvaging the sagging popularity of the cabinet.

Social Development and Human Security Minister Paiboon Wattanasiritham and his deputy Poldej Pinprateep have been credited with accomplishing far more than their immediate predecessors.

They have rolled out a number of bills, including measures to crack down on domestic violence, human trafficking, and promote and develop the rights and opportunities for the disabled and the young, as well as attempts to organise assistance for the homeless and unemployed.

They have even pitted themselves against the mighty Interior Ministry by pushing for the Community Organisation Council bill which sets the stage for the establishment of village councils that would give local residents a much larger voice in managing their own community affairs.

Though they have recently bowed to pressure from the Interior Ministry and local bodies who feared the work of the new councils would overlap with existing authorities, a group of National Legislative Assembly members led by Wallop Tungkananurak has agreed to support the bill and table it for deliberation by the assembly.

Mr Paiboon and Mr Poldej have also demonstrated their mettle to grapple with other politically awkward issues, notably the controversy surrounding the proposed demolition of the Din Daeng flats supervised by the National Housing Authority.

Past governments were hard-pressed to decide whether to keep or knock down the ageing flats, a highly-politicised issue which has gone unresolved for many years.

But Mr Paiboon and Mr Poldej approached the problem differently. By bringing the tenants into the decision-making process it seems they may have opened the door to a resolution of this thorny issue.

With the input from the tenants, it now looks likely that a blueprint on relocation and reconstruction may begin to take shape.

It is unfortunate therefore that their stint in government might run out before they can complete their tasks, as the two have shown they are willing to venture into areas where other politicians have feared to tread.

With the general elections poised for the end of the year, parties and politicians have not been seen to be making any real commitment to long-term social development.

This might be because quick-fix, populist projects that often amount to no less than a cash handout have stolen the public’s attention.

Social development, by contrast, is a policy that will not deliver results until many years down the road. The previous government built a strong support base with a number of populist programmes, including the debt moratorium for farmers, the village fund, and the million cows project to name but a few.

But long-term social development, which is the foundation of any society, seems as if it will once again be pushed to the back of the shelf of government policy .”

                อ่านแล้วย้อมชวนให้รู้สึกมีกำลังใจเป็นธรรมดา แต่ผมจะพยายามระวังให้มีสติอยู่เสมอ ไม่ให้เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงยกย่อง เช่นเดียวกับที่ไม่ให้รู้สึกผิดหวังท้อแท้ต่อเสียงตำหนิกล่าวหา

                ผมจะพยามวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและตัวเองไปด้วย พร้อมกับรับฟังเสียงสะท้อนจากแหล่งต่างๆ นำมาประกอบกัน แล้วกลั่นเป็นความคิดว่าผมควรจะทำอะไรอย่างไร จากนั้นก็พยายามทำให้ดีที่สุดต่อไป

                                                                              สวัสดีครับ

               ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/112515

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 22 (24 ก.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 22 (24 ก.ค. 50)


เสียงจากสื่อมวลชนสนับสนุนนโยบายของกระทรวง พม. ที่ส่งเสริมขบวนการสวัสดิการชุมชน

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม 255 ผมเดินทางไปจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกิจกรรม “สมัชชาสวัสดิการชุมชนสังคมคนเมืองมุก ‘รวมพลคนมีสวัสดิการ’” ณ วัดศรีมงคลเหนือ อ.เมือง (ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง) รวมทั้งร่วมบันทึกเทปรายการ “เวทีชาวบ้าน” หัวข้อ “การขับเคลื่อนสมัชชาสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัด” หรือ “สวัสดิการชุมชนคนมีความสุข” ร่วมกับ

– นายบุญสม ภิรินทร์ยวง                    ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

– นายสุรพร ชัยชาญ                            ผู้นำการขับเคลื่อนขบวนการสวัสดิการชุมชน จ.มุกดาหาร

– นางดวงจันทร์ อุทธาพงษ์               ปลัด อบต. กกแดง อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาการ

– นายบัญชร แก้วส่อง                         นักวิชาการ

– นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา         ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

– และคนอื่นๆอีกหลายคน

โดยมี คุณประพจน์ ภู่ทองคำ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้มาร่วม “สมัชชา” กับร่วมรายการ “เวทีชาวบ้าน” จากจังหวัดต่างๆในภาคอีสานทุกจังหวัด แถมด้วยผู้นำการขับเคลื่อนขบวนการสวัสดิการชุมชนจากภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ อีกจำนวนหนึ่ง

ขบวนการ “สวัสดิการชุมชน” ในจังหวัดมุกดาหาร ก้าวหน้าได้เร็ว และก้าวหน้าได้ดี เช่นเดียวกับที่หลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และโดยเฉพาะภาคใต้ ก็ก้าวหน้าได้เร็วและก้าวหน้าได้ดีด้วย

การขับเคลื่อนขบวนการ “สวัสดิการชุมชน” เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างชัดเจน ดังปรากฏในข้อความซึ่งลงใน นสพ. มติชน วันที่ 13 กรกฎาคม 2550 หน้า 5 ดังนี้

“พม. ตั้งเป้าให้ประชาชน 50 ล้านคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจัดสวัสดิการชุมชนให้ครบ 76 จังหวัดใน 3 ปี พร้อมจัดสวัสดิการท้องถิ่น ดูแลคนถูกทอดทิ้งให้ทั่วถึง

ปัจจุบันชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกร ชุมชนแออัดทั้งในเมืองและชนบท  หลายคนยังเข้าไม่ถึงระบบการประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการด้านต่างๆ จากภาพรวมของประชากรทั่วประเทศมีประมาณ 65 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 15 ล้านคน เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและลูกจ้างห้างร้านบริษัทต่างๆ ซึ่งได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเป็นระบบครบวงจร แต่ยังมีประชากรทั่วไปอีกกว่า 50 ล้านคน ทั้งกลุ่มเกษตรกร กลุ่มคนจน คนด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ในชุมชนต่างๆ ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมของภาครัฐได้อย่างครบวงจร ทั้งเรื่องการรักษาสุขภาพ การช่วยเหลือสงเคราะห์ต่างๆ ทั้งการบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ จนกระทั่งเสียชีวิต

จากสภาพปัญหาดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภายใต้การนำของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนพัฒนาสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก คือ สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม ซึ่งภารกิจและเป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันและสังคมเข้มแข็ง คือสนับสนุนการดำเนินการกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ ควบคู่กับการดำเนินโครงการจัดระบบสวัสดิการท้องถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมในแต่ละจังหวัด กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มด้วยการสำรวจผู้ถูกทอดทิ้งในแต่ละตำบล จากนั้นร่วมกันออกแบบระบบการดูแลผู้ถูกทอดทิ้ง รวมทั้งกำหนดยุทธวิธีการระดมพลัง “ผู้มีศักยภาพในการให้” เพื่อร่วมกันดูแลผู้ถูกทอดทิ้ง โดยมุ่งให้ “ผู้อ่อนแอหรือถูกทอดทิ้ง” สามารถพึ่งตนเองได้ อันเป็นการใช้กลไกสวัสดิการของภาครัฐ ผนวกกับพลังทางคุณธรรมในชุมชนเพื่อสร้างความเข็มแข็งและความมั่นคงในชีวิตให้ชุมชนในทุกตำบลทั่วประเทศ

เป้าหมายการดำเนินการ 

ภายใน 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2552 คาดว่า ระบบสวัสดิการชุมชนและระบบสวัสดิการท้องถิ่นจะครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดในพื้นที่ 7,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยการเชื่อมโยงแผนพัฒนาสวัสดิการชุมชนเข้ากับระบบสวัสดิการท้องถิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัดอย่างบูรณาการ จนนำไปสู่ระบบสวัสดิการสังคมของชาติ สร้างคน พัฒนาความรู้และทักษะการดำเนินการให้เกิดรูปแบบการจัดสวัสดิการในชุมชนและท้องถิ่น ที่มีสมาชิกชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดสรรงบประมาณในปี 2551 เพื่อกระจายเงินกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นอีกด้วย

ประตูสู่ความสำเร็จ

หนทางที่จะทำให้ระบบสวัสดิการชุมชนและระบบสวัสดิการท้องถิ่นสำเร็จจึงไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อกระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จำนวน 200 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณจำนวน 86 ล้านบาท ผ่านพมจ. เพื่อจัดสวัสดิการท้องถิ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ความสำเร็จของระบบสวัสดิการสังคมนี้ ต้องมีปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ

  1. ปัจจัยนำเข้า คือ ต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนอย่างเหมาะสม
  2. ปัจจัยผลผลิต ต้องมีเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น การสำรวจวัดได้ว่า เงินกองทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  3. ปัจจัยผลลัพธ์ คือการทำให้คนได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง มีความมั่นคงในชีวิต เห็นคุณค่าของการเกื้อกูลกันในชีวิตชุมชน

“ทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องได้รับการร่วมมือจากทุกคนในชุมชน ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะประสานงานหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล รวมทั้งพมจ. และคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมระดับจังหวัดให้ร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวทางเพื่อให้เกิดสวัสดิการชุมชนและสวัสดิการท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ”

                นายสมพร ใช้บางยาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมฯจะรับนโยบายจากภาครัฐมาปฏิบัติ โดยผ่านการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอบต. และเทศบาล ในการขับเคลื่อนทั้ง สวัสดิการชุมชน และสวัสดิการท้องถิ่น ซึ่งงบประมาณในการดำเนินการจะมาจาก รัฐบาลและงบประมาณของชุมชน ผ่านการดูแลรับผิดชอบของผู้บริหารท้องถิ่น อย่างนายก อบต. ซึ่งจะทำงานร่วมกับภาคชุมชนในการวางรากฐานให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคม เพื่อพัฒนาให้เกิดการจัดสวัสดิการสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

รูปธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น

นายสุรจิตต์ ชิรเวทย์ คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า “ระบบสวัสดิการในชุมชนและท้องถิ่น เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ในชุมชนท้องถิ่นได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง โดยมีหลักสำคัญในการทำงาน คือ การเชื่อมโยงกองทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชนเข้ากับทุนทางสังคมในท้องถิ่น จนเป็นระบบสวัสดิการที่หลากหลาย โดยภาครัฐทำหน้าที่เข้าไปหนุนเสริม ที่สำคัญจะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และจะเป็นรากฐานของการเกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

จากการทำงานในรูปแบบ “บูรณาการ” นี้เอง ส่งผลให้หลายท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น อย่างเช่น อบต.แพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ที่เมื่อก่อนประสบปัญหาคนหนุ่มสาวจำนวนมากทิ้งถิ่นไปทำงานตามหัวเมืองใหญ่ แต่หลังจากมีกองทุนด้านสวัสดิการเข้ามา ทำให้คนเหล่านี้กลับมาทำงานในบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น

ความรู้สึกว่าชีวิตมีหลักประกันที่มั่นคงนี้ เกิดขึ้นที่ อบต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วย ณ ที่นั้น ชาวบ้านมีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดสวัสดิการในบางด้าน แต่หลังจากมีระบบสวัสดิการชุมชนเข้ามา นอกจากชาวบ้านจะมีเงินออมแล้ว ยังมีสวัสดิการในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมไปถึงสวัสดิการด้านโอกาสในการศึกษา และการทำงานอีกด้วย

“ในด้านสวัสดิการท้องถิ่นนั้น ช่วยชาวบ้านได้จริงๆ โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ทั้งไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ในระบบสวัสดิการชุมชน การมีสวัสดิการท้องถิ่น ทำให้เราสำรวจพบผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก จนสามารถเชื่อมโยงให้เห็นว่าสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ในเรื่องนี้ถ้าทำอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สังคมดีขึ้นแน่นอน” นายสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต. ท่าข้าม กล่าว

สวัสดิการชุมชนไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ยังส่งเสริมให้แต่ละบุคคลสร้างโอกาสที่ดีในชีวิตได้ด้วยตนเอง

ปัจจัยสำคัญของความยั่งยืน

ด้าน นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญสำคัญสู่ความยั่งยืนของการวางระบบสวัสดิการท้องถิ่นต้องประกอบด้วย

(1) ระบบการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลผู้ยากลำบาก ผู้ถูกทอดทิ้ง และมีผู้มีศักยภาพการให้ โดย พมจ. และคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด สนับสนุนบทบาทของ อบต.

(2) การจัดการเชื่อมร้อยให้เกิดความช่วยเหลือผู้ยากลำบากอย่างเป็นระบบของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ให้ทั้งหลายในท้องถิ่น ตั้งแต่การร่วมกันรับรู้ข้อมูลและสภาพของความยากลำบาก การกำหนดวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมสอดคล้องกับความยากลำบากนั้น รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างโอกาสให้ผู้คนและภาคส่วนอื่นๆ ในจังหวัดนั้นๆ ได้เข้ามาร่วมช่วยเหลือได้ทุกเพศทุกวัย และด้วยความรู้สึกคึกคักอยากออกมาช่วยเหลือ

(3) การสร้างวัฒนธรรมการไม่ทอดทิ้งกันในสังคม ด้วยการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ในท้องถิ่น และการเผยแพร่กระจายประสบการณ์จริงของผู้ที่มีโอกาสรับรู้ความยากลำบากของคนในท้องถิ่น และให้ความช่วยเหลือ โดยการให้กำลังทุน กำลังกาย โอกาส หรือเวลา กับเขาเหล่านั้น

“ที่สำคัญ…ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างที่เพื่อนจะให้เพื่อน ไม่ทำให้เขารู้สึกด้อยค่าหรือหมดศักดิ์ศรี และมุ่งหวังให้เขามีความแข็งแรงขึ้นมาดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน” นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวทิ้งท้าย”

คงจะเป็นข้อความที่ลง นสพ.มติชน ดังกล่าวข้างต้น ที่ทำให้มี “บทบรรณาธิการ” ( Editorial ) ใน นสพ. The Nation ในวันที่ 14 July 2007 หน้า 10 A ดังนี้ครับ

Editorial :

Social welfare measure laudable

Government objective to build communities’ capability to care for the destitute among them is long overdue

The Social Development and Human Security Ministry has set itself the ambitious goal of taking better care of the poor and destitute by widening the social safety net and improving access to public welfare in all parts of the country with an emphasis on the local community level. The idea is long overdue.

Thailand ‘s rapid economic and social development in recent decades has put an enormous strain on the family. If the family unit is considered the most basic building block of a healthy society, this fundamental social institution has been in very poor shape for some time.

Extended families, which were once the norm and which used to provide social and financial security for their members, are increasingly being replaced by single families that are either less able or less willing to help relatives outside of the immediate family unit. Successive governments have neglected to develop a proper national network of social welfare units capable of filling the role that extended families played so effectively in the past.

A plethora of social problems has cropped up and multiplied over the years, including a rise in the number of cases of children, the elderly and helpless disabled people being abandoned and left to fend for themselves with little or no help from other members of their communities.

One of the saddest, most heartbreaking social phenomena of recent times, which is repeatedly reported in the mass media, is that of society’s most helpless and marginalised people, such as orphans and bed-ridden elderly, being discarded by the communities they grew up in and where they have lived their entire lives as if they were no more than useless items.

In most cases, these people, who are unable to support themselves and have no one to turn to for assistance, are transferred from their communities to relevant government social welfare institutions at the provincial level or even to another province or part of the country if the provinces in which they live do not have the facilities to care for them.

If the Social Development and Human Security Ministry has its way, all this will change – for the better. The ministry will be creating a network of agencies to provide social welfare services for those who cannot help themselves in 7,000 communities run by a tambon administrative organisation in all of the country’s 76 provinces within the next three years.

By bettering the ability of local communities to care for the destitute among them, the government hopes to foster a sense of civic responsibility among local people, encouraging them to take care of their own problems and work towards creating a caring society.

This is part of the decentralisation of government power. Almost Bt300 million of the government’s budget has been distributed to tambon administrative organisations or local governments as seed money.

Each community will be required to set up a social welfare fund that must be efficiently run and a social welfare programme, the performance of which is to be judged against measurable and clearly spelled out objectives, such as the number of destitute people it serves and the quality of the care it provides.

However, budgetary allocations and good intentions on the part of government policy makers alone will not translate into better and more humane treatment of the helpless and destitute.

In order for such a good social welfare programme to work the way it should, members of local communities must be enlisted to actively participate, by making donations or volunteering their time for example, so that those on the receiving end of the assistance feel well taken care of and are able to live in dignity.

Members of all relevant government agencies, such as public health workers, social welfare officials, community development workers and non-governmental organisations, must join hands to make this worthy programme a success.

It’s time that Thai society relearns the positive social values of old and makes sure compassion for fellow human beings, which is the hallmark of Buddhism, the religion of the great majority of this country, is practised the way it is preached.”

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/114087

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 23 (1 ส.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 23 (1 ส.ค. 50)


รัฐบาลได้ใช้ความพยายามเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติ รวม 274 ฉบับ เป็นของกระทรวง พม. 15 ฉบับ

                ระยะนี้รัฐบาลกำลังพยายามเร่งให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถนำเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันในช่วงเวลาที่รัฐบาลนี้บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ซึ่งดีที่สุดคือให้สามารถผ่านความเห็นชอบของ สนช. และประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ด้วย

                รวมร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลกำลังพยายามให้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มีจำนวนทั้งสิ้น 137 ฉบับ

                ทั้งนี้ ไม่นับรวมร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. อยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และไม่นับรวมพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช. โดยได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว เช่น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

                ในจำนวนร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) 137 ฉบับ ที่รัฐบาลกำลังพยายามให้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. นั้น ได้มีการจัดหมวดหมู่เป็นบัญชี ก. ข. และ ค. ดังนี้

                บัญชี ก.  ได้แก่ ร่าง พรบ.  ที่สมควรเสนอ สนช. ภายในวันที่ 30 ก.ย. 50 มีจำนวน 79 ฉบับ

                บัญชี ข.  ได้แก่ ร่าง พรบ. ที่สมควรเสนอ สนช. ภายหลัง 30 ก.ย. 50 มีจำนวน 48 ฉบับ

                บัญชี ค.  ได้แก่ ร่าง พรบ. ที่ตกลงไว้กับ สนช. (ว่าจะเสนอภายในเวลาที่กำหนด) มีจำนวน 10 ฉบับ

                ทั้งนี้ เป็นข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ซึ่งถึงวันนี้ก็ได้มีร่าง พรบ. เพิ่มเข้ามาอีกจำนวนหนึ่งแต่ไม่มาก

                สำหรับกระทรวง พม. ได้มีร่าง พรบ. อยู่ในแต่ละบัญชีรวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ ดังนี้

                บัญชี ก. มี 4 ฉบับ ได้แก่

                                ร่าง พรบ. ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ. …..

                                ร่าง พรบ. ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. …….

                                ร่าง พรบ. ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา พ.ศ. …….

                                ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ……..

                บัญชี ข. มี 4 ฉบับ ได้แก่

                                ร่าง พรบ. ขอทาน พ.ศ. …..

                                ร่าง พรบ. ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. …….

                                ร่าง พรบ. ฟื้นฟูชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. …….

                                ร่าง พรบ. หอพัก พ.ศ. …….

                บัญชี ค. มี 2 ฉบับ ได้แก่

                                ร่าง พรบ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ …..) พ.ศ. ……

                                ร่าง พรบ. ส่งเสริมครอบครัว พ.ศ. …….

                แต่ถ้าพิจารณาว่า ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติต่างๆเป็นจำนวนเท่าใด อยู่ในสถานภาพใดบ้าง จะสรุปเป็นบัญชีได้ดังนี้ครับ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 50)

                บัญชี 1.  ร่าง พรบ. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของเลขาธิการ ครม.                    21   ฉบับ

                บัญชี 2.  ร่าง พรบ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา          109   ฉบับ

                บัญชี 3.  ร่าง พรบ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการประสานงาน สนช.          25   ฉบับ

                บัญชี 4.  ร่าง พรบ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.                                   61   ฉบับ

                บัญชี 5.  ร่าง พรบ. ที่ ครม.ขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ                       3   ฉบับ

    บัญชี 6.  ร่าง พรบ. ที่อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯถวาย                                                      25   ฉบับ

                บัญชี 7.  ร่าง พรบ. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว                                  30   ฉบับ

                                                                                                รวมทั้งสิ้น          274  ฉบับ

                ในบัญชีเหล่านี้ มีร่าง พรบ. ของกระทรวง พม. นอกเหนือจากที่ได้ระบุใน บัญชี ก. ข. และ ค. ข้างต้นแล้ว อีก 5 ฉบับ ดังนี้ ครับ

                บัญชี 3.  ร่าง พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ……

                                ร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ….) พ.ศ. ….. (กำหนดวิธีการจดบันทึกคำร้องทุกข์ในกรณีผู้เสียหายเป็นเด็ก อายุไม่เกิน 18 ปี ฯลฯ)

                บัญชี 4.  ร่าง พรบ. มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ……..

                                ร่าง พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ……..

                บัญชี 6.  ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

                รวมแล้ว รัฐบาลนี้ได้เสนอกฎหมายเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติเป็นจำนวนมากพอสมควรทีเดียวนะครับ และในส่วนของกระทรวง พม. ก็ได้เสนอกฎหมายที่มีลักษณะและจำนวนอยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะพอใจได้

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                     ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/116076

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 24 (6 ส.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 24 (6 ส.ค. 50)


ชุมชนเข็มแข็ง ชุมชนพอเพียง ชุมชนประชาธิปไตย ควรเป็นเรื่องเดียวกัน

                เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว ที่ผม “ไม่ได้หยุด” แม้ใน “วันหยุด”

                วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม ไปจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกิจกรรม “สมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดมุกดาหาร” ซึ่งเป็นรายการ “เวทีชาวบ้าน” ด้วย

                วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม ไปจังหวัดอุตรดิตถ์ ประชุมหารือเรื่องการบูรณาแผนงานและงบประมาณโดยมีท้องถิ่นและจังหวัดเป็นตัวตั้ง

                ในช่วงวันหยุดยาว 4 วัน 28-31 กรกฎาคม ผมก็มี “งาน” ทุกวันตลอดวันหยุด 4 วัน ดังกล่าว แต่เป็น “งาน” ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ออกต่างจังหวัด และส่วนหนึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

                และในช่วงปลายสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านไป วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม ผมไปจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์เอนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน” ของตำบลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นศูนย์ในลักษณะนี้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยกระทรวง พม. มีแผนงานสนับสนุนให้เกิด “ศูนย์เอนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน” อีก 7 แห่ง รวมเป็น 8 แห่งเพื่อเป็นการนำร่องใน 4 ภาคของประเทศ ภาคละ 2 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร

                เป็นที่คาดหมายว่า “ศูนย์เอนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน” จะพัฒนาไปเป็น “ศูนย์ชุมชนเอนกประสงค์” ในที่สุด นั่นคือ เป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมหลากหลายของกลุ่มคนหลากหลายและเพื่อกลุ่มคนหลากหลายในชุมชน

                จบจากพิธีและกิจกรรมที่ตำบลเขาสวนกวาง ผมเดินทางต่อไปที่ ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง ร่วมกิจกรรม “รวมใจคนสวัสดิการชุมชน” รวมถึงเป็นประธานสักขีพยานการทำบันทึกข้อตกลงการจัดสวัสดิการชุมชนระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลสะอาดกับกองทุนสัจจะกองบุญวันละ 1 บาท เพื่อสวัสดิการผู้สูงอายุและชุมชนตำบลสะอาด

                จากตำบลสะอาด ไปที่วัดชัยศรี ซึ่งอยู่ที่บ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง ร่วมการประชุมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านในเขตอำเภอน้ำพอง และร่วมเสวนา “แนวทางการบูรณาการการเงินชุมชนและแนวทางความร่วมมือสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง”

                นอกจากนั้น ก็ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมค่อนข้างใหญ่ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดชัยศรีสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติด อยู่ห่างจากวัดไปหน่อยหนึ่ง กับได้ไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์เด็ก “บ้านแคนทอง” ในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เป็นสถานสงเคราะห์ สำหรับการเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ถูกทอดทิ้งและมีอายุระหว่าง 0-6 ปี 

                วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม ผมมีภารกิจไปร่วมงาน “มหกรรมประชาธิปไตย ” ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี โดยเป็นผู้ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แล้วไปทำหน้าที่ประธาน (โดยได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี) ในพิธีปิดมหกรรม ซึ่งเรียกว่าพิธี “รวมพลังปฏิญญาพัฒนาการเมืองไทย 2550” โดยผมเป็นผู้กล่าวนำคำ “ปฏิญญา” ที่ละวรรคให้ผู้ที่อยู่ในห้องประชุมและที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ กล่าวตาม จนจบคำปฏิญญา ซึ่งยาวพอสมควรแต่มีความหมายดีมาก

                ในการปาฐกถาพิเศษที่กล่าวถึงข้างต้น ผมได้สรุปว่า ประชาธิปไตยคือ ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ประชาชนคือองค์ประกอบสำคัญของสังคม ฐานรากของสังคมคือชุมชน ประชาชนจะมีบทบาทได้ดีและสังคมจะพัฒนาได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ก็เมื่อมีชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นชุมชนที่พอเพียงพร้อมกับเป็นชุมชนประชาธิปไตย

                นั่นคือ ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนพอเพียง และชุมชนประชาธิปไตย เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  และควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                     ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/117374

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 25 (14 ส.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 25 (14 ส.ค. 50)


กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสมารถดึงตัวเองออกจากหล่มและเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้าได้แล้ว

                วันที่ 10-11 สิงหาคม 2550 ผมไปเป็นประธานการสัมมนากรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) โดยเชิญอดีตกรรมการชุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปมาร่วมสัมมนาด้วย รวมผู้เข้าสัมมนาทั้งหมด ประมาณ 50 คน กับมีเจ้าหน้าที่ของ กฟก. ประมาณ 40 คน มาอำนวยความสะดวกและร่วมสังเกตการณ์

                การจัดสัมมนาจัดที่โรงแรมบางกอกกอล์ฟสปารีสอร์ท จ.ปทุมธานี

                นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้ง กฟก. มา (เมื่อ พ.ศ. 2542) ที่มีการสัมมนากรรมการกองทุนฯ

                การสัมมนาเริ่มตอนบ่ายของวันที่ 10 ส.ค. เสร็จสิ้น เมื่อประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 11 ส.ค. แล้วต่อด้วยการประชุมคณะกรรมการ กฟก. ในช่วงหลังอาหารกลางวัน ไปเลิกประชุมเอาประมาณ 18.00 น. (การประชุมดำเนินต่อไปหลังจากผม และ รมว. ธีระ สูตะบุตร จำต้องขอลาไปเมื่อประมาณ 15.00 น. เพื่อร่วมคณะเข้าเฝ้าถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยผมได้ขอให้คุณทวี วิริยฑูรย์ เป็นประธานการประชุมแทน)

                การประชุมคณะกรรมการ กฟก. ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2/2550 หลังจากที่สามารถประชุมครั้งที่ 1/2550 ได้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 50

                ก่อนหน้านั้น กฟก. ไม่สามารถจัดการประชุมคณะกรรมการได้เป็นเวลาประมาณ 11 เดือน หลังจากที่มีการประชุมครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549

                ผลการประชุมครั้งที่ 2/2550 เมื่อ 11 ส.ค. 50 ที่สำคัญคือ สามารถแต่งตั้ง (1) “คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (7 คน) (2) “คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตร” (21 คน) และ (3) “คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ นโยบาย และขบวนการเกษตร” (21 คน) ได้เรียบร้อย

                สองคณะแรกเป็นคณะกรรมการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กฟก. ส่วนคณะที่ (3) เป็นการริเริ่มขึ้นใหม่ อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากการสัมมนากรรมการ กฟก. ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

                การที่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการ กฟก. ชุดใหม่ สามารถจัดประชุมคณะกรรมการฯได้ 2 ครั้ง และสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารฯ คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ แถมด้วยคณะอนุกรรมการชุดสำคัญที่น่าช่วยในการ “ปฏิรูป” หรือ “อภิวัฒน์” กฟก. ได้นั้น น่าจะถือได้ว่า กฟก. สามารถดึงตัวเองออกจากหล่มและเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้าได้แล้ว

                และในวันที่ 20 ส.ค. นี้ เราก็ได้นัดประชุมคณะกรรมการ กฟก. ครั้งที่ 3/2550 โดยจะใช่เวลาทั้งวัน กล่าวคือ ในภาคเช้าจะเป็นการแยกประชุมคณะกรรมการบริหารฯ คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบฯ ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการประชุมคณะกรรมการ กฟก. (41 คน) ซึ่งคาดว่าจะมีเรื่องสำคัญๆให้ตัดสินใจได้จำนวนหนึ่ง

                น่าจะเป็นประวัติการณ์ของ กฟก. ที่จะได้มีการประชุมคณะกรรมการ กฟก. ถึง 3 ครั้ง ในเดือนเดียวกัน

                ถ้าจะอธิบายก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “ชดเชย” ที่ในช่วงปี 2549-50 ไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กฟก. นานถึง 11 เดือน ระหว่าง ก.ย. 49 ถึง ส.ค. 50

                                                                                                    สวัสดีครับ

                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/119531

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 26 (21 ส.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 26 (21 ส.ค. 50)


โล่งอก รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ สังคมไทยได้ทางเดินชัดเจน มุ่งสู่การเลือกตั้งปลายปี 2550

                ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกโล่งอกที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ผ่านประชามติเห็นชอบด้วยคะแนนประมาณ 58% (57.81) เทียบกับคะแนนไม่เห็นชอบประมาณ 42% (42.19) โดยมีผู้มาออกเสียงประชามติประมาณ 58% (57.61) ของประชากรผู้มีสิทธิ์ออกเสียง

                ถือได้ว่าหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้ผ่านพ้นไปด้วยดีในคืนวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550

                การที่มีเสียงเห็นชอบ 58% เทียบกับไม่เห็นชอบ 42% ผมว่าเป็นสัดส่วนที่ดี

                กล่าวคือ มีเสียงเห็นชอบมากพอและชัดเจนพอให้สังคมไทยและประเทศไทยเดินไปข้างหน้าตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 มุ่งสู่การเลือกตั้งทั่วไป ประมาณปลายเดือน ธันวาคม 2550 เพื่อให้ได้มาซึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐบาลชุดใหม่

                ขณะเดียวกัน คะแนนเห็นชอบ 42% ก็มากพอที่ทำให้ต้องตะหนักถึง (1) ความไม่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตยของการทำรัฐประหารแม้จะมีเหตุผลตามที่กล่าวอ้าง (2) สาระของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 น่าจะมีข้อที่ประชาชนไม่เห็นด้วยอยู่พอสมควร (3) ความนิยมเชื่อถือในกลุ่มการเมืองที่ถูกเรียกว่า “อำนาจเก่า” ยังมีอยู่ไม่น้อย และ (4) การใช้ “พลังเงิน” หรือใช้วิธีการไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมที่เรียกว่า “วิชามาร” ฯลฯ นั้น ยังคงมีอยู่ในระบบการเมืองไทย

                ผมเองพอใจกับผลการลงประชามติที่ออกมา ที่สำคัญคือ พอใจที่สังคมไทยจะมีทิศทางสำหรับการเดินทางไปข้างหน้าอย่างชัดเจนเสียที หลังจากต้องมองหน้ามองหลังมองซ้ายมองขวา ไม่รู้ว่าจะไปทิศไหน มาเป็นเวลานานเกินไปแล้ว

                ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดปัญหา ประท้วงอดีตนายกฯทักษิณ จนมีภาวะวิกฤต แล้วเกิดรัฐประหาร มี คมช. มีสสร. มีรัฐบาลชั่วคราวที่ผมร่วมอยู่ด้วย และอื่นๆ โดยสถานการณ์ทางการเมืองยังคงขัดข้อง ขัดแย้ง อึมครึม อ่อนไหว ฯลฯ มาตลอด ซึ่งไม่น่าพอใจเลย

                การผ่านร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะทำให้ ความขัดข้อง ขัดแย้ง อึมครึม อ่อนไหว ฯลฯ ดังกล่าว ลดลงไปอย่างชัดเจน

                ที่ทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยก ตั้งป้อมโจมตี ประท้วง ฯลฯ ก็น่าจะเลิกหรือยุติได้แล้ว

                หันมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยและตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะดีกว่า

                นอกจากนั้น ในส่วนตัวของผมเอง ก็โล่งอกที่ไม่ต้องมีภาระร่วมกับ ครม. และ คมช. ในการพิจารณาเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งแล้วนำมาปรับปรุงเพื่อประกาศใช้ภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นภาระที่จะต้องทำหากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ผ่านประชามติ

                คืนวันที่ 19 สิงหาคม 2550 จึงเป็นคืนที่ผมนอนหลับสบายเป็นปกติดี เพราะร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

                หากร่างรัฐธรรมนูญเกิดไม่ผ่านประชามติ ผมคงหลับไม่สบายเท่าไร และความดันโลหิตอาจพุ่งสูงกว่าปกติอีกด้วย !

                                                                                สวัสดีครับ

                                                                      ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/121033

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 27 (3 ก.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 27 (3 ก.ย. 50)


“ละคร” กฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชนเข้าสู่ “ฉากที่สอง” มีเสียงสนับสนุนกว้างขวาง แต่เสียงคัดค้านก็ยังอยู่

ผมได้เคยเขียนไว้แล้วว่า เรื่องการมีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน อาจเปรียบเสมือนละครเรื่องยาวที่มีหลายฉาก

ฉากแรกจบลงด้วยการรอฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการทางกฤษฎีกาเกี่ยวกับผลกระทบของร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

ฉากที่สองเริ่มจากความเห็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งให้ ครม. เมื่อต้นเดือนสิงหาคม สรุปความเห็นคือ ร่าง พรบ. นี้อาจมีปัญหาบางประการ ครม. จึงให้กระทรวง พม. นำร่าง พรบ.ไปพิจารณาทบทวนแล้วเสนอเข้ามาใหม่

ต่อมาได้มีการนำเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 60 คน เมื่อ 15 สิงหาคม 2550 ซึ่งรัฐบาล (โดยผมเป็นตัวแทน) ได้ขอรับร่าง พรบ. ดังกล่าวมาพิจารณา ภายใน 30 วัน ก่อนรับหลักการ

กระทรวง พม. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อ 23 สิงหาคม 2550 โดยผมเป็นประธานการรับฟังความคิดเห็น และดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาช่วยเป็นผู้ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้ครับ

                          การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน

                                    “ร่วมคิดอย่างสร้างสรรค์ ร่วมมือกันเพื่อชุมชน”

                                                                                   วันที่ 23 สิงหาคม 2550

ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ

การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 95 คน ประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ 4 สมาคม  นักวิชาการ สมาชิกสภานิติบัญญัติ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

การสัมมนาเริ่มจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ชี้แจงที่มาของการรับฟังความเห็น ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนเป็นร่างกฎหมายเสนอโดยเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งกระทรวงเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จึงได้นำมาเสนอเป็นกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวง ซึ่งต่อมาเมื่อมีผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้จึงได้นำกลับมาปรึกษาหารือกันใหม่โดยเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนายสิน  สื่อสวน เลขาณุการประรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม ได้เสนอสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน  ฉบับที่ สภานิติบัญญัติได้นำไปปรับปรุงแก้ไข พร้อมกับประเด็นสำคัญที่ได้ปรับแก้ไปแล้ว

เวทีเปิดรับฟังความคิดเห็น  โดย  ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง   โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. สิ่งที่ชุมชนอยากจะเห็น และคิดว่ามีข้อดีอะไรจากการมี พ.ร.บ.ควรจะมีสภาองค์กรชุมชนหรือไม่
  2. รูปแบบและอำนาจหน้าที่ควรเป็นอย่างไร
  3. องค์ประกอบและที่มา
  4. วิธีการทำงานขององค์กรชุมชน
  5. อยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร
  6. อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง คือ ชุมชนรู้ศักยภาพของตนเองว่า อะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้ มีทรัพยากรอะไรอยู่บ้างมีจุดอ่อนอะไร ถ้าชุมชนเข้มแข็งทุกชุมชน ทุกตำบล ทุกจังหวัด จะทำให้ประเทศชาติเข้มแข็งด้วย ปลอดจากปัญหาต่างๆ ชุมชนเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ชุมชนก็สามารถจัดการตนเองได้  พึ่งตนเองได้ พัฒนาตนเองได้อย่างมีส่วนร่วม “ชุมชนเป็นฐาน ข้าราชการเป็นครู” การที่ชุมชนรู้ศักยภาพของตนเอง ก็เท่ากับเรารู้แนวทางในการพัฒนาตนเองให้ไปสู่เป้าหมายของตนเองได้ (พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง)
  7. อยากเห็นชุมชนสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง คิดค้นประเด็นที่เกี่ยวกับตนเอง มีพื้นที่ในการพูดคุย อยากเห็นวัฒนธรรมในการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ใช้ปัญญามีการจัดระบบและวาระการพูดคุย และประเด็นเหล่านั้นนำไปสู่การพัฒนาตนเอง  และนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน การจะทำอย่างนี้ ได้ไปสอดคล้องกับภารกิจที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน (คุณเอื้อจิต  นักวิชาการนิเทศศาสตร์)
  8. อยากเห็นชุมชนเข้มแข็งไม่ถูกครอบงำจากภายนอก จากการเมือง ให้เรียนรู้และคิดเอง การมีองค์กรรองรับ จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และถ้ามีกฎหมายก็จะยิ่งทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น (สมบูรณ์ สิงกิ่ง ผูนำชุมชน)
  9. อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และอยากเห็น อปท. เข้มแข็งด้วย หนุนเสริมกันและทำงานไปด้วยกันได้แต่ไม่ไว้ใจฝ่ายราชการ เพราะ อปท. มักถูกครอบงำจากมหาดไทย  การมีโครงสร้างใหม่ที่เป็นสภาองค์กรชุมชน ที่ผลักดันโดย พม. นั้น  เป็นที่กังวลว่า  พม. ก็กำลังจะไปครอบงำชุมชน จะทำให้ชุมชนไม่เข้มแข็งด้วยตัวเอง  (คุณมานพ  ปัทมาลัยนายกเทศมนตรี)
  10. อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และเป็นหนึ่งเดียวกันกับ อปท. รวมสภาองค์กรชุมชน และสภาท้องถิ่น เข้าด้วยกัน และไปอยู่ภายใต้สำนักนายกฯ ไม่ต้องสังกัดกระทรวงใด เพื่อปลอดจากครอบงำของกระทรวง (นายสนิท นายก อบต.ท้ายเหมือง)
  11. อยากเห็นชุมชนมีความภูมิใจในความเป็นชุมชน และสามารถใช้ความหลากหลายของกลุ่มกิจกรรมในชุมชนรวมถึงภูมิปัญญา  เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน  อยากเห็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีกิจกรรมหลากหลายมีการเติบโตทางธรรมชาติ และไปเชื่อมโยงกันเอง (คุณลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์)
  12. ความเห็นของผมถ้าต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งต้องมีสภาเดียว ทุกองค์กรจะเป็นสาขาของสภานั้นทั้งสิ้น และ ประชุมเดือนละครั้ง มีปัญหาเอาเข้าในที่ประชุมระดับหมู่บ้านมีสภาเดียว ระดับ ต. มีสภาฯเดียว และพูดกันรู้เรื่องทุกอย่างที่เข้าไปในหมู่บ้านสภานี้ต้องรู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากกรม กอง กระทรวง หรือ เอกชน สภาฯ ต้องรู้ เพื่อแก้ไขและทำความเข้าใจกัน แต่บ้านเมืองของเราทำคนละครั้ง และพูดกันคนละทีความสามัคคีก็แตกแยกออกไปไม่เข้าใจกัน(คุณชำนาญภูวิลัย  นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)
  13. อยากเห็นชุมชนมีความสุข ไม่เป็นหนี้ มีสุขภาพดี มีความอบอุ่น มีความสามัคคี มีความเป็นตัวของตนเอง อิสระในการคิดและทำอยากเห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำอย่างไรให้อำนาจส่วนกลางลดลง และให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น (คุณทิวาพร ศรีวรกุล เครือข่ายเกษตรกรรมกาญจนบุรี)
  14. ชุมชนต้องเข้มแข็งโดยตัวเอง เริ่มจากกิจกรรมของตัวเองและการปรึกษาหารือ เกิดจากกลุ่มเล็ก ๆ และค่อยรวมกันมาเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เข้มแข็งโดยกรอบและกติกาของกฎหมาย การเชื่อมโยงไปสู่ อปท. สามารถทำได้เลยโดยตรง ในขณะเดียวกัน องค์กรก็ต้องลงไปดูปัญหาเพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนด้วย (คุณสุเทพ นายก อบต.ตลิ่งชัน)

สรุปสิ่งที่อยากจะเห็น  2  แนวคิด

  1. ฝ่ายที่มาจากชุมชน หรือสนับสนุนชุมชนอยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง มีความสุข มีอิสระในการคิดและทำ มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้ความหลากหลายของกลุ่มกิจกรรมในการพัฒนาไปสู่การแก้ปัญหาชุมชนร่วมกันโดยอาศัยกลไก “สภาองค์กรชุมชน” เป็นเครื่องมือสำคัญ
  2. ฝ่ายที่มาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และ อปท.ก็เข้มแข็งด้วย โดยมองบนพื้นฐานขององค์กรและโครงสร้างว่าไม่ต้องแยกส่วนกันอยู่  ไม่ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของกระทรวงใด
  3. รูปแบบและอำนาจหน้าที่

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

  1. ไม่ควรแยกส่วนระหว่างชุมชนกับ อปท. เพราะ อปท.ก็มาจากชุมชน อยากเห็นชุมชนเป็นเจ้าของ อบต. เป็นเจ้าของท้องถิ่น โดยไม่ต้องไปตั้งใหม่เพราะหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วฝ่ายที่แพ้ก็จะลงใช้เวทีของสภาองค์กรชุมชน เพื่อมาคัดค้านการบริหารของ อปท. (คุณมานพ)
  2. มีเวทีหรือวงพูดคุยที่ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ มีสถานภาพที่ชุมชนได้รับการยอมรับตามกฎหมาย และกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเพื่อสนับสนุน อปท. ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่แพ้จากการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็จะได้มีเวทีการพูดคุยที่เป็นทางการ มีข้อเสนออย่างเป็นระบบต่อผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ใช่มุ่งไปที่คัดค้านแบบไม่มีเหตุผล (ชาติชาย เหลืองเจริญ)
  3. มีรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงใน อบต.ศรีสว่าง ที่องค์กรชุมชนร่วมกันคิดแผนงานกิจกรรมและทำเอง อบต.เพียงแค่หนุนเสริมและอำนวยความสะดวกให้ซึ่งช่วยลดงานของ อบต. ได้มาก  ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะขัดแย้งกันระหว่าง อปท. กับองค์กรชุมชน (คุณธนาทร นายก อบต.ศรีสว่าง)
  4. การที่จะมีกฎหมายสภาองค์กรชุมชน จะทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับ มีความชอบธรรมทางกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายก็อาจทำให้ชุมชนอ่อนแอได้ แต่เป็นกฎหมายที่ผู้ปกครองร่างขึ้นมา แต่ฉบับนี้ เกิดจากการริเริ่มและยกร่างโดยประชาชนเอง (คุณจินดา บุญจันทร์ ผู้นำชุมชน)

                5 . อยากให้มีองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ ไม่ต้องมีอำนาจ หรืองบประมาณ หรือสถานที่ทำงานที่หรูหรา

ประเด็น อ.เจิมศักดิ์

การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรชุมชนกับ อปท. จำเป็นหรือไม่ที่ชุมชนต้องเชื่อมโยงกันเองระหว่างกลุ่มที่ทำกิจกรรมเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชน ที่ใหญ่ขึ้น (หมายถึงตั้งองค์กร) แล้วจึงไปเชื่อมกับ อปท. โดย อปท. ต้องสร้างโครงสร้างไว้รองรับการเชื่อมโยง หรือว่าชุมชนไม่จำเป็นต้องเชื่อมกันเอง  แต่สามารถเชื่อมโยงโดยตรงกับ อปท. ได้เลย

ประเด็น หมอชูชัย ศุภวงษ์

  1. พ.ร.บ.สภาฯ เป็นไปตามทิศทางในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  2. อย่าทำทั่วประเทศเหมือนราชการ
  3. พื้นที่ภาคพลเมือง ขอให้เป็นภาคประชาชนจริงๆ ไม่ถูกแทรกแซงโดยการเมืองท้องถิ่นของกลุ่มผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ดังนั้นจะเขียนห้ามไว้ก็ดี

                ประเด็นของกลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.

  1. ไม่ไว้วางใจ พม. โดยคิดว่า พม.จะไปครอบงำชุมชน
  2. การมีหลายองค์กรในท้องถิ่นทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง ตามจุดมุ่งหมายของตนเอง นำไปสู่การแตกแยก และเป็นเครื่องมือของการเมือง
  3. กลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จะไปร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เพื่อเข้ามาคัดค้านฝ่ายบริหาร
  4. ชุมชนคือท้องถิ่น เป็นเจ้าของท้องถิ่น ดังนั้น ควรนำความรู้ความสามารถของชุมชนที่มีอยู่มากมายไปเติมให้ อปท.จะดีกว่า

อ.ปาริชาติ

  1. มีการพูดถึงระหว่างหลักการกับปรากฎการณ์จริงในสังคม ซึ่งอาจไม่ตรงกัน
  2. ทำความเข้าใจว่าชุมชนมีความแตกต่างหลากหลาย ต้องเคารพความหลากหลาย เพื่อให้ชุมชนมีที่ยืน เวลาพูดถึงชุมชนอย่าเหมารวมว่าชุมชนเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ในชุมชนเองก็มีผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย อำนาจแตกต่างกัน ความต้องการแตกต่างกัน ดังนั้น อย่าคิดว่าตนเองเข้าใจชุมชนจากสมมติฐานของตนเอง
  3. 3. พ.ร.บ.นี้ (หรือจะเรียกว่าเป็นกลไกอะไรก็ตาม) จะเป็นเวทีที่สร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน จากกิจกรรมและประสบการณ์จริงที่ชุมชนดำเนินการบนวิถีชีวิต ตอบสนองความต้องการ ทำให้คนที่เข้ามานั้นได้ฝึกฝนในด้านความคิด การยอมรับฟังผู้อื่น ยอมรับการบริหารจัดการทางการเมือง ให้มีการตรวจสอบจากสังคมได้ เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการและการวางแผน
  4. ควรมาตั้งต้นทบทวนความต้องการที่แท้จริงว่าต้องการให้มีชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ตั้งต้นจากกฎหมาย เพราะทุกวันนี้ชุมชนถูกรุมล้อมด้วยกฎหมาย

อ.เจิมศักดิ์

  1. อบต. เป็นองค์กรการเมืองในระดับท้องถิ่นที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง ไม่แข็งขัน ไม่ต่างอะไรจากการเมืองระดับชาติ ที่สู้กันเมื่อมีฝ่ายชนะฝ่ายแพ้ก็จะทำให้ชุมชนแตกแยก ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ก็จะมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อยห้ำหั่นกัน ผลัดกันหาผลประโยชน์จากงบประมาณ ไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ
  2. อยากเห็น อบต.เป็นอิสระจากมหาดไทยและราชการ และเป็นองค์กรของชุมชนจริงๆ ปัญหาคือ ชุมชนก็มีการรวมตัวกันตามธรรมชาติอยู่แล้วหลากหลาย ที่ยึดโยงกันด้วยกิจกรรม ไม่ได้ยึดโยงด้วยรูปแบบ เหมือน อบต. ที่ยึดโยงด้วยการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจึงจะเห็น อบต.ประสานกับกลุ่มกิจกรรม ตรงนี้จะทำให้มีการทำงานแข็งขัน มีกลุ่มกิจกรรมเป็นฐาน และในที่สุด อบต.จะทำงานแบบนักการเมือง ทำอย่างไรจึงจะหลอมรวมกัน โดยมีกลุ่มกิจกรรมเป็นผู้ช่วย ประกอบกับกลุ่มกิจกรรมในชุมชนก็อยากมีที่ยืนทางกฎหมาย มีที่รับรอง ในขณะเดียวกันไม่มีกฎหมายชุมชนก็ไปต่อ แต่ถ้ามีกฎหมายก็จะทำให้เขามีจุดยืนมากขึ้นในสังคม การปรับใหม่ที่ สนช. ปรับมาค่อนข้างอ่อนมาก เช่น มาตรา 18 เขียนเหมือนไม่ได้เขียน ไม่ต้องมีกฎหมายก็ทำได้ ซึ่งของใหม่ที่ปรับมานั้น อบต. เทศบาล ไม่น่าจะรู้สึกเดือดร้อนอะไร ดูเหมือนว่าเป็นกฎหมายรับรองสถานภาพเฉยๆ ดังนั้นทำอย่างไรให้มีการหลอมรวมกันได้

รองนายกรัฐมนตรี  สรุปปิดท้ายว่า

  1. กระทรวงรับร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณา เมื่อมีประเด็นที่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องไม่เห็นด้วย ก็สามารถปรับแก้หรือตัดออกได้ เช่น การกำหนดฝ่ายเลขานุการ ไม่ระบุว่า เป็น พอช. ก็ได้ การกำหนดกระทรวงที่รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่ใช่ พม. ก็ได้ เป็นต้น
  2. จะจัดให้มีคณะทำงานวงเล็กไปช่วยปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้โดยนำความเห็นของวันนี้ไปประกอบ  เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้วกระทรวงจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปซึ่งคณะทำงานขอให้มีทั้งผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่นและท้องที่ นักวิชาการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนกระทรวง พม.

“ละคร” เรื่องกฎหมายว่าด้วย สภาองค์กรชุมชนในฉากที่สองนี้ ยังมีต่อแน่นอนครับ แต่วันนี้ผมขอจบการเล่าเรื่องเพียงเท่านี้ก่อน อีกไม่กี่วันจะเล่าตอนต่อไปครับ

สวัสดีครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/124687

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50)


“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน ฉากที่ 2 (ต่อ) / ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. …… (ฉบับล่าสุด)/  ถาม-ตอบ สาระสำคัญของร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน ในฉากที่ 2 นี้ คงต้องแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 มีบทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหลัก ส่วนตอนที่ 2 เป็นตอนที่เกี่ยวโยงกับบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสำคัญ

ในตอนที่ 1 ของฉากที่ 2 นี้ หลังจากนี้ หลังจากที่กระทรวง พม. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 50 แล้วตั้งคณะทำงานร่วมหลายฝ่ายขึ้นมายกร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ฉบับใหม่ โดยพยายามปรับจากร่างของ สนช. ให้สอดคล้องกับความเห็นคิดที่ได้รับฟังมา จึงได้ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. … ฉบับล่าสุด ดังนี้

                                                                                บันทึกหลักการและเหตุผล

                                                                ประกอบร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน

                                                                                                พ.ศ. ….

                                                                             ………………………………

                                                                                              หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน

                                                                                                เหตุผล

ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศน์ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสถานภาพ สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                     ร่าง

                                                                                        พระราชบัญญัติ

                                                                                      สภาองค์กรชุมชน

                                                                                                  พ.ศ. ….

                                                                               …………………………

                                                                         …………………………………………………………

                                                                      …………………………………………………………

                                                                      …………………………………………………………

                ………………………………………………………………………………………………………………………………………..

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน     

                ……………………………………………………………………………………………………………

…………………………
                มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….”

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน

“องค์กรชุมชน” หมายความว่า กลุ่มประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาชุมชน หรือในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอันดีร่วมกัน โดยมีระบบการบริหารจัดการตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะจัดตั้งกันขึ้นเอง หรือโดยการแนะนำหรือสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน

“ผู้แทนองค์กรชุมชน” หมายความว่า ประธานกรรมการขององค์กรชุมชน หรือหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นผู้นำขององค์กรชุมชนในทำนองเดียวกัน

“หมู่บ้าน” หมายความว่า หมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงชุมชนที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของทางราชการ

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเขตพื้นที่ที่กฎหมายเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

“จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                หมวด ๑

                                                                                     สภาองค์กรชุมชน

                                                                                      …………………………

มาตรา ๕  การจัดตั้ง สภาองค์กรชุมชนให้พิจารณาถึงความพร้อมและเห็นสอดคล้องต้องกันของกลุ่มประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

                การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ให้ผู้แทนองค์กรชุมชนที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งไว้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการขององค์กรชุมชนนั้น ก่อนวันประชุมปรึกษาหารือร่วมกันตามวรรคสาม

ในการประชุมจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  ต้องมีผู้แทนขององค์กรชุมชนมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรทั้งหมดตามวรรคสอง จึงเป็นองค์ประชุม และต้องเห็นสอดคล้องต้องกันให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของจำนวนองค์กรชุมชนทั้งหมดตามวรรคสอง

เมื่อได้จัดตั้งแล้ว ให้จดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์ชุมชนต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการของ สภาองค์กรชุมชน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนั้นรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบ

มาตรา ๖ เมื่อที่ประชุมปรึกษาหารือผู้แทนองค์กรชุมชนตามมาตรา ๕ เห็นสอดคล้องกันให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  ให้ที่ประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานสภาองค์กรชุมชนอย่างน้อย ดังนี้

                (1) องค์ประกอบ และจำนวนสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

(2) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน โดยคำนึงถึงความ หลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์กรชุมชนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

(3) ตำแหน่งหน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบในสภาองค์กรชุมชน

(4) วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

(5) การประชุมสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

(6) การยุบเลิกสภาองค์กรชุมชน

โดยผู้แทนองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรชุมชนที่จดแจ้งเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน

หากหมู่บ้านหรือชุมชนใดได้มีการดำเนินงานในรูปแบบสภาองค์กรชุมชน และมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาองค์กรชุมชน  ให้สามารถดำเนินการต่อเนื่องต่อไปได้โดยได้รับการรับรองจากที่ประชุมของสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรชุมชน

มาตรา ๗ ให้สภาองค์กรชุมชน มีภารกิจดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในเกิดความเข้มแข็งและสมาชิกองค์กรชุมชนรวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไปใน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุน ให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ

(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น รวมทั้งการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

(๔) เสนอแผนชุมชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการ จัดทำแผนพัฒนาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๕) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับ การจัดทำบริการสาธารณะ ของหน่วยงานของรัฐ  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๖) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อ การดำเนิน โครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

(๗) ประสานและร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนอื่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๘) วางระเบียบและข้อบังคับในการดำเนินกิจการของสภาองค์กรชุมชน

(๙) จัดทำรายงานการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

(๑๐)  เสนอรายชื่อสมาชิกสภาองค์กรชุมชนให้เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน

มาตรา ๘ ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๗ สภาองค์กรชุมชนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจแทนก็ได้  โดยคำนึงถึงความเหมาะสม คล่องตัว ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และประหยัดในการดำเนินงาน

ในการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบ  ข้อบังคับ และภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

มาตรา ๙  การส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงานและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน  ให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของสภาองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หมวด ๒

การประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน

………………………….

                มาตรา ๑๐  ให้มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเมื่อ

(๑) สภาองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสภาองค์กรชุมชนทั้งหมดในจังหวัดเห็นควรให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาและเสนอแนะเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันอยู่ในภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

(๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นเป็นการสมควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของสภาองค์กรชุมชน ในการจัดทำหรือแก้ไขแผนพัฒนาจังหวัด หรือความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

มาตรา ๑๑ ในการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น และลงมติ

(๑) ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชน

(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดซึ่งผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑) คัดเลือกให้เชิญมาร่วมประชุมมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑)

หลักเกณฑ์การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมของผู้แทนตาม (๑)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/126812

<<< กลับ