คำนิยมในหนังสือแปล “นายธนาคารเพื่อคนจน” โดย Muhammad Yunus แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล (เกี่ยวกับ “กรามีนแบงก์” ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก)

คำนิยมในหนังสือแปล “นายธนาคารเพื่อคนจน” โดย Muhammad Yunus แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล (เกี่ยวกับ “กรามีนแบงก์” ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก)


คำนิยม

ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติหลายรางวัล ที่โดดเด่นที่สุดคือ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งเขาได้รับในปี ค.ศ. 2006 หรือ พ.ศ. 2549 อ่านเพิ่มเติม “คำนิยมในหนังสือแปล “นายธนาคารเพื่อคนจน” โดย Muhammad Yunus แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล (เกี่ยวกับ “กรามีนแบงก์” ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก)”

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม (ฉบับที่ 1 วันที่ 20 พ.ย. 2549)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม (ฉบับที่ 1 วันที่ 20 พ.ย. 2549)


 นึกถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม

                 เวลา 6 สัปดาห์ผ่านไปเหมือนมีปีกบิน !

ผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 โดยไม่คาดคิด คาดฝัน หรือประสงค์อยากมาเป็น แต่ด้วยสถานการณ์พิเศษและด้วยเงื่อนไขที่มีเหตุผล จึงรับมาทำหน้าที่นี้

การรับทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการะทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้ผมนึกถึง “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” คือ ผู้คนทั้งหลายที่มีบทบาทและมีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและพัฒนา พัฒนาสังคมสังคมพร้อมกับการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์หรือความมั่นคงทางชีวิต อันถือเป็นภารกิจของกระทรวงนี้

“ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ในความคิดของผมประกอบด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงหรือในสังกัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นั่นคือข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่สังกัดสำนักงานรัฐมนตรี (สร.) สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

แต่พร้อมกันนั้น ผมยังถือว่า “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ย่อมรวมถึงบุคคล กลุ่มคน องค์กร หน่วยงาน เครือข่าย อีกมากมาย ที่มีบทบาทหรือมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
นั่นคือ รวมถึง ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ภาคประชาสังคมในระดับต่างๆ ภาคธุรกิจในระดับต่างๆ ภาครัฐและส่วนกลาง ฝ่ายการเมือง ฝายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และประชาชนทั่วไป

ดังนั้น ถ้าจะถือว่า “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” นั้น รวมถึงทุกคนทุกฝ่ายทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทุกพื้นที่ ในสังคมไทยก็น่าจะได้ 

                ความ “นึกถึง” ของผม หมายความว่า “อยากสื่อสารด้วย” ผมจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ เริ่มฉบับที่ 1 และจะเขียนต่อๆ ไปเป็นระยะๆ ลงใน Weblog : paiboon.gotoknow.org และจะเปิดดูได้จาก www.m-society.go.thอีกด้วย

หาก “ญาติมิตร” ผู้ใดประสงค์จะสื่อสารกับผม ก็ทำได้ผ่าน Weblog ดังกล่าว หรือผ่านช่องทางอื่นๆ ที่สะดวก ผมจะพยายามรับรู้การสื่อสารของ “ญาติมิตร” ให้ได้ในระดับที่เหมาะควรและเป็นไปได้ แต่คงไม่สามารถสื่อสารตอบกลับเป็นรายบุคคลได้ ที่พอทำได้คือการสื่อสารตอบกลับโดยรวมๆ เป็นระยะๆ

รัฐมนตรีควรเน้นการคิดค้นและขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ได้มีผู้อาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คำแนะนำว่า รัฐมนตรีต้องทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นหลัก ไม่ควรใช้เวลาไปกับการทำพิธีต่างๆ การรับแขกส่งแขก และแม้แต่การแก้ปัญหาปลีกย่อยทั้งหลายให้มากเกินไป หรือควรทำให้เรื่องเหล่านั้นให้น้อยที่สุดนั่นเอง เพื่อจะได้มีเวลามากพอสำหรับทำเรื่องสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากและอย่างแท้จริงต่อประชาชนและต่อประเทศชาติโดยรวม (คำแนะนำนี้ตรงกันกับความคิดของผมเองโดยผมได้เคยให้ความเห็นทำนองเดียวกันหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผมเป็นนักพัฒนาสังคมอิสระ)

เรื่องสำคัญ ที่กล่าวถึงนั้น สำหรับกระทรวงที่ผมรับผิดชอบ คือการคิดค้นและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาสังคมและเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ นั่นเอง

                ดังนั้น นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีผมจึงได้ใช้ความพยายามร่วมกับทีมงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกกระทรวงฯ อีกจำนวนมาก ในการคิดค้นและขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์

ซึ่งได้สรุปเป็น “ภารกิจสำคัญ” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะมุ่งดำเนินการ ดังนี้

1.   “ภารกิจเร่งด่วน” มี 4 ด้าน

1.1 การร่วมบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพัฒนาอันสืบเนื่องจากอุทกภัยครั้งใหญ่

1.2 การร่วมคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                                1.3 การร่วมแก้ปัญหาความแตกแยกพร้อมกับการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย

1.4 การร่วมแก้ปัญหาความทุจริตพร้อมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ

2.   “ภารกิจหลัก” ประกอบด้วย “3 ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” ดังนี้  

2.1 ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (ช่วยเหลือเกื้อกูลและดูแลกัน)

2.2 ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง (ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมเข้มแข็ง)

2.3 ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม (มีความถูกต้องเป็นธรรมและดีงาม)

3.   “ภารกิจสนับสนุน” ได้แก่

3.1 การพัฒนาองค์กรและระบบสนับสนุนที่อยู่ในสังกัดกระทรวงและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

3.2 การร่วมพัฒนาองค์กรและระบบสนับสนุนที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ (Roadmap) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ภารกิจทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นจะปรากฏอยู่ใน“แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ” (Roadmap)ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะมีรายละเอียดของภารกิจแต่ละหมวดในรูปของมาตรการสำคัญต่างๆ ที่ระบุลักษณะของ มาตรการ เป้าหมาย กำหนดเวลา และผู้รับผิดชอบหลัก

“แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ ” (Roadmap) นี้จะเปิดเผยต่อผู้เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณะได้รับทราบและมีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมดำเนินการด้วยในลักษณะ “พหุปฏิสัมพันธ์” 

                ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป “แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ” (Roadmap) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิรูปสังคม” ที่ระบุในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 จะมีการปรับปรุงเปลี่ยน แปลงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในรายละเอียดตามเหตุตามผลอันเนื่องจากสถานการณ์ที่เคลื่อนตัวไปพร้อมๆกับ “พหุปฏิสัมพันธ์” ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

สอดคล้องกับหลักคิดของผมที่ว่า “จะปฏิรูปสังคมต้องให้สังคมร่วมปฏิรูป จะพัฒนาสังคมต้องให้สังคมร่วมพัฒนา”

                                                                                                                สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/61310

<<< กลับ

หนังสือ “คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์” เล่มโปรด ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.พม.

หนังสือ “คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์” เล่มโปรด ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.พม.


  (ข่าวลงใน นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 02:06 น. หน้า 8)

                ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) นับเป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบอ่าน หนังสือธรรมะ 

                ตั้งแต่อายุ 20 ปี เริ่มจาก คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ ของ พุทธทาสภิกขุ และอ่านต่อมาอีกหลายรอบ ให้เข้าใจในเนื้อหามากขึ้น จนกลายเป็น หนังสือเล่มโปรด ในที่สุด 

                รมต.ไพบูลย์ ชอบหนังสือเล่มนี้มาก เพราะอ่านแล้วทำให้เข้าใจและรู้ถึงหลักของพุทธศาสนา ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงเรื่องของนิพพาน และนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง นำหลักธรรมะมาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต เมื่อมาเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำหลักธรรมะมาใช้ในการบริหาร เพื่อให้การทำงานมีความเป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งข้าราชการและชาวบ้าน หากใครมาเข้าเยี่ยมคารวะหรือสื่อมวลชนขอสัมภาษณ์ในโอกาสรับตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็แจกหนังสือ มนต์พิธีแปล รวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังษี วัดอรุณราชวราราม ให้ด้วย 

                อยากให้เด็กๆ อ่านหนังสือกันมากๆ เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก แต่ต้องเลือกรู้จักหนังสือที่ดีมาอ่าน เมื่ออ่านแล้วก็จะได้ความรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ รมต.ไพบูลย์ กล่าวไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) นับเป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบอ่าน หนังสือธรรมะ 

                ตั้งแต่อายุ 20 ปี เริ่มจาก คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ ของ พุทธทาสภิกขุ และอ่านต่อมาอีกหลายรอบ ให้เข้าใจในเนื้อหามากขึ้น จนกลายเป็น หนังสือเล่มโปรด ในที่สุด 

                รมต.ไพบูลย์ ชอบหนังสือเล่มนี้มาก เพราะอ่านแล้วทำให้เข้าใจและรู้ถึงหลักของพุทธศาสนา ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงเรื่องของนิพพาน และนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง นำหลักธรรมะมาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต เมื่อมาเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำหลักธรรมะมาใช้ในการบริหาร เพื่อให้การทำงานมีความเป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งข้าราชการและชาวบ้าน หากใครมาเข้าเยี่ยมคารวะหรือสื่อมวลชนขอสัมภาษณ์ในโอกาสรับตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็แจกหนังสือ มนต์พิธีแปล รวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังษี วัดอรุณราชวราราม ให้ด้วย 

                อยากให้เด็กๆ อ่านหนังสือกันมากๆ เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก แต่ต้องเลือกรู้จักหนังสือที่ดีมาอ่าน เมื่ออ่านแล้วก็จะได้ความรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ รมต.ไพบูลย์ กล่าว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/62863

 <<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 2 (4 ธ.ค.49)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 2 (4 ธ.ค.49)


เยี่ยมเยียนเรียนรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน

จาก “3 ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” อันได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (2) ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และ (3) ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม กระทรวงฯ (พม.-พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ได้ลงมือขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” เป็นอันดับแรก

ได้แนะนำให้ “พมจ.” (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) เป็นผู้ประสานส่งเสริมสนับสนุนให้ “องค์กรชุมชน” “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และผู้สามารถมีบทบาทสำคัญอื่นๆในท้องถิ่น ร่วมกันค้นหา “ผู้ถูกทอดทิ้ง” หรือ “ผู้ยากลำบากพิเศษ” ในท้องถิ่นของตน แล้วช่วยกัน “ดูแล” ตามที่เห็นว่าสมควร

การ “ดูแล” นี้คงจะมีทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าระยะสั้น และการสนับสนุนให้ “ผู้ถูกทอดทิ้ง” หรือ “ผู้ยากลำบากพิเศษ” นั้นๆมีความเข้มแข็งสามารถมากขึ้นในระยะยาว

ผมได้เดินทางไป “เยี่ยมเยียนเรียนรู้” (และ “พัฒนาร่วมกัน” หรือ “ร่วมคิดร่วมพัฒนา”) กับ พมจ. และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ โดยอาศัยโอกาสที่ พมจ.จัดการประชุมสัมมนาหารือเรื่อง “การขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน” ณ จังหวัดต่างๆดังนี้

  • จังหวัดลำปาง (16 พ.ย. 49)
  • จังหวัดขอนแก่น (20 พ.ย. 49)
  • จังหวัดสงขลา (25 พ.ย. 49)
  • จังหวัดจันทบุรี (26 พ.ย. 49)

และเตรียมจะไป “เยี่ยมเยียนเรียนรู้” อีก 2 ครั้ง ที่จังหวัดพิษณุโลก (29 พ.ย. 49) และจังหวัดสกลนคร (30 พ.ย. 49) แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่สามารถไปได้เพราะต้องเข้าประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเกี่ยวเนื่องกับการนำร่าง พรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หรือเรื่อง “หวย 2 ตัว 3 ตัว”) เข้าสภาฯและผมต้องเข้าประชุมพร้อมกับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนผมเป็น “กองหนุน” เนื่องจากได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลเรื่อง “การส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข” (หรือ “การส่งเสริมให้ลดละเลิกอบายมุข”) อันถือได้ว่ารวมอยู่ในหน้าที่ของกระทรวง พม.ที่ควรทำอยู่แล้ว

สำหรับที่พลาดการไป “เยี่ยมเยียนเรียนรู้” ที่จังหวัดพิษณุโลก และสกลนครนั้น ผมตั้งใจและวางแผนจะไปที่จังหวัดทั้งสองนี้ หลักจากเวลาประมาณ 1 เดือนได้ล่วงไปแล้ว โดยจะเป็นการไป “ติดตามศึกษา” การดำเนินการที่ได้ทำไปแล้วเกี่ยวกับ “การขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน” ในจังหวัดทั้งสอง แถมด้วยในจังหวัดรอบๆอีกประมาณ 12 จังหวัด ต่อการไปเยี่ยม 1 ครั้ง ซึ่งจังหวัดเหล่านั้นอยู่ในเขตรับผิดชอบของ “สสว.” (สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ) จำนวน 2 เขต ไปเยี่ยม 2 ครั้งก็คลุมพื้นที่ สสว. รวม 4 เขต หรือประมาณ 24 จังหวัด

“เบญจภาคี” สู่ “พหุพลังบูรณาการ” เพื่อการพัฒนาสังคม

การขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” คงจะดำเนินการในพื้นที่หรือท้องถิ่น “ปฐมภูมิ” เป็นเบื้องต้น

พื้นที่หรือท้องถิ่น “ปฐมภูมิ” คือ “ตำบล” และ “เขตเทศบาล” (หรือ “เมือง”) ซึ่งมี “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ระดับพื้นฐานรับผิดชอบดูแลจัดการ อันได้แก่ “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) (สำหรับพื้นที่ตำบล) และ “เทศบาล” (สำหรับพื้นที่ “เขตเทศบาล” หรือ “เมือง”)

พร้อมกันนั้น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ก็สามารถและควรจะทำในระดับพื้นที่ “ทุติยภูมิ” นั่นคือในระดับ “จังหวัด” ด้วย

สำหรับการดูแลจัดการในพื้นที่จังหวัดนี้จะซับซ้อนกว่าพื้นที่ปฐมภูมิ กล่าวนั่นคือ มีผู้รับผิดชอบดูแล 2 ระบบอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ระบบที่หนึ่งได้แก่ “ราชการส่วนภูมิภาค” ซึ่งประกอบด้วย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และข้าราชการที่เป็นตัวแทนของกระทรวงและกรมต่างๆ และมาสังกัดที่จังหวัดตลอดไปถึงที่อำเภอ และระบบที่สอง คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในรูปของ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อบจ.)

แต่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ “ปฐมภูมิ” หรือพื้นที่ “ทุติยภูมิ” พลังสำคัญในการขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” (หรือ “ภารกิจสังคมไม่ทอดทิ้งกัน”) น่าจะประกอบด้วย

  1. ชุมชนท้องถิ่น (รวมถึง “องค์กรชุมชน” และกลไกต่างๆของชุมชน)
  2. องค์กรประครองส่วนท้องถิ่น (อบต. หรือเทศบาล หรืออบจ.)
  3. หน่วยงานของรัฐ (ที่มีบทบาทในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง)
  4. ประชาสังคม (ที่มีบทบาทในพื้นที่ รวมถึงหน่วยศาสนา มูลนิธิ สมาคม กลุ่มคน เครือข่าย ฯลฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวม)
  5. ธุรกิจ (ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับพื้นที่)

ถ้ามีครบทั้ง 5 ส่วนดังกล่าวข้างต้น ผมจะเรียกว่าเป็น “เบญจภาคี” ซึ่งควรจะมีพลังมาก และเป็นพลังที่บูรณาการกันหลายฝ่าย

ผมจึงขอใช้อีกคำว่าเป็น “พหุพลังบูรณาการ” รวมแล้วเป็น “เบญจภาคี” ซึ่งนำสู่ “พหุพลังบูรณาการ” เพื่อการพัฒนาสังคม (และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์)

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/65203

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 3 (12 ธ.ค.2549)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 3 (12 ธ.ค.2549)


หนึ่งสัปดาห์ควรพักหนึ่งวัน

                ผมได้คิดไว้ในใจว่า ร่ายกายของคนเรา รวมถึงสมองและจิตใจ ควรได้รับการพักผ่อนเป็นระยะๆ ประมาณว่าในหนึ่งสัปดาห์น่าจะได้พักผ่อนสักหนึ่งวัน ซึ่งคงจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์

                กระทรวง พม. เองก็ได้ส่งเสริมให้วันอาทิตย์เป็น “วันครอบครัว” ซึ่งน่าจะหมายถึงเป็นการพักผ่อนจากภารกิจการงานไปด้วยในตัว

                ผมเองได้พยายามจะมี “วันพักผ่อน” และหรือ “วันครอบครัว” ในวันอาทิตย์หรือวันเสาร์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง 

                ก็ยังดีนะครับที่ได้พยายาม และทำได้บ้าง ไม่ถึงกับว่าไม่ได้ทำเลย

                (ที่พูดเช่นนี้คงเป็นการปลอบใจตัวเองกระมัง !)

                ยิ่งเมื่อมารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งย่อมมีภารกิจมากกว่าเมื่อยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ผมก็ยิ่งตั้งใจพยายามจะมีวันพักผ่อนสักสัปดาห์ละหนึ่งวัน

                จะได้ผ่อนคลาย ทำอะไรสบายๆ อยู่กับครอบครัว (ถ้าครอบครัวอยู่ !) อ่านหนังสือแบบไม่เคร่งเครียด และเขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม”

                แต่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว เป็นรัฐมนตรีมาถึงสองเดือน ยังไม่สามารถมี “วันพักผ่อน” ได้ครบทุกสัปดาห์

                เช่นเมื่อวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. ตื่นแต่เช้ามืดตีห้ากว่า เดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บินไปหาดใหญ่ เยี่ยมศึกษาชุมชน 2 แห่ง ร่วมประชุมสัมมนาขับเคลื่อน “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” สำหรับจังหวัดในภาคใต้ ต่อด้วยการประชุมกับ พมจ. ของจังหวัดในภาคใต้และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมหลายสิบคน ทานอาหารค่ำ แล้วมาสนามบินหาดใหญ่ บินกลับมากรุงเทพฯ ถึงบ้านเอาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง

                รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ย. ตื่นแต่เช้ามืดอีก นั่งรถไปจังหวัดจันทบุรี ร่วมประชุมสัมมนาขับเคลื่อน “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” สำหรับจังหวัดในภาคกลาง รวมถึงการชมนิทรรศการที่เขาจัดแสดงไว้มากและดี แล้วประชุมร่วมกับ พมจ. และเจ้าหน้าที่อื่นๆจากจังหวัดในภาคกลาง นั่งรถกลับ กทม. ทานอาหารค่ำระหว่างทาง กลับถึงบ้านประมาณ 4 ทุ่ม

                สองวันหลังจากนั้น ในวันจันทร์ที่ 27 และวันอังคารที่ 28 พ.ย. ภารกิจค่อนข้างมากและเร่งรีบ ทานอาหารเร็วเกินไปและมากเกินไป โดยเฉพาะในวันอังคารที่ 28 ทำให้รู้สึกแน่นอืดไม่สบายเป็นไข้น้อยๆ ตกกลางคืนนอนหลับๆตื่นๆ ต้องลุกขึ้นเดินไปมาและไปนั่งหลับบนโซฟาสองครั้งเพื่อบรรเทาอาการท้องแน่นอืด

                (ญาติมิตรที่รู้จักผมอย่างใกล้ชิดหน่อย คงพอจำได้ว่าผมได้รับการ “ผ่าตัดใหญ่” เมื่อปี 2547 (วันที่ 9 กันยายน ใช้เวลาผ่าตัดเกือบ 9 ชั่วโมง) อวัยวะภายในท้องผมถูกตัดไป 4 อย่าง คือ ตับอ่อนถูกตัดไป 30% กระเพาะถูกตัดไป 30% ท่อน้ำดีพร้อมถุงน้ำดีถูกตัดไป และ Duodenum หรือส่วนของลำไส้เล็กที่ออกจากกระเพาะถูกตัดไปประมาณ 1 ฟุต ดังนั้น สมรรถภาพของผมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและย่อยอาหารจึงไม่เหมือนปกติทีเดียว)

                วันพุธที่ 29 จึงเป็นวันที่ผมยังรู้สึกเหนื่อยเพลียไม่ค่อยสบาย ซึ่งตรงกับวันที่ผมต้องไปนั่งประชุมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติคู่กับท่านรองนายาฯ มรว. ปรีดิยาธร เพื่อเตรียมเผื่อจะต้องชี้แจงเกี่ยวกับ “แผนการรณรงค์ให้ลดละเลิก อบายมุข” อันเกี่ยวเนื่องกับการเสนอร่าง “พรบ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล”

                วันนั้น ผมรู้สึกเหนื่อยและง่วงนอนเป็นกำลัง ผมคงพยายามแก้ง่วงด้วยการเอานิ้วกดในตาและเอามือคลุมหน้าเป็นบางช่วง

                วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงรูป มรว.ปรีดิยาธร และผมในหน้า 1 เห็นผมกำลังเอามือคลุมหน้าพอดี และมีคำบรรยายทำนองว่าฝ่ายรัฐบาลคงจะเคร่งเครียดมากจากการอภิปรายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ !

                เป็นความจริงที่วันนั้นสมาชิก สนช. จำนวนมาก อภิปรายให้เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลเกี่ยวกับการออกหวย 2 ตัว 3 ตัว

                แต่ผมไม่ได้เคร่งเครียดอันเนื่องจากคำอภิปรายของสมาชิก สนช. ดอก

                ผมเหนื่อยเพลียไม่ค่อยสบายและง่วงนอนจากการไม่ได้พักผ่อนให้เพียงพอและไม่ได้ดูแลสุขภาพให้ดีพอต่างหาก !

                ดังนั้น ผมจึงตั้งใจกับตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า จะต้องพยายามมี “วันพักผ่อน” ประมาณสัปดาห์ละ 1 วันให้ได้

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/67011

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 4 (4 ม.ค. 2550)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 4 (4 ม.ค. 2550)


สวัสดี “สันติ” ปีใหม่ 2550 !

                เหตุการณ์ลอบวางระเบิด ให้ระเบิดในเวลาไล่เลี่ยกัน ถึง 8 จุด ในกรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน และบาดเจ็บสาหัสถึงเล็กน้อยอีก กว่า 40 คน นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ที่ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ในระดับนี้ เกิดขึ้นในส่วนใจกลางประเทศ

                เป็นการจงใจทำร้ายบุคคลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับความขัดแย้งหรือการต่อสู้ระหว่างค่ายหรือคณะซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นค่ายใดคณะใด

                เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะโดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นผู้รับเคราะห์กรรมถึงขนาดบาดเจ็บล้มตาย

                เรื่องเช่นนี้ ได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าเห็นใจประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง แต่เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูว่าเป็นการจำกัดพื้นที่และมีประเด็นเฉพาะ

                ส่วนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นการไม่จำกัดพื้นที่และไม่จำกัดประเด็นกันแล้ว

                ไม่รู้ว่าใครมุ่งเอาชนะใคร ด้วยเหตุอะไร เพื่ออะไร และเมื่อทำอย่างเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ได้แล้ว อาจทำอีกเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้

                อนิจจา ! สังคมไทยได้เข้าสู่ภาวะวังวนของความรุนแรงแบบไร้ขอบเขตแล้วหรือนี่ ? นับเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดอย่างสุดๆ !

                ผมและคณะจากกระทรวง พม. (ท่านปลัดวัลลภ ฯลฯ) ได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล รวม 16 คน ณ โรงพยาบาล 5 แห่ง เป็นคนวัยทำงาน 11 คน นักศึกษา 2 คน เด็กนักเรียน 1 คน และชาวต่างประเทศ 2 คน เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2550

                กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นนี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงได้แก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สังกัดกระทรวงมหาดไทย) กระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งมีหน่วยรักษาพยาบาลอยู่ในสังกัด) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีนี้คือกรุงเทพมหานคร) เป็นหลัก

                ดังนั้น ผมและคณะจากกระทรวง พม. จึงไปเยี่ยมเพื่อแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และเป็นกระทรวงที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนให้สังคมไทยพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมที่เข้มแข็ง สังคมที่มีสันติสุข และประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต (หรือมี “ความมั่นคงของมนุษย์” นั่นเอง)

                การไปเยี่ยม ทำให้ได้เห็นได้สัมผัสและรู้สึกได้ชัดเจนถึงความทุกข์ทรมานของผู้ประสบเคราะห์กรรมที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นอะไรด้วยเลยเกี่ยวกับความขัดแย้งหรือการขับเคี่ยวต่อสู้ของกลุ่มบุคคลที่วางแผนดำเนินการอันร้ายแรงครั้งนี้

                ในใจผมจึงอยากประณามกลุ่มคนที่วางแผนดำเนินการวางระเบิดเวลาเมื่อคืน 31 ธ.ค. 49 เพราะเป็นการกระทำที่โหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ไร้น้ำใจ และไร้เหตุผล โดยสิ้นเชิง เว้นแต่เป็นเหตุผลในลักษณะของความเห็นแก่ประโยชน์ของฝ่ายตนโดยไม่อนาทรต่อความเสียหายแม้ถึงชีวิตที่เกิดแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์

                ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องตั้งสติ มองให้ลึกและไกล

                ทำให้เห็นว่า สังคมไทย เคยได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งความอยู่เย็นเป็นสุข มีความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นมิตรไมตรี ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

                เราไม่ใช่สังคมแห่งความรุนแรง เราไม่แบ่งข้างต่อสู้ห้ำหันกันแบบเอาเลือดเอาเนื้อ โดยเฉพาะเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์

                เหตุการณ์ 31 ธันวาคม 2549 ทำให้ผมต้องคิดใหม่ ตั้งสติใหม่ ตั้งปณิธานใหม่

                ผมคิดว่า จะต้องร่วมมือกันระหว่างผู้เห็นพ้อง ชักชวนผู้คนในสังคมให้ร่วมกันสร้างสังคมไทย ที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เน้นความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นมิตรไมตรี ความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อย่างที่สังคมไทยเคยเป็น และยังเป็นอยู่ในบางส่วน

                พร้อมกันนั้น ก็เสริมเติมผสมผสานด้วยหลักการและวิธีการสมัยใหม่ที่ใช้ถ้อยคำว่า “สันติวิธี” “สันติสมานฉันท์” และ “สันติวัฒนธรรม” เป็นต้น

                ยิ่งมีเหตุการณ์แบบ 31 ธ.ค. 49 ยิ่งต้องเพิ่มระดับปณิธาน ความมุ่งมั่น และความพยายามร่วมกัน ให้มากขึ้นไปอีก

                เพื่อช่วยกันเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ ความมีสันติภาพและสันติสุข อย่างยั่งยืน ให้ได้ในที่สุด

                สวัสดี “สันติ” ปีใหม่ ครับ!

                                                                                                  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/70802

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)


กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ทำอะไรใน 3 เดือน ?

กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ได้ดำเนินงานมาครบ 3 เดือน ภายใต้รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ โดยมีผมเป็นรัฐมนตรีว่าการ

ได้มีการประมวลผลงาน 3 เดือน และจะมีการแถลงข่าวในวันพุธที่ 17 ม.ค. นี้

เค้าโครงของการประมวลผลงาน จะประกอบด้วย (1) ผลงานที่เป็นการร่วมสนับสนุนภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล อันได้แก่ การแก้ปัญหาอุทกภัย การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความสมานฉันท์ และการสร้างธรรมาภิบาล (2) ผลงานตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน อันได้แก่ การสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน การสร้างสังคมเข้มแข็ง และการสร้างสังคมคุณธรรม และ (3) ผลงานในการเสนอแก้ไขปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

            พร้อมกันนี้ ผมเองก็เลยถือโอกาสทบทวนตัวเองด้วยว่า ได้พยายามทำอะไร ทำได้ผลขนาดไหน ได้เรียนรู้อะไร และจะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร

ได้พยายามทำอะไร ?

ผมคิดว่า ผมได้พยายามทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มี “เป้าหมายใหญ่” และมี “ยุทธศาสตร์ใหญ่” (หรือ ”แนวทางใหญ่” ) ชัดเจนเป็นอันดับต้น

ได้ผลออกมาคือ “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็น “เป้าหมายใหญ่” ร่วมกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย และถือเป็น “เป้าหมายใหญ่ในนโยบายด้านสังคมของรัฐบาล” ไปด้วยโดยปริยาย

สอดคล้องกับ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 – 54) ที่มุ่งให้เกิด “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

ส่วน “ยุทธศาสตร์ใหญ่” หรือ “แนวทางใหญ่” ที่ได้กำหนดชัดเจน คือ “ยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน” ดังได้กล่าวข้างต้น ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม

เมื่อได้ “เป้าหมายใหญ่” และ “ยุทธศาสตร์ใหญ่” หรือ “แนวทางใหญ่” แล้ว สิ่งสำคัญที่กระทรวง พม.ได้พยายามทำ ซึ่งน่าจะถือเป็น “นวัตกรรม” ได้ คือ การสร้าง “ระบบจัดการ” ภายใต้ 3 บริบท อันได้แก่ (1) บริบทพื้นที่ (2) บริบทกลุ่มคน และ (3) บริบทประเด็น

นั่นคือ ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นั้น มิใช่นำยุทธศาสตร์แต่ละส่วนมาดำเนินการแยกจากกัน แต่เป็นการนำยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ส่วนมาดำเนินการร่วมกัน ภายใต้การจัดการในแต่ละบริบท

และการจัดการที่สำคัญมากที่สุด คือ “การจัดการในบริบทพื้นที่” ซึ่งเป็นการจัดการบนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ

นอกจาก “นวัตกรรมในเรื่องระบบจัดการ” ดังกล่าวแล้ว “นวัตกรรม” อีกอย่างหนึ่งที่กระทรวง พม.ได้ดำเนินการ คือ การนำ “การจัดความรู้” ( Knowledge Management หรือ KM) มาเป็น “กระบวนการสนับสนุน” ที่สำคัญ ให้กับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใหญ่ 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการใน 3 บริบท

ได้ผลขนาดไหน ?

กล่าวได้ว่า ใน 3 เดือนแรก ผมได้พยายามจับภาพใหญ่ กำหนดเป้าหมายใหญ่ แนวทางใหม่ และระบบจัดการหลักรวมถึง ระบบสนับสนุนสำคัญ ให้ลงตัว คิดว่าได้ผลพอสมควร ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินการต่อไปมีโอกาสสูงที่จะบรรลุผลตามนโยบายได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ในส่วนของการปฏิบัติจริง ได้มีการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์” เริ่มจาก “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง กระจายไปทั่วประเทศ คือทุกจังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดได้เน้นให้มีการใช้ “ตำบล” และ “เทศบาล” เป็นตัวตั้ง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

จังหวัดที่ได้ทำชัดเจนหน่อย คือ จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 47 จังหวัด ซึ่งนอกจากจะมีการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านพังทั้งหลังหรือบางส่วน ด้วยเงินชดเชยประมาณ 1,200 ล้านบาทแล้ว ที่สำคัญคือจะมี “โครงการฟื้นฟูชุมชน” โดยมีงบประมาณสนับสนุน 150 ล้านบาท อีกด้วย

โครงการฟื้นฟูชุมชนนี้ ใช้หลักการ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ นั่นเอง

นอกจากการดำเนินการตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ในบริบทพื้นที่แล้ว ก็ได้มีการดำเนินการใน “บริบทกลุ่มคน” และ “บริบทประเด็น” ควบคู่กันไป

ใน “บริบทกลุ่มคน” กระทรวง พม.มี “กลุ่มเป้าหมาย” ชัดเจนอยู่แล้ว ได้แก่ (1) เด็ก (2) เยาวชน (3) ผู้ด้อยโอกาส (4) คนพิการ (5) ผู้สูงอายุ (6) สตรี (7) ครอบครัว

การดำเนินการในส่วนนี้ จึงไม่สู้ยากนัก กระทรวงฯ เองมีฐานงานค่อนข้างดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงเป็นการสานต่องานที่กระทรวงทำอยู่ โดยนำยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน มาประยุกต์ใช้ให้หนักแน่นขึ้น กับมีการประสานความร่วมมือ รวมพลังสร้างสรรค์ จากหลายๆ ฝ่ายในสังคม ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ให้เข้มข้นกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยรวมๆ คิดว่า งานด้านกลุ่มคนนี้ ได้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรมเป็นลำดับ แม้ว่าจะยังคงมีข้อท้าทายอยู่เป็นอันมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

ส่วนการดำเนินการใน “บริบทประเด็น” ได้มีการกำหนดประเด็น และเริ่มลงมือปฏิบัติไปในเบื้องต้นแล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม” หรือ ศกอส.) ขึ้นภายในกระทรวงฯ (2) การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี (3) การส่งเสริมชีวิตมั่งคงปลอดอบายมุข (4) การส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจนโดยประชาชน

ทั้งนี้ รวมถึงการสานต่อการดำเนินการที่กระทรวงฯ ทำอยู่แล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (2) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชนในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจน (ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.) (4) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยโดยทั่วไป (ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ หรือ กคช.)

ล่าสุด กระทรวงฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง” หรือ “ศปลร.” ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการดำเนินการภายใต้ประเด็น “การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี” ด้วย

การดำเนินการภายใต้ “บริบทประเด็น” ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ การศึกษาพิจารณายกร่างกฎหมายที่จะมีผลต่อการพัฒนาสังคม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (2) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม (ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง เป็นส่วนประกอบสำคัญของ “สังคมเข้มแข็ง”) (3) กฎหมายสนับสนุนการสร้างสังคมคุณธรรม และ (4) กฎหมายสนับสนุนการพัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อสังคม

            สรุปแล้ว ผมคิดว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการไปไม่น้อยทีเดียวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการ 3 บริบท

ได้เรียนรู้อะไร ?

ผมคิดว่า 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผมได้เรียนรู้มากเลย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐบาล และการบริหารรัฐบาล เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐมนตรี และการบริหารกระทรวง เรียนรู้เกี่ยวกับความยากในการจัดสรรเวลาและพลังงานเพื่อจัดการกับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ซึ่งผมอาจจะยังจัดได้ไม่ดีเต็มที่ เรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพหรือโอกาสและข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการพัฒนานโยบาย และในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีกมาก

ผมเองถือว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้” อยู่แล้ว และคำว่า “เรียนรู้” ผมหมายความรวมถึง “การปฏิบัติ” ด้วย ดังนั้น ผมจึงพอใจที่มีโอกาสได้ “เรียนรู้” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้นทีเดียว

จะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร ?

โดยที่ผมนิยม “การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม” ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผมจึงจะไม่สรุปเอาเองคนเดียวว่า จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไปอย่างไร แต่จะปรึกษาหารือร่วมกันกับผู้ร่วมงาน ซึ่งจัดได้เป็น 3 ส่วน (1) ทีมงานของรัฐมนตรี (2) ผู้บริหารของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด และ (3) ภาคีพันธมิตรนอกสังกัดกระทรวงฯ ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและนอกภาครัฐ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ผมไม่มีความคิดของตนเอง ผมมีแน่นอน และมีมากด้วย เพียงแต่ผมเชื่อในเรื่องการผสมผสานความคิด และการรวมพลังสร้างสรรค์ ซึ่งผมเห็นว่าจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่า และยั่งยืนกว่าการคิดและทำ โดยให้ผู้นำเป็นศูนย์กลางผลักดันและตัดสินใจแต่ผู้เดียว

อย่างไรก็ดี มีอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า จะพยายามปรับปรุง คือ การจัดสรรเวลาและพลังงานให้กับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้  ก็อยากได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทั้งหลาย เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐมนตรี พม. (คือผมนั่นแหละ) เพื่อผมจะได้รับทราบมุมมองของผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสถานะต่างๆ แล้วนำมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนางานของกระทรวงฯ ต่อไป

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/72744

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 6 (29 ม.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 6 (29 ม.ค. 50)


กระทรวง พม.ได้รับเกียรติและปลื้มปิติเมื่อทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” มาเยี่ยมวัง

วันที่ 19 มกราคม 2550 เป็นวันที่ผมพร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) รู้สึกได้รับเกียรติและปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารที่ทำการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และมีชื่อเรียกกันในกระทรวงฯ อย่างไม่เป็นทางการว่า “ตึกวัง” (หรือ “อาคาร 4” ถ้าเป็นทางการ)

คณะทายาทเจ้าของ “วังสะพานขาว” ในวันนั้น คือ มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย พร้อม บุตร ญาติ และเพื่อน อีก 12 คน คือ

  1. คุณเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา  (บุตรชาย)
  2. คุณณัฐญาดา ณ สงขลา  (บุตรชาย)
  3. คุณฤชา ขจรเนตรติกุล
  4. ม.ร.ว.หญิง อัจฉรีเพราพรรณ (วุฒิชัย) วรรณพฤกษ์
  5. คุณอัศฏาพร วรรณพฤกษ์
  6. ม.ร.ว.เฉลิมฉัตร วุฒิชัย ณ อยุธยา
  7. คุณเอมอร วุฒิชัย
  8. ม.ล.อภิชิต วุฒิชัย
  9. คุณหญิงวิจันทรา (คชเสนี) บุนนาค
  10. คุณประพาพิมพ์ (สุวรรณศร) ศกุนตาภัย
  11. คุณจันทรา ปิตรชาติ  และ
  12. Mr. Geoffrey Longfellow

มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย เป็นพระธิดาของ พลเอกและพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  กับหม่อมประพันธ์  วุฒิชัย ณ อยุธยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 42  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กับเจ้าจอมมารดาทับทิม  พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ  ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2426  ในพระบรมมหาราชวัง

พ.ศ. 2440  ได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถ  ไปทรงเรียนวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2448  เสด็จกลับประเทศไทย เข้ารับราชการทางทหารเรือ  ได้เลื่อนยศตามลำดับจนเป็นพลเรือเอก  เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2467  และพลเอก เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2474

ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2467  ต่อมาเมื่อมีการรวมกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน  เรียกว่า “กระทรวงกลาโหม”  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2474 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2475 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จึงได้ลาออกจากราชการ

กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้เริ่มประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการ อยู่เป็นเวลานาน ต่อมาประชวรเป็นอัมพาต และพระโรคนิ่ว ในปี พ.ศ. 2482 จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2490 ก็ประชวรเป็นโรคน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด)  และสิ้นพระชนม์ในวันที่  18 ตุลาคม พ.ศ. 2490  ที่วังถนนกรุงเกษม (วังสะพานขาว)  รวมพระชนมายุได้  64 ปี

ในด้านพระประวัติส่วนพระองค์  ได้เสกสมรสและทรงมีพระโอรสธิดากับ มจ.หญิง พร้อมเพราพรรณ  รวม 6 พระองค์  คือ

(1) มจ.ทรงวุฒิไชย  วุฒิชัย

(2) นาวาโท มจ.อุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย

(3) มจ.หญิง สุวภาพเพราพรรณ  วุฒิชัย  (สวัสดิวัฒน์)

(4) มจ.หญิง

(5) มจ.ชาย

(6) มจ.ชาย

สามพระองค์สุดท้าย  สิ้นชีพตักษัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์และยังไม่มีพระนาม

เมื่อพระชายา (มจ.หญิงพร้อมเพราพรรณ)  สิ้นชีพตักษัยแล้ว  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ทรงมีพระโอรสธิดากับหม่อมประพันธ์ อีก 4 พระองค์ ได้แก่

(1) มจ.ไกรสิงห์  วุฒิชัย

(2) มจ.วุฒิสวาท  วุฒิชัย

(3) มจ.หญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย

(4) มจ.วุฒิวิทู  วุฒิชัย

สำหรับ มจ.หญิง  วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย  ไม่ได้ประสูติที่  “วังสะพานขาว” แต่ประสูติที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย (ในปัจจุบัน)  ในช่วงเวลาที่พระบิดาได้แปรที่ประทับจากกรุงเทพฯ  ไปอยู่ที่เกาะปีนังภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ประมาณสองปี

ท่านหญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย   (หรือ  “ท่านหญิงปีนัง” หรือ “ท่านหญิงนัง”) ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต  ทรงวาดรูปและเขียนหนังสือเป็นอาชีพ  และมีงานอดิเรกคือ ทำสวน  ตกแต่งบ้าน และออกแบบผ้าปักไหมและปักบนผ้าใบสำหรับแขวนกำแพง

“วังสะพานขาว”   นี้  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5)  ทรงสร้างพระราชทานให้แก่พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษแล้ว  ซึ่งสร้างเสร็จทำพิธีขึ้นตำหนักเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  ทรงใช้เป็นที่ประทับและที่ทรงงานราชการด้วย

ภายหลังสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  ใน    พ.ศ. 2490  แล้ว  ในปี พ.ศ. 2493  กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากทายาท  เพื่อเป็นที่ตั้งของกรมประชาสงเคราะห์  ซึ่งเดิมอาศัยพื้นที่พระราชวังสราญรมย์อยู่

ตำหนักที่ประทับ (ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารที่ทำการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เป็นตึกรูปทรงแข็งแรง สง่างาม สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (ฝรั่ง) ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชการที่ 5 เป็นอาคารสองชั้น ด้านหลังมีหอคอยเพิ่มขึ้นเป็นสามชั้น มีการใช้ศิลปะลายปูนปั้นประดับตามซุ้มหน้าต่าง  ตามรอยต่อนอกอาคารระหว่างชั้นบน  ชั้นล่าง  มุมอาคาร  เหนือคูหาโค้งที่มุขหน้า  และคูหาโค้งตามช่องเฉลียงชั้นล่าง ชั้นบนด้านหลังมีระเบียงแล่นไปจดกับส่วนหอคอย

ภายในตัวตำหนัก  แบ่งซอยเป็นห้องต่างๆ 10 ห้อง ชั้นล่าง 4 ห้อง ชั้นบน 6 ห้อง (ไม่นับโถงบันได โถงกลางชั้นบน และห้องน้ำ ซึ่งอยู่ด้านหลัง) ห้องทุกห้องในแต่ละชั้น มีประตูเปิดทะลุถึงกันหมด ประตูและหน้าต่างแต่ละบานมีขนาดสูงใหญ่ ล้อมด้วยกรอบไม้สีเข้ม เหนือประตูและหน้าต่างมีทับหลังเป็นแผ่นไม้ฉลุลายละเอียด  บนผนังห้องประดับด้วยศิลปะปูนปั้น  แบบเดียวกับภายนอกตำหนัก  สอดรับกับลายฉลุบนเพดานห้อง

ปัจจุบัน  ตำหนักกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร  วังสะพานขาว  ได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถานที่สวยงาม  ควรแก่การชื่นชมและศึกษา

มีประเด็นว่า  วังสะพานขาวนี้มีอายุเท่าไร ?   ถ้าคำนวณว่าสร้างวังเสร็จเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  ถึงปัจจุบันคงจะครบ 100 ปี ในวันที่  16 มกราคม 2550

แต่บังเอิญผมได้ความรู้มาว่า ธนาคารไทยพาณิชย์  ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449  เขาจะนับว่ามีอายุครบ 100 ปี  ในวันที่  30  มกราคม 2550  ไม่ใช่วันที่  30 มกราคม 2549

เนื่องจากว่า  เมื่อมีการเปลี่ยนรอบปีจาก เมษายน – มีนาคม มาเป็น มกราคม – ธันวาคม ในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ช่วงเวลามกราคม – มีนาคมของปีต่างๆ ก่อน พ.ศ. 2484 หายไป 1 ปี

ดังนั้น  วังสะพานขาว ซึ่งสร้างเสร็จและมีพิธีขึ้นตำหนักในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  จึงจะมีอายุครบ 100 ปี  ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551  เนื่องจากหากยังนับรอบปีแบบเดิม คือ เมษายน – มีนาคม วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551  (ตามระบบปัจจุบัน)  จะเท่ากับวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450  (ในระบบเดิม)

ท่านหญิงวุฒิเฉลิม  วุฒิชัย และคณะ  ได้ให้เกียรติมาเยี่ยม  “วังสะพานขาว”  เมื่อวันที่ 19  มกราคม  2550  โดยผม  ปลัดกระทรวงฯ  เลขานุการรัฐมนตรีฯ  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ  จำนวนหนึ่ง  ให้การต้อนรับ

หลังจากสักการะศาลพลเรือเอกกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรที่อยู่ด้านหน้าของอาคารตำหนักแล้ว  ท่านหญิงฯ และคณะได้เยี่ยมชมภายในอาคารตำหนักอย่างค่อนข้างละเอียด  ได้ชี้ว่าห้องไหนเคยมีลักษณะอย่างไร  เคยใช้เป็นอะไรหรือทำอะไร  มีกิจกรรม  บรรยากาศ ฯลฯ อย่างไร  เป็นที่น่าสนใจและน่าประทับใจของพวกเราที่ไม่เคยได้รับทราบเรื่องราวอย่างละเอียดและจากผู้ที่เคยอยู่อาศัยเองเช่นนี้

ท่านหญิงและคณะยังได้กรุณาและให้เกียรตินั่งสนทนากับพวกเราอีกเป็นเวลานานพอสมควร  โดยได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตที่เกี่ยวกับวังสะพานขาว  และการใช้ชีวิตในวังสะพานขาวแห่งนี้ในหลายแง่หลายมุม

ท่านหญิงฯ ยังได้มอบหนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ซึ่งท่านหญิงฯ เป็นผู้ประพันธ์เอง  ใช้นามปากกาว่า “วุฒิเฉลิม”  เป็นหนังสือได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544  ฉบับที่มอบให้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2  เมื่อ พ.ศ. 2544  จัดจำหน่ายโดย บริษัทศรีสาระ โทร. 0 2255 5597 – 8

หนังสือเล่มนี้  ผมได้อ่านแล้วด้วยความซาบซึ้ง ประทับใจ และได้คุณค่าทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และปัญญา

ข้อความใน “บทนำ” ของหนังสือ (หน้า 5) ปรากฏดังนี้

“ลายน้ำทอง”  เขียนในรูปนวนิยาย  จากความทรงจำ เป็นเรื่องของชีวิตตอนปลายของพ่อ  และเหตุการณ์ที่ประทับใจลูก  ตั้งแต่จำความได้จนสิ้นพ่อไป

แม้พ่อจะเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดิน รับใช้ชาติ รับราชการ มีตำแหน่งสูง ทั้งทางทหารบกและทหารเรือ  เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในที่สุด  ท่านไม่เคยทรงใช้อำนาจในทางที่ผิด  ทรงมีแต่ความโอบเอื้ออารีและเมตตาต่อทุกคน

ลูก ๆ ได้รับการสั่งสอนให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีศีล มีสัตย์ รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ที่ประเสริฐสุด  ได้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ได้ร่วมกันสร้างชาติไทย  ให้เป็นไทมาจนถึงทุกวันนี้……………. ”

และใน “บทส่งท้าย”  (หน้า 497) มีข้อความดังนี้ครับ

“เรื่อง ‘ลายน้ำทอง’ เป็นเรื่องที่เขียนจากความทรงจำจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพ่อกับลูกคู่หนึ่ง ตั้งแต่ลูกเริ่มจำความได้ จนกระทั่งพ่อต้องจากไปเมื่อลูกอายุ 13 ปีเศษ

สามสิบปีเศษที่เป็นชีวิตตอนปลายของพ่อ  และสิบสามปีเศษที่เป็นชีวิตตอนต้นของลูก

ความรัก  ความสนิทสนม  ไว้วางใจ  ของบุคคลสองคนที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของพ่อกับลูก  แม่กับลูก  สามีต่อภรรยา  พี่ต่อน้อง  น้องต่อพี่  เพื่อนต่อเพื่อน ฯลฯ

บุคคลที่สามจะไม่มีวันเข้าใจหรือล่วงรู้ถึงความรู้สึกที่บุคคลทั้งสองนั้นมีต่อกัน

หรือล่วงรู้คำพูดที่บุคคลนั้น ๆ พูดต่อกันโดยเฉพาะ

หรือแม้จะได้ยิน  ได้รู้  ก็ไม่มีวันจะเข้าใจถึงจิตใจที่บุคคลคู่นั้นเข้าใจ  และมีความรู้สึกอย่างลึกซื้งต่อกัน  ไม่ว่าจะในทางใด

เสด็จในกรมในเรื่อง คือ พลเอกและพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระปิยมหาราชและเจ้าจอมมารดาทับทิม………………………… ”

และข้อความท้ายสุดของ “บทส่งท้าย”( หน้า 502) คือ

“ผู้ตั้งชื่อเรื่องว่า  ‘ลายน้ำทอง’  คือ  คุณสุกัญญา  ชลศึกษ์  หรือ  ‘กฤษณา  อโศกสิน’ ”

หนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ดีจริง ๆ ครับ  อ่านแล้วได้ทั้งอารมณ์  ความรู้สึก ที่นุ่มนวล  ละเอียดอ่อน  ปลุกเร้าสิ่งที่เป็นคุณธรรม  ความดี  ความงดงาม  ให้สติ  ให้ปัญญา  พร้อมกับสะท้อนให้เห็นสัจธรรม   ความเป็นจริงของชีวิตและสังคม   สอดแทรกอยู่ใน  “เรื่องเล่า”   ของท่านหญิง วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย ซึ่งได้แก่  “ท่านหญิงน้อย”  ใน  “นวนิยาย”  นี้  นั่นเอง

ประโยชน์และคุณค่าจากการอ่านเรื่อง  “ลายน้ำทอง”  ยังรวมถึงคำบรรยายลักษณะของ “วังสะพานขาว”  อย่างค่อนข้างละเอียด ตลอดจนการสะท้อนภาพชีวิต  สังคม  และเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น  (ประมาณ พ.ศ. 2477 – 2490)  ในสายตาของ  “ท่านหญิงน้อย”  หรือ   ท่านหญิง (มจ.หญิง) วุฒิเฉลิม  วุฒิชัย  นั่นเอง

ต้องขอขอบพระทัยท่านหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย และขอบพระคุณคณะผู้ร่วมการเยี่ยม  “วังสะพานขาว”  เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550  เป็นอย่างสูง  สำหรับเกียรติและความอบอุ่นที่ให้แก่พวกเราชาวคณะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ตลอดจน ข้อมูล  ความรู้  ข้อคิดอันมีคุณค่าอีกนานัปการ  รวมถึงที่บรรจุอยู่ในหนังสือ  “ลายน้ำทอง”  ที่ท่านหญิงฯ  กรุณามอบให้ผมและท่านปลัดฯ  คนละหนึ่งเล่ม

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/75142

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 7 (5 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 7 (5 ก.พ. 50)


ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมกำลังเคลื่อนตัวไป

            การขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม” โดยกระทรวง พม. ดูว่ากำลังเคลื่อนตัวไปอย่างเป็นรูปธรรม มีความก้าวหน้าในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง ในขณะที่การขับเคลื่อนเชิงกลุ่มเป้าหมายและเชิงประเด็นทางสังคมก็ดำเนินควบคู่กันไป

            ขอทวนความจำว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม” ประกอบยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง (ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง) และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม โดยในการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัตินั้น จะดำเนินการใน 3 บริบทหลัก คือบริบทพื้นที่ บริบทกลุ่มเป้าหมาย และบริบทประเด็นทางสังคม

            ตัวอย่างรูปธรรมที่เกิดขึ้น ในรอบประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ซึ่งผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ได้แก่การไปเปิดโครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” และร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกันด้วยขบวนการสวัสดิการชุมชน” ที่ตำบลดอนยอ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เมื่อ 20 มกราคม 2550 ไปเปิดป้ายชุมชนแสดงการเสร็จสิ้นของโครงการ “บ้านมั่นคง” (ในเมือง) ที่ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร เมื่อ 25 มกราคม 2550 และไปเปิดโครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” ที่บ้านหัวคู ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 29 มกราคม 2550

            สังเกตว่าทุกโครงการที่กล่าวข้างต้น ได้ใช้หลักการสำคัญ 3 ข้อที่ผมย้ำอยู่บ่อยๆ ได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คือ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชน (ชุมชน) มีบทบาทสำคัญ และ(3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ ในทุกโครงการจะเห็นว่าชาวบ้านที่เกี่ยวข้องเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญ เป็นผู้คิด ผู้วางแผน ผู้ตัดสินใจ และผู้กำหนดภาระผูกพันของตนเอง ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งอบต. อบจ. และกทม. (ในกรณีบ้านมั่นคงชุมชนคลองลำนุ่น) ได้ให้การสนับสนุนอย่างดีในฐานะองค์กรที่ดูแลในเรื่องสวัสดิการสังคมและการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมกันนั้นราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่หน่วยงานของจังหวัด อำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ศูนย์พัฒนาสังคมจังหวัด (ศพส.) และหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลาง ซึ่งในกรณีโครงการดังกล่าวข้างต้น ได้แก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็ร่วมสนับสนุนอยู่อย่างใกล้ชิด

            ในการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกันด้วยขบวนการสวัสดิการชุมชน” ของจังหวัดนครนายก ผู้ร่วมลงนามได้แก่ตัวแทนของ (1) จังหวัดนครนายก (2) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก (3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก (4) ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 17 จังหวัดนครนายก (5) ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (6) ขบวนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครนายก  (7) ขบวนการสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออก และ(8) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมี (9) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานสักขีพยาน

            ในส่วนของการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม โดยมี “กลุ่มเป้าหมาย” เป็นตัวตั้ง คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ “วาระเพื่อเด็กและเยาวชน พ.ศ.2550” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 ประกอบด้วยมาตรการสำคัญคือ (1) การส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว (2) การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมของเด็กและเยาวชน (3) การส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ0-6ปี) (4) การส่งเสริม “จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก” และ(5) การส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัว

            ข้อสุดท้ายของวาระเพื่อเด็กและเยาวชน มีผลเท่ากับเป็นการขับเคลื่อนงานที่มี “ครอบครัว” เป็นกลุ่มเป้าหมายไปด้วย ส่วนการขับเคลื่อนงานสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ก็มีความก้าวหน้าในลักษณะต่างๆเช่นกัน (เช่นแผนงานที่จะเพิ่มสัดส่วนสตรีในการเป็นสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การค้นหาวิธีพัฒนากองทุนผู้สูงอายุให้สามารถทำประโยชน์ได้ดีและอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น การพยายามพัฒนาระบบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การเร่งรัดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ เป็นต้น)

            สำหรับการขับเคลื่อนงานในบริบทของ “ประเด็นทางสังคม” มีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ ในเรื่อง “การส่งเสริมสังคมคุณธรรม” ได้มีการจัด “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26-28 มกราคม 2550 ซึ่งกระทรวงพม. เป็นเจ้าภาพร่วม และรมว.พม. เป็นผู้รับมอบ “ปฏิญญาคุณธรรมว่าด้วยสังคมรู้ รัก สามัคคี” จากที่ประชุมสมัชชาโดยได้เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี แล้วเมื่อ 30 มกราคม 2550 ก่อนนำปฏิญญาดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันกับข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงจากศ.นพ. ประเวศ วะสี ทั้งนี้โดยกระทรวง พม.ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมดังกล่าว โดยให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย

            การขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นทางสังคมที่สำคัญ และมีความก้าวหน้าที่ดี อีกเรื่องหนึ่ง คือ “วาระแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม” ซึ่งนำเสนอโดย “คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.)” และครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 30 มกราคม 2550 ให้ดำเนินการต่อไป

            ชุดมาตรการตามวาระแห่งชาตินี้จะประกอบด้วยมาตรการด้านการเงินการคลัง เพื่อสังคมมาตรการด้านการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งที่ดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และในวิชาการทหารที่ดูแลโดยกระทรวงกลาโหม มาตรการอนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติภารกิจอาสาช่วยเหลือสังคม ได้โดยถือเป็นการปฏิบัติราชการและไม่ถือเป็นวันลา ภายในกำหนด 5 วันทำการต่อปี เป็นต้น

            จากที่เล่ามานี้ ถ้าจะบอกว่า “เครื่องยนต์พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” กำลังมีอุณหภูมิ สูงขึ้นเป็นลำดับ ก็คงจะได้กระมังครับ

                                                           สวัสดีครับ

                                                          ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76414

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 8 (19 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 8 (19 ก.พ. 50)


ปัญหาการบริหารเวลาของรัฐมนตรี

การเป็นรัฐมนตรีย่อมมีปัญหาในการบริหารเวลาอย่างที่ผมกำลังประสบอยู่

คือ มีเรื่องที่คิดว่าต้องทำหรือควรทำหรือยากทำเป็นอันมาก พร้อมกับมีเรื่องที่คนอื่นมาขอให้ทำ หรือแนะนำให้ทำก็มากด้วย ในขณะที่มีเวลาอยู่จำกัด

นับแต่เข้ารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรี ผมได้ยึดหลักว่า รัฐมนตรีควรเน้นบทบาทในการบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ และควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านั้น

เอาเข้าจริง ผมต้องยอมรับว่า เรื่องต่างๆที่เข้ามาให้ทำมีมากและหลากหลายที่เดียว ซึ่งจำนวนมากอาจไม่ถึงขั้นเป็นเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ แต่ก็รู้สึกว่าต้องทำหรือควรทำ หรือพออนุโลมว่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับนโยบายและยุทธศาสตร์ได้

ในขณะที่งานประจำ งานพิธี งานเฉพาะกิจ ตลอดจนงานเฉพาะหน้าต่างๆก็ต้องมีด้วยตามสมควร

เพื่อเป็นแบบฝึกหัดการบริหารเวลา ผมจึงลองสำรวจดูว่าในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ทำอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นเรื่องระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ หรือเกี่ยวพันกับนโยบายและยุทธศาสตร์ปรากฏดังนี้ครับ

5 ก.พ. (จันทร์)

– บันทึกเทปโทรทัศน์ เรื่อง “ยุทธศาสตร์สังคม”

– ร่วมงาน “มหกรรมการจัดสวัสดิการชุมชน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปเป็น ประธานพิธีปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี (ซึ่งกำหนดประชุมเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง)

– ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานของศูนย์คุณธรรม

6 ก.พ. (อังคาร)

– ประชุมเรื่อง “วาระเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2550” โดยมีรัฐมนตรี 5 กระทรวง และรมต. ประจำสำนักนายกฯ 3 ท่านเข้าประชุม

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. (เป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นสัปดาห์ต้นเดือนซึ่งเป็นการประชุมกับผู้บริหาร ระดับ 8 ขึ้นไปที่อยู่ในส่วนกลาง)

7 ก.พ. (พุธ)

– ร่วมอภิปรายที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง ความเข้มแข็งของชุมชนกับรัฐประศาสนศาสตร์

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม

8 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– เป็นประธานเปิดโครงการ “ชุมชนน่าอยู่และปลอดภัย” (Campus Safety Zone) ของมหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือหลายฝ่าย และกล่าวปาฐกถา

– พบสนทนากับผู้จัดการโครงการ “Cities Alliance” ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก (ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พามา)

– ร่วมประชุมพิจารณา ร่าง “พรบ.ส่งเสริมธรรมาภิบาล” ซึ่ง รมต. ประจำ สน. นรม. (คุณหญิงทิพาวดี) เป็นประธาน

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

9 ก.พ. (ศุกร์)

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ

– ไปรับฟังผลการสัมมนาโดยใช้กระบวนการ “จัดการความรู้” เกี่ยวกับการดำเนินงานภายใต้โครงการ “หน่วยงานสุจริตใสสะอาด” ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. และกล่าวปิดการสัมมนา (ที่ จ.นครนายก)

– ร่วมสนทนาหลังอาหารค่ำกับคณะที่จะร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ในวันรุ่งขึ้น (ที่โรงแรมสวนสามพราน)

10 ก.พ. (เสาร์)

– ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. (ระดับ 10 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป) เพื่อทบทวนกลยุทธ์ (ยุทธศาสตร์) ของกระทรวงและนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2551 ต่อไป (ประชุมทั้งวันที่โรงแรมสวนสามพราน)

11 ก.พ. (อาทิตย์)

– ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรายการวิทยุ เรื่อง แผนปฏิบัติการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อชีวิตมั่นคง

12 ก.พ. (จันทร์)

– กล่าวเปิดการประชุมเครือข่ายหน่วยงานที่ดำเนินงาน “สายด่วน” เพื่อการรับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาสังคมในรูปแบบต่างๆ

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก

– เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนพิการ

– ประธานมูลนิธิสันติภาพสากลมาพบหารือเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมสันติภาพในประเทศไทยและอาเซียน

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

– เป็นประธานในงานครบรอบ 34 ปี การเคหะแห่งชาติ และกล่าวสุนทรพจน์ (ภาคค่ำ)

13 ก.พ. (อังคาร)

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง

– ประชุมหารือ เรื่อง ยุทธศาสตร์กระทรวง พม. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณ ปี 2551 (พิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมที่ โรงแรมสวนสามพราน)

– อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” ของมหาวิทยาลัยมหิดล

– ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพื่อนำไปเขียนบทความเกี่ยวกับนโยบายและแนวการทำงานของรัฐมนตรี พม.

14 ก.พ. (พุธ)

– ร่วมงานเปิดศูนย์รับเรื่องราว “1111” 4 ช่องทาง (โทรศัพท์ อีเมล์ จดหมาย มาที่จุดบริการ) ของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี

– พบหารือกับคณะกรรมการของ Social Venture Network (SVN) เกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งรวมถึง CSR (Corporate Social Responsibility) ด้วย

– พบหารือกับคณะกรรมการการตรวจสอบประเมินผลของกระทรวง พม.

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหา “ผู้สูงอายุตัวอย่างแห่งชาติ”

– หารือกับคณะจากธนาคารออมสินเรื่องโครงการสินเชื่อเพื่อคนพิการ

– เยี่ยมชุมชนล็อค 1-2-3 คลองเตย ที่ถูกไฟไหม้และหารือเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟู

15 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– เป็นประธานสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อเพื่อโครงการบ้านมั่นคง ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

– เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การเคหะแห่งชาติ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมหารือ

– บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของคนรากหญ้าโดยรัฐบาลปัจจุบัน” จัดโดย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ประชุมกับคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กำหนดเดือนละ 1 ครั้ง)

16 ก.พ. (ศุกร์)

– ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย” จัดโดยการเคหะแห่งชาติ ร่วมกับภาคีพันธมิตร โดยมีรองนายกฯ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล เป็นประธานกล่าวเปิด

– เป็นประธานแถลงข่าวเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ

– อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่อง เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการสังคม สำหรับออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9

– เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการประสานสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคม”

– ร่วมประชุมรับฟังและหารือเกี่ยวกับการดำเนินการสืบเนื่องจาก “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2”

 

18 ก.พ. (อาทิตย์)

– ประชุมหารือกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับการใช้กระบวนการ “ประชาเสวนา” (Citizens Dialogue) และอื่นๆเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสมานฉันท์และเพื่อการพัฒนาสังคม

ที่บันทึกไว้ทั้งหมดข้างต้นนั้น ยังไม่นับรวมถึง การดูแฟ้มเสนองาน การมอบหมายและปรึกษางานทั่วไปทั้งโดยพบหน้าและทางโทรศัพท์ การสนทนาทางโทรศัพท์กับบุคคลต่างๆรวมถึงผู้สื่อข่าว การต้อนรับผู้มาพบทั่วไป (ซึ่งมีไม่มาก) และอื่นๆ

รวมแล้วทำให้พอมองเห็นภาพการทำงานของผมได้พอสมควรในแง่ลักษณะเนื้อหาของงานและการจัดสรรเวลา โดยพิจารณาจากการทำงานจริงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จากการมองตัวเองแล้วพยายามไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์ ผมคิดว่าผมน่าจะยังมีทางปรับปรุงพัฒนาการทำงาน ให้เน้นนโยบายและยุทธศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะให้มีความเข้มมากขึ้นไปอีก ให้เป็นเชิงรุกมากขึ้นไปอีก และให้บูรณการกับงานของหน่วยงานอื่นๆได้ดียิ่งขึ้นไปอีก

คงไม่ง่ายนัก แต่ผมจะพยายาม

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/79459

<<< กลับ