จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 2 (4 ธ.ค.49)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 2 (4 ธ.ค.49)


เยี่ยมเยียนเรียนรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน

จาก “3 ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” อันได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (2) ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และ (3) ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม กระทรวงฯ (พม.-พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ได้ลงมือขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” เป็นอันดับแรก

ได้แนะนำให้ “พมจ.” (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) เป็นผู้ประสานส่งเสริมสนับสนุนให้ “องค์กรชุมชน” “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และผู้สามารถมีบทบาทสำคัญอื่นๆในท้องถิ่น ร่วมกันค้นหา “ผู้ถูกทอดทิ้ง” หรือ “ผู้ยากลำบากพิเศษ” ในท้องถิ่นของตน แล้วช่วยกัน “ดูแล” ตามที่เห็นว่าสมควร

การ “ดูแล” นี้คงจะมีทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าระยะสั้น และการสนับสนุนให้ “ผู้ถูกทอดทิ้ง” หรือ “ผู้ยากลำบากพิเศษ” นั้นๆมีความเข้มแข็งสามารถมากขึ้นในระยะยาว

ผมได้เดินทางไป “เยี่ยมเยียนเรียนรู้” (และ “พัฒนาร่วมกัน” หรือ “ร่วมคิดร่วมพัฒนา”) กับ พมจ. และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ โดยอาศัยโอกาสที่ พมจ.จัดการประชุมสัมมนาหารือเรื่อง “การขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน” ณ จังหวัดต่างๆดังนี้

  • จังหวัดลำปาง (16 พ.ย. 49)
  • จังหวัดขอนแก่น (20 พ.ย. 49)
  • จังหวัดสงขลา (25 พ.ย. 49)
  • จังหวัดจันทบุรี (26 พ.ย. 49)

และเตรียมจะไป “เยี่ยมเยียนเรียนรู้” อีก 2 ครั้ง ที่จังหวัดพิษณุโลก (29 พ.ย. 49) และจังหวัดสกลนคร (30 พ.ย. 49) แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่สามารถไปได้เพราะต้องเข้าประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเกี่ยวเนื่องกับการนำร่าง พรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หรือเรื่อง “หวย 2 ตัว 3 ตัว”) เข้าสภาฯและผมต้องเข้าประชุมพร้อมกับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนผมเป็น “กองหนุน” เนื่องจากได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลเรื่อง “การส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข” (หรือ “การส่งเสริมให้ลดละเลิกอบายมุข”) อันถือได้ว่ารวมอยู่ในหน้าที่ของกระทรวง พม.ที่ควรทำอยู่แล้ว

สำหรับที่พลาดการไป “เยี่ยมเยียนเรียนรู้” ที่จังหวัดพิษณุโลก และสกลนครนั้น ผมตั้งใจและวางแผนจะไปที่จังหวัดทั้งสองนี้ หลักจากเวลาประมาณ 1 เดือนได้ล่วงไปแล้ว โดยจะเป็นการไป “ติดตามศึกษา” การดำเนินการที่ได้ทำไปแล้วเกี่ยวกับ “การขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน” ในจังหวัดทั้งสอง แถมด้วยในจังหวัดรอบๆอีกประมาณ 12 จังหวัด ต่อการไปเยี่ยม 1 ครั้ง ซึ่งจังหวัดเหล่านั้นอยู่ในเขตรับผิดชอบของ “สสว.” (สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ) จำนวน 2 เขต ไปเยี่ยม 2 ครั้งก็คลุมพื้นที่ สสว. รวม 4 เขต หรือประมาณ 24 จังหวัด

“เบญจภาคี” สู่ “พหุพลังบูรณาการ” เพื่อการพัฒนาสังคม

การขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” คงจะดำเนินการในพื้นที่หรือท้องถิ่น “ปฐมภูมิ” เป็นเบื้องต้น

พื้นที่หรือท้องถิ่น “ปฐมภูมิ” คือ “ตำบล” และ “เขตเทศบาล” (หรือ “เมือง”) ซึ่งมี “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ระดับพื้นฐานรับผิดชอบดูแลจัดการ อันได้แก่ “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) (สำหรับพื้นที่ตำบล) และ “เทศบาล” (สำหรับพื้นที่ “เขตเทศบาล” หรือ “เมือง”)

พร้อมกันนั้น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ก็สามารถและควรจะทำในระดับพื้นที่ “ทุติยภูมิ” นั่นคือในระดับ “จังหวัด” ด้วย

สำหรับการดูแลจัดการในพื้นที่จังหวัดนี้จะซับซ้อนกว่าพื้นที่ปฐมภูมิ กล่าวนั่นคือ มีผู้รับผิดชอบดูแล 2 ระบบอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ระบบที่หนึ่งได้แก่ “ราชการส่วนภูมิภาค” ซึ่งประกอบด้วย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และข้าราชการที่เป็นตัวแทนของกระทรวงและกรมต่างๆ และมาสังกัดที่จังหวัดตลอดไปถึงที่อำเภอ และระบบที่สอง คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในรูปของ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อบจ.)

แต่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ “ปฐมภูมิ” หรือพื้นที่ “ทุติยภูมิ” พลังสำคัญในการขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” (หรือ “ภารกิจสังคมไม่ทอดทิ้งกัน”) น่าจะประกอบด้วย

  1. ชุมชนท้องถิ่น (รวมถึง “องค์กรชุมชน” และกลไกต่างๆของชุมชน)
  2. องค์กรประครองส่วนท้องถิ่น (อบต. หรือเทศบาล หรืออบจ.)
  3. หน่วยงานของรัฐ (ที่มีบทบาทในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง)
  4. ประชาสังคม (ที่มีบทบาทในพื้นที่ รวมถึงหน่วยศาสนา มูลนิธิ สมาคม กลุ่มคน เครือข่าย ฯลฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวม)
  5. ธุรกิจ (ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับพื้นที่)

ถ้ามีครบทั้ง 5 ส่วนดังกล่าวข้างต้น ผมจะเรียกว่าเป็น “เบญจภาคี” ซึ่งควรจะมีพลังมาก และเป็นพลังที่บูรณาการกันหลายฝ่าย

ผมจึงขอใช้อีกคำว่าเป็น “พหุพลังบูรณาการ” รวมแล้วเป็น “เบญจภาคี” ซึ่งนำสู่ “พหุพลังบูรณาการ” เพื่อการพัฒนาสังคม (และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์)

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/65203

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *