7 ปี..โครงการพัฒนาครูฯ “ให้ชีวิตใหม่..แม่พิมพ์”

7 ปี..โครงการพัฒนาครูฯ “ให้ชีวิตใหม่..แม่พิมพ์”


(บทสัมภาษณ์ของหลายคน เกี่ยวกับโครงการพัฒนาชีวิตครู โดย จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ ลงในนสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2549 หน้า 7)

“โครงการพัฒนาชีวิตครูฯ เริ่มต้นเมื่อปี 2541 ในสมัยที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เนื่องจากขณะนั้นครูมีปัญหาหนี้สินมาก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงเสนอโครงการไปที่รัฐบาลเพื่อหาช่องทางให้ครูที่มีหนี้สินมากมีแหล่งเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และหนี้นอกระบบ ซึ่งเดิมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) เป็นผู้ดูแล ในฐานะที่ดูแลสวัสดิการครู ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มารับช่วงต่อ”

นายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ รองปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้สินครู บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการพัฒนาชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ. หลังจากธนาคารออมสิน ได้ควักเงินก้อนหนึ่ง เป็นรางวัลสำหรับพาคณะกรรมการโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ, ประธานเครือข่ายภาคต่างๆ, คณะครู, ผู้บริหาร สกสค., และผู้บริหาร ศธ.กว่า 60 ชีวิต ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆ นี้

นายบุญรัตน์แจกแจงว่า เดิมรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยส่วนหนึ่งจัดสรรงบประมาณผ่าน ก.ค. ประมาณ 500 ล้านบาทปล่อยกู้ให้ครู แต่ ศธ.มองว่าคงช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูไม่ได้ เพราะมีหนี้สินเป็นแสนล้านบาท จึงเจรจากับธนาคารออมสิน เนื่องจากนายไพบูลย์เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เพื่อให้มั่นคงและยั่งยืน จึงให้เป็นโครงการระยะยาว แต่ก็มองว่าถ้าปล่อยให้ครูกู้เดี่ยว ครูบางส่วนจะไม่มีวินัยทางการเงิน และไม่มั่นใจว่าจะติดตามหนี้ได้ เพราะออมสินต้องได้ดอกเบี้ยและเงินคืนโดยมีหนี้สูญน้อยที่สุด”

ในที่สุด โครงการพัฒนาชีวิตครูฯจึงเกิดขึ้น โดยให้ครู “กู้ร่วม” และมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.ครูต้องดูแลกันเองได้ในระดับหนึ่ง 2.ครูต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่างน้อย 5 คนขึ้นไปถึงจะเข้าโครงการได้ เดิมให้ครูกู้ได้ 3 แสนบาท ดอกเบี้ย MLR-1 แต่ถ้ารวมกลุ่มครูที่มี 5 คนขึ้นไป จะกู้ได้คนละ 7 แสนบาท โดยครูในกลุ่มจะค้ำประกันกันเอง เหมือนเป็นการประกันว่าครูที่รวมกลุ่มกันเป็นคนดี รู้แหล่งที่อยู่ รู้ความเป็นมาของครูที่รวมกลุ่ม ไม่มีพฤติกรรมการเล่นการพนัน แต่หากกลุ่มครูเอาหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะกู้ได้คนละ 2 ล้านบาท

“2 ปีที่ผ่านมา ออมสินเห็นว่าครูมีวินัยทางการเงิน หนี้เสียน้อยมาก จึงเห็นว่าน่าจะให้รางวัลกับกลุ่มครู โดยคืนเงินให้ 1% จากยอดหนี้ที่ส่ง ปีที่ผ่านมายอดหนี้ที่ครูส่งคืนถึง 4 หมื่นล้าน ออมสินจึงคืนกลับมา 400 ล้านบาท เพื่อให้รางวัล และเป็นกำลังใจ โดยให้ครูบริหารเงินนี้ แต่ขณะนี้ข้อบังคับยังไม่เรียบร้อย แต่แนวทางที่วางไว้เบื้องต้นคือ จะแบ่ง 70 : 30 โดย 70% จะให้กลุ่มครูไปเลยโดยเอาจำนวนกลุ่มหาร ใครส่งหนี้มากได้สัดส่วนมาก ส่งน้อยได้น้อย โดยเอาเงินไปพัฒนากลุ่ม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่มร่วมกันคิด อีก 30% จะจัดสรรให้แต่ละจังหวัดซึ่งมีการรวมกลุ่มอำเภอและกลุ่มจังหวัด โดยกลุ่มอำเภอจะจัดสรรให้ 20% ส่วนกลุ่มจังหวัด 5% และให้กับส่วนกลางคือกรุงเทพฯ เพื่อใช้บริหารโครงการอีก 5% แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน”

ปัจจุบันมีครูที่เข้าโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ 8.5 หมื่นคน จากครูที่มีหนี้สินทั้งหมด 1.2 แสนคน มีหนี้รวม 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยคนละ 2 ล้านบาท ขณะนี้จะเปิดรับรอบ 2 โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมา 7 ปี หนี้สินครูในภาพรวมลดลงประมาณ 30% สภาพครอบครัวครูดีขึ้น จากเดิมที่ครูแต่ละคนถูกหักหนี้ และมีเงินเดือนเหลือ 2-5 พันบาท ขณะนี้หักหนี้แล้วยังมีมากกว่า 1 หมื่นบาทขึ้นไป ส่วนหนี้นอกระบบไม่มีแล้ว เหลือแค่หนี้หลักๆ เฉพาะหนี้ธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเงินกู้จากโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ จะถูกนำไปใช้ 2 ประเภท คือ ปรับโครงสร้างหนี้ และลงทุน

ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการสำรวจพบว่า ชีวิตครูมี 3 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงตั้งเนื้อตั้งตัว อายุประมาณ 25-40 ปี จะมีหนี้สินค่อนข้างมาก เพราะครูมักมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เป็นลูกชาวนา หรือมาจากชนบท ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่มีปัจจัยพื้นฐาน จะซื้อรถจักรยานยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ ไม่มีวินัยในตัวเอง วุฒิภาวะยังไม่ดีเท่าที่ควร และยังมีภาษีสังคม 2.ช่วงอายุ 40-50 ปี เริ่มมีวุฒิภาวะ รู้จักแก้ปัญหาชีวิต ดูแลตัวเองดีขึ้น คือเริ่มเข้าที่เข้าทาง กลุ่มนี้ปัญหาหนี้สินจะดีกว่ากลุ่มแรก และ 3.ช่วงอายุ 50-60 ปี กลุ่มนี้จะดีที่สุด เงินเดือนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งลูกเรียนจบ ปัญหาหนี้สินก็ผ่อนคลาย การบริหารจัดการดี จะวางแผนชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ

“ที่ผ่านมา กลุ่ม 2 และ 3 จะเข้าโครงการพัฒนาชีวิตครูฯมากที่สุด แต่เมื่อขยายโครงการรอบ 2 คาดว่าจะมีครูที่มีปัญหาหนี้สินเข้าโครงการอีกมากเพราะเห็นความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ที่ครูบางส่วนไม่เข้าระบบเพราะหนี้เยอะ และไม่มีใครเอาเข้ากลุ่ม เพราะพฤติกรรมไม่ดี ไม่มีวินัยในตัวเอง เล่นการพนัน หรือดื่มเหล้าเป็นประจำ หรืออย่างครูบางคนมีบัตรเครดิต 9-10 ใบ แล้วกดวนคล้ายๆ แชร์แม่ชม้อย กลุ่มครูเหล่านี้จะไม่ได้เข้าโครงการ” ประธานคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้สินครูกล่าว

สำหรับปัญหาอุปสรรคในช่วง 7 ปีที่ทำโครงการนั้น นายบุญรัตน์เล่าว่า “มีปัญหาการส่งเงินบ้าง แต่เพื่อนครูในกลุ่มต้องช่วยกันรับผิดชอบ เพราะครูบางคนย้ายที่อยู่ ติดต่อไม่ได้ หรือเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) บางครั้งไม่ส่งเงินตามเวลา ส่งเงินไม่ครบ แต่รวมๆ แล้วก็เป็นเพียงส่วนน้อย ประมาณ 10% เท่านั้น และในปี 2550 ออมสินได้เตรียมเงินให้ครูกู้ในโครงการนี้อีก 4 หมื่นล้านบาท สำหรับครู 1.2 แสนคน”

ส่วนหลักการของโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ เป็นอย่างไรนั้น ลองมาฟัง นางบุษบา ฤทธิ์เรืองนาม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สายกิจกรรมชุมชน ธนาคารออมสิน บอกว่า หลักการคือให้ครูรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยออมสินมีเงื่อนไขว่าครูต้องมีเงินออม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะตกลงกันเอง เพื่อฝึกนิสัยการออม และต้องออมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถ้าตกลงกันว่าจะออมคนละ 100 บาทต่อเดือน ก็จะต้องออมไม่ต่ำกว่า 100 บาท นอกจากนี้ ต้องปรับพฤติกรรม ลด ละ เลิก อบายมุขทั้งหลาย ก็จะมีเงินออมเหลือ โดยออมสินจะติดตามดูว่าในช่วง 6 เดือนหลัง สามารถทำตามเงื่อนไขได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ก็ยื่นเงื่อนไขขอกู้เงิน โดยเพื่อนครูจะรับเข้ากลุ่ม แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครรับเข้ากลุ่ม โดยออมสินและ สกสค.จะเข้าไปดูด้วยว่ากลุ่มเข้มแข็ง แข็งแรง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันหรือไม่

“ครูที่จะกู้เงินในโครงการนี้ ต้องผ่านการรับรองจากผู้บังคับบัญชาว่าเป็นหนี้จริง โดยธนาคารจะให้กู้ตามจริง เงื่อนไขการกู้คือ กู้ได้ 50 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 7 แสนบาท ผ่อนชำระเป็นเวลา 10 ปี แต่ถ้ามีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้กู้คนละ 2 ล้านบาท ผ่อนไม่เกิน 30 ปี แต่อายุต้องไม่เกิน 65 ปี”

สำหรับเงินที่หมุนเวียนอยู่ในโครงการพัฒนาชีวิตครูฯนั้น ผู้แทนธนาคารออมสินบอกว่า “ปัจจุบันมีถึง 5 หมื่นล้านบาท ได้รับชำระหนี้ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีหนี้สงสัยจะสูญ 0.5% ซึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดจากครูย้ายที่อยู่ เออร์ลี่รีไทร์ เป็นต้น ซึ่งเพื่อนครูในกลุ่มก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยแทน และถ้าปีไหนมีเงินออม ไม่มีหนี้ค้าง ออมสินจะลดให้ 1% สำหรับกลุ่มที่ไม่มีหนี้ค้างและไม่มีปัญหา เพื่อนำเงินไปพัฒนา”

หลังจากฟังที่มาที่ไปของโครงการ รวมทั้งหลักการและเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้แล้ว คราวนี้ลองมาฟังฝ่ายปฏิบัติกันดูบ้าง เริ่มจาก นายมานพ ดีมี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1 แจกแจงว่า

“จ.แพร่ นำร่องโครงการพัฒนาชีวิตครูฯมาหลายปี ประสบความสำเร็จอย่างดี ครูบางกลุ่มนำเงินไปทำอาชีพเสริมจึงไม่มีปัญหา โดยเขตพื้นที่ฯมีหน้าที่หักเงิน และแก้ปัญหาให้กับกลุ่มต่างๆ ปัญหาที่ผ่านมาคือ ครูบางคนมีเงินไม่พอหักค่าหนี้ จะขอจ่ายที่หลัง ทางเขตพื้นที่ฯก็ประสานกับออมสินให้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการกันในกลุ่ม เนื่องจากสมาชิกไม่ถูกกัน เช่น การบริหารจัดการเงิน 1% ที่ธนาคารส่งคืน และการจัดสรรปันส่วน ซึ่งครูจะเอาเงินไปกองไว้ และใช้แก้ปัญหากรณีที่ครูบางคนไม่ยอมจ่ายหนี้ ก็เลยเป็นปัญหาต่อ”

ส่วน นายมานิจ สุวรรณจันทร์ ประธานกลุ่มเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ใน จ.เชียงใหม่ มีทั้งหมด 27 กลุ่ม กลุ่มละ 1 อำเภอ มีครูเข้าโครงการกว่า 3,500 คน ยอดกู้ประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยเครือข่ายฯจะดูแลระบบการกู้ และดูแลด้านนโยบาย ขณะนี้ทั้งจังหวัดมีเงินออมประมาณ 20 ล้านบาท จะออมเดือนละ 100 บาทต่อคน และอีกส่วนเป็นเงินที่ธนาคารคืนให้ถ้าไม่มีเงินค้างชำระ ส่วนหนึ่งจะบริหารในระดับอำเภอ จังหวัด และภาค ซึ่งให้แต่ละกลุ่มดูแลกันเอง โดยมีคณะกรรมการดูแลเงินออม เมื่อใครใช้หนี้หมด ก็จะได้เงินก้อนใหญ่คืน สิ้นปีจะมีเงินปันผลคืนให้ อีกส่วนกันไว้สำหรับข้าราชการที่เออร์ลี่รีไทร์ เพราะ 3 เดือนแรกหลังเออร์ลี่รีไทร์ จะเอาเงินส่วนนี้จ่ายหนี้ให้ก่อน นอกจากนี้ ยังซื้อสลากออมสินเป็นเงิน 8 ล้านบาท เมื่อครบ 3 ปี จะได้ปันผล 8 แสนบาท

“ปัญหาที่เจอคือครูลาออก จึงต้องควบคุมกลไกการลาออก โดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะมีข้าราชการส่วนหนึ่งเออร์ลี่ฯ จากเงินเดือน 3 หมื่นบาท จะเหลือ 1.5-1.8 หมื่นบาท ซึ่งไม่พอส่งหนี้ ถ้าไม่ปรับโครงสร้างก่อนจะไม่พอจ่าย ก็ให้เอาเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มาจ่ายเพื่อปรับโครงสร้างก่อน แต่ครูบางคนไม่ยอม จึงเกิดปัญหากับสมาชิกในกลุ่ม”

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ ธีระวรรณสาร ประธานกลุ่มเครือข่ายจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า เป็นโชคดีที่สมุทรปราการเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ในโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ทำให้ได้แนวทางในการปฏิบัติในโครงการที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ 1.ปรับวิถีชีวิตตัวเอง 2.มีวินัยทางการเงิน 3.ขยัน 4.เอื้ออาทรในกลุ่ม และ 5.ใช้พลังกลุ่มอย่างสร้างสรรค์ โดยนำแนวปฏิบัติใน 5 เรื่องมาจัดการความรู้อีกครั้ง โดยเชิญ 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน มาจัดการความรู้ ได้ 3 แนวทาง คือ 1.ลดรายจ่าย 2.เพิ่มรายได้ และ 3.ขยายโอกาส จากนั้น นำความรู้เผยแพร่ให้คณะครู จัดตลาดนัดโครงการพัฒนาชีวิตครู ซึ่งครูใน จ.สมุทรปราการ ได้รับทราบแนวทางและนำไปพัฒนาในแต่ละกลุ่ม โดยทบทวนกับประธานกลุ่มทุกกลุ่ม

“อุปสรรคที่พบคือ บางคนที่เข้าโครงการไม่ยึดแนวทางปฏิบัติ ขอแต่ให้ได้เงิน จึงพยายามสร้างความเข้าใจให้ครูทุกคน อย่างไรก็ตาม หลังทำโครงการนี้ ครูหลายคนจากที่มีปัญหาหนี้สินอย่างมาก หลังใช้ 5 แนวปฏิบัติ 3 แนวทาง ทุกอย่างพัฒนาขึ้น บางคนจากที่เข้าโรงเรียนไม่ได้เพราะมีเจ้าหนี้มารออยู่ ก็เข้าโรงเรียนได้ กระบวนการเรียนการสอนที่เคยมีปัญหาก็ดีขึ้น และจากสมาชิกครูที่เข้าโครงการ 1,500 กว่าคน ขณะนี้เป็นจังหวัดแรกที่ขยายให้ครูเอกชนเข้าโครงการ โดยมีครูเอกชนประมาณ 200 คนเข้าร่วม เพราะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเห็นว่าโครงการนี้แก้ปัญหาหนี้ครูได้จริง

“ส่วนปัญหาที่พบ อาทิ ครูเออร์ลี่รีไทร์ ก็จะดึงลูกของครูคนนั้นมาร่วมกู้ แจ้งให้ทราบถึงปัญหา และเข้าร่วมแก้ปัญหา หรือครูบางคนหนีไปเลยเพราะมีหนี้สินมาก และเป็นครูเด็กๆ เพิ่งเข้ามาได้ปีกว่าๆ สมาชิกในกลุ่มก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ฝากทิ้งท้ายไปยังผู้บริหาร ศธ.ว่า อยากให้ “การจัดการความรู้” ทำกันอย่างจริงจัง ถ้า ศธ.เห็นว่าสามารถพัฒนาชีวิตครูได้ ก็ควรถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากร

ก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ อย่างโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ จะช่วยปลดเปลื้องปัญหา “หนี้สินครู” ทำให้แม่พิมพ์ของชาตินับแสนคน มีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ซึ่งประโยชน์ก็จะตกแก่เยาวชนตาดำๆ นั่นเอง!!

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 ธ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/65735

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *