“ไพบูลย์” เดินหน้าปฏิรูปแม้ไร้ “อานันท์”

“ไพบูลย์” เดินหน้าปฏิรูปแม้ไร้ “อานันท์”


(สกู๊ปข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2554  หน้า  5)

 

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป  เปิดเผยเมื่อวันที่ 6  เมษายนว่า  ในการประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ที่มี ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)  เป็นประธานครั้งล่าสุด  ที่ประชุมยืนยันว่าคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยต่อไปแม้  นายอานันท์  ปันยารชุน  จะลาออกจากประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)  ก็ไม่ได้กระทบกับภารกิจของ  คปส.  โดยเฉพาะการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา  เป็นการก้าวไปข้างหน้าของกระบวนการปฏิรูปประเทศ  โดยจะนำมติสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปมาใช้  การจัดสมัชชาระดับชาติครั้งต่อไปควรใช้ความสำคัญกับการจัดสมัชชาระดับพื้นที่โดยให้พื้นที่ใช้ประชาชนเป็นตัวตั้งให้ประชาชนในจังหวัดรู้สึกเป็นเจ้าของ  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปจากฐานราก  การดำเนินการในการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยควรต้องใช้สมัชชาระดับพื้นที่เป็นหลักและโดยภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ  ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน  อาจสนับสนุนให้มีการจัดเวทีสมัชชาระดับพื้นที่  เพื่อเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ จากระดับพื้นที่  สู่การนำเสนอในสมัชชาปฏิรูป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/434527

<<< กลับ

การมีส่วนร่วมของประชาชน … ปัจจัยความเจริญของประเทศ

การมีส่วนร่วมของประชาชน … ปัจจัยความเจริญของประเทศ


บทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(บทสัมภาษณ์ลงในวารสาร TEAM Group  Newsletter  ฉบับที่ 3/2554 (กรกฏาคม-กันยายน ) และลงในฉบับ Online       ที่http://www.teamgroup.co.th/th/news-publications/newsletter. html)

Newsletter ฉบับนี้ เราได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งในอดีตได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  กรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง(พชม.)  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายแห่ง แม้ปัจจุบันที่ล่วงเข้าสู่วัยเกษียณ ท่านก็ยังทำงานรับใช้สังคมในฐานะที่ปรึกษาและสมาชิกในคณะกรรมการต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในสังคมไทยอย่างแท้จริง ท่านเป็นนักคิด นักปฏิบัติ ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สมบูรณ์แบบ และปัญหาของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ให้เกียรติตอบคำถาม ให้ความกระจ่าง และแง่คิดดีๆ ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน แก่ TEAM Group Newsletter  ดังนี้ :-

 

ถาม        เป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คืออะไร

เป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ เพื่อให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนามีความสันติสุขร่วมกัน  นั่นคือสังคมมีความเจริญก้าวหน้า มีความร่มเย็นเป็นสุข และคนในสังคมรู้สึกเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกัน คิดร่วมกัน เห็นชอบร่วมกัน เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงแค่การเลือกผู้แทนเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็เลือกทำสิ่งที่อยากทำ เอาผลประโยชน์ของตนเองกับพวกพ้องเป็นที่ตั้ง ประชาชนกลายเป็นเครื่องมือ… อย่างนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและกว้างขวางต่อเนื่องในกิจการสำคัญของบ้านเมืองในทุกระดับ นำสู่การปฏิบัติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และก่อให้เกิดสังคมที่มีความความสุขแบบบูรณาการ คือ สุขทางกาย สุขทางใจ  สุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และสุขทางสังคมหรือในการอยู่ร่วมกัน   ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่   10 – 11 ใช้คำว่า “ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

ถาม        ลักษณะของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีและมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

ทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมใหญ่โดยรวม หรือเป็นสังคมเล็ก ๆ  เช่น ชุมชนก็ดี องค์กรก็ดี  ล้วนต้องการที่จะมีความสุขร่วมกัน   ในชุมชน  ในองค์กร ในสังคมจะต้องมีเรื่องให้คิด ให้ทำ  มีประเด็น  มีปัญหา  ภัยอันตราย  อุปสรรค   มีศักยภาพ มีโอกาส  และมีการพัฒนาภายใต้แผนงานหรือโครงการต่าง ๆ  หากสมาชิกของสังคมได้มีส่วนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันวิเคราะห์ วิจารณ์ ศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน  ร่วมกันหาข้อคิดเพื่อการปรับปรุงข้อบกพร่อง หรือสร้างนวัตกรรม สร้างการอภิวัฒน์ ให้ดียิ่งขึ้น  การมีส่วนร่วมที่ดี คือการที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย มีกระบวนการ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดคุยแบบสันติวิธี จนได้ข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกันของคนในสังคม ทั้งในกรณีสังคมเล็ก เช่นชุมชน และ องค์กร และในกรณีสังคมใหญ่โดยรวม

การมีส่วนร่วมอาจจะเปรียบได้กับครอบครัว พ่อกับแม่ เป็นสังคมที่เล็กที่สุด ซึ่งต้องร่วมกันเป็นเจ้าของ   ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ พัฒนา แก้ไข ปรับปรุง และเมื่อมีลูก ลูกก็ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั้งครอบครัว จากนั้นเมื่อทำไปแล้วก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าได้ผลดีหรือไม่ หากไม่ดีก็ต้องมีการปรับปรุง แต่เมื่อใดที่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างแบ่งว่าอันนี้ของฉัน อันนั้นของเธอ ไม่เห็นร่วมกัน ก็จะเกิดการแบ่ง การแย่ง และทะเลาะกัน ทำให้เกิดผลเสียนานาประการตามมา  เช่นการทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งชีวิต เป็นต้น  อย่างน้อยที่สุดก็คือขาดความสุขในการอยู่ร่วมกัน

ในสังคมใหญ่ก็เช่นกัน ซึ่งสังคมใหญ่ประกอบไปด้วย  สังคมที่เล็กกว่าได้แก่ ชุมชนท้องถิ่น  อบต.  เทศบาล อบจ. องค์กรภาครัฐ เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์กรภาคธุรกิจ เช่น  บริษัท ห้างหุ้นส่วน และองค์กรภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ สมาคม กลุ่ม ชมรม เครือข่าย สหพันธ์ ฯลฯ  ซึ่งล้วนเป็นบริบท ที่มีการรวมกลุ่มของคน ถ้าทำงานแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมเป็นเจ้าของ หากมีโครงการก็ร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ เช่น หากจะสร้างเขื่อน ก็ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งการไฟฟ้า กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัด  อบต. รวมทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้ง NGO นักกิจกรรมที่มองภาพใหญ่ มาร่วมปรึกษาหารือ ตกลงกันให้ได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้าทำควรทำอย่างไร หากไม่ทำจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ จากนั้นจึงลงมือทำตามข้อตกลงร่วมกัน อย่างนั้นจึงจะเรียกว่า การมีส่วนร่วมที่สมบูรณ์ หรือที่มีคุณภาพ   การทำงานแบบมีส่วนร่วม คือ วิธีที่จะป้องกันปัญหาและแก้ปัญหา  ได้อย่างเบ็ดเสร็จและบูรณาการ

ในประเทศไทยมีตัวอย่างของการมีส่วนร่วมที่ดีมากมายทั่วประเทศ เช่น ที่บ้านหนองกลางดง ต. ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์  ที่ ต.หนองสาหร่าย อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี  และที่ ต. หนองแซง อ. หันคา จ. ชัยนาท และอีกหลายท้องถิ่นหรือตำบลในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งในชุมชนเหล่านี้ จะมีการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ชุมชน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด มัสยิด ชมรม สมาคมในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ เช่น สถานีอนามัย  (ปัจจุบันเรียกว่า โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล) เกษตรตำบล  พัฒนาการตำบล  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (พอช.) พัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ฯลฯ   แม้จะไม่มีสูตรตายตัวในการทำงาน แต่ชุมชนเหล่านี้ก็มีวิธีที่จะดูแลกันด้วยวิถีของการมีส่วนร่วมจากสมาชิกในชุมชน เช่น มีการประชุมผู้นำชุมชนในระดับหมู่บ้าน หรือการประชุมร่วมกันของทุกฝ่ายในระดับตำบลเป็นประจำ  มีการทำงานอย่างสมานฉันท์ บางชุมชนใช้วิธีการมีส่วนร่วมเพื่อสรรหาตัวผู้นำโดยไม่ต้องแบ่งพวกแบ่งพรรคมาแข่งขันต่อสู้กัน  รวมทั้งบางแห่งมีการสร้างแรงจูงใจในการทำความดีโดยการกำหนดตัวชี้วัดความดี เป็นต้น

 

ถาม        กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนควรจะเริ่มเมื่อใด

กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเริ่มโดยเร็วที่สุด คือ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคิดโครงการ โดยก่อนที่จะวางแผน จะต้องดำเนินการการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ เช่น กรณีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประชาชนจากหลากหลายพื้นที่และหลากหลายสาขาอาชีพจากทั่วประเทศควรจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น พิจารณาความเหมาะสมทั้งในด้านเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ฯลฯ   ก่อนที่จะหาข้อสรุปว่าควรจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นหรือไม่      ถ้ามีควรทำที่ไหน อย่างไร  ฯลฯ  ถ้าไม่มีจะมีอะไรทดแทนและทำอย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกันตั้งแต่ต้น และลงมือปฏิบัติตามข้อตกลงทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีและป้องกันมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ถาม        ปัญหาหรืออุปสรรคของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไทย

สาเหตุที่ทำให้การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มาจากหลายปัจจัย สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การที่ผู้มีอำนาจมักจะติดยึดในตัวตนหรือติดยึดกับอำนาจที่มีไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับชาติ  นักการเมืองระดับท้องถิ่น  ข้าราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ  คลอดจนผู้บริหารภาคธุรกิจ  อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ การขาดความรู้ความเข้าใจในเทคนิคของกระบวนการการมีส่วนร่วม บางครั้งผู้มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เข้าใจเทคนิควิธีการที่ถูกต้อง  การมีส่วนร่วมที่ประชาชนเพียงแค่มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูล จากนั้นก็เพียงถามความเห็นหรือให้ประชาชนแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ใช่การมีส่วนร่วม แต่เรียกว่าเป็นการ แจ้งให้ทราบ(Inform) หรือเป็นการ โต้วาที (Debate)  ในขณะเดียวกันประชาชนเองก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ดีพอสำหรับการตัดสินใจ     ทำให้การร่วมกันคิดร่วมกันทำ และร่วมกันตัดสินใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เกิดขึ้น   หรือเกิดขึ้นอย่างขาดคุณภาพ      จนบางครั้งนำไปสู่ความบาดหมาง แคลงใจ ขัดแย้ง และแม้กระทั่งเกิดเป็นความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และปัจจัยสุดท้ายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วม คือการที่เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้รับความสนใจและเป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลายในสังคมไทย

ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจและรู้จักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและดีพอ  กระบวนการมีส่วนร่วมจึงจะบรรลุผลสำเร็จได้

ถาม        จะทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สร้างประโยชน์สร้างความสุขขึ้นในสังคมได้อย่างไร

เราควรจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน 2 หน่วยจัดการ หรือ 2 บริบท   ที่เป็นฐานของสังคม คือ ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และ ขุมชนองค์กร หรือ ชุมชนที่ใช้องค์กรเป็นตัวตั้ง เช่น หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ หน่วยราชการ พรรคการเมือง สถานศึกษา สถานศาสนา  บริษัท  สถานประกอบการ  องค์กรภาคประชาสังคม เช่น สมาคม มูลนิธิ กลุ่ม  เครือข่าย ฯลฯ  และองค์กรอื่น ๆ ที่มีคนมาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำต่อเนื่อง  หากทำให้ชุมชนทั้งสองประเภทนี้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดี และสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แบบมีส่วนร่วมได้อย่างมีคุณภาพ จะเกิดผลสุดท้ายคือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในชุมชนทั้งสองประเภทดังกล่าว  และเมื่อใดที่มีประเด็นระดับชาติ ที่ควรต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการจัดการ   คนจากชุมชนหรือจากองค์กรเหล่านี้ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้าใจ และอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ หรือ แม้แต่ในเรื่องของความขัดแย้งในสังคม ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย  ทั้งความขัดแย้งระดับพื้นที่ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้  ความขัดแย้งระดับโครงการ เช่นโครงการสร้างเขื่อน โครงการผลิตไฟฟ้า ฯลฯ  ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งในหมู่นักการเมืองและในหมู่ประชาชน

ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ยังแก้ไม่สำเร็จ ก็เป็นเพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหากลับทำโดยหน่วยงานส่วนกลาง  สำหรับกรณีนี้ คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)  ได้เสนอให้จัดตั้งพื้นที่จังหวัดที่มีปัญหาขึ้นเป็นเขตปกครองพิเศษหรือจังหวัดจัดการตนเอง คล้าย ๆ กับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550  โดยจังหวัดชายแดนเหล่านั้น จะได้รับการปกครองดูแลโดยคนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดโดยตรง และมีอำนาจหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบที่เบ็ดเสร็จบูรณาการโดยไม่มีหน่วยงานส่วนกลางไปสั่งการควบคุมหรือดำเนินการ ทั้งในด้านงาน  เงิน และคน  เว้นแต่ด้านนโยบายระดับชาติที่สำคัญ หรือเมื่อได้รับการร้องขออย่างใดอย่างหนึ่งจากพื้นที่ ถ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการในแนวดังกล่าว   การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์   อย่างกว้างขวาง  และอย่างมีคุณภาพด้วย  นั่นแหละจึงจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณน้อยกว่าในปัจจุบัน และน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ถาม        ปัจจุบันมักจะมีการทำ “ประชาพิจารณ์” เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ เสมอ ขอให้ท่านช่วยอธิบายถึงการทำ “ประชาพิจารณ์” ที่ดี ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

การทำประชาพิจารณ์ที่ดี คือ การหาความเห็นร่วมกัน โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า ประชาเสวนา หรือ Citizen Dialogue   ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Public Deliberation  ไม่ใช่ Public Hearing   คำว่า ประชาพิจารณ์ในประเทศไทย แปลมาจากคำว่า  Public Hearing    ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นนับสิบ ๆ ปีมาแล้ว ในสหรัฐอเมริกา  เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาแสดงความเห็น  โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้รับฟัง รวบรวมสังเคราะห์ความเห็น ให้ข้อพิจารณารวมถึงคำวินิจฉัย  แล้วสรุปส่งให้แก่ผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจมีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่หากไม่เห็นด้วยจะต้องมีคำชี้แจงต่อประชาชน  วิธีการนี้ถือว่าพอใช้ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำวิธีการนี้มาใช้ในประเทศไทยกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากกระทำไม่ครบกระบวนการ คือ ฝ่ายภาครัฐเพียงแค่นำเสนอว่าจะทำโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ดีโดยมีการศึกษาความเหมาะสมหรือคำอธิบายแบบมองไม่ครบด้าน   ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็มักจะตั้งป้อมคัดค้าน หรือบางแห่งถึงขั้นที่ชาวบ้านขัดขวางไม่ยอมให้มีการทำประชาพิจารณ์  หรือมีการทำประชาพิจารณ์แล้วกลายเป็นการโต้เถียงขัดแย้ง ซึ่งบางกรณีขยายเป็นความรุนแรงจนเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือเกิดเป็นคดีความยืดเยื้อต่อไปอีก

ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ปัจจุบันก็ไม่นิยมทำ  Public hearing   หรือประชาพิจารณ์แล้ว  แต่หันมาใช้วิธีการ Public Deliberation  หรือ ประชาเสวนา(หาทางออก)ซึ่งในประเทศคานาดา เรียกว่า  Citizen Dialogue   กระบวนการประชาเสวนา  เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้รับการสรรหาอย่างมีหลักวิชา และมีเหตุมีผลที่ดี  มาร่วมประชุมเพื่อพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์  มีการทำเอกสารประกอบการพิจารณา หรือ Issue Paper  โดยในกระบวนการจะต้องมี “วิทยากรกระบวนการ” หรือ Facilitator  ซึ่งบางแห่งเรียกว่า “กระบวนกร” มาเป็นคนกลางและผู้ดำเนินการในการพูดคุย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นร่วมกัน อย่างสันติวิธีและอย่างสร้างสรรค์  จนได้ข้อสรุป ซึ่งมักเป็น “ชุดมาตรการ” ที่ทุกฝ่ายพอใจ และทำเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อลงมือดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ต่อ ๆ ไป โดยใช้กระบวนการมีส่วนในทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่องด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชน มีเป้าหมายเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ดังนั้นเราจึงหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ด้วยความจริงใจของผู้มีอำนาจ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายในสังคม ที่จะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกปัญหา อีกไม่นาน สังคมไทย คงจะเป็นสังคมที่มีความสงบร่มเย็น กลมเกลียว เจริญก้าวหน้า หรือเป็น “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  อย่างราบรื่น และต่อเนื่องตราบนานเท่านาน

ปรับปรุง 15/08/54

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/448701

<<< กลับ

 

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานคณะกรรมการ กยน. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) เรื่อง ส่งผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานคณะกรรมการ กยน. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) เรื่อง ส่งผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”


วันที่  8  ธันวาคม  2554

ด้วยมูลนิธิหัวใจอาสาได้ตระหนักว่า เรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ เป็นเรื่องใหญ่ กว้างขวาง ยาก สลับซับซ้อน  มีทั้งประเด็นเชิงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ และประเด็นเชิงรายละเอียดและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องมากมาย   หากได้มีการรับฟัง หารือ และประมวลข้อคิดเห็นจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ กลุ่มคน หลายๆ พื้นที่ หลายๆ ภาคส่วนน่าจะเป็นประโยชน์   จึงได้จัดให้มีการ “สานเสวนา” (Dialogue) ในเรื่องดังกล่าว  ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ และผู้บริหารองค์กรที่มีขีดความสามารถ       ในการนำหลักการ แนวทาง ข้อคิด ฯลฯ ไปสู่การปฏิบัติ รวม 15 คน  เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554

สรุปผลการสานเสวนาจำนวน  5 หน้า กับเอกสารประกอบการเสวนาที่ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มอบให้ไว้ในรูป บทความ เอกสารนำเสนอในการบรรยาย และเอกสารการวิจัย อีกจำนวนมากพอสมควร ปรากฏตามที่แนบ  ซึ่งมูลนิธิฯ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยต่อคณะกรรมการ กยน. และต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง  จึงขอส่งเอกสารทั้งหมด เสนอต่อคณะกรรมการ กยน. ผ่านท่านเลขาธิการ สศช. (ในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมของ กยน.) มาพร้อมนี้

อนึ่ง มูลนิธิฯ ใคร่ขอถือโอกาสนี้เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า  ข้อที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษโดยคณะกรรมการ กยน. และรัฐบาล (รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง) ในเรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ น่าจะประกอบด้วย :-

1.  การคิดเชิงระบบ (Systems thinking )  นั่นคือพิจารณาเรื่องการจัดการน้ำให้เห็นความเป็นระบบ ตั้งแต่ระบบย่อยๆ ในระดับท้องถิ่น  ไปจนถึงระบบขนาดกลางหรือระดับลุ่มน้ำ  ระบบขนาดใหญ่คือทั้งประเทศ  และระบบใหญ่มากคือการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในระดับข้ามชาติหรือนานาชาติ   และเพื่อให้การคิดเชิงระบบนี้เป็นจริง และนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างดีที่สุด จึงน่าจะมีกลไกระดับชาติ เช่น คณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีหน่วยเลขานุการที่มีความสามารถสนับสนุน  เป็นผู้มีหน้าที่พิจารณา วางแผน กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปปฏิบัติ กำกับดูแลและประเมินผลการปฏิบัติ  จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการความรู้ นำไปสู่การพิจารณาทบทวนและวางแผนใหม่  ทำดังนี้ให้เป็นวงจรต่อเนื่องข้ามรัฐบาล เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและการสั่งสมภูมิปัญญาและความรู้ความชำนาญให้สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป  โดยวิธีนี้เชื่อว่าประเทศไทยและสังคมไทยจะสามารถจัดการน้ำและจัดการภัยพิบัติได้ดีขึ้นเรื่อยๆ  นำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยและความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของปวงชนชาวไทย ตามปณิธานที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9, 10 และ 11 ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

2.  การมีส่วนร่วม “ตัดสินใจ” ของประชาชน (Participatory decision making)   สืบเนื่องจากหลักการและวิธีคิดในข้อ 1.  และเพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า “Deliberative Democracy”  หรือ “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ”  จึงเป็นการสมควรที่คณะกรรมการ กยน. (ควรรวมถึงคณะกรรมการ กยอ.ด้วย) ที่จะจัดการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่และทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา “ตัดสินใจ” เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ฯลฯ  เกี่ยวกับการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ  โดยเฉพาะในส่วนที่ กลุ่ม พื้นที่ หรือภาคส่วน นั้นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือในเชิงลบ   โดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเช่นนี้ จะช่วยให้รัฐบาล คณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปข้อพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ฯลฯ ได้อย่างบูรณาการและอย่างสมบูรณ์มากที่สุด โดยได้รับความเห็นชอบหรือเห็นด้วยและความพึงพอใจร่วมกันของประชาชนมากที่สุด  ทั้งยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งในสังคมไม่ให้เกิดขึ้น และหากเกิดความขัดแย้งขึ้นก็จะสามารถคลี่คลายแก้ไขความขัดแย้งนั้นๆ ได้โดยไม่ยากอีกด้วย

3.  การจัดการน้ำให้ครบทุกมิติและให้เชื่อมโยงกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำให้ครบถ้วน ไปพร้อมๆ กัน  นั่นคือการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ฯลฯ ในเรื่องการจัดการน้ำ  ควรให้ครบถ้วนสมบูรณ์และบูรณาการ ตั้งแต่การจัดการน้ำท่วม การจัดการน้ำแล้ง การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการน้ำเพื่อครัวเรือน การจัดการน้ำเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม การจัดการน้ำให้มีคุณภาพ การจัดการน้ำให้ถูกจังหวะเวลาและสถานที่  ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดการน้ำโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการภัยพิบัติ  ที่ควรประกอบด้วย   (1) การป้องกันระยะไกลมาก   (2) การป้องกันระยะไกล   (3) การป้องกันระยะปานกลาง   (4) การป้องกันระยะใกล้   (5) การเตรียมความพร้อม (Preparedness)   (6) การเผชิญเหตุ (เมื่อภัยพิบัติมาถึง)   (7) การจัดการโดยพึ่งตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในท้องถิ่นที่ประสบภัย   (8) การจัดการการรับความช่วยเหลือจากบุคคลและหน่วยงานภายนอกทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม (องค์กรสาธารณประโยชน์ มูลนิธิ สมาคม เอ็นจีโอ ฯลฯ) ภาคประชาชน (ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ประชาชนทั่วไป  ฯลฯ ) ตลอดจนจากองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศ  ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง  เป็นธรรม และเหมาะสมตามความเห็นร่วมกันของประชาคมในท้องถิ่นนั้นๆ   (9) การจัดการการรับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรนอกภาครัฐ  ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม   (10) การบูรณะฟื้นฟูภายหลังภัยพิบัติ   (11) การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ  “จัดการความรู้” (Knowledge management)  เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้นในหมู่ประชาชน  รวมถึงการที่จะสามารถคิดค้นสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” เกี่ยวกับการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ  เพื่อให้ท้องถิ่นและสังคมสั่งสมความรู้ความเข้าใจและความสามารถที่ดียิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

4.  มาตรการจัดการน้ำให้ได้ครบทุกวัตถุประสงค์และที่สำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ น่าจะประกอบด้วย

4.1  การดูแลรักษา ปรับปรุง  หรือจัดสร้าง “แหล่งกักเก็บน้ำ” ที่มีความเหมาะสมทั้งด้าน ขนาด แหล่งที่อยู่ การใช้ประโยชน์ คุณลักษณะ วิธีบริหารจัดการดูแลรักษา ฯลฯ  ซึ่งแหล่งกักเก็บน้ำดังกล่าวควรมีตั้งแต่ ขนาด “จิ๋ว” (บ่อน้ำในไร่นา ฯลฯ)  ขนาด “เล็ก” (สระน้ำของหมู่บ้านหรือตำบล ฯลฯ)  “ขนาดกลาง” (หนองน้ำหรือบึงหรืออ่างเก็บน้ำสำหรับเมืองใหญ่หรือจังหวัดหรือเขตอุตสาหกรรม ฯลฯ)  “ขนาดใหญ่” (บึงธรรมชาติ บึงสร้างใหม่หรือ “แก้มลิง” ขนาดใหญ่ เขื่อนขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์ข้ามจังหวัดได้ ฯลฯ)  และ “ขนาดใหญ่มาก” (เขื่อนขนาดใหญ่ “แก้มลิง” ขนาดใหญ่มาก ฯลฯ)

4.2  การดูแลรักษา ปรับปรุง หรือจัดสร้าง ทางเดินของน้ำผ่านช่องทางต่างๆ  รวมถึงห้วยบนภูเขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำ แม่น้ำขนาดต่างๆ ลำคลองขนาดต่างๆ เส้นทางผันน้ำ (รวมถึง Floodway อุโมงค์ยักษ์ คลองประดิษฐ์ ฯลฯ) ตลอดจนคูคลองในเรือกสวนไร่นา  ซึ่งในส่วนที่อยู่ใกล้และมีผลได้ผลเสียต่อประชาชนในท้องถิ่น ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการดูแล รักษา ปรับปรุง และหรือพัฒนาสร้างใหม่ให้ดีขึ้น  โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งมาตรการทั้งสองนี้ ควรทำให้กว้างขวางกระจายไปทั่วประเทศ และใช้ “วิกฤต” มหาอุทกภัยครั้งนี้ เป็น “โอกาส” กระตุ้นและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และทุกภาคส่วน ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการ”จัดการน้ำ” และ “จัดภัยพิบัติ”  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยและประชาชนไทย  ไม่เฉพาะในเรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ แต่จะเป็นประโยชน์ขยายรวมไปถึงการจัดการด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านการเป็นสังคมเรียนรู้ (Learning society) และอื่นๆ

มูลนิธิฯ ตระหนักดีกว่า ความเห็นข้างต้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายคงมีความคิดทำนองนี้อยู่แล้ว  แต่ก็ใคร่ขอเสนอมาเป็นการตอกย้ำลำดับความสำคัญ  และเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการตามแต่จะเห็นสมควร

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476257

<<< กลับ

สรุปผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”

สรุปผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”


เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา มูลนิธิหัวใจอาสา ได้จัดเวทีสานเสวนาเรื่อง “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย” ซี่งเป็นการประชุมกลุ่มเล็กระหว่างกัลยาณมิตร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำ 15 คนเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการการจัดการน้ำในประเทศไทย  เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงขึ้นอีกในอนาคต  รวมถึงเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้สำหรับการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม

 

การจัดการน้ำ” คือ “การจัดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ”  

การสานเสวนาในครั้งนี้ เริ่มจากการเกริ่นนำ โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา  ซึ่งได้เคยใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เป็นการอยู่กับธรรมชาติ  และพบว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข  ดังนั้น คนกับน้ำจึงเป็นเรื่องที่เอื้ออำนวยกัน  แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องมี การจัดการน้ำ  ซึ่งก็คือ การจัดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ทั้งน้ำ ดิน ป่า อากาศ พฤติกรรมของธรรมชาติ เชื่อมโยงกับความเชื่อ วัฒนธรรม กระบวนทัศน์ ทัศนคติ ความคิด พฤติกรรม การปฏิบัติ ฯลฯ  ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น องค์กร สถาบัน กลุ่ม เครือข่าย ฯลฯ นั่นเอง

การจะปฏิรูประบบการจัดการน้ำ จึงไม่ใช่เพียงการจัดการน้ำ  แต่เป็นการจัดการความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เชื่อมโยงกับมนุษย์ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เพราะคนมีจำนวนมากขึ้น ใช้ชีวิตอยู่แบบไม่สมดุล อีกทั้งยังต้องเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ โดย “ประชาชน” มีบทบาทสำคัญ  เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการ นั่นก็คือ ความอยู่เย็นป็นสุขร่วมกันเรื่องทั้งหมดเกี่ยวข้องทั้งระดับ Micro และ Macro  เชื่อมโยงถึงระดับนานาชาติ เช่น ลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ฯลฯ  เนื่องจากธรรมชาติเชื่อมโยงกันทั้งโลก

 

เหตุปัจจัยแห่งการเกิดอุทกภัยครั้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์

                หากจะวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดอุทกภัยครั้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีผลกระทบต่อคนเป็นจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่าปริมาณน้ำในปีนี้ มากเกินกว่าปริมาณน้ำในปี 2538 หรือไม่  สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น จึงอาจเกิดจากปัญหาในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเกิดจาก

  • Ø นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในประเทศไทย  ยังไม่มีการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนเหมือนนโยบายอื่น เช่น นโยบายการจัดการป่า ฯลฯ  ไม่มีกติกาในการจัดสรรน้ำ  รวมถึงไม่มีการกำหนดนโยบายเรื่องการจัดการน้ำท่วม  ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการสงเคราะห์  เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม หน่วยงานก็ให้ความช่วยเหลือ  ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำประมาณ 30 ฉบับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำกว่า 40 แห่ง  แต่ยังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Ø ปริมาณน้ำจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง  อันเนื่องมาจากพายุที่เกิดขึ้นจำนวน 5 ลูก ซึ่งมากกว่าปี 2538 ที่มีเพียง 3 ลูก  ส่งผลให้ปริมาณน้ำมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาประมาณถึง 40%  ประกอบกับน้ำและฝนมาเร็วกว่าช่วงเวลาปกติ  เกิดเป็น “ภูเขาน้ำ” ซึ่งมีระดับมวลน้ำสูงกว่าปี 2538
  • Ø ระบบการผันน้ำให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากกว่าภาคอุตสาหกรรม  และเมื่อไม่ได้มีการโรยน้ำ ทำให้กระแสน้ำที่กักเก็บไว้มีความแรงมาก ไม่สามารถควบคุมทิศทางการไหลของน้ำได้  เกิดการพังทลายของคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำหลายแห่งต่อเนื่องกัน จุดวิกฤติเกิดตั้งแต่การพังทลายของประตูระบายน้ำบางโฉมศรี
  • Ø โครงสร้างพื้นฐานของระบบการจัดเก็บและการระบายน้ำ  เป็นการออกแบบเพื่อการเกษตร ไม่ได้ออกแบบสำหรับการป้องกันและจัดการกับปัญหาน้ำท่วม

กุญแจสำคัญสู่การปฏิรูประบบการจัดการน้ำ

เมื่อถามถึงกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบการจัดการน้ำ  ได้มีการเสนอแนวทางปฏิรูประบบการจัดการน้ำที่หลากหลาย อาทิเช่น การปฏิรูประบบการพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำ และทันสมัย เพื่อช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม  กำหนดมาตรการ/ผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยการวิเคราะห์ระดับความสูง ต่ำของพื้นที่  การใช้วิกฤตเรื่องน้ำท่วมควบคู่ไปกับการจัดการที่ดิน  เพื่อให้เกิดระบบการจัดการอย่างสมดุล  จัดระบบการจัดการที่ดิน Land Use Management ก่อนที่จะออกแบบระบบจัดการน้ำที่เหมาะสม  กำหนดมาตรฐานการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม  สร้างระบบการจูงใจ การชดเชยที่เป็นธรรมกับคนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำท่วม โดยการจัดเก็บภาษีในการบริหารจัดการน้ำ หรือเก็บภาษีน้ำท่วม จากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อนำไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ที่เสียหายจากการอยู่ในพื้นที่ที่รับน้ำท่วม  การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องการสร้างทางเลือก รูปแบบในการบริหารจัดการน้ำ ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สร้างความยินยอมพร้อมใจ  การจัดระบบองค์กรใหม่ โดยการยุบรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเข้าด้วยกัน เป็นหน่วยงานที่จะรับผิดชอบบริหารระบบน้ำในภาพรวม  นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ด้วยการวางผังการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์พื้นที่ วิเคราะห์ศักยภาพ เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับชุมชน ตำบล เชื่อมโยงเป็นภูมินิเวศน์

 

แก้มลิงทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำ

แนวทางรูปธรรมหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง คือ การสร้างแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามน้ำแล้ง และรองรับน้ำในช่วงน้ำมาก  หลักการสำคัญของการทำแก้มลิง คือ ทำแล้วทุกฝ่ายต้องพอใจ  ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมการสานเสวนา ทำให้ทราบถึงรายละเอียดวิธีการสร้างแก้มลิง  โดยการเลือกพื้นที่ ต้องศึกษาลักษณะของพื้นที่ การไหลของน้ำ ปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่  จำนวนผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และได้รับผลกระทบ  เพื่อนำมาออกแบบขนาดของแก้มลิงที่มีความเหมาะสม   ขนาดของแก้มลิงสามารถทำได้ทั้งในขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  การทำแก้มลิงอาจจะเริ่มจากพื้นที่ของส่วนราชการที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่  โครงสร้างของแก้มลิง อาจทำได้ทั้งการขุด และการยกคันดิน  นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการสานเสวนายังได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างแก้มลิงว่า ควรสัมพันธ์กับระบบน้ำและนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  ทั้งนี้ หากจะเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำโดยการสร้างแก้มลิง  มีข้อเสนอว่าควรดำเนินการในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากมีพื้นที่ว่างอยู่มาก  รวมถึงเป็นที่ที่จะช่วยกักเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้ในการผลิตอาหาร สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริม “แก้มลิงชุมชน” ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนได้  โดยไม่จำเป็นต้องรอการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสม  โดยอาจสร้างเป็นลักษณะรังผึ้งกระจายเต็มพื้นที่   ซึ่งในการส่งเสริมแก้มลิงชุมชน รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและดูแลรักษาแก้มลิงชุมชนดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งประเด็นคำถามว่า “ชุมชนจะสามารถดูแลแก้มลิงได้อย่างไรซึ่งผู้เข้าร่วมการสานเสวนาเสนอว่า ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องช่วยในการสร้างทางเลือก เสนอรูปแบบในการบริหารจัดการน้ำในระบบแก้มลิง  จากนั้นเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สร้างความยินยอมพร้อมใจ รวมถึงมีระบบการชดเชยที่เป็นธรรม โดยอาจเก็บภาษีจากพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม เพื่อจ่ายให้พื้นที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบแก้มลิง

 

ยุทธศาสตร์เพื่อการเดินหน้าสู่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการน้ำ  

เพื่อให้ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการจัดการน้ำสามารถขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง  ผู้เข้าร่วมการสานสนทนา ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยการทำคู่ขนานใน 2 ระดับ คือ

  • Ø การแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างในภาพรวมของประเทศ  ด้วยการกำหนดกฎหมาย นโยบายเกี่ยวกับน้ำอย่างชัดเจน  ปฏิรูประบบการบริหารจัดการน้ำโดยสร้างการมีส่วนร่วม  การวางผังเมืองและออกแบบการก่อสร้างที่สัมพันธ์กับระบบการจัดการน้ำ  จัดระบบข้อมูลวิชาการที่มีความแม่นยำ ทันสมัย  ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะเป็นแกนในการประสานหารือกับองค์กรพันธมิตร และภาคีวิชาการที่เกี่ยวข้อง
  • Ø การแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการจัดการ  โดยการจัดขบวนภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ภาคสังคม เข้าร่วมปฏิบัติการเรื่องการบริหารจัดการน้ำ  สร้างพื้นที่รูปธรรมและพัฒนาองค์ความรู้จากการปฏิบัติการ  พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากพื้นที่รูปธรรม โดยมีภาควิชาการเข้าร่วมหนุนเสริม  ให้ความรู้กับสังคมผ่านช่องทางสื่อสารควบคู่กับการขับเคลื่อนระดับนโยบายจากระดับชุมชนถึงระดับประเทศ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะเป็นแกนร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน ในการประสานภาควิชาการ และภาคี เข้าร่วมสนับสนุน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476260

<<< กลับ

 

สรุปการสานเสวนา “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง

สรุปการสานเสวนา “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง


นที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔  ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ

 

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นำการเสวนาเรื่อง “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่เกิดประโยชน์  และสร้างให้เกิดกัลยาณมิตรในการพูดคุยไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์  เกิดการสังเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้ให้แก่สังคมไทยร่วมกัน  มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นักวิชาการ, ผู้ผลิต, ผู้ใช้, ปราชญ์ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องสำคัญในการเสวนาดังนี้

 

แนวคิดและการก่อเกิด EM Ball

มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คิวเซ) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ EM Ball และการนำไปใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมานานแล้วจากแนวคิดของ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว  โดย EM ย่อมาจาก Effective Microorganism มีทั้งแบบก้อน (EM Ball) และแบบน้ำ (EM Liquid)  แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยภายหลังจากการที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับดินและน้ำและส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร  จึงได้หาแนวทางในการจัดการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการทำงานของจุลินทรีย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ  ชนิดก่อโรค  ชนิดมีประโยชน์  และชนิดไม่เกิดประโยชน์และโทษ (กลาง)  หลักการสำคัญของ EM คือไม่ใช่การบำบัดน้ำเสียโดยตรง แต่ใช้หลักการนำจุลินทรีย์ชนิดมีประโยชน์ไปแย่งอาหารจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสีย โดยได้มีการส่งเสริมให้ใช้ในเกษตรกรรมและประมงมาแล้วกว่า ๑๕ ปี  มีองค์กรสนับสนุนให้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย  เริ่มจากใช้น้ำจุลินทรีย์เพื่อปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียเป็นเวลานาน  และได้พัฒนาจากชนิดน้ำให้เป็นแบบก้อนลูกบอลล์  เนื่องจากเมื่อใช้แบบน้ำได้ระยะหนึ่งพบว่า ไม่สามารถปรับสภาพน้ำเสียที่ลึกลงไปบริเวณก้นน้ำได้ จึงได้แปรสภาพการผลิตให้เป็นแบบก้อน  ซึ่งภายหลังจากการนำไปใช้พบว่ามีการเพิ่มอ๊อกซิเจน (O2) และลดก๊าซมีเทนในน้ำได้เป็นอย่างดี

 

เรียนรู้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การปฏิบัติ

ภายหลังจากที่มีการแพร่หลายของกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติ และปัญหามลภาวะจากการใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้มีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านที่สนใจในการใช้วิถีธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิตมากขึ้น  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชลบุรี ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เริ่มสนใจการใช้วิถีธรรมชาติ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีในพื้นที่อย่างแพร่หลาย ทำให้มีสารพิษตกค้างและส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน เกิดความเสียหายอย่างมาก  จึงได้เรียนรู้วิธีการผลิตจากกสิกรรมธรรมชาติและนำมาใช้ในพื้นที่ชุมชนเกาะจันทร์ และชาวบ้านผลิต EM Ball กันเอง ใช้การพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด โดยใช้ข้าวเหนียวเป็นหัวเชื้อสร้างจุลินทรีย์จากดินในป่าไผ่ และสังเกตลักษณะภายนอกของเชื้อจุลินทรีย์ว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ หากมีสีขาวก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  นอกจากนี้มีการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น มะนาว มะม่วง มะกรูด เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า เป็นต้น  จากการผลิตและใช้ในพื้นที่มาระยะหนึ่ง พบว่าพื้นที่ที่ใช้ EM Ball น้ำจะมีลักษณะใสสะอาด และผลผลิตทางการเกษตรจะดีกว่าพื้นที่ที่ไม่ใช้  เป็นผลจากการใช้ธรรมชาติดูแลซึ่งกันและกัน  ทำให้สามารถควบคุมผลผลิต น้ำ และสภาพอากาศได้

ขณะเดียวกัน ชาวชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร ก็ประสบปัญหาน้ำเสียใกล้แหล่งชุมชนที่ระบายออกมาทุกวัน ทำให้ต้องหาวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ  จึงได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ และเรียนรู้การทำ “ดังโงะ” เป็นชื่อเรียก EM Ball ในภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เปลือกของสัปปะรดเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อย่างดี  หรืออาจใช้เปลือกผลไม้ที่มีสารเคมีน้อยที่สุดนำมาหมักกับน้ำเชื้อจุลินทรีย์ ต้องมีการล้างทำความสะอาด และไม่ควรนำผักมาใช้เพราะมีสารเคมีอยู่มากและไม่เหมาะสม  ในการผลิต EM Ball มีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างออกไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน  คือ ใช้ดินเหนียว รำหยาบ แป้งข้าวเหนียวที่มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ มาคลุกเคล้าและเก็บอยู่ในอุณหภูมิห้อง  กระบวนการผลิตต้องมีระยะเวลาในการเพาะเชื้อที่พอเหมาะ ห้ามตากแดด ประมาณ ๑๕ วันถึง ๑ เดือน  นำไปใช้ปรับสภาพน้ำเสียให้ดีขึ้นได้  สิ่งที่ต้องระวังคือเพลี้ยแป้งและเพลี้ยกระโดด ที่อาจส่งผลต่อการทำให้เกิดการเน่าเสีย หลังจากที่ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ก็สามารถนำไปใช้ทำน้ำยาซักผ้าน้ำยาสระผมได้อีกด้วย  ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านผลิตใช้กันในครัวเรือนเท่านั้น  แต่ก็มีชุมชนบ้านไร่ จ.อุบลราชธานี นำสูตรนี้ไปใช้ในพื้นที่ได้ผลดีเช่นกัน  ประเด็นสำคัญของการทำให้คุณภาพ EM มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ ระยะเวลาการเพาะเชื้อที่พอเหมาะพอควร และใช้ให้เหมาะสมกับสภาพน้ำด้วย  มีตัวอย่างพื้นที่ที่นำไปใช้และได้ผลดี เช่น ชุมชนวัดกลางเคยมีขยะและน้ำเน่าเสียจำนวนมาก หลังจากได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้ก็ทำให้ปัญหาน้ำเน่าเสียลดลงได้ หรือบางพื้นที่ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อบำบัดน้ำเสียได้ผลอย่างดีเช่นกัน

อีกพื้นที่หนึ่งที่มีตัวอย่างการใช้ EM Ball ได้ผลดี คือ ชุมชนบางบัว กรุงเทพฯ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตลอดแนวคลองบางบัวซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากคลองรังสิต ไหลผ่านไปคลองลาดพร้าว และเชื่อมต่อไปคลองแสนแสบต่อไป  ชุมชนบางบัวมีการเรียนรู้และผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนในพื้นที่ตนเอง เพราะลักษณะน้ำในคลองไหลอยู่ตลอดเวลา จึงต้องไปใช้ในบริเวณน้ำนิ่ง  เช่นเดียวกับชุมชนร่วมใจพัฒนาเหนือ (คลองบางบัวเหนือ) เขตสายไหม ได้ทดลองทำและใช้ด้วยตัวเองผ่านการเรียนรู้จากอาจารย์ผู้รู้ต่างๆ  โดยวิธีการผลิตใช้การหมักเปลือกผลไม้ เช่น ส้ม สัปปะรด เป็นต้น  อัตราส่วนเปลือกส้มต่อกากน้ำตาลต่อน้ำเป็น ๓:๑:๑๒  หมักในถังทึบแสงประมาณ ๔๕ วันถึง ๓ เดือน  และการนำไปใช้ให้เอาน้ำหมัก ๑ ลิตรผสมน้ำ ๒๐ ลิตรนำไปเทราดหรือรดในบริเวณที่มีน้ำเน่าเสีย พบว่ากลิ่นน้ำขยะเน่าเสียไม่มี  ซึ่งจากการใช้มาระยะหนึ่งมีข้อสังเกตว่า การใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ต้องใช้บริเวณน้ำนิ่งไม่ลึกมาก  แต่การใช้ EM Ball ใช้สำหรับน้ำนิ่งและลึกเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีผลการนำไปใช้กับสัตว์ เช่น สุกร  โดยนำน้ำผสมน้ำหมักให้สุกรดื่ม พบว่ากลิ่นมูลสุกรมีน้อยลงอีกด้วย

นอกจากการผลิตและใช้ภายในกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนต่างๆ แล้ว หน่วยงานอย่างการเคหะแห่งชาติได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับโครงการบ้านเอื้ออาทร  เนื่องจากการทำระบบบำบัดน้ำเสียโดยทั่วไปต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงได้หาทางเลือกอื่นเพื่อบำบัดน้ำเสียในชุมชน  โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คิวเซ) นำ EM ทั้งแบบก้อนและแบบน้ำมาใช้  ซึ่งพบว่าค่า BOD ใกล้เคียงกับค่าที่เกณฑ์มาตรฐานรับรอง  นอกจากนี้ชุมชนได้มีการแปรรูป EM แบบน้ำ ผลิตเป็นน้ำยาต่างๆ ในครัวเรือนอีกด้วย   เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งาน การเคหะแห่งชาติได้ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาวิจัยการใช้ EM  ซึ่งผลการวิจัยพบว่า หากใช้ในอัตราส่วนน้ำ EM ๑ ลิตรต่อน้ำเปล่า ๘๐๐ ลิตร สามารถลดกลิ่นน้ำเน่าเสียลงได้ และน้ำใสขึ้น แต่ค่า BOD ไม่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ลพบุรี อุทัยธานี สามารถช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียลงได้เช่นกัน  หรือในชุมชนวัดตึก กรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบปัญหาน้ำเน่าเสียจากขยะในบริเวณรอบๆ ชุมชน ได้ทดลองใช้ EM พบว่านอกจากจะลดกลิ่นน้ำเน่าเสียได้แล้ว ยังสามารถลดการเจริญเติบโตของยุงได้อีกด้วย

ความคิดเห็นของชาวบ้านต่อข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำ EM Ball ไปใช้ก็คือ ชาวบ้านอยากรู้ว่า “การนำไปใช้จริง” กับ “ผลการทดลองทางวิชาการ” ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ตรงกันหรือไม่ ?  เพราะจากที่ทดสอบและทดลองด้วยตัวเอง ก็ยังไม่เห็นว่าเกิดผลเสียอย่างไร  จึงอยากให้มีหน่วยงานทดสอบหรือทดลองว่า EM สามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงหรือไม่ ?

มุมมองนักวิชาการ: จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติจริง

ในมุมของนักวิชาการได้เสนอข้อคิดเห็นหลากหลาย  เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กล่าวถึงว่า ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องเท้ในระบบที่จะใช้จุลินทรีย์ในการแก้ปัญหา  ตัวอย่างเช่น ในอดีตพบปัญหาน้ำเสียจากโรงงานแป้งมัน จึงต้องการลดค่า COD, BOD และกระตุ้นการเกิดก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยจนสามารถควบคุมระบบบำบัดให้สร้างก๊าซชีวภาพได้   การที่จะใช้จุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียจากภาวะน้ำท่วมขังในปัจุบันนั้น ต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่ต้องการใช้ เช่น น้ำท่วมขังในที่จำกัด ในห้องน้ำ น้ำขังใต้ถุนบ้าน และต้องทราบ ชนิด ปริมาณ และสัดส่วน จุลินทรีย์ ที่จะนำไปใช้ให้ได้ผล

ที่ผ่านมา การพยายามใช้จุลินทรีย์แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย มีหลายหน่วยงานที่พัฒนาการผลิต EM Ball และจุลินทรีย์เดี่ยวบำบัดน้ำเสีย  เช่น องค์การเภสัชกรรม กรมพัฒนาที่ดิน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (DASTA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น  ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในวงกว้างในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา  ทางสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์จึงได้จัดประชุมหน่วยงานของรัฐฯ ที่มีการผลิต EM และจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน และดูแลให้มีคำแนะนำการใช้ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการของหน่วยงานที่แนะนำการใช้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการผลิต EM หรือ EM Ball  และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียในการใช้ EM และจุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำท่วมขังในพื้นที่กว้าง ยังไม่ชัดเจน

บางทัศนะได้ตั้งข้อสังเกตว่า EM Ball อาจมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ปนเปื้อนอยู่ได้  ในการผลิตต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต้องป้องกันร่างกายจากการสัมผัส  นอกจากนี้ การนำจุลินทรีย์จาก EM หรือ EM ball ใส่ลงในน้ำ อาจทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงได้ และอาจส่งผลเสียในระยะยาว

 

สรุปส่งท้าย

ขณะนี้ มีหลายหน่วยงานพยายามเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูผลจากภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่ต้องทำในลำดับแรกๆ คือการบรรเทาน้ำเน่าเสีย  เพื่อให้พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ   ซึ่งยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้ EM Ball ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ?  และยังขาดการประสานงานเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างชัดเจน   จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานเชื่อมประสานในด้านข้อมูล ทั้งที่ได้จากภูมิปัญญาชาวบ้านและหน่วยงานที่มีการผลิตและใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และที่ได้จากนักวิชาการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริง

ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปของการนำ EM Ball ไปใช้ ว่าเกิดประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ?  แต่ประเด็นนี้ได้นำไปสู่แนวทางแรกเริ่ม ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่จำนวนมากแต่ยังขาดการจัดการอย่างเหมาะสม และการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้อย่างผิดๆ  เพราะผลเสียที่ได้รับ อาจหมายถึงความเชื่อมั่นของคนในสังคมลดลง และอาจแผ่ขยายนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้

ปัญหาความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากรทั้งหลาย นำไปสู่ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก   ปัญหาการจัดการผังเมืองที่มีการรุกล้ำพื้นที่น้ำท่วมผ่าน (Flood Way) นำไปสู่หายนะของประเทศครั้งใหญ่  ผลที่ตามมาก็คือ การเกิดน้ำเน่าเสียเป็นวงกว้าง   ดังนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งใช้ EM Ball เป็นทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น  แต่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์  และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ

 

วรนาฏ  เวนุอาธร     เรียบเรียง/สังเคราะห์

ดร.กัญญวิมว์  กีรติกร     ตรวจทาน/แก้ไข

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476393

<<< กลับ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดองที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี สันติวัฒนธรรภม และการมีส่วนร่วม

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดองที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี สันติวัฒนธรรภม และการมีส่วนร่วม


วันที่  20  มกราคม  2555

 

เรียน    นายกรัฐมนตรี

 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและพื้นฟูประชาธิปไตยนั้น  คณะบุคคลและองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ   และเพื่อให้การดำเนินนโยบายสามารถบรรลุผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงและยั่งยืน  จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการส่งเสริมกระบวนการสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วม ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมกระบวนการสานเสวนาในการจัดการความขัดแย้งต่างๆ  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์  โดยใช้การฟังอย่างตั้งใจและไม่ด่วนสรุปตัดสินผู้อื่น  เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ไตร่ตรองและปรับเปลี่ยนตนเอง  อันจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาร่วมกัน
  2. สนับสนุนการปฏิบัติใช้กระบวนการสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วม รวมทั้งการเผยแพร่รูปธรรมของกระบวนการสานเสวนาในการจัดการความขัดแย้ง ที่ประสบผลสำเร็จแล้วในหลายกรณี  โดยผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้สังคมรับรู้  เห็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้ง  และสร้างความปรองดองในสังคมไทย
  3. จัดให้มีกลไกเพื่อดำเนินการตามข้อ 1. และ 2. ให้บรรลุผล  รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ  ทั้งนี้กลไกและมาตรการดังกล่าวต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมโดยตลอด

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ

นายโคทม  อารียา                    อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์           ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
สถาบันพระปกเกล้า

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม      ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

สำนักงานปฏิรูป

สภาพัฒนาการเมือง

สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย            สภาเครือข่ายพลเมือง

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

มูลนิธิกองทุนไทย

ประสานงาน     กรรชิต สุขใจมิตร   โทรศัพท์ 02-318-3959   มือถือ  082  3650432

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476396

<<< กลับ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”


กราบเรียน            ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ด้วยสังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย  แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยในช่วงเวลากว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตกว่าสี่พันคนแล้วนั้น  ข้าพเจ้า คณะบุคคลตามรายชื่อข้างท้ายนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายการเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล  และเพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ข้าพเจ้าจึงมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

  1. ในการจัดการความขัดแย้งใน จชต. ที่ซับซ้อนมากนั้น ควรมีการจำแนกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระบวนการที่จะร่วมกันพิจารณา เนื้อหาสาระ จังหวะเวลาและขั้นตอน และการตัดสินใจทางการเมือง ปัจจุบันมีโอกาสที่ดีที่จะขับเคลื่อน  ด้วยรัฐบาลได้แสดงวิสัยทัศน์และปณิธานทางการเมือง และประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองและความยุติธรรมมากขึ้น  ในเบื้องต้นรัฐบาลจึงควรสนับสนุนกระบวนการที่ดี ที่ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมพิจารณาเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง และการดำเนินงานในจังหวะเวลาที่เหมาะสม มากกว่าที่รัฐบาลจะตัดสินใจและดำเนินการฝ่ายเดียว
  2. ในการส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น  รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการจัดการตนเองของจังหวัด ซึ่งแม้จะเน้น จชต. แต่ก็รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย  โดยคณะกรรมการฯ ควรเสนอรูปแบบทางเลือกหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาในลำดับต่อไป
  3. ในการมีส่วนร่วมตามข้อ 2. นั้น รัฐบาลควรสนับสนุนกระบวนการสานเสวนาในแนวกว้างและแนวลึก ในพื้นที่และนอกพื้นที่ และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยที่ภาคประชาสังคมอาจทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ และสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นของรัฐ ช่วยนำเสนอการใช้เหตุผลของฝ่ายต่าง ๆ สู่การพิจารณาของสาธารณชน
  4. ในการนำสันติสุขกลับคืนมาและลดการใช้ความรุนแรงนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง โดยให้ความสำคัญแก่การพูดคุยนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และใช้หลาย ๆ ช่องทางเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและนอกภาครัฐ และรวมถึงการขอความร่วมมือจากมิตรประเทศ แต่ควรใช้กระบวนการที่คล้ายการทูตแบบเงียบ ๆ และใช้ความระมัดระวัง มิให้มีการใช้ประโยชน์ในการยกระดับความขัดแย้งสู่สากล

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายโคทม  อารียา                              อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

นายแพทย์วันชัย  วัฒนศัพท์            ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  สถาบันพระปกเกล้า

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม              ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

 

และในนามของ

  1. นายจอม  เพชรประดับ                              สื่อมวลชน
  2. นางสาวรุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช            International Crisis Group
  3. นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ                 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  4. นายกรรชิต  สุขใจมิตร                               มูลนิธิกองทุนไทย
  5. นางสาวราณี  หัสสรังสี                              คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. นางสาวประทับจิต  นีละไพจิตร             มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
  7. นายเอกราช  ซาบูร์                                      มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย
  8. พันเอกเอื้อชาติ  หนุนภักดี                        นักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข   สถาบันพระปกเกล้า
  9. นายเพิ่มศักดิ์  มกราภิรมย์                         สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  10. นายเอกพันธุ์  ปิณฑวณิช                          สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  11. นางสาวใจสิริ  วรธรรมเนียม                    สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  12. นายพลธรรม์  จันทร์คำ                              สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  13. นางสาวศิริพร  เพ็งจันทร์                          สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476482

<<< กลับ

 

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม


   “สันติวิธี” เป็นการมุ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นการมุ่งประโยชน์ร่วมกัน เป็นการเห็นคุณค่าของ “สันติภาพ” หรือ “สันติภาวะ”

“วัฒนธรรม” เป็นแบบแผนการ คิด พูด ทำ ที่สั่งสมจนเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติเป็นปกติในกลุ่มชนหนึ่งๆ

“สันติวิธี” ควรพัฒนาเป็น “วัฒนธรรม” และ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรมี “สันติวิธี” อยู่ด้วย หรือ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรนำสู่ “สันติภาวะ”

                    “วัฒนธรรม” เชื่อมโยงแบบ “พหุปฏิสัมพันธ์” กับ “จิตสำนึก” “ระบบคิด” และ “การปฏิบัติ”

“จิตสำนึก” / “ระบบคิด” 2 แบบ ได้แก่

1. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “สมานฉันท์” เช่น

1.1 ตามธรรมะพระพุทธเจ้า

• กัลยาณมิตตตา

• พรหมวิหาร 4

• อปริหานิยธรรม 7

• บุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นต้น

1.2 ตามพระราชดำริในหลวง

• รู้ รัก สามัคคี

• ไมตรี (พระราชดำรัส 5 ธ.ค. 42)

• เศรษฐกิจพอเพียง

• เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

• คุณธรรม 4 ประการอันเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี (พระราชดำรัส 9 มิ.ย. 49) เป็นต้น

1.3 ตามหลักการพัฒนา/การบริหาร/การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ดี

• The 7 Habits of Highly Effective People

• Appreciative Inquiry (AI)

• Appreciation, Influence, Control (AIC)

• Knowledge Management (KM)

• Participatory Learning

• Learning Organization

• Conflict Management/Resolution

• Dialogue

• Restorative Justice   เป็นต้น

2. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “ปฏิปักษ์” ได้แก่

• ต่อสู้แย่งชิง

• แก่งแย่งแข่งขัน

• พวกเราพวกเขา

• เราดีเขาเลว

• คณะนิยม (ปฏิปักษ์กับคนอื่น)

• โลภมากอยากได้ (เงิน อำนาจ อิทธิพล ฯลฯ)   เป็นต้น

“วัฒนธรรมที่ดี” สามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง แต่ “สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม” อาจกลายเป็นสาเหตุหรือปัจจัยให้เกิดการขัดแย้งได้ เช่น การมองว่า “วัฒนธรรมของเรา” ดีกว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” หรือการพยายามนำ “วัฒนธรรมของเรา” ไปครอบงำคนอื่น หรือ การมองว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” ยังไม่ดีพอ หรือการติดยึดกับ “วัฒนธรรมของเรา” จนเกินความพอดี    เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารงานวัฒนธรรม

1. การค้นหา “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” ที่เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” หรือ “สันติวิธี”

2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” เหล่านั้น รวมถึงประเด็นต่อเนื่อง

3. การรวมตัวเป็น “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” ของ “บุคคล” หรือ “องค์กร” หรือ “พื้นที่” เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

4. การจัดกิจกรรม “ค้นหาจุดดีเด่น” และ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “จัดการความรู้” (Knowledge Management) (ตามข้อ 1. และ 2.) ภายใน “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” (ตามข้อ 3.)

5. “การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (Interactive Learning through Action) อย่างต่อเนื่อง

(บันทึกความคิดสำหรับการร่วมอภิปราย หัวข้อ “สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม” เมื่อ 13 ก.ค.49 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การฝึกอบรมผู้บริหารเครือข่ายวัฒนธรรม” ประจำปี 2549 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ค. 49

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/40140