(ลงในหนังสือ “แสงแห่งความคิด ที่จะส่งความสว่างต่อๆไป” ซึ่งเป็นหนังสือเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2554 โดยเป็นบทสัมภาษณ์ “10 ผู้ห่วงใยสังคม”)
สถานการณ์ประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเป็นห่วงอนาคตประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลลัพธ์ที่เห็น คือ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนสองฝ่ายที่มีความคาดหวังและการรับรู้ที่ต่างกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนด้อยโอกาส ไม่ได้รับความเป็นธรรม และความเสมอภาคในเรื่องต่างๆ จนทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการเร่งสะสางปัญหาอย่างจริงจังครั้งใหญ่จากทุกภาคส่วนของสังคม
แต่ทว่า วิกฤตครั้งนี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิมโดยรอให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศกันใหม่ โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้น โดยให้ “คน” และ “ชุมชน” เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนา”
ด้วยความเชื่อที่ว่า การสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน”ซึ่งเป็น “ทุน” และ “ฐาน” ทางสังคมที่สำคัญให้สามารถจัดการ ดูแล และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จะเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
“กระจายอำนาจสู่ชุมชน” “ตั้งฐานของชาติให้แข็งแรง” คือ หัวใจของการปฏิรูปครั้งนี้
ในอดีต ความเข้มแข็งของสังคมชนบท คือ รากฐานความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดประชาชนในชนบททำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวิถีการดำรงชีวิตกลมกลืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การเร่งรัดพัฒนาประเทศเพียงชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยน ชุมชนอ่อนแอ ประสบความยากจน เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย สังคมไทยในภาพรวมจึงดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น การบ่มเพาะให้ประชาชนคุ้นชินแต่การเป็นผู้รอรับ รอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก ยิ่งลดทอนความสามารถและความพยายามในการช่วยเหลือตนเองลง
การปฏิรูปครั้งนี้ จึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปการบริหารประเทศโดยให้ชุมชนมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น มีอิสระในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง เปลี่ยนจากผู้ “รอรับ” เป็นผู้ “ขับเคลื่อน” การพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่า “เรื่องของใคร คนนั้นย่อมรู้ปัญหา รู้ความต้องการ และรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด” โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมเรียนรู้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการโครงการของรัฐและท้องถิ่นเพื่ออนาคตชุมชนด้วยตนเอง สอดคล้องตามความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่สืบทอดมา ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชุมชน เสียสละเพื่อชุมชน ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามแนวทางที่ท้องถิ่นปรารถนา
ในขณะที่ส่วนกลางหรือภาครัฐต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่จากการเป็น “ผู้สั่งการ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” หรือเป็นเพียง “ตัวช่วย” เท่านั้น
ย้อนรอยงานพัฒนาชุมชน : มองอนาคต ผ่านอดีต
คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ปรากฏขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ตามแนวคิดของ DR. Y.C. James Yen ผู้ก่อตั้งและประธานองค์การ Institute of International Rural Reconstruction (I.I.R.R.-สถาบันนานาชาติเพื่อการบูรณะชนบท) เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนที่มีใจรักงานพัฒนาชนบท โดยขณะนั้นใช้คำว่า Reconstruction ซึ่งแปลว่า “บูรณะ” อันหมายถึง “การทำของที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น”
แนวคิดการพัฒนาชนบทของดอกเตอร์เยนนั้น จะไม่เน้นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือชุมชน แต่จะเน้นการสร้างนักพัฒนาชุมชนให้เข้าไปคลุกคลี สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ร่วมกับชาวบ้านในการวิเคราะห์ปัญหา สร้างกระบวนการแก้ปัญหา และเริ่มต้นการพัฒนาบนรากฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิม พร้อมทั้งใช้หลักการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน 4 องค์ประกอบ คือ 1. การมีอาชีพ การทำมาหากิน 2. การมีสุขภาพอนามัยที่ดี 3. มีการศึกษาเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ได้ และ 4. การจัดการตนเอง
ส่วนการพัฒนาชนบทในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์1 ใน พ.ศ. 2510 และเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก ถือเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกที่ทำงานพัฒนาชนบทอย่างเป็นกิจลักษณะ ก่อนที่หน่วยงานราชการจะนำหลักการทำนองเดียวกันไปประยุกต์ใช้
กิจกรรมของมูลนิธิฯ ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ได้ชะลอตัวลงชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2531 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ มูลนิธิฯ จึงมีการฟื้นฟู และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า แนวคิดการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่าสี่ทศวรรษแล้ว ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชุมชน
แต่เริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 เมื่อรัฐปรับทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้น “คนและชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนา” มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และกลับหัวปิระมิดการพัฒนา“จากยอดสู่ฐานราก” มาเป็น “จากฐานรากสู่ยอด” ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” (Social Investment Fund : SIF) หรือ “กองทุนชุมชน” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ เป็นทั้ง “โอกาส” และ “บทเรียน” ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับทุนโดยตรงไปบริหารจัดการเอง เกิดโครงการที่ชุมชนคิด พัฒนา และบริหารกันเองอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของภาคประชาชน และเป็นการปรับแนวคิดและกระบวนการทางสังคมใหม่ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน
เรียนรู้อุปสรรค มุ่งมั่นพัฒนา
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้มาระยะหนึ่งแล้วแต่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะในทางปฏิบัติยังมีปัญหาและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอยู่มาก ได้แก่
1. การประเมินความสามารถของชุมชนในระดับต่ำ โดยประชาชนถูกมองว่าเป็นผู้ไม่รู้ ไม่มีความคิดในการคิดพัฒนา จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปควบคุม จัดการ เป็นผู้นำความคิดและการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้ชุมชนยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ
2. การขาดความอดทนและรอคอย ชุมชนเข้มแข็งต้นแบบทั้งหลายไม่ได้เข้มแข็งเพียงชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลานานมากเพื่อเรียนรู้และจัดการวิถีชีวิตของตนเอง แต่ชุมชนโดยมากมักต้องการทางลัด ต้องการสูตรสำเร็จ เมื่อพัฒนาแล้วไม่เห็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้น ก็เกิดความท้อแท้และท้อถอยไปในที่สุด
3. นิยมเลียนแบบ มากกว่าเรียนรู้ แม้จะมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการดูงาน แต่ใช่ว่าจะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเป็นแค่การเลียนแบบเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง
4. ประชาชนในชนบทขี้เกรงใจ ไม่กล้าแสดงออก ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ทำให้ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง การวางแผนการถ่ายทอดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถวัดผลได้ในทันที
5. ผู้นำหมู่บ้านตามกฎหมายมักไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติ โดยมากประชาชนจึงไม่ให้การยอมรับ ความร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจึงมีน้อย
6. ความเคยชินกับกรอบและระบบสั่งการจากข้างบนซึ่งมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ไม่ส่งเสริมความสามารถของชุมชน และยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ
7. ธรรมชาติของสังคมไทย เป็นสังคมตามกระแส สามารถตื่นตัวได้ง่ายๆ ตามกระแสนิยม แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสังคมที่ลืมง่ายเช่นกัน ธรรมชาติของการพัฒนาต่างๆ จึงมักเอาจริงเอาจังในช่วงต้น แผ่วกลาง และค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด ไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน
8. ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชุมชนกับการพัฒนาที่มักทำกัน กล่าวคือ
- การพัฒนาชุมชนมุ่งให้ความสำคัญกับคน มากกว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจ
- เน้นการมีส่วนร่วมโดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญอย่างแท้จริง มิใช่ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามารับรู้หรือร่วมด้วยบ้างตามหลักการหรือเพียงเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น
- ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและจัดการตนเองได้ โดยรัฐเพียงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและวิชาการตามสมควร แทนที่ จะต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอกตลอด
- ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือกระบวนการในการคิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ติดตามประเมินผล เรียนรู้จากการปฏิบัติและการประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาต่อไป เป็นวงจรเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง มิใช่ การมุ่งผลสำเร็จหรือเป้าหมายแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ความพยายามในการสร้างชุมชนเข้มแข็งก็ยังดำเนินเรื่อยมาภายใต้หลักการสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือ ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งมีจิตอาสา มีคุณธรรม และมีความสามารถ มีผู้สนับสนุนหรือสมาชิกที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันหรือมีอุดมการณ์ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมหรือการรวมกลุ่มของชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและเชื่อมกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น มีเอกลักษณ์หรือศักยภาพที่โดดเด่น เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงาม หรือทรัพยากรท้องถิ่นมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอก มีการเติบโตหรือพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่เร่งรัดฉาบฉวยมีกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และจากชุมชนสู่ชุมชน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชน มากกว่าความเข้มแข็งจากวัตถุ สามารถผลักดันให้กลไกของรัฐทำงานเอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
ขณะเดียวกันการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนควรมีองค์ประกอบดังนี้ด้วย คือ ประการแรก ชุมชนต้องวางแผนอย่างมีเป้าหมาย พร้อมสร้างตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ประการที่สอง ต้องมีการขยายผลจากภายในชุมชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกชุมชน ประการที่สาม มีงานศึกษา วิจัย ค้นคว้าด้านวิชาการประกอบร่วมกับการทำงานของชุมชน และประการสุดท้าย มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ปฏิบัติ และสร้างเสริมคุณภาพร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายผลการทำงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
เหนืออื่นใด คือ ต้องดำเนินไป ภายใต้ 3 กงล้อหลักที่จะขับเคลื่อนชุมชนให้มีทั้งความเข้มแข็ง ความเจริญ และสันติสุข อย่างยั่งยืน คือ
1. ความดี
2. ความสามารถ
3. ความสุข
ความดี หรือ การมีคุณธรรมประจำใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดพื้นฐานความดีจะทำกิจการงานใดๆ ก็ไม่ราบรื่น เช่น หากตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาแล้วมีการฉ้อโกงทุจริต ก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้ หรือมีการค้ายาเสพติด ทะเลาะเบาะแว้ง แตกความสามัคคี ขาดผู้นำที่ดี ชุมชนคงวุ่นวาย ขาดความสงบสุข
ความสามารถ ต้องรู้จักคิด แก้ปัญหา วางแผน จัดการ บริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน
ความสุข ทั้งสุขทางกาย คือ สุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขทางใจ ไม่โลภ โกรธ หลง มัวเมาในกิเลส อบายมุข รู้จักพอ สุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา คือ การเข้าถึงธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอด และสุขทางสังคม คือ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สงบ สันติ
โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน เกื้อกูลกัน อย่างดีพอ เพียงพอ และสมดุล และเกิดกับทั้งตัวคนและตัวชุมชน
พัฒนาการงานพัฒนาชุมชน ก้าวย่างอย่างมั่นคง
พัฒนาการของงานพัฒนาชุมชนที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ กระบวนการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง เข้มแข็งพอสมควร การรวมตัวของชาวบ้านทำได้ดีขึ้น เป็นระบบขึ้น เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในระดับจังหวัดและระดับภาค ธุรกิจชุมชนมีการเติบโตและขยายผล มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชน จัดสวัสดิการชุมชนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง เกิดสถาบันการเงินชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล และมีเครือข่ายในระดับจังหวัดและระดับชาติ สมาชิกองค์กรชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพารัฐน้อยลง เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแนวใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ขององค์กรชุมชนที่ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนเท่านั้นแต่ยังเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยง ขยายผล หรือดัดแปลงจากองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ ขณะที่รัฐเองก็ปรับลดบทบาท เพิ่มอำนาจให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมมากขึ้น
อีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของงานพัฒนาชุมชน คือ การที่เครือข่ายชุมชนได้ร่วมกันร่าง “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” ขึ้นในพ.ศ. 2550 เพื่อให้มี พ.ร.บ. ที่จะช่วยหนุนเสริม สร้างการยอมรับการทำงานแบบสภาองค์กรชุมชน และรับรองให้เวทีการปรึกษาหารือของชุมชนมีสถานะที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นประวัติศาสตร์ ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ทำให้องค์กรชุมชนทั้งหลาย รวมทั้งตัวแทนจากทุกหมู่บ้านที่มารวมกันเป็นสภาองค์กรชุมชน มีสถานะที่กฎหมายรองรับ สามารถเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยมีกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก
ซึ่งนับแต่มี “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” กระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดจากชุมชนฐานรากก็มีความเด่นชัดและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทีละเล็กละน้อยอย่างมั่นคง
จริงอยู่ที่การปฏิรูปประเทศไทย มิอาจทำสำเร็จได้ด้วยมิติใดมิติหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ในระยะเวลาพอสมควร
จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ บางเรื่องเป็นไปตามที่คาดหวังและบรรลุไปแล้วบางเรื่องยังต้องสานต่อ ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่บางเรื่องยังมิได้ดำเนินการ
แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ของคนชุมชน ที่ได้ติดตามหรือได้สัมผัสกับพัฒนาการของชุมชนมาหลายสิบปี พอจะมองเห็นความหวังว่า หากการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นไปตามกระบวนการนี้ โดยชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลัก ในการพัฒนา เน้นการจัดการตนเองเป็นกุญแจสำคัญ ก็น่าจะเชื่อได้ว่า ประเทศไทยภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้
10 ผู้ห่วงใยและปรารถนาดีต่อประเทศไทย เจ้าของบทสัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้
1. ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
2. ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
3. ดร. ประเสริฐ ภัทรมัย
ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัททีม
4. ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ
ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ และอาจารย์ประจำภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป
6. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
7. ดร. คณิศ แสงสุพรรณ
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)
และสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง
8. นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ
ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
9. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมือง
การปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10. พระไพศาล วิสาโล
เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ