แนวคิดด้านประชาสังคมกับการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แนวคิดด้านประชาสังคมกับการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ในโอกาสที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินงานมาครบ ๑๐ ปี นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ ๑ และปัจจุบันท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ท่านได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าให้ผู้เขียนเข้าพบในช่วงสายของวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ณ บ้านพักย่านสุขุมวิท เพื่อขอสรุปย่อคำบรรยายพิเศษที่ท่านได้บรรยายไว้ เรื่อง  ”ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย”  เนื่องจากมีเนื้อหาและแนวคิดที่สภาที่ปรึกษาฯ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงขออนุญาตเพื่อนำมาลงในหนังสือ ๑ ทศวรรษของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในครั้งนี้ด้วย ซึ่งท่านก็ได้อนุญาต นอกจากนี้ท่านยังกรุณาให้ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

 

ดังนั้นบทความในหัวข้อนี้จึงแบ่งออกเป็น ๒ ตอน โดยตอนที่หนึ่งเป็นสรุปการสนทนาที่เกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตอนที่สองเป็นแนวคิดด้านประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤต ที่นำมาจากบทคัดย่อของการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย“ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

 

ตอนที่หนึ่ง สรุปการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม มิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การทำงานควรยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก และทำงานในรูปแบบคล้าย ๆ กับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ๑๔ ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป  คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป คณะกรรรมการเครือข่ายผู้พิการเพื่อการปฏิรูป เป็นต้น โดยคณะกรรมการทั้ง ๑๔ ชุดนี้ จะไประดมความคิดเห็นแล้วจัดทำเป็นข้อสรุปเสนอคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  เพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ต่อไป

 

การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ก็เช่นกันควรเน้นการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน หากทำโดยสมาชิกทั้ง ๙๙ คน จะเป็นแบบผู้แทน แต่หากทำโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วยจะมีพลังมากกว่า แล้วนำความเห็นที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์ต่อไป   ในการเชื่อมโยงกับภาคประชาชนนั้นในแต่ละจังหวัดซึ่งมีประชาสังคมอยู่แล้ว ประชาสังคมคือภาคประชาชนที่เน้นหนักถึงกิจกรรม เป็นนักกิจกรรม รวมถึงชาวบ้านด้วย เป็นการทำเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อตัวเอง ตัวเองอาจไม่เดือดร้อนโดยตรงแต่เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม ทำให้กับสังคม นักกิจกรรมทำงานเพราะชาวบ้าน เพราะส่วนรวมเดือดร้อน หรือการที่กลุ่มองค์กรไม่เห็นด้วยกับการทำลายทรัพยากร ก็ออกมาแสดงความคิดเห็น เป็นการทำเพื่อส่วนรวม

 

ในแต่ละจังหวัดมีประชาคมอยู่แล้ว หลาย ๆ ประชาคมรวมกันก็เป็นประชาคมจังหวัด สภาที่ปรึกษาฯ ควรไปเก็บเกี่ยวความเห็นจากภาคประชาชนซึ่งในบางประเด็นเขามีความคิดเห็นอยู่แล้ว

นอกจากนี้การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ควรยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำงานเป็นภูมิภาค แต่ละภูมิภาคมีปัญหาไม่เหมือนกัน จะได้เห็นความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

 

            ตอนที่สอง   แนวคิดด้านประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ เป็นบทคัดย่อจากการบรรยายพิเศษเรื่อง  “ประชาสังคม : ความคาดหวังของสังคมไทย”  โดยการตอบคำถามใน ๓ ข้อคือ ประชาสังคมคืออะไร ประชาสังคมจะมีส่วนช่วยปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร และควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ซึ่งคำตอบทั้ง ๓ ข้อนี้มีดังนี้

. ความหมายของ “ประชาสังคม”

ประชาสังคมคือกิจกรรมของประชาชนที่มาทำเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้โดยไม่มีอำนาจอะไร ถ้ามีอำนาจ เช่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรัฐมนตรี พอใช้อำนาจแล้วตรงนี้เป็นภาครัฐ หรือถ้ามารวมตัวกันและไปค้าไปขาย ซื้อของไปขายได้กำไรเอามาแบ่งกัน อย่างนี้เรียกว่าธุรกิจ

ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไปด้วยกัน ประชาชนเป็นฐาน ประชาสังคมเป็นกิจกรรมคือเกิดเป็นองค์กร เป็นกลุ่มขึ้นมาหรือเป็นเครือข่าย เราเรียกว่าองค์กรประชาสังคม หรือ เครือข่ายประชาสังคม เป็นกิจกรรมประชาสังคม ทั้งหมดรวม ๆ แล้ว เรียกว่าภาคประชาสังคม หรือ   Civil Society Sector

สรุปได้ว่าเมื่อมีประชาชน มีกิจกรรม ก็เกิดเป็น “ประชาสังคม” จากนั้นจึงเกิดอีก ๒ อย่างตามมา ได้แก่ “ภาคธุรกิจ” และ “ภาครัฐ” นั่นคือประชาชนมีการค้าขาย มีการผลิต มีการจำหน่าย เราเรียกว่า “ภาคธุรกิจ” พร้อมกันนั้น เมื่อคนมาอยู่ร่วมกัน มีเรื่อง มีประเด็นมากขึ้น ก็ต้องมีคนมาดูแลจัดระเบียบ ออกกฎข้อบังคับจึงเกิดเป็น “ภาครัฐ” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลสังคม ฉะนั้นสังคมจึงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ

๑.)  ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม

๒.)  ภาคธุรกิจ

๓.)  ภาครัฐ

ที่เรียงลำดับเช่นนี้เพราะว่าระดับการเกิดเป็นแบบนั้น ในความคิดเชิงรัฐศาสตร์หรือเชิงการบริหารจัดการบ้านเมือง ภาคประชาชนควรสำคัญที่สุด ภาคธุรกิจสำคัญรองลงมา และภาครัฐควรสำคัญน้อยที่สุด คำว่าสำคัญหมายถึง ความยิ่งใหญ่ ความมีศักดิ์ศรี ความมีบารมี ควรอยู่ที่ภาคประชาชนเป็นอันดับต้น ส่วนภาคธุรกิจรองลงมา และภาครัฐควรน้อยที่สุด ภาครัฐคือผู้รับใช้ประชาชนเพราะได้รับมอบหมายอำนาจมาจากประชาชน

 

ฉะนั้นจึงหวังว่าคำว่า “ประชาสังคม” ไม่ใช่คำที่ลึกลับซับซ้อนมากมายอะไร ก็คือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันกระทำในเรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เราก็เรียกว่าประชาสังคม ส่วนอีก ๒ ภาคคือภาคธุรกิจและภาครัฐก็มีความสำคัญด้วย และในสังคมที่ดี ๓ ภาคนี้จะต้องเชื่อมโยงเกี่ยวพันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งผมจะได้พูดถึงในอันดับต่อไป

            ๒ . ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทย

ในสภาวะที่บ้านเมืองวิกฤติและหลายฝ่ายได้ออกมาบอกว่าเราจะต้องปฏิรูปประเทศไทย พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความปรองดอง

การปฏิรูปคือการปรองดองทางอ้อมหรือการปรองดองระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ถ้าจะพูดถึงการปรองดองทางตรงก็คือให้คู่กรณีมาพูดจากันจนกระทั่งหาข้อตกลงร่วมกันได้ หย่าศึกกันได้ จนกระทั่งเรื่องร้อนมันเย็นลง อาจจะไม่ถึงกับหันมารักกันแต่ก็อย่างน้อยเรื่องร้อนเย็นลงและฝ่ายที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำร้ายกัน

 

ประชาสังคมต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแน่ ๆ และควรต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการปฏิรูปนั้น สำคัญที่ว่าคนไปจัด ๆ ให้ดีได้อย่างไร จัดสมัชชาให้ดีอย่างไร จัดสัมมนาระดมความคิดให้ดีอย่างไร จัด Focus group อย่างไรถึงจะดี

 

การทำอะไรยาก ๆ ที่สลับซับซ้อนหรือที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งที่เราพยายามแก้ไข พร้อมกับความพยายามจะปฏิรูปซึ่งจะเป็นการปฏิรูปภายใต้ภาวะความขัดแย้ง การจะทำเรื่องที่ยาก ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนเช่นนี้ ควรต้องมี ๓ องค์ประกอบที่สำคัญประสานพลังกันอย่างเพียงพอและสมดุลย์ ได้แก่

องค์ประกอบที่  ๑  คือเรื่องกระบวนการ วิธีที่เราดำเนินการเป็นอย่างไร มีจังหวะ มีลีลา มีขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไร และอื่น ๆ

องค์ประกอบที่  ๒  เรื่องทัศนคติ เราจะสร้างทัศนคติหรือสร้างบรรยากาศให้ดีได้อย่างไร

องค์ประกอบที่  ๓  คือเรื่องสาระ เป็นตัวเนื้อหาที่จะหยิบยกขึ้นหารือ เจรจาต่อรอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ในที่สุด

 

ส่วนใหญ่ที่ความพยายามปรองดองไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรามักกระโจนเข้าสู่สาระเลย และข้ามขั้นตอนหรือขาดองค์ประกอบในด้านกระบวนการที่เหมาะสม และขาดการสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่สามารถได้ข้อตกลงที่พอใจหรือยอมรับร่วมกันได้ ถ้าจัดกระบวนการดี สร้างบรรยากาศดี ทำให้เกิดทัศนคติดี สาระดีๆ จะตามมา ฉะนั้น ถ้าจะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยก็ขอให้ดำเนินการโดยที่ว่ามีการจัดกระบวนการที่ดี  มีการสร้างทัศนคติที่ดี จะช่วยให้ได้สาระที่ดี  เกิดเป็นข้อตกลงที่พอใจร่วมกัน  นั่นคือ  คลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้

 

            ๓ . ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

 

การส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดกลไกระดับจังหวัด เป็นกลไกพหุพาคีคือหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกันที่จังหวัด เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์ หรือช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่พึงปรารถนา พหุภาคีนี้ควรที่จะได้สมดุลย์ระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ภาคประชาชนก็คือภาคประชาสังคมถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉะนั้นเริ่มต้นต้องนึกถึงตัวแทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานล่างที่สุดและเขามีกลไกอยู่แล้ว มีเครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับชาติ มีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ทั้งระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติเช่นเดียวกัน เป็นต้น

 

นอกจากบรรดาองค์กรชุมชนต่าง ๆ แล้วก็จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัด พวกนี้ได้แก่ นักจัดกิจกรรมหรือทำกิจกรรมทั้งหลาย ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องสร้างคุณธรรม จริยธรรม เรื่องส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มูลนิธิ สมาคม ทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในคำว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเขามีเครือข่ายอยู่และก็สามารถมารวมตัวกันหรือส่งตัวแทนมาในระดับจังหวัดได้ นี่คือ ภาคประชาชนและประชาสังคม ขยายความอีกหน่อยก็ต้องรวมถึงสถาบันวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในจังหวัดที่เราจะขับเคลื่อน หรืออยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เพราะเขาเป็นนักวิชาการที่จะมาเป็นประโยชน์ได้ นอกจากมหาวิทยาลัยก็มีวิทยาลัย โรงเรียน ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ได้ด้วย มีสถาบันศาสนา สถาบันจริยธรรม สถาบันศิลปะวัฒนธรรม ศิลปิน สื่อ สื่อท้องถิ่น สื่อในจังหวัด หรือสื่อระดับชาติที่ไปทำงานที่จังหวัด เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า “ภาคประชาชนและประชาสังคม”  ซึ่งคือชุดที่ ๑

 

ชุดที่ ๒ คือภาคธุรกิจ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สภาการท่องเที่ยว ซึ่งต้องทำงานในเชิงพื้นที่ ถึงจะเห็นรูปธรรม เสนอให้จัดกิจกรรม กระจายคลุมทั้งประเทศได้ ซึ่ง พื้นที่ที่คิดว่าเป็นพื้นที่ระดับยุทธศาสตร์คือจังหวัด ผมได้เคยเสนอแนะว่าอาจจะลองไปทำที่จังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ เช่นจังหวัดนครปฐม เพราะบังเอิญมีมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่และเขาก็สนใจที่จะร่วมด้วย ฉะนั้นถ้าไปจัดที่นครปฐมก็จะมีตัวแทนขององค์กรชุมชน ของประชาสังคม ของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายศาสนา ฝ่ายสื่อ และอื่นๆของจังหวัดนครปฐม ส่วนภาคธุรกิจในจังหวัดนครปฐม ก็จะมี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม สภาการท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม ชมรมธนาคารจังหวัดนครปฐม และอาจมีสภาธุรกิจตลาดทุนจังหวัดนครปฐมด้วยก็ได้ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ แต่เฉพาะภาคธุรกิจมี 5-6 แขนง พร้อมเข้าร่วมได้อย่างแน่นอน

 

ชุดต่อไปหรือชุดที่ ๓ ก็คือ ภาครัฐ ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค นายอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล ก็ถือเป็นภาครัฐประเภทท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ  และองค์กรภาครัฐอื่นๆ  เช่น  สปสช., สสส., พอช.,  สช.  ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ควรมารวมพลังกัน ผมเรียกว่า “เครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” หรืออาจเรียกยาว ๆ ว่า “เครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา” ซึ่งเขาจะต้องไปทำงานร่วมกัน และก็คิดกันว่าอยากจะเห็นจังหวัดของเขาพัฒนาไปอย่างไร และเขาจะทำอะไรกันบ้าง อะไรที่เขาทำได้เอง อะไรที่จะนำเสนอหน่วยเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ เช่นบางอย่างต้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายหรือข้อบังคับหรือแก้ไขนโยบาย บางอย่างจังหวัดทำได้เองแต่ต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทำ หรือ อบจ.ทำ หรือเทศบาลทำ หรือ อบต.ทำ บางอย่างต้องลงไปถึงระดับท้องถิ่นหรือระดับชุมชน  นั่นคือ  ชุมชนเองควรต้องทำอะไร  หรืออาจแยกเป็นชุมชนในท้องถิ่นจะทำอะไร  โรงเรียนในท้องถิ่นจะทำอะไร  วัดในท้องถิ่นจะทำอะไร  ฯลฯ

 

กล่าวโดยทั่วไป “ประชาสังคม” คือกิจกรรมที่ดีของประชาชน เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน แต่การส่งเสริมสนับสนุนถ้าเราเลือกจุดที่เป็นยุทธศาสตร์  เช่น กรณีที่ผมเสนอเกี่ยวกับ “ การรวมพลังเครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” นั้น ผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์สามารถทำได้ทุกจังหวัด แต่อย่าไปทำพร้อมกันทุกจังหวัด ควรเริ่มเพียง ๑,๒,๓ จังหวัด แล้วค่อยขยาย ถ้าทำแล้วผลออกมาดีจะมีจังหวัดอื่นตามมาและจะไปได้เร็วในภายหลัง โดยเป็นการไปเร็วที่ได้ผลดีด้วย

หมายเหตุ

1 จรัสโฉม วีระพรวณิชย์กุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ  สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2 สรุปคัดย่อจากคำบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ประชาสังคม: ความคาดหวังของสังคมไทย” โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ ๘-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมแม่น้ำรามาดาพลาซา กรุงเทพฯ

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/415090

<<< กลับ

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในรายงานประจำปี 2553 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในรายงานประจำปี 2553 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)


ในสังคมมี 3 องค์ประกอบหลักที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อให้บุคคล ชุมชน องค์กร   สังคม สามารถเจริญก้าวหน้า  พร้อมกับความสงบสันติสุขและมั่นคง อย่างต่อเนื่องยั่งยืน  นั่นคือ ความดี ความสามารถ และความสุข ความดีจึงเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบสำคัญ ที่สมควรต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆกับอีก 2 องค์ประกอบสำคัญให้เชื่อมโยงเกื้อหนุนและได้ดุลซึ่งกันและกัน

การจะทำให้ความดีเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างทั่วไป และอย่างเป็นขบวนการ(Movement) ต้องใช้ยุทธศาสตร์ 6 ประการ ได้แก่

ประการแรก การสร้างเครือข่าย เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อให้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ขับเคลื่อนเรื่องความดี และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนรู้เพิ่มพลังให้แก่กันและกัน

ประการที่สอง ความรู้ที่เหมาะสม  เพราะการขับเคลื่อนสิ่งใดโดยปราศจากความรู้ก็เหมือนปราศจากเข็มทิศ และการค้นหายุทธศาสตร์ที่มีความรู้เป็นฐานย่อมได้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนหนักแน่นสอดคล้องกับความเป็นจริง

ประการที่สาม การสื่อสารที่ดี  ทำให้ความดีได้รับการถ่ายทอดแพร่ขยายและเป็นที่เข้าใจตลอดจนสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจอย่างกว้างขวางเพียงพอ

ประการที่สี่ มีนโยบายที่ดี  ที่สนับสนุนเกื้อกูลการทำความดีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในทุกระดับ นั่นคือทั้ง ระดับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กร และสังคมโดยรวม

ประการที่ห้า การจัดการที่ดี ทั้งทีเป็นการจัดการ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม และการจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ประการที่หก  การเรียนรู้และพัฒนาหรืออภิวัฒน์ อย่างต่อเนื่อง โดยเรียนรู้จากการกระทำและการเรียนรู้จากแหล่งหรือวิธีการอื่น ๆ ให้นำไปสู่การกระทำ และการดำเนินการที่ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ

 

6 ขวบปีของศูนย์คุณธรรม กับการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจในการเสริมหนุน เชื่อมประสาน เพิ่มพลังเครือข่ายในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่เป็นการรวมพลัง ยกระดับ แพร่ขยายในบริบทต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม ศูนย์คุณธรรมได้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวมาโดยตลอด

 

อีกภารกิจหนึ่งที่ศูนย์คุณธรรมขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องสมัชชาคุณธรรม เป็นกระบวนการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ของเรื่องคุณธรรมความดีและยกย่องความดี เพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับผู้เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน ชุมชน วัด หรือธุรกิจนำไปปฏิบัติเอง และระดับที่เป็นนโยบายสาธารณะ

โดยในแต่ละปีจะกำหนดประเด็นหนึ่งขึ้นมาตามบริบทและความเร่งด่วนของสังคม ในปีที่ผ่านมาความดีที่สำคัญและเป็นประเด็นเร่งด่วนคือเรื่องความซื่อตรง ซึ่งความซื่อตรงก็คือความหมายรวมของความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง นั่นเอง

 

ในปี 2553 ศูนย์คุณธรรมจึงได้จัดสมัชชาคุณธรรมขึ้น ตามแนวคิดหลักส่งเสริมคุณธรรม เรื่อง “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายระดับภูมิภาคใน 7 ประเด็นย่อย ได้แก่ ประเด็นการศึกษา ประเด็นชุมชน ประเด็นศาสนา ประเด็นธุรกิจ ประเด็นสื่อ ประเด็นนักการเมือง และประเด็นข้าราชการ ต่อจากนี้ไปจะเป็นการประมวลรวบรวมความรู้ความคิดจากกระบวนการสมัชชาระดับภูมิภาค สังเคราะห์ร่วมกันเป็นปฏิญญา(ข้อตกลงร่วมกัน) แผนปฏิบัติการ และข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำทั้งหมดเสนอในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์หรือช่วยกันเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แม้วันนี้ศูนย์คุณธรรมจะเดินหน้ามาไกลพอสมควร หากดูจากผลงานการสร้างเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ การสื่อสาร การเสนอแนะนโยบาย การบริหารจัดการ ตลอดจนการเรียนรู้และพัฒนาหรืออภิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่เรื่องของคุณธรรมความดีเป็นเรื่องที่หยุดนิ่งไม่ได้ เพราะหากหยุดก็เหมือนกับกำลังก้าวถอยหลัง ภาระงานของศูนย์คุณธรรมจึงต้องใช้ทั้งพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา และพลังคุณธรรมในการขับเคลื่อน ผมในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ขอชื่นชมกับการทำงานของกรรมการ  ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่   และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์คุณธรรมทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจกับก้าวต่อ ๆ ไปของภารกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อทุกคนทุกฝ่าย ต่อชุมชน องค์กร สถาบัน และองค์ประกอบอื่น ๆ ของสังคม ตลอดจนต่อสังคมโดยรวม ทั้งสังคมไทยและรวมถึงสังคมโลกด้วย

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/425198

<<< กลับ

ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัย

ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัย


เอกสารประกอบการปาฐกถา  เรื่อง  “ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัย”  ในสัมมนาระดับชาติชุมชนปลอดภัยครั้งที่ 2  จัดโดยคณะอนุกรรมการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านป้องกันอุบัติภัยและสาธารณภัย  ในคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.)  ร่วมกับองค์การอนามัยโลก  (WHO Collaborating Center on Community Safety Promotion)  ในวันที่  22  กุมภาพันธ์  2554  ณ  ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/428996

<<< กลับ

ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก

ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก


คำนิยมเอกสารวิจัย  “ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก”  โดย รศ.ดร.สันติ  ถิรพัฒน์  น.ส.เพียงดาว  วัฒนายากร  และคณะ

“ชุมชน” เป็นฐานรากสำคัญของสังคม  ถ้าชุมชนเข้มแข็งมั่นคง  จะช่วยให้สังคมมีความแข้มแข็งมั่นคง  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ  แต่ถ้าชุมชนอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยให้เกิดระบบอุปถัมภ์นิยม  อำนาจนิยม ได้ง่าย  บั่นทอน  ปิดกั้นไม่ให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมั่นคง   บั่นทอนปิดกั้นไม่ให้สังคมมีความเท่าเทียมเป็นธรรม  และบั่นทอนปิดกั้นไม่ให้เกิดประชาธิไตยแบบประชาชนร่วมไตร่ตรอง (Deliberative Democracy)  รวมทั้งขาดความมั่นคงเข้มแข็งเป็นธรรมในระบบการเมืองการปกครอง

ดังนั้น  อะไรก็ตามที่เอื้ออำนวยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมั่นคง ย่อมเป็นเรื่องพึงส่งเสริมสนับสนุนและศึกษาวิจัย เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและเพิ่มเติมองค์ความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขป้องกันปัญหาและหรือส่งเสริมพัฒนาในเรื่องนั้น ๆ ให้เกิดสภาพที่พึงปรารถนามากยิ่งขึ้น

“ชุมชน” จะเข้มแข็งมั่นคงได้ ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ  ทั้งในกรณีระบบการบริหารจัดการชุมชนโดยรวม และในกรณีระบบการบริหารจัดการองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง หรือมิติใดมิติหนึ่งของชุมชน

“องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ องค์กรการเงินชุมชน”  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชุมชน เพราะองค์กรการเงินชุมชนเป็นทั้ง “เป้าหมาย”  ของการพัฒนาชุมชน  (ให้สมาชิกชุมชนและชุมชนโดยรวม มีความมั่นคงทางการเงิน)  ทั้งยังเป็น “เครื่องมือ” สำคัญในการนำสู่การพัฒนาชุมชนโดยรวม เพราะ “องค์กรการเงินชุมชน” ที่ดี  จะหมายถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม  ซึ่งรวมถึงการมี  ความซื่อสัตย์สุจริต  ความพากเพียรอดทน   ความรักความสามัคคีเอื้ออาทรแบ่งปัน   และอื่น ๆ  “องค์กรการเงินชุมชน” ที่ดี ยังหมายถึงการมีความรู้ ความสามารถที่ดี อันเป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของชุมชนที่จะเข้มแข็งมั่นคงได้  และ “องค์กรการเงินชุมชนที่ดี”  จะเป็นองค์กรที่มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส รับผิดชอบ ร่วมคิดร่วมทำ  และอื่น ๆ ซึ่งคือรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดี  ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติ  นอกจากนั้น “องค์กรการเงินชุมชน” ที่ดี ยังมักจะมีมิติของการช่วยดูแลสวัสดิการและความอยู่เย็นเป็นสุขของสมาชิกชุมชน ทำให้ชุมชนโดยรวมมี “ความสุข”  อันเป็นผลลัพธ์สุดท้ายข้อสำคัญของการพัฒนาหรือของการเมืองการปกครองในระดับชุมชน

“องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ “องค์กรการเงินชุมชน”  มีอยู่จำนวนมากกว่า 100,000  แห่ง  และกระจายตัวอย่างกว้างขวางอยู่ในทุกจังหวัดในประเทศไทย   จึงนับว่ามีความสำคัญมาก  และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งมั่นคง ตลอดจนมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย ทั้งในระดับชุมชนและในระดับชาติ  การช่วยให้องค์กรการเงินชุมชนมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุน  ซึ่งองค์กรการเงินชุมชนจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งมั่นคงต่อไปได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ  3 ประการ ได้แก่  (1) “มีความดี”  ซึ่งรวมถึงการมี “ธรรมาภิบาล”  ในการบริหารองค์กร  (2)  “มีความสามารถ”  ซึ่งหมายถึง การบริหารองค์กรที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีผู้บริหารและบุคคลากรที่ดี ซึ่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร  อุทิศตนเพื่อส่วนรวม  เป็นต้น  ซึ่งส่วนหนึ่งของความสามารถดังกล่าวรวมอยู่ในคำว่า “ธรรมาภิบาล”  เช่นเดียวกับข้อที่ว่าด้วย “ความดี”  และ (3) “มีความสุข” ซึ่งหมายถึงความสุขทั้งของสมาชิกชุมชน แต่ละคนแต่ละครอบครัว และความสุขของชุมชนโดยรวม และคำว่า “ความสุข”  หมายความรวมถึง (1) ความสุขทางกาย (2) ความสุขทางใจ (3) ความสุขทางจิตวิญญาณหรือความสุขทางปัญญา และ (4) ความสุขทางสังคมหรือความสุขในการอยู่ร่วมกัน

ดังนั้น การวิจัยหัวข้อ “ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก” โดยคณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      (รศ.ดร.สันติ  ถิรพัฒน์  น.ส.เพียงดาว  วัฒนายากร และคณะ)  จึงมีประโยชน์และมีความสำคัญ เพราะช่วยให้เกิดความเข้าใจและเพิ่มองค์ความรู้ในเรื่องที่ถือเป็น ส่วนสำคัญในการช่วยให้ “องค์กรการเงินในระดับฐานราก”  หรือ “องค์กรการเงินชุมชน”  มีสถานะมั่นคง และมีความเจริญก้าวหน้าในกิจการมากยิ่งขึ้น  ซึ่งงานวิจัยเรื่อง “ชุมชน”  ตลอดจน “องค์กรการเงินชุมชน” ในประเทศไทย ยังมีน้อยเกินไป ถ้าจะส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งมั่นคง ซึ่งเท่ากับเป็นการปูพื้นฐานที่เข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคมไทย จึงควรมีงานวิจัยทำนองนี้ให้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น   ทั้งการวิจัยในมิติใดมิติหนึ่งเช่นในกรณีงานวิจัยนี้   ซึ่งจับประเด็นเรื่อง “ธรรมาภิบาล”  และการวิจัยองค์กรการเงินในภาพรวมหรือในเชิงระบบ ตลอดจนการวิจัย “ชุมชน”  ทั้งในมิติใดมิติหนึ่ง และในเชิงระบบหรือในภาพรวมด้วย

ต้องชื่นชมและขอบคุณคณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พากเพียรพยายามทำการวิจัยเรื่อง “ธรรมาภิบาลขององค์กรการเงินในระดับฐานราก” จนเสร็จสิ้นเรียบร้อย และหวังว่าจะมีคนวิจัยทำนองนี้ในมิติอื่น ๆ  ตลอดจนในระดับภาพรวมหรือในเชิงระบบมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย  จากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ  จากสถาบันวิจัย และจากนักวิจัยทั่วไป  ซึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ซึ่งย่อมรวมถึง การพัฒนา “องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ “องค์กรการเงินชุมชน” ด้วยนั้น  คงจะสนใจและยินดีส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวให้มากพอ  เพื่อจะได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการวิจัย  โดยเฉพาะ “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม”  (Participatory Action Research)  มาช่วยเสริมหนุนการพัฒนาชุมชนโดยรวมให้ประสบความสำเร็จดียิ่งขึ้นเป็นลำดับ

 

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/428997

<<< กลับ

มากกว่าเงินตรา

มากกว่าเงินตรา


(คำนิยมสำหรับหนังสือ  “มากกว่าเงินตรา”  โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ)

 

โลกทุกวันนี้กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมืองการปกครอง สังคม วัฒนธรรม จิตสำนึก หลักคิด วิธีคิด และอื่น ๆ

ปัจจัยหลัก ๆ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้แก่  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่เสื่อมทรุดและบีบคั้นมนุษย์มากขึ้น ๆ ทุกขณะ   ภาวะทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดภาวะวิกฤตอันได้แก่ ความล้มเหลวล่มสลายหรือล้มละลายเป็นระยะ  ๆ  หลายต่อหลายครั้ง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่เริ่มในประเทศที่ร่ำรวย ก้าวหน้าที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาเมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว  เป็นผลให้สถาบันการเงินและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดหลายแหล่งอยู่ในภาวะล้มละลาย  และภาวะวิกฤตนี้ได้แพร่ขยายไปยังประเทศในยุโรป เอเซีย และอื่น  ๆ  เป็นลูกโซ่  สะเทือนมาถึงประเทศทั่ว ๆ ไปอย่างประเทศไทยด้วย

ภาวะวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนวกกับภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ คงเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาตั้งสติ “คิดใหม่ ทำใหม่”  หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและวิธีการประกอบธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ต้องพยายามดูแลเอาใจใส่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังต่อเนื่องแล้ว ยังต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องชุมชนรอบข้าง และสังคมโดยรวม  การดูแลเอาใจใส่เรื่องวิธีการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร ตลอดจนปรัชญา หลักคิด ยุทธศาสตร์  ฯลฯ ขององค์กรที่ไปเชื่อมสัมพันธ์กับ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility  หรือ  CSR ) หรือ  การสร้างและรักษาไว้ซึ่ง “ความยั่งยืน” (Sustainability) ขององค์กรร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (All Stakeholders)

ได้เกิดความพยายามและ “นวัตกรรม”(Innovation) มากมายในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเพื่อรองรับ การ “คิดใหม่ ทำใหม่”  หรือหลักคิด วิธีคิด ฯลฯ ที่เปลี่ยนไปในด้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และวิธีการประกอบธุรกิจหรือบริหารจัดการธุรกิจ  เป็นต้นว่า ความริเริ่มเรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness)  ซึ่งปัจจุบันแพร่ขยายไประดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง  จนถึงขั้นความพยายามที่จะวัด “ความก้าวหน้าที่แท้จริง”(Genuine Progress) หรือ ดรรชนีความก้าวหน้าของชาติ” (National Progress Index หรือ NPI)   ซึ่งในประเทศไทยกำลังมีความพยายามในรูป “แผนงาน” (Program)  ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และองค์กรหรือสถาบันอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เองก็ได้มีทั้ง “ตัวชี้วัดทางสังคม” (Social Indicators) และตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”(Green and Happiness Indicators)  อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งมาแล้ว

ในระดับชุมชน ได้มีความพยายามหรือนวัตกรรมในการสร้าง “ตัวชี้วัดความสุขชุมชน” (Community Wellbeing Indicators)  “ตัวชี้วัดความดี” (Goodness  หรือ Virtue  Indicators)  ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและเกิดการแพร่ขยายในหมู่ชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศ

สำหรับในภาคธุรกิจเองนั้น  ได้มีกิจกรรม โครงการ แผนงาน กลไก ฯลฯ เกิดขึ้นมากมายที่สะท้อนถึงหลักคิดวิธีคิดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทหันมาให้ความเอาใจใส่ดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบข้าง พนักงาน การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนและสังคม ฯลฯ โดยการเปลี่ยนแปลงไป “ตามธรรมชาติ “คือ มิได้มีโครงการแผนงานอะไรเป็นพิเศษ แต่เกิดจาก จิตสำนึก วิธีคิด ฯลฯ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะวิกฤตทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งมาจากสภาวะวิกฤตทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ปัจจัยทั้งสองนี้ ได้ส่งแรงกระตุ้นหรือบีบนำให้ธุรกิจขององค์กรหรือผู้บริหาร หันมา “คิดใหม่ ทำใหม่” ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดแผนงานหรือโครงการ เช่น “แผนงานองค์กรแห่งความสุข”  (Happy Workplace)  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งทำมาหลายปีแล้วและได้แพร่ขยายไปยังองค์กรทั้งในภาคธุรกิจและนอกภาคธุรกิจ  การจัดตั้ง “สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม” (Corporate Social Responsibility Institute  หรือ  CSRI)  โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 การประกาศใช้และเผยแพร่ “เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม” โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  การประกาศการประยุกต์ใช้ ISO 26000 ว่าด้วย “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Social Responsibility)  ในประเทศไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2553  การกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจและการจัดสรรงบประมาณให้ เพื่อ”สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise Promotion)  ในปี 2553 และยังมีความริเริ่มและนวัตกรรมอื่น ๆ อีก ที่ชี้ไปในแนวทางการ “คิดใหม่ ทำใหม่” ของภาคธุรกิจตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นบ่งบอกชัดเจนว่า “การพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม และอื่น ๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับมิติหรือองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตและสังคม ซึ่งมากกว่าการสร้างรายได้  มากกว่าการสร้างกำไร นั่นคือ “มากกว่าเงินตรา”  อย่างแน่นอน  ดังนั้น  หนังสือ “มากกว่าเงินตรา” โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ จึงเป็นหนังสือที่เข้ากับยุคสมัยและเหมาะกับช่วงเวลาเป็นอย่างยิ่ง โดยในหนังสือเล่มนี้ ท่านผู้อ่านจะได้รับรู้และเรียนรู้อย่างมีหลักการ อย่างเป็นรูปธรรม และอย่างละเอียด ในลีลาการเขียนที่เรียบง่าย อ่านง่าย อ่านสนุก มีสีสัน  เกี่ยวกับแง่มุมและมิติต่าง ๆ ของการบริหารธุรกิจหรือการบริหารองค์กรและบุคลากร ให้เป็นธุรกิจหรือองค์กรและบุคลากรที่มีความสุข มีความรับผิดชอบ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชนรอบข้าง  สร้างสรรค์ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม พร้อม ๆ ไปกับการทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งมั่นคงเป็นปึกแผ่น มีจิตวิญญาณ  มีคุณธรรม  มีความรักความสามัคคี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีผลกำไรที่เพียงพอ ซึ่งน่าจะเป็น “ธุรกิจที่พึงปรารถนา” หรือ “องค์กรที่พึงปรารถนา”  สำหรับ(คริสต) ศตวรรษที่ 21 และแม้หลังจากนั้น

ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญการ เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการบริหารองค์กร การบริหารบุคคล และจิตวิทยา มาเป็นเวลานาน เป็นผู้บริหารสูงสุดของ “สถาบันการบริหารและจิตวิทยา” หรือ “เอ็มพีไอ” (Management and Psychology Institute  – MPI)  โดยเป็นการรับช่วงต่อจากคุณพ่อ คือ ศ.ดร.หลุย จำปาเทศ  ซึ่งเป็นปรมาจารย์ในเรื่องดังกล่าวและมีชื่อเสียงที่เป็นต้องการของหลายหน่วยงานขอให้ไปเป็นวิทยากรในหลักสูตรผู้บริหารในช่วงเวลาที่ยาวนาน          ดร.มิชิตา  ไม่เพียงแต่ศึกษาค้นคว้าหลักวิชาการจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว แต่ยังประยุกต์เข้าสู่การปฏิบัติทั้งในตัวผู้บริหารและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับบริการจากสถาบันเอ็มพีไอ  ประยุกต์ใช้ในองค์กรของ ดร.มิชิตา  หรือ สถาบันเอ็มพีไอ ตลอดจนประยุกต์ใช้ในตัวตนของ ดร.มิชิตาเอง  ดังนั้น  จึงต้องขอขอบคุณ ดร.มิชิตา ที่ได้ใช้ความพยายามกลั่นเอาความรู้  ประสบการณ์ และ “ปัญญา” ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน ให้เป็นหนังสือที่ค่อนข้างกระชับ อ่านง่าย อ่านสนุก แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์สร้างสรรค์  บนพื้นฐานของหลักวิชาผสมกับความรู้ความเข้าใจที่ได้มาจากการปฏิบัติและประสบการณ์แท้จริง

ผมขอชื่นชมและเอาใจช่วย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ในความพยายามเขียนหนังสือเล่มนี้ และที่จะเขียนเล่มที่ 2 ในอันดับถัดไป  และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านให้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างใช้วิจารณญาณ  พร้อมทั้งมีความคิดอิสระ  โดยอาจนำความคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไปทดลองปฏิบัติ หรือไปเสริมเติมการปฏิบัติที่ท่านมีอยู่แล้ว หรืออาจตั้งประเด็นความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ดร.มิชิตา (ผู้เขียน) และหรือกับเพื่อนร่วมงานหรือกับเพื่อนร่วมวงการหรือผู้สนใจทั่วไป ผมเชื่อ ว่าจะเกิดผลรวมที่สะสมเพิ่มเติมเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศ รวมถึงต่อโลกและมนุษยชาติ

ทั้งนี้เพราะหนังสือ “มากกว่าเงินตรา” เล่มนี้ แม้จะอ่านได้สบาย ๆ  แต่แท้จริงแล้วเกี่ยวพันกับเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งของชีวิต ของชุมชน ขององค์กร ของสังคม ของโลก และของมนุษยชาติ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/428998

<<< กลับ

ความเห็นว่านโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนักศึกษา

ความเห็นว่านโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนักศึกษา


(เอกสารประกอบการเสวนา  หัวข้อ  “ นโยบายสภามหาวิทยาลัยต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล”  ในการจัดฝึกอบรมของ  “โครงการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้นำการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล  รุ่นที่ 2”  เมื่อวันที่  7  มีนาคม  2554  ณ  ห้องมหาสวัส  ชั้น 6  วิทยาลัยนานาชาติ  ม.มหิดล)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/431245

<<< กลับ

การปฏิรูป (ประเทศไทย) จะไม่สำเร็จด้วยดี ถ้า …

การปฏิรูป (ประเทศไทย) จะไม่สำเร็จด้วยดี ถ้า …

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/431376

<<< กลับ

มั่นคงจากฐานราก เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน

มั่นคงจากฐานราก เข้มแข็งจากภายใน ประเทศไทยยั่งยืน


(เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป)

 

สถานการณ์ประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเป็นห่วงอนาคตประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลลัพธ์ที่เห็น คือ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนสองฝ่ายที่มีความคาดหวังและการรับรู้ที่ต่างกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนด้อยโอกาส ไม่ได้รับความเป็นธรรม และความเสมอภาคในเรื่องต่างๆ จนทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการเร่งสะสางปัญหาอย่างจริงจังครั้งใหญ่จากทุกภาคส่วนของสังคม

แต่ทว่า วิกฤตครั้งนี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิมโดยรอให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศกันใหม่ โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้น โดยให้ “คน” และ “ชุมชน” เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนา”

ด้วยความเชื่อที่ว่า การสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน” ซึ่งเป็น “ทุน” และ “ฐาน”ทางสังคมที่สำคัญให้สามารถจัดการ ดูแล และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จะเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

 “กระจายอำนาจสู่ชุมชน” “ตั้งฐานของชาติให้แข็งแรง” คือ หัวใจของการปฏิรูปครั้งนี้

ในอดีต ความเข้มแข็งของสังคมชนบท คือ รากฐานความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดประชาชนในชนบททำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวิถีการดำรงชีวิตกลมกลืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การเร่งรัดพัฒนาประเทศเพียงชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยน ชุมชนอ่อนแอ ประสบความยากจน เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย สังคมไทยในภาพรวมจึงดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การบ่มเพาะให้ประชาชนคุ้นชินแต่การเป็นผู้รอรับ รอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก ยิ่งลดทอนความสามารถและความพยายามในการช่วยเหลือตนเองลง

การปฏิรูปครั้งนี้ จึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปการบริหารประเทศโดยให้ชุมชนมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น มีอิสระในการบริหารจัดการและพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง เปลี่ยนจากผู้ รอรับ เป็นผู้ ขับเคลื่อน การพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่า “เรื่องของใคร คนนั้นย่อมรู้ปัญหา รู้ความต้องการและรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมเรียนรู้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการโครงการของรัฐและท้องถิ่นเพื่ออนาคตชุมชนด้วยตนเอง สอดคล้องตามความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่สืบทอดมา ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชุมชน เสียสละเพื่อชุมชน ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามแนวทางที่ท้องถิ่นปรารถนา

ในขณะที่ส่วนกลางหรือภาครัฐต้องปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่จากการเป็น  “ผู้สั่งการ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” หรือเป็นเพียง “ตัวช่วย” เท่านั้น

 

ย้อนรอยงานพัฒนาชุมชน : มองอนาคต ผ่านอดีต

คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ปรากฏขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ตามแนวคิดของ  DR. Y.C. James Yen ผู้ก่อตั้งและประธานองค์การ Institute of International Rural Reconstruction (I.I.R.R.สถาบันนานาชาติเพื่อการบูรณะชนบท) เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนที่มีใจรักงานพัฒนาชนบท โดยขณะนั้นใช้คำว่า Reconstruction ซึ่งแปลว่า “บูรณะ” อันหมายถึง “การทำของที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น”

แนวคิดการพัฒนาชนบทของดอกเตอร์เยนนั้น จะไม่เน้นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือชุมชน แต่จะเน้นการสร้างนักพัฒนาชุมชนให้เข้าไปคลุกคลี สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองกับชาวบ้าน  เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ร่วมกับชาวบ้านในการวิเคราะห์ปัญหา สร้างกระบวนการแก้ปัญหา และเริ่มต้นการพัฒนาบนรากฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิม พร้อมทั้งใช้หลักการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน 4 องค์ประกอบ คือ  1. การมีอาชีพ การทำมาหากิน  2. การมีสุขภาพอนามัยที่ดี 3. มีการศึกษาเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ได้ และ  4. การจัดการตนเอง

ส่วนการพัฒนาชนบทในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์*1 ใน พ.ศ. 2510 และเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก ถือเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกที่ทำงานพัฒนาชนบทอย่างเป็นกิจลักษณะ ก่อนที่หน่วยงานราชการจะนำหลักการทำนองเดียวกันไปประยุกต์ใช้

กิจกรรมของมูลนิธิฯ ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ได้ชะลอตัวลงชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ.2531 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ  มูลนิธิฯ จึงมีการฟื้นฟู และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

(1* พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับมูลนิธิฯ เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2512)

 

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่าสี่ทศวรรษแล้ว ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ  ภาคเอกชน  และองค์กรชุมชน

แต่เริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 เมื่อรัฐปรับทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่โดยเน้น “คนและชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และกลับหัวปิระมิดการพัฒนาจาก “จากยอดสู่ฐานราก”  มาเป็น “จากฐานรากสู่ยอด ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม”  (Social Investment Fund : SIF)  หรือ “กองทุนชุมชน” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรชุมชน   ขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ  เป็นทั้ง “โอกาส” และ “บทเรียน” ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับทุนโดยตรงไปบริหารจัดการเอง เกิดโครงการที่ชุมชนคิด พัฒนา และบริหารกันเองอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของภาคประชาชน และเป็นการปรับแนวคิดและกระบวนการทางสังคมใหม่ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน

 

เรียนรู้อุปสรรค มุ่งมั่นพัฒนา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้มาระยะหนึ่งแล้ว  แต่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะในทางปฏิบัติยังมีปัญหาและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอยู่มาก ได้แก่

1. การประเมินความสามารถของชุมชนในระดับต่ำ โดยมองว่าประชาชนเป็นผู้ไม่รู้ ไม่มีความคิดในการคิดพัฒนา จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปควบคุม จัดการ เป็นผู้นำความคิดและการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้ชุมชนยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ

2. การขาดความอดทนและรอคอย ชุมชนเข้มแข็งต้นแบบทั้งหลายไม่ได้เข้มแข็งเพียงชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลานานเพื่อเรียนรู้และจัดการวิถีชีวิตของตนเอง แต่ชุมชนโดยมากมักต้องการทางลัด ต้องการสูตรสำเร็จ เมื่อพัฒนาแล้วไม่เห็นผลสำเร็จในเวลาอันสั้น ก็เกิดความท้อแท้และท้อถอยไปในที่สุด

3. นิยมเลียนแบบ มากกว่าเรียนรู้ แม้จะมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการดูงาน แต่ก็ใช่ว่าจะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเป็นแค่การเลียนแบบเท่านั้นไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

4. ประชาชนในชนบทขี้เกรงใจ ไม่กล้าแสดงออก ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ทำให้ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง การวางแผนการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถวัดผลได้ในทันที

5. ผู้นำหมู่บ้านตามกฎหมายมักไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติ โดยมากประชาชนจึงไม่ให้การยอมรับ ความร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจึงมีน้อย

6. ความเคยชินกับกรอบและระบบสั่งการจากข้างบน ซึ่งมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ไม่ส่งเสริมความสามารถของชุมชน และยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ

7. ธรรมชาติของสังคมไทย เป็นสังคมตามกระแส สามารถตื่นตัวได้ง่ายๆ ตามกระแสนิยม แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสังคมที่ลืมง่ายเช่นกัน ธรรมชาติของการพัฒนาต่างๆ จึงมักเอาจริงเอาจังในช่วงต้น แผ่วกลาง และค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด ไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

8. ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชุมชนที่แท้จริง กับการพัฒนาที่มักทำกัน  กล่าวคือ

* การพัฒนาชุมชนมุ่งให้ความสำคัญกับคน มากกว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจ

* เน้นการมีส่วนร่วมโดยมีบทบาทสำคัญของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามารับรู้หรือร่วมด้วยบ้างตามหลักการหรือเพียงเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น

* ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและจัดการตนเองได้ โดยรัฐเพียงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและวิชาการตามสมควร  แทนที่ จะต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอกตลอด

* ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือกระบวนการในการคิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ติดตามประเมินผล เรียนรู้จากการปฏิบัติและการประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาต่อไป  เป็นวงจรเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง   มิใช่ การมุ่งผลสำเร็จหรือเป้าหมายแต่เพียงอย่างเดียว

 

แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ความพยายามในการสร้างชุมชนเข้มแข็งก็ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือ ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีจิตอาสา มีคุณธรรม และมีความสามารถ มีผู้สนับสนุนหรือสมาชิกที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันหรือมีอุดมการณ์ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมหรือการรวมกลุ่มของชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและเชื่อมกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น มีเอกลักษณ์หรือศักยภาพที่โดดเด่น เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงาม  หรือทรัพยากรท้องถิ่น มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอก มีการเติบโตหรือพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เร่งรัดฉาบฉวย มีกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และจากชุมชนสู่ชุมชน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชน มากกว่าความเข้มแข็งจากวัตถุ สามารถผลักดันให้กลไกของรัฐทำงานเอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ขณะเดียวกันการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนควรมีองค์ประกอบดังนี้ด้วย คือ ประการแรกชุมชนต้องวางแผนอย่างมีเป้าหมายพร้อมสร้างตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ประการที่สองต้องมีการขยายผลจากภายในชุมชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน ประการที่สามมีงานศึกษา วิจัย ค้นคว้าด้านวิชาการประกอบร่วมกับการทำงานของชุมชน และประการสุดท้าย มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ปฏิบัติ และสร้างเสริมคุณภาพร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายผลการทำงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

เหนืออื่นใด คือ ต้องดำเนินไป ภายใต้ 3 กงล้อหลักที่จะขับเคลื่อนชุมชนให้มีทั้งความเข้มแข็ง ความเจริญ และสันติสุขอย่างยั่งยืน คือ 1. ความดี  2.ความสามารถ  3. ความสุข

ความดี หรือ การมีคุณธรรมประจำใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดพื้นฐานความดีจะทำกิจการงานใดๆ ก็ไม่ราบรื่น เช่น หากตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาแล้วมีการโกงกัน ก็คงดำเนินการต่อไปไม่ได้ หรือมีการค้ายาเสพติด ทะเลาะเบาะแว้ง แตกความสามัคคี ขาดผู้นำที่ดี ชุมชนคงวุ่นวาย ขาดความสงบสุข

ความสามารถ ต้องรู้จักคิด แก้ปัญหา วางแผน จัดการ บริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน

ความสุข ทั้งสุขทางกาย คือ สุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขทางใจ ไม่โลภ โกรธ หลง มัวเมาในกิเลส อบายมุข รู้จักพอ สุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา คือ การเข้าถึงธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอด และสุขทางสังคม คือ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สันติ

โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ต้องดำเนินไปด้วยกัน เกื้อกูลกัน อย่างดีพอ  เพียงพอและสมดุล และเกิดกับทั้งตัวคนและตัวชุมชน

 

พัฒนาการงานพัฒนาชุมชน ก้าวย่างอย่างมั่นคง

พัฒนาการของงานพัฒนาชุมชนที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคือ กระบวนการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง เข้มแข็งพอสมควร การรวมตัวของชาวบ้านทำได้ดีขึ้น เป็นระบบขึ้น เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในระดับจังหวัดและระดับภาค ธุรกิจชุมชนมีการเติบโตและขยายผล  มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชน จัดสวัสดิการชุมชนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง เกิดสถาบันการเงินชุมชนระดับ หมู่บ้าน ตำบล และมีเครือข่ายในระดับจังหวัดและระดับชาติ   สมาชิกองค์กรชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพารัฐน้อยลง เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแนวใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ขององค์กรชุมชนที่ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนเท่านั้น แต่ยังเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงขยายผลหรือดัดแปลงจากองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่  ขณะที่รัฐเองก็ปรับลดบทบาท เพิ่มอำนาจให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมมากขึ้น

อีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของงานพัฒนาชุมชน คือ การที่เครือข่ายชุมชนได้ร่วมกันร่าง “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” ขึ้นในปี 2550 เพื่อให้มี พ.ร.บ. ที่จะช่วยหนุนเสริม สร้างการยอมรับการทำงานแบบสภาองค์กรชุมชน และรับรองให้เวทีการปรึกษาหารือของชุมชนมีสถานะที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ถือเป็นประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ทำให้องค์กรชุมชนทั้งหลาย รวมทั้งตัวแทนจากทุกหมู่บ้านที่มารวมกันเป็นสภาองค์กรชุมชน มีสถานะที่กฎหมายรองรับ สามารถเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยมีกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก

ซึ่งนับแต่มี “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน” กระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดจากชุมชนฐานรากก็มีความเด่นชัดและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทีละเล็กละน้อยอย่างมั่นคง

 

จริงอยู่ที่การปฏิรูปประเทศไทย มิอาจทำสำเร็จได้ด้วยมิติใดมิติหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ในระยะเวลาพอสมควร

จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ บางเรื่องเป็นไปตามที่คาดหวังและบรรลุไปแล้ว  บางเรื่องยังต้องสานต่อ ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่บางเรื่องยังไม่ได้ดำเนินการ

แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ของคนชุมชน ที่ได้ติดตามหรือได้สัมผัสกับพัฒนาการของชุมชนมาหลายสิบปี พอจะมองเห็นความหวังว่า หากการขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นไปตามกระบวนการนี้ โดยชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลักในการพัฒนา เน้นการจัดการตนเองเป็นกุญแจสำคัญ  ก็น่าจะเชื่อได้ว่า  ประเทศไทยภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

   

(จากหนังสือ “แสงแห่งความคิด ที่จะส่งความสว่างต่อ ๆ ไป” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี  บริษัท  ดาวฤกษ์คอมมูนิชั่นส์ จำกัด   เรียบเรียงบทสัมภาษณ์โดย รุจิรา จรรยชาติ  กุมภาพันธ์  2554)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/431377

<<< กลับ

มรรค 8 / บัญญัติ 8 ประการ ในการปฏิรูป (ประเทศไทย)

มรรค 8 / บัญญัติ 8 ประการ ในการปฏิรูป (ประเทศไทย)


   การปฏิรูป(ประเทศไทย) จะ ไม่ สำเร็จด้วยดี   ถ้า …..

  1.  ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฐานราก  ไม่มีบทบาทสำคัญ และไม่เป็นแกนหลักในการปฏิรูป
  2. ทุกภาคส่วน รวมถึง ภาคประชาชน  ภาคประชาสังคม  ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ  ภาครัฐ  ไม่ร่วมมือรวมพลังสร้างสรรค์  ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาหรืออภิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง
  3. ไม่ มี “เสาหลัก”  หรือ หลักการสำคัญ  หรือเป้าหมายสำคัญ    3  ประการในการปฏิรูป  ได้แก่      (1) ความดี  (คุณธรรม)  (2) ความสามารถ  (3) ความสุข (สุขภาวะ)  ที่ดีพอ มากพอ  และได้สมดุลกัน
  4. ไม่ มีการใช้ข้อมูล  ความรู้  วิจารณญาณ  ปัญญา  ที่ดีพอ ในการดำเนินการ  และหรือเสนอแนะ การปฎิรูป
  5. ไม่ มีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ  ที่ดีพอ เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ แรงจูงใจ  แรง  บันดาลใจ  ฯลฯ ในหมู่ประชาชนและสังคมโดยรวม  จนสามารถนำประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปอย่างสมัครใจและเต็มใจ
  6. ไม่ มีการรวมตัว  ร่วมคิด ร่วมทำ ในพื้นที่ต่าง ๆ  ตามประเด็นต่าง ๆ   อย่างเป็นขบวนการ  และเป็นเครือข่ายเพื่อการปฏิรูป  ที่ดำเนินงานอย่างจริงจัง มุ่งมั่น พากเพียร อดทน เสียสละ  ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง
  7. ไม่ มีการจัดการที่มีคุณภาพ  มีศิลปะ  และมีประสิทธิภาพ  ที่ดีพอ  ในทุกพื้นที่   ทุกองค์กร  ทุกเรื่อง และทุกระดับ รวมถึงระดับชาติ
  8. ไม่ มีการสนับสนุนร่วมมือเชิงนโยบายและงบประมาณ  รวมถึงการมี  นโยบาย แผนงาน โครงการ  กฏหมาย  กฎกระทรวง  ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อบัญญัติ  (ท้องถิ่น) ฯลฯ   ที่เหมาะสม  โดยสถาบันหรือองค์กรในภาครัฐ   รวมถึง  สถาบันนิติบัญญัติ  สถาบันตุลาการ  ฝ่ายบริหาร / รัฐบาล/คณะรัฐมนตรี  กระทรวง/กรม/กอง หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ  องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  องค์การมหาชน ฯลฯ  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ

ดังนั้น….. ถ้าจะปฏิรูป  (ประเทศไทย) ให้สำเร็จด้วยดี จึงต้องใช้…..

                             “มรรค 8 /  บัญญัติ 8 ประการในการปฏิรูป(ประเทศไทย)”

                                    ซึ่งได้แก่การ    ตัดคำว่า “ไม่”  ออกจากทุกข้อ  ที่กล่าวข้างต้น

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/433172

<<< กลับ

การสร้างทีมงานเพื่อความเป็นผู้นำ

การสร้างทีมงานเพื่อความเป็นผู้นำ


 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/434526

<<< กลับ