ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต
หากผมไม่เป็นโรคที่หนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมคงไม่รู้ซึ้งว่าผมไม่ได้มี “สุขภาวะ” ดีอย่างที่คิด และเกิดความตระหนักอย่างชัดเจนว่า เรื่อง “สุขภาวะ” นั้น ควรต้อง “สร้างสม” กันตลอดชีวิต ยิ่งคิดได้และลงมือปฏิบัติเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น
ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก)
ผมเคยคิดว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพตนเองได้ค่อนข้างดี เช่นกินอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย พักผ่อน พัฒนาจิต มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง ฯลฯ
สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” ที่หมายถึงภาวะเป็นสุขทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และทางสังคม
ผมเคยคิดว่า โดยทั่วไปผมมีสุขภาพในเกณฑ์ดี ในทางร่างกาย ผมไม่ค่อยป่วยหรือมีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นหวัดเป็นไข้น้อยมาก นานๆจึงเป็นสักครั้ง และผมมักปล่อยให้หายเองหรือรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ดื่มน้ำ พักผ่อน นั่งสมาธิ ซึ่งโดยมากอาการหวัดอาการไข้จะหายไปในเวลาอันสั้น ตลอดชีวิตการทำงาน ผมใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลและมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลน้อยมาก
ผมไม่เคยต้องเข้านอนในโรงพยาบาลหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการรักษาพยาบาลโรคประเภทหนักๆตั้งแต่วัยเด็กถึงผ่านวัยเกษียณอายุ
จนกระทั่งเมื่อผมมีอายุ 63 ปีเศษ ในปี 2547
ปรากฏว่า ผมมีก้อนเนื้อที่ส่วนหัวของตับอ่อน ซึ่งไปกดท่อน้ำดี น้ำดีไม่เข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ทำให้ผมรับประทานอาหารไม่ได้
ผมจึงต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์ตัดเอาตับอ่อนส่วนหัว (พร้อมก้อนเนื้อ) ออกไปประมาณ 30 % ท่อน้ำดีพร้อมถุงน้ำดีทั้งหมด กระเพาะประมาณ 30 % และ Duodenum (ส่วนเชื่อมจากกระเพาะสู่ลำไส้เล็ก) ประมาณ 30 ซม.
ผมอยู่พักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านก่อนที่จะค่อยๆทยอยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัด กว่าที่สุขภาพจะกลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับก่อนการล้มป่วย
การเจ็บป่วยครั้งนั้น ทำให้ผมให้ความเอาใจใส่กับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ และดูเหมือนว่าสุขภาพของผมทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิตใจ ปัญญา (จิตวิญญาณ) และสังคม อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะพอใจได้
จวบจนเดือนตุลาคม 2550 เมื่อผมมีอายุประมาณ 66 ปีครึ่ง ผมต้องเข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันรวม 3 เส้น
ครั้งนี้แพทย์ใช้วิธี “สวนหัวใจ” ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ และผมต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงหนึ่งสัปดาห์ แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านอีกหนึ่งสัปดาห์ก็สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้
แต่ผมต้องรับประทานยาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง) หลายเม็ดต่อวันทุกวันไปตลอดชีวิต ! รวมทั้งต้องดูแลระมัดระวังเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และสุขภาพจิต มากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันอาจกลับมาอีก ซึ่งสามารถมีอันตรายถึงชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน !
หลังจากการรักษาด้วยวิธี “สวนหัวใจ” เรียบร้อยแล้ว ผมรู้สึกมีสุขภาพปกติและใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น คือในเดือนเมษายน 2551 ผมไปตรวจร่างกาย พบว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่ไขมันหุ้มไตข้างขวา แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดเอาไตข้างขวาออก
ผมจึงต้องเข้ารับการ “ผ่าตัดใหญ่” เป็นครั้งที่สองในชีวิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ขณะที่มีอายุ 67 ปีเศษ ครั้งนี้การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง แพทย์ตัดไตข้างขวากับลำไส้ที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 5 ซม. ออกไป
ผมพักฟื้นในโรงพยาบาลหนึ่งเดือน แล้วกลับมาพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายที่บ้าน สังเกตว่าครั้งนี้การฟื้นฟูร่างกายมีความยากและใช้เวลานานกว่าเมื่อผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในปี 2547 ขณะที่เขียนบทความนี้การผ่าตัดผ่านพ้นไป 4 เดือนเศษแล้ว สุขภาพของผมดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตปกติได้พอสมควร แต่การฟื้นฟูร่างกายยังคงต้องดำเนินการอยู่
การฟื้นฟูร่างกายที่ว่านี้ รวมถึงการพยายามป้องกันไม่ให้สภาพ “เนื้องอก” หรือ “มะเร็ง” (Cancer) นั่นเอง กลับมาอีก หรือถ้าจะกลับมา (ซึ่งย่อมมีโอกาสเป็นเช่นนั้นเพราะเกิดมา 2 ครั้งแล้ว) ก็ในเวลาที่นานที่สุด
ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องดูแลไม่ให้โรคหลอดเลือดอุดตัน (ซึ่งเคยเกิดแล้ว) เกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นได้ยากที่สุด เท่าที่จะทำได้
ข้อคิดเรื่องสุขภาพ
ประสบการณ์ด้านสุขภาพของผมที่มีสุขภาพค่อนข้างดีถึงดีมากมาตลอดตั้งแต่วัยเด็กจนอายุ 63 ปีเศษ แต่มาเป็นโรคชนิดหนักหน่วงถึง 2 โรค ซึ่งในปัจจุบันเป็นโรคที่ทำให้คนไทย (และคนในประเทศอื่นๆส่วนใหญ่) เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ คือใน 1-3 อันดับแรก ทำให้ผมได้ศึกษาเรื่องราวและครุ่นคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อคิดและข้อสรุปที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจทั้งหลายดังนี้ครับ
ข้อที่หนึ่ง โรคทั้งหลายที่คนเราเป็น โดยเฉพาะโรคหนักหน่วงเช่นโรคมะเร็งและโรคหัวใจโดยทั่วไปแล้ว มิได้เกิดจากเหตุฉับพลัน แต่มาจากการสะสมของสาเหตุหลากหลายเป็นเวลานานๆ อาจเป็น 10 ปี 20 ปี หรือกว่านั้น ทำให้ร่างกาย “เสียความสมดุล” สะสมมากขึ้นๆ มี “ภูมิคุ้มกัน” อ่อนแอลงๆ ปัจจัยอันเป็นที่มาของโรคชนิดต่างๆสะสมมากขึ้นๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งหรือสถานะหนึ่ง อาการของโรคจึงปรากฏ เช่นเนื้องอกเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง มีสารอุดทางเดินของเลือดในที่ใดที่หนึ่ง หรือแม้กระทั่งโรคเป็นไข้เป็นหวัด ก็มาจากการสะสมความไม่สมดุลและความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันที่มากจนถึงระดับที่เมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะที่ผิดปกติ จึงเกิดอาการเป็นไข้เป็นหวัด ซึ่งถ้าร่างกายมีความสมดุลดีและมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอจะไม่มีอาการเป็นไข้เป็นหวัดดังกล่าว
โรคอื่นๆไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคกระดูก โรคกล้ามเนื้อ โรคทางเดินอาหาร โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคสมอง โรคผิวหนัง ฯลฯ รวมทั้งโรคจิตโรคประสาท โดยทั่วไปแล้วล้วนมีสาเหตุมาจากการสะสมของปัจจัยต่างๆ ซึ่งในที่สุดทำให้อาการของโรคปรากฏขึ้น
ข้อที่สอง สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสะสมของปัจจัยอันทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆพอสรุปได้ดังนี้ คือ (1) อาหารที่ไม่เหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ (3) การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ (4) สภาพจิตใจที่ไม่ดีพอ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตรวมถึงข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลบางประการหรือหลายประการ
ปัจจัยอันก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้ มีผลกระทบหรือปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย ดังนั้นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นผลสุดท้ายของสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งที่สะสมจนถึงจุดที่อาการโรคปรากฏ หรืออาจมาจากสาเหตุหลายข้อที่สะสมรวมทั้งผสมผสานปฏิสัมพันธ์กันแล้วทำให้เกิดโรคขึ้น
ข้อที่สาม คนเราย่อมปรารถนาจะมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น แต่คำว่า “สุขภาพ” ที่ดีที่สุดเป็นอย่าไร ความหมายที่เป็นสากล (ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก คือ World Health Organization หรือ WHO ) ของ คำว่า “สุขภาพ” คือประกอบด้วย (1) สุขภาพทางกาย (2) สุขภาพทางจิตใจรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ (3) สุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณที่เข้าถึงคุณธรรม ความดี และความสงบมั่นคงทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง และ (4) สุขภาพทางสังคมหรือทางสัมพันธภาพกับผู้คนและกลุ่มคนในสังคม ดังนั้น ความปรารถนาที่จะมีสุขภาพดีของเราจึงควรเป็น “สุขภาพ” ที่ครอบคลุมบูรณาการความหมายทั้ง 4 ด้านของ “สุขภาพ” จึงจะถือว่าน่าพอใจที่สุด
ข้อที่สี่ หนทางสู่ “สุขภาพ” ที่พึงปรารถนา เป็นเรื่องที่ควรสะสมหรือสร้างสมกันตลอดชีวิต ถ้าเป็นไปได้ คือ ตั้งแต่ก่อนเกิดและในวัยเด็ก (ซึ่งจะต้องดูแลดำเนินการโดยพ่อ แม่) ต่อเนื่องตลอดไปจนชั่วชีวิต เพื่อให้ปัจจัยต่างๆที่มีส่วนช่วยสร้างสุขภาพเกิดขึ้นอย่างดีที่สุดและมากที่สุด ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าว ได้แก่ (1) อาหารที่เหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่เพียงพอ (3) การพักผ่อนที่เพียงพอ (4) สภาพจิตใจที่ดีพอ และ(5) แบบแผนการดำเนินชีวิต รวมถึงอาชีพการงานและกิจวัตรกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้โดยไม่เปิดโอกาสให้ข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางเกิดขึ้นและสะสมจนเป็นเหตุให้เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆขึ้นในที่สุด
“สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต
การ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าวข้างต้นนั้น ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าใดก็ดีเท่านั้น ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ควรเริ่มให้กับบุตรธิดาของตนตั้งแต่เนิ่นๆที่สุด ยิ่งเริ่มคิดและลงมือทำตั้งแต่ก่อนลูกเกิดหรือเมื่อยังอยู่ในครรภ์มารดาก็เป็นการดี สำหรับผู้ที่เป็นเด็กหรือเยาวชน เริ่มดูแลตนเองได้พอสมควร ก็ควรคิดและปฏิบัติในอันที่จะ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพทั้ง 5 ข้อ โดยอาจอยู่ภายใต้การแนะนำดูแลของพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยตามสมควร ส่วนคนที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ควรดูแลตนเองอย่างเต็มที่ในเรื่องการ “สร้างสม” ปัจจัยสร้างสุขภาพโดยเริ่มคิดและลงมือทำเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งในขณะนั้นอาจจะคิดว่าตนเองมีสุขภาพดีอยู่ดังเช่นที่ผมเคยคิด แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยก่อโรคอาจจะกำลังสะสมมากขึ้นๆโดยเราไม่รู้ตัว ซึ่งกรณีโรคมะเร็งและโรคหัวใจ (และหลอดเลือด) มักมีภาวะเช่นนั้น
ในกรณีที่เราได้ปล่อยให้ปัจจัยก่อโรคมีโอกาสสะสมจนเราเกิดโรคขึ้นจริงๆแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะคิดแก้ไขและป้องกัน เพราะนั่นคือดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และโอกาสที่โรคจะหายไปหรือไม่กลับมาเกิดอีกก็ย่อมมีอยู่เสมอ โดยยังสามารถใช้หลัก “ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ประการ” มาประยุกต์ปฏิบัติอันได้แก่ (1) อาหารเหมาะสม (2) ออกกำลังกายเพียงพอ (3) พักผ่อนเพียงพอ (4) พัฒนาจิตใจ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตเหมาะสม
กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง
ผมเองเข้ากรณีที่เพิ่งกล่าวถึง คือ ได้เกิดโรคที่มีความหนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง 2 ครั้ง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 ครั้ง ผมจึงต้องให้แพทย์เป็นผู้แก้ไขคือ รักษาด้วยการผ่าตัด (กรณีโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง) และสวนหัวใจ (กรณีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน) ส่วนผมได้เริ่มปฏิบัติในเชิงป้องกันโดยอาศัยหลัก “ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ข้อ” มาประยุกต์เข้ากับกรณีของตนเอง ดังนี้
- อาหาร หลังจากการเจ็บป่วยครั้งล่าสุดซึ่งชี้ว่าอาหารจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการป้องกันการกลับมาของโรค ผมได้เลือกที่จะรับประทานอาหารในแนว “ธรรมชาตินิยม” ได้แก่ “แมคโครไบโอติกส์” (Macrobiotics) หรือ “ชีวจิต” โดยประยุกต์ดัดแปลงบ้างตามที่ผมเห็นสมควรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของตัวผมและภาวะแวดล้อม อาหารที่เป็นพื้นคือ ข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย ผักหลายๆชนิด รับประทานแบบสดหรือปรุงแต่งไม่มาก ถั่วและเมล็ดพืชหลายๆชนิดทั้งเปลือกอ่อนและเปลือกแข็ง ผลไม้หลายๆชนิด ส่วนใหญ่รับประทานแบบสดหรือคั้นน้ำ ซึ่งที่กล่าวมาคืออาหารแนว “ธรรมชาตินิยม” หลักๆ โดยผมได้เสริมด้วยปลาและไข่สลับกันไปมาตามคำแนะนำของแพทย์และนักโภชนาการที่ผมปรึกษาอยู่ เรื่องอาหารแนว “ธรรมชาตินิยม” ยังมีแง่มุมที่พึงปฏิบัติอีกหลายประการ เช่น การเลือกวัตถุดิบ เครื่องมือในการปรุง กรรมวิธีการปรุง วิธีรับประทาน ทัศนคติและ “ธรรมะ” ในการรับประทาน ฯลฯ ซึ่งผมได้พยายามปฏิบัติเท่าที่สามารถทำได้
- การออกกำลังกาย ผมพยายามออกกำลังกายทุกเช้าให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญพอๆกับวิธีการออกกำลังกายที่ดี ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของแต่ละคน ผมได้เลือกออกกำลังกายที่ประกอบด้วย “การหายใจลึกยาว” ประมาณ 10 นาที “การยืดอวัยวะ” ประมาณ 15 นาที “การเสริมกำลังแขนขา” ประมาณ 10 นาที และ “การเดินเร็ว” ประมาณ 20 นาที รวมทั้งหมดผมใช้เวลาในการออกกำลังกายตอนเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง หรือกว่าเล็กน้อย และในระหว่างออกกำลังกายทั้งหมดนี้ ผมพยายามใช้ “สมาธิ” และ “พลังจิต” เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของ “พลังปราณ” (หรือพลัง “ชี่”) ควบคู่ไปด้วย
- การพักผ่อน ผมพยายามเข้านอนให้เป็นเวลาที่ไม่ดึกนัก และพยายามนอนหลับให้ได้ประมาณคืนละ 7 ชั่วโมง ในเรื่องนี้คุณภาพของการหลับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรณีของผมคิดว่ายังไม่ถึงกับดีนักและจะต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาต่อไป นอกจากนั้น ผมก็พยายามให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนในรูปแบบต่างๆในช่วงเวลากลางวันด้วยเท่าที่พึงทำได้
- สภาพจิตใจ ผมโชคดีที่ได้สนใจพยายามพัฒนาสภาพจิตใจโดยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน ทำให้สามารถเผชิญภาวะเป็นโรคประเภทหนักหน่วงทั้ง 3 ครั้งได้โดยมีจิตใจสงบเป็นปกติ มาบัดนี้ที่ผมอยู่ในภาวะเป็นทั้งโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพจิตใจมากขึ้นเพราะเชื่อว่า สภาพจิตใจมีผลอย่างสำคัญต่อการรักษาและป้องกันการเป็นโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหัวใจ การพัฒนาสภาพจิตใจที่ผมพยายามปฏิบัติ ได้แก่ การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา การฝึกพลังจิต การสร้างทัศนคติเชิงบวกและสร้างสรรค์เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับผู้คนรอบข้าง เกี่ยวกับภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆที่ต้องเผชิญ และอื่นๆ
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/234131