เปิดใจมันสมอง ‘ขิงแก่’ รับโดนกระทุ้งท้องเรือ เหตุ 1 ปี งานอืด
(สัมภาษณ์พิเศษลงใน นสพ.โพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 50 หน้า A-4)
8 ต.ค. 2550 ครบรอบการทำงาน 1 ปีของรัฐบาลสุรยุทธ์ที่มาโดยการรัฐประหาร
จากความหวังที่อยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะความแตกแยกในสังคม และนำพาประเทศให้เกิดความสามัคคี พ้นภัยจากพิษประชานิยม
ทว่า 1 ปีที่ผ่านมา ปรากฏคำวิจารณ์ หนักหน่วงว่า รัฐบาลสอบตก ไร้ผลงาน ไม่ฉวยโอกาสผลักดันวาระปฏิรูป ยกเครื่อง แก้ปัญหาสำคัญของชาติให้เป็นผลสำเร็จ
เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองที่ร่วมโค่นระบอบทักษิณอ้างความล้มเหลวจากการ “ปล่อยเกียร์ว่าง” ครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนตัวนายกฯ เพราะเกรง “อำนาจเก่า” จะกลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนนี้
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไว้วางใจมาก และถือเป็น “มันสมอง” คนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังยุทธศาสตร์ด้านการเมือง ชี้แจงมุมมองลึกๆ อีกด้าน ถึงการฝ่าฟันมรสุมวิกฤตในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากับอุปสรรคและผลงานที่ไม่ค่อยเป็นข่าว…
รัฐบาลไม่มีผลงานจริงหรือ
เบื้องต้นอยากให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ที่สังคมไทยคุ้นชินกันอยู่คือ การเอาตัวเองเป็นหลักและมุ่งหาความผิดพลาด มากกว่าการที่จะวิเคราะห์เพื่อเสริมสร้างพลังในสังคม เช่นองค์กรหนึ่งมีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จและส่วนที่มีปัญหา และก็บอกว่าองค์กรนี้ไม่เอาไหนเลย มีแต่ปัญหา ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อาจจะพูดเกินความจริงตามอคติของ ผู้วิจารณ์และก็จบอยู่แค่นั้น ผลที่ตามมาคือคนในองค์กรที่ทำดีก็จะรู้สึกท้อถอย วิธีวิจารณ์แบบนี้แทนที่จะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้ากลับอ่อนแอ
ส่วนการวิจารณ์แบบเพิ่มพลังจะค้นหา สิ่งที่ดี ทำให้คนที่ได้รับการค้นหาสิ่งที่ดีมีความภูมิใจจึงเหมือนถูกกระตุ้นให้อยากทำความดี ก็จะต่อพลังไปเรื่อยๆ ในที่สุดคนนั้นก็จะดีมากขึ้น ฉะนั้นการวิจารณ์ทางการเมืองไทยจึงไม่ก้าวหน้า และไม่สร้างสรรค์ เต็มไปด้วยการกล่าวหา กระแทก ปฏิปักษ์
ฉะนั้น ประเภทที่มาบอกว่าคนนั้นสอบตก ก็เป็นการคิดแบบง่ายๆ เพราะถามจริงๆ คุณเอามาตรฐานอะไรมาประเมิน เช่นบอกว่ารัฐมนตรีคนนี้สอบตก คุณไปดูหรือไม่ว่าใน 1 ปีเขาทำอะไรบ้าง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้ความรู้สึกที่ฟังจากข่าว เช่นรัฐมนตรีนี้ไม่ค่อยเป็นข่าว ก็แสดงว่า คงไม่มีผลงานอะไร ทั้งที่งานทุกอย่างอาจไม่เป็นข่าวหมดก็ได้ ที่เป็นข่าวก็แค่นิดเดียวของงานที่ทำ
การวิจารณ์แบบผิวเผินจึงไม่ได้ช่วยอย่างสร้างสรรค์ เพราะถ้าบอกว่ารัฐบาลสอบตก แล้วยังไง จะให้เขาลาออกหรือ แล้วได้อะไรในสถานการณ์อย่างนี้
สิ่งดีๆ ของรัฐบาลมีอะไรบ้าง
ถ้ามองภาพรวมรัฐบาล เปรียบเทียบรัฐบาลนี้กับรัฐบาลก่อนเป็นเรื่องๆ โดยมีเกณฑ์ต่างๆ ผมก็มั่นใจว่ามีหลายอย่างที่ดีกว่าเก่า เช่นความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้มีเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมุ่งหวังอำนาจ ถ้ารัฐบาลเป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง ประเทศจะพัฒนาไปได้มาก รัฐบาลนี้ยังมีวิสัยทัศน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเป็นอย่างนี้กลไกต่างๆ ก็เดินตามไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลา เหมือนกับสังคมต้องปรับจากสภาพหนึ่งที่เต็มไปด้วยยาฉีด ยาโป๊เพิ่มพลังทั้งหลาย พอหยุดแล้วมาใช้ยาธรรมชาติ ก็ต้องใช้เวลาพักฟื้น ผู้คนจึงยังไม่เห็นผล แต่ถ้าผ่านไปอีก 1-3 ปี สภาพร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นขึ้น
ดังนั้น วิสัยทัศน์ ซื่อสัตย์สุจริต-เศรษฐกิจพอเพียง สังคมต้องใช้เวลาในการปรับสภาพ เป็นวิสัยทัศน์แบบลึกที่ถ้าคิดลึกๆ ก็จะเข้าใจและเห็นผลดีที่จะทยอยตามมา แต่ต้องใช้เวลา
อีกอย่างที่รัฐบาลนี้โดยเฉพาะ ผมอยากทำ แต่สุดท้ายตัดสินใจไม่ทำ คือการปฏิรูประบบ จะเห็นได้ว่าระบบการบริหารงานราชการแผ่นดินมีปัญหาเยอะ ซึ่งหลายรัฐบาลตระหนักถึงได้มีคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการแทบทุกยุคสมัย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลนี้ทำลำบาก เพราะเป็นรัฐบาลระยะสั้น การปฏิรูปต้องใช้เวลายาว แต่รัฐบาลก็ได้ปฏิรูปบางเรื่องที่พอจะทำได้ เช่นวิธีบริหารงบประมาณ โดยให้จังหวัดเป็นหน่วยตั้งงบประมาณได้ นอกจากนี้ ยังมีการปฏิรูประบบข้าราชการที่ปรับเรื่องการจำแนกตำแหน่ง โดยมีกฎหมายออกมาแล้ว การปฏิรูปสื่อที่มี พ.ร.บ.กิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และเริ่มพัฒนาระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ หรือทีวีเรตติ้ง ดูแลเรื่องโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโครงการสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทุกรัฐบาลพยายามทำ รัฐบาลนี้ก็สานต่อ แต่มาเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ หรือการป้องกัน เหล่านี้เป็นต้น
รัฐบาลยังเดินหน้าระบบสวัสดิการ และคุ้มครองเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เน้นการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว โดยมีพระราชบัญญัติออกมา กำลังมีผลเร็วๆ นี้ เรื่องสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานรัฐและท้องถิ่น จัดสวัสดิการกันเอง โดยเอาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง มีคณะกรรมการที่หลายฝ่ายร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนทำงานกันเองมากกว่าให้รัฐไปชี้นำ
ความเข้มแข็งของชุมชนที่รัฐบาลนี้เน้นคือการแก้ปัญหาความยากจนที่แท้จริงและยั่งยืน ไม่ใช่ไปปลดหนี้ หรือพักหนี้ ซึ่งช่วยได้ชั่วคราว ถ้าชุมชนเข้มแข็งและเป็นชุมชนประชาธิปไตยก็จะแก้ปัญหาการเมืองการปกครองได้ด้วย ซึ่งวันนี้ประชาธิปไตยภาคประชาชนได้เกิดแล้วในท้องถิ่นหลายแห่ง แต่ยังไม่มากพอ
เหล่านี้คือการสร้างความเข้มแข็งของประชาชน เป็นวิสัยทัศน์ที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่เอาประโยชน์เฉพาะหน้าไปให้ แต่เรื่องเหล่านี้ใช้เวลา และก็มักไม่เป็นข่าวมาก หรือไม่ก็เป็นข่าวลำบากไม่เหมือนการแจกของ
เป็นเพราะรัฐบาลอยู่ในภาวะลำบากและประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ขณะที่รัฐบาลมีภาพที่ไม่สามารถแก้ปัญหาทันกับความต้องการของประชาชน
อาจมีส่วนคือ เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองและเราก็แก้ด้วยการรัฐประหาร ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่ว่าสถานการณ์ขณะนั้นเหมือนเป็นทางสองแพร่งที่ต่างกันนิดเดียว กล่าวคือทางหนึ่งปล่อยให้เป็นเรื่องที่สังคมจัดการตัวเอง ซึ่งอาจหมายถึงการต้องปะทะ เสียชีวิต บางคนก็เห็นว่า ถ้าจะเกิดก็ต้องเกิด จะเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ นี่คือแนวคิดของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่บอกว่า บางทีของมีค่าต้องได้มาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต
อีกแพร่งหนึ่งบอกว่า ถ้าปล่อยไปตามนั้นรับไม่ได้แน่ จึงเลือกการรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งการเผชิญหน้า ไม่ให้เสียเลือดเนื้อ ซึ่งจะเกิดหรือไม่ เราก็ไม่รู้ ก็เลยกันไว้ก่อน แต่ของอย่างนี้พิสูจน์ไม่ได้ ช่วงนั้นก็ดูว่า รัฐประหารแล้วน่าจะคลายวิกฤต แต่รากโคนของความเป็นปฏิปักษ์ไม่ได้ถูกถอนไป ความขัดแย้งเชิงแนวคิด ปรัชญา หรือขั้วการเมืองก็ยังอยู่และบังเอิญขั้วการเมืองเดิมถูกยึดอำนาจไปก็ยังไม่หยุดที่จะใช้ความพยายามต่อสู้ ทั้งหมดจึงกลับมาเผชิญหน้ากันอีก นี่คือปรากฏการณ์ของสังคม
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างเสียอย่าง สมมติว่าไม่มีรัฐประหาร ก็คงจะเกิดปรากฏการณ์ที่ได้อย่างเสียอย่างอีกแบบเหมือนกันคือ ถ้าคิดเชิงทฤษฎีก็ได้ว่า ถ้าทำอย่างนั้นจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เช่นถ้าไม่มีรัฐประหาร ก็คงจะเกิดการเผชิญหน้าและการเสียเลือดเนื้อ แต่สังคมก็จะได้เรียนรู้ และรากโคนของความขัดแย้งก็อาจเบากว่าในสภาพปัจจุบัน
รัฐบาลมาด้วยความคาดหวังสูง จึงแก้ปัญหาลำบากและถูกจับตามากเป็นพิเศษ
ครั้งนี้แปลกกว่าครั้งอื่นๆ ที่เมื่อรัฐประหารเสร็จ เขาก็มอบอำนาจการบริหารให้กับรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นความใจกว้างของเขา โดยหวังว่าจะให้เข้าสู่กระบวนการที่คล้ายประชาธิปไตยให้มากที่สุดโดยเร็ว
ฉะนั้น ภารกิจระหว่างคณะรัฐประหารกับรัฐบาล จึงไม่เหมือนกันทีเดียว คนที่มาเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้มา เพราะว่าจะมารัฐประหารกับเขา แต่มาเพื่อบริหารประเทศชั่วคราวและจัดการเรื่องต่างๆ เช่น การทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันสถานการณ์ช่วงนั้นบังเอิญมีความคับขันหลายอย่าง ผู้ที่ถูกยึดอำนาจก็ยังพยายามฟื้นคืนอำนาจ ภาวะรัฐบาลจึงเหมือนกับพายเรือไปก็มีคนคอยส่งคลื่นมากระทุ้งท้องเรือ (หัวเราะ) ทำให้ทำงานยากขึ้น
สำหรับประชาชนก็อยากได้อะไรดีๆ เช่น การแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ใครทุจริตต้องถูกจับ อยากได้ความอยู่ดีกินดีโดยเร็ว แต่ทั้งสามเรื่องมันยาก เช่นความสงบภาคใต้ก็เกิดยากเพราะความขัดแย้งปั่นป่วนสะสมมานานและอยู่ในช่วงขาขึ้น
ส่วนการทุจริตระดับต่างๆ ก็ต้องให้เวลากับ คตส. เรื่องการอยู่ดีกินดี รัฐบาลที่แล้วใช้เวลาถึง 5 ปี ประชาชนก็ยังไม่อยู่ดีกินดี แถมยังเกิดปัญหาหนี้สินจนมาร้องเรียนรัฐบาลนี้ เช่นปัญหากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ 5 ปี ก็ยังไม่ได้จัดระบบให้เรียบร้อย มีการรับประกันราคาข้าวให้ราคาสูง พอขายขาดทุน รัฐบาลนี้ก็ต้องมาใช้หนี้แทน 2-3 หมื่นล้านบาท ก็มากินแรงรัฐบาลนี้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุ และยังมีความไม่สุจริตในการรับจำนำข้าวอยู่ด้วย ครั้นไปจัดการเรื่องลำไยก็มีทุจริตอีก ปัญหาพวกนี้จึงสั่งสมมาถึงรัฐบาลนี้ทำให้เสียเวลาต้องมาแก้
เสียงวิจารณ์ว่า เพราะรัฐมนตรีหลายคนเป็นเทคโนแครต ข้าราชการเก่า ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ระบบราชการก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลไกสลับซับซ้อนมาก เมื่อจะปรับปรุงให้ดีก็ยาก ขนาดรัฐบาลที่แล้วใช้เวลาตั้ง 5 ปี เพื่อปฏิรูประบบราชการ สุดท้ายก็ทำได้นิดเดียว เมื่อรัฐบาลมาทำงานต้องอาศัยกลไกของภาครัฐทั้งหมด มันมีความล่าช้า มีความหนืดซับซ้อนอยู่ในนั้น รัฐบาลนี้จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนแบบรุนแรงได้ อย่างผมเองเห็นช่องทางที่จะปฏิรูปเยอะแยะไปหมด แต่คงไม่เหมาะสมที่จะทำ เพราะถ้าทำต้องใช้เวลาและต้องยกเครื่องกันเยอะ จึงทำแค่บางจุดเท่านั้น
กลับมาที่ตัวรัฐมนตรี ผมคิดว่า ทุกคนบริหารจัดการในกระทรวงได้ดี อย่างกระทรวงที่ผมใกล้ชิด เช่นศึกษาธิการ หรือสาธารณสุข ก็มีความก้าวหน้าชัดเจน แต่ถ้าใครอยากดูอย่างละเอียด ก็ลองไปเปรียบเทียบว่า 1 ปีก่อนหน้า กับ 1 ปีที่ผ่านมาแต่ละกระทรวงที่ว่าเป็นอย่างไร ผมคิดว่าหลายอย่างดีขึ้น
ข้อวิจารณ์เรื่องความเป็น “ขิงแก่” เกินไป ถ้าได้คนหนุ่มสาวอาจกล้าตัดสินใจมากกว่านี้
คงไม่เกี่ยว เพราะสิ่งทั้งหลายที่ได้ปฏิรูปก็มาจากขิงแก่ทั้งนั้น ผมกับ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ก็อายุ 66 ปี อาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษา ก็ 70 กว่าปี ก็ปฏิรูปทั้งนั้น แต่เวลาเราทำเรื่องห้ามโฆษณาเหล้าก็คัดค้าน จะห้ามสูบบุหรี่ในผับก็ค้าน จะปฏิรูปสื่อเรื่องเรตติ้งก็ค้าน นี่ขนาดปฏิรูปไม่มากนะ ซึ่งคนที่คิดปฏิรูปก็คนอายุมากๆ ทั้งนั้น เพราะผ่านประสบการณ์เยอะ เราตกผลึกทางความคิด แต่สังคมยังไม่ตกผลึก
ดูรัฐบาลจะแก้ปัญหารายวันมากเกินไป
บางอย่างถ้าปฏิรูปเยอะๆ มันทำยาก เพราะจะกระทบกระทั่งกันมาก และต้องใช้เวลา และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแต่งตั้ง ถ้าปฏิรูปมากมาย ก็จะมีเสียงวิจารณ์ว่า คุณไม่ควรไปเปลี่ยนอะไรมาก อย่างผมอยากให้มีกฎหมายภาษีทรัพย์สิน กฎหมายภาษีมรดก แต่คนในรัฐบาลด้วยกันบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้รัฐบาลชุดเลือกตั้งทำ ผมเองคิดว่าแม้เราเป็นรัฐบาลแต่งตั้ง แต่ถ้าเราคิดว่าเรื่องไหนดีก็ควรทำ หากรัฐบาลใหม่เห็นว่าไม่ดีก็เปลี่ยนกลับได้ แต่บางทีปฏิรูปเล็กๆ ผมก็ยังทำไม่ได้เลย เช่นสภาองค์กรชุมชนเป็นเรื่องดี ยังมีคนบอกว่าคุณต้องรอรัฐบาลใหม่ทำ รัฐบาลนี้ไม่ควร
หมายความว่า หากรัฐบาลนี้อยู่อีกปี 2 ปี ก็จะมีผลงาน
ถ้าเราอยู่ระยะยาวซัก 2-3 ปี ก็จะทำได้สะดวกขึ้น แต่นั่นเป็นทฤษฎี ซึ่งเราไม่ควรอยู่ยาวอยู่แล้ว เราควรอยู่ให้สั้นที่สุด เพราะเราไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แต่ก็ต้องพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ และหลายอย่างเราต้องมาแก้ปัญหาจากรัฐบาลเดิม พร้อมกับพยายามปูพื้นฐาน สร้างกลไก ซึ่งจะเกิดผลดีกับรัฐบาลหน้า เพราะ 1. เราเคลียร์ปัญหาบางอย่างไปแล้ว 2. เราสร้างกลไกสำหรับอนาคต แต่ว่าเครดิตคนจะไม่ค่อยเห็น เพราะเราต้องไปจ่ายขาดทุนแทนรัฐบาลเก่า แก้ปัญหาทุจริต ความบกพร่องต่างๆ และเมื่อสร้างกลไกที่ดีกับรัฐบาลต่อไปคนก็ไม่เห็นอีก
มองว่าวิกฤตทักษิณ และความแตกแยกในสังคม ยังดำรงอยู่ต่อไปหลังรัฐบาลใหม่แค่ไหน
ยังอยู่ ปัญหาเรื่องความขัดแย้งรุนแรง ความคิด ความเชื่อ และความพยายามของแต่ละฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องจัดการตัวเอง แต่ผมเชื่อว่าที่สุดแล้วเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้นำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าประชาชนยังจัดการตัวเองได้ไม่ดี ไม่เข้มแข็ง ก็จะกลายเป็นเบี้ยให้กับผู้นำที่อาจมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งและก็ต่อสู้กัน แต่ในระยะสั้นนี้ขอบอกเลยว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้แน่
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/138664