ธรรมาภิบาลของราชการไทย

ธรรมาภิบาลของราชการไทย


ประเด็นประกอบการบรรยาย

โดย

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรี

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2550 เวลา 13.00 – 14.30 น.

ณ หอประชุมนวนครินทร์  โรงเรียนเตรียมทหาร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

* * * * * * * * * * * *

  1. ความหมายและองค์ประกอบ ของ “ธรรมาภิบาล” (Good Governance)

ความหมายทางทฤษฎี

  • การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสถาบันและกระบวนการทางการเมืองที่สามารถสร้างสรรค์นโยบายที่ดีและมีเครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับความหลากหลายของการประสานงานของหน่วยงานทางเศรษฐกิจของรัฐและเอกชน
  • การปกครอง การบริหารการจัดการควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองคลองธรรม และหมายถึงการบริหารกิจการที่ดีซึ่งนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมะที่ใช้ในการบริหาร มีความหมายกว้างกว่าหลักธรรมทางศาสนาแต่รวมถึงศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงปฏิบัติ เช่น ความโปร่งใส ตรวจสอบได้
  • UNESCAP กำหนดว่าหลักธรรมาภิบาลประกอบด้วย 8 หลักการ คือ
  1. การมีส่วนร่วม ( participation )
  2. นิติธรรม ( rule of law )
  3. ความโปร่งใส ( transparency )
  4. ความรับผิดชอบ ( responsiveness )
  5. ความเห็นพ้องร่วมกัน ( consensus )
  6. ความเสมอภาคและครอบคลุม ( equity and inclusiveness )
  7. การมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ( effectiveness and efficiency )
  8. ความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ/การมีเหตุผลอธิบายได้ ( accountability )
  • ธนาคารโลก ให้ความหมายว่า
  1. การบริหารของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
  2. ระบบศาลที่เป็นอิสระ
  3. ระบบกฎหมายที่บังคับสัญญาต่างๆ
  4. การบริหารกองทุนสาธารณะที่มีลักษณะรับผิดชอบต่อประชาสังคม
  5. การมีระบบการตรวจสอบทางบัญชีที่เป็นอิสระ รับผิดชอบต่อตัวแทนในรัฐสภา
  6. การเคารพกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในทุกระดับของรัฐบาล
  7. โครงสร้างสถาบันที่มีลักษณะพหุนิยม
  8. การมีสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระ

ความหมายแฝงของธรรมาภิบาล

  1. ในแง่ระบบซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และมีนัยที่กว้างกว่าและดีกว่าคำว่า รัฐบาล (Government)
  2. ในด้านการเมือง มีลักษณะจำกัดและระบุอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจนได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และหมายถึงรัฐที่มีความชอบธรรมและมีอำนาจอย่างถูกต้อง
  3. ในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน หมายถึงการมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง เปิดเผย และพร้อมรับผิด ตลอดจนการมีระบบศาลที่เป็นอิสระในการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ

สำนักงาน กพ. กำหนดหลักธรรมาภิบาลว่าประกอบด้วยหลักการ คือ

  1. หลักคุณธรรม
  2. หลักนิติธรรม
  3. หลักความโปร่งใส
  4. หลักการมีส่วนร่วม
  5. หลักความรับผิดชอบ
  6. หลักความคุ้มค่า

ดร.อรพินท์  สพโชคชัย ระบุองค์ประกอบของธรรมาภิบาล ดังนี้

  1. การมีส่วนร่วมของสาธารณะ
  2. ความสุจริตและความโปร่งใส
  3. พันธะความรับผิดชอบต่อสังคม
  4. กลไกการเมืองที่ชอบธรรม
  5. กฏเกณฑ์ที่ยุติธรรมและชัดเจน
  6. ประสิทธิภาพและประสิทธิผล

คำใกล้เคียง / ใช้แทนธรรมาภิบาล

ได้แก่ ธรรมรัฐ  รัฐาภิบาล  การกำกับดูแลที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

  1. ธรรมาภิบาลของระบบราชการไทย

ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องใหม่ของสังคมและระบบราชการไทย

2.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ.2542

“โดยที่สมควรกำหนดนโยบายและวางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การจัดระเบียบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักกฎหมายและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้สังคมสามารถมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการดังกล่าวด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและให้โอกาสตรวจสอบได้ ตลอดจนขยายการให้บริการภาครัฐไปสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม”

หลักการสำคัญของระเบียบฯ

  1. หลักนิติธรรม
  2. หลักคุณธรรม
  3. หลักความโปร่งใส
  4. หลักการมีส่วนร่วม
  5. หลักความรับผิดชอบ
  6. หลักความคุ้มค่า

2.2 แนวทางของรัฐบาล (ชวน  หลีกภัย)  ได้กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปในภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน 5 ประการ

  1. สร้างกฏเกณฑ์และกลไกที่ดีในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคม เพื่อให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องสามารถปรับเปลี่ยนกลไกและฟันเฟืองการทำงานและการประสานงานในภาครัฐและภาคเอกชนรองรับได้อย่างทันท่วงทีในยามที่มีปัญหา
  2. พัฒนาศักยภาพของนักวิชาการ ให้สามารถศึกษา ค้นคว้าและเสนอแนะแนวทางแก้ไขจุดบกพร่องๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมอย่างถูกต้อง กล้าหาญ และมีจริยธรรม
  3. ปรับปรุงระบบการตัดสินใจและการบริหารจัดการทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนให้รวดเร็ว ชัดเจน และเป็นธรรม
  4. ขยายโอกาสของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อร่วมกับภาครัฐในการตัดสินใจและการแก้ไขปัญหาส่วนรวม
  5. ขจัดการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน

2.3 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) บัญญัติให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

2.4 พระราชกฤษฏีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2546

เหตุผล : โดยที่มีการปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศและให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการบริหารราชการและการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

เป้าหมาย 7 ประการของพระราชกฤษฎีกา

  1. เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน
  2. เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
  3. มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
  4. ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติเกินความจำเป็น
  5. มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการได้ทันต่อสถานการณ์
  6. ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองต่อความต้องการ
  7. มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

หลักของธรรมาภิบาลในภาครัฐ

  1. ยึดมั่นในหลักของวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่ประชาชน
  2. ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในหน้าที่และบทบาทของตน
  3. ส่งเสริมค่านิยมขององค์กร และแสดงให้เห็นคุณค่าของธรรมาภิบาลโดยการปฏิบัติหรือพฤติกรรม
  4. มีการสื่อสารที่ดี การตัดสินใจอย่างโปร่งใส และมีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม
  5. พัฒนาศักยภาพและความสามารถของส่วนราชการอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  6. เข้าถึงประชาชนและต้องรับผิดชอบต่อการทำงานและผลงานอย่างจริงจัง
  7. รัฐบาลปัจจุบันและการสร้างธรรมาภิบาล

3.1 การกำหนดนโยบายของรัฐบาล

3.2 วาระแห่งชาติ ด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

  • เป้าหมาย

เพื่อปรับให้ภาคราชการทำงานด้วยความตระหนักในหลักคุณธรรม มีจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ประหยัด ใช้หลักความรู้ หลักเหตุผล เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีจิตสำนึกในการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

  • คำประกาศของนายกรัฐมนตรี (8 ธันวาคม 2549)

“ข้าพเจ้า พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีขอประกาศเจตนารมณ์ในอันที่จะมุ่งมั่นสร้างระบบบริหารราชการแผ่นดินที่สุจริต เป็นธรรม และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน รวมทั้งการขจัดปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมุ่งพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายให้เหมาะสม สร้างระบบราชการให้มีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาการทุจริตทั้งปวง จะมุ่งฟื้นฟูระบบคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเร่งด่วน โดยจะใช้กลไกภาครัฐผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ เพื่อก่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดีที่ขึ้นอย่างยั่งยืน”

  • เป้าประสงค์
  1. การลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบในทางราชการ เพื่อสร้างความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ลดความสูญเสีย และขจัดรูรั่วไหลในการปฏิบัติราชการ
  2. สร้างจิตสำนึกในการประพฤติชอบ ให้ยึดมั่นในหลักศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ความสุจริต ซื่อตรง เที่ยงธรรม เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงการปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด เกิดความคุ้มค่า มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ถูกต้อง ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/154177

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *