“อยู่เย็นเป็นสุข” ภารกิจพลิกฟื้นสังคม “สามพี่น้อง” ตระกูล NGO

“อยู่เย็นเป็นสุข” ภารกิจพลิกฟื้นสังคม “สามพี่น้อง” ตระกูล NGO


(รายงานพิเศษ โดย นิติราษฎร์ บุญโย ลงในนสพ.เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 24-30 พฤศจิกายน 2549 หน้า 86)

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เปิดประเด็น ‘พัฒนายุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ จุดประกายความคิด กำหนดทิศสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ให้ได้ขบคิดเกี่ยวกับ ‘สังคมสมานฉันท์’ เพื่อความสงบสุขและปรองดองของคนในชาติ ภายหลังคนไทยแตกแยก-แบ่งฝักฝ่าย จากวิกฤติการเมืองครั้งที่ผ่านมา

ความกระจ่างชัดของนโยบายจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังกล่าวนั้น ดูเหมือนยังขาดคำอธิบายในแง่รูปธรรมและการลงมือปฏิบัติอยู่ไม่น้อย ว่าแผนระยะสั้นและระยะยาวจะดำเนินการไปอย่างไร ในช่วงเวลา 1 ปีของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ดังนั้น “เนชั่นสุดสัปดาห์” จึงหาโอกาสไปจับเข่าคุยกับ น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขานุการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อถามไถ่เป้าหมายและความเป็นไปได้ของนโยบายดังกล่าว ว่ามีความเป็นรูปธรรมได้มากน้อยขนาดไหน!

พูดถึงกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่มีเจ้ากระทรวงชื่อ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งอาจจะคุ้นชื่อในฐานะเป็น “พี่ใหญ่” ของเหล่า NGO ทั้งหลาย เพราะทำงานคร่ำหวอดด้านชุมชนชาวบ้านร้านตลาดมานานปีดีดัก อีกทั้งยังมีมิตรรู้ใจ “ฝ่ายรุก” อย่าง เอนก นาคะบุตร ที่ปรึกษา “รมต.ไพบูลย์” และยังเป็นผู้จัดการมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ซึ่งทำงานด้านชุมชนมานานเช่นกัน

ส่วนมิตรคู่ใจ “ฝ่ายบุ๋น” อีกคนหนึ่ง คือ “น.พ.พลเดช” ที่คลุกกคลีกับชาวบ้านเรื่อง “การมีส่วนร่วมภาคประชาชน” มานานพอสมควรแล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่า หมอพลเดช จะกล่าวถึงบุคคลทั้งสองเสมือนว่าเป็น “สามพี่น้อง”

“เราสามคนพี่น้อง เราก็ตกลงปลงใจว่า เอาล่ะ 1 ปีนี้ เราคงต้องมาช่วยกัน..เราไม่เคยบริหารแบบนี้มาก่อนในฐานะเข้าไปบริหารกระทรวง เราอยู่ในฐานะฝ่ายการเมือง เรากระโดดจาก NGO โดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก่อน ฉะนั้น เราต้องเรียนรู้ระบบการบริหารราชการ ว่าเขามีการบริหารอย่างไร ต้องดูแลตรงนี้ด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ท้าทาย และกว่าที่จะมีการตกผลึก 3 ยุทธศาสตร์ มันต้องมีการคิด การพูดคุย ปรึกษาหารือ ในที่สุดเขียนออกมา เพื่อใช้ในการสื่อสารให้เป็นที่ยอมรับ ใช้เวลาเพียง 3 อาทิตย์…”

น.พ.พลเดช อธิบายถึงหลักการกว้างๆ ของนโยบาย “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” อย่างเป็นกันเองว่า การปฏิรูปสังคมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี 2543 ขณะนั้น ทำงานด้านชุมชนกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จึงเห็นโครงสร้างชุมชนเชิงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน ซึ่งยังขาดเพียงการเชื่อมต่อโครงสร้างใหญ่ระดับประเทศให้มีความเกี่ยวพันกัน เพื่อให้สังคมที่เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้

“พวกผมมีเวลาแค่ปีเดียว ถ้าผมแบ่งเวลาปีเดียวไปด้านอื่น ก็จะมีเวลาทำในสิ่งที่ควรทำได้น้อย เปรียบเสมือนว่า พวกผมสามคนเป็นช่างเชื่อมเหล็ก ที่จะต้องถูกหย่อนลงไปในอุโมงค์ลึก เพื่อทำหน้าที่ไปอ๊อก ไปเชื่อมโครงสร้าง คือเรื่องกฎหมาย ในเวลาที่จำกัด เพราะถ้าอ๊อกไม่เสร็จ อ๊อกไม่ได้ ถึงเวลาออกซิเจนมันหมด เขาต้องดึงเราขึ้นแล้ว หมดเวลาแล้ว ก็หมดโอกาสทำ ถูกไหม…”

“เราตั้งใจว่า การปฏิรูปสังคมต้องเคลื่อนอย่างน้อย 10 ปี เราจะเคลื่อนอย่างนี้ 10 ปี แต่ 1 ปีของเราที่อยู่ในกระทรวงนี้ จะเป็นหนึ่งปีของการจัดทัพ เพื่อการเดินทางไกล พอจัดทัพเสร็จ หรือไม่เสร็จก็ตาม เราก็ต้องออกจากกระทรวงนี้ เราต้องเดินทางไกล เพราะฉะนั้น 1 ปี จะต้องจัดทัพให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ เหมือนเราจะเดินทัพทางไกล ขบวนของเรา มันเยอะเหลือเกินนะ เราก็ต้องดู จัดทัพ จัดขบวนกัน…”

แววตาแห่งความมุ่งมั่นของคุณหมอจากแพทยศาสตร์ศิริราช ช่างเปล่งประกายอย่างเชื่อมั่น ว่าแนวทางนี้ จะนำสังคมไทยสู่เข้มแข็งทั้งจิตวิญญาณและการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นทิศทางและกรอบการทำงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ประการ คือ ยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม ที่ได้วางเอาไว้

“พอกำหนดทิศทางชัดแล้ว การส่งสัญญาณที่แรงก็มีความสำคัญ เวทีเมื่อวานที่ทำเนียบฯ จึงเป็นเวทีส่งสัญญาณ จุดประกายว่า เราจะไปสู่สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันถูกไหม พอเราส่งสัญญาณที่แรงและชัดเจนอย่างนี้ จะทำให้ขบวนของเราได้ยินทั่วถึง เข้าใจตรงกันว่าเราจะไปร่วมกัน ซึ่งในปีที่ 1 ต้องทำเป้าหมายให้ชัดเจน ส่งสัญญาณให้แรง จัดทัพจัดขบวนให้ดี ว่าเราจะเดินทางไกล ไม่ใช่ว่า 1 ปี จะถึงเป้าหมายแล้ว ไม่ใช่ ต้องบอกอย่างนี้ก่อน ถ้าไม่อย่างงั้นแล้ว ผ่านไป 1 ปี ไม่เห็นได้อะไร ไม่เห็นถึงสักที อะไรอย่างนี้ ฉะนั้น เราต้องบอกว่าสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขนั้น มันคือเป้าหมายปลายทาง…”

ตัวเลขที่คุณหมอนักพัฒนา กล่าวอ้างอิงเกี่ยวกับกลุ่มคนที่จะต้องเข้าไปดูแลเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งคาดการณ์ว่ามีจำนวนนับ 10 ล้านใน 63 ล้านคน

แยกออกเป็น กลุ่มคนยากจนที่เคยไปจดทะเบียนกับคุณทักษิณจำนวน 8 ล้านคน กลุ่มคนพิการ 1.1 ล้านคน กลุ่มคนไทยเผ่าต่างๆ ที่ไม่มีบัตรประชาชน จำนาน 5 แสนคน กลุ่มคนที่ติดเชื้อเอดส์และลูก จำนวน 3 แสนคน ร่วมถึงคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และคนไทย 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้านพม่าที่มีเส้นปักเขตแดนไม่ชัดเจนอีกประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งคนกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการกำลังใจจากชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม

“ยุทธศาสตร์แรก คือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อส่งสัญญาณให้คนไทยทั้งหมดว่า เราจะทำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ซึ่งการที่เราดูแลคนเหล่านี้อย่างพร้อมเพรียงทั่วถึง เราจะทำอย่างไร และถ้าเราทำได้ มันจะยกระดับจิตใจ จิตสำนึกของคนไทย…”

“ดังนั้น วิธีการ เราปรับใหม่ ตอนไปนี้ ชุมชนท้องถิ่นไปช่วย ทางหน่วยงานรัฐไปเสริม พอทำอย่างนี้ปั๊บ ชุมชนท้องถิ่นมีอยู่เต็มประเทศเลย ตำบลต่างๆ กว่า 6,000 ถึง 7,000 ตำบล และองค์กรชุมชนต่างๆ 5-6 หมื่นองค์กร ซึ่งอยู่ในท้องที่ใครท้องที่มัน สามารถดูแลกันได้ และการดูแลบุคคลเหล่านี้ อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป เงินเป็นคำตอบสุดท้าย หัวใจสำคัญกว่า…”

เลขานุการ ‘รมต.ไพบูลย์’ ยืนยันว่า ภายใน 3 เดือนแรกนี้ จะสำรวจทั้งหมด ทุกตำบล ว่ามีคนถูกทอดทิ้งอยู่ที่ไหนบ้าง เราต้องรู้ และลงไปช่วยได้เลย เราจะไปดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ เราจะไปเยี่ยมบ้าน ไปให้กำลังใจ มีอยู่ประมาณ 2,500 คน ในช่วงก่อนวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ และรวมถึงกลุ่มผู้ประสบภัยธรรมชาติด้วย

“กลุ่ม 47 จังหวัด มี 355 อำเภอ ที่ถูกน้ำท่วม เราจะไปตั้งกองทุนในระดับอำเภอ เพื่อให้ท้องถิ่นในอำเภอเขาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการ ฟื้นฟูตนเอง ฟื้นฟูกันเอง โดยชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นคนจัดการ ไม่ใช่ให้รัฐจัดการ เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์สึนามิ เพราะปรากฏว่า สิ่งของที่บริจาคต่างๆ ไปกองๆ ไว้ จากคนทั่วประเทศ เพราะไม่มีคนจัดการ ซึ่งชาวบ้านได้สะท้อนออกมาว่า ไม่ต้องส่งอะไรมาหรอก เขาต้องการกองทุนที่บริหารจัดการกันเอง เขารู้ว่าบางคน มันต้องการเงิน แค่ 500 บาท บางคนก็ต้องแบบอื่น แต่ทางส่วนกลางมันไม่รู้ไง จึงมีสิ่งของจำนวนมากเลย แต่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการของชาวบ้าน และถ้าเราให้เงินกองทุนไปจัดการกันเอง มีกรรมการ มีอะไรต่างๆ จะช่วยได้ตรงจุดมากกว่า และทันเวลามากกว่า”

ขณะที่ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งนั้น หมอพลเดชอธิบายว่า จะตั้งศูนย์ประสานงานอาสาสมัครและการให้ ทุกจังหวัด ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลว่ามีคนเดือดร้อนภายในจังหวัดนั้นๆ ส่วนยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม ช่วงปลายปีนี้ จะประกาศรายชื่อวัดตัวอย่าง 300 แห่ง หรือศาสนสถาน อาจเป็นโบสถ์คริสต์ และมัสยิดก็ตาม มีสถานที่ ‘สะอาด สงบ สว่าง’ หมายความว่า สะอาด เจริญหูเจริญตา ส่วนสงบ คือร่มเย็น และสว่าง คือทำให้จิตใจตื่นรู้ในธรรมะ ซึ่งในสถานที่เหล่านั้นจะต้องมีผู้นำศาสนาที่ดีด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าจะสร้างความสมานฉันท์คนในชาติได้อย่างไร ซึ่งหมอพลเดชจะใช้วิธีการ ‘เชิดชูสิ่งที่ดี’ โดยจะประกาศ 100 ตำบลตัวอย่างของการเมืองสมานฉันท์ หมายความว่า ในตำบลนั้น เป็นพื้นที่ที่มีการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองสมานฉันท์ ไม่ต่อสู้ฟาดฟันเข่นฆ่ากัน เอาที่ดีมาชูก่อน ซึ่งมันมีอยู่แล้ว

“เราจะไปหา แล้วเราชูขึ้นมา ส่วนที่แตกแยกก็ไม่เอา ไม่เป็นไร ก็ปล่อยไป ซึ่งการที่ชูสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นความดีงามในสังคม เรามีการแข่งขันกันอย่างสุภาพบุรุษ แข่งตามกติกา และสามารถสะท้อนถึงการเมืองระดับชาติด้วย ว่าทำไมเขาดีกว่าพวกคุณล่ะ”

ทั้งนี้ “หมอเอ็นจีโอ” ยังย้ำถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วยว่า ทาง พม. จะทำให้นโยบายดังกล่าวสัมผัสและเรียนรู้ได้จริง พร้อมทั้งยกย่องคนดี-ขยันทำงานด้วย

“ช่วงปลายปี ผมจะประกาศ 25,000 ครอบครัว มากหรือน้อยล่ะ เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คุณเดินไปดู เดินไปจับได้ แต่ก่อนเราจะคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนามธรรม เราจะให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะมีอยู่แล้ว สามารถสัมผัสได้…

“เราจะประกาศ 100 สามัญชนคนดี คือเวลาเราจะชูคนดี มักจะชูคนมีชื่อเสียง คนชั้นสูง แต่ตอนนี้ เรากลับเปลี่ยน เราจะไปหาสามัญชนคนดีแทน…”

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไกลของหมอพลเดช เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่รู้ผลของอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ระยะสั้นนี้ จะสร้าง “ศรัทธา” ให้เกิดแนวร่วม เพื่อที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งผลงานภายใน 1 ปีของ “รัฐบาลสุรยุทธ์” จะเป็นคำตอบ

สำหรับอนาคต “สังคมดีงามและอยู่เย็นเป็นสุข” ได้เป็นอย่างดี!!!

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

29 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/64088

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *