อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง (ต่อ 3)
“คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ” พลังเสริมที่ยังไม่ถูกใช้
ผมถือโอกาสเรียนว่า คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาตินี้ จะมาเสริมท่านนะครับ ไม่ใช่มาแทนท่าน มาเสริมความพยายามที่จะสร้างความปรองดอง แต่เสริมในลักษณะพื้นฐาน อาจจะเติมช่องว่าง อาจจะปูพื้นฐาน เพื่อให้ในที่สุดประเทศไทยมีวัฒนธรรมสันติ หรือสันติวัฒนธรรม คือ Culture of Peace ซึ่งเป็นคำที่ใช้โดยองค์การ UNESCO สังคมเราจะเปลี่ยนไปครับ จากสังคมที่ชอบความขัดแย้ง ชอบความเหลื่อมล้ำ ชอบอุปถัมป์ ชอบขอชอบให้ มาเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล ช่วยเหลือ สมานฉันท์ ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะกลายเป็นพลังทางสังคม กลายเป็นทุนทางสังคม หรือ Social Capital ที่ยิ่งใหญ่ และนั่นแหละจะเป็นฐานที่เข้มแข็งของสังคมไทย และจะเป็นฐานที่สร้างความดีที่ผมว่าขาดไปในสังคมไทย หรือพร่องไป เรามีความสามารถ เรามีความสุขพอประมาณ แต่ความดีของเราพร่องไป ต้องเติมเรื่องของความดี และจะเติมได้ด้วยการกระทำทั้งหลายที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เป็นไปในทางที่จะรวมพลังกัน โดยเฉพาะรวมพลังด้านภาคประชาชน
ผมคิดว่า ขณะนี้ถ้าคณะคุณหมอประเวศ คณะคุณอานันท์ ได้ทำหน้าที่ไปบ้างแล้ว ในระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่ ท่านน่าจะไม่ต้องรอจนเขาเสนอผลงานสุดท้าย เพราะว่ามีข้อเสนอมาเยอะแล้ว และผมเชื่อว่าทั้ง 2 คณะนี้จะรีบเสนอโดยเร็ววัน มีอะไรบ้างที่เสนอได้คงจะรีบเสนอมา เพราะฝ่ายประชาชนเขามีข้อเสนอมาแล้วนะครับ ผมได้มาหลายปึกเลยจากทางด้านชุมชน ซึ่งเขากลั่นกรองมาหลายรอบแล้ว พร้อมเสนอได้เลย ท่านก็ไปเลือกเอาและลงมือทำได้ ท่านก็จะได้ทั้งการปฏิรูป พร้อมกับการสมานฉันท์ทางอ้อม เป็นการสมานฉันท์ขั้นพื้นฐาน แม้คุณหมอประเวศและคุณอานันท์จะบอกว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องปรองดอง แต่ผมคิดว่า ถ้าปฏิรูปได้ดี กระบวนการปฏิรูปที่ดีคือกระบวนการปรองดอง เพราะคนทุกฝ่ายเข้ามาทำงานด้วยกัน
เปรียบเสมือนบ้านเรากำลังพังกำลังทรุด แล้วคนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันซ่อมบ้านสร้างบ้าน นั่นแหละเขาสมานฉันท์โดยไม่รู้ตัว คนที่ไปช่วยกันกวาดขยะและซ่อมสิ่งสลักหักพังที่ราชประสงค์ เขาปรองดองสมานฉันท์โดยปริยาย แล้วถ้าปฏิรูปดี ผลดีเกิดขึ้น คนเกิดความสุขความชื่นชม ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะไม่พอ ต้องมีความสมานฉันท์ทางตรงด้วย คือต้องมีความสมานฉันท์อันเนื่องมาจากการเผชิญหน้า การปะทะรุนแรง เพราะยังมีเรื่องความเป็นธรรม เรื่องการเยียวยา เรื่องการที่จะสร้างความโปร่งใส การค้นหาความเป็นจริง การให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา การเกิดสำนึกที่จะขอโทษและให้อภัย นั่นคือการปรองดอง คำว่าปรองดองนี้จะรวมถึงการขอโทษและการให้อภัยด้วย แล้วก็มาร่วมกันสร้างประเทศไทย สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นสังคมที่จะเป็นตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ได้ เพราะเรามีศักยภาพที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศอื่นๆ ในการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์สันติสุขได้ ผมก็หวังว่าความพยายามของรัฐบาลและของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะทำให้เกิดอนาคตของประเทศไทยที่ดีกว่า บนพื้นฐานของความปรองดอง น่าจะเป็นไปได้
จาก “คนดี คนฉลาด คนซื่อตรง” สู่ “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว” ?
สุดท้ายครับ ผมขออนุญาตพูดต่อหน้าท่านนายกฯ และท่านสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าผมเป็นคนหนึ่งที่มีความชื่นชม เคารพนับถือท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ท่านเป็นคนดี มีความฉลาด มีความซื่อตรง คนที่เป็นคนดี คนฉลาด คนซื่อตรง ภาษาบาลีเรียกว่าเป็น “สัตบุรุษ” สัต แปลว่าเป็นคนดี คนฉลาด คนซื่อตรง ฉะนั้นเราอาจจะเรียกท่านว่า คุณอภิสิทธิ์สัต (ปรบมือ) หรือสัตอภิสิทธิ์ แต่ แต่ครับ แม้ท่านเป็นคนดี เป็นคนฉลาด เป็นคนซื่อตรงก็จริง แต่ท่านยังมีปณิธาน มีจุดมุ่งหมาย 2 เรื่องที่สำคัญ ยิ่งสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือ 1 สร้างความปรองดอง และ 2 ปฏิรูปประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ต้องมีสร้อยต่อครับว่าต้องปฏิรูปให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ปฏิรูปแล้วเละเทะเลยนะครับ (หัวเราะ) ปฏิรูปแล้วแย่กว่าเดิมก็ไม่ดี ฉะนั้นท่านต้องสร้างความปรองดองความสมานฉันท์ที่แท้จริงให้เกิดขึ้น และต้องปฏิรูปประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ไหนๆ จะลงทุนลงแรงปฏิรูปต้องทำให้ดีกว่าเดิมใช่ไหมครับ
อย่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมัน รวมถึงอิตาลี เขาแพ้สงคราม เขาปฏิรูปจนดีกว่าเดิมไม่รู้กี่เท่า อัฟริกาใต้ก็ปฏิรูปแล้วดีกว่าเดิม หลายประเทศที่ประสบปัญหาภายในเขาปฏิรูปแล้วดีกว่าเดิม เราก็ต้องทำได้ ต้องปฏิรูปแล้วดีกว่าเดิม ถ้าท่านนายกฯ ทำ 2 เรื่องแล้วสำเร็จนะครับ จะเลื่อนฐานะจากสัตบุรุษ คือ “คนดี คนฉลาด คนซื่อตรง” เป็น “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว”
ท่านมีความมุ่งหมาย 2 ข้อ คือ 1 ปรองดอง 2 ปฏิรูป ปรองดองก็คือให้เกิดความสมานฉันท์ เลิกแบ่งข้างเลิกทะเลาะแต่มาร่วมมือกันสร้างสรรค์ประเทศ แล้วก็ร่วมมือกันปฏิรูป ปฏิรูปแล้วประเทศไทยดีกว่าเดิม ถ้าท่านทำเช่นนั้นได้ ภาษาบาลีเขาเรียกว่า “สิทธัตถะ” สิทธัตถะ ไม่ใช่ชื่อพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียวนะครับ เป็นคำภาษาบาลีที่มีความหมายว่า “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว” ฉะนั้นท่านจะเลื่อนฐานะจาก “สัตอภิสิทธิ์” หรือ “อภิสิทธิ์สัต” เป็น “อภิสิทธัตถะ” ครับ (ปรบมือ) ผมขอเอาใจช่วยนะครับ ด้วยความจริงใจ และผมเชื่อว่าคนในประเทศไทยจำนวนมากเลยเอาใจช่วยท่าน ทั้งชื่นชมและเอาใจช่วย แต่แน่นอนครับ ในประเทศไทยคนที่ไม่ชอบท่านก็มี (หัวเราะ) เป็นธรรมชาติครับ เป็นสัจธรรม แม้แต่พระพุทธเจ้ายังมีคนไม่ชอบได้ เราเป็นคนธรรมดามีคนไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดามากนะครับ แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมากชอบท่าน ชื่นชมท่าน และอยากให้ท่านขยับฐานะจาก“สัตอภิสิทธิ์” หรือ “อภิสิทธิ์สัต” เป็น “อภิสิทธัตถะ” คือทำภารกิจใหญ่เรื่องความปรองดองและการปฏิรูปให้สำเร็จได้อย่างน่าพอใจ ขอบคุณและสวัสดีครับ
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385061