สรุปผลการดำเนินงานของรองนายกรัฐมนตรี (ด้านสังคม) ตอนที่ 1

สรุปผลการดำเนินงานของรองนายกรัฐมนตรี (ด้านสังคม) ตอนที่ 1


สรุปผลการดำเนินงาน

                                              ของรองนายกรัฐมนตรี (ด้านสังคม)

                                                                                  โดย ทีมงานของรองนายกรัฐมนตรี (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม)

ภารกิจสำคัญของรัฐบาลอีกด้านหนึ่ง คือ การประคับประคองสังคมให้เกิดความสมานฉันท์ อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ในสภาวการณ์ของความขัดแย้งทางสังคม

นับจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี โดยได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบงานด้านสังคม ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงทางสังคม คือ กระทรวงกระท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

ตลอดจนหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๗๑ /๒๕๕๐ ให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สภานายกสภาลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และคณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

ประธานกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คือ คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีและสถาบันครอบครัวแห่งชาติ คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนโครงการหลวง คณะกรรมการนโยบายและฟื้นฟูทะเลไทย คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง คณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และคณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย

นอกจากนี้ยังรับมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ประกอบด้วย เขตตรวจราชการที่ ๑ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน เขตตรวจราชการที่ ๒ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ เขตตรวจราชการที่ ๑๗ กระบี่ พังงา และภูเก็ต เขตตรวจราชการที่ ๑๘ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กกช.) ประธานคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานคณะกรรมการรวมพลังขับเคลื่อนสังคม และประธานคณะกรรมการประสานงานขับเคลื่อนวาระเพื่อเด็กและเยาวชน  เป็นต้น

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

การขับเคลื่อนงานทางสังคมที่ได้รับมอบหมาย ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

                ๑. งานนโยบายและยุทธศาสตร์

                ๑.๑ ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ไม่ควรมุ่งเพียงการสร้างที่อยู่อาศัยทางวัตถุและราคาที่ผู้อยู่อาศัยสามารถรับได้เท่านั้น แต่ต้องมุ่งสร้างคน สร้างสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ภายใต้เป้าหมาย “ปริมาณเพียงพอ มั่นคง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ ๗ ด้าน คือ ๑. ขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยให้เป็นวาระแห่งชาติผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยในการบริหารแผนยุทธศาสตร์ ๒.พัฒนาที่ดินและลงทุนด้านสาธารณูปโภคที่สอดคล้องเกื้อกูลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ๓. สร้างระบบการเงินและระบบสินเชื่อที่เอื้อต่อการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนในทุกระดับ ๔. สร้างขีดความสามารถและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่อยู่อาศัย ๕. สร้างองค์ความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยสู่ทุกภาคส่วนของสังคม ๖. ยกระดับคุณภาพของที่อยู่อาศัย และ ๗.สร้างมาตรฐานสู่คุณภาพของที่อยู่อาศัย

                ๑.๒ ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ  ได้กระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในระยะเร่งด่วน ๗ แห่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สแกนดิเนเวีย และออสเตรเลีย ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ผ่านการประชุมสัมมนาในประเทศไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนามาตรฐานโฮมสเตย์ไทย การจัดอบรมโครงการค่ายเยาวชนรักษ์การท่องเที่ยว โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการอบรมผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลให้มีผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเยาวชน พร้อมเป็นบุคลลากรอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

                ๑.๓ ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๓) เพื่อให้การวิจัยสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ใน ๕ ด้าน คือ ๑) การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ๒) การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางสังคม ๓) การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางวิทยาการและทรัพยากรบุคคล ๔) การเสริมสร้างและพัฒนาทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ๕) การบริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัย ทรัพยากร และภูมิปัญญาของประเทศ สู่การใช้ประโยชน์ด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสม โดยอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย

                ๑.๔ นโยบายการขับเคลื่อนวาระเพื่อเด็กและเยาวชน ปี ๒๕๕๐ รัฐบาลเล็งเห็นคุณค่าในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศขับเคลื่อนวาระเพื่อเด็กและเยาวชน ปี ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๐ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงทางสังคม ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์ ๕ ด้าน คือ

                                ๑) สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว ผ่านการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์

                                ๒) กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยกระทรวงศึกษาจัดค่ายคุณธรรมนำความรู้สู่สังคม กิจกรรมนักเรียน นักศึกษา เยาวชนภาคฤดูร้อน ๑๗๙ โครงการ มีเยาวชนผ่านการอบรม ๑๐ ,๐๐๐ คน โครงการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่อบต./เทศบาล ๗๓๐ แห่ง ๗๕ จังหวัด

                                ๓) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ โดยกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กต้นแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสนับสนุนงบประมาณ ศูนย์ละ ๘๒๐ ,๐๐๐ บาท สนับสนุนอัตราผู้ดูแลเด็กเล็ก ๑ ต่อ ๑๘ คน

                                ๔) จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านแผนยุทธศาสตร์จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก ๗ ด้าน คือ เมืองปลอดภัย เมืองสุขภาพ เมืองครอบครัว เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองที่คุ้มครองสิทธิเด็ก เมืองปลอดปัจจัยเสี่ยง และเมืองที่เด็กมีส่วนร่วม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯจัดทำพื้นที่นำร่อง ๑๐ จังหวัด ๆ ละ ๑ ตำบล

                                ๕) กฎหมายครอบครัว เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญในการอบรม เลี้ยงดู และพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดี และมีความสุข

                ๑.๕ นโยบายการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงและหน่วยงานทางสังคม ได้มุ่งพัฒนาให้สื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนเป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์ ผ่านยุทธศาสตร์ “ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกัน และพัฒนาระบบ” ผลของการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ ได้แก่ การปราบปรามสื่อผิดกฎหมาย โดยสันติบาลสามารถยึดของกลางรวมมูลค่ากว่า ๙,๙๒๔,๒๘๐ บาท ผลิตสื่อสร้างสรรค์ โดยกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับโรงเรียน ซึ่งได้ทดลองในโรงเรียนต้นแบบ ๕ แห่ง พร้อมกับประกาศทดลองใช้ทั่วประเทศในภาคการศึกษาหน้า และผลักดันนโยบายรักการอ่าน ผ่านการประกวดสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบเว็บเพจและสารคดีสั้น การออกนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กในโลกออนไลน์  และโครงการร้านเกมคาเฟ่และร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  พร้อมกับจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ โดยปรากฏสัญลักษณ์บนรายโทรทัศน์ เพื่อแบ่งประเภทตามความเหมะสมของผู้ชมตามช่วงอายุ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือปกป้องเด็กในการบริโภคสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัยของตน และยังก่อให้เกิดรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณาที่มีผลต่อเด็กและเยาวชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมกับขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจพิจารณาให้ความสำคัญในการสนับสนุนรายการสำหรับเด็ก ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐

๑.๖ นโยบายการส่งเสริมสวัสดิการสังคม ระบบสวัสดิการสังคมนับเป็นการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน  เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วม จึงได้พัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ด้วยการแก้ไขพ.ร.บ.สวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมสวัสดิการชุมชน ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพและกระจายไปสู่จังหวัด จัดสรรงบประมาณการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ได้เพียงปีละ ๖๐ ล้านบาท เป็น ๔๗๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๐ และยังคงได้รับในจำนวนใกล้เคียงกัน คือ ๔๕๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๑  พร้อมกับส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่นอกระบบการประกันสังคม ให้ครอบคลุมดูแลทุกกลุ่มคน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ยากลำบาก ให้ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน

๑.๗ การบูรณาการแก้ไขปัญหาเกษตรกร (หน้า ๘๐) ปัญหาหนี้สินเกษตรกร นับเป็นปัญหาที่พอกพูนมาช้านาน โดยไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จถาวร เนื่องจากมุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากหลายปัจจัย อันได้แก่ ปัญหาการบริหารจัดการของเกษตรกร ระบบบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร จึงต้องอาศัยการบูรณาการของแต่ละหน่วยงานร่วมกัน

ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและถาวร ผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ. … เพื่อเป็นคณะกรรมการที่ดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาพรวม โดยเชื่อมประสานและบูรณาการจากหลายหน่วยงาน พร้อมกับมีหน่วยงานที่ดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนนโยบายและแนวทางของคณะกรรมการ ตลอดจนเอื้อให้ฝ่ายต่างๆได้ประสานความร่วมมือได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ในระยะเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหา คณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ได้ตั้งจุดรับเรื่องร้องทุกข์ โดยมีสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์จากเกษตรกร ควบคู่ไปกับมาตรการเชิงรุกผ่านโครงการ “คลินิกหนี้” ในทุกสาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงสามารถชะลอการฟ้องร้อง การบังคับคดี และการถูกขายทอดตลาดโดยเฉพาะที่ดินของเกษตรกร รวมทั้งสิ้น ๑๐,๒๒๓ ราย และคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกร ๒,๔๖๒ ราย รวมมูลหนี้ ๓๕๑ ล้านบาท

๒ พัฒนาองค์กร  

เพื่อให้องค์กรที่สำคัญสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการ ดังนี้

คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จากเดิมที่ประสบภาวะสุญญากาศในการบริหารจัดการ เนื่องจากขาดองค์ประกอบของคณะทำงาน ในส่วนของผู้แทนภาคเกษตรกรและผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งยังประสบปัญหาความขัดแย้งภายใน จึงได้พัฒนาระบบผ่านการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา จนนำสู่การเลือกคณะทำงานจนครบองค์ประกอบ ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรสามารถทำงานได้ โดยดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกร ๑,๐๐๓ องค์กร ๓,๐๒๙ ราย ๓,๐๔๔ บัญชี รวมยอดชำระหนี้แทน ๔๒๖,๐๖๙,๖๖๐.๒๘ บาท

–  การเคหะแห่งชาติ เนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยในเชิงปริมาณ ผ่านโครงการบ้านเอื้ออาทร ส่งผลให้เกิดภาระหนี้ผูกพันของรัฐบาล โดยพบว่า หากการเคหะแห่งชาติ ดำเนินการครบตามแผนงานที่ตั้งไว้ จำนวน ๖๐๑,๗๒๗ หน่วย จะใช้วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น ๒๗๓,๒๐๙ ล้านบาท โดยรัฐต้องจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๓๐,๒๐๐ ล้านบาท และจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อลงทุนอีก ๑๖๗,๒๙๓ ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อสิ้นปี ๒๕๕๕ การเคหะแห่งชาติจะรับภาระหนี้ประมาณ ๙๕,๕๐๐ ล้านบาท จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยระดมผู้ทรงวุฒิที่มีประสบการณ์ เป็นที่ปรึกษา และแก้ไขปัญหาองค์กร โดยลดจำนวนหน่วย และดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและความเหมาะสมในพื้นที่    

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแผนงานองค์กร ในทิศทางการพัฒนาเชิงสังคมและชุมชน ผ่านนโยบาย “เคหะชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข” การพัฒนานโยบายการฟื้นฟูเมือง ในโครงการที่มีสภาพเก่าแก่ทรุดโทรม ผลักดันนโยบายเคหะชุมชนเพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคม โดยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และภาคีพัฒนา จนเกิดกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเป็นฐานทางการเงินที่นำไปสู่ความสามารถในการรับภาระเรื่องที่อยู่อาศัย เกิดระบบสวัสดิการชุมชน และมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชุมชน  โดยได้จัดทำโครงการนำร่อง ๑๒ โครงการ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ๓ โครงการ ปริมณฑล ๓ โครงการ และในภูมิภาค ๖ โครงการ

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จากรายงานผลการตรวจสอบโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ประมาณการยอดหนี้ค้างชำระและเงินขาดบัญชีของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า ๘,๕๑๐ ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการปรับการบริหารจัดการ ภายใต้แนวคิด “กองทุนต้องเป็นมากกว่าเงิน แต่เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องสถาบันการเงินชุมชน และดำเนินชีวิตให้สอดคล้องตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยพัฒนาระบบการบริหารจัดการในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพผ่านการปรับระบบการลงบัญชี โดยกรมบัญชีกลางเข้ามาพัฒนาระบบเพื่อให้เห็นตัวเลขผลประกอบการที่แท้จริง การตั้งคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องสำคัญอย่างรอบคอบ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อกระจายอำนาจสู่สำนักงานสาขาในภูมิภาค พร้อมกับปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อลดความซ้ำซ้อน

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๓ เพื่อวางแนวทางการวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ จัดทำข้อเสนอการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ โดยเน้นผู้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์กลาง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จากปัญหาร้องเรียนของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อให้ยกเลิกการทำหน้าที่ของอพท. จึงนำสู่วิธีแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิภาคสังคม สิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาจากภาคประชาสังคม เข้าร่วมเป็นกรรมการ และได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลเพื่อแนะนำการแก้ไขปัญหา โดยส่งเสริมกลไกการมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่อพท.เข้าไปดำเนินการ เพื่อเปลี่ยนมิติจากการร้องเรียนเป็นให้การสนับสนุน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับโครงสร้างในอพท. เพื่อเพิ่มหน่วยงานการมีส่วนร่วมในพื้นที่

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้ตั้งคณะกรรมการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ภาคราชการ และภาควิชาการ ร่วมเป็น “ไทยทีม” เพื่อร่วมผลักดันธุรกิจด้านตลาดการประชุมแสดงสินค้าและการท่องเที่ยว ให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

                ๓. งานพัฒนาเชิงพื้นที่ 

                ๓.๑ ขับเคลื่อนการบูรณาการงบประมาณรายจังหวัด จากการตรวจราชการในพื้นที่ จ.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก ได้พบปัญหาการจัดการงบประมาณในพื้นที่ โดยแต่ละจังหวัดไม่มีงบประมาณสำหรับการป้องกันปัญหา เนื่องจากต้องถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ จึงสามารถได้รับการอนุมัติงบ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และการประกาศเขตภัยพิบัติยังกระทบต่อการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาระบบบูรณาการแผนงานและงบประมาณของจังหวัด เพื่อให้จังหวัดสามารถตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ และตรงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระจายอำนาจให้จังหวัดและท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งการบริหารงาน คน และงบประมาณ

                การบูรณาการแผนงานและงบประมาณของจังหวัด จึงเกิดจากการประสานแผนงาน/งบประมาณ ที่เชื่อมโยงใน ๓ มิติ ได้แก่ มิติทางดิ่ง คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน มิติทางราบ คือ ระหว่างหน่วยงานที่เป็นผู้แทนของกระทรวงต่างๆในจังหวัด และมิติเวลาที่สัมพันธ์สอดคล้องกัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ เห็นชอบให้กระทรวงจัดทำข้อมูลแผนงาน/โครงการและงบประมาณประจำปี พ.ศ.๒๕๕๑ ทุกประเภทที่ดำเนินการในจังหวัด จำนวน ๗๔ จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดพิษณุโลก) ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการแผนงานและงบประมาณของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

                ๓.๒ แก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ (หน้า ๒๗) จากสถานการณ์ในช่วงต้นปี ๒๕๕๐ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้ประสบปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรง โดยตรวจพบการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จนกระทั่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ประกอบกับมวลอากาศเย็นเริ่มปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้ฝุ่นละอองสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน ไม่สามารถแพร่กระจายออกไปได้ ก่อให้เกิดสภาพฟ้าสลัว มีหมอกควันปกคลุม ทัศนวิสัยต่ำกว่า ๑ กิโลเมตร

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/162645

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *