สรุปผลการดำเนินงานของรองนายกรัฐมนตรี (ด้านสังคม) ตอนที่ 2

สรุปผลการดำเนินงานของรองนายกรัฐมนตรี (ด้านสังคม) ตอนที่ 2


ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๗๙ /๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐ ได้เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเร่งด่วน ด้วยการทำปฏิบัติการฝนหลวง และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เพื่อติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด

                อย่างไรก็ตามจากข้อมูลไฟป่าของหน่วยควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า การเกิดไฟป่าในปี ๒๕๕๐ สูงถึง ๗ ,๕๔๗ ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ ๑๑๔,๙๔๐ ไร่ ซึ่งการเกิดไฟป่าสูงขึ้นถึง ๒ เท่า เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๙ ที่พบ ๔,๖๒๖ ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ ๕๒,๙๓๕.๕ ไร่  คณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๔ ภายใต้กรอบงบประมาณ ๔,๔๒๒.๘ ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ใน ๓ ยุทธศาสตร์ คือ ๑.แผนควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม ๒. แผนควบคุมไฟป่า และ ๓. แผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ พร้อมกับจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมีภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ

                ๓.๓  การพัฒนาระบบการบริหารงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้  (หน้า ๘๖) สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงในหลายมิติ และปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ การบริหารจัดการของรัฐบาลในหลายรูปแบบ ไม่สามารถดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระบบการบริหารจัดการเพื่อการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. …  เพื่อให้เกิดการบูรณาการประสานความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เป็นฝ่ายเลขานุการ และให้มีการจัดทำนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วม ตรงตามความต้องการ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน โดยบูรณาการการดำเนินงานของกระทรวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการ และถือเป็นกรอบแนวทางให้ทุกหน่วยงานยึดถือปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง พร้อมทั้งแปลงนโยบายยุทธศาสตร์ของส่วนราชการไปปฏิบัติในพื้นที่

                ๓.๔ การแก้ไขปัญหาผู้ประสบความเดือดร้อนในจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้หลายชุมชนไม่สามารถกลับไปสร้างบ้านในที่เดิมที่เคยอยู่อาศัยได้ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน จึงได้เข้าไปแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติใน ๑๓ พื้นที่ รวม ๑,๑๕๖ ครัวเรือน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก ๕๘ พื้นที่ นอกจากนี้ยังได้สร้างบ้านพักถาวรโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านพักของตนเอง ๙ ชุมชน ๓๕๐ ครัวเรือน

                ๓.๕ ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค จากการปฏิบัติราชการในภูมิภาคที่ได้รับมอบหมาย ได้จัดโครงการสัมมนา “แนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำกับติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค” เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่  เพื่อให้การกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสนองตอบนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆในการประสานความร่วมมือเพื่อนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ โดยผลของการจัดสัมมนาครั้งนี้นำไปสู่ระบบ/กลไกภาคประชาชนร่วมกันติดตามผลการปฏิบัติงานภาครัฐ ผ่านการนำเสนอและสะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่เพื่อให้การกำหนดนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกิดการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมอย่างสมดุลระหว่างภาครัฐและประชาชน

                ๔. การจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐(หน้า ๓๐)

                เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ คณะอนุกรรมการพัฒนาและบูรณาการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดทำ “โครงการทำดีเพื่อพ่อ” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันทำความดี สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ จนถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ รวมระยะเวลา ๘๐ วัน มีประชาชนเข้าร่วมเขียนใบบันทึกความดี จำนวน ๑ ล้านใบ  จากไปรษณีย์ไทย ห้างสรรพสินค้า และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมกับเสนอบทความทำดีเพื่อพ่อ โดยใบบันทึกความดีและบทความทำดี จะถูกรวบรวมเป็นจดหมายเหตุ  นอกจากนี้ยังได้ คัดเลือก “๑๐๐ตัวแทนคนดี ” จากทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบของการทำความดี และเข้าร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

                ในส่วนของคณะกรรมการอำนวยการโครงการเจ้าพระยาสดใสเทิดไท้องค์ราชัน ประกอบด้วยหน่วยงานจากทุกภาคส่วน ยังได้จัดทำ “โครงการเจ้าพระยาสดใสเทิดไท้องค์ราชัน” โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ฟื้นฟูคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และเป็นการสนองต่อพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

                เนื่องจากจากผลสำรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ของสถานีตรวจคุณภาพน้ำ พบว่า คุณภาพน้ำเฉลี่ยอยู่ในระดับเสื่อมโทรมอย่างมาก มีเพียงสถานีเขื่อนเจ้าพระยา เพียง ๑ แห่ง ที่ยังมีสภาพน้ำที่ดี จึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านการพัฒนาด้านกายภาพ พื้นที่ และชุมชน ตามแนวคิด “สวย สะอาด สะดวก ปลอดภัย และน่าสนใจ” โดยกำหนดเป็น ๗ มาตรการ ๔๙ โครงการ พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

                ๕. กฎหมาย

– พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐

– พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐

– พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ฉบับที่ ๒

– พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ฉบับที่ ๒

– พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๐

– พระราชบัญญัติพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐

– พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ

– พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๐

– ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน

– ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

– ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมประชาสังคมในการพัฒนา

– ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต

– ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม

– ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน

– ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนากิจการสตรี

– ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาครอบครัว

– ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระบบการบริหารจัดการเพื่อการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                – ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ

– ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเกษตรกรและผู้ยากจน

ฉายแนวคิดรองนายกรัฐมนตรี(ด้านสังคม) ผ่านบทเรียนแห่งการทำงาน

                ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ต้องดูแลงานของกระทรวงทางสังคม รวมทั้งประเด็นทางสังคมต่างๆ จึงต้องประสานเชื่อมโยงงานของกระทรวงทางสังคม และประสานเชื่อมโยงภายใต้ประเด็นที่สำคัญ จึงได้มีการประชุมหารือผ่านวงประชุมที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี หรือ จัดให้มีคณะกรรมการตามประเด็น เช่น คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำให้การดำเนินงานในเรื่องทางสังคมเกิดประสิทธิภาพและการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ระหว่างประเด็น และระหว่างองค์ประกอบต่างๆเข้าด้วยกัน

และเนื่องจากรองนายกรัฐมนตรี ต้องทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเป็นประธานคณะกรรมการชุดต่างๆ ผมได้ใช้ความพยายามทำให้คณะกรรมการทุกคณะ โดยเฉพาะคณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สำคัญ หรือประเด็นวิกฤต เช่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกร สามารถเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข้ง เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพ และต่อเนื่อง จึงเห็นว่าจากเดิมที่บางคณะกรรมการไม่ได้ประชุม หรือประชุมน้อยมาก ก็ได้มีการประชุม และได้จัดการแก้ไขภาวะวิกฤติ พร้อมกับสร้างสรรค์งานพัฒนาใหม่ๆ ค่อนข้างมาก เช่น คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ คณะกรรมการเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และคนพิการ คณะกรรมการเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าว คณะกรรมการเกี่ยวกับการวิจัย การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

สำหรับงานเกี่ยวกับการดูแลพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายในภาคเหนือตอนบน จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และพัฒนาระบบการบริหารงาน เช่น การแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ   การแก้ไขปัญหาระบบการบริหารงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้  และการแก้ไขปัญหาผู้ประสบความเดือดร้อนในจังหวัดชายฝั่งอันดามัน

ในส่วนของการดูแลองค์การมหาชน ได้แก้ปัญหาให้เกิดการเดินหน้าไปได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ติดขัด โดยเฉพาะองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จากเดิมที่ประสบปัญหาการถูกต่อต้านการทำงาน จึงได้ดึงกลุ่มคนเหล่านั้นเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการ ทำงานร่วมกับคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ ทำให้งานสามารถเดินหน้าไปได้ รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ที่ได้จัดตั้ง “ไทยทีม” เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจด้านตลาดการประชุมแสดงสินค้าและการท่องเที่ยว

ส่วนงานของกระทรวงทางสังคม ได้สนับสนุนให้แต่ละกระทรวงสามารถขับเคลื่อนงานสำคัญให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงบูรณาการมากขึ้น เช่น การช่วยให้เรื่องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองและคณะรัฐมนตรีได้รวดเร็วขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้คลี่คลายจนเกิดข้อสรุปด้วยดี

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาสังคมในภาพรวม ควรมองที่จุดแข็งและข้อดีของสังคมที่มีอยู่ และนำจุดแข็งมาเป็นพลังส่งเสริมให้เกิดจุดแข็งที่พอกพูน วิธีมองแบบสร้างสรรค์เช่นนี้ จะช่วยแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาในระยะยาว ขณะเดียวกันต้องจุดอ่อนของสังคมเพื่อหาทางลดปัญหา ควบคู่ไปกับการค้นหาข้อดี และสร้างเสริมข้อดีไปพร้อมๆกัน นั่นคือ ไม่ควรเน้นการมองปัญหาสังคม และมัวแต่แก้ปัญหาแบบปลายเหตุ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว อาจจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้น แต่ถ้าเน้นจุดแข็งและข้อดีของคน ของชุมชน และสังคม จะช่วยให้ทั้งคน ชุมชน และสังคม มีจุดแข็งและข้อดี ขยายตัวมากขึ้น จึงเป็นการลดจุดอ่อน ข้อเสีย และป้องกันปัญหาของสังคมไปโดยปริยาย

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/162650

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *