สรุปผลการดำเนินงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (ตอนที่ 1)

สรุปผลการดำเนินงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (ตอนที่ 1)


กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  

โดย ทีมงานของ รมว. และ รมช.พม.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสร้างสวัสดิภาพ สวัสดิการ และพัฒนามาตรฐานชีวิตที่ดีแก่ประชากรกลุ่มต่างๆในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรี กลุ่มชาติพันธุ์ และสถาบันครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อ  ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙  กำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็ง  คนในชาติอยู่เย็นเป็นสุขอย่างสมานฉันท์ บนพื้นฐานของคุณธรรม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้นำนโยบายของรัฐบาลมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์สังคม (หน้า ๑๓) ใน ๓ ด้าน คือ สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข้ง และสังคมคุณธรรม โดยจุดมุ่งหมายของการพัฒนาเพื่อให้เป็นสังคมที่พึงปรารถนา คือ สังคมแห่งความดีงามและอยู่เย็นเป็นสุข

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

จากยุทธศาสตร์ทางสังคม ทั้ง ๓ ด้าน ได้แปรเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

๑. ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อระดมพลังทางสังคมในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ยากลำบาก

๑.๑ ส่งเสริมการจัดระบบ สวัสดิการท้องถิ่น จัดสำรวจผู้ถูกทอดทิ้งในทุกตำบลและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สนับสนุนให้

คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมในแต่ละจังหวัดจัดทำแผนการช่วยเหลือผู้ยากลำบาก เพื่อช่วยเหลือผู้ยากลำบากและผู้ด้อยโอกาส จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ คน สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจัดระบบสวัสดิการชุมชน จากงบกลาง ปี ๒๕๕๐ ให้การช่วยเหลือผู้ถูกทอดทิ้งในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล เฉลี่ยแห่งละ ๑๐ ,๐๐๐ บาท และสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม โดยนำร่องใน ๕ จังหวัด คือ ขอนแก่น ลำปาง พัทลุง และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ ๑ ล้านบาท

๑.๒ สร้างความสมานฉันท์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายในการปกป้อง และรักษาทุนทางสังคมในพื้นที่ไว้ให้ได้มากที่สุดท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง  และความพยายามแก้ไขปัญหาของฝ่ายความมั่นคง  ดังนี้

( ๑ ) โครงการส่งเสริม “อาสาสมัครเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ” จากเหตุการณ์ความไม่สงบ  โดยผ่านศูนย์เยียวยาชุมชนปอเนาะ ๗๐ แห่ง  อาสาสมัคร ๒๕๐ คน  ดูแลประชาชนประมาณ ๒,๐๐๐ ราย

(๒) โครงการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนเพื่อ “เยียวยาผู้บาดเจ็บ และช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีมัสยิด ๖๐๐ แห่ง ร่วมเป็นศูนย์แจ้งเหตุและศูนย์ปฏิบัติการ  ครอบคลุม ๓๓ อำเภอ ๒๕๐ ตำบล  ช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะลำบากประมาณ ๓ , ๐๐๐ ราย

( ๓ ) โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ “ชุมชนพหุศาสนิก” ในการเยียวยาฟื้นฟูความสมานฉันท์ในชุมชนท้องถิ่น  นำร่องใน ๑๓ ชุมชน

( ๔ ) โครงการส่งเสริมบทบาทปอเนาะเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง”    จำนวน ๑๕ แห่ง

( ๕ )  โครงการพัฒนา “ระบบกองทุนซะกาต” เพื่อดูแลเด็กกำพร้าในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้  จำนวน ๒๐ ปอเนาะ

( ๖ )  โครงการ “บ้านมั่นคง” ๖๒ ชุมชน ๕,๕๐๐ ครัวเรือน

( ๗ )  โครงการแก้ปัญหา “ชุมชนประมงพื้นบ้าน” เดือดร้อนจากเรืออวนรุนอวนลาก ๘๑ หมู่บ้าน ๒๕ ตำบล ๒๓ , ๓๒๔ ครอบครัว

( ๘ )  โครงการแก้ปัญหา “ที่ดินทำกิน”  ๓๐ ตำบล  ผู้เดือดร้อนจากอุทยานทับที่ทำกิน ๒ , ๘๐๐ ครอบครัว

( ๙ )  โครงการระดมความคิดต่อ “ร่างกฎหมาย” ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้   ๓ ฉบับ  ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน  ร่างพระราชบัญญัติฟื้นฟูชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชายแดนภาคใต้  และ ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต

( ๑๐ )  โครงการผลิตละครโทรทัศน์ เรื่อง “รายากุนิง” เพื่อสร้างเสริมทัศนคติต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของคนไทยทั้งประเทศ  ความยาว ๖๐ ชั่วโมง  เผยแพร่ในปี ๒๕๕๑

๑.๓ ส่งเสริมอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๐ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรื่อง “การให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม”  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินโครงการหลากหลาย   อาทิ   การรณรงค์จิตสำนึกการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมในโอกาสปีเฉลิมฉลอง ๘๐ พรรษา โดยประกาศให้ปี ๒๕๕๐ ซึ่งตรงกับโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เป็นปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม รณรงค์ วันสังคมสงเคราะห์และวันอาสาสมัครไทย ๒๑ ตุลาคม  วันอาสาสมัครสากล ๕ ธันวาคม และวันจิตอาสา ๒๗ ธันวาคม การจัดทำแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม  การเพิ่มหลักสูตรการเรียนว่าด้วยการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม ม าตรการเอื้อให้บุคลากรของรัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัคร โดยไม่ถือเป็นวันลา  ได้ไม่เกิน ๕ วัน และ จัดทำเว็บไซต์คนใจดีเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับ  เป็นต้น

๑.๔ ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคธุรกิจและรัฐกิจ โดยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ( CSR Promotion Center)  ขึ้นในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีเครือข่ายนักธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรม ๒๕๐ คน

๑.๕ ป้องกันและแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์ ดำเนินการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิ ภาพ หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ๖๙๕ คน อบรมทำแผนปฏิบัติการต่อต้าน การค้ามนุษย์ระดับจังหวัด ๖๑๐ คน อบรมทีมสหวิชาชีพเพื่อต้านการค้ามนุษย์ ๒๙๙ คน ทำบันทึกข้อตกลงในพื้นที่ ๓ กลุ่มจังหวัด (ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคเหนือ) บันทึกความเข้าใจองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น ( IOM) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยร่วมมือกันในกลุ่ม ๖ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ( COMMIT)

                ๒. ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเป้าหมายและสถาบันครอบครัว (สตรี เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ) ผ่านการรวมตัวกัน เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

.๑ ขยายระบบสวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นฐานของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง โดยสนับสนุนงบประมาณประจำปี ๒๕๕๐ จำนวน ๒๐๐ ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ ๒,๐๐๐ ตำบล

๒.๒ วิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการบูรณาการเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอ ใน ๑๒ จังหวัด

๒.๓ สนับสนุน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โดย สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัด   ๖๙ จังหวัด ๔๙๖ โครงการ ๕๓ ,๑๙๐ ครัวเรือน และโครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งได้ดำเนินโครงการทั้งสิ้น ๓๐๐,๕๐๔ หน่วย ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ๘๙,๖๐๗ หน่วย (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน๒๕๕๐)

๒.๔ ส่งเสริมเครือข่ายสตรีเข้มแข็ง   ผ่านกิจกรรมรณรงค์ความเสมอภาคเท่าเทียมของหญิงชาย รณรงค์ส่งเสริมสตรีมีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมือง  โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนสตรี อาสาสมัคร ใน อบต. ๑ , ๗๕๐ คน  เพื่อเพิ่มสัดส่วนได้รับเลือกตั้งอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

๒.๕ สร้างเสริมความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว   ผ่านกิจกรรมศูนย์พัฒนาครอบครัว ในชุมชน ๓ ,๑๖๖ แห่ง,   รณรงค์วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว ( We love Sunday),   โครงการครอบครัวสมานฉันท์    และสื่อรณรงค์ครอบครัวอบอุ่น

๒.๖ พัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านการขับเคลื่อนวาระเพื่อเด็กและเยาวชน ปี ๒๕๕๐ ใน ๕ ด้าน  ได้แก่  ๑ ) สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน   ผ่านการ ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนโลกออนไลน์  ๒ ) ด้านกิจกรรม สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน   ๓ ) ด้านสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล  ๔ ) ด้านจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก และ ๕ ) ด้านกฎหมายส่งเสริมครอบครัว รวมถึงการจัดทำโครงการบูรณาการสร้างบทบาทและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โครงการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมแก่เด็กและเยาวชน โดยอบรมผู้นำเยาวชนคนสร้างชาติ ๕๔๓ ,๑๖๕ คน ทั่วประเทศ โครงการหอพักสีขาว และโครงการเครือข่ายเยาวชนประชาธิปไตย  เป็นต้น

๒.๗ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้จัดบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมเพื่อช่วยเหลือคนพิการ จำนวน ๑,๒๘๕ คน ใน ๒๕ จังหวัด ส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนพิการและรณรงค์การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐ ๑๐ จังหวัด การให้บริการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพสำหรับคนพิการ ผ่านกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จำนวน ๕ ,๐๕๘ ราย เป็นเงิน ๑๔๖.๒๒ ล้านบาท และสนับสนุนโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จำนวน ๑๖๖ โครงการ เป็นเงิน ๒๐.๙๗ ล้านบาท

๒.๘ ส่งเสริมศักยภาพและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ผ่านโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ( อผส.) ใน ๗๕ จังหวัด ๙๕ เขตพื้นที่  มี อผส. ๓ , ๖๓๘ คน  ดำเนินการดูแลผู้สูงอายุ ๒๗ , ๐๘๘ คน โครงการคลังปัญญาผู้สูงอายุ (ธนาคารสมอง หน้า ๓๓) ได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง ๔ ภาค ๑๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม สกลนคร เพชรบุรี จันทบุรี สุพรรณบุรี พัทลุง สงขลา และตรัง โดยมีผู้สูงอายุขึ้นทะเบียนคลังปัญญาผู้สูงอายุ จำนวน ๔ ,๑๔๕ คน และเกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุสู่ชุมชน ๑๒๕ กิจกรรม มีเด็ก เยาวชน และประชาชน ได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอด ๑๔,๐๐๐ คน

๒.๙ ส่งเสริมการสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันจัดกระบวนการประเมินและรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน จำนวน ๓๕,๐๐๐ องค์กร

. ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม มีภารกิจสำคัญคือ  การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม  และการสร้างสังคมที่สงบและสันติยุติธรรม

๓.๑ การถอดสลักความรุนแรงในสังคมไทย

( ๑ )  โครงการสนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง  จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง (ศปลร.) ขึ้นในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   และเชื่อมโยงเครือข่ายสายด่วน ๑๑๘ เครือข่าย  เข้ามาร่วมปฏิบัติงานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

( ๒ )  โครงการศูนย์สันติยุติธรรม  จัดตั้งศูนย์สันติยุติธรรมใน ๔๖ จังหวัด จำนวน ๖๐ แห่ง

( ๓ )  ดำเนินโครงการเวทีประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ในระดับอำเภอจำนวน ๙๒๖ เวที  เพื่อสร้างการเมืองเชิงสมานฉันท์ในระดับชุมชนท้องถิ่น

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/162476

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *