สรุปผลการดำเนินงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (ตอนที่ 3)
นอกจากนั้น ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างอยู่ในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ มีทั้งส่วนที่น่าจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น (ร่าง) พระราชบัญญัติฟื้นฟู ชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต และส่วนที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น (ร่าง) พระราชบัญญัติคนขอทาน, (ร่าง) พระราชบัญญัติหอพัก, (ร่าง) พระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย จึงหวังว่ารัฐบาลและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบงานด้านสังคมในช่วงต่อไปจะได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ
๒. การปรับโครงสร้างองค์กรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร
เพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีโครงสร้าง การแบ่งกลุ่มงาน และการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบสำหรับรองรับกฎหมายใหม่ สอดคล้องกับสภาพปัญหาสังคมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ตลอดจนสอดคล้องกับข้อตกลง อนุสัญญา กติกา และความร่วมมือระหว่างประเทศที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้น
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีความจำเป็นต้องเอาใจใส่ต่อการปรับ โครงสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างจริงจัง ซึ่งจะสามารถสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลสงเคราะห์ จัดสวัสดิการ และพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนากลไกการศึกษา เฝ้าระวังปัญหาและแจ้งเตือนภัยทางสังคม รวมทั้งการพัฒนาหน่วยงานเพื่อรองรับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเพื่อสังคม ภาคประชาสังคม ระบบอาสาสมัคร งานวิชาการ และการรวบรวมข้อมูลอย่างเท่าทันเหตุการณ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่จำกัด เราได้ดำเนินการไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว
จึงหวังว่าฝ่ายนโยบายและคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงจะได้พิจารณาสานต่อตามสมควรเช่นกัน
๓. การปฏิบัติงานตามภารกิจประจำของกระทรวง
เพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีผลงานเชิงคุณภาพ สร้างคุณค่าให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกำกับดูแลงานประจำของข้าราชการทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการเสนอแนะแนวความคิดใหม่ หรือนวัตกรรมการทำงานพัฒนาสังคม การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร การดำเนินการกระบวนการเพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานการทำงานบนหลักจริยธรรม จรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล เพื่อศักดิ์ศรีของข้าราชการและเกียรติภูมิของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ กรณีโครงการบ้านเอื้ออาทร กรณีแฟลตดินแดง การไล่รื้อชุมชนสลัม หวย โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับผู้พิการ แก็งค์ลักเด็ก การกระทำรุนแรงในครอบครัวและในสังคม การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก-เยาวชน ปัญหาหอพัก สื่อและอินเทอร์เน็ตลามก ฯลฯ
ทุกปัญหามีภาวะความขัดแย้ง ความกดดัน การเผชิญหน้า แต่ด้วยวิธีการที่เราให้เกียรติ รับฟัง วิจัย ค้นคว้า วิเคราะห์ และค้นหาทางออกทางเลือกที่ดีที่สุดเป็นไปได้มากที่สุด โดยมีหลักการ และมีกระบวนการมีส่วนร่วมจริงจัง ทำให้หลายปัญหาสามารถคลี่คลายและบรรเทาลงได้
๔. การขยายเครือข่ายองค์กรพันธมิตร
ด้วยตระหนักว่าภาระงานด้านพัฒนาสังคมจะลุล่วงสมบูรณ์ทั่วถึง มิใช่เพียงลำพังข้าราชการ และทรัพยากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้น แต่ต้องด้วยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในสังคมเป็นสำคัญ ทั้งจากสถาบันทางสังคม สถาบันวิชาชีพ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัด และคณะทำงานเครือข่ายยุทธศาสตร์ตามประเด็นปัญหาต่างๆ คือรูปธรรมที่เป็นองค์การเชิงเครือข่าย ( Networking Organization) ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาสนับสนุนงานและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง วิธีการ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนทางนโยบายและทางกฎหมาย เช่น มาตรการด้านภาษีที่เอื้อต่อการให้และอาสาช่วยเหลือสังคม การออกระเบียบที่เอื้อต่อการให้ผู้ทำงานภาครัฐและเอกชนได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคม การจัดกิจกรรมรณรงค์ระดับประเทศ การพัฒนาระบบสวัสดิการท้องถิ่นโดยบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดตั้งเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม เครือข่ายประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
ทุนเชิงเครือข่ายและทุนทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เหล่านี้ ล้วนมีความหมายอย่างยิ่งต่อบทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในระยะยาว
๕. การหนุนเสริมภารกิจที่เป็นระเบียบวาระของประเทศ \
ด้วยระลึกเสมอว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีภาระหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ รวมทั้งสวัสดิภาพ สวัสดิการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ดังนั้น เราจึงได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เป็นวาระของประเทศ อันได้แก่ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาบรรยากาศและจิตสำนึกประชาธิปไตย การลดปัญหาความรุนแรงและแตกแยกทางสังคม การสร้างสังคมสันติยุติธรรม
ในแต่ละเรื่องที่เป็นระเบียบวาระของประเทศดังกล่าว เราได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลสะเทือนและผลกระทบที่แตกต่างจากการดำเนินงานของราชการทั่วไปอยู่ไม่น้อย อาทิ โครงการเยียวยาและฟื้นฟูผู้รับผลกระทบจากความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการส่งเสริมบทบาท ปอเนาะเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง, โครงการพัฒนาระบบกองทุนซะกาตดูแลเด็กกำพร้าในชุมชนมุสลิม, โครงการผลิตละครโทรทัศน์เรื่องยาว “รายากุนิง” , โครงการเวทีประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ๙๒๖ เวที, โครงการคลินิกสันติยุติธรรม, ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง ฯลฯ
๕. การสื่อสารสาธารณะ
การรายงานต่อสังคมผ่านสื่อสารสาธารณะและสื่อมวลชนถือเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมุ่งหวังให้สังคมรับรู้ เข้าใจ สนับสนุน และมีส่วนร่วมกับการทำงานเพื่อสังคมกับภาครัฐและรัฐบาล
นอกจากการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อระดมและรับฟังความคิดเห็น ความต้องการของสมาชิกสังคมกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง และการสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อมวลชน ทั้งวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์เป็นระยะ อย่างสม่ำเสมอและสอดรับกับสถานการณ์ในวาระงานแล้ว เรายังได้นำนโยบาย แผนงาน รวมทั้งประเด็นทางสังคมเข้าสู่เวทีสาธารณะผ่านสื่อมวลชน เพื่อสร้างวัฒนธรรม “ประชาเสวนาร่วมค้นหาทางออกเพื่อสังคม” อีกด้วย
อาทิ จัดวาระพิเศษ “สภาชาวบ้าน” ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ อสมท. ในประเด็น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม รวมทั้งรายการ “ประชาเสวนาเพื่อประชาธิปไตยชุมชน” ด้วย
ร่วมมือกับเนชั่นแชนแนลผลิตชุดรายการโทรทัศน์ “๘ โจทย์สำคัญของแผ่นดิน” ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันตั้งโจทย์ แตกโจทย์ ตอบโจทย์ ซึ่งสามารถกระตุ้นพรรคการเมือง นักการเมือง และสังคมได้อย่างมากทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐
ผลิตรายการโทรทัศน์ “พบรัฐมนตรี” โดยเชิญรัฐมนตรีกระทรวงด้านสังคมทุกกระทรวงมาร่วมสื่อสารสู่สาธารณะผ่านไททีวีช่อง ๑ และ เคเบิลทีวีช่อง ๒๘ ทั่วประเทศ
และด้วยตระหนักว่างานด้านสังคมมีความเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่ง การทำงานที่ต่อเนื่องทั้งงานประจำ งานนโยบาย และงานนวัตกรรม ในช่วง ๑ ปีล้วนมีองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่มีคุณค่าสะสมอยู่ เราจึงได้ผลิตเอกสารเพื่อบันทึกและเผยแพร่งานสำคัญเอาไว้เป็นข้อมูล ความรู้ เพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเพื่อสังคมต่อไป
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/162481