ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
(3 มิ.ย. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยในกระแสโลก : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เตรียมอุดมฟอรัม ครั้งที่ 1” จัดโดย สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (คุณวิชัย ทองแตง เป็นนายกสมาคม) ผู้ร่วมอภิปรายอื่นๆในหัวข้อนี้ ได้แก่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในงานนี้ ทั้งผู้จัด ผู้กล่าวเปิดงาน ผู้ปาฐกถาพิเศษ และผู้อภิปรายทั้งหมด ล้วนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่รุ่น 5 (พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์) จนถึงรุ่น 35 (ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ)
ได้แสดงความคิดเห็นในการอภิปราย ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
กระแสโลกโดยรวม ไขว่คว้าความมั่งคั่งร่ำรวย ไล่ล่าความเจริญทางวัตถุ มุ่งเพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่าคือ การมุ่งสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขหรือภาวะเป็นสุขร่วมกัน อันได้แก่ ภาวะเป็นสุขทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ
กระแสโลก พยายามสร้างความสำเร็จจากการแข่งขันให้ชนะ แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่า คือ การสร้างความสำเร็จร่วมกัน ด้วยการร่วมมือ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน กระแสโลก ได้สร้างความทุกข์อันเกิดจาก ความโลภมาก ความหลงผิด ความเป็นปฏิปักษ์ ความไม่สุจริต ไม่ชอบธรรม ไม่ยุติธรรม และอื่นๆ
โอกาสที่ประเทศไทย จะทำได้ดีกว่ากระแสโลก น่าจะมีอยู่ คือ การมุ่งแนวทางตามคำแนะนำของพระพุทธทาสภิกขุ (ซึ่งองค์การยูเนสโก ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญที่โลกควรระลึกถึงในโอกาสครบ 100 ปี นับจากวันเกิด) และคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว (ซึ่งครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และองค์การสหประชาชาติได้ถวาย “รางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตในการพัฒนามนุษย์”) คำแนะนำนั้น ได้แก่ “การออกเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามลำดับ
“เศรษฐกิจพอเพียง” หมายความรวมถึง ชีวิตพอเพียง สังคมพอเพียง ประเทศพอเพียง และโลกพอเพียง
“ความพอเพียง” คือ ความไม่โลภมาก ความไม่ทำลาย ความไม่เบียดเบียน แต่เป็นความพอเหมาะพอดี ความมั่นคง ความสมดุลย์ และความยั่งยืน
“เศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็น “เศรษฐกิจ” แห่งความถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม หรือเป็น “เศรษฐกิจคุณธรรม” นั่นเอง
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
19 มิ.ย. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/34751