ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ

ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ


(คำบรรยายพิเศษในการสัมนาเชิงปฏิบัติการ  เรื่อง  “ประชาสังคม: ความคาดหวังของสังคมไทย”  จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  วันที่ 8-9 กรกฏาคม 2553 ณ โรงแรมแม่น้ำรามาดาพลาซา กรุงเทพฯ)

                     กราบเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ  ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท่านผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ท่านผู้มีเกียรติ เพื่อนๆพี่น้องทุกคนครับ  วันนี้ผมมาด้วยความยินดี  นอกเหนือจากผู้ซึ่งผมรู้จักคุ้นเคยและทำหน้าที่สำคัญอยู่ในบ้านเมืองคือท่านรองนายกรัฐมนตรี  และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้พบเพื่อนเก่าหลายคนในกระทรวง พม.  ได้พบเพื่อนเก่าหลายคนในวงการประชาสังคม  องค์กรพัฒนาเอกชนและอื่นๆ  และยินดีที่ได้รับเชิญให้มาพูดในหัวข้อซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหัวข้ออื่นๆที่เราพูดกันในขณะนี้  อันเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ได้ผ่านความวิกฤติอย่างหนักและยังคงวิกฤติอยู่  แต่เราจะต้องช่วยกันรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนสังคมไทยให้พ้นจากวิกฤติไปสู่เส้นทางที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง  เจริญก้าวหน้า และสันติสุขให้ได้  โดยเฉพาะให้ดีกว่าเดิม  เพราะในเวลาหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ถือว่าไม่ดีเท่าไรนัก มีความไม่ดีที่สะสมมากขึ้นๆมาเรื่อยจนกระทั่งถึงจุดระเบิดเมื่อเดือนเมษายน  พฤษภาคม  ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัญหาหรือความไม่ดีหลายๆอย่างที่สะสมมานั่นเอง

อาจเปรียบเทียบได้กับการเป็นโรคที่ผมเองบังเอิญเป็นอยู่ทั้งๆที่ผมมีสุขภาพดีมากมาตลอด  60  กว่าปีของการมีอายุ  แต่ผมก็มีส่วนของสุขภาพที่มีเหตุมีปัจจัยไม่ดีสะสมมาโดยไม่รู้ตัว  จนกระทั่งในวัย  63  ปี จนถึงวัย  69  ในปัจจุบันผมได้เป็นโรคที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทยและในโลกถึง  2  โรค ซ้อนกัน  2  โรคนี้ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1  และอันดับ 2  ผมเป็นทั้งคู่จึงถือว่าโชคดี  (หัวเราะ) คือน้อยคนนะครับจะมีโอกาสได้เป็น  คนจำนวนมากได้เป็นหนึ่งในสองโรค  ถือว่าดี  แต่ผมเป็นทั้ง  2  อย่างจึงถือว่าดีมาก  เป็นประสบการณ์ที่ให้คุณค่าดีทีเดียว  และผมยังคงรู้สึกเป็นคนที่มีความสุขมาโดยตลอด  วันนี้ผมก็มีความสุขที่ยังสามารถมานั่งพูดปาฐกถาได้  ตะกี้เดินหกล้มนิดหน่อยไม่เป็นไร  เหตุเพราะผมมีเรี่ยวแรงลดลงแต่ก็ยังพอมีแรง  อาจจะ  50%  ของปกติ  สมองยังทำงานได้อาจจะ 75 %  ของที่เคยเป็น  ก็ยังพอทำประโยชน์ได้  ผมตั้งใจอยู่เสมอว่าตราบใดที่ยังมีแรงพอทำประโยชน์ได้ก็จะทำไปเท่าที่สามารถทำได้  จนกว่าสัจธรรมของธรรมชาติจะกำหนดให้ร่างกายต้องแปรสภาพไปเป็นสิ่งไม่มีชีวิต  แปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น  ก็จบกันสำหรับการเป็นคนที่มีชีวิต  คือผมมองชีวิตเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ  ฉะนั้นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บสำหรับผมจึงไม่มีประเด็นและไม่มีความวิตกกังวลอะไร  ทุกวันนี้มีความสุขดี สำหรับเพื่อนๆผมก็ขอบคุณที่มีความห่วงใยและปรารถนาดีมากๆ  บางคนพูดกับผมว่าไม่รู้ว่าป่วยจะไปเยี่ยม  ผมก็บอกว่าผมไม่ได้ป่วยหรอก  เพียงแต่ร่างกายทรุดโทรมไปเหตุตามปัจจัยซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามธรรมชาติ  ดังนั้นถ้าเป็นห่วงก็ส่งใจไปให้ก็พอ  บางคนนั่งสมาธิตอนกลางคืนส่งกระแสจิตมาให้  คงจะมาถึงบ้างทำให้ผมพอยังอยู่ได้และอยู่อย่างมีความสุข  ปราศจากความทุกข์ความกังวลใดๆ  ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี  ปัจจุบันนี้มีความสุขมากกว่าอย่างชัดเจนเลยครับ  (หัวเราะ)

หัวข้อเรื่องที่จะพูดวันนี้ คือ “ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ” ผมจะพยายามตอบคำถาม  3  ข้อ

  1.   ประชาสังคมคืออะไร
  2. ประชาสังคมจะมีส่วนช่วยปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร
  3.   ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

หวังว่าทั้ง 3 หัวข้อคงตอบคำถามในใจของท่านได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยทำให้เกิดความกระจ่าง   ถ้าตรงกันท่านก็มีความมั่นใจมากขึ้น  ถ้าไม่ตรงกันท่านก็มีโจทย์ที่จะไปค้นหาคำตอบต่อไป  อ้อ!  เมื่อกี้ผมไม่ได้บอกว่ามีเรื่องที่ผมยินดีอีกหนึ่งเรื่องคือ  ท่านรองนายกรัฐมนตรีสุเทพและท่านรัฐมนตรีอิสระได้นำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติมาดำเนินการ
ซึ่งระเบียบนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  ที่จริงคือหมอพลเดชกับผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ก็ได้เสนอระเบียบและได้รับความเห็นชอบ  เมื่อเห็นชอบและออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว  รัฐบาลก็หมดอายุไป  ต่อมาอีก 2 รัฐบาลคงจะยุ่งอยู่  จึงไม่ได้มีเวลามาจัดการกับระเบียบ  แต่มาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันแม้จะยุ่งแต่ก็มีที่ว่างในใจพอที่จะมาดูว่าระเบียบอะไรเป็นประโยชน์ก็นำมาใช้  ข้อนี้ต้องขอขอบคุณ  ชื่นชม  ยินดี  และผมก็ยินดีให้ความร่วมมือในฐานะที่มีส่วนทำให้เกิดระเบียบนี้ขึ้นมา

 

พี่น้อง  ท่านผู้มีเกียรติครับ  ต่อไปนี้ผมจะตอบคำถามที่ 1. “ประชาสังคม” คืออะไร

ประชาสังคม”  ถ้าเราคิดง่ายๆก็ไม่มีอะไรมาก  คือเรามองสังคม  และดูว่าองค์ประกอบคืออะไร ความเป็นสังคมก็คือการที่มีผู้คนและมีกิจกรรมเกิดขึ้น ถ้าไม่มีคนหรือว่ามีคนแต่อยู่เฉยไม่ทำอะไร ก็ไม่เรียกว่าสังคม แต่เพราะมีคนและทำอะไรกันจึงเรียกว่าสังคม  สิ่งที่ทำเราอาจจะแยกหรือถ้าเรียงลำดับ  จากใหญ่มาเล็ก  จากสำคัญมากมาสำคัญน้อย ผมต้องพูดถึงภาคประชาสังคมก่อน  ปกติคนชอบพูดภาครัฐก่อนเพราะความที่เราอยู่ภายใต้การจัดการของภาครัฐ การปกครองของภาครัฐ  เราจะนึกถึงภาครัฐก่อนแต่จริงๆแล้ว  สำคัญกว่าภาครัฐคือภาคประชาชน  ประชาชนมาก่อนครับ  ซึ่งก็ตรงกับคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า  “ประชาชนต้องมาก่อน”  ไงครับ  (หัวเราะ)  ในสังคมจึงมีประชาชนซึ่งจะรวมตัวกันทำโน่นทำนี่  เช่นฝนตก  น้ำท่วมเขาก็มาช่วยกันทำเขื่อน  ไฟไหม้มาช่วยกันดับ  จะปลูกข้าวก็มาช่วยกันลงแขกและทำอาหารเลี้ยงกัน  คนทะเลาะเบาะแว้งกันมาช่วยกันห้าม  หรือญาติมาช่วยกันไกล่เกลี่ย  กิจกรรมประเภทนี้เป็นกิจกรรมของประชาชน และเราเรียกว่าเป็นกิจกรรมประชาสังคมหรือสังคมที่เป็นประชาชน  คำว่าสังคมก็หมายถึงการที่คนมารวมกันมาทำโน่นทำนี่  ฉะนั้นประชาสังคมก็คือกิจกรรมของประชาชนที่มาทำเรื่องต่างๆ  ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน  หรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  ทั้งนี้โดยไม่มีอำนาจอะไร ถ้ามีอำนาจ เช่นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นรัฐมนตรี  พอใช้อำนาจแล้วตรงนี้เป็นภาครัฐ  หรือถ้ามารวมตัวกันและไปค้าไปขาย  ซื้อของไปขายได้กำไรเอามาแบ่งกัน  อย่างนี้เรียกว่าธุรกิจ  ฉะนั้นภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไปด้วยกัน  ประชาชนเป็นฐาน ประชาสังคมเป็นกิจกรรมคือเกิดเป็นองค์กร  เป็นกลุ่มขึ้นมาหรือเป็นเครือข่าย  เราเรียกว่าองค์กรประชาสังคม   หรือ เครือข่ายประชาสังคม   เป็นกิจกรรมประชาสังคม    ทั้งหมดรวม ๆ แล้ว เรียกว่าภาคประชาสังคม หรือ   Civil Society Sector

 

สรุปได้ว่าเมื่อมีประชาชน มีกิจกรรม  ก็เกิดเป็น “ ประชาสังคม”   จากนั้นจึงเกิดอีก 2 อย่างตามมา ได้แก่ “ภาคธุรกิจ”  และ “ภาครัฐ”   นั่นคือประชาชนมีการค้าขาย มีการผลิต  มีการจำหน่าย เราเรียกว่า “ภาคธุรกิจ”  พร้อมกันนั้น เมื่อคนมาอยู่ร่วมกัน มีเรื่อง มีประเด็นมากขึ้น  ก็ต้องมีคนมาดูแลจัดระเบียบ  ออกกฎข้อบังคับจึงเกิดเป็น “ภาครัฐ”  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลสังคม  ฉะนั้นสังคมจึงมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ

 

  1. ภาคประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม
  2. ภาคธุรกิจ
  3. ภาครัฐ

 

ที่เรียงลำดับเช่นนี้เพราะว่าระดับการเกิดเป็นแบบนั้น ในความคิดเชิงรัฐศาสตร์หรือเชิงการบริหารจัดการบ้านเมือง ภาคประชาชนควรสำคัญที่สุด ภาคธุรกิจสำคัญรองลงมา และภาครัฐควรสำคัญน้อยที่สุด คำว่าสำคัญผมหมายถึงว่า ความยิ่งใหญ่ ความมีศักดิ์ศรี ความมีบารมี ควรอยู่ที่ภาคประชาชนเป็นอันดับต้น ส่วนภาคธุรกิจรองลงมา และภาครัฐควรน้อยที่สุด ภาครัฐคือผู้รับใช้ประชาชนเพราะได้อำนาจมาจากประชาชน  ไม่ใช่อยู่ดี ๆก็มีอำนาจ   แม้แต่สมัยเผด็จการ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระเจ้าแผ่นดินจะครองราชย์อยู่ได้ก็เพราะประชาชนสนับสนุน  ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนท่านก็อยู่ไม่ได้  พระเจ้าแผ่นดิน
จึงต้องมีทศพิศราชธรรมซึ่งเป็นธรรมะที่จะครองใจคนให้คนยอมรับนับถือ

 

ฉะนั้นจึงหวังว่าคำว่า  “ประชาสังคม”  ไม่ใช่คำที่ลึกลับซับซ้อนมากมายอะไร ก็คือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันกระทำในเรื่องต่างๆ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  เช่นเป็นสมาคม มูลนิธิ  หรือจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  เราก็เรียกว่าประชาสังคม ส่วนอีก 2 ภาคคือภาคธุรกิจและภาครัฐก็มีความสำคัญด้วย  และในสังคมที่ดี  3  ภาคนี้จะต้องเชื่อมโยงเกี่ยวพันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ซึ่งผมจะได้พูดถึงในอันดับต่อไป

 

คำถามที่ 2 คือ “ประชาสังคมจะมีส่วนปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร” โดยเฉพาะในสภาวะที่บ้านเมืองวิกฤติและหลายฝ่ายได้ออกมาบอกว่าเราจะต้องปฏิรูปประเทศไทย พร้อมๆไปกับการสร้างความปรองดอง นี่คือ  Key word หรือคำสำคัญ 2 คำ  คือคำว่าปรองดองกับปฏิรูป ท่านนายกฯได้พูด 2 คำนี้  ท่านรองนายกสุเทพฯ ก็พูด 2 คำนี้   ผมเองเป็นคนนอกไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการทั้งปรองดองและปฏิรูป  เป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ก็ได้ให้ความคิดความเห็นไปบ้างเท่าที่ทำได้  โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา  คือผมอยู่ที่ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤษภาคม 2553  ก่อนเดินทางผมปรารภกับภรรยา คือไปกับภรรยา เดี๋ยวนี้ผมเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ค่อยได้ต้องมีคนไปด้วย  คนไปด้วยกันที่ดีที่สุดคือภรรยา ก็ปรารภกับภรรยาว่า 2 อาทิตย์ที่ไม่อยู่คงต้องเกิดเรื่องในประเทศไทยแน่ๆ แต่อยู่ไปตั้ง 10 กว่าวันยังเงียบอยู่   เปิด SMS ก็ไม่มีอะไรบอกเอ้อดี ๆ เพราะเคยไปต่างประเทศแบบนี้ เมื่อเมษาปีที่แล้วต้องไปฟังข่าว SMS เรื่องเมษาเลือดปี 52   ระหว่างอยู่อเมริกาใต้  และวันที่ 10 เดือนเมษา ปีนี้ผมและภรรยาอยู่ที่จอร์แดน ต้องมาฟังเรื่อง 10 เมษาที่จอร์แดนและข่าวลือเวลาไปจากเมืองไทยไปถึงต่างประเทศมันคนละเรื่อง เช่นข่าวลือทหารถูกยิงระหว่างนั่งเฮลิคอปเตอร์  ยิงทะลุท้องเฮลิคอปเตอร์ไปถูกนายทหารจนเสียชีวิต ข่าวลือโดยเฉพาะประเภทคลาดเคลื่อนไปเร็วมาก  เช่นเดียวกับเราอยู่เมืองไทย ข่าวลือจากต่างประเทศที่เราได้รับมามักแปลก ๆ และบูดเบี้ยว เช่นเมื่อ 2-3 วันก่อนมีคนโทรมาหาผมบอกว่าขอโทษที่ไม่ได้ไปเยี่ยม ไม่รู้ว่าคุณไพบูลย์ไม่สบาย เห็นว่าไปรักษาถึงอเมริกาหรือครับ  ซึ่งในความจริงผมไม่ได้ไปอเมริกา  และ ผมก็ไม่เคยไปรักษาตัวในต่างประเทศรวมถึงไม่เคยมีความคิดอยากไปรักษาตัวในต่างประเทศ  ยังไง ๆ ก็ขอรักษาตัวในเมืองไทย  ถ้าจะตายก็ขอตายในเมืองไทย  มากกว่าจะไปตายในต่างประเทศ  เพราะอย่างนั้นข่าวลือจะไปเร็วมากและโอกาสคลาดเคลื่อนสูงมาก  ท่านรองนายกสุเทพฯทราบดี  ในเรื่องข่าวลือนะครับ  ผมกับภรรยาเดินทางไปประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม  วันที่ 14 เป็นวันเดินทางกลับรู้สึกโล่งใจว่าไปอยู่ตั้ง 2 อาทิตย์ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทย  ที่ไหนได้นั่งอยู่สนามบิน CNN  ออกข่าวแล้วว่ายิงกันตูมตาม  ออกมาทางจอ CNN  กลับมาถึงกรุงเทพฯ  แล้วระหว่างวันที่ 15 -19 พฤษภาคม  ก็ตกอยู่ในสภาวะ
ที่พวกเราทราบดี

 

ผมคิดว่าผมควรทำอะไรบางอย่าง เลยเขียนออกมาเป็นบันทึกลงวันที่25 มิถุนายน ใช้หัวข้อว่า  “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย ภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ” สำหรับเป็นเอกสารประกอบเวลาที่ผมได้รับเชิญไปพูดในที่ต่าง ๆ  และสำหรับเผยแพร่ทั่วไป  ปัญหาของประเทศไทยถ้าเปรียบเทียบกับหลายประเทศ จะพบว่าประเทศเหล่านั้นมีสภาพเลวร้ายกว่าเรา เช่นเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ ผมว่า เขาแรงกว่าเรา เพราะเขารบกันเป็น 10 ปี  เทียบกับอินโดนีเซียสมัยที่รบกันก็แรงกว่าเรา เทียบกับศรีลังกา เป็นคนละเรื่องเลยเพราะเขารุนแรงแรงกว่าเรามาก  เทียบกับพม่าก็แรงกว่าเรามาก ตะวันออกกลางแรงสุด ๆ  อัฟกานิสถาน หรือ อัฟริกาใต้สมัยที่เขารบกัน ก็แรงมาก ๆ  แต่เดี่ยวนี้อินโดนีเซียสงบแล้ว ด้วยการเจรจาต่อรองโดยอาศัยคนกลางช่วย  ศรีลังกาสงบโดยรัฐบาลรบจนชนะกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ ส่วนที่อัฟริกาใต้ เราชื่นชมเนลสัน มันเดลลา ผู้ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ได้สำเร็จโดยใช้กุศโลบายต่างๆ คือ การสร้างความสมานฉันท์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์   มันเดลลาใช้รักบี้เป็นกุศโลบาย ถ้าใครได้อ่านหรือได้ดูหนังชื่อ “Invictus”  เป็นหนังเกี่ยวกับมันเดลลาซึ่งใช้กีฬารักบี้เป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์  และหลายครั้งเขาต้องขัดกับคนผิวดำด้วยกัน เพื่อจะทำให้เกิดทัศนคติที่จะเอื้อต่อการสร้างความสมานฉันท์ คือรักบี้เป็นกีฬาที่คนขาวเล่น แต่คนดำเล่นฟุตบอล ฉะนั้นคนดำจะไม่ชอบรักบี้  คนขาวจะไม่ชอบฟุตบอล ทำอย่างไรให้เข้ามาหากันได้อยู่ร่วมกันได้คือสิ่งที่มันเดลลาพยายามทำ  และในที่สุดเขาสามารถจัดรักบี้โลกและอย่างไม่น่าเชื่อ เขาได้เป็นแชมเปี้ยนโลกทั้งๆ ที่ทีมของเขาไม่ได้เก่งวิเศษมากนัก  แต่ด้วยแรงใจที่เขาทำให้คนมารวมกันได้ทำให้สามารถสร้างความสมานฉันท์จากกีฬารักบี้ได้เป็นผลสำเร็จ

 

ที่อังกฤษมีขบวนการที่เรียกว่ากองทัพสาธารณรัฐไอริช หรือไอริชริพับริกันอาร์มี  หรือ IRA ก่อการร้ายทั่วอังกฤษ มาถึงลอนดอน คล้าย ๆ เมืองไทยคือไม่รู้ใครทำ แต่มาทำถึงเมืองหลวง เป็นครั้งเป็นคราว ในที่สุดเขาตกลงกันได้โดยการพูดจากัน โอ้ยแต่พูดกันหลายรอบมากไม่ใช่พูดกันแค่เดือน 2 เดือน พูดกันเป็นปีๆ แล้วในที่สุดมีวุฒิสมาชิกชาวอเมริกันมาช่วยเป็นคนกลางในการเจรจา  ส่วนเรื่อง อาเจะในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนก็อาศัยนายกรัฐมนตรีไอส์แลนด์มาช่วย คือมาช่วยทำหน้าที่คนกลางให้

 

ประเทศไทยอาจจะไม่ถึงขั้นต้องมีชาวต่างประเทศมาช่วยเป็นคนกลาง  แต่ว่าคนไทยด้วยกันน่าจะหาได้ถ้าตั้งใจจะหากันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลทั้งฝ่ายตรงข้าม   หรือหากหาไม่ได้ผมว่าตรงนี้ละครับ “ภาคประชาสังคม” อาจจะเข้ามามีบทบาทได้  ผมทราบว่าในระหว่างที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเดือนเมษายนได้มีกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็น  ภาคประชาสังคม  คือไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ  และไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจ ได้พยายามเข้ามาช่วยเหลือเชื่อมโยงให้คู่กรณีได้พูดจากัน   ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในวันที่ 10 เมษายนถ้าเผื่อไม่ได้มีการพูดจากันคงจะรุนแรงมากกว่านั้น   แต่ด้วยเหตุที่ได้มีการพูดจากันบ้างแล้ว พอเกิดเหตุวิกฤติก็ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกันและก็ตกลงยุติการใช้อาวุธ   ข้อมูลผมอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้นะครับท่านรองสุเทพ  คงจะรู้ดีกว่าผม  แต่ว่าที่พูดนี้เพื่อชี้ว่าบทบาทของคนหลายฝ่ายในสังคม ถ้าหันมาเกื้อกูลกันและช่วยเหลือกันหลายครั้งก็ช่วยกันได้จริงและเกิดผลดีจริง

ขณะนี้เรากำลังพยายามจะปฏิรูปสังคมไทยและสร้างความปรองดอง  2 คำนี้เป็นคำที่สำคัญทั้งคู่และก็คู่ขนานกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่เกี่ยวโยงกัน คุณหมอประเวศและคุณอานันท์ พยายามพูดว่าคณะกรรมการปฏิรูป 2 คณะของท่าน คือคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.)ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องปรองดอง แต่ใจผมคิดว่าการปฏิรูปคือการปรองดองทางอ้อมหรือการปรองดองระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ  แต่ถ้าจะพูดถึงการปรองดองทางตรงก็คือให้คู่กรณีนี่แหละมาพูดจากันจนกระทั่งหาข้อตกลงร่วมกันได้  หย่าศึกกันได้  จนกระทั่งเรื่องร้อนมันเย็นลง  อาจจะไม่ถึงกับหันมารักกันแต่ก็อย่างน้อยเรื่องร้อนเย็นลง คืออย่างอิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ ถ้าไปถึงขั้นให้เขาหยุดยิงกันได้ก็ถือว่าก้าวหน้าไป 50% แล้ว

ยังไม่ต้องถึงขั้นให้หันมารักกัน แต่ของเรายังไม่ถึงขั้นยิงถล่มใส่กันเหมือนอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่เราก็มีการเผชิญหน้ามีความเป็นปฏิปักษ์สูงด้วยท่าที ด้วยถ้อยคำ ด้วยการกระทำผ่านสื่อต่างๆ เป็นบรรยากาศที่ไม่น่าจะทำให้คนไทยมีความสุข      ฉะนั้นน่าจะต้องพยายามต่อไปที่จะแก้ไขและสร้างความปรองดอง คือ  การสร้างความปรองดองมีกรรมวิธีซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  ถ้าเป็นกรณียาก ๆ มักจะต้องมีคนกลางช่วยหน่อยเหมือนอย่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคณะจากวุฒิสภาพยายามไปเป็นคนกลาง คนกลางนี้จะต้องเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย  คณะกรรมการของอาจารย์คณิต ณ นคร  อาจทำหน้าที่นี้ เพราะจะได้กำหนดภารกิจว่าจะตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ และ ณ ปัจจุบันยังไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ ฉะนั้นคณะนี้จึงถือว่า เป็นคนที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้มาทำหน้าที่เป็นคณะปรองดองโดยได้   ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลตั้งอีก  3-4 หรือ 5 คณะ เช่น คณะคุณอานันท์ คณะคุณหมอประเวศ  คณะปฏิรูปสื่อ คณะพวกนี้ทำหน้าที่ปฏิรูปเป็นหลักครับไม่ใช่ทำเรื่องปรองดอง แต่ถ้าทำได้ดีก็จะมีผลในเชิงการปรองดองด้วย  แต่ไม่ใช่การปรองดองโดยตรง  ปรองดองโดยตรงคือคณะอาจารย์คณิต เพราะท่านจะค้นหาความเป็นจริง แล้วถึงมาปรองดอง  ก็คงจะเอาแบบมาจากอัฟริกาใต้ที่เขาเรียกว่า Truth and Reconciliation Commission ก็คือคณะกรรมการที่ค้นหาความเป็นจริงแล้วก็มาปรองดอง ในการค้นหาความจริงอย่างกรณีอัฟริกาใต้นั้น ถ้าพบว่าใครผิดอะไรจริงๆก็ให้ศาลดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม และคนที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิดก็จะมีการสนับสนุนให้เขายอมรับว่าเขาผิดและก็ขอโทษ  คนที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติพี่น้องของเหยื่อ เมื่อความจริงปรากฎว่าใครเป็นคนทำผิดและคนคนนั้นขอโทษก็จะยอมให้อภัย  บรรยากาศดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ  แต่เรื่องของเราอาจจะซับซ้อนกว่าอัฟริกาใต้  ในแง่ของความรุนแรงเรื่องของเรารุนแรงน้อยกว่าอัฟริกาใต้  แต่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าอัฟริกาใต้   ที่อัฟริกาใต้รุนแรงมาก  สู้กันเลยด้วยอาวุธ  เนลสันมันเดลลาจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลเลยต้องไปติดคุก 27 ปี ระหว่างติดคุกก็เกิดวิสัยทัศน์ เกิดความตระหนักว่าการเจรจาน่าจะเป็นทางที่ดีกว่า  และโชคดีได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนคนเก่าที่เป็นประเภทเหยี่ยว นิยมลัทธิแบ่งผิว และมีนโยบายใช้กำลังปราบปรามคนผิวดำ  แต่พอดีไม่สบาย คนใหม่มาแทนเป็นประเภทพิราบ นิยมสันติวิธี และเชื่อในเรื่องการเจรจาหาข้อตกลง ทั้ง 2 คนหรือ 2 ผู้นำของแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่กรณี จึงพยายามหาทางเจรจากันแทนการรบหรือต่อสู้กัน  ในที่สุดก็เกิดสันติภาพในอัฟริกาใต้  ไม่ถึงกับ 100%  นะครับ ทุกวันนี้ก็ยังมีอาชญากรรมเยอะแต่นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าการต่อสู้ระหว่างผิวไม่มีแล้วและทั้งเนลสัน ทั้งนายกก็ได้รางวัลโนเบิลทั้งคู่ เป็นตัวอย่างที่ดี และผมเชื่อว่าคณะอาจารย์คณิตคงศึกษามาจากมันเดลลา เพราะว่าเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว มีการเชิญวิทยากร2 – 3 คนจากต่างประเทศที่ทำเรื่อง Truth and Reconciliation Commission  มาเล่าให้ฟังว่าเขาทำกันอย่างไรและจะประยุกต์กับเข้าเมืองไทยอย่างไร  ผมก็เอาใจช่วยท่านอาจารย์คณิตอยู่ สมัยผมเป็นรองนายกก็ได้ขอให้ท่านมาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งท่านก็ยังเป็นอยู่  คือตามรัฐธรรมนูญต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย เพราะกฎหมายของเราที่มีอยู่มากมายเป็นเหตุหนึ่งของปัญหาในบ้านเมือง คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการชั่วคราว   มาศึกษาเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย พร้อมกันนั้นก็ยกร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายที่ต้องมีคณะกรรมการถาวรขึ้นมา  ท่านร่างเสร็จแล้วเสนอแล้วแต่รู้สึกว่าเรื่องยังไปไม่ถึงรัฐสภาหรือไปแล้วแต่ยังไม่จบ ถ้ายังไม่มีกฎหมายออกมาท่านก็ยังต้องดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป

ขอกลับมาพูดเรื่องการสร้างความปรองดองหรือการปฏิรูปสังคม ตามแผนการปรองดองแห่งชาติ ของรัฐบาล ผมดิดว่าควรต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด  ซึ่งคณะคุณอานันท์ คณะคุณหมอประเวศ แม้กระทั่งคณะอาจารย์สมบัติ หรือคณะปฏิรูปสื่อ ล้วนใช้วิธีการที่ถือว่าเป็นกิจกรรมประชาสังคม   คือเป็นเรื่องของประชาชนและเกี่ยวกับประชาชน  ซึ่งในบางครั้งอาจมีคนในภาครัฐ   หรือในภาคธุรกิจ มาทำกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นธุรกิจและไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ   เราก็ถือว่าป็นกิจกรรมประชาสังคม   สมมติว่าวันหนึ่งเราจัดสัมมนาพูดคุยกัน  ระดมความคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อ  แล้วชวนท่านรองสุเทพมา    ท่านไม่ได้มาในฐานะเป็นรองนายก ท่านมาในฐานะเป็นนายสุเทพ มาให้ความคิดความเห็น ท่านก็มาทำกิจกรรมประชาสังคม ฉะนั้นเรื่องการปฏิรูปสังคมไทยที่เราตั้งต้นไว้ดีแล้วมีหลายคณะเลย มีทั้งคณะคุณอานันท์  คณะคุณหมอประเวศ  คณะอาจารย์สมบัติ  คณะอาจารย์จุฬาที่ทำเรื่องสื่อ  มีคณะพลตำรวจเอกวศิษฐ์ ที่ทำเรื่องการปฏิรูปตำรวจ  การปฏิรูปพวกนี้นะครับ ประชาสังคมควรมีส่วนร่วมด้วยแน่ๆ และเป็นเรื่องที่ดีเพราะว่าจะปฏิรูปสังคมก็ต้องเกี่ยวกับประชาชน และประชาชนที่รวมตัวกันเราเรียกว่าประชาสังคม  ฉะนั้นจึงไม่ต้องมีประเด็นว่าประชาสังคมเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทยหรือไม่  หรือควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสังคมไทยหรือไม่  ประชาสังคมต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแน่ ๆ  และควรต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการปฏิรูปนั้น   สำคัญที่ว่าคนไปจัด ๆ ให้ดีได้อย่างไร จัดสมัชชาให้ดีอย่างไร จัดสัมมนาระดมความคิดให้ดีอย่างไร จัด Focus group อย่างไรถึงจะดี หรือจัดเป็นอย่างที่คุณชัยวัฒน์จะมานำท่านทำกิจกรรมระดมความคิด เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญทั้งสิ้น

 

ตามที่ผมเขียนไว้ในเอกสาร การทำอะไรยากๆที่สลับซับซ้อนหรือที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ  โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งที่เราพยายามแก้ไข พร้อมกับความพยายามจะปฏิรูปซึ่งจะเป็นการปฏิรูปภายใต้ภาวะความขัดแย้ง   การจะทำเรื่องที่ยาก ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนเช่นนี้  ควรต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญประสานพลังกันอย่างเพียงพอและสมดุลย์ ได้แก่

 

         องค์ประกอบที่ 1  คือเรื่องกระบวนการ วิธีที่เราดำเนินการเป็นอย่างไร มีจังหวะ มีลีลา มี

ขั้นตอน ต่าง ๆ  อย่างไร  และ อื่น  ๆ

องค์ประกอบที่  2   เรื่องทัศนคติ เราจะสร้างทัศนคติหรือสร้างบรรยากาศให้ดีได้อย่างไร

องค์ประกอบที่  3   คือเรื่องสาระ เป็นตัวเนื้อหาที่จะหยิบยกขึ้นหารือ เจรจาต่อรอง เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ในที่สุด

 

ส่วนใหญ่ที่ความพยายามปรองดองไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรามักกระโจนเข้าสู่สาระเลย ข้ามขั้นตอนหรือขาดองค์ประกอบในด้านกระบวนการที่เหมาะสม และขาดการสร้างทัศนคติหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่สามารถได้ข้อตกลงที่พอใจหรือยอมรับร่วมกันได้ เช่น เราเชิญมาประชุมและบอกว่าเราจะเอาอย่างไรกันเลย อภิปรายกันคนนั้นจะเอาอย่างนี้คนนี้จะเอาอย่างนั้นแล้วก็ตกลงกันไม่ได้  ดีไม่ดีทะเลาะกันชี้หน้าด่ากัน อย่างที่เราเคยเห็นในจอโทรทัศน์ใช่ไหมครับ  ถ้าจัดกระบวนการดี สร้างบรรยากาศดี ทำให้เกิดทัศนคติดี สาระดีๆ จะตามมา   ฉะนั้นถ้าจะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยก็ขอให้ดำเนินการโดยที่ว่ามีการจัดกระบวนการที่ดี มีการสร้างทัศนคติที่ดี และก็จะได้สาระที่ดี

 

คำถามที่  3   ควรทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น ผมเพิ่งได้อ่านตัวระเบียบซึ่งผมและหมอพลเดชได้ทำให้เกิดขึ้น เมื่อ 2 ปีกว่ามาแล้ว  และก็ลืมไปหมดแล้ว   แต่พอมาอ่านก็เห็นว่าดี ถ้าท่านเอาระเบียบมาดู และอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นว่ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ในระเบียบนี้ว่า ประชาสังคมคืออะไร มีคำจำกัดความให้อย่างชัดเจน พร้อมกับระบุด้วยว่าการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาควรทำอย่างไร เป็นข้อความสั้นๆ กระทัดรัด และกินความได้ดีพออยู่แล้ว

 

ฉะนั้นผมจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปอธิบายรายละเอียดของการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ซึ่งลำดับไว้ในระเบียบเรียบร้อยหมดแล้ว เพียงแต่ผมอยากจะเสนอแนะรูปธรรมบางอย่างที่น่าจะทำซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาได้เป็นอย่างดี นั่นคือขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดกลไกระดับจังหวัด เป็นกลไกพหุพาคีคือหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกันที่จังหวัด เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์   หรือช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่พึงปรารถนา หลาย ๆ ฝ่ายหรือพหุภาคีนี้ควรมีใครบ้าง ผมนึกถึงเครือข่ายหรือองค์กรหรือตัวแทนของภาคส่วนต่างๆที่จะได้สมดุลย์ระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ    ภาคประชาชนก็คือภาคประชาสังคมถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉะนั้นเริ่มต้นต้องนึกถึงตัวแทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานล่างที่สุดและเขามีกลไกอยู่แล้วครับ มีเครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับตำบล  ระดับจังหวัด ระดับชาติ  มีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ทั้งระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติเช่นเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากบรรดาองค์กรชุมชนต่างๆแล้วก็จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัด  พวกนี้ได้แก่นักจัดกิจกรรมหรือทำกิจการมทั้งหลาย ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องสร้างคุณธรรม จริยธรรม เรื่องส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มูลนิธิ สมาคม ทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในคำว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเขามีเครือข่ายอยู่และก็สามารถมารวมตัวกันหรือส่งตัวแทนมาในระดับจังหวัดได้  นี่คือภาคประชาชนและประชาสังคม ขยายความอีกหน่อยก็ต้องรวมถึงสถาบันวิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในจังหวัดที่เราจะขับเคลื่อน หรืออยู่ในจังหวัดใกล้เคียง  เพราะเขาเป็นนักวิชาการที่จะมาเป็นประโยชน์ได้  นอกจากมหาวิทยาลัยก็มีวิทยาลัย โรงเรียน ล้วนสามารถเป็นประโยชน์ได้ด้วย มีสถาบันศาสนา สถาบันจริยธรรม สถาบันศิลปะวัฒนธรรม  ศิลปิน สื่อ สื่อท้องถิ่น  สื่อในจังหวัด หรือสื่อระดับชาติที่ไปทำงานที่จังหวัด  เหล่านี้ผมรวมอยู่ในคำว่า “ภาคประชาชนและประชาสังคม”  นี่คือชุดที่หนึ่ง ขององค์ประกอบ 3 ชุด นะครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385064

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *