ประชาสังคมกับการปฏิรูปสังคมไทยในภาวะวิกฤติ (ต่อ)
ชุดที่ 2 คือภาคธุรกิจ เมื่อวานนี้เองมีการจัดสัมมนาใหญ่ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค เรื่อง
“ ธุรกิจเพื่อสังคม พลังขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศไทย” มีผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ 7-8 คนมาพูดกันว่าในส่วนของเขาจะทำอะไร หอการค้าจะทำอะไร ธุรกิจต่าง ๆ จะทำอะไร สภาอุตสาหกรรมจะทำอะไร สมาคมธนาคารไทยจะทำอะไร สภาธุรกิจตลาดทุนจะทำอะไร สภาการท่องเที่ยวจะทำอะไร มีตัวแทนของภาคประชาสังคมคือ สสส. เข้าไปพูดเหมือนกันว่าจะทำอะไร ท่านนายกไปพูดปิดท้ายของครึ่งเช้า ท่านพูดดี ท่านพูดถึงบทบาทของธุรกิจกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ผมเองก็ไปเป็นองค์ปาฐกในตอนเช้า ผมก็เสนออย่างเดียวกันครับว่าต้องทำงานในเชิงพื้นที่ ถึงจะเห็นรูปธรรม ผมเสนอให้จัดกิจกรรม กระจายคลุมทั้งประเทศได้ ซึ่ง พื้นที่ที่คิดว่าเป็นพื้นที่ระดับยุทธศาสตร์คือจังหวัด ผมก็เสนอแนะว่าอาจจะลองไปทำที่จังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ เช่นจังหวัดนครปฐม เพราะบังเอิญมีมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่และเขาก็สนใจที่จะร่วมด้วย ฉะนั้นถ้าไปจัดที่นครปฐมก็จะมีตัวแทนขององค์กรชุมชน ของประชาสังคม ของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายศาสนา ฝ่ายสื่อ และอื่นๆของจังหวัดนครปฐม ส่วนภาคธุรกิจในจังหวัดนครปฐม ก็จะมี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม สภาการท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม ชมรมธนาคารจังหวัดนครปฐม และอาจมีสภาธุรกิจตลาดทุนจังหวัดนครปฐมด้วยก็ได้ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ แต่เฉพาะภาคธุรกิจมี 5-6 แขนง พร้อมเข้าร่วมได้อย่างแน่นอน
ชุดต่อไปหรือชุดที่ 3 ก็คือ ภาครัฐ ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค นายอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล ก็ถือเป็นภาครัฐประเภทท้องถิ่น และก็มีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่ไปทำงานในจังหวัดนครปฐม เช่น สสส. พอช. สปสช. หลายท่านคงคุ้นเคยกับชื่อเหล่านี้ รวมไปถึงหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ ที่ไปทำงานที่จังหวัดนครปฐม ส่วนในภาควิชาการก็มีมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ควรมารวมพลังกัน ผมเรียกว่า “เครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” หรืออาจเรียกยาว ๆ ว่า “เครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีรวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา” ซึ่งเขาจะต้องไปทำงานร่วมกัน และก็คิดกันว่าอยากจะเห็นจังหวัดของเขาพัฒนาไปอย่างไร และเขาจะทำอะไรกันบ้าง อะไรที่เขาทำได้เอง อะไรที่จะนำเสนอหน่วยเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ เช่นบางอย่างต้องให้รัฐบาลแก้กฏหมายหรือข้อบังคับหรือแก้ไขนโยบาย บางอย่างจังหวัดทำได้เองแต่ต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทำ หรือ อบจ.ทำ หรือเทศบาลทำ หรือ อบต.ทำ บางอย่างต้องลงไปถึงท้องถิ่นนะครับ ชุมชนควรต้องทำอะไร ชุมชนท้องถิ่นก็ดี โรงเรียน วัด จะทำอะไร เกี่ยวพันกันหมดนะครับ เช่น สมมติว่าจะปรับปรุงเรื่องการท่องเที่ยว จะเกี่ยวพันไปหมดตั้งแต่ อาคารสถานที่ โบราณสถาน ร้านค้า ชุมชน ศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา และบางแห่งเดี๋ยวนี้ฝรั่งนิยมมาเมืองไทยมาฝึกสมาธิ ทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าพูดกันที่จังหวัด ความเป็นรูปธรรม การเห็นถึงลูกถึงคนจะดีขึ้น แล้วก็ที่ผมว่าเป็นระดับยุทธศาสตร์ก็คือว่า ที่จังหวัดเป็นที่ๆทุกฝ่ายอยู่และมีหน่วยงานจัดการอยู่ที่นั่น เบ็ดเสร็จในตัว และที่หลายฝ่ายเรียกร้องว่า อยากให้จังหวัดจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด ให้ท้องถิ่นจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ดูว่าขานรับนะครับ เพราะมีนโยบายกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นมาตั้งแต่ต้น เมื่อ 2-3 วัน ก็พูดกันใช่ไหมครับกับที่ประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ คำว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่กระจายให้ อบจ. เทศบาล อบต. เท่านั้น แต่ต้องกระจายให้ประชาชนด้วย โดยราชการส่วนภูมิภาควรเล่นบทเป็นผู้ประสานและเป็นผู้ที่คอยกำกับดูแลเชิงนโยบายของประเทศ หรือของรัฐบาลส่วนกลาง แต่บทบาทหลักในการจัดการดูแลท้องถิ่นควรอยู่ที่ อบจ. อบต. เทศบาล เขาเป็นรัฐบาลของท้องถิ่นและเพื่อท้องถิ่นนะครับ และเขาก็ควรต้องใช้ความเป็นประชาธิปไตยที่ดี นั่นคือให้ประชาชนฐานรากมีบทบาทในการเมืองการปกครองอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ที่เราเรียกว่า Participatory Democracy คือเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือดียิ่งกว่านั้นก็เป็นประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deliberative Democracy
ในระดับท้องถิ่น การมาร่วมคิดร่วมทำ สามารถทำได้สะดวก หลายท้องถิ่นทำไปแล้ว และทำได้ดี ในระดับจังหวัด ก็ยังสามารถให้ประชาชนมาร่วมคิดร่วมทำกันได้ไม่ยากนัก แต่ระดับชาติต้องยอมรับว่ายากหน่อย ฉะนั้นการเอาจังหวัดเป็น Strategic Area หรือพื้นที่ยุทธศาสตร์ จึงน่าจะเหมาะสมจากจังหวัดจะส่งผลลงไปข้างล่างก็ไม่ยาก และอะไรต้องขึ้นมาข้างบนก็ขึ้นได้ไม่ยากเช่นกัน
การทำงานหรือกิจกรรมของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ใช่รัฐและไม่ใช่ภาคธุรกิจ ย่อมต้องหรือสมควรต้องโยงใยกับภาครัฐและโยงใยกับภาคธุรกิจด้วย และควรให้เป็นแบบเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผมอยากเสนอตรงนี้แหละว่า วิธีทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดตามที่กล่าวมานั้น จะเป็นวิธีที่ไปส่งเสริมภาคประชาสังคมพร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูประเทศ แก้วิกฤติ สร้างความปรองดอง ไปในตัว แม้ในกรณีที่จะสร้างความปรองดองโดยตรง ก็อาจจะทำได้ไม่ยากนัก หรือจังหวัดหนึ่งทำได้ แต่อีกจังหวัดหนึ่งอาจจะทำไม่ได้ ก็จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งหมู่บ้านหนึ่งที่ดอนเมือง เขามีทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่พอมีคนชวนเขามานั่งคุยออก TV เขาก็มานั่งคุยกันแล้วรู้สึกดีขึ้น การได้คุยกันมักจะทำให้รู้สึกดีขึ้น ถ้ายิ่งไม่ได้คุย เรายิ่งสร้างอคติมากขึ้นนะครับ แต่ถ้าได้พูดได้คุยกันแล้วอคติจะค่อยๆลดลง กลายเป็นสมานฉันท์ได้ในที่สุด ฉะนั้นในระดับจังหวัดหรือลงไปในระดับตำบล หมู่บ้าน การสร้างความปรองดอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จะสมารถทำได้อย่างไม่ยากเกินไปเลย
การไปพัฒนาจังหวัดร่วมกันเป็นการสร้างความปรองดองโดยอ้อม พอเรามีจุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์ร่วมกันความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถึงไม่ค่อยชอบหน้ากันแต่ก็พอจะอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ใช้กำลังเบียดเบียนหรือทำร้ายกัน ยิ่งทำงานพัฒนาได้สำเร็จยิ่งปรองดองมากขึ้น เหมือนทีมรักบี้อาฟริกาใต้เล่นได้ดี ชนะเลิศเป็นแชมเปี้ยนโลก โอ้ย คนดำคนขาวกอดกันได้เลย จากที่เคยเกลียดกันเต็มที่ สำหรับประเทศไทยเรา สมมุติที่เชียงใหม่ สถานการณ์ยังคุกรุ่นอยู่ ผมก็ว่าในเชียงใหม่คงมีคนในภาคประชาสังคมนี่แหละครับที่จะช่วยเป็นคนกลาง ช่วยพูด ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างคนเชียงใหม่ด้วยกัน ยังไม่ต้องระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ เอาระหว่างคนในเชียงใหม่ด้วยกันก่อน ถ้าคนในเชียงใหม่ปรองดองกันได้จะค่อย ๆ ทำให้คนในจังหวัดอื่น ๆ จนกระทั่งระดับประเทศปรองดองกันได้ในที่สุด แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าระดับชาติไม่ปรองดองกันและขยายความไม่ปรองดองไปยังต่างจังหวัด เราต้องทำสวนทางกัน ทำต่างจังหวัดให้ปรองดองกันได้ ที่ไหนทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น แต่เชื่อว่าจะสามารถทำได้มากขึ้นมากขึ้น มันจะค่อยๆลด Degree ของความขัดแย้งส่วนกลางลง
สำหรับในส่วนกลาง ถ้าสามารถมีคนกลางหรือมีใครไปช่วยดำเนินการให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่ายเลยนะครับและจะต้องใช้ศิลปะเยอะ แต่เราก็ควรจะต้องพยายามคิด พยายามทำไป อาจต้องดั้นด้นไป ไม่ได้ทางนี้เอาทางนั้น ไม่ได้ด้วยวิธีนั้นมาพยายามวิธีนี้ พยายามไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าเราจะสำเร็จได้ในที่สุด ก็หวังว่ารัฐบาลก็ดี คณะกรรมการอาจารย์คณิตก็ดี ที่มุ่งจะสร้างความปรองดอง จะสามารถทำได้สำเร็จในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาขัดข้องของประเทศมากที่สุดขณะนี้ก็คือความแตกแยก นี่แหละไม่มีอะไรร้ายแรงเท่า พอแตกแยกแล้วก็ทำให้ทุกอย่างเสียไปหมด บรรยากาศในสังคม ในครอบครัว การเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ต่างประเทศ สารพัดอย่างเสียไปหมด เราเองก็เดือดร้อน ลูกหลานเราก็เดือดร้อน เราจะเดือดร้อนเสียหายกันมากถ้าเราแก้เรื่องนี้ไม่ตก แต่ผมเชื่อว่าเราจะสามารถแก้ให้ตกได้
และเราต้องพยายามแก้ให้ได้ วิธีหนึ่งที่จะแก้ได้ก็ด้วยภาคประชาสังคมนี่แหละครับ ถ้าเราส่งเสริมภาคประชาสังคมดี ๆ จะมีส่วนช่วยได้แน่นอน ถ้าภาคประชาสังคมเข้มแข็งหมายถึงสังคมเราเข้มแข็ง ถ้าสังคมเราเข้มแข็งเรื่องความแตกแยกและปัญหาต่าง ๆ ของสังคมจะแก้ไขหรือป้องกันได้ เป็นเรื่องไก่กับไข่นะครับ ขณะนี้สภาพต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย สังคม ประชาสังคม ก็อ่อนแอไปด้วย แต่ถ้าสังคม ประชาสังคมเข้มแข็งขึ้นมา ก็จะทำให้สภาพต่าง ๆ ในสังคมเอื้ออำนวยมากขึ้น ก็กลับไปช่วยสังคม ช่วยประชาสังคม เป็นเรื่องที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะตัดวงจรที่เลวตรงไหน จะเริ่มวงจรที่ดีตรงไหน
ผมคิดว่าเราจะเริ่มตรงไหนก็ได้ ถ้าเราเริ่มอย่างที่ผมเสนอแนะว่าเราลองไปจัดกระบวนการที่จังหวัดโดยอาจจะเริ่มต้นที่จังหวัดนครปฐม เหตุเพราะอยู่ใกล้และเมื่อวานผมก็ได้พูดกับบางท่านและหลายท่านตอบรับ และอาจจะมีการประสานความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เขาจัดสัมมนาเมื่อวาน สสส. มหาวิทยาลัยมหิดล หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เป็นต้น การไปจัดที่จังหวัดเราจะได้รูปธรรมและลงมือทำได้เลย เช่นจัดระบบท่องเที่ยวให้ดีขึ้นได้เลย จัดระบบอุตสาหกรรมให้ดีขึ้นได้เลย ให้มีปัญหากับประชาชนน้อยลง เกื้อกูลประชาชนมากขึ้น หรือว่าดูแลเรื่องการเงินการทองของประชาชน แก้ปัญหาหนี้สิน พัฒนาการเกษตรที่เหมาะสม กิจกรรมรูปธรรมพวกนี้แหละครับ ที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถลงไปทำได้เลย ถ้าทำอย่างนั้นได้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วนที่จะไปขยายวิธีการส่งเสริม สนับสนุนประชาสังคมในรูปแบบอื่นๆ ก็สามารถทยอยทำตามแนวทางที่เขียนไว้ในระเบียบนั่นแหละครับ เช่นควรจะมีงานวิจัย และการสนับสนุนงานวิจัย ควรจะมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ควรจะมีการพัฒนานวัตกรรมด้านการพัฒนาสังคม และการสนับสนุนประชาชนในการรวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นองค์กรด้านประชาสังคม หรือเป็นเครือข่ายประชาสังคม การส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่ม ขององค์กรและของเครือข่ายประชาสังคม การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรด้านประชาสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ระบุไว้ชัดเจนในระเบียบ ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้โดยสะดวก
พูดถึงงานวิจัยผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายครั้งที่เราทำงานพัฒนา เราใช้สามัญสำนึก
ใช้ความรู้สึก ความเชื่อ แต่ขาดงานวิจัยสนับสนุน ถ้าเรามีงานวิจัยสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาประชาสังคม จะทำให้สามารถทำได้ดีและทำได้เร็วอย่างมีความมั่นใจมากขึ้น ในการนี้คงจะต้องมีการลงทุนลงแรงพอสมควรหรือให้มากพอ แต่พอได้ผลมาแล้วจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้เราเห็นว่า เราเป็นอย่างไรกันแน่ จุดแข็งเราอยู่ตรงไหน จุดอ่อนเราอยู่ตรงไหน ถ้าจะพัฒนาต่อไปจะต้องทำอะไรบ้างและมีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางบ้าง ถ้าอุปสรรคเป็นกฎหมายข้อบังคับจะต้องแก้ตรงไหน ถ้าเป็นประเพณีวัฒนธรรมจะต้องแก้ตรงไหน หรือต้องส่งเสริมตรงไหน งานวิจัยช่วยได้มาก อย่างนี้เป็นต้น นี่แค่เป็นตัวอย่างนะครับ
ผมคิดว่าที่ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดกับท่านทั้งหลาย หรือว่าปรารภความคิดกับท่านทั้งหลายคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร สำหรับประยุกต์ใช้ในการเริ่มต้นงานอันสำคัญของ “คณะกรรมการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ” และท่านก็ได้ผู้นำที่ดี ทั้งท่านรองนายกสุเทพและท่านรัฐมนตรีอิสระ ท่านปลัดทั้งคนเดิมที่ดำรงตำแหน่งอยู่และที่จะขึ้นมาใหม่ในเวลาอันใกล้นี้ คงจะส่งเสริมสนับสนุนทีมงานต่างๆของกระทรวง พม. ซึ่งผมเชื่อว่ามีความพร้อมอยู่ มีความกระตือรือร้นที่จะทำงานด้านนี้อยู่ และงานด้านนี้ก็ได้ทำบ้างแล้ว ไม่ใช่มาเริ่มใหม่ การที่จะสานต่อไปจึงน่าจะไม่ยากจนเกินไป ซึ่งจะสอดคล้องต้องกัน เสริมหนุนซึ่งกันและกันกับงานอื่นๆของกระทรวงได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าถ้าทำงานประชาสังคมได้เต็มที่สมบูรณ์แบบ จะเป็นงานหลักของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจะสอดแทรกเข้าไปในแทบจะทุกเรื่องที่เป็นภารกิจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บ่ายนี้ผมก็ต้องไปพูดอีกที่หนึ่ง เรื่องประชาสังคมกับการป้องกันแก้ไขปัญหาของ เด็ก เยาวชน คือเรื่องที่เกี่ยวพันกับประชาสังคมจะสอดคล้องกันหมดครับ เพราะประชาสังคมที่ผมกล่าวถึงตั้งแต่ตอนต้นว่าคือกิจกรรมของประชาชนที่รวมตัวกันโดยเฉพาะในเรื่องที่สร้างสรรค์ อย่างไรก็ดีคำว่าประชาสังคม อาจมีความหมายในทางที่ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้นะครับ แก๊งรถซิ่งจักรยานยนต์นี่ก็คือประชาสังคมเหมือนกัน แต่เราคงไม่คิดว่าดีใช่ใหมครับ คือคำว่า “ประชาสังคม” จะคล้ายกับคำว่า “วัฒนธรรม” คือ ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ คำว่า “ ประชาธิปไตย” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่สามารถเป็นประชาธิปไตยแบบเลวก็ได้ แบบดีก็ได้ ฉะนั้นการที่ประชาสังคมอาจดีก็ได้เลวก็ได้นั้น เราต้องยอมรับ อะไรไม่ดีเราก็เลิกเสียหรือแก้ไข ป้องกัน ไม่ให้คงอยู่ต่อไป ส่วนอะไรดีเราก็ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีมากขึ้นหรือดีมากขึ้น
แต่ถ้ากล่าวโดยทั่วไป “ประชาสังคม” คือกิจกรรมที่ดีของประชาชน เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุน แต่การส่งเสริมสนับสนุนถ้าเราเลือกจุดที่เป็นยุทธศาสตร์ เช่นกรณี
ที่ผมเสนอเกี่ยวกับ “การรวมพลังเครือข่ายพหุภาคีขับเคลื่อนจังหวัด” นั้น ผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์สามารถทำได้ทุกจังหวัด แต่อย่าไปทำพร้อมกันทุกจังหวัดทีเดียวเลยนะครับ ควรเริ่มเพียง 1,2,3 จังหวัด แล้วค่อยขยาย ถ้าทำแล้วผลออกมาดี จะมีจังหวัดอื่นตามมา และจะไปได้เร็วในภายหลัง โดยเป็นการไปเร็วที่ได้ผลดีด้วย คือถ้าเราไปเริ่มเร็วเกินไป มักจะทำไม่ดี แล้วกลายเป็นช้าในภายหลัง ฝรั่งเขามีคำพูดว่า “Go slow in order to go fast ” หมายความว่า ไปช้า ๆ ก่อนแล้วจะเร็วทีหลัง แต่ถ้าเราไป Go Fast ในตอนแรกในที่สุดจะต้อง Go Slow เพราะจะต้องกลับมาแก้ไขข้อติดขัดหรือข้อขัดข้องต่างๆ นิสัยคนไทยมักจะเป็นแบบหลัง ทำอะไรชอบทำเร็วและก็เกิดการติดขัดยุ่งเหยิงนานาประการ ก็เลยต้องมารื้อของเก่าทำใหม่ ทำให้เรื่องเดินไปได้ช้า ในภายหลัง แต่ถ้าเริ่มช้าหน่อย อย่างในประเทศญี่ปุ่น เวลาจะตัดสินใจทำอะไร เขาจะต้องถามคนเยอะแยะไปหมด แม้นักการภารโรงเขาก็ถามด้วย แต่เวลาตัดสินใจได้แล้วเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้เรื่องหมดและเห็นชอบ จึงสามารถปฏิบัติไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วมากเลย คือช้าทีแรกแต่ไปเร็วทีหลัง ผมก็หวังว่าเรื่องการพัฒนาประชาสังคมจะคล้ายๆกันนะครับ เริ่มช้า ๆ หน่อยแต่ว่าทำให้ดี จะไปได้เร็วทีหลัง
ก่อนจบการปาฐกถา ผมขอแถมเรื่องที่ผมทำมาแล้ว โดยเริ่มต้นค่องข้างช้า แต่ไปได้ดีและไปได้เร็วมากในภายหลัง นั่นคือเรื่อง โครงการแก้ปัญหาหนี้สินและพัฒนาชีวิตครู เรื่องนี้ผมเริ่มต้นทำเมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ครูเป็นแสนคนมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ไปหากู้ที่ไหนก็ไม่มีใครให้ จะไปทำโครงการกับธนาคารก็ไม่มีธนาคารไหนยอมทำ พอมาที่ธนาคารออมสิน ผู้บริหารธนาคารบอกว่า โอ้ย เรื่องครูเป็นหนี้จะมากู้เงินธนาคารไปล้างหนี้ไม่ไหวหรอก เรื่องเช่นนี้น่าจะทำไม่ได้ แต่ผมคิดอีกอย่างหนึ่ง ผมว่ามันต้องทำได้ ต้องมีวิธีที่ทำได้ ก็มานั่งครุ่นคิดหาวิธีการอยู่พักใหญ่ แล้วก็ปรึกษากับครูกับทางราชการ คือกระทรวงศึกษาธิการ ในที่สุดเรานั่งคุยกัน 6 เดือน เพื่อจะพัฒนาวิธีการขึ้นมา ผมถึงบอกว่าสำคัญที่กระบวนการไง ผมไม่ได้เริ่มต้นโดยพิจารณาเลยและตัดสินใจว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ผมใช้กระบวนการปรึกษาหารือ นานถึง 6 เดือน จากทัศนคติครูที่เอะอะจะเอาแต่เงินกู้อย่างเดียว ส่วนผู้บริหารและพนักงานธนาคารก็จะห่วงเรื่องหลักประกันเป็นต้น จากทัศนคติแบบนี้ในที่สุดเข้ามาหากัน ครูก็เริ่มได้คิดว่ามันไม่ใช่เงินกู้อย่างเดียวนะ แต่จะต้องมีการ ปรับวิธีคิด ปรับวิถีชีวิต ปรับพฤติกรรม ต้องมีการจัดการองค์กรร่วมกัน และอื่น ๆ ผู้บริหารและพนักงานธนาคารก็เริ่มตระหนักว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ให้เงินกู้โดยมีหลักประกันเท่านั้น แต่เราต้องไปสนับสนุนดูแลเรื่องการพัฒนาบุคคล การพัฒนาจิตใจ การจัดองค์กรต่างๆ และเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างภายใต้โครงการนี้ ในที่สุดเกิดเป็นระบบที่เราเรียกว่า “เครือข่ายพัฒนาชีวิตครู” เป็นระบบที่ซับซ้อนหน่อย แต่ว่าละเอียดและเป็นแผนทั่วประเทศ พอเริ่มปล่อยเงินกู้ไป ปีแรกได้ 2-3 พันล้าน เจ้าหน้าที่บอกว่าปีนี้ได้ 3 พันล้าน ปีหน้าตั้งเป้า 6 พันล้าน ผมบอกว่ามันต่ำไปนะ ปีหน้าควรจะเป็น 8 พันล้าน เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่าไม่ไหวแน่ แต่พอเอาเข้าจริงตัวเลขสินเชื่อครูในปีถัดมาออกมาเป็นกว่าหมื่นล้าน เวลาผ่านไป 10 ปี เดี๋ยวนี้เงินกู้ที่ปล่อยไปถ้านับสะสมก็ประมาณหนึ่งแสนล้าน โดยมียอดคงเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และทั้งหมดนี้ใช้เงินธนาคารออมสินทั้งสิ้นไม่ต้องใช้เงินของรัฐบาลเลยแม้แต่บาทเดียว ดังนั้นโครงการนี้ครูได้ประโยชน์ ราชการได้ประโยชน์ ธนาคารออมสินเองก็ได้ประโยชน์ เป็น win- win-win นี่เป็นวิธีเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะเห็นว่าทีแรกช้าแต่ผมคำนวณไว้แล้วว่ามันจะช้าในช่วงต้น แต่ในภายหลังจะเร็วขึ้น ที่เรียกว่าเติบโตแบบ Exponential โครงการพัฒนาชีวิตครูในตอนหลังเร็วมากจนคณะกรรมการแบงค์ตกใจ มาดูว่าทำไมเงินกู้นี้ขึ้นเร็วมาก มีปัญหาความเสี่ยงหรือไม่ มาดูจริง ๆ ก็ไม่มีความเสี่ยงเท่าไร อัตราหนี้สูญน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย แบงค์ชาติมาตรวจบอกว่าโอ้โห ธนาคารออมสินมีสินทรัพย์อยู่เรื่องหนึ่งที่ดีมากก็คือเงินกู้ครู เพราะเป็นสินเชื่อคุณภาพดี ทำรายได้ให้ธนาคารออมสินอยู่ในเกณฑ์ดี ครูได้ประโยชน์มาก ราชการก็ได้ประโยชน์โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแต่ต้องให้ความร่วมมือในการหักหนี้ คือหักเงินเดือนเวลาชำระหนี้ ที่ผมเล่ามานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ต้องใช้กระบวนการหรือ Process ให้ดี สร้างทัศนคติที่ดีให้สำเร็จ แล้วสาระที่ดีจะทยอยตามมา เช่น ทัศนคติเรื่องครูต้องทำงานแบบไตรภาคี หลายฝ่ายต้องมาร่วมกันตัดสินใจ อย่าตัดสินใจฝ่ายเดียว ต้องร่วมคิดร่วมทำอยู่เสมอ และต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการกู้เงิน ถ้ากู้เงินโดยไม่พัฒนาก็จะกลับไปเป็นหนี้เสียอย่างเดิม ถ้ากู้เงินบวกกับการพัฒนา ครูจะแก้ไขปัญหาได้ หลายคนเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ บางคนเดินผ่านธนาคารออมสินนี่ยกมือไหว้ขอบคุณที่ช่วยชีวิตไว้ มีบางคนเกือบฆ่าตัวตายอยู่แล้วแต่มากลับตัวได้ ขณะนี้โครงการในลักษณะคล้ายกันได้ขยายไปให้ข้าราชการสามัญ ให้ข้าราชการทหาร ให้ข้าราชการตำรวจ เฉพาะครูก็เกือบแสนคนที่เข้าโครงการ ถ้ารวมข้าราชการอื่นด้วยก็เกินแสนไปหลายหมื่น รวมจำนวนเงินที่ได้ปล่อยไปเกินกว่าแสนล้าน นี้เป็นตัวอย่างของการทำเรื่องที่ดูเหมือนยากแต่ว่าด้วยกระบวนการที่ดี ด้วยวิธีการที่ดี สามารถทำสำเร็จได้
ในโอกาสนี้ ผมจึงอยากเสนอให้ ท่านรองนายกสุเทพและกระทรวง พม. สนับสนุนส่งเสริม เรื่องประชาสังคมซึ่งอาจดูว่ายาก เพราะมันใหญ่มากสลับซับซ้อนมาก ประชาสังคมไม่ใช่เป็นหนึ่งเดียวแต่หลากหลายมาก ทะเลาะกันก็มี ทะเลาะในกลุ่มเล็กของตัวก็มี ทะเลาะระหว่างกลุ่มก็มีแต่อาจไม่รุนแรงมาก แต่ประชาสังคมในภาพรวมหรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพียงแต่อาจจะดีในระดับต่าง ๆกัน และเรื่องประชาสังคมจะโยงใยอย่างดีมากกับเรื่องปฏิรูปทั้งหลายที่กำลังจะทำกันอยู่ รวมทั้งโยงใยได้กับเรื่องความปรองดองที่รัฐบาลและสังคมไทยโดยรวมอยากให้เกิดขึ้น ขอให้กำลังใจท่านรองนายก ท่านรัฐมนตรี และทุก ๆ ท่านในที่นี้ ผมขอเอาใจช่วยและส่งใจส่งความคิดไปช่วยนะครับ ในส่วนที่ผมยังพอมีแรงที่จะมาช่วยพูดช่วยทำเช่นในวันนี้ก็ยินดีครับ แต่อาจทำได้ไม่บ่อยนักด้วยเหตุผลด้านสุขภาพของร่างกาย ที่ไม่ถึงกับดีนัก แม้สุขภาพใจจะยังดีอยู่
บัดนี้ก็ได้เวลาที่พอสมควร อาจจะพูดนานไปนิดหนึ่ง แต่หวังว่าท่านผู้ฟังคงได้ประโยชน์บ้าง ตามสมควร และขอบพระคุณท่านรองนายกสุเทพ ท่านรัฐมนตรีอิสระ ที่ให้ความกรุณานั่งฟังอยู่ ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น ท่านเองคงมีความคิดอะไรอยู่แล้ว แต่อาจฟังผู้อื่นด้วยเพื่อช่วยให้ความคิดของท่านดียิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันท่านก็ย่อมก็ได้ประโยชน์จากความคิดของคณะกรรมการที่มาจากหลากหลาย และมาช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวม งานด้านประชาสังคมเป็นงานเย็นไม่ใช่งานร้อน แต่ถ้าทำได้ดีจะสามารถช่วยทำให้งานร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ค่อย ๆ เย็นลงได้ พร้อมกับช่วยให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ดีขึ้น เกิดเป็นประโยชน์สุขให้แก่ทุกคนทุกฝ่าย ผมขอเอาใจช่วยอีกครั้งหนึ่งและขอขอบคุณครับ
ถอดเทป/เรียบเรียง
โดยนางวารุณี ชินวินิจกุล
นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/385065