บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการนำสังคมไทย ก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์
สรุปการสัมภาษณ์ ให้กับคณะนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2552 ณ บ้านเลขที่ 54 ถนนสุขุมวิท 61)
ผู้เข้าร่วมการสัมภาษณ์
- นางสาวกิ่งกนก ชวลิตธำรง นักวิจัยนโยบาย สวทน.
- นายนนทวัฒน์ มะกรูดอินทร์ ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
- นายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
- นางสาวพสชนัน นิรมิตรไชยานนท์ ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
- นางสาวภัทรวรรณ จารุมิลินท ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
- นางสาวสิริพร พิทยโสภณ นักวิจัยนโยบาย สวทน.
- นางสาวอุบลทิต จังติยานนท์ ผู้ช่วยนักวิจัยนโยบาย สวทน.
สรุปการสัมภาษณ์
1. ทิศทางอนาคตในการพัฒนาสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ
คำว่า “สังคม” ในที่นี้ หมายถึง “ประเทศ ซึ่งรวมถึง การเมือง เศรษฐกิจ ธรรมชาติ มนุษย์ ดวงดาว จักรวาล เป็นต้น”
ประเด็นใหญ่ของสังคม ประกอบด้วย
- ธรรมชาติ (ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศ) – ที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งเย็นจนเป็นน้ำแข็ง ร้อนระอุ ในอนาคต น่าจะเกิดปัญหาหลายเรื่องทั้งสิ่งแวดล้อม สารพิษ น้ำท่วม แผ่นดินทรุด (การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ ส่งผลให้ธรรมชาติเกิดความไม่สมดุล)
- มนุษย์ – ความไม่สมดุลระหว่างคนและธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ในอดีต ยังมีประชากรจำนวนไม่มาก เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ คนสามารถย้ายถิ่นฐานได้
- ระบบการบริหารจัดการบ้านเมือง – ระบบทั้งหมดของประเทศ เช่น ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม (วัตถุประสงค์ของการแยกระบบ คือ สะดวกในการบริหารจัดการ ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น) ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กัน (ในระบบใหญ่ มีระบบย่อย ไปจนถึงระบบย่อยที่สุด) ทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองได้ดี มีคุณภาพ ในปัจจุบัน บ้านเมืองเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งแตกแยกในหลายมิติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการความขัดแย้งเท่านั้น
2. อะไรที่จะนำสังคมไทยก้าวไปสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ภาพพึงประสงค์ของสังคมในอนาคต คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยใช้กลไก 3 เสาหลักดังแสดงในรูปด้านล่าง
2.1 ปัจจัยสำคัญในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์
- ระบบการเมือง – การมีระบบการเมืองที่ดี จะทำให้สามารถดูแลบริหารจัดการบ้านเมืองได้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เช่น ความยากจน
2.2 ประเด็นนโยบายที่คิดว่าสำคัญและเร่งด่วน
- การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
- การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ
- การพัฒนาระบบการเมือง
2.3 บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการนำสังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์
- วทน. กับการพัฒนา – วทน. มีบทบาทในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ทำตามความต้องการของสังคม มากกว่าที่จะอยู่ตามลำพัง โดยการไปค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว และนำมาขยายผลต่อไปในวงกว้าง
- วทน. กับการเมือง – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการความรู้ ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การสื่อสารระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลางดีขึ้น ทำให้คนรู้เท่าทัน แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งการเมืองท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้
- วทน. กับการเรียนรู้ – วทน. เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน
- วทน. กับเศรษฐกิจชุมชน – วทน. สามารถรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้สินค้าชุมชนมีคุณภาพดีขึ้น มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
2.4 กลไกที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
- พลัง 3 ส่วนเกื้อหนุนกัน (พลังทางความรู้ พลังทางสังคม พลังทางนโยบาย) – พลังทางความรู้จะได้ผลเร็ว ส่วนพลังทางสังคมจะต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน
- การกระจายอำนาจการปกครอง – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมมาก ในอนาคต แนวคิดนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีคุณภาพมากขึ้น
- การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย – ต้องทำงานร่วมกัน ไม่แข่งขันกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดตนเองเป็นหลัก
- การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม – ในการกำหนด/ผลักดันนโยบาย ควรจะมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาช่วยกัน
- การสำรวจหาต้นแบบที่ดีมาขยายผล – ควรนำผลงานวิจัยชุมชนที่ประสบความสำเร็จของชาวบ้าน มาต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การจัดทำแผนชุมชน – สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ ในระยะแรก แผนชุมชนเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยชาวบ้านในชุมชน ต่อมา ได้มีการนำยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้เกิดแผนชุมชนทั่วประเทศ
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/324275