จะสร้าง “สมานฉันท์” จากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร
คำว่า “สมานฉันท์” มีน้ำเสียงไพเราะ มีความหมายงดงาม คือหมายความว่า “ความพอใจร่วมกัน” หรือ “ความเห็นพ้องกัน”
“สมานฉันท์” เป็นได้ทั้ง “ผลลัพธ์” และ “วิธีการ”
ถ้าเป็น “ผลลัพธ์” เราจะพูดว่า “ขอให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมไทย” เป็นต้น
แต่ถ้าพูดว่า “ขอให้เรามาสมานฉันท์กันเถิด” เรากำหลังหมายถึงว่า ขอให้เรามา “ดำเนินการ” ในอันที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น
ตรงนี้แหละที่ยาก แต่ก็เป็นไปได้และควรพยายามทำให้ได้
สำคัญที่ต้องเข้าใจให้ถูก และทำให้ดี
อย่างนี้ยังไม่ใช่ “สมานฉันท์”
ถ้าคนฝ่ายหนึ่งบอกว่า “เรามาสมานฉันท์กันนะ” โดยมีความหมายว่า “ที่พวกคุณคัดค้านต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่น่ะ ขอให้หยุดเสียเถอะ บ้านเมืองจะได้สงบสุข”
อย่างนี้ยากจะเกิดความ “สมานฉันท์” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” หรือ “ความเห็นพ้องกัน” เพราะอีกฝ่ายก็คงจะบอกว่า “ถ้าคนที่เราคัดค้านต่อต้านลาออกไปตามที่มีคนจำนวนมากเรียกร้อง พวกเราก็ยินดียุติความเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้าน”
ซึ่งฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ลาออกก็จะยังคงไม่ยอมลาออก เรื่องจึงจะยังคงเป็นความขัดแย้ง หรือยังไม่เป็นความสมานฉันท์อยู่นั่นเอง
หรือฝ่ายแรกอาจบอกว่า “ในเมื่อเราจะมีกระบวนการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว การเคลื่อนไหวอย่างอื่นควรยุติ” อีกฝ่ายก็คงตอบว่า “ไม่ได้ขัดข้องเรื่องการเลือกตั้งแต่ยังไม่มั่นใจในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง และขณะเดียวกันขอให้มีกระบวนการสอบสวนความผิดของผู้อยู่ในตำแหน่งสำคัญบางคน โดยไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย”
ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่ค่อยเห็นโอกาสที่จะมีการดำเนินการตามที่ฝ่ายที่สองเสนอ ดังนั้น ความขัดแย้งหรือความไม่สมานฉันท์จึงยังคงดำรงอยู่
นอกจากนั้น ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยข้องใจเกี่ยวกับจริยธรรม ความสุจริต ความน่าเชื่อถือ การมีพฤติกรรมเหมาะสม และความชอบธรรม ของผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในอำนาจ ถ้าความสงสัยข้องใจนี้ยังมีอยู่มาก การเลือกตั้งจะไม่ช่วยคลี่คลายและความยังไม่สมานฉันท์ คือความยังไม่ “พอใจร่วมกัน” จะยังคงอยู่
แล้ว “สมานฉันท์” ที่จริงแท้ควรเป็นอย่างไร
จะเกิดความ “สมานฉันท์” จริงแท้ได้ต้องมีทั้ง “กระบวนการ” ที่เห็นพ้องต้องกัน และการบรรลุ “ผลลัพธ์” ที่เห็นพ้องต้องกัน โดยเป็นความเห็นพ้องต้องกันของ “ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”
ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น ลงลึก ซับซ้อน และกว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อน
มีอยู่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาก นับโดยสังเขปได้ดังนี้
1. พตท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะใกล้ชิด
2. ผู้นำทางการเมืองฝ่ายคัดค้านพตท.ทักษิณ
3. ผู้นำทางการเมืองฝ่ายสนับสนุนพตท.ทักษิณ
4. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
5. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คาราวานคนจน”
6. กลุ่มประชาชนอื่นๆที่คัดค้านพตท.ทักษิณ
7. กลุ่มประชาชนอื่นๆที่สนับสนุนพตท.ทักษิณ
8. กลุ่มประชาชนที่ไม่แสดงจุดยืนในทางสนับสนุนหรือคัดค้านพตท.ทักษิณ
9. กรรมการการเลือกตั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่
10. ฝ่ายรักษาการสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่แสดงจุดยืนบ่อยครั้ง
11. ฝ่ายตุลาการบางส่วนที่แสดง จุดยืนบ่อยครั้ง
12. ฝ่ายอื่นๆนอกจากที่กล่าวข้างต้น
“ผู้เกี่ยวข้อง” อาจมีมากกว่านี้หรือต่างไปจากนี้ก็ได้ ในกระบวนการสมานฉันท์จะเปิดกว้างและยืดหยุ่นไว้ ให้มีการจัดการตนเองและจัดการร่วมกันจนลงตัวได้ในที่สุด
ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเหล่านี้ ต้องเห็นชอบร่วมกันก่อนเกี่ยวกับ “กระบวนการ” ที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หากยังไม่เห็นพ้องต้องกันในขั้นนี้ กระบวนการจะสะดุดตั้งแต่ต้น
บทบาทของ “คนกลาง” ในการแก้ความขัดแย้ง
โดยนัยนี้ การขอให้คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็น “คนกลาง” ในการคลี่คลายความขัดแย้ง อาจเกิดปัญหาหากผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญยังไม่เห็นพ้องกัน หรืออาจเกิดความสับสนเนื่องจากคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็น “คู่กรณี” ในความขัดแย้งอยู่ด้วย ทำให้ทำหน้าที่ได้ยากหรือไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
ที่อาจเป็นไปได้ คือ คุณบรรหาร ช่วยเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการให้มีการ “พูดจากัน” ในวงเล็กๆก่อน แล้วพยายามหาผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบหรือยอมรับร่วมกันให้มาทำหน้าที่ “คนกลาง” อย่างแท้จริงในขั้นถัดไป ซึ่งอาจเป็นคนกลางคนเดียว หรือเป็น “คณะคนกลาง” ก็ได้
“คนกลาง” จะทำงานได้ผลก็ยังต้องเสนอแนะหรือจัดให้มี “กระบวนการ” ซึ่งเห็นชอบร่วมกันในขั้นตอนต่างๆทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถนำไปสู่ความ “สมานฉันท์” คือ “ความพอใจร่วมกัน” ในที่สุด
“กระบวนการ” ดังกล่าวนี้ รวมถึงการตอบประเด็นว่า จะใช้การเจรจาหารือกันหรือไม่ ใครบ้างจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาหารือ จะแยกการเจรจาหารือเป็นหลายขั้นตอนไหม และแบ่งอย่างไร วิธีเจรจาหารือจะทำอย่างไร จะเปิดเผยมากน้อยแค่ไหน ในจังหวะใด และประเด็นอื่นๆอีกมากทีเดียว ซึ่งคนกลางจะต้องเอื้ออำนวยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามหาความเห็นพ้องเกี่ยวกับ “กระบวนการ” ในแต่ละขั้นตอน ก่อนที่จะดำเนินการตามกระบวนการเหล่านั้นเพื่อพิจารณา “สาระ” ต่างๆในลำดับถัดไป
การจัด “กระบวนการ”ทั้งหลายก็เพื่อให้สามารถเจรจาหารือกันอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์ นำสู่การเห็นพ้องต้องกันใน “สาระ” ที่สำคัญตามลำดับจนในที่สุดเป็น “ความเห็นพ้องกัน” ในเรื่องทั้งหมด ทำให้สลายความขัดแย้งที่เป็นปัญหา กลายเป็น “ความพอใจร่วมกัน” หรือ ความ “สมานฉันท์” นั่นเอง
ตรงนี้ถือว่ายากที่สุด หรือท้าทายที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุดและถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน มากที่สุด
ดังได้กล่าวแล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน มีความเข้มข้น ลงลึก ซับซ้อน และกว้างขวาง มากทีเดียว
ฉะนั้น การบรรลุ “ความเห็นพ้องกัน” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” โดย “ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” จึง “ยากมากๆ” และจะต้องเป็นความเห็นพ้องกันในหลายๆประเด็นที่สำคัญพร้อมกันไป มิใช่เห็นพ้องกันเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น
ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา
ประเด็นที่สำคัญเหล่านี้อาจจะรวมถึง
1. การ “เว้นวรรค” หรือไม่เว้นวรรคของพตท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมเงื่อนไขต่างๆที่ผูกพันกับการเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคดังกล่าว
2. สถานภาพและบทบาทของกรรมการเลือกตั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่ พร้อมเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง
3. วิธีทำให้ฝ่ายต่างๆมั่นใจพอสมควรว่าการเลือกตั้ง วันที่ 15 ตุลาคม 2549 จะมีความ “เรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม”
4. วิธีดำเนินการกับความสงสัยข้องใจในความสุจริตถูกต้องของผู้นำทางการเมืองให้พอเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้
5. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลปกครอง
6. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และกลุ่มอื่นๆที่คัดค้านพตท.ทักษิณ
7. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของกลุ่ม “คาราวานคนจน” และกลุ่มอื่นๆที่สนับสนุนพตท.ทักษิณ
8. บทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมของฝ่ายอื่นๆ เช่น นักการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ นักปฏิบัติการสังคม ฯลฯ
9. มาตรการระยะสั้นในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ
10. แผนดำเนินการระยะยาวในการปฏิรูปและพัฒนาทางสังคมและการเมือง
ถึงยากแค่ไหนก็ควรพยายาม
ในการดำเนินการจริงๆ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเป็นผู้พิจารณาและหาความเห็นพ้องในการเลือกประเด็นที่จะนำมาเจรจาหารือเป็นช่วงๆ โดยอาจแปรเปลี่ยนขัดเกลาเพิ่มเติมเมื่อเวลาผ่านไป
การจะบรรลุความห็นพ้องกันในเรื่องทั้งหมดข้างต้น ต้องการความพยายามร่วมกันโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงใจ จริงจัง ด้วยความพากเพียร อดทน ใช้สติ ใช้ปัญญา โดยมีคนกลางที่เหมาะสม ช่วยจัดกระบวนการที่ดี และให้เวลาที่มากพอเพื่อเรื่องทั้งหมดนี้
ส่วนบรรดา “ผู้เฝ้ามอง” โดยเฉพาะสื่อมวลชน และ “กองเชียร์” ทั้งหลาย ก็ควรพยายามให้ความเป็นธรรมอย่างสร้างสรรค์ และให้กำลังใจอย่างเหมาะสม ต่อผู้เข้าสู่กระบวนการเจรจาหารือทั้งหมด และต่อทุกๆฝ่าย รวมถึง
“คนกลาง” หรือ “คณะคนกลาง” ด้วย
เพราะเขาเหล่านั้น คือผู้ที่จะช่วยกันพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งแตกแยกที่สร้างความเสียหายมากมาย ไปสู่ความ “สมานฉันท์” หรือ “ความพอใจร่วมกัน” ซึ่งน่าจะหมายถึงสภาพอันพึงปรารถนาที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่ความเจริญงอกงามของประเทศไทย ของสังคมไทย และของประชาชนชาวไทยโดยรวม ในที่สุด
(หมายเหตุ บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 24 ก.ค. 49 คือ 1 วัน ก่อนศาลอาญาพิพากษาจำคุก“3 กกต.” นำลงใน Webblog : paiboon.gotoknow.org วันที่ 28 ก.ค. 49 และลงเป็นบทความใน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับ 7 ส.ค. 49 หน้า 7)
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
28 ก.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/41313