ข้อเสนอการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(29 มิ.ย. 49) ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาทางวิชาการ โดยสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ผู้ร่วมอภิปรายคือ รศ.ดร.โคทม อารียา โดยมี ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ได้อภิปรายให้ความเห็น สรุปได้ดังนี้
1. การพัฒนานักศึกษาให้เป็น “คนที่พึงปรารถนา” ควรเน้น
(1) การทำความดี (เป็นอันดับต้น)
(2) การสร้างสุขภาวะ
(3) การพัฒนาความสามารถ
กรณีมหาวิทยาลัยพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน และกรณีสถาบันการศึกษาในประเทศเวียดนาม เน้นการส่งเสริมให้นักศึกษา/นักเรียนมีจิตใจดีและทำความดีเป็นพื้นฐานสำคัญ
คุณจรัล ภักดีธนากุล (เลขาธิการประธานศาลฎีกา) กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า “คนเก่งอย่างเดียวอาจเป็นมหาโจรได้ ส่วนคนดีอย่างเดียวก็เป็นเหยื่อของมหาโจรได้ง่าย”
2. การ “ทำความดี” ที่ควรพิจารณาปฏิบัติ ได้แก่
(1) การมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง (ให้มีความดี มีสุขภาวะ มีความสามารถ)
(2) การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ผู้อื่น (โดยไม่จำกัดกลุ่มจำกัดพวก)
(3) การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม (รวมถึงประโยชน์ขององค์กร ของชุมชน ของท้องถิ่น ของสังคม ของโลก)
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิด ความสันติ ความเจริญ และความสุข ร่วมกันอย่างต่อเนื่องในสังคม
การ “ทำความดี” อาจให้หมายรวมถึง “การสร้างบุญ 3 ประการ” คือ “ทาน ศีล ภาวนา” ด้วยก็ได้
3. ด้วยแรงบันดาลใจจากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย และนักศึกษา อาจตั้งปณิธานร่วมกันทำนองนี้ คือ “เราจะใช้ชีวิตด้วยความดี เพื่อความสันติ ความเจริญ และความสุขร่วมกันในสังคมและในหมู่มวลมนุษย์”
4. เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กำหนดเป็นนโยบาย (อาจอยู่ในรูปปรัชญา วิสัยทัศน์ ฯลฯ) ให้ชัดเจนและหนักแน่น ว่าจะให้ความสำคัญต่อเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาเป็นอันดับต้น เช่น ส่งเสริมให้นักศึกษา “ทำความดี สร้างสุขสภาวะ และพัฒนาความสามารถ” เป็นต้น พร้อมกับพยายามให้นโยบายดังกล่าวเข้าไปอยู่ใน “จิตวิญญาณ” และมีสภาพเป็น “วัฒนธรรม” ของประชาคมและขององค์กรให้ได้อย่างดีที่สุด
(2) จัดสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา รวมถึงการจัดอาคารสถานที่ ปฏิมากรรม โปสเตอร์ ฯลฯ
(3) พัฒนาคุณภาพและบทบาทที่เหมาะสมของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวข้างต้น รวมถึงการพัฒนาให้ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร เป็นผู้ที่ “ทำความดี สร้างสุขสภาวะ และพัฒนาความสามารถ” อยู่เสมอด้วย
(4) ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษา ได้ “ทำความดี สร้างสุขภาวะ พัฒนาความสามารถ” โดยบูรณาการและผสมกลมกลืนอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัย ให้ได้อย่างดีและอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ปกครองและครอบครัวของนักศึกษา ตลอดจนอดีตนักศึกษา มีบทบาทที่สร้างสรรค์และเหมาะสมอย่างสอดรับกันด้วย
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาจากการปฏิบัติจริง รวมถึงการจัดตั้งและประสานเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และการจัดการความรู้ (Knowledge management) ร่วมกันของสมาชิกเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
7 มิ.ย. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/33254