การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 1)

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 1)


ปาฐกถาพิเศษ โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                                                                     รองนายกรัฐมนตรี

                                 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                         ในโอกาสวัน “กำพล วัชรพล” จัดโดย มูลนิธิไทยรัฐ ณ อาคารสำนักงาน นสพ.ไทยรัฐ

วันที่ 27 ธันวาคม 2550

 

เรียนคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ท่านประธานกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ เรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย ควรจะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ และเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความดี กันมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสนี้ผมใคร่ขอเสนอ “บันไดวน 4 ขั้น” ในการเสริมสร้างคุณธรรมและความดี ที่เรียกว่าบันไดวน เพราะว่าเป็นขั้นบันไดที่จะต่อเนื่อง และวนเวียนขึ้นไปหรือลงมา แล้วแต่กรณี แต่เราย่อมคาดหวังว่าจะเป็นการวนขึ้นไปสู่สภาพที่ดีขึ้น ดีขึ้น และเป็นบันไดที่อาจจะเดินข้ามจากหนึ่งไปสาม กลับมาสองแล้วไปสี่ จากสี่ก็ไปหนึ่งใหม่ วนขึ้นไปเป็นลำดับ

คำว่า “คุณธรรม” หมายความได้ต่างๆ นาๆ เพื่อให้ง่าย ผมขอใช้คำว่า “ความดี” แทนคุณธรรม เพราะความดีคือสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ดีในตัว ทำแล้วดี เกิดผลดี เช่นเดียวกับคุณธรรม คุณธรรมเป็นเรื่องที่ดี เป็นความถูกต้อง เป็นความดีงาม เป็นความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น ฉะนั้นพูดง่ายๆ คุณธรรมคือความดี และความดีเป็นคุณธรรม ถ้าสังคมเรามีความดีมากเท่าไหร่ ต่อเนื่องลึกซึ้งมากเท่าไหร่ แพร่ขยายกว้างขวางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นฐาน เป็นโครง เป็นพลังให้กับสังคมมากขึ้นเท่านั้น

“บันไดขั้นที่หนึ่ง” ของการเสริมสร้างความดีในสังคม คือ การค้นหาความดี เราอยากเห็นความดี เราอยากทำความดี เราอยากให้มีความดีมากๆ ในสังคม ไม่ต้องไปที่ไหนไกล มองที่ตัวเรา มองที่ครอบครัว มองที่เพื่อน มองในองค์กร ในชุมชนและในสังคม จะพบความดีมากมาย ถ้าไม่มีความดีในตัวเรา ในครอบครัว ในองค์กร ในชุมชน ในสังคม ป่านนี้เราคงย่อยยับอับจนเป็นอันมาก ถ้าไม่มีความดีอยู่ในเครือข่ายไทยรัฐ ป่านนี้คงไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งงอกงามเป็นมูลนิธิไทยรัฐที่ทำประโยชน์มาก เกิดโรงเรียนไทยรัฐที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่เพราะมีความดีเราจึงอยู่ดัวยกันได้และเจริญงอกงามอยู่เป็นประจำ

แต่ก็น่าแปลกใจนะครับ ในสังคม ในสื่อสารมวลชน แม้กระทั่งในการพูดจา บ่อยครั้งเหลือเกินเราทำตรงกันข้าม เราพยายามค้นหาความเลว ค้นหาความไม่ดี บางทีไม่มีความไม่ดีอยู่นะครับ แต่เราอยากเห็นความไม่ดี เราเลยไปสร้างขึ้นมาทั้งๆ ที่ ไม่มีความจริง หรือมีอยู่เล็กน้อยเราขยายให้ใหญ่ มีความดีกับความไม่ดีอยู่คู่กัน หรือมีความดีอยู่มากพร้อมกับมีความไม่ดีอยู่บ้าง เราไม่สนใจความดี แต่เราไปค้นเอาความไม่ดีขึ้นมา ถ้าเราลองตั้งสติ นั่นคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ลองคิดดู ในครอบครัวเรา ถ้าทุกวันที่เราเจอกันพ่อ แม่ ลูก เราเที่ยวค้นหาว่าลูกคนไหนมีความเลวอะไรบ้าง พ่อเลวยังไงบ้าง แม่ไม่ดียังไงบ้าง ครอบครัวนั้นคงจะไม่มีความสุขเป็นแน่แท้ ในความเป็นจริงก็มีครับ ครอบครัวที่เป็นเช่นนั้น และย่อมถึงซึ่งความเสื่อมโทรม บางครั้งหายนะ บางครั้งเป็นข่าวอื้อฉาวในสังคม เพราะความที่ค้นหาความเลวมาห่ำหั่นกัน แต่ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่อบอุ่นมีความสุข เจอหน้า พ่อ แม่ ลูก เราคงไม่ถามว่าวันนี้ลูกทำความเลวอะไรบ้าง หรือว่าไอ้หนูทำไมแย่อย่างนี้ บ่อยครั้งที่พ่อแม่ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ค้นหาความไม่ดีของลูกและพร่ำบ่น จนลูกซึ่งมีทั้งดีและไม่ดีกลายเป็นคนไม่ดีไปเลย

จากอุทาหรณ์ง่ายๆ นี้ครับ จะเห็นว่าการค้นหาความดี สร้างคุณอนันต์ แต่การมุ่งค้นหาความไม่ดี สามารถสร้างโทษมหันต์ ผมเกี่ยวข้องกับองค์กรหนึ่งคือ “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม” หรือ “ศูนย์คุณธรรม” มีหลักการและหลักคิดเป็นอันมากที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ ข้อหนึ่งคือการส่งเสริมความดีและการค้นหาความดี ได้มีการไปทำวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ ในชุมชนหนึ่งมีนักวิจัยเข้าไป ชวนชาวบ้านมาพูดคุย ถามว่าคนไหนเขาดียังไงบ้าง พบว่าทุกคนมีความดี ทุกคนมีจุดแข็ง ทุกคนสร้างประโยชน์ นำมาประมวลเป็นข้อมูล เอาไปติดไว้ที่ท่ามกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านมาดู เกิดความประทับใจว่า โอ้โฮ พวกเรานี้ก็มีดีต่างๆนาๆ มากทีเดียว ถ้าเผื่อเรานำความดีมาเชื่อมโยงกัน นำมาใช้ นำมาประสานเข้าด้วยกัน เราก็สามารถเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็ง มีความสุขได้ไม่ยาก

ทดลองทำกรณีโรงเรียน ทีแรกไปถามเด็กนักเรียนว่ามีปัญหาหรือความไม่ดีอะไรบ้าง จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ปรากฏว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จ นักเรียนไม่ค่อยสนใจ ต่อมาลองใหม่ ถามเอ๊ะพวกเรามีดีอะไรบ้าง แล้วเราจะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง ปรากฏว่านักเรียนสนุกมีความสุข แล้วก็ทำกันมากขึ้น การค้นหาความดีเป็นยุทธศาสตร์ เป็นศิลปะ ในทางวิชาการบริหารได้มีเทคนิค ที่เรียกว่า Appreciative Inquiry (แอพพรีซิเอทีฟ อินไควเออรี่) หรือ เอไอ อีกเทคนิคหนึ่งคล้ายๆ กันที่เขาเรียกว่า เอไอซี หรือ Appreciation Influence Control (แอพพรีซิเอชัน อินฟลูเอนซ์ คอนโทรล) สองเทคนิคนี้สอดคล้องต้องกันและไปในทิศทางที่ตั้งอยู่บนหลักคิดว่า ความดี ความเข้มแข็ง ความสามารถ มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าค้นหาให้พบ และนอกจากพบแล้วให้ความชื่นชม ให้เกียรติ ให้คุณค่า จะเกิดพลังยิ่งใหญ่ขึ้นมา คนทุกคน มีความดีมีความเข้มแข็งมีความสามารถ และคนทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีคุณค่า เมื่อคนทุกคนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า ไม่ใช่รู้สึกเพราะรู้สึกเองแต่รู้สึกเพราะว่ามีคนมาเห็นมีคนมาชื่นชม ก็เกิดกำลังใจ เกิดความภาคภูมิใจ เกิดพลังที่จะคิดและทำและพูดในสิ่งที่ดีมากขึ้น เทคนิคนี้ได้ใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นเทคนิคในการจัดการ ช่วยให้องค์กรทั้งเล็กและใหญ่พัฒนาก้าวหน้าได้มาก เป็นศาสตร์ที่เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ เป็นตำรา เป็นคู่มือการบริหาร ขยายวงกว้างออกไป ฉะนั้นเรื่องการค้นหาความดี ชื่นชมความดี เป็นทั้งหลักการ และเป็นเทคนิควิธีการด้วย ที่จะทำให้ความดีปรากฏตัว เพิ่มพลัง ขยายวงมากขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในโรงเรียน ที่นี่ท่านทั้งหลายมาจากโรงเรียนกันมาก บางแห่งคงใช้อยู่แล้ว ซึ่งควรใช้ต่อไปโดยพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ถ้ายังไม่ได้ใช้ก็ควรพิจารณานำมาใช้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าเทคนิคของการค้นหาความดีนี้ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงในการที่จะส่งเสริมคุณธรรม ส่งเสริมความดี นั่นเป็นบันไดขั้นที่1

“บันไดขั้นที่ 2” คือ การเรียนรู้ความดี ความดีหรือคุณธรรมนั้น เมื่อปรากฏอยู่ เมื่อเราค้นหามาได้ สามารถและควรที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปรียบเทียบ เชื่อมโยง สานต่อ พัฒนาต่อ สร้างนวัตกรรมต่อ เราเรียกว่าเป็น “การเรียนรู้” การเรียนรู้คือการปฏิบัติและพัฒนา การเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ข้อมูลเท่านั้น การเรียนรู้ที่แท้จริงก็คือการได้ปฏิบัติและพัฒนาด้วย ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักการศึกษาคงเข้าใจดี การเรียนรู้ความดีมีวิธีการได้หลายอย่าง ที่ใช้กันมากขณะนี้อย่างหนึ่งเรียกว่า “การจัดการความรู้” หรือ Knowledge Management เป็นการเรียนรู้ที่รอบด้านบูรณาการ สามารถที่จะ เกิดความซาบซึ้ง เกิดความลึกซึ้ง และเกิดการพัฒนาได้มาก เพราะการเรียนรู้เช่นนี้ นั่นคือในระบบการจัดการความรู้ ไม่ได้มีแต่สาระ แต่เข้าไปถึงจิตใจ เข้าไปถึงอารมณ์ เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครบมิติ ครบด้าน ทำให้ความรู้ที่มีอยู่ นอกจากได้รับการค้นพบ เช่นเดียวกับการค้นหาความดีแล้ว ยังจะมีการนำมาประมวล จัดระบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดความเป็นพลวัต ความมีชีวิตจิตใจ เกิดการเคลื่อนไหว และเกิดการนำไปปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเขาเรียกว่า เป็นผู้เรียนรู้ หรือผู้ปฏิบัติเชิงการเรียนรู้ ถ้าทำกันในกลุ่มเขาเรียกว่าชุมชนผู้ปฏิบัติหรือชุมชนที่เรียนรู้ ซึ่งในภาษาของการจัดการความรู้ จะเรียกว่าคอมมิวนิตี้ออฟแพรคทิส (Community of Practice) หรือ ซีโอพี หรือ ในภาษาของ Learning Organization (เลิร์นนิ่ง ออร์แกนไนเซชั่น) หรือองค์กรเรียนรู้ ก็เรียกว่า Learning Team หรือ Learning Group (เลิร์นนิ่งทีม หรือ เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) คือ เป็นกลุ่มที่เรียนรู้ เป็นทีมที่เรียนรู้ ฉะนั้นการเรียนรู้ความดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ความดีที่มีอยู่นั้นเกิดพลังขึ้นมา เกิดปฏิสัมพันธ์ และเกิดพัฒนาการต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

บันไดขั้นที่ 3 ครับ การสื่อสารความดี ในครอบครัวเราต้องสื่อสาร ครอบครัวสื่อสารไม่ยากเพราะว่ามีสมาชิกไม่กี่คน และอยู่ใกล้ชิดกัน ปัจจุบันสมาชิกครอบครัวอาจจะต้องอยู่ห่างกันบ้าง ก็มีเครื่องมือสื่อสารทำให้สื่อสารกันได้สะดวก ในองค์กร ในชุมชน เราต้องสื่อสาร ยิ่งในสังคม การสื่อสารได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ มีทั้งคุณค่าและมีทั้งปัญหา ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านสังคม ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง และได้ตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการ ชื่อว่า คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยเห็นความสำคัญของสื่อและการสื่อสาร ที่มีทั้งคุณและโทษ คุณนั้นมากมายแน่นอนครับ ทุกวันนี้ถ้าใครไม่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารน่าจะไม่ใช่คนที่อยู่ในโลกปัจจุบัน ต้องเกี่ยวข้องและเกี่ยวข้องมากกับการสื่อสาร แต่พร้อมกันนั้นเราจะพบว่าในบทวิเคราะห์วิจารณ์ทางด้านสังคม จะพูดถึงมหันตภัยของสื่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนทั่วไป อย่างไรก็ดี ในความพยายามของรัฐบาลปัจจุบันที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราว ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็มีส่วนหนึ่งที่ได้พยายามที่จะให้เกิดการพัฒนาเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน ในทางที่สร้างสรรค์ ที่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงกรณีของการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ และการดูแลในเรื่องของการโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีข้อที่ยังถกเถียง ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นะครับ โดยเฉพาะวันนี้ผมมาพูดที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งได้มีบทวิเคราะห์วิจารณ์ทั้งในทางสนับสนุนและในทางคัดค้าน ในเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดาครับที่ย่อมมีการวิเคราะห์วิจารณ์ในทางต่างๆกันได้ และก็เป็นอิสระ เป็นเสรีภาพของสื่อที่จะทำ แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า เห็นความสำคัญของสื่อและการสื่อสาร

มาโยงเข้าเรื่องความดีและคุณธรรม การใช้สื่อ การสื่อสาร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยให้ความดีที่มีอยู่ได้รับการรับรู้ แพร่กระจายออกไป และไปหนุนเสริมให้เกิดความดีมากขึ้น ขยายวงมากขึ้น รายการโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต ล้วนแล้วแต่สามารถจะช่วยให้เกิดการสื่อสารในเรื่องความดีมากกว่าในเรื่องความไม่ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า มักจะมีคำกล่าวว่าเรื่องดีๆ ขายไม่ได้ ต้องเรื่องร้ายๆ ถึงจะขายดี เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เป็นไปได้ไหมที่เรื่องดีๆ ขายได้ และเรื่องดีๆสร้างประโยชน์ได้

ในบางประเทศเช่นที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งบังเอิญผมเคยไปมา เขามีสถานีโทรทัศน์ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่หวังกำไร ที่เป็นสาธารณะ บริหารงานโดยไม่ใช่เป็นธุรกิจ แต่เป็นประชาสังคม มีรายได้จากการบริจาคและอื่นๆรวมถึงรายได้จากการเก็บและแยกขยะ โดยเขามีขบวนการเก็บขยะมาแปรรูปและจำหน่าย ทำเป็นขบวนการทั่วประเทศ มีอาสาสมัครตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนกระทั่งคนแก่อายุ 70-80 บางครั้งประธานาธิบดีก็ไปช่วยเก็บขยะด้วย ได้ขยะมา แยกแยะอย่างดี นำไปจำหน่าย ซึ่งเขามีความพิถีพิถันมาก เป็นศาสตร์และเป็นศิลปะทีเดียวนะครับ ผมไปเห็นมา เช่นว่า กระดาษหนังสือนี่นะครับ เขาจะมานั่งตัด ที่เป็นสีนั้นแยกไปอีกพวกหนึ่ง ขาวดำอีกพวกหนึ่ง เพราะมูลค่าต่างกัน ถ้าเป็นสายไฟ เขาจะมีวิธีเอาปลอกสายไฟนั้นออกให้เหลือแต่ทองแดง เพราะถ้านำขยะไปจำหน่ายระหว่างที่แยกอย่างมีหลักวิชาและอย่างพิถีพิถันกับไม่แยก ราคาจะต่างกันเยอะ ผลคือการเก็บขยะของเขา สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ซึ่งทันสมัย และเทียบเคียงกับสถานีโทรทัศน์ของธุรกิจได้เลย เขาสามารถมีรายได้จากการเก็บขยะถึง 25% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่เหลือก็มาจากการบริจาค และจากการโฆษณาที่มีแต่การแสดงชื่อบริษัท ไม่มีการโฆษณาสินค้า ปรากฏว่ารายการของโทรทัศน์แห่งนี้มีแต่เรื่องดีๆพร้อมกับเป็นที่นิยมของประชาชนด้วย

ในการนำเสนอเรื่องการทำความดี เขามีศิลปะ มีเทคนิควิธีการ ทำให้คนชอบและนิยม นั่นคือคนซื้อนั่นเอง ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับต้นๆ หนึ่งหรือสองหรือสามของสถานีโทรทัศน์ในประเทศ นี่เป็นตัวอย่าง และก็มีสถานีโทรทัศน์ทำนองนี้อีกหลายช่องที่ประเทศไต้หวัน แสดงว่าเรื่องดีๆ ทำให้ขายได้ ก็ได้ ในประเทศไทยเรา ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าจากสื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วยว่า มีแน่นอนที่ว่าเรื่องดีๆ ขายได้ เพราะเขาเคยเขียนเล่าเรื่องที่เป็นการทำความดี ปรากฏว่าคนอ่านกันมากเลย นิยมกันมากเลย และถามหาเขียนจดหมายมาโทรศัพท์มามากมาย ก็แปลว่าเรื่องดีๆนั้นขายได้ครับ แต่ต้องมีศิลปะ มีวิธีการให้ดีนะครับ

ฉะนั้นถ้าเรามีการค้นหาความดี เรามีการเรียนรู้ความดี เราสามารถจะสื่อสารความดีให้เป็นที่รับรู้ ให้เป็นที่สนใจ และประทับใจ ผมเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ที่ดีๆ ก็มีใช่ไหมครับขณะนี้ ที่คนนิยมกัน แต่บางรายการน่าเสียดายที่ว่าที่คนนิยมนั้นน่ะ ไม่ใช่เป็นของไทย เป็นของต่างประเทศ แต่ก็แปลว่าเรื่องดีๆ ขายได้ แล้วคนไทยก็น่าจะทำได้ ทำออกมาให้สื่อของเรา ได้สื่อสารความดีเป็นหลัก เรื่องดีๆก็จะแพร่ขยายออกไป เราก็จะอยู่ในบรรยากาศของความดี มีจิตใจ อารมณ์ ได้คิดได้ฟังได้เห็นในเรื่องที่ดี เมื่อคิดเรื่องที่ดี ก็จะไปทำเรื่องที่ดี พอเราคิดเรื่องที่ดี ทำเรื่องที่ดี อยู่ในบรรยากาศของความดีมากขึ้นๆ เรื่องไม่ดีจะลดไปเองโดยปริยาย

กลับมาพูดถึงในระดับครอบครัว ถ้าเราค้นหาความดี เรียนรู้ความดี สื่อสารความดีกันในครอบครัว ทำเรื่องดีๆ ไปมากๆ เรื่องไม่ดีจะน้อยลงหรือหมดไปเลย ที่แม่อาจจะมีจุดอ่อนบ้าง พ่ออาจจะทำอะไรไม่ดีบ้าง ลูกอาจจะเกเรบ้าง แต่พอเราเน้นเรื่องความดี ทำเรื่องดีไห้มากๆ ส่วนที่ไม่ดีจะค่อยๆหายไป แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไปหยิบยกความเลวขึ้นมาด่าทอกัน เอาเรื่องความเลว มากล่าวหากัน ชี้หน้าว่ากัน ความเลวจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการทำความเลวที่เป็นการประชดด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พอผมเข้ามารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ปัญหาแรกที่ต้องจัดการคือปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือ ผมก็รีบไปจัดการ เพราะในด้านการดูแลพื้นที่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งมีปัญหาหมอกควัน ก็ไปจัดการ ซึ่งเรื่องหมอกควันนี้เป็นเรื่องยาว แต่ว่ามีอยู่ประเด็นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการทำความไม่ดีเพื่อประชด คือ ราชการด้วยความที่ไม่เข้าใจเรื่องของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวเขา ก็ไปออกกติกาบังคับโน่นบังคับนี่เกี่ยวกับการเผาป่า ซึ่งชาวเขาเขาไม่เข้าใจ หรือเขาทำตามไม่ได้ พอเขาทำตามไม่ได้ ก็ถูกจับถูกลงโทษ ชาวเขาจำนวนหนึ่งเลยเผามากขึ้นเป็นการประชด คือในส่วนที่เขาทำดีเราอาจไม่ได้ไปค้นพบและชื่นชมให้มากพอ แต่เราเที่ยวไปคิดว่าเขาทำไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และไปกล่าวหาเขา ไปจับเขามาทำโทษ ผลจึงออกมาว่า ที่เขาเคยทำดีเลยเลิกทำ แล้วมาทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นการแก้แค้น เป็นการประชด เขาพูดเองนะครับ ว่าบางทีเขาก็เผาเพื่อประชด เพราะว่าเขาทำดีไปไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครชื่นชม และยังถูกจับอีก ถูกกล่าวหาอีก อย่างนี้เป็นต้นนะครับ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนด้วยว่าเรื่องความดีนั้น เราควรพยายามค้นหา พยายามชื่นชม พยายามเรียนรู้และพัฒนา พยายามสื่อสาร จึงจะเป็นผลดีและเกิดประโยชน์

คราวนี้ก็มาถึง บันไดขั้นที่ 4 คือ การขับเคลื่อนความดี ความดีเป็นทุน ความดีเป็นประโยชน์ ความดีเป็นเครื่องมือ เป็นปัจจัย ถ้าขับเคลื่อนให้เคลื่อนไหว ให้เชื่อมโยง ให้ประสาน ให้เกิดพลัง ถ้าไม่ทำลึก ก็ทำกว้าง ความดีจะงอกเงย มีพลังมากขึ้น เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในระยะหลังๆ ที่ผมกล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่าได้มีขบวนการความดีมากขึ้น องค์กรที่ผมกล่าวถึงเมื่อตอนต้น คือ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรม เป็นองค์กรหรือองค์การของรัฐ เป็นองค์การย่อยอยู่ในองค์การมหาชน ที่ชื่อว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร. เป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีองค์การย่อยซึ่งเคยมีอยู่ 7 องค์การย่อย แต่ปัจจุบันได้มีการควบรวมเหลือ 5 องค์การย่อย

ศูนย์คุณธรรมเป็นหนึ่งใน 5 องค์การย่อยนั้น ซึ่งได้ใช้กระบวนการขับเคลื่อนความดี ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาที่เรียกว่าสมัชชาในระดับพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับพื้นที่ที่เป็นจังหวัด และหลายๆจังหวัดก็มาร่วมกันจัดสมัชชาระดับภาค แล้วปีหนึ่งก็มาจัดสมัชชาระดับชาติ ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 2550 สมัยรัฐบาลปัจจุบัน ใช้หัวข้อว่า “ถึงเวลาคุณธรรมนำสังคมไทย” ผลการจัดสมัชชา ทำให้ได้ข้อสรุปซึ่งนำเสนอต่อรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกันสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้หยิบยกเรื่องคุณธรรมความดีขึ้นมา แล้วมีข้อเสนอมาที่รัฐบาล รัฐบาลก็ดำเนินการตามข้อเสนอ ซึ่งรวมถึงการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ดีร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่สามารถจะผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้นไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ ยังวนเวียนอยู่ในระดับของรัฐบาล แต่ก็ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องการขับเคลื่อนคุณธรรมด้วยการส่งเสริมให้มีสมัชชาในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ ได้ทำมาปีนี้เป็นปีที่ 3 นะครับ ได้ทำมาจนกระทั่งถึงขั้นที่จะจัดสมัชชาระดับชาติ ในปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังอยู่ในสมัยรัฐบาลนี้นะครับ เว้นแต่รัฐบาลใหม่ตั้งได้รวดเร็วมาก จนกระทั่งรัฐบาลนี้ต้องพ้นหน้าที่ไปก่อนปลายเดือนมกราคม แต่เรื่องรัฐบาลนี้รัฐบาลหน้าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการขับเคลื่อนความดี ในลักษณะที่เป็นขบวนการ คือไม่ได้ทำกันเรื่องเดียวหรือจุดเดียว ถ้าจัดสมัชชาระดับพื้นที่ หรือท้องถิ่น หรือจังหวัด แปลว่าคนที่นั่นเขามาพบปะพูดคุยกันว่า เรื่องคุณธรรมความดีนั้นเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วแค่ไหน ยังไม่มีแค่ไหน หรือมีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง แล้วเราควรจะทำอะไรอีก เพื่อให้พื้นที่ของเรา ท้องถิ่นของเรา จังหวัดของเรา ดีขึ้น มีคุณธรรม มีความดีมากขึ้น นำไปสู่ชุมชนและสังคมที่ดีขึ้น

ชุมชนและสังคมที่ดีขึ้น จะเป็นชุมชนและสังคมที่มีความสุขด้วย ซึ่งสามารถจำแนกต่อไปได้ว่าความสุขมีอะไรบ้าง ความสุขทางร่างกาย สุขภาพดี ความสุขทางจิตใจ มีจิตใจเป็นปกติสุข ความสุขทางสังคม หมายถึงอยู่ร่วมกันแล้วเป็นปกติสุข มีสันติสุข ความสุขที่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีปัจจัย 4 เพียงพอ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ความสุขที่ได้พัฒนาสติปัญญาผ่านการศึกษา ความสุขที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความสุขที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ความสุขที่ระบบการเมืองการปกครองเอื้ออำนวยให้สิทธิเสรีภาพ ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง ก็แล้วแต่จะจำแนกไปว่าความสุขมีอะไรบ้างนะครับ จะเรียกว่าความสุขมวลรวม หรือ Gross Happiness ก็ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีขบวนการระดับประเทศที่เขาเรียกว่า GNH หรือ Gross National Happiness ที่จะมาแทนหรือเสริม GNP หรือ GDP คือ Gross National Product หรือ Gross Domestic Product พอดีเห็นหน้าคุณสมชาย กรุสวนสมบัติ ท่านเคยเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ซึ่งทำเรื่องรายได้ประชาชาติ ทำเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ประชาชนต้องการถูกไหมครับ ดังคำกล่าวสมัยคุณสมชายยังอยู่ที่สภาพัฒน์ฯว่า พัฒนามา 7 แผนหรือแผน 1-7 ได้ผลคือเศรษฐกิจดีแต่สังคมมีปัญหาและการพัฒนาไม่ยั่งยืน ฉะนั้นแผน 8 จึงหันมาเน้นการพัฒนาคนและสังคม แผน 9 ยังคงเน้นการพัฒนาคนและสังคมโดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง แผน 10 เจริญรอยตามแผน 8 และ 9 โดยตอกย้ำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่ง และมีเป้าหมายสูงสุดหรือวิสัยทัศน์การพัฒนาว่า “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งการพัฒนาประเทศให้เกิดความสุขจะต้องรวมถึงการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย เช่น วันนี้เราพูดถึงเรื่องโลกร้อน โดยจะต้องพัฒนาสังคมให้อยู่ได้ในโลกโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าทำลายไปแล้วจะกลับมาเป็นมหันตภัยกับประชาชนกับมนุษย์

(ยังมีต่อ)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157162

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *