การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 2)

การส่งเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับไทย (ตอนที่ 2)


ฉะนั้นในการขับเคลื่อนความดี วิธีหนึ่ง คือการจัดสมัชชาเพื่อจะดูเรื่องความดี เรื่องคุณธรรมเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วอย่างไร ยังไม่มีอะไร ควรจะและไม่ควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดคุณธรรมความดี และนำไปสู่การมีชีวิต มีชุมชน มีสังคมที่ดี ที่มีความความสุขแบบหลายๆ มิติ แบบหลายๆอย่าง ที่จะเรียกว่าแบบบูรณาการก็ได้ คำว่า ความสุขนี้บ้างครั้งเราเรียกว่าสุขภาวะ คือภาวะที่เป็นสุข ภาษาอังกฤษคือ Health หรือสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย สุขภาพทางกาย ทางใจ ทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ และทางสังคม การจัดสมัชชาเช่นนี้จะเกิดเป็นขบวนการขึ้นในระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค แล้วขึ้นมาระดับชาติ

ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็น ในระบบการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ใช้แนวคิดและยุทธศาสตร์ ที่ใช้คำว่าคุณธรรมนำความรู้ ใช่ไหมครับ แล้วก็ส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาต่างๆ โรงเรียนหลายแห่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ หรือวิถีธรรม ซึ่งมีดีกรีหรือความเข้มต่างๆกัน โรงเรียนไทยรัฐหลายแห่งก็เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนไทยรัฐบางแห่งเหมือนกัน โดยที่ไม่ได้จงใจจะไปโรงเรียนไทยรัฐ แต่ว่าไปโรงเรียนที่ดีบังเอิญเป็นโรงเรียนไทยรัฐ ก็ถือว่าโรงเรียนไทยรัฐ เป็นโรงเรียนอยู่ในกลุ่มที่ดีหลายแห่ง นี่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ใช้เรื่องคุณธรรมนำความรู้ โดยทำให้เป็นระบบ เป็นขบวนการ มีการขับเคลื่อนให้เกิดพลังขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าอีกเรื่องหนึ่งเป็นขบวนการแค่ไหนที่มีข้อความว่าคุณธรรมนำไทย เอาเป็นว่าถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่ง ที่จะให้เรื่องคุณธรรมเรื่องความดี ไปเป็นกำลังขับเคลื่อนในสังคม

ดังนั้นบันไดขั้นที่ 4 ที่เป็นการขับเคลื่อนความดี จึงรวมถึงขบวนการหลายๆอย่างที่กล่าวมา ที่จะให้ความดีเป็นขบวนการ ไม่ใช่เป็นแค่อุดมการณ์ หรือเป็นแค่จินตนาการที่อยากมีความดี แต่ทุกวันนี้เรามักพูดถึงเรื่องความเลว แล้วเราก็ได้แต่บ่นว่า ไอ้นั่นไม่ดี ไอ้นี่ไม่ดี แต่ถ้าเราให้เรื่องความดีเป็นขบวนการ แปลว่าเราคิดเรื่องความดี เราทำเรื่องความดี แล้วเราพยายามเชื่อมต่อ เชื่อมประสานกันให้เกิดเป็นขบวนการ ตั้งแต่ระดับย่อยไปถึงระดับใหญ่ เริ่มจากระดับตัวเอง ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร ซึ่งไทยรัฐเป็นองค์กร ระดับสถาบัน เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา สำหรับระดับชุมชน หรือท้องถิ่น อาจจะเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นเขตเทศบาล หรือใหญ่ขึ้นไปเป็นพื้นที่ระดับจังหวัด ทั้งหมดนี้ควรทำให้เป็นขบวนการ ขบวนการอาจจะเป็นแบบทำทุกเรื่องในพื้นที่เดียวกัน อย่างนี้เราเรียกว่าขบวนการเชิงพื้นที่ หรืออาจเป็นขบวนการเชิงประเด็น เช่นเป็นขบวนการเรื่องความซื่อสัตย์ ขบวนการเรื่องความสามัคคี ขบวนการเรื่องความกตัญญู ก็สามารถจะสร้างเป็นขบวนการได้

อย่างไรก็ดีในเรื่องสร้างขบวนการนี้ ถ้าจะคิดให้ละเอียด ให้ลึก ให้กว้าง คงมีประเด็นอีกมิใช่น้อย ที่จะทำให้ขบวนการนี้เกิดผลสำเร็จได้จริง เกิดพลังได้จริง ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าจะทำให้ขบวนการความดีมีพลังอย่างเต็มที่ ควรจะต้องมองปัจจัยสำคัญๆ ที่มีผลต่อการมีความดีต่อการมีคุณธรรมด้วย 

ปัจจัยสำคัญข้อที่ 1 ซึ่งผมเองเห็นว่าสำคัญมาก คือ โครงสร้างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการปกครองหรือโครงสร้างทางสังคมที่มีสถาบันต่างๆ โครงสร้างนี้มีผลอย่างสำคัญต่อเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม แต่บางครั้งเราชินอยู่กับโครงสร้าง เราก็รับผลของโครงสร้าง เช่น โครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ทำให้เกิดอำนาจที่ส่วนกลาง แล้วเกิดช่องทางที่จะทำสิ่งที่ใช้อำนาจ ซึ่งโยงกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ กลายเป็นเรื่องทุจริตคอรัปชันต่อกันเป็นทอดๆ ถ้าถามว่าทำไมประเทศไทยมีการทุจริตกันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมนี่เอง ฉะนั้นเรื่องโครงสร้างในสังคม รวมถึงระบบต่างๆที่ประกอบกันเป็นโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 2 คือ นโยบาย ได้แก่ นโยบายของรัฐ นโยบายของหน่วยงาน นโยบายระดับจังหวัด นโยบายระดับเทศบาล นโยบายที่ออกมาในรูปของกฎหมาย กติกาต่างๆ เหล่านี้จะมีผลอย่างสำคัญต่อเรื่องคุณธรรมความดี นโยบายที่ดีและเหมาะสม จะช่วยกระตุ้นหรือเอื้ออำนวยต่อการทำความดี ตรงกันข้าม นโยบายที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม จะเพาะเชื้อความไม่ดีและนำไปสู่การทำสิ่งที่ไม่ดี

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 3 เป็นเรื่องของวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่สั่งสมมานับ สิบๆปี หรือเป็นร้อยๆปี วัฒนธรรมไทยชนิดหนึ่งที่กล่าวขวัญกันมากว่ามีทั้งคุณ และมีทั้งโทษ คือ วัฒนธรรมอุปถัมภ์นิยม เรานิยมการอุปถัมภ์ เรามีผู้ใหญ่ เรามีผู้น้อย เรามีผู้ให้ เรามีผู้รับ ในแง่หนึ่งเป็นข้อดีครับ เป็นความเมตตา กรุณา เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล แต่พร้อมกันนั้นก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจบารมีที่ไม่เท่ากัน ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ เกิดการเอาประโยชน์ เกิดการใช้ระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ หรือเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องที่ไม่สุจริต หรือไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม นั่นคือเอื้อต่อการทำสิ่งที่ไม่ดีบางประการ หรือหลายประการ ฉะนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อการทำความดีหรือไม่ดี แต่วัฒนธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยเร็ว วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สร้างสม ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องค่อยๆเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนโดยประชาชนนั้นเอง จะไปบังคับไม่ได้ เช่นในอดีตเคยมีผู้บริหารประเทศพยายามจะบังคับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับ สิ่งใดที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วไปบังคับให้ทำก็จะมีปฏิกิริยาเสมอ และอาจจะย้อนกลับมาเป็นอย่างเดิม

ปัจจัยสำคัญ ข้อที่ 4 ได้แก่ ความสามารถในการจัดการ เรื่องนี้สำคัญมาก เราอาจจะมีความคิด มีระบบ มีขบวนการต่างๆ แต่ในการดำเนินการอะไรนั้น เรื่องการจัดการสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการมาตรการ การจัดการองค์กร การจัดการระดับพื้นที่ เช่น ตำบล เทศบาล การจัดการระดับจังหวัด และท้ายสุดคือการจัดการระดับประเทศ ที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในรัฐบาล ก็ได้เห็นมิติของการจัดการในระดับรัฐ ทำให้ผมมีข้อคิดหลายๆอย่าง ในเรื่องการจัดการของรัฐ แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลนี้มาอยู่เพียงช่วงสั้น ผมเองก็มีหน้าที่จำกัด ฉะนั้นจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรมากคงไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้หรือควรทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการโดยเฉพาะของรัฐ ต้องใช้เวลา

อย่างก็ตาม การจัดการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆได้สำเร็จ หรือทำให้เกิดผลในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับที่การจัดการช่วยให้ธุรกิจ เช่น ไทยรัฐ เป็นต้น เจริญเติบโต ยิ่งใหญ่ได้ แต่ใช้เวลาใช่ไหมครับ และต้องใช้ความสามารถในการจัดการสูง ในระบบการเมืองการปกครองก็ต้องใช้การจัดการเป็นอันมาก ฉะนั้นการจัดการจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมความดี

สำหรับการขับเคลื่อนความดีในระดับท้องถิ่น ในระดับหมู่บ้านหรือตำบล มักจะรวมอยู่หรือบูรณาการอยู่ ในระบบหรือกระบวนการของการพัฒนาท้องถิ่นหรือการพัฒนาชุมชน ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นคนคิดเป็นคนทำ ซึ่งได้พบว่าชาวบ้านมีความสามารถสูงที่จะคิดที่จะทำ รวมถึงที่จะจัดการตนเอง ให้ดีขึ้นๆและทำกันได้มากขึ้นๆเป็นลำดับ เกิดเป็นขบวนการที่รวมถึงการจัดประชุม สัมมนา สมัชชา และอื่นๆ ขยายวงมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนคุณธรรมความดี บูรณาการกันไปหมดนะครับ ซึ่งแสดงว่าเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แยกออกจากเรื่องอื่นๆของชีวิตและของชุมชนหรือสังคม แต่เป็นเนื้อในของเรื่องต่างๆ เป็นเนื้อในของเรื่องโดยรวมของชีวิต ของชุมชน ของสังคม รวมถึงขององค์กรและสถาบัน เช่นหนังสือพิมพ์และโรงเรียน ความดีเป็นเนื้อในอยู่ในหลาย ๆ ด้าน ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชุมชน สังคม องค์กร และสถาบันต่างๆ

ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้พูดมาพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคม ซึ่งผมขอใช้คำง่าย ๆ ว่าเป็นการเสริมสร้างความดีในสังคม โดยใช้แนวคิดหลัก ได้แก่ บันไดวน 4 ขั้น ที่ใช้คำว่าบันไดวน เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้จบ ไม่ใช่ว่าหนึ่งแล้วต้องไปสอง สองแล้วต้องไปสาม สามแล้วต้องไปสี่ แล้วจบ แต่วนไปเรื่อยๆครับ และวนแบบไม่ต้องตามลำดับเสมอไป อาจจะวนแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ หรือหนึ่ง สอง สี่ สาม หรือสอง หนึ่ง สาม สี่ สำคัญที่ว่าเป็นการส่งเสริมความดีที่วนขึ้นไปเรื่อยๆ วนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ทำได้ดีขึ้นๆ ขยายวงมากขึ้นๆ เป็นขบวนการใหญ่ขึ้นๆ

ผมยังมีความเชื่อมั่นว่าในสังคมไทยมีความดีอยู่เป็นอันมาก คนไทยหรือมนุษย์ทุกคนครับ มีความดีอยู่เป็นหลัก ความไม่ดีเป็นรอง ถ้าคิดอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้ แล้วค้นหาความดีอยู่เสมอ เรียนรู้ความดีอยู่เสมอ สื่อสารความดีอยู่เสมอ ขับเคลื่อนความดีอยู่เสมอ ผมก็มั่นใจว่า ชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นได้ ชุมชนดีขึ้นได้ องค์กรและสถาบันดีขึ้นได้ สังคมหรือประเทศดีขึ้นได้ รวมถึงมนุษยชาติก็จะดีขึ้นได้ ด้วยการเอาความดีเป็นหลัก เอาความดีเป็นแกน เอาความดีเป็นเครื่องมือ และความดีเป็นเป้าหมาย

สุดท้ายนี้ ผมขอเอาใจช่วยท่านทั้งหลายที่มีภารกิจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสถาบันการศึกษา การบริหารองค์กร การบริหารครอบครัว และรวมถึงการบริหารตนเองด้วยนะครับ ให้ท่านสามารถใช้ความดีที่มีอยู่ในตัวท่าน ในองค์กรของท่าน ในหน่วยงานของท่าน ในชุมชนที่ท่านอยู่ แล้วก็ขยายวง จับมือ เชื่อมโยงความดีทั้งหลาย ขับเคลื่อนเป็นขบวนการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ชีวิต องค์กร สถาบัน ชุมชน และสังคม ที่ดีขึ้นๆ เป็นลำดับ บังเกิดเป็นทั้งความสุข ความพอใจ ความเจริญรุ่งเรืองของท่านทั้งหลาย พร้อมๆ กับความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรืองของส่วนรวม ขอบคุณครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/166102

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *