การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม


(ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม” ลงในจุลสารออมสิน ฉบับเดือนเมษายน 50 หน้าที่ 12)

ปาฐกถาพิเศษ

เรื่อง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม

โดย นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

รองนายกรัฐมนตรีและ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2550

ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

———————————-

ท่านประธานกรรมการธนาคารออมสิน ท่านกรรมการธนาคารออมสิน ท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และเพื่อนพนักงานชาวธนาคารออมสินที่รักทุกคนครับ

มาวันนี้ผมมีความรู้สึกที่สำคัญ 2 อย่าง อย่างแรกคือรู้สึกมีความสุขครับ ที่นี่คุ้นเคยได้อยู่ประมาณ 3 ปี แต่เผลอแป๊ป เดียวครับเกือบ 7 ปีแล้ว ที่ผมได้อำลาจากที่นี่ไป ก่อนเวลาที่จำเป็นนิดหน่อย ความรู้สึกที่ 2 คือ ชื่นชม ชื่นชมความริเริ่มและความพยายามของท่านผู้อำนวยการ คณะกรรมการ และพนักงานธนาคารออมสิน ในอันที่จะสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งก็คือธนาคารออมสินนั่นเอง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ในความเห็นของผมไม่ใช่เรื่องยาก คำว่าคุณธรรมจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่บางทีคนไปตีความให้ยากไปเอง ง่าย ๆ คุณธรรมจริยธรรมมี 3 อย่างที่สำคัญ

อย่างที่ 1 คือ ความดี ความดีใคร ๆ ก็รู้นะครับ เกิดมาเรารู้กันโดยธรรมชาติ ของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ในครอบครัว เราจะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรอะไรไม่ควร ถ้าเราทำสิ่งที่ดีทำสิ่งที่ควร เรียกว่าทำความดี ไม่เชื่อลองถามทุกคนดูสิครับ ความดีคืออะไร ทุกคนตอบได้ ทำอะไรไม่ดีก็รู้ตัวนะครับ ไม่ต้องให้ใครมาบอก เป็นส่วนใหญ่ เอาอย่างนี้แล้วกันนะครับ อาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเป็นส่วนใหญ่ โดยหลักใหญ่แล้วรู้ว่าอะไรดีไม่ดี ที่เราใช้คำว่า รู้ผิดชอบชั่วดี นั่นคือความดี

ส่วนที่ 2 ความถูกต้อง ความถูกต้องเป็นเรื่องที่ คล้าย ๆ กับศีล มีข้อห้าม มีข้อต้องทำ มีทั้งความถูกต้องตามกฎหมาย ในเมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคม มีกฎหมายซึ่งเป็นข้อตกลงของสังคมนั่นเองนะครับ ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ความถูกต้องในเชิงจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นข้อตกลงการปฏิบัติภายในองค์กร ว่าสิ่งนี้ต้องทำ สิ่งนี้ต้องละเว้น การทุจริต คดโกงลักขโมย เราก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องไม่ทำ ต้องละเว้น  เรามีกรณีของพนักงานที่ประพฤติไม่ชอบอยู่เนือง ๆ ในแทบทุกองค์กรนะครับ ก็รวมทั้งธนาคารออมสิน นี่เราต้องยอมรับ คือในคน 100 คน ก็จะมีคนที่ไม่ดีอยู่ หรือไม่ใช่คนไม่ดีนะครับ แต่เป็นคนซึ่งได้ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาอาจจะเป็นคนดีเป็นส่วนใหญ่ แต่มีจุดอ่อนหรือมีสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็รู้กันอยู่ ฉะนั้น ความสุจริต ความทุจริต หรือความถูกต้องความไม่ถูกต้อง การปฏิบัติตามกฎหมายตามข้อบังคับตามจรรยาบรรณที่กำหนดไว้เราเรียกว่าความถูกต้อง รับผลประโยชน์มาจากลูกค้าเงินกู้ เพื่อจะได้ผ่านเงินกู้ให้โดยไม่ถูกกติกา อย่างนี้เป็นต้น ก็คือความไม่ถูกต้อง ฉะนั้นความถูกต้องเป็นส่วนที่ 2 ของคำว่าคุณธรรมจริยธรรม

ส่วนที่ 3 คือ ความเป็นธรรม ความเป็นธรรมอยู่ระหว่างความดีกับความถูกต้อง ความเป็นธรรมคือความเสมอภาค ความเท่าเทียม ธนาคารออมสิน ต้องดูแลลูกค้าอย่างเท่าเทียม อย่างเสมอภาค ไม่ใช่ว่าถ้าลูกค้ารายใหญ่ก็ให้ประโยชน์เยอะหน่อย ถ้าลูกค้ารายย่อยก็ให้น้อยหน่อย คำว่ามากหรือน้อยนั่นก็เป็นเรื่องของตัวเลข แต่มากหรือน้อยในความหมายที่ว่าถ้าให้มากแปลว่าไม่เป็นธรรม คือไม่เสมอภาค แต่การที่จะมีกติกาเรื่องอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มีจำนวนมากและมีเหตุมีผล ถ้าเป็นกติกาเป็นที่รู้กันทั่วไป อย่างนั้นถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าเผื่อว่าลูกค้ารายใหญ่มา เราก็ดูแลอย่างดี โอ้โลมปฏิโลม ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากกว่าที่ควรจะได้ แต่ถ้าเป็นรายย่อยมาก็ไม่ค่อยได้สนใจ หรือไม่พยายามที่จะให้เขาได้รับประโยชน์ที่พึงได้ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม

ฉะนั้นรวม 3 สิ่ง ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ก็คือความหมายของคำว่า คุณธรรม จริยธรรม ที่จริงเราจะตีความหมายต่าง ๆ นานา ก็ย่อมได้นะครับ แต่ถือว่าเป็นความเห็นของผมว่า มองง่าย ๆ แล้วกัน ว่าคุณธรรมจริยธรรมก็คือ 1. ความดี 2. ความถูกต้อง 3. ความเป็นธรรม เพื่อจะได้เห็นชัดและนำไปปฏิบัติได้ นี่คือส่วนสำคัญนะครับ หลักการ ปรัชญา ถ้าเรานำมาปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร คุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักการ เป็นหลักคิด จะเรียกว่าเป็นปรัชญา เป็นธรรมะ ก็ได้นะครับ แต่เราต้องแปลมาเป็นปฏิบัติให้ได้ ผมจึงคิดว่าถ้าแปลอย่างที่ผมว่ามานะครับ คือ ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม น่าจะปฏิบัติได้ไม่ยาก

ขั้นต่อไปก็คือแล้วจะปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้จะว่ายากก็ยาก แต่จะว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่ายากก็คือองค์กรทั้งหลาย มักจะทำแล้วไม่ค่อยได้ผล หรือได้ผลน้อยกว่าที่ควร นั่นคือมันยาก แต่ถ้ามองอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ยาก และที่จะเสนอแนะก็คือวิธีปฏิบัติที่ผมเชื่อว่าไม่ยาก วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือผู้บริหาร ถ้าเจาะลงไปก็ต้องเป็นท่านผู้อำนวยการ เพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ถ้าในประเทศเราต้องยกให้ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในเชิงการปกครอง ในจังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตำบลก็มีนายก อบต. เป็นต้นนะครับ ผู้บริหารสูงสุดสำคัญที่สุด ที่จะพาองค์กรไปทางใดทางหนึ่ง ถัดจากผู้บริหารสูงสุด ผมคิดว่าคือคณะกรรมการ คณะกรรมการเป็นกลไกการกำกับดูแลองค์กรที่สำคัญที่สุดในองค์กร เพราะเป็นคณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากสังคม ผมใช้คำว่าจากสังคมนะครับ ผ่านรัฐบาล ที่ว่าจากสังคมก็เพราะว่าธนาคารออมสินก็เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย เจ้าของคือสังคม ไม่ใช่รัฐบาลครับ สังคมเป็นเจ้าของ สังคมก็อาศัยกลไกของรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการ มาดูแล มากำกับ มาให้ทิศทาง ฉะนั้นคณะกรรมการจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดรองจากผู้อำนวยการ ผมยังให้น้ำหนักกับผู้อำนวยการเป็นอันดับหนึ่งนะครับ เพราะว่าท่านอยู่ทุกวันทำงาน แต่ในความเป็นจริงท่านก็อยู่ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ในความคิดจิตใจผมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ท่านเดินทางไปต่างประเทศก็ยังเขียนจดหมายถึงพนักงานรวมเป็นเล่มขายได้อีก คณะกรรมการประชุมกันอาจจะเดือนละครั้ง แต่มีคณะอนุกรรมการย่อย ๆ ก็ทำงานมาก แต่ที่สำคัญก็คือว่าเป็นกลไกที่กำหนดทิศทางกำหนดนโยบายกำหนดหลักการสำคัญ ๆ ถ้า    2 กลไกนี้ครับ คือระหว่างผู้อำนวยการกับคณะกรรมการ เข้าใจ เห็นความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนา     คุณธรรมจริยธรรม ต่อไปเป็นเรื่องไม่ยาก การที่ผู้อำนวยการก็ดี คณะกรรมการก็ดี จะเห็นความสำคัญ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของธนาคารออมสิน ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากใช่ไหมครับ เพราะคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องยากอยู่แล้วที่จะเข้าใจ การมีความมุ่งมั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากครับเพราะเป็นหน้าที่ของท่านอยู่แล้ว ถ้าเผื่อสองจุดนี้ มีความมุ่งมั่น จุดต่อไปก็จะง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดโดยอัตโนมัตินะครับ ก็ต้องใช้ความพยายามอีกเหมือนกัน

เมื่อคณะกรรมการและผู้อำนวยการมีนโยบายชัดเจน และเป็นผู้นำทางความคิด ทางการจัดการ มีการให้ทิศทางและสนับสนุนด้วยงบประมาณตามสมควร สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ บรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผู้บริหารหน่วยงาน เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานสูงสุดและผู้บริหารรอง ๆ ลงไป ที่นี่ก็คงจะเป็นฝ่าย เป็นสำนัก เป็นภาค เป็นสาขา ไล่เรียงลงไป ผู้บริหารหรือคณะผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน ก็ชอบที่จะนำนโยบายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปประยุกต์ใช้ไปปฏิบัติ

แต่ตรงนี้เป็นศิลปะที่ผมมักจะแนะนำเสมอนะครับ คือแนะนำว่า ไม่ใช่คณะกรรมการและ ผู้อำนวยการผลิตหนังสือที่เรียกว่าจรรยาบรรณ แล้วก็ส่งไป แล้วบอกว่าจงปฏิบัติตามนี้ แล้วหวังว่าจะเกิดขึ้น  ไม่พอ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดขึ้นก็คือ เปิดโอกาสและส่งเสริม สนับสนุนด้วยนโยบาย และด้วยงบประมาณตามสมควรให้แต่ละหน่วยงานได้ไปคิดเองทำเอง ไม่ต้องไปบอก เพราะผมคิดว่าอะไรคือความดี อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความเป็นธรรม แต่ละหน่วยงาน ผู้บริหารหน่วยงาน พนักงานในหน่วยงาน คิดได้  และควรเป็นคนคิด คิดแล้วมาทำความตกลงกันภายในหน่วยงานแล้วทำตามนั้น เมื่อทำไปก็สร้างระบบติดตามประเมินผลตามไปด้วย ติดตามประเมินผลได้อย่างไร นำมาเรียนรู้และจัดการความรู้ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่ภาษาเทคนิคอาจจะใช้คำว่า After Action Review  AAR ก็เป็นคำที่ใช้กันนะครับ พัฒนามาจากวิธีการของกองทัพอเมริกัน เมื่อทำสงครามกับที่ต่าง ๆ เขาก็ใช้เทคนิคที่เรียกว่า AAR  แล้วธุรกิจก็ได้นำไปประยุกต์ใช้กันมาก โดยเฉพาะในกระบวนการที่เรียกว่า การจัดการความรู้ ก็คือ ทำไปแล้วเรียนรู้จากการกระทำ ไม่ใช่ทำแล้วก็ทำไป แล้วพรุ่งนี้ก็ทำอีกโดยไม่เรียนรู้จากเมื่อวาน ถ้านำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมาคิดเองทำเอง ทำไปแล้วติดตามประเมินผลแล้วเรียนรู้จากที่เราทำ นั่นเรียกว่า AAR เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าการจัดการความรู้

คำว่าจัดการความรู้จะมากกว่านั้น คือนำสิ่งที่ทำ มาพินิจพิจารณา ให้คนที่ทำนั้นเอง มาพินิจพิจารณา แล้วเรียนรู้จากที่ทำ ประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็นความรู้ บันทึกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ หน่วยงานอื่น ๆ ในแต่ละฝ่ายมีหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็ไปประยุกต์การสร้างคุณธรรมจริยธรรมตามที่ได้ไปคิดเองทำเอง แล้วหลาย ๆ หน่วยงานนอกจากจะเรียนรู้จากสิ่งที่ตนทำแล้ว ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยมีระบบที่มานั่งคุยกัน ล้อมวงคุยกัน เอาข้อมูล เอาการปฏิบัติจริงมาพูดกัน แล้วให้คนที่ทำนั่นแหละมาพูด ไม่ต้องเอาวิทยากรที่ไหนมาพูด ถ้ามีวิทยากร ก็มาเป็นผู้เอื้ออำนวย ที่เราเรียกว่าคุณอำนวย ภาษาอังกฤษคือ Facilitator   เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการวิเคราะห์สังเคราะห์จัดระบบความคิด มีการบันทึกเป็นระบบข้อมูลไว้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป พูดถึงการบันทึกและการทำระบบข้อมูล

ผมเพิ่งไปจังหวัดสระแก้วเมื่อวันศุกร์นี้เอง ก็ประทับใจมาก ที่มีชาวบ้านในหมู่บ้านนะครับ มีระบบข้อมูลและระบบความรู้ น่าประทับใจมาก เขานำข้อมูลต่าง ๆ ความรู้ต่าง ๆ บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็มาฉายดูกันเป็นระยะ ๆ แล้วใช้คอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ ผู้ใหญ่บ้านมานำเสนอเป็น Power Point ซึ่งทำเอง และทำได้ดีกว่าผมอีก แล้วได้ใช้ความรู้ที่เขามีใส่คอมพิวเตอร์ไว้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรม แล้วหมู่บ้านเขามีการพัฒนาน่าชื่นชม เขาพัฒนามาประมาณ 5 ปี โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ผมลาออกจากออมสินไปเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้บริหารเต็มเวลา แล้วระบบข้อมูลและความรู้ที่หมู่บ้านนี้ได้ขยายไปหมู่บ้านอื่น ๆ หลายหมู่บ้านในตำบล และหลายตำบลในจังหวัดสระแก้ว ผมเองได้ใช้ความพยายามที่จะส่งเสริมระบบข้อมูลและความรู้ขึ้นทั่วทุกท้องถิ่น จะเป็นประโยชน์มหาศาล

นี่ก็เล่าให้ฟัง ให้เห็นว่าเรื่องการใช้ข้อมูลและความรู้ให้เป็นประโยชน์นั้น ชาวบ้านทำแล้วนะครับ ทำแล้วก้าวหน้าด้วย ฉะนั้นออมสินไม่ควรจะน้อยหน้ากว่าชาวบ้าน ที่จะมีระบบข้อมูลและความรู้ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ ถ้าใช้ระบบข้อมูล ระบบความรู้ แล้วมีการจัดการความรู้ภายในหน่วยงานย่อย ระหว่างหน่วยงานย่อย ภายในหน่วยงานใหญ่ ระหว่างหน่วยงานใหญ่ และต่อไปครับ ภายในธนาคารออมสิน และระหว่างธนาคารออมสินกับองค์การอื่น ๆ อาจจะเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน หรือจะเป็นหน่วยงานประเภทกระทรวง กรม ต่าง ๆ ผมได้เริ่มต้นที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ หลังจากเข้าไปเป็นรัฐมนตรีนะครับ ก็มีโครงการที่เรียกว่า ราชการไทยใสสะอาด ทำกันมาหลายปีแล้วครับ แต่ไปดูจริง ๆ ก็ยังงั้น ๆ แหละ เพราะว่ามีนโยบายบอกไว้ให้ทำ เขาก็ทำ จุดอ่อนที่ผมค้นพบก็คือว่า ไม่ได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการเขาได้คิดเองทำเอง แล้วก็นำเอาสิ่งที่คิดแล้วทำแล้วมาเรียนรู้ แล้วมีการจัดการความรู้ ผมก็เลยไปส่งเสริมให้เขาสร้างระบบจัดการความรู้ขึ้นมา ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือ สคส. ที่มีคุณหมอวิจารณ์ พานิช เป็นผู้อำนวยการ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เป็นรองผู้อำนวยการ ที่ได้เคยขอความร่วมมือให้มาช่วยจัดการจัดการความรู้ให้กับเครือข่ายครูที่จังหวัดสมุทรปราการ ท่านที่เกี่ยวข้องคงจะทราบ และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเครือข่ายครูจังหวัดสมุทรปราการก็มีการประชุมใหญ่ เขาขอให้ผมไปพูดเปิด เพราะว่าผมเคยไปพูดให้เขาหนหนึ่ง และขณะนี้เรื่องของครู การแก้หนี้ครูการพัฒนาชีวิตครูก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา เป็นเรื่องที่ผมชื่นชมยินดีอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากที่เริ่มต้นเมื่อปี 2543 แล้วก็พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งสามารถพัฒนาชีวิตครูหรือว่าช่วยครูที่เข้าโครงการ ไม่ทราบเดี๋ยวนี้เท่าไรแล้ว หกหมื่น เจ็ดหมื่นคน ใช้เงินไปห้าหกหมื่นล้าน แต่ว่ายอดคงเหลือเข้าใจว่าสี่หมื่นกว่าล้านบาท เงินไม่ใช่น้อยนะครับ ที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการไปเพื่อพัฒนาชีวิตครู ก็เป็นโครงการที่ควรอย่างยิ่งจะต้องมีระบบการเรียนรู้และจัดการความรู้ ที่ผมได้พยายาม พยายาม จนกระทั่งในที่สุดก็กำลังดำเนินการอยู่ การเรียนรู้และการจัดการความรู้จะช่วยโครงการพัฒนาชีวิตครูอย่างยิ่งเลยครับ

เช่นเดียวกัน โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในธนาคารออมสินจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากกระบวนการจัดการความรู้ ผมมั่นใจเลยครับ ผสมกับที่เปิดโอกาสและสนับสนุนให้พนักงานในกลุ่มต่าง ๆ ในองค์กรย่อย ในหน่วยงานย่อยได้คิดเองทำเอง อย่าไปบอกว่าที่ดีเป็นอย่างไร ให้เขาคิดเองทำเอง แล้วมาเรียนรู้กันเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ผมมีความมั่นใจครับว่าธนาคารออมสินจะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเป็นจริง และอย่างมีคุณภาพ และจะเป็นองค์การชั้นนำ ที่จะมีผลต่อการขยาย หรือสร้างเครือข่ายองค์การแห่งคุณธรรมจริยธรรมในภาครัฐ สามารถต่อไปถึงภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ผมก็ได้ประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์กรภาคธุรกิจนะครับ ให้เขามีสถาบัน CSR Corporate Social Responsibility  ได้ทราบมาว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯได้อนุมันติแล้ว จะเปิดตัวปลายเดือนเมษายน โดยที่เป็นความร่วมมือภายในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์การธุรกิจอื่น ๆ เป็นต้นว่า หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาตลาดทุนแห่งประเทศไทย เป็นต้น นั่นคือเรื่องความดีนั่นเอง ในภาคธุรกิจคำว่า Corporate Social Responsibility ผมเสนอให้เขาใช้คำว่า เป็นสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมก็คือธุรกิจที่คำนึงถึงสังคม และเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เป็นการต่างตอบแทนระหว่างธุรกิจกับสังคม ธุรกิจทำประโยชน์ให้สังคม สังคมก็ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่า ธนาคารออมสินยังคงดำเนินการตามหลัก 3 ประสานที่ ผู้ประกาศได้กล่าวถึง ที่ว่าสังคมได้ประโยชน์ ธนาคารเจริญ พนักงานเป็นสุข

ผมเชื่อว่าเวลาที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นว่าธนาคารออมสินได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ชัดเจน แล้วธนาคารออมสินก็มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับนะครับ ที่ผมไม่อาจบอกได้ก็คือข้อสุดท้าย เพราะว่าไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ความเป็นสุขนี่วัดได้นะครับ ผมอยากจะแนะด้วยซ้ำไปว่า ให้ลองสร้างตัวชี้วัดความสุขขึ้นมา พวกเราก็คงได้ยินเรื่อง GNH Growth National  Happiness  เป็นระบบคิด เป็นหลักการ เป็นแนวทางการพัฒนา ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา และประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้

ที่จริงประเทศไทยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ได้ให้ความสนใจกับความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่มีรายได้ประชาชาติสูง ได้พูดไว้ในแผนฯ 8  ว่าต้องสร้างตัวชี้วัดผลสุดท้ายที่เกิดกับคน นั่นก็คือความสุขของคน ความสันติสุข ความมั่นคงของคน  เพราะแผนฯ 8 บอกว่าคนเป็นศูนย์กลาง พอดีหลังจากแผนฯ 8 ประกาศใช้ เราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลก็มัววุ่นวายเรื่องแก้วิกฤติ พอมาแผนฯ 9 เราได้รัฐบาลที่ค่อนข้างไปในทางการใช้เงิน และการขยายการซื้อการขายซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนะครับ แต่ว่าเกินไปหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องพูดในเวทีอื่น จนกระทั่งมาแผนฯ 10 เราก็มาพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง อีกครั้งหนึ่ง ที่จริง แผนฯ 9 พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลย จนใกล้จะหมดแผนฯ 9 พอดีประจวบกับ 60 ปี ครองราชย์ และก็มา 80 ปี พระชนมพรรษา กับกระบวนการเรื่อง GNH ก็ทำให้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับเรื่องความสุขมวลรวมของประชาชาติ หรือความสุขของสังคม ความสุขของชุมชน ความสุขของท้องถิ่น เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา แล้วผมกำลังส่งเสริมให้ทุกชุมชนทุกท้องถิ่นสร้างตัวชี้วัดความสุข ที่ว่าชุมชนเป็นสุข ท้องถิ่นเป็นสุข อำเภอเป็นสุข จังหวัดเป็นสุขนั้น เป็นอย่างไร ได้มีการพัฒนากันมาไม่ใช่น้อยแล้วนะครับ

ฉะนั้นจึงไม่ยาก แต่รายละเอียดผมคงไม่ขอพูดถึงนะครับ แต่ที่พูดถึงเพราะอยากให้ธนาคารออมสิน ถ้าเห็นว่าเรื่องความสุขพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ สร้างตัวชี้วัดขึ้นมาได้ครับ ตัวชี้วัดความสุขของพนักงาน แล้วไม่ต้องไปให้ใครมาบอกนะครับ คิดกันเอง คิดกันในหน่วยงานต่าง ๆ แล้วจะเห็นเองว่า ส่วนหนึ่งของความสุขนั้นมาจากการมีคุณธรรมจริยธรรม

ที่จริงแล้วข้อนี้เป็นผลงานวิจัยนะครับ ระดับสากล ที่วิจัยการพัฒนาของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือขนาดปานกลางแต่เจริญก้าวหน้ามาอย่างยาวนานและพบว่าจำนวนมากเลยเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นั่นคือมีคุณธรรมจริยธรรม ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่เป็นธรรม แล้วปรากฏว่าธุรกิจมีความเจริญก้าวหน้า เพราะอะไรครับ เพราะสังคมเห็นว่าธุรกิจนี้ดี จึงมาเป็นลูกค้า จึงค้าขายด้วย จึงมารับบริการ จึงสนับสนุน มีตัวอย่างมากมายครับ ถึงขั้นที่เกิดอุบัติเหตุมีปัญหาปรากฏว่า ธุรกิจนั้น ๆ ทำประโยชน์ให้  ชุมชน ให้สังคม ก็ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน จากสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/92847

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *