การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)”
1. ประเด็นเรื่องที่ควรทำ
ควรใช้วิกฤติครั้งใหญ่เป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยและสังคมไทยโดยรวม ในอันที่จะฟื้นฟูพร้อมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น โดยพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
1.1 การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายบอบช้ำจากวิกฤติการณ์อย่างเหมาะสมทั่วถึงและรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
1.2 การสร้าง “ความเป็นธรรม” และ “ความยุติธรรม” ที่เหมาะสมกับทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระโปร่งใส
1.3 การค้นหา “ความจริง” อย่างโปร่งใสโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง ให้ปรากฏต่อสังคมไทยและสังคมโลก เพื่อให้เกิด “การเรียนรู้และพัฒนา” จาก “ความเป็นจริง” อย่างสร้างสรรค์ โดยอาจศึกษา “ความจริง” 2 ระดับ คือ (1) ระดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (“ความจริงระดับต้น”) และ (2) ความจริงที่วิเคราะห์เจาะลึกถึงปัจจัยพื้นฐาน โครงสร้าง ระบบ วัฒนธรรม ฯลฯ ที่มีความสลับซับซ้อนและมีพลวัตตลอดเวลา (“ความจริงระดับลึกและกว้าง”)
1.4 การฟื้นฟูอาคารสถานที่ กิจการ วิถีชีวิต จิตใจ และบรรยากาศทางสังคม ให้เข้าสู่ภาวะปกติ (ดีเท่าเดิมหรือดียิ่งกว่าเดิม) รวมถึงการใช้ธรรมะ “สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี” (ที่พระพุทธทาสเคยแนะนำต่อนายกฯสัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี 2517) การให้ความรักความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อร่วมชาติทุกคน การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกฝ่าย ความอดทนอดกลั้น การมีใจเปิดกว้างเปิดรับข้อมูลและความคิดอย่างสร้างสรรค์โดยไม่มีอคติ การมีไมตรีจิตปรารถนาดีต่อทุกคนทุกฝ่าย ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัย การแสดงความเสียใจ การขอโทษ การแสดงความรับผิดชอบ การคืนดีและปรองดอง ฯลฯ ซึ่งสรุปแล้วคือการใช้ “ความดี” หรือ การ “คิดดี พูดดี ทำดี” นั่นเอง
1.5 การ “ปฏิรูปประเทศไทย” อย่างสร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม และบูรณาการ โดยเป็นกระบวนการที่ประชาชนและฝ่ายอื่นๆทุกฝ่ายเข้าร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์จริงจังและต่อเนื่อง แม้เปลี่ยนรัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภา (ตัวอย่าง ร่างแนวทาง “การปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งนำเสนอโดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เมื่อ 16 พ.ค. 53 ปรากฏใน “บันทึกการประชุมเตรียมการสู่ ‘สภาประชาชนฯ’” ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ‘มติชนรายวัน’ 23 พ.ค. 2553 หน้า 9)
1.6 การเชื่อมโยงผสมผสานและประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมระหว่างเรื่องข้างต้นกับ “แผนปรองดองแห่งชาติ” ของนายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) รวมถึงการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างเหมาะสม โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ (Key stakeholders) มีโอกาสได้ปรึกษาหารือหาข้อสรุปหรือข้อตกลงร่วมกัน โดยกระบวนการ “สันติสานเสวนา” (Peacebuilding Dialogue)
2. วิธีดำเนินการ
ควรให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” (Process) และ “ทัศนคติ” (Attitude) ควบคู่กับการพิจารณา “สาระ” (Content) ของ “การฟื้นฟูประเทศไทย” ซึ่งรวมถึง “แผนปรองดองแห่งชาติ” ของนายกรัฐมนตรี
2.1 “กระบวนการ” ที่ดี ได้แก่ การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การมี “คนกลาง” (หรือ “วิทยากร” หรือ “ผู้รับใช้”) ช่วย “จัดกระบวนการ” อย่างเหมาะสม (ซึ่ง “คนกลาง” ดังกล่าวต้องเป็นที่เห็นชอบร่วมกันของผู้เข้าร่วมกระบวนการ (คู่กรณี) ทุกฝ่าย) การใช้วิธีการที่หลากหลายต่อเนื่องและครบขั้นตอนอย่างบูรณาการ ฯลฯ
2.2 “ทัศนคติ” ที่พึงปรารถนาและควรเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นในจิตใจอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความอดทนอดกลั้น ความเห็นอกเห็นใจ ความมีใจเปิดกว้าง การรับฟังและพยายามเข้าใจคนอื่น ความเป็นมิตรไมตรี การมองผู้อื่นเป็นเพื่อนมนุษย์หรือพี่น้องร่วมชาติร่วมสุขร่วมทุกข์กันทั้งสิ้น ความเอื้ออาทรผ่อนปรนยืดหยุ่น การคิดเชิงบวกและสร้างสรรค์ การมุ่งแก้ปัญหาด้วยปัญญาและสันติวิธี การมองวิกฤติเป็นโอกาส การใช้ปัญหาสร้างปัญญา การใช้ “ธรรมะ” หรือ “ปรัชญา” ที่ดีๆจากทุกศาสนาทุกวัฒนธรรม ฯลฯ
2.3 “สาระ” ที่ดี ควรให้ครบประเด็น เป็นรูปธรรม มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมชัดเจน มีกลไกวิธีการติดตามผลเพื่อกำกับกระบวนการให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน รวมทั้งเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน จะเอื้อซึ่งกันและกัน กล่าวคือ “กระบวนการ” ที่ดี จะช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น นำไปสู่การได้สาระที่ดี ในทางกลับกัน “ทัศนคติ” ที่ดี ทำให้สามารถจัดกระบวนการที่ดีและได้สาระที่ดี โดยสะดวกมากขึ้น และเมื่อได้ “สาระ” ที่ดี ทัศนคติที่ดีจะตามมา รวมถึงการจัดกระบวนการที่ดีก็ทำได้ง่ายขึ้นไปอีก ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น
3. ระดับการดำเนินการ
ควรดำเนินการใน 3 ระดับเป็นหลัก ควบคู่กันไป ได้แก่
3.1 ระดับประเทศ (หรือระดับชาติ)
3.2 ระดับจังหวัด (หรือระดับกลุ่มจังหวัด)
3.3 ระดับตำบล (หรือท้องถิ่น เช่น หมู่บ้าน เขตนิเวศ ฯลฯ)
ในแต่ละระดับ ควรใช้หลักการ (1) “ประชาชน (ในพื้นที่) เป็นเจ้าของเรื่องและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ” (2) “คนภายนอกเป็นผู้เอื้ออำนวย (Facilitator) หรือสนับสนุน (Supporter)” และ (3) “ทุกฝ่ายประสานความร่วมมืออย่างเหมาะสมมีคุณภาพและประสิทธิภาพ”
อนึ่ง นอกจากดำเนินการโดยใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้ง ยังสามารถดำเนินการโดยใช้ “ประเด็น” หรือ “กลุ่มคน” หรือ “องค์กร” เป็นตัวตั้ง ได้อีกด้วย
4. กลไกสนับสนุนการดำเนินการ
4.1 ควรมี “กองทุนฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย” เพื่อสนับสนุนการดำเนินการต่างๆดังกล่าวข้างต้น โดยมีกองทุนสำหรับแต่ละจุดดำเนินการ ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับตำบล แหล่งเงินทุนควรมาจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมและประชาชน รวมถึงองค์กรและบุคคลต่างๆตามความสมัครใจ ผู้ดูแลกองทุนอาจเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ตกลงกัน
4.2 ควรมี “หน่วยเลขานุการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย” เพื่อประสานเอื้ออำนวยและสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยในแต่ละจุด/พื้นที่/ประเด็น โดยพยายามให้มีรูปแบบที่เรียบง่าย กระทัดรัด คล่องตัว ดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ จะจัดตั้งที่ไหนอย่างไรให้เป็นผลของการหารือตกลงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง
5. บทบาทของสถาบันอุดมศึกษา (และองค์กร/กลุ่มคนอื่นๆ โดยประยุกต์หลักการ แนวคิด วิธีปฏิบัติ ฯลฯ ทำนองเดียวกัน)
5.1 ควรมีการจัดให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้มาประชุมปรึกษากันเกี่ยวกับบทบาท แนวคิด หลักการ แนวทาง และวิธีการ ฯลฯ ของสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุน “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย” ดังกล่าวข้างต้น
5.2 อาจมีการเสนอให้ใช้แนวคิด “หนึ่งจังหวัดหนึ่งสถาบันอุดมศึกษา (หรือมากกว่า)” เพื่อกระจายภารกิจให้สามารถดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศได้พร้อมๆกัน รวมทั้งให้มี “การจัดการความรู้” (Knowledge Management) หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาแนวคิด หลักการและวิธีการในเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้นไปอีก ได้อย่างต่อเนื่อง
5.3 สถาบันอุดมศึกษา (และองค์กร/กลุ่มคนอื่นๆ) ที่มีความสนใจและพร้อมที่จะร่วมดำเนินการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ในระดับใดระดับหนึ่งหรือหลายหลายระดับ ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น ฯลฯ ควรเลือกดำเนินการได้ตามที่สถาบันอุดมศึกษา (และองค์กร/กลุ่มคน) นั้นๆเห็นสมควร
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/361486