“การจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทย”

“การจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทย”


สรุปความจากการปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเรื่อง “ป่า : กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมในสังคมไทย” จัดโดยศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในวันที่ 9 สิงหาคม 50 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียงโดย ศรินทร์ทิพย์ จานศิลา

                ในวาระที่ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รีคอฟ) ครบรอบสองทศวรรษซึ่งเป็นสองทศวรรษแห่งการเรียนรู้ร่วมกันกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ ในจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม จึงได้จัดสัมมนาระดับชาติเรื่อง “ป่าชุมชน : กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของสังคมไทย” ขึ้น เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ 

                ฯพณฯ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน  มอบกองทุนป่าชุมชน และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การจัดการทรัพยากรร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทย” ว่า

                ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนอย่างละเอียดลึกซึ้ง กว้างขวางต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองคนชนบท ทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการให้เป็นคุณต่อมนุษยชาติ โดยไม่ก่อความขัดแย้งและนำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขในสังคม

                “ที่ผ่านมา…ชุมชนพยายามมีส่วนร่วมในการรวบรวมคนเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่การรวมคนนั้นยังไม่พอ ทุกฝ่ายยังไม่ร่วมกันจริง ยังไม่เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ที่กล่าวเช่นนี้เพราะทรัพยากรเป็นสมบัติร่วมของชาติ สังคม มนุษย์และชุมชน จึงจำเป็นต้องจัดการร่วมกัน โดยคนหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

                “..แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิด “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยมียุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้..

                ..รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะลงประชามติ มีเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายมาตรา เช่น ว่าด้วยสิทธิชุมชน ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในทุกรูปแบบ..

                การจัดการทรัพยากรให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันต้องมีเป้าหมาย คือ เกิดประโยชน์ เหมาะสม เกิดความเป็นธรรม และเกิดความยั่งยืน ทุกฝ่ายต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร โดยมี 3 แนวทางใหญ่ ซึ่งประยุกต์มาจากเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของศ.นพ.ประเวศ วะสี  ดังนี้

  1. การเรียนรู้และการจัดการความรู้ร่วมกัน ทั้งระหว่างคนทำงานทรัพยากร และกับผู้คนส่วนอื่นๆในสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อกัน จะเห็นว่าชุมชนมีการทำเรื่องนี้อยู่แล้ว และควรส่งเสริมให้ดีขึ้น เป็นระบบมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น
  2. การขับเคลื่อนเครือข่ายและขบวนการจัดการทรัพยากรโดยชักชวนเชื่อมโยงคนหลายส่วนหลายพื้นที่เข้ามาร่วมกันอย่างครอบคลุม เพียงพอ เพราะทรัพยากรเป็นสมบัติร่วมของคนในสังคม
  3. การมีนโยบาย มาตรการ กฎหมายที่ดี ทั้งรัฐส่วนกลาง รัฐภูมิภาค และรัฐท้องถิ่น ต้องมีทั้งนโยบาย วิธีการ งบประมาณ แผนงานโครงการที่ชัดเจน และสนับสนุนบทบาทภาคประชาชนตามที่เหมาะที่ควร เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรร่วมกัน โดยต้องให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องมีการปรับกฎหมายเพื่อเป็นเกราะให้กับประชาชนด้วย การที่เราให้รัฐเป็นผู้ดูแลทรัพยากรฝ่ายเดียวนั้นไม่พอ  ต้องอาศัยชุมชนเข้าไปร่วมด้วย โดยอาจจะเข้าร่วมในรูปแบบของคณะกรรมการร่วม หรือองค์การมหาชน เป็นต้น

                “..ในปัจจุบันสังคมมีความแตกต่างมาก ทำให้เกิดความแตกแยกในบางกรณี เพราะความต้องการไม่ได้ร่วมกัน  บวกกับแนวโน้มบริโภคนิยม  ต้องการได้มากได้เร็ว คำว่า “ร่วมกันจัดการ” จึงยากขึ้นๆ เป็นบทท้าทายที่ต้องหาทางออกให้ทันกับพัฒนาการสังคมที่แตกต่างหลากหลายซับซ้อนและแย่งชิงกันมากขึ้น เราต้องร่วมกันนำสิ่งที่ดีกว่าเข้ามาแทน เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาแบบยั่งยืน และความสมดุล..”

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/126078

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *