แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (4)

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู (4)


8. การปกครอง : บ้านเราเขาครอง

พ่อของแม่คือ “ตา” ของผม ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

จึงนับว่าครอบครัวของแม่เป็นที่ยอมรับนับถือกันในชุมชนพอสมควร

ตาเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนผมเกิด ผมจึงไม่เคยเห็นหน้า ไม่รู้จัก และไม่ค่อยรู้เรื่องตาเท่าใด โดยเฉพาะเรื่องในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านที่ผมรู้จักคือผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะผมใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่บ้านนาคู

แม่จะพูดถึงผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งคราว เพราะเวลามีอะไรสำคัญที่เกี่ยวกับทางราชการ เราจะนึกถึงผู้ใหญ่บ้าน

หรือเวลามีปัญหา หรือเรื่องราวที่เป็นส่วนรวม หรือมีผลต่อส่วนรวม เราก็จะนึกหรือปรึกษาหรือรับฟังรับรู้จากผู้ใหญ่บ้านอีกเช่นกัน

บ้านผู้ใหญ่บ้านอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเรา ผมมีโอกาสได้ไปบ้านของผู้ใหญ่บ้านบ้างเหมือนกัน โดยติดตามไปกับแม่

แต่ส่วนมากไปด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องในฐานะเป็นคนคุ้นเคยกัน ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองแต่ประการใด

คำว่า “ราชการ” หรือ “บ้านเมือง” เราก็ไม่ค่อยรู้จัก หรือเข้าใจ

เรารู้จักคำว่า “หลวง” ซึ่งหมายถึงทางราชการหรือทางรัฐบาล

และเรารู้จักคำว่า “ข้าหลวง” ซึ่งหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

แต่ “ข้าหลวง” ของเราเป็นใคร หน้าตาอย่างไร มีหน้าที่อะไร มีความสำคัญต่อเราหรือไม่อย่างไร เราไม่รู้

อย่างน้อยผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ และคิดว่าแม่คงไม่ค่อยรู้เหมือนกัน หรือรู้ก็ไม่เคยอธิบายให้ผมฟัง

ผมมาได้ยินคำว่า “ข้าหลวง” เป็นครั้งแรกเอาเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นที่บ้านของเรา

โจรปล้นบ้าน !

บ้านของเรามี 3 หลังแยกกัน เชื่อมด้วยสะพาน เดินถึงกันได้สะดวก

บ้านริมที่ติดคลองเป็นบ้านของตาและยาย ต่อมาตาเสียชีวิตเหลือแต่ยาย ก็ให้น้าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูกอยู่ด้วย พร้อมทั้งน้าเขย

บ้านกลางเป็นบ้านที่แม่และผมอยู่ พร้อมด้วยพี่ๆ บางคน ขณะนั้นพ่อได้เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แล้ว

บ้านริมอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ติดทุ่งนา เป็นของน้าผู้ชายซึ่งอยู่กับน้าสะใภ้พร้อมด้วยลูกๆ

“โจร” คงจะได้ข่าวว่ายายจะทำบุญให้วัด และได้เตรียมเงินที่ได้จากการขายข้าวไว้จำนวนหนึ่งเพื่อการนั้น

วันหนึ่ง เวลาบ่ายเกือบเย็น มีเรือลำหนึ่งเข้ามาในบ้านเรา คนในเรือแต่งกายแบบตำรวจบอกว่าจะมาขอค้นของผิดกฎหมาย ให้ทุกคนมานั่งรวมกัน และถ้ามีอาวุธปืนในบ้านให้เอามามอบให้ด้วย

พวกเราทำตามเพราะคิดว่าเป็นตำรวจจริง

เมื่อทุกคนมานั่งพร้อมกันแล้ว คนในเครื่องแบบตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนและกุญแจมือประจำตัวก็ประกาศว่าตนเป็นโจร ขอให้บอกที่เก็บเงิน เพื่อจะได้ไม่ต้องเจ็บตัว

โชคดีอย่างหนึ่งที่ยายได้นำเงินทำบุญไปมอบให้วัดเมื่อเช้าของวันนั้นแล้ว เงินส่วนนั้นจึงรอดจากมือโจรไป

แต่เงินที่พอมีติดบ้านบ้างไม่มากนัก โจรเอาไปหมด แม้แต่เงินเล็กน้อยในกระปุกออมสินก็เอาไปด้วย

ผมและพี่ๆ เด็ดดอกจำปีที่บ้านไปขายที่โรงเรียนเป็นครั้งคราว ได้ดอกละ 1-2 สตางค์ เก็บรายได้นั้นเข้ากระปุกออมสินสะสมไว้ได้หลายบาท

ก็มาหมดเกลี้ยงเพราะน้ำมือโจรนี่เอง

โจรเก็บกวาดของที่พอมีค่าบ้างจากในบ้านไปเยอะเหมือนกัน เช่น ขันเงิน ถาดทองเหลือง สร้อยคอ ผ้าห่ม เสื้อหนาว หม้อข้าวหม้อแกง เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

โจรคงคิดว่า ไหนๆ เสี่ยงมาปล้นทั้งที และมีเรือลำใหญ่มาด้วย เงินแท้ๆ ก็ได้หน่อยเดียว เลยต้องขนเอาข้าวของไปให้มากที่สุด

ปล้นเสร็จโจรก็ลงเรือ หายไปในความมืด เพราะช่วงนั้นตกกลางคืนแล้ว

การปล้นอย่างเป็นระบบมีเครื่องแบบตำรวจใส่ มีอาวุธปืน พร้อมกุญแจมือ นั่งเรือมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ คงจะถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรที่ทางราชการต้องให้ความสนใจ

บ้านเราเลยมีเกียรติได้ต้อนรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ได้แก่ นายอำเภอและข้าหลวงซึ่งมาสืบสวนคดี

ในที่สุดดูเหมือนจะจับคนร้ายได้บางคน นับว่าฝีมือของทางการใช้ได้ดีเดียว

การที่เราต้องมีเหตุร้าย เช่น โจรปล้นบ้าน จึงมารับรู้ว่าใครเป็นนายอำเภอ ใครเป็นข้าหลวงสะท้อนถึงระบบการปกครองท้องถิ่น ที่ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองไม่ค่อยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันนัก โดยเฉพาะในยามปกติ

มองอีกแง่หนึ่ง บ้านนาคูก็มีความเป็นเอกเทศดี ไม่ค่อยมีใครมายุ่ง

มีกำนัน มีผู้ใหญ่บ้าน ก็ปกครองดูแลกันไป

แม่ซึ่งเป็นลูกบ้านคนหนึ่งของตำบลนาคู คงไม่ค่อยรู้หรือเข้าใจอะไรนักเกี่ยวกับระบบปกครองสำหรับบ้านนาคู

ผมเองก็ไม่เข้าใจเลยในสมัยนั้น

และไม่แน่ใจว่า แม้สมัยนี้คนบ้านนาคูจะเข้าใจกันแค่ไหนเกี่ยวกับระบบการบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น ตำบลนาคู และการบริหารหมู่บ้านต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นตำบลนาคู

สำคัญกว่านั้น ถ้าชาวบ้านเข้าใจระบบการปกครองหรือระบบการบริหารส่วนท้องถิ่น อย่างดีแล้ว

จะพอใจกับระบบปัจจุบัน

หรือจะอยากได้ระบบที่ดีกว่า ?

. อนาคต : ไปแต่อยู่

แม่จากโลกไปแล้ว

จากลูกๆ ที่แม่รัก

จากญาติพี่น้องและคนคุ้นเคยที่แม่ห่วง

จากบ้านนาคูที่แม่ผูกพัน

แม่กลับมาอีกไม่ได้

แต่ผู้ยังอยู่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป

บ้านนาคูจะต้องวิวัฒนาการต่อไป

ไม่ว่าจะในทางดีขึ้น หรือเลวลง

ผมซึ่งเป็นเด็กบ้านนาคู และยังรู้สึกผูกพันกับบ้านนาคู ย่อมอยากเห็นวิวัฒนาการของบ้านนาคูไปในทางที่ดีขึ้น

แม่คงคิดเหมือนกับผมในประเด็นนี้

แต่อย่างไรล่ะ จึงจะเรียกว่า “ดีขึ้น” ?

ถ้าไปถามคนบ้านนาคู เขาอาจมีคำตอบต่างๆ กัน

แต่รวมๆ แล้ว น่าจะเป็นอย่างนี้กระมัง………

คนบ้านนาคูคงอยากให้พวกเขาสามารถมี “ความเป็นอยู่” ที่ดี

มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง สะดวกสบาย ปลอดภัย มีที่หลับนอนเป็นสัดส่วน มีที่ทำอาหาร ที่ประกอบกิจวัตรประจำวัน อันได้แก่ การล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ บรรเทาทุกข์ เป็นต้น

บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อยพอควร ปลอดขยะมูลฝอย น้ำเสีย กลิ่นเหม็น เสียงรบกวน สารพิษ

มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตามความจำเป็น

ไปไหนมาไหนได้สะดวกปลอดภัยพอสมควร

คนบ้านนาคูคงอยากมี “สิ่งแวดล้อม” ที่ดี

ดิน น้ำ อากาศ ที่อยู่รอบๆ เอื้ออำนวยเพียงพอ

สภาพดินเหมาะสมกับการทำการเกษตร คุณภาพไม่เสื่อมถอยลง

น้ำมีปริมาณพอดีๆไม่มากไป ไม่น้อยไป และไม่มีสารพิษเจือปน

อากาศบริสุทธิ์ไม่เป็นอันตราย ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีพายุร้ายแรง

คนบ้านนาคู คงต้องการมีอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน มีแหล่งทำมาหากินเป็นกิจจลักษณะ มีรายได้มั่นคง เพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งเก็บออมสำหรับวันข้างหน้า

นั่นคือคนบ้านนาคูคงต้องการมีฐานะทาง “เศรษฐกิจ” ที่ดี

มีกิน มีใช้ มีเก็บ ไม่ขัดสน ทั้งวันนี้และวันหน้า

คนบ้านนาคูคงต้องการมี “สุขภาพ” ที่ดี

แข็งแรง สมบูรณ์ มีเรี่ยวแรง ไม่อ่อนเพลีย ไม่เจ็บไข้ ไม่เป็นโรค

ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีบริการรักษาพยาบาลที่สะดวก และมีคุณภาพดีพอควร

คนบ้านนาคูคงต้องการให้พวกเขามี “จิตใจ” ที่เป็นสุข อบอุ่น มั่นคง เข้มแข็ง

ไม่เดือดร้อน วุ่นวาย วิตก กังวล หวั่นกลัว โศกเศร้า เหงาหงอย

มีทั้งสุขภาพจิต และพลังจิตที่ดี

คนบ้านนาคูคงอยากให้ “สังคม” ของพวกเขาสงบร่มรื่น

ไปมาหาสู่กัน พบปะสังสรรค์กัน ร่วมจิตร่วมใจกัน ร่วมมือร่วมแรงกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมตตากรุณาต่อกัน

เป็นชุมชนที่อบอุ่น ปลอดภัย เหนียวแน่น มีพลัง

และคนบ้านนาคูคงต้องการมีบทบาทอย่างเพียงพอใน “การปกครอง” ท้องถิ่นของพวกเขา

เพื่อพวกเขาจะสามารถบอกได้ว่า “บ้านนาคู” ของเขา มีปัญหาอะไรมีความเดือดร้อนอะไร มีอุปสรรคอะไร

สามารถบอกได้ว่าพวกเขาอยากเห็น “บ้านนาคู” ของเขาเป็นอย่างไร

ตลอดจนสามารถ “ดำเนินการ” ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพื่อให้เกิดผลตามที่พวกที่เขาเห็นว่าดีและเหมาะสม สำหรับ “บ้านนาคู” ของพวกเขา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงเป็น “สภาพที่พึงปรารถนา” สำหรับบ้านนาคู

แล้ว “วิธีการ” ที่จะให้ได้มาซึ่ง “สภาพที่พึงปรารถนา” เหล่านั้นจะเป็นอย่างไร?

คำตอบในประเด็นนี้ คงมีหลายหลากอีกเช่นกัน

คำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ผมก็ไม่แน่ใจนัก

แต่อดคิดไม่ได้ว่า วิธีการที่จะได้ผลดีน่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “หลักการ 3 ข้อ” ดังต่อไปนี้

หลักการข้อแรก คือ “การพึ่งตัวเอง”

ไม่มีใคร หมู่คณะใด หรือชุมชนใด จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงได้โดยไม่คิดพึ่งตนเอง

การพึ่งตนเองทำให้มีพลัง สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการได้ แล้วประสบความสำเร็จในที่สุด

ผู้นิยมพึ่งตนเอง เมื่อจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือก็มีคนอยากช่วย

หลักการข้อที่สอง ได้แก่ “การรวมพลัง”

ชุมชนประกอบด้วยคนจำนวนมาก มีความรู้ ประสบการณ์ ความคิด ความสามารถ ความชำนาญ หลายหลากมากมาย

เมื่อนำมารวมกันจะเกิดพลังยิ่งใหญ่

ยิ่งรวมกันในลักษณะที่ประสานสอดคล้อง สร้างเสริมซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี พลังจะยิ่งมากมหาศาลเป็นทวีคูณ

หลักการข้อที่สามขอเรียกว่า “การศึกษาคิดค้น”

การขวนขวายหาความรู้ ความเข้าใจ แนวคิด และพยายามค้นหาแนวทาง วิธีการที่เหมาะสม ที่ได้ผล ที่ดีขึ้นไปอีกอยู่เสมอ

ช่วยให้คน หมู่คณะ ชุมชน สามารถแก้ปัญหา และเจริญก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ

ผมเชื่อว่า ถ้าชาวบ้านนาคูใช้หลักการ 3 ข้อที่กล่าวข้างต้น มากำหนดแนวทางและวิธีการในการพัฒนาบ้านนาคูน่าจะได้ผลดี

สามารถนำไปสู่ “สภาพที่พึงปรารถนา” สำหรับคนบ้านนาคูได้

แต่การเลือกเป้าหมาย วิธีการ ในการพัฒนาบ้านนาคู เป็นเรื่องของคนบ้านนาคูจะต้องตัดสินใจเอง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในบ้านนาคู ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนบ้านนาคู

อนาคตของบ้านนาคู

อยู่ในมือของคนบ้านนาคูนั่นเอง

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

5 ก.พ. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76316

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *