สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม

สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม


   “สันติวิธี” เป็นการมุ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นการมุ่งประโยชน์ร่วมกัน เป็นการเห็นคุณค่าของ “สันติภาพ” หรือ “สันติภาวะ”

“วัฒนธรรม” เป็นแบบแผนการ คิด พูด ทำ ที่สั่งสมจนเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติเป็นปกติในกลุ่มชนหนึ่งๆ

“สันติวิธี” ควรพัฒนาเป็น “วัฒนธรรม” และ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรมี “สันติวิธี” อยู่ด้วย หรือ “วัฒนธรรมที่ดี” ควรนำสู่ “สันติภาวะ”

                    “วัฒนธรรม” เชื่อมโยงแบบ “พหุปฏิสัมพันธ์” กับ “จิตสำนึก” “ระบบคิด” และ “การปฏิบัติ”

“จิตสำนึก” / “ระบบคิด” 2 แบบ ได้แก่

1. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “สมานฉันท์” เช่น

1.1 ตามธรรมะพระพุทธเจ้า

• กัลยาณมิตตตา

• พรหมวิหาร 4

• อปริหานิยธรรม 7

• บุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นต้น

1.2 ตามพระราชดำริในหลวง

• รู้ รัก สามัคคี

• ไมตรี (พระราชดำรัส 5 ธ.ค. 42)

• เศรษฐกิจพอเพียง

• เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

• คุณธรรม 4 ประการอันเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี (พระราชดำรัส 9 มิ.ย. 49) เป็นต้น

1.3 ตามหลักการพัฒนา/การบริหาร/การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ดี

• The 7 Habits of Highly Effective People

• Appreciative Inquiry (AI)

• Appreciation, Influence, Control (AIC)

• Knowledge Management (KM)

• Participatory Learning

• Learning Organization

• Conflict Management/Resolution

• Dialogue

• Restorative Justice   เป็นต้น

2. “จิตสำนึก/ระบบคิด” แบบ “ปฏิปักษ์” ได้แก่

• ต่อสู้แย่งชิง

• แก่งแย่งแข่งขัน

• พวกเราพวกเขา

• เราดีเขาเลว

• คณะนิยม (ปฏิปักษ์กับคนอื่น)

• โลภมากอยากได้ (เงิน อำนาจ อิทธิพล ฯลฯ)   เป็นต้น

“วัฒนธรรมที่ดี” สามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง แต่ “สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม” อาจกลายเป็นสาเหตุหรือปัจจัยให้เกิดการขัดแย้งได้ เช่น การมองว่า “วัฒนธรรมของเรา” ดีกว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” หรือการพยายามนำ “วัฒนธรรมของเรา” ไปครอบงำคนอื่น หรือ การมองว่า “วัฒนธรรมของคนอื่น” ยังไม่ดีพอ หรือการติดยึดกับ “วัฒนธรรมของเรา” จนเกินความพอดี    เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารงานวัฒนธรรม

1. การค้นหา “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” ที่เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” หรือ “สันติวิธี”

2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “จุดดีเด่น” หรือ “ความสำเร็จ” หรือ “ความน่าพึงพอใจ” เหล่านั้น รวมถึงประเด็นต่อเนื่อง

3. การรวมตัวเป็น “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” ของ “บุคคล” หรือ “องค์กร” หรือ “พื้นที่” เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน

4. การจัดกิจกรรม “ค้นหาจุดดีเด่น” และ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “จัดการความรู้” (Knowledge Management) (ตามข้อ 1. และ 2.) ภายใน “กลุ่ม” และ “เครือข่าย” (ตามข้อ 3.)

5. “การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (Interactive Learning through Action) อย่างต่อเนื่อง

(บันทึกความคิดสำหรับการร่วมอภิปราย หัวข้อ “สันติวิธีกับงานวัฒนธรรม” เมื่อ 13 ก.ค.49 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การฝึกอบรมผู้บริหารเครือข่ายวัฒนธรรม” ประจำปี 2549 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

21 ก.ค. 49

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/40140

ข้อเสนอทำความดี 5 ประการเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ

ข้อเสนอทำความดี 5 ประการเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ


(28 พ.ค. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “ธรรมะตามวิถีพุทธทาส” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “มหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุ” อันสืบเนื่องจากการที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติให้บรรจุรายการเฉลิมฉลองชาตกาลครบ 100 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ ไว้ในรายการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่น และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ประจำปี  พ.ศ. 2549 – 50

งานนี้จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ณ พุทธมณฑล ระหว่าง 26 – 28 พฤษภาคม 2549 วันครบรอบ 100 ปีพอดี คือวันที่ 27 พ.ค. 49

การอภิปรายหัวข้อ “ธรรมะตามวิถีพุทธทาส” มีผู้ร่วมอภิปรายอีก 3 ท่าน คือ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) อาจารย์เสฐียรพงศ์ วรรณปก (ราชบัณฑิต) และนพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้ดำเนินการอภิปรายคือ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง

พระพุทธทาสให้ความหมายของ “ธรรมะ” ว่า ได้แก่ (1) ธรรมชาติ (2) กฎธรรมชาติ (3) การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ (4) ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ และกล่าวว่า “การปฏิบัติธรรม” คือ (1) ไม่ทำความชั่ว (2) ทำความดี (3) อยู่หนือดีเหนือชั่ว นั่นคือ เข้าถึง “อนัตตา” หรือ “สุญญตา” และพระพุทธทาสยังบอกอีกว่า “เราทั้งหลายสามารถเข้าถึงนิพพานได้ในชีวิตนี้ มิต้องรอจนถึงชาติหน้า”

พระพุทธทาสได้ตั้ง “ปณิธาน 3 ประการที่ขอฝากไว้กับอนุชน” ได้แก่ (1) การเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนๆ (2) การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา (3) ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม

พระพุทธทาส ได้พูดถึงพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ว่ามีลักษณะ 4 คือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ

            ผมได้ให้ความคิดเห็นในการอภิปราย สรุปได้ 4 ประการ ดังนี้

1. เมื่อ พ.ศ. 2504 (45 ปีมาแล้ว) ได้อ่าน “หลักพระพุทธศาสนา” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำบรรยายเมื่อ พ.ศ. 2499 ของท่านพุทธทาสต่อผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา (ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการตีพิมพ์อีกหลายครั้ง ในชื่อใหม่ว่า “คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์” ) อ่านแล้วลองปฏิบัติ “โดยวิธีตามธรรมชาติ” ปรากฎว่าเกิดผลดีต่อสภาวะของจิตอย่างชัดเจน จึงพยายามปฏิบัติเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่า คนธรรมดาสามัญ คนทั่วๆไป ที่สนใจศึกษาธรรมะด้วยการอ่านหนังสือแล้วพยายามปฏิบัติด้วยวิธีตามธรรมชาติก็สามารถ “เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า” หรือ “พุทธธรรม” และเกิดสภาวะ “จิตสงบเย็น” ได้

2. พระพุทธทาสเป็น “อัจฉริยมหาบุคคล” ที่หาได้ยาก เป็นผู้ค้นพบและพัฒนา “เครื่องมือ” หรือ “กุญแจ” สู่การเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าได้อย่างชาญฉลาดและมีศิลปะที่หลากหลาย

3. เป็นความประจวบเหมาะอันเป็นมงคลและมีคุณค่ายิ่งที่ 100 ปี ชาตกาลพุทธทาสภิกขุ มาตรงกับปีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็น “มหาธรมราชา” และได้ทรงมีพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้รับการยอมรับว่าจะเป็นแนวทางของ “การพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืน” ทั้งในประเทศไทยและในโลก ซึ่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของศีลธรรมและคุณธรรม สอดรับกับคำพูดของท่านพระพุทธทาสที่ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ”

4. ในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ควบคู่กับการเฉลิมการฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอเสนอการ “ทำความดี 5 ประการ” เป็นปฏิบัติบูชาดังนี้

(1) ฟื้นฟู พัฒนา หรือก่อตั้ง องค์กร สถาบัน หรือกลุ่มเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธทาส

(2) ดำเนินการ หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายหลายแบบหลายระดับ ในระหว่างองค์กร สถาบัน หรือกลุ่ม ดังกล่าวข้างต้น

(3) ทำการศึกษาวิจัยและดำเนินการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธทาส ซึ่งรวมถึงการจัดการความรู้ในระหว่างสมาชิกเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

(4) พัฒนาและเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธทาส

(5) ดำเนินการ หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายสาธารณะในทุกระดับ (ตั้งแต่ระดับฐานราก เช่น นโยบายขององค์กรปกครองส่วน้องถิ่น นโยบายของจังหวัด นโยบายของกระทรวง ฯลฯ) ที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากคำสอนของพระพุทธทาส

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มิ.ย.49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/33251

<<< กลับ

ภูเขาซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภูเขาซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน


    การพัฒนาที่หนุนนำด้วยความโลภ ความหลง และความรุนแรง  จะมีความยั่งยืนน้อย ส่วนการพัฒนาที่หนุนนำด้วย ความดี ความจริงและความงาม ย่อมจะมีความยั่งยืนมาก และ การพัฒนาแบบหลังนี้ คือการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร
            การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) คือ การพัฒนาที่สามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง ราบรื่น โดยไม่เกิดสภาพที่ไม่พึงปรารถนาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนานั้นเอง
            การพัฒนาที่ไปตัดไม้ทำลายป่า ทำลายดิน ทำลายน้ำ ส่งก๊าซบางชนิดสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ผืนป่าเหลือน้อย ดินเสื่อม น้ำเสีย ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงนำสู่ภาวะ “โลกร้อน” ซึ่งจะทำให้นำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมพื้นดินจำนวนมาก สภาพเหล่านี้คือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งเกิดความเสียหายต่อโลก ต่อมนุษย์ ต่อสัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
การพัฒนาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความระส่ำระสายทางการเมือง เกิดความแตกแยกระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มคน หรือระหว่างประเทศ เกิดการใช้ความรุนแรงถึงขั้นประหัตประหารกันด้วยอาวุธ เช่นนี้ก็เรียกว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ทำให้สังคมไม่สงบสุข เกิดอาชญากรรม มีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการเสพสิ่งเสพติดมอมเมากันมาก มีการพนันเป็นวิถีชีวิต ครอบครัวแตกแยก มีการประพฤติปฏิบัติผิดศีลธรรมจรรยา รวมถึงการทุจริตคอรัปชันกันมาก สังคมเช่นนี้เป็นผลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ทำให้ชีวิตคนขาดความสุข คนมีความเครียดสูง มีสภาพจิตใจไม่มั่นคง มีผู้ฆ่าตัวตายหรือคิดฆ่าตัวตายในอัตราส่วนสูง คนจำนวนมากมีอารมณ์ซึมเศร้า เป็นทุกข์ วิตก กังวล บางส่วนถึงขั้นวิกลจริต บางส่วนแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงต่อผู้อื่น สภาพดังกล่าวนี้ก็เป็นผลพวงของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

จากสภาพที่บรรยายมาข้างต้น สรุปได้ว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน แสดงตัวได้หลายแบบ รวมถึง  (1) ความไม่ยั่งยืนเชิงกายภาพ (2) ความไม่ยั่งยืนเชิงการเมือง (3) ความไม่ยั่งยืนเชิงสังคม และ (4) ความไม่ยั่งยืนเชิงจิตใจ

การพัฒนาในปัจจุบันเป็นอย่างไร
            การพัฒนาในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและในโลกโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า ยังอยู่ในสภาพของการพัฒนาที่มีความยั่งยืนน้อย
            ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากสภาพทางกายภาพ ทางการเมือง ทางสังคมและทางจิตใจ และเทียบเคียงกับลักษณะดังบรรยายไว้ข้างต้น
ขณะนี้ สภาวะทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง ดิน น้ำ ป่า ถูกทำลาย และสภาวะ “โลกร้อน” กำลังเกิดขึ้นจริงและถึงขั้นน่าเป็นห่วงสำหรับประชากรโลกโดยรวม
ความไม่มั่นคงและความขัดแย้งทางการเมือง เป็นปัญหาที่กระจายตัวอยู่มากในโลก รวมถึงประเทศไทย หลายกรณีมีการใช้อาวุธทำร้ายซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง รวมถึงในประเทศไทยอีกเช่นกัน
ความไม่สงบสุขในสังคม  และการขาดความสุขในชีวิตของผู้คน  ที่ปรากฏในลักษณะต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและในโลกโดยทั่วไป ทั้งในประเทศที่ถูกเรียกว่ากำลังพัฒนาและประเทศที่ถูกเรียกว่าพัฒนาแล้ว ยังเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้อย่างน่าพึงพอใจ
จึงต้องสรุปว่า ทั้งในประเทศไทยและในโลก สภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่มีความยั่งยืนมากยังไม่บังเกิดขึ้น หรือยังไม่บังเกิดขึ้นถึงระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ถือเป็นข้อท้าทายที่สำคัญสำหรับการพัฒนาในศตวรรษนี้

ภูเขาซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
            ทั้ง ๆที่คนทั้งหลายปรารถนาการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไฉนโลกจึงไม่บรรลุความสำเร็จในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน?
            อะไรคืออุปสรรคสำคัญ หรือ “ภูเขา” ซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน?
            ในความเห็นของผม การพัฒนาทั้งในประเทศไทยและในโลก ยังมีความยั่งยืนน้อย เพราะมีอุปสรรคสำคัญหรือ “ภูเขา” 3 ลูกขวางกั้นอยู่ ได้แก่
ภูเขาลูกที่หนึ่ง “ความโลภ” คือความอยากรวย อยากบริโภค อยากมีทรัพย์สินเงินทอง อยากมีอำนาจ ตำแหน่ง ฐานะ บารมี และความโลภในลักษณะต่างๆ นี้ มักมีแบบอย่างไม่รู้จักพอในหมู่คนจำนวนมาก นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขันและการทำลายธรรมชาติ ทำลายสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรมฯลฯ ไม่มีที่สิ้นสุด
ภูเขาลูกที่สอง “ความหลง” คือความหลงผิดติดยึดในตัวตน เอาตัวเองเป็นใหญ่ ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัวเองเป็นแรงผลักดัน ทำให้เน้นการมีอำนาจ มีตำแหน่ง มีบทบาทชี้นำความเป็นไปของผู้อื่น ของกลุ่มคน ของสังคม ของประเทศและของโลก ให้ไปในแนวทางที่ตนเองติดยึดอยู่ ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมและในโลก จึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง อันมีเหตุปัจจัย จาก “ความหลง” โดยเฉพาะของผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางสังคม
ภูเขาลูกที่สาม “ความรุนแรง” ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แต่โดยทั่วไปจะถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือตนเอง ต่อเมื่อความโลภและความหลงเกิดขัดข้องไม่เป็นไปดังปรารถนา สัญชาตญาณความรุนแรงก็มักแสดงตัวในรูปของความก้าวร้าว การดูหมิ่นเหยียดหยาม การยั่วยุท้าทาย การกดดันบีบคั้น ตลอดถึงการทำร้ายและทำลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งทางกาย ทางกฏหมาย ทางสังคม และทางจิตใจ
การพัฒนาที่ยั่งยืนควรเป็นการพัฒนาแบบใด
            ผมเห็นว่า  หลักการและแนวทางของ “เศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency Economy) ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  น่าจะเป็นรูปแบบของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
(Sustainable Development) ได้เป็นอย่างดี
            “เศรษฐกิจพอเพียง” มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ (1) หลักความพอประมาณ (2) หลักความมีเหตุผล (3) หลักการมีภูมิคุ้มกันที่ดี (4) หลักการใช้ความรู้ และ (5) หลักการมีคุณธรรม
กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” คือ เศรษฐกิจแบบไม่โลภมาก แบบรู้จักพอ เน้นความพอประมาณ ความพอดี ความสมดุลย์ ความมั่นคง พร้อมกับใช้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ค้นหาความจริงให้ถ่องแท้ พิจารณาความเหมาะสมด้วยเหตุด้วยผล มีความรอบคอบระมัดระวัง และมีคุณธรรมจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมานะพากเพียร ความอดทนอดกลั้น เป็นบรรทัดฐานและเป็นหลักยึดในการประพฤติปฏิบัติ
หรืออาจสรุปเป็นสาระสำคัญว่า “เศรษฐกิจพอเพียง คือ เศรษฐกิจรู้จักพอ ที่มุ่งให้เกิดความเพียงพอ อย่างพอประมาณและพอดี”
            ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงน่าจะเป็นการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นแนวทางพัฒนาที่จะห่างไกลจาก “ความโลภ ความหลง และความรุนแรง” ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หรือเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีความดี ความจริง และความงาม เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญ
แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
            หากเปรียบเทียบว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน มีภูเขาแห่งความโลภ ความหลง และความรุนแรง ขวางกั้นอยู่ เราก็น่าจะนำยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สามารถเขยื้อนภูเขาที่เป็นอุปสรรค และนำพาสังคมเข้าสู่แนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นผลสำเร็จ
            ยอดบนของสามเหลี่ยม คือ “พลังปัญญา” หรือ พลังความรู้และการจัดการความรู้” ในประเทศไทยและในโลก มีการพัฒนาในระดับต่างๆ ที่พอจะถือได้ว่า เป็นการพัฒนาในแนวของ “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือที่มีลักษณะเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ “การจัดการความรู้” (Knowledge  Management) ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นที่เข้าใจ ได้รับการเรียนรู้และเกิดการขยายผลยกระดับทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณไปได้เรื่อยๆ
พร้อมกันนั้นก็ควรมีการศึกษาวิจัยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้มีข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ ความเข้าใจ และภูมิปัญญาสะสม อันจะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ การเผยแพร่ ตลอดจนการนำไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ หรือระดับโลก
มุมที่สองของสามเหลี่ยม ซึ่งอยู่ที่ฐานของสามเหลี่ยมด้านหนึ่ง คือ “พลังสังคม” อันได้แก่ การส่งเสริมการรวมตัวกันเป็นองค์กร เป็นเครือข่าย เป็นเครือข่ายของเครือข่าย และเป็นขบวนการ (Movement) ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืน การเชื่อมประสานโยงใยขับเคลื่อนอย่างเป็นขบวนการทางสังคม จะสร้างการเรียนรู้การปฏิบัติ การประสานพลัง และผลสะเทือนในแง่มุมต่างๆ ที่มากขึ้น เข้มแข็งขึ้น กว้างขวางขึ้น เป็นลำดับ
ส่วนที่ฐานของสามเหลี่ยมอีกด้านหนึ่งได้แก่ “พลังนโยบาย” ซึ่งได้แก่การคิดค้น พิจารณา กำหนด และดำเนินนโยบาย โดยฝ่ายการเมืองและหรือหน่วยงานสาธารณะ ทั่งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับนานาชาติ และระดับโลก นโยบายที่ชี้ทิศทางและหรือเอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาแบบยั่งยืน ย่อมช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนที่มากขึ้นและดีขึ้น ในบริบทที่นโยบายนั้นๆ สามารถส่งผลถึงได้
เมื่อพลังทั้งสามของสามเหลี่ยม อันได้แก่ “พลังปัญญา” “พลังสังคม” และ “พลังนโยบาย” ได้รับการขับเคลื่อนอย่างสอดประสานกันจะเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ สามารถเขยื้อนภูเขาได้
นั่นคือ เมื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “การพัฒนาแบบยั่งยืน” ด้วย “พลังปัญญา” “พลังสังคม” และ “พลังนโยบาย” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง “ภูเขาแห่งความโลภ ความหลง และความรุนแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน จะค่อยๆ ถูกเขยื้อนออกไป มี “ความดี ความจริง และความงาม” อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอยู่ใน “เศรษฐกิจพอเพียง” เข้ามาแทนที่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งในประเทศไทยและในโลก  จึงมีความเป็นไปได้ด้วยประการฉะนี้.

หมายเหตุ  เป็นบทความนำเสนอหลังการปราฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมทางวิชาการ ของ “สมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (สออ.) ประจำประเทศไทย” ครั้งที่ 16 (The 16th Inter-University Conference on “Education for Sustainable Development”) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรชัย จ.มหาสารคาม (ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล เป็นอธิการบดี และเป็นประธานสมาคมฯ (สออ.ประเทศไทย) ด้วย)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
5 เมษายน 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/22726

<<< กลับ

 

เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล


(18 มี.ค. 49) บรรยายหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” (“Sufficiency Economy”) ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกในหลักสูตรนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยบูรพา (บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ) ซึ่งหัวข้อ “Sufficiency Economy” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชา “Seminar in Human Resources Research” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในหลักสูตรดังกล่าว (“PhD in Human Resources Development”)
ในการบรรยายได้อาศัย Power Point ของ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ 2 ชุด ภายใต้หัวข้อ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงาน” และ “หลักคิดและการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : องค์ความรู้ที่เกิดจากการขับเคลื่อน” ซึ่งจัดทำโดย “โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (mail@sufficiencyeconomy.org หรือ www.sufficiencyeconomy.org) รวมทั้งได้แจกจุลสาร “เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร” ซึ่งจัดทำโดย กลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (Sufficiency@nesdb.go.th โทร.0-2281-6329 หรือ www. nesdb.go.th/ SufficiencyEcon/main.htm)
ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะหมายถึง “เศรษฐกิจรู้จักพอ ซึ่งทำให้เกิดความเพียงพอ อย่างพอประมาณและพอดี” ได้ด้วย
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
21 มี.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/20195

<<< กลับ

“ความดี” คืออะไร

“ความดี” คืออะไร


“ความดี” คือการทำให้เกิดผลดีอย่างมีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวม รวมถึงต่อตนเอง ดังนี้

·       ผลดีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะที่ไม่จำกัดพวก เหล่า ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ

·       ผลดีต่อส่วนรวม รวมถึงต่อหมู่คณะ ต่อองค์กร ต่อชุมชน ต่อสังคม ต่อโลก ฯลฯ

·    ผลดีต่อตนเอง ได้แก่การพัฒนาตนเองอย่างเป็นคุณและสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาทางกาย ทางอารมณ์ ทางความคิด ทางจิตวิญญาณ ทางสติ ปัญญา ความสามารถ ฯลฯ

“ความดี”เป็นสิ่งที่มีมาในอดีต มีอยู่ในปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคต

“ความดี”คืออุดมการณ์อันสูงส่ง ของสังคมที่พึงปรารถนา

“ความดี” คือรากฐานอันแน่นลึก ของสังคมอุดมธรรม

“ความดี” คือแรงขับเคลื่อนอันทรงพลัง ซึ่งจะช่วยให้สังคมเคลื่อนไปในทิศทางที่พึงประสงค์

“ความดี” คือสายใยอันนุ่มเหนียว ที่ร้อยโยงผู้คนหลากหลายไปสู่ความสันติ ความเจริญ และความสุข ร่วมกัน

หมายเหตุ เป็นบันทึกความคิดระหว่างร่วมแถลงข่าว “สานต่อโครงการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยความรักและความดี 60 ปี 60 ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน น้อมเกล้าถวายในหลวง” และ “งานอาสาเพื่อในหลวง” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อ 1 มิ.ย. 49

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

20 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/34746

<<< กลับ

ประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง


(28 พ.ค. 49) ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม หลักสูตร “การพัฒนานักกฎหมายภาครัฐระดับต้น รุ่นที่ 1” จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำหรับนิติกรระดับ 5 – 6 ของหน่วยงานภาครัฐ จำนวนประมาณ 600 คน

ผู้ร่วมอภิปราย คือ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยมี รศ.ดร.โคทม อารียา เป็นผู้ดำเนินการรายการ (พร้อมร่วมอภิปราย)

ผมได้อภิปรายโดยพูดถึงกรณีน่าศึกษาที่เกิดขึ้นแล้วจริง ดังนี้

1. กรณีประชาธิปไตย ประชาสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่น 4 กรณี คือ

(1) ตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

(2) ตำบลเสียว กิ่งอ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

(3) ตำบลน้ำเกี๋ยน กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน

(4) บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย กิ่งอ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

2. กรณีขบวนการองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.)

3. กรณีขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ การร่างพรบ.สุขภาพแห่งชาติ และการปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศสวีเดน

4. กรณีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 – 10 และรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/33252

แนวทางสันติสมานฉันท์หลังการเว้นวรรคของนายกฯ

แนวทางสันติสมานฉันท์หลังการเว้นวรรคของนายกฯ


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่จะถึงนี้ ทำให้ความตึงเครียดในระยะเวลากว่าสองเดือนที่ผ่านมาได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นการตัดสินใจที่ดีและสอดคล้องกับแนวทางสันติสมานฉันท์อันเป็นที่พึงประสงค์ของสังคมไทย กลุ่มนักสันติวิธีที่ได้แสดงความความห่วงใยโดยตลอดต่อสถานการณ์ที่ผ่านมา ขอแสดงความชื่นชมต่อศักยภาพของสังคมไทย ที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้โดยยึดมั่นในสันติวิธี และเห็นว่าเป็นโอกาสดี ที่จะเน้นในเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้เกิดสันติสมานฉันท์ที่ยั่งยืนต่อไป จึงมีข้อเสนอดังนี้
1. พรรคไทยรักไทยคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้หนึ่ง ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อดำเนินภารกิจที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ:
ก. แปลงเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคมไทยไปสู่สันติสมานฉันท์ ที่เคารพความแตกต่างหลากหลายทางความคิดของผู้คนในสังคม
ข. เอื้ออำนวยให้มีกระบวนการที่ดี เป็นอิสระและเป็นที่ยอมรับ เพื่อทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เช่นภายใน 6 – 12 เดือน
ค. ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ผลการเลือกตั้งใหม่จะกำหนดผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
2. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตามมาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก่อนที่คณะรัฐมนตรีช่วงเปลี่ยนผ่านจะตัดสินใจในเรื่องที่มีผลผูกพันรัฐบาลระยะยาว หรือเกี่ยวข้องกับการลงทุนจำนวนมาก หรือมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง เช่น เม็กกะโปรเจกต์ เอฟ ที เอ ฯลฯ ควรมีการรับฟังและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเพียงพอจากประชาชนโดยตรง หรือโดยผ่านองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
3. เนื่องจากความขัดแย้งมีที่มาส่วนหนึ่งจากข้อสงสัย  เช่นการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องเหล่านี้ จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
4. เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาที่คงจะมีสมาชิกฝ่ายค้านจำนวนน้อยมาก ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายเป็นไปด้วยความรอบคอบ และมีการตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ตามสมควร จึงควรที่จะมีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมของผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก ที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญและอนุกรรมาธิการสามัญ
5. รัฐสภาควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 313 โดยเร็ว เพื่อให้มีคณะบุคคลมายกร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คณะบุคคลดังกล่าวอาจมาจากการเลือกกันเองของบุคคลกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มวิชาชีพ ชุมชนท้องถิ่น ผู้สนใจจากแต่ละจังหวัด และทรงคุณวุฒิทางกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และทางศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นต้น
6. ประเด็นเฉพาะหน้าประเด็นหนึ่งที่ควรให้มีการเสนอความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ควรที่มีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร ทั้งนี้ อาจใช้กระบวนการ “สานเสวนาประชาชน” เป็นต้น

กลุ่มนักสันติวิธี
ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
วันชัย  วัฒนศัพท์
สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์
ชัยวัฒน์  สถาอานันท์
โคทม  อารียา

5 เมษายน 2549
หมายเหตุ  เป็นเอกสารแถลงข่าวของ “กลุ่มนักสันติวิธี” ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย โดยเปิดการแถลงข่าวที่ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ 5 เม.ย. 49 คณะผู้แถลงข่าวประกอบด้วย (1) รศ.ดร.โคทม อารียา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล (2) ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และ (3) ผม ในฐานะประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
5 เม.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/22727

<<< กลับ

ความตั้งใจเข้าใจเข้าสู่ blog ในปี 2549

ความตั้งใจเข้าใจเข้าสู่ blog ในปี 2549


ผมตั้งใจว่านับแต่ต้นปี พ.ศ. 2549 จะเขียน blog อย่างสม่ำเสมอเพื่อเล่าประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เริ่มวันนี้ด้วยเรื่อง “หลักคิดสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน : ให้ภาคประชาชนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด”
2549 blog

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/11726

<<< กลับ