แนวทางสันติสมานฉันท์หลังการเว้นวรรคของนายกฯ

แนวทางสันติสมานฉันท์หลังการเว้นวรรคของนายกฯ


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่จะถึงนี้ ทำให้ความตึงเครียดในระยะเวลากว่าสองเดือนที่ผ่านมาได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นการตัดสินใจที่ดีและสอดคล้องกับแนวทางสันติสมานฉันท์อันเป็นที่พึงประสงค์ของสังคมไทย กลุ่มนักสันติวิธีที่ได้แสดงความความห่วงใยโดยตลอดต่อสถานการณ์ที่ผ่านมา ขอแสดงความชื่นชมต่อศักยภาพของสังคมไทย ที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้โดยยึดมั่นในสันติวิธี และเห็นว่าเป็นโอกาสดี ที่จะเน้นในเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้เกิดสันติสมานฉันท์ที่ยั่งยืนต่อไป จึงมีข้อเสนอดังนี้
1. พรรคไทยรักไทยคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้หนึ่ง ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อดำเนินภารกิจที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ:
ก. แปลงเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคมไทยไปสู่สันติสมานฉันท์ ที่เคารพความแตกต่างหลากหลายทางความคิดของผู้คนในสังคม
ข. เอื้ออำนวยให้มีกระบวนการที่ดี เป็นอิสระและเป็นที่ยอมรับ เพื่อทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เช่นภายใน 6 – 12 เดือน
ค. ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ผลการเลือกตั้งใหม่จะกำหนดผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
2. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตามมาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก่อนที่คณะรัฐมนตรีช่วงเปลี่ยนผ่านจะตัดสินใจในเรื่องที่มีผลผูกพันรัฐบาลระยะยาว หรือเกี่ยวข้องกับการลงทุนจำนวนมาก หรือมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง เช่น เม็กกะโปรเจกต์ เอฟ ที เอ ฯลฯ ควรมีการรับฟังและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเพียงพอจากประชาชนโดยตรง หรือโดยผ่านองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
3. เนื่องจากความขัดแย้งมีที่มาส่วนหนึ่งจากข้อสงสัย  เช่นการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องเหล่านี้ จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
4. เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาที่คงจะมีสมาชิกฝ่ายค้านจำนวนน้อยมาก ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายเป็นไปด้วยความรอบคอบ และมีการตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ตามสมควร จึงควรที่จะมีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมของผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก ที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญและอนุกรรมาธิการสามัญ
5. รัฐสภาควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 313 โดยเร็ว เพื่อให้มีคณะบุคคลมายกร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คณะบุคคลดังกล่าวอาจมาจากการเลือกกันเองของบุคคลกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มวิชาชีพ ชุมชนท้องถิ่น ผู้สนใจจากแต่ละจังหวัด และทรงคุณวุฒิทางกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และทางศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นต้น
6. ประเด็นเฉพาะหน้าประเด็นหนึ่งที่ควรให้มีการเสนอความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ควรที่มีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร ทั้งนี้ อาจใช้กระบวนการ “สานเสวนาประชาชน” เป็นต้น

กลุ่มนักสันติวิธี
ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
วันชัย  วัฒนศัพท์
สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์
ชัยวัฒน์  สถาอานันท์
โคทม  อารียา

5 เมษายน 2549
หมายเหตุ  เป็นเอกสารแถลงข่าวของ “กลุ่มนักสันติวิธี” ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย โดยเปิดการแถลงข่าวที่ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ 5 เม.ย. 49 คณะผู้แถลงข่าวประกอบด้วย (1) รศ.ดร.โคทม อารียา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล (2) ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และ (3) ผม ในฐานะประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
5 เม.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/22727

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *