“วิกฤติ” คิดเชิงบวก (1)
(บทสนทนากับ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสาและอดีตรองนายกรัฐมนตรี)
(ลงใน นสพ. ไทยโพสต์ 6 มิถุนายน 2553 หน้าแทบลอยด์)
…………………………………..
“เราต้องวิจัยเชิงลึก เรื่องวิกฤติครั้งนี้ สาเหตุที่สลับซับซ้อน วิธีการที่จะสามารถคลี่คลายสาเหตุเหล่านั้น หรือว่าวิธีการที่จะทำให้เราหลุดจากพันธนาการของโครงสร้างองค์ประกอบหลายอย่างที่เมื่อรวมกันแล้วทำให้เราเกิดวิกฤติ เราจะไปจับที่จุดใดจุดหนึ่งจะเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป เช่น ไปจับที่กลุ่มเสื้อแดง หรือไปเริ่มที่รัฐประหาร หรือกระทั่งย้อนหลังไปหลังพฤษภา 2535 มันก็ยังไม่ถูกต้องทีเดียว สิ่งที่เป็นพันธนาการสังคมไทยให้อยู่ในวังวนของปัญหาความขัดแย้ง ในบางระยะก็พัฒนาการมาเป็นความขัดแย้งรุนแรง เป็นสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบของธุรกิจ ระบบการศึกษา วัฒนธรรม”
“เมื่อยังไม่ชัดเจนเรื่องการยุบสภาจึงเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่ เหมือนกับเรายังมีเสี้ยนอยู่ในเนื้อ มันยังไม่ได้ถูกถอนออกไป มันอาจจะเป็นหนองขึ้นมาเมื่อไหร่ พุพองขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือเป็นฝีอยู่ ซึ่งเราต้องเอาฝีนี้ออก เอาเสี้ยนนี้ออก ที่จริงไม่ใช่เสี้ยนหรอก เป็นตะปูด้วยซ้ำ มันคือตะปูที่ยังอยู่ในร่างกายเรา ฉะนั้นต้องเอาออก แต่วิธีเอาออกก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งอยู่ดีๆ มาดึงไปโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับรู้ด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่ก็มาตีให้มันหนักเข้าไปอีกให้มันเจ็บหนักไปอีก ต้องมาคุยกันประเด็นนี้ เพราะมันอยู่ในแผนปรองดองแห่งชาติครั้งแรก และก็ยังเป็นประเด็นอยู่ ยังมีคนสงสัยข้องใจ ยังมีคนถือเป็นประเด็น และก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ความขัดแย้งที่จะต่อเนื่องไปอีก”
(-ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม)
…………………………………..
หากเทียบกับภาวะบ้านเมืองตลอดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา วันนี้หลายคนคิดว่าวิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทว่านี่คือภาวะที่ใบไม้นิ่งเพียงชั่วขณะ แต่ความขัดแย้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในสังคมไทยยังคงอยู่ รอเพียงวันปะทุอีกครั้งหากเราไม่เรียนรู้และไม่ทำอะไรเลย
ในประเทศไทยขณะนี้ความขัดแย้งทางความคิดลงลึกแทบจะทุกหมู่บ้าน ในชุมชนมีทั้งเหลืองและแดง มองแทบไม่เห็นหนทางแห่งความสมานฉันท์ แต่ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งชีวิตทั้งก่อนและหลังตำแหน่งอดีตรองนายกฯ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คลุกคลีกับงานพัฒนาชนบทและสังคมมาแทบทั้งชีวิต ชาวบ้านรู้จัก อ.ไพบูลย์ ดีพอๆ กับที่อาจารย์รู้จัก และเห็นวิวัฒนาการของประชาธิปไตยฐานรากว่าเข้มแข็งพอที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะพาให้ชุมชนก้าวผ่านความขัดแย้งหนนี้ไปได้
สร้างคุณค่า-จินตนาการร่วมกัน
ก่อนเกิดเหตุการณ์ 19 พ.ค. ไม่กี่สัปดาห์ แทบลอยด์ได้สัมภาษณ์ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ และพูดถึงความพยายามที่จะเปิดวงสันติสานเสวนาของทุกฝ่ายของความขัดแย้ง โดยวางตัวอาจารย์เป็นคนกลาง เพื่อสกัดกั้นความรุนแรงที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่แล้วสิ่งนั้นก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น
สำหรับความรุนแรงครั้งล่าสุด อาจารย์ไพบูลย์เรียกว่าวิกฤติ ‘เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)’ และได้เขียนบันทึกแนวทางการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยนับจากนี้
“ผมเสนอว่ามีอยู่ 6 ประเด็นใหญ่ที่ต้องจัดการ หนึ่งก็คือการเยียวยาที่ดี คำว่าดีนี่สำคัญนะ ดีหมายถึงว่าเหมาะสม เท่าเทียม มีประสิทธิภาพ สองก็คือการให้ความยุติธรรมที่ดี ก็คือความเป็นอิสระ ความโปร่งใส สามคือการค้นหาความจริง ก็ต้องค้นหาทั้งระดับต้นก็คืออะไรเกิดขึ้นจริงๆ และระดับลึก ซึ่งอันนี้ต้องใช้เวลา สี่คือการฟื้นฟูทั้งร่างกาย กายภาพ กิจการธุรกิจ และลึกลงไปถึงระดับจิตใจ ระดับบรรยากาศในสังคม อย่างหลังนี่จะยากกว่าส่วนแรก ข้อห้าคือการปฏิรูป ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่เลย และหลายฝ่ายกำลังคิดกำลังพยายามทำ แต่ผมแถมข้อหกก็คือว่ารัฐบาลมีแผนปรองดองแห่งชาติ ห้าข้อแรกถือเป็นเรื่องของสังคม ซึ่งรวมรัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าเป็นของรัฐบาล และไม่ใช่อยู่ภายใต้รัฐบาล เป็นเรื่องของสังคมที่จะดูแลว่าการเยียวยานั้นดี ทั่วถึง เหมาะสม ดูแลว่าการให้ความเป็นธรรมนั้นทำได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง เท่าเทียม เป็นธรรม ดูแลว่าการค้นหาความจริงก็ทำได้อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และก็ได้ความจริงที่คนยอมรับได้ ดูแลว่าการฟื้นฟูต่างๆ สังคมก็ต้องมาช่วยกันทำ มาทำกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ถ้วนทั่ว และดูแลว่าเรื่องการปฏิรูปก็ทำอย่างลึกซึ้งถ้วนทั่วเช่นเดียวกัน”
ความจริงระดับต้นรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ แต่ความจริงระดับ ‘ลึก’ คือสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้กันเสียที
“ผมเห็นว่าควรจะมีคณะบุคคลมาศึกษาวิจัยเชิงลึก เรื่องวิกฤติครั้งนี้ สาเหตุที่สลับซับซ้อน วิธีการที่จะสามารถคลี่คลายสาเหตุเหล่านั้น หรือว่าวิธีการที่จะทำให้เราหลุดจากพันธนาการของโครงสร้างองค์ประกอบหลายอย่าง ที่เมื่อรวมกันแล้วทำให้เราเกิดวิกฤติ เราจะไปจับที่จุดใดจุดหนึ่งจะเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป เช่น ไปจับที่กลุ่มเสื้อแดง หรือไปเริ่มที่รัฐประหาร หรือกระทั่งย้อนหลังไปหลังพฤษภา 2535 มันก็ยังไม่ถูกต้องทีเดียว สิ่งที่เป็นพันธนาการสังคมไทยให้อยู่ในวังวนของปัญหาความขัดแย้ง ในบางระยะก็พัฒนาการมาเป็นความขัดแย้งรุนแรง เป็นสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบของธุรกิจ ระบบการศึกษา วัฒนธรรม เช่น ค่านิยมต่างๆ อุปถัมภ์นิยม แม้กระทั่งศาสนา ธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐยิ่ง แต่ว่าประชาชนคนไทยอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมะเหล่านั้น หรือทำในทางตรงกันข้าม หรือวัฒนธรรมที่ดีของเราก็ถูกกัดกร่อน มีวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ไม่ดีเข้ามา หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผสมผสาน และกลายเป็นโครงสร้าง กลายเป็นกลไก กลายเป็นช่องทางต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา การจะคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ก็ต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ ว่าจะมียุทธศาสตร์หลักๆ อะไรบ้าง คงไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นรายข้อ คำนึงถึงปัญหา สาเหตุของปัญหา แต่ตอนจะแก้ต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ และก็ดำเนินการ ซึ่งดีที่สุดก็ต้องมีการรวมพลังสร้างสรรค์กันทั้งสังคม ทุกๆ ฝ่ายร่วมกัน สร้างวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน สร้างจินตนาการร่วมกัน สร้างคุณค่าร่วมกัน และก็ช่วยกันทำหลายๆ อย่าง ที่จะนำไปสู่วิสัยทัศน์หรือว่าเป้าหมาย จินตนาการใหญ่”
“ซึ่งถ้าเราจะทำก็คือว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ วิกฤติครั้งนี้ต้องถือว่าใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาอันยาวนาน ทำให้เกิดความแตกแยกแตกร้าว ร้าวฉาน โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ถ้าเราจะคิดเชิงบวก ซึ่งเราควรจะคิดเชิงบวก คิดเชิงอนาคต คิดที่จะมุ่งไปข้างหน้า ไม่มาเศร้าโศกเสียใจหรือว่าเคียดแค้นชิงชังกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว คิดไปข้างหน้า คิดถึงอนาคตที่ดี จินตนาการที่เรามีร่วมกัน ช่วยกันคิดและช่วยกันทำ ก็จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญ คือใช้วิกฤติเป็นตัวกระตุ้น ผมว่าไม่มีครั้งใดหรอกที่สังคมไทยเหมือนกับถูกเขย่าอย่างแรง เป็นตัวกระตุ้นที่เราสามารถใช้พลังสร้างสรรค์ที่เรามีอยู่ ใช้ความดีที่เราอยู่ ใช้ความสามารถที่เรามีอยู่ ใช้พละกำลังที่เรามีอยู่ ร่วมแรงร่วมใจกันทำ ผมเชื่อว่าเราทำได้”
ถือว่าความขัดแย้งหนนี้เขย่าทุกชนชั้นในสังคมไทย
“เขย่าแน่ๆ และก็เขย่าอย่างมีนัยสำคัญ ผมเพิ่งฟังคนซึ่งอยู่ในวงการธุรกิจ เป็นนักบริหารระดับสูง ซึ่งชีวิตเขากับชีวิตชาวบ้านมันคนละแบบเลย เขาก็มาพูดทำนองว่าเอ๊ะสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลง ความเหลื่อมล้ำของผู้คน โอกาสที่ไม่ทัดเทียม ต้องจัดกันใหม่ ซึ่งของอย่างนี้เมื่อก่อนเราจะไม่ค่อยได้ยิน คนจะไม่รู้สึกมาก และคนหลายคน นักบริหารนักธุรกิจเขาเป็นคนฐานะดี มีบ้านใหญ่โต มีเงินทองมากมาย แต่พอเกิดเหตุอย่างนี้ทำให้เขาคิด ซึ่งเขาอาจจะคิดอยู่บ้างแล้ว แต่ครั้งนี้มันเขย่าจนเขาคิดจริงจังขึ้น และเขาคิดเชิงบวกด้วยนะ เขาไม่ได้คิดไปโกรธไปแค้นไปรังเกียจใครด้วย เราต้องปรับปรุงสังคมเราอย่างนี้ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้โอกาสนี้ที่จะรวมพลังสร้างสรรค์ของคนทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า ทุกวงการทุกอาชีพ ทุกชั้น และทุกพื้นที่ เวลาทำงานเรื่องสังคมต้องคิดเชิงพื้นที่ด้วย คือไม่ใช่คิดแต่ที่กรุงเทพฯ ต้องคิดว่าในหมู่บ้านในตำบล ในชุมชนต่างๆ เขามีผู้คนอยู่ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นเจ้าของเรื่อง ในพื้นที่ของเขา เขาควรจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรื่องของเขา พื้นที่ของเขา โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีราชการส่วนภูมิภาค มีหน่วยงานของรัฐ ให้โอกาสเขาเป็นตัวของเขาเอง ให้โอกาสเขาที่จะเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงเงินทุน เข้าถึงงบประมาณได้ตามสมควร แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ควรจะมีบทบาทในการที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายของรัฐที่ดี เพราะนโยบายของรัฐที่ดีควรจะมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน การมีส่วนร่วมมาจากไหน ก็มาจากประชาชนทุกพื้นที่ ไม่ใช่เราบอกว่า โอ้ย เราเชิญมาหมดแล้วทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ นักการศาสนา แม้กระทั่งผู้นำชุมชน แต่ว่าเชิญมากรุงเทพฯ หมด ไม่พอ ต้องมีการมีส่วนร่วมของคนทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม ทุกวงการ และก็ทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง”
“เมื่อวานผมไป ต.คลองเขิน จ.สมุทรสงคราม เป็นชุมชนที่ดีมาก ผมก็เพิ่งทราบว่า จ.สมุทรสงคราม เขาได้รับการจัดอันดับอาณาเขตที่น่าอยู่เป็นที่ 3 ในโลก และตำบลคลองเขินที่เราไปเป็นตำบลดีเด่นเป็นที่ 1 ของจังหวัด รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องอยู่เย็นเป็นสุข ประชาชนเขามีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูแลตัวเองได้ มีผู้นำที่หลากหลาย ที่น่าสนใจคือเขามีสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ผมเป็นคนเสนอ ปรากฏว่ากรรมการสภาองค์กรชุมชน หรือสมาชิกสภาองค์กรชุมชน ที่กฎหมายเขาจะบอกว่าให้มาจากอะไรบ้าง ในกว่า 30 คนนี่ ผู้หญิงกว่า 20 คน และประธานก็ผู้หญิง สมาชิกหรือกรรมการผู้หญิงก็ 2 ใน 3 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่เข้มแข็ง อาจจะไม่ใช่ว่าเข้มแข็งที่สุดหรอก แต่ว่าเข้มแข็งพอสมควร อย่างน้อยเขาก็มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข อาจจะมากกว่าคนในกรุงเทพฯ ด้วย”
แต่ความขัดแย้งที่ลงลึกในทุกชุมชนจะเป็นอุปสรรคของการมองเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน
“อย่างที่ตำบลคลองเขินดูแล้วไม่มีความขัดแย้ง ที่จริงแล้วในระดับชุมชน ถ้าเขาได้พูดได้คุยกัน เขาไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรง ชุมชนที่ก้าวหน้าสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และเป็นประชาธิปไตยฐานรากที่สำคัญ บางแห่งเขาเลือกผู้นำด้วยการหาความเห็นร่วม เขาปรึกษาหารือกัน พูดคุยกัน อาจจะมีผู้ใหญ่เป็นแกน และก็ตกลงกันว่า เออคนนี้ควรจะเป็นนายก อบต. คนนี้ควรจะเป็นกำนัน เวลาไปลงคะแนนมันก็เป็นไปตามนั้น ปรึกษาหารือร่วมกัน คุยกัน และก็ไม่รู้สึกว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เวลาแข่งขันก็เป็นมิตร และคนที่ไม่ได้ก็ยังมาช่วยทำงาน มี อาจจะไม่มากแต่มี และก็เป็นตัวอย่างที่ดี อันนี้ชี้ให้เห็นว่าเรามีศักยภาพอยู่แล้วที่จะสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเป็นสุข ชุมชนประชาธิปไตย การเมืองภาคพลเมืองที่ดีมันมีตัวอย่างที่มีจริง เรามีศักยภาพที่จะทำอย่างนั้นได้ และนี่แหละจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการเมือง เพราะการปฏิรูปการเมืองควรจะต้องปฏิรูปโดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ระดับฐานรากเลย และก็ประชาชนมีส่วนสำคัญในการจัดการดูแลตนเอง นี่คือการเมืองภาคพลเมือง การเมืองไม่ได้แปลว่ามาลงคะแนนเลือกตั้ง การเมืองคือการจัดการสังคม แต่สังคมเราไม่ได้มีแต่ระดับประเทศอย่างเดียว หรือมีที่กรุงเทพฯ เรามีสังคมเล็กสังคมน้อยเยอะไปหมด ก็ต้องให้ประชาชนเขามีโอกาสจัดการ จัดการเรื่องราวของเขามากเท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นการเมืองภาคพลเมืองที่ดีเท่านั้น”
หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การเมืองภาคพลเมืองจะเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ยังไม่หลุดพ้นวงจรอุปถัมภ์ของนักการเมือง
“คนที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองจากส่วนกลาง นักการเมืองระดับชาติ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเมืองภาคพลเมืองไปได้ช้า เพราะนักการเมืองจำนวนมากส่วนใหญ่อาจจะยังมองการเมืองเป็นเรื่องอำนาจ เรื่องประโยชน์ เรื่องพวกพ้อง ฉะนั้น เป้าหมายไม่ใช่ให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ต้องการเสียงจากประชาชนด้วยการมีอะไรไปให้มากกว่าที่ว่าให้ประชาชนเขาได้คิดเองทำเอง เขาทำเรื่องของเขา มีแต่ไปถามว่าคุณอยากได้อะไร ผมจะไปหาให้ ประชาชนเนื่องจากอยู่ในระบบอุปถัมภ์นิยมมานานก็อยากได้ เป็นนักการเมือง เออช่วยหน่อยสิ ช่วยงานศพ งานแต่งงาน ฝากลูกฝากหลาน หรือช่วยเอางบประมาณมา มันก็เลยกลายเป็นทั้งประชาชน ทั้งนักการเมือง ก็ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ นักการเมืองอุปถัมภ์ประชาชน ประชาชนก็เลยคาดหวังให้นักการเมืองอุปถัมภ์ วนไปวนมา แทนที่ประชาชนจะมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง นักการเมืองคือผู้รับใช้ หาคนที่เหมาะสม คุณไปทำหน้าที่ให้ดี ทำหน้าที่ไม่ดีเราก็ไม่เลือกคุณอีก อะไรอย่างนี้เป็นต้น ต้องให้ประชาชนอยู่เหนือนักการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองอยู่เหนือประชาชน นี่แหละก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง ถ้าเราพูดกันถึงเรื่องปฏิรูปประเทศไทย ก็ต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปวัฒนธรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย เช่น ให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสม เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แปลว่าไม่ค้าขายนะ เศรษฐกิจพอเพียงคือเศรษฐกิจที่ได้สมดุลในความพอดี เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ พอเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นการฟ้องว่าเศรษฐกิจที่ดำเนินไปเสียดุล เศรษฐกิจที่ถือว่าสมัยใหม่ ทุนนิยมเสรี แข่งขันเสรี มันเกินดุล นักธุรกิจก็คิดแต่เรื่องกอบโกยกำไร เห็นแก่ตัว ธุรกิจก็ต้องการเติบโต ไม่คำนึงถึงเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม เรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ไม่พอดี ตอนนี้จึงเกิดธุรกิจที่เขาเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม social enterprise เป็นธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งในอังกฤษมีเป็นหลายหมื่นเลยนะที่เขาตั้งขึ้นมา หรือว่ากำหนดวัตถุประสงค์เลยว่าต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม แต่ดำเนินงานเยี่ยงธุรกิจ มีผลกำไร แต่ผลกำไรไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ผลกำไรเป็นวิธีการที่ทำให้สามารถดำเนินงานไปได้โดยไม่ติดขัด มันจะต่างกัน ธุรกิจโดยทั่วไป กำไรคือเป้าหมาย ประโยชน์ส่วนตัวคือเป้าหมาย ส่วนประโยชน์ต่อสังคมกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หรือว่าเขามีแฟชั่นให้ทำ หรือว่าทำเท่าที่จำเป็น มันจะต่างกัน อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่าการมีระบบธุรกิจที่ดีเป็นไปได้ เพราะกำลังเกิด ประเทศไทยก็กำลังทำอยู่นะ รัฐบาลก็ประกาศเป็นนโยบาย มีคณะกรรมการที่จะส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมหรือกิจการเพื่อสังคม รวมถึงส่งเสริมพวกเอ็นจีโอ องค์กรสาธารณประโยชน์ นอกเหนือจากธุรกิจให้สามารถที่จะทำประโยชน์ให้สังคมโดยพึ่งตนเองได้ทางการเงิน ฉะนั้น เศรษฐกิจเองก็ต้องการการปฏิรูป นอกเหนือจากการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา ศาสนาหลักของเราคือศาสนาพุทธ ก็ต้องการการปฏิรูป พระท่านก็พูดเอง พระท่านก็บอกอยากปฏิรูประบบของพุทธศาสนา ตัวพุทธศาสนาดีอยู่แล้ว แต่วิธีที่เราจัดการในเรื่องการศาสนาสั่งสมปัญหามาเนิ่นนาน”
นั่นคือทุกองคาพยพในสังคมไทยเปื่อยมานานแล้ว พอเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่จะบีบให้แต่ละภาคส่วนต้องปฏิรูปตัวเอง
“ก็เป็นโอกาสดี ถามว่าแล้วใครจะมาคิดเรื่องยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าน่าจะมีคณะออกมานะ ในบางประเทศเขาตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าน่าจะเป็นการร่วมกันหลายฝ่าย เป็นคณะที่มาจากหลากหลาย โดยเฉพาะมาจากภาคประชาชน ภาคประชาชนต้องรวมทุกฝ่าย ยกเว้นรัฐบาลนะ อะไรที่ไม่ใช่รัฐบาลเรียกว่าภาคประชาชน แต่ในการทำงานก็ให้ภาครัฐบาลเข้าไปร่วมด้วย คือถ้าเราบอกว่าเป็นเรื่องของหลายๆ ฝ่ายในสังคมเข้ามาร่วมกัน ก็คือรวมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชน นักวิชาการ นักธุรกิจ นักการศาสนา ข้าราชการ นักการเมือง รวมเข้ามาหมดได้ แต่คนที่จะเป็นแกนในเรื่องนี้ ผมคิดว่าความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ ผู้ที่อยู่ในวงการมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างภูมิปัญญา ชื่อก็บอกอยู่แล้วมหาวิทยาลัย ที่แห่งวิทยาก็คือความรู้ และควรจะเป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเรามีเกือบ 200 แห่ง เฉพาะมหาวิทยาลัยหลักๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ไม่ได้แปลงมาจากราชภัฏหรือราชมงคลก็มีเกือบร้อย ถ้าเราจะรวมตัวกันและก็เลือกคนที่เหมาะสม และสมัครใจมาตั้งต้นและก็ชวนคนอื่นๆ อีก ซึ่งมันจัดได้หลายแบบ อาจจะต้องมีทีมที่ไม่ใหญ่นักเป็นคนทำการศึกษาวิจัยคล้ายๆ คณะกรรมาธิการ และก็มีฝ่ายเทคนิค ฝ่ายเลขาฯ เล็กลงไปอีก หรือคณะทำงานที่แยกกันไปทำในเรื่องต่างๆ แล้วเอามาบูรณาการ มีเวทีที่ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะทดสอบความคิดเห็น ระดมความเห็นร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกัน ให้เป็นเวทีที่ใหญ่ขึ้น ในที่สุดให้เป็นความเห็นร่วมกันของคนทั้งประเทศ คล้ายๆ กับที่เราทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะหลังๆ ตั้งแต่แผนฯ 8 เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วมสูง ทำกันอาจจะประมาณ 1 ปีเต็มๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 เกือบ 1 ปีเต็มที่มีส่วนร่วมสูงมาก แต่สำหรับเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยต้องมีทีมศึกษาวิจัยเพื่อจะได้ลงลึก เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แต่ถ้าทำเป็นขั้นเป็นตอน เป็นกระบวนการ ก็คิดว่าทำได้และก็น่าทำ”
ปัญหาคือเมื่อจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสักชุด ‘คนกลาง’ คือเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่บุคลากรในอุดมศึกษา อธิการบดีหลายคน ก็ได้เลือกฝ่ายเลือกข้างกันไปแล้ว
“นั่นเป็นเรื่องที่เขาเข้าไปสู่ความขัดแย้ง แต่นี่เรากำลังจะทำเรื่องสร้างสรรค์ คนที่เกี่ยวข้องที่มาจัดการก็ต้องเลือกคนที่เหมาะสม ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม จะมีเสียงสะท้อนอย่างไร ถ้ามีปัญหาเราก็แก้ไขได้ เพราะเรื่องที่ทำไม่ใช่อยู่ที่ว่าใครมาทำ แต่อยู่ที่เนื้อหาออกมาอย่างไร และคนในวงกว้างก็เห็นชอบเรื่องนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นชอบกันง่ายๆ นัก แต่ถ้าได้ศึกษาได้วิจัยให้ถ่องแท้ ให้กว้างขวางลึกซึ้ง เอามาตีแผ่พิจารณากันในที่สาธารณะซึ่งทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ค่อยๆ ขัด ค่อยๆ เกลา ค่อยๆ ตะล่อมเข้ามา จนกระทั่งเป็นเรื่องที่เห็นชอบร่วมกันได้ และก็มาช่วยกันทำ ช่วยกันคิดแล้วก็มาช่วยกันทำ คนที่ทำไม่ใช่รัฐบาลทำ รัฐบาลต้องทำบางส่วน รัฐบาลก็คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำบางส่วน ฝ่ายตุลาการต้องทำบางส่วน ฝ่ายนักธุรกิจ ฝ่ายประชาชน ฝ่ายวิชาการก็ต้องทำบางส่วน ทุกฝ่ายต้องไปทำ ไปทำแล้วก็มาดูด้วยกัน มีการติดตามประเมินผล เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ทำ เราก็มาแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไป เรื่องปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่เป็นเรื่องแยกฝ่าย ไม่ใช่ไปหาความผิด ไม่ได้มาดูว่าใครผิดใครถูก ใครดีใครไม่ดี ไม่ใช่ เป็นการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกอย่างสร้างสรรค์ และทุกฝ่ายมาร่วมได้หมด ไม่มีสีไม่มีพวก แต่ถ้าใครรู้สึกว่ายังไม่มีส่วนร่วมและอยากจะเข้ามาร่วมก็เข้ามาได้ตลอดเวลา ทำอย่างนี้ไป เรื่องปฏิรูปไม่ใช่จะทำกันได้ปีสองปี มันต้องทำกันเป็นสิบปียี่สิบปี เพราะว่าเราพยายามพัฒนาการเมืองมาตั้ง 70 กว่าปีก็ยังพัฒนาไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่”
ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยมักไม่เรียนรู้จากความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์เดือนตุลา มาถึงพฤษภาทมิฬ เมื่อเหตุการณ์ยุติเราก็ทำเป็นเหมือนฝังกลบสิ่งที่เกิดขึ้น และบอกตัวเองว่านี่จะเป็นความรุนแรงครั้งสุดท้ายของเมืองไทยแต่มันไม่ใช่
“ทุกอย่างมีทั้งแง่บวกแง่ลบ เป็นเหรียญสองด้านเสมอ เดือนพฤษภาเป็นวิกฤติที่จบเร็ว และก็ดูเหมือนจะราบเรียบ ก็เลยไม่ได้กระตุ้นคนเท่าที่ควร ให้คิดอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่าว่า เอ้า รัฐประหารจบไปแล้ว มีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาแล้ว เราเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว และเราบอกว่าเดินของเราต่อไป ในแง่หนึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น แต่สำหรับครั้งนี้รุนแรงและกระตุ้นคนมาก กระตุกอย่างแรง ก็น่าจะใช้เป็นโอกาสที่จะระดมพลังสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ของคนไทยทั้งสังคม”
ขอแย้งว่านี่คือการมองวิกฤติแบบเชิงบวกในสายตาอาจารย์ว่าทุกชนชั้นจะต้องปรับตัวเอง แต่จะมั่นใจได้แค่ไหนว่าชนชั้นที่กุมโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยอยู่จะยอมลดทอนลง ปฏิกิริยาในระยะนี้อาจจะเป็นเพียงการจำยอมไหลไปตามกระแสสังคมเท่านั้น
“คือวิธีคิดของผมเป็นวิธีคิดเชิงบวกและเชิงรุก จะถือว่าเป็นทัศนคติส่วนตัวก็ได้ ตลอดชีวิตผมก็ทำงานมาในลักษณะนี้ คิดเชิงบวกคิดเชิงรุก คือคิดไปข้างหน้า อย่างน้อยมีคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายหลายคนมาช่วยกันทำเรื่องที่ดีๆ เรื่องที่สร้างสรรค์ ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว และก็ทำให้กันให้กว้างขวางที่สุด คลุมพื้นที่ให้มากที่สุด คลุมประเด็นให้มากที่สุด ผมก็เชื่อว่าสิ่งที่ดีสิ่งที่สร้างสรรค์เหล่านี้มีอานุภาพในตัวเอง ที่จะค่อยๆ ทั้งแทรกซึมทั้งกลบและก็ทั้งข่มสิ่งที่ไม่ดีให้อ่อนกำลังลงหรือน้อยลงไปเอง เหมือนกับว่าในบริษัทเรามีคนอยู่ร้อยคน ดีครึ่งไม่ดีครึ่ง ถ้าเราไปนั่งด่าแต่คนไม่ดี ชวนคนดีมาด่าคนไม่ดี คนไม่ดีก็โกรธแค้น มาด่ากลับ คนที่เคยดีเลยกลายเป็นไม่ดีไปด้วย อย่างน้อยไปด่าเขาก็ไม่ดีแล้ว แต่ถ้าส่งเสริมให้คนดีก็ทำดีให้มากขึ้น ให้เห็นผลมากขึ้น และก็เอื้อเฟื้อเจือจุนไปถึงคนที่ไม่ดีด้วย และก็ชวนคนที่ไม่ดีมาร่วมกันทำสิ่งที่ดีๆ อิทธิพลนี้จะค่อยๆ ขยายออกไปๆ ฉะนั้นอาณาบริเวณของความดีของคนที่ทำสิ่งที่ดี ของผลลัพธ์ที่ดีก็มากขึ้นๆ คนที่สุดโต่งคนที่คิดทางลบ คิดทางร้ายก็จะค่อยๆ หยุดลง จนกระทั่งเหลือเพียงนิดเดียว ไม่มีกำลังมากพอที่จะมาทำลายส่วนใหญ่ได้ อาจจะไม่หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำให้คนทั้งสังคมดีหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หันมาร่วมด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าถ้าความดีหรือการทำสิ่งที่ดีที่สร้างสรรค์ มันสร้างผลดีด้วย ทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น การเมืองดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้นแบบสมดุล การศึกษาดีขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยฐานราก ประชาธิปไตยที่เป็นการเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งขึ้น สิ่งเหลานี้จะค่อยๆ เป็นพลังที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน และทำให้ส่วนที่อ่อนด้อย ส่วนที่สุดโต่ง ส่วนที่ไม่ดีหรือเลวร้าย ค่อยๆ อ่อนกำลังไป”
กระบวนการ-ทัศนคติ-สาระ
อาจารย์ไพบูลย์ให้ความเห็นว่าในแผนปรองดองแห่งชาติของนายกฯ อภิสิทธิ์ต้องดำเนินต่อไป และให้ความสำคัญกับ กระบวนการ ทัศนคติ และ สาระ
“ทั้งสามเรื่องไปด้วยกัน การแก้ปัญหายากๆ การทำเรื่องที่ใหญ่ เรื่องซับซ้อน และยิ่งเป็นเรื่องความขัดแย้ง ยิ่งต้องการกระบวนการที่ดี เหมือนอย่างการวางแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจต่างๆ เขาต้องมีกระบวนการนะ ไม่ใช่จู่ๆ ผู้จัดการใหญ่ก็มากำหนดวิสัยทัศน์ เขาต้องใช้กระบวนการที่มีส่วนร่วม บริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม เชลล์ เอสโซ่ ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เขาต้องมีกระบวนการในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน สร้างยุทธศาสตร์ร่วมกัน นี่คือกระบวนการ ไม่ใช่ว่าเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ หรือวิสัยทัศน์จะกำหนดกันได้ง่ายๆ อาจจะดีแต่ว่าถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมสูง คนจะไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ความผูกพันก็จะน้อย แต่ถ้าได้มากำหนดร่วมกันคนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ พอเป็นเจ้าของก็จะมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ และหวงแหนถ้าเผื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นกระบวนการที่ดีก็จะนำไปสู่ทัศนคติที่ดี จะรู้สึกว่าเออเราก็เป็นเจ้าของร่วมกันนะ เราเป็นเพื่อนกันนะ บรรยากาศในที่ทำงานก็จะดี การที่คิดจะทำอะไรที่เป็นเนื้องานมันก็จะดีด้วย ตัวสาระมันจะดี”
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/365358
<<< กลับ