(นำเสนอในการอภิปรายเรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา” ร่วมกับ รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการอภิปราย โดย ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานคณะกรรมการกิจการบริหารมหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 29 พ.ค. 2549 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ขอสวัสดีท่านอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รักและเคารพทุกท่าน ผมวนเวียนเข้ามาในจุฬาฯ ทั้งในเชิงกายภาพ คือเข้ามาในสถานที่ และเข้ามาในเชิงจิตใจ เพราะความเกี่ยวพันต่างๆ ค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในเนื้อในเท่าไร คือ ไม่เคยได้มาสอนหรือมาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ หรือกรรมการใดๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ที่วนเวียนเข้ามาเยอะเพราะมาร่วมอภิปรายบ้างมาฟังการประชุมบ้าง มาร่วมกิจกรรมต่างๆ บ้าง ซึ่งหลายกรณีไม่ใช่กิจกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เป็นกิจกรรมขององค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรด้านการพัฒนาสังคม หรือเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่องค์กรต่างๆ จัดขึ้นแล้วมาอาศัยบริเวณและสถานที่ของจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย
ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยู่ฟากโน้น เฝ้ามองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ นึกว่าจะได้ข้ามฟากมาเรียน ผลสุดท้ายสอบได้เหมือนกันแต่เนื่องจากมีทางเลือก คือ อาจารย์สตางค์เปิดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นมาใหม่ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ดูแล้วน่าสนใจ เลยขอไปทางโน้น แต่ผมก็ยังมีเพื่อนในจุฬาฯ หลายคนผมรุ่นเดียวกับอาจารย์ดร.สุจิต บุญบงการ ดร. โชคชัย อักษรนันท์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เอ่ยเพียงบางชื่อที่คงเป็นที่รู้จักกัน ฉะนั้น เวลาเข้าที่นี่ รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง แต่อาจจะไม่รู้จักใครแบบใกล้ชิดมาก เห็นหน้าก็พอรู้จัก ได้พูดได้คุยกันบ้าง ท่านอาจารย์จุมพลก็เพิ่งได้รู้จักเมื่อไม่นานในกิจกรรมเกี่ยวกับทางด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยศูนย์คุณธรรมที่ผมเป็นประธานอยู่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา
วันนี้หัวข้อ คือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา ” หัวข้อชวนให้ฉงนว่ากำลังพยายามจะคิดอะไร ทำอะไร
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่” เข้าใจว่านึกถึงการแปลงรูปไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบใหม่หรือไม่ เพราะดูมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มักจะมีคำถามเหมือนกันว่าเราต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างไร บางแห่งก็บอกว่าไม่ค่อยต่างเท่าไร ดูวิธีบริหารจัดการ วิธีคิด วิธีทำ ดูจะเดิมๆ เสียมากกว่าแต่อาจจะไม่เชิง 100% เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับได้มีนวัตกรรม เช่น การคิดวิธีการบริหาร การจัดโครงสร้าง การจัดระบบงาน พยายามฉีกแนวไปและมีความเป็นอิสระมากขึ้น
ส่วนที่ 2 ของหัวข้อ คือ “จริยธรรมตามแนวธรรมราชา ” ต้องคิดต่อว่ากำลังพยายามจะมุ่งสู่อะไร ผมเองพอได้เห็นคำว่าธรรมราชา ราชาแห่งธรรม แน่นอนเราคงนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อโยงเรื่องธรรมะกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงต้องนึกถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำนี้เป็นพระราชปณิธานที่ทรงพลังและมีความหมายอย่างยิ่ง แต่ความหมายนั้นไม่ใช่เพราะถ้อยคำ แต่เพราะการปฏิบัติของพระองค์ท่านตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ก็ยิ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะนึกถึงพระปฐมบรมราชโองการกับแนวทางปฏิบัติที่พระองค์ท่านได้ดำเนินมาอย่างสม่ำเสมอ อย่างแท้จริงอย่างมีความหมาย และเป็นการปฏิบัติที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีงามให้กับทั้งประชาชน องค์กร หน่วยงานทั้งหลาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง
คำว่า “โดยธรรม” หมายถึงอะไร เป็นการประจวบเหมาะมากที่ปีนี้เป็นการครบ “100 ปีชาติกาลพระพุทธทาส” ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายคำว่าธรรมะไว้ 4 ประการ คือ
1. ธรรมชาติ
2. กฎธรรมชาติ
3. การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ
4. ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ
เป็นความหมายของคำว่าธรรมะที่ผมคิดว่ากระจ่างแจ้ง ลึกซึ้ง และให้คุณค่ามากถ้าจะนำมาคิด นำมาปฏิบัติ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้ความหมายธรรมะอีกข้อหนึ่ง ท่านบอกว่าธรรมะเป็นเทคนิค ท่านใช้ภาษาอังกฤษว่า technique แล้วบอกว่าไม่ใช่ technical และไม่ใช่เทคโนโลยี หมายถึงเป็นเครื่องมือต่างๆ ผมไม่ถึงกับเข้าใจลึกซึ้งว่า ท่านพุทธทาสใช้คำว่า technique ความละเอียดเป็นอย่างไรแต่พอจะอนุมานได้ว่าหมายถึง “ศิลปะและวิทยาการในการคิด การพูด การทำ”และมีคำที่ท่านพุทธทาสใช้ คือ “technique สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ข้อความหลังนี้สำคัญ ท่านบอกว่า ธรรมะคือ technique หรือศิลปะและวิทยาการในการคิด การพูด การทำ วรรคหลังนี้เป็นของผมเอง แต่วรรคต่อไปเป็นของท่านพุทธทาส คือ สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้นคำว่า “โดยธรรม” จึงเป็นการครองแผ่นดินโดยอาศัยธรรมะเป็นฐาน เป็นแนวทาง เป็นแนวปฏิบัติ แต่ธรรมะนั้นถ้าตีความหมายตามท่านพุทธทาสคือธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ หรือเป็น technique เป็นศิลปะและวิทยาการสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
“ ธรรมะ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผมเองคิดง่ายๆ ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ไม่ทราบ แต่หากเกิดประโยชน์ก็น่าจะใช้ได้ ผมคิดง่ายๆ ว่าธรรมะคือความถูกต้องดีงาม ฉะนั้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปณิธานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ผมก็ตีความอย่างง่ายๆ ว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เป็นประโยชน์สุขของมหาชน ของคนทั้งหมด ของคนทั้งสังคม ไม่ใช่ของเฉพาะกลุ่มเฉพาะเหล่า นั่นเป็นสิ่งที่น่าจะอนุมานได้จากพระราชปณิธาน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ตรัสถึงธรรมะหลายต่อหลายครั้ง เป็นร้อยๆ ครั้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำคุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการสำหรับประชาชนชาวไทย ซึ่งผมคิดว่าประยุกต์มาจากฆราวาสธรรม 4 ของพระพุทธเจ้า นั่นคือสัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประยุกต์และอธิบายความที่มีความหมายเจาะจงสำหรับสังคมไทยมากขึ้น
สัจจะ หมายถึง ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความจริงใจ
ทมะ คือ การข่มใจ การที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความอ่อนแอหรือความกดดัน
ขันติ คือ ความอดทน พยายาม พากเพียร
จาคะ คือ การสละประโยชน์ส่วนตน คือ การให้ สละสิ่งที่ไม่ดี สละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
คุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการ จึงเป็นธรรมะที่เป็นพื้นฐานและเป็นแนวทางแห่งการดำเนินภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นไปตามพระราชปณิธานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม”
“เศรษฐกิจพอเพียง”
ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างและทรงมีพระราชดำรัสเป็นครั้งคราว จนกระทั่งล่าสุดได้มีพระราชดำรัสว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นสูตร เป็นรูปแบบ ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่าเป็น โมเดล (Model) แต่พูดถึงโมเดล ก็ไม่อยากจะนึกถึงเช่น “อาจสามารถโมเดล” ซึ่งก็เป็นโมเดลหนึ่ง แต่เป็นโมเดลที่ดีหรือไม่ดีขอให้ท่านพิจารณาเอาเองแล้วกัน
แต่โมเดลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสูตร เป็นรูปแบบ เป็นกระบวนการดำเนินชีวิตและประกอบภารกิจของบุคคล ของครอบครัว ของหน่วยงาน ของชุมชนและของสังคม
เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีหลักใหญ่ ๆ 5 ประการ บางคนแบ่งเป็น 2 ส่วน บางคนแบ่งเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือมีลักษณะ 3 ประการ และมีเงื่อนไข 2 ประการ ท่านองคมนตรี คุณหมอเกษม วัฒนชัย เป็นคนแยกแยะออกมาว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ เป็น Prerequisite คือ 2 ส่วนหลัง แต่ 3 ส่วนแรกเรียกว่าเป็นลักษณะสำคัญ
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน ได้ให้ความหมาย พูดง่ายๆ เขียนเป็น 3 ห่วงเกี่ยวโยงกัน และมี 2 เงื่อนไข
สามห่วงที่ว่านั้น คือ 1) ความพอประมาณ 2) ความมีเหตุผล 3) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร พอประมาณ คงพอจะเข้าใจ คือไม่สุดโต่ง ไม่มากไป ถ้าแปลเป็นภาษาภาษาทางเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าไม่โลภมาก มีเหตุผลคือมีเหตุมีผล อธิบายได้ เป็นไปตามหลักการที่สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรหมายถึงมีกลไก มีเครื่องมือ มีวิธีการที่จะป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นหรือให้เกิดขึ้นแต่น้อย หรือเกิดขึ้นก็สามารถจะรองรับได้ พระองค์ท่านใช้คำว่าที่ดีพอสมควร หมายถึงว่าไม่ใช่จะป้องกันความเสี่ยงได้ 100% ความเสี่ยงย่อมมีอยู่ อันตรายย่อมมีอยู่ รวมทั้งภัยธรรมชาติย่อมมีอยู่ ภัยทางสังคมทางเศรษฐกิจจะมีตลอดเวลา จึงต้องป้องกันความเสี่ยง วิธีป้องกันความเสี่ยงคือความไม่โลภมากนั่นเอง ไม่ขยายจนมากเกินไป ไม่กู้เงินมากเกินไป ไม่ไปทำโครงการที่ยังไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ คือไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง จะเห็นว่า สามลักษณะนี้อธิบายได้ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร
สองเงื่อนไขหรือหลักการอีก 2 ข้อ คือ 1) เงื่อนไขความรู้ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง พระองค์ท่านบอกว่ารอบรู้หมายถึง ใช้ความรู้ แต่ผสมด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง คือใช้ความรู้อย่างระมัดระวัง แปลว่าต้องรู้ให้ถ้วนทั่ว รู้ให้ลึก รู้ให้จริง และใช้ความระมัดระวัง ใช้ความรอบคอบ 2) เงื่อนไขคุณธรรม มีจิตสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความพากเพียร การใช้สติ ใช้ปัญญา ฉะนั้นคำว่าเงื่อนไขคุณธรรมมีความหมายกว้างและลึก รวมถึงจิตสำนึก คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต อดทน มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ใช้สติใช้ปัญญา
นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรูปแบบในการดำเนินชีวิต ในการดำเนินกิจการ ในการประกอบภารกิจทั้งปวง ใช้ได้ตั้งแต่ระดับชุมชนฐานรากจนถึงระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ นั่นคือใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม ประเทศ และโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติได้ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นรางวัลที่เขาเรียกว่า Lifetime Achievement Award in Human Development หรือรางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตในการพัฒนาคน เป็นรางวัลแรกที่สหประชาชาติให้แก่บุคคลที่อุทิศชีวิตเพื่อการพัฒนาคน โดยคำนึงว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติมาเป็นคุณธรรม เป็นพระปรีชาสามารถและเป็นการให้แนวทางที่จะเป็นแนวทางสำหรับโลกในศตวรรษใหม่ แนวทางสำหรับการพัฒนาคนที่มากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือการพัฒนาให้คนมีความมั่นคงปลอดภัย อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพและสันติสุข และสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับปรัชญาหรือหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นหลักการที่จะเป็นแนวทางของโลกในอนาคต ฉะนั้น สิ่งต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำมาและเสนอแนะต่อประชาชนชาวไทย จึงน่าจะถือว่ามีคุณค่ามหาศาล ไม่ใช่เฉพาะต่อสังคมไทยแต่รวมถึงต่อสังคมโลกด้วย
ภารกิจของมหาวิทยาลัยกับแนวทางการพัฒนา
คราวนี้มาดูว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าจะคิดทำอะไรที่อาศัยแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะเป็นธรรมราชา อาจจะแถมด้วยแรงบันดาลใจจากพระเดชพระคุณท่านพุทธทาสที่มีชาติกาลครบ 100 ปีประกอบเข้ามาด้วย เพราะทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระพุทธทาสมีทั้งวัตรปฏิบัติและข้อคิดแนวทางที่สอดรับผสมกลมกลืนกันอย่างดียิ่ง
คำถามที่มหาวิทยาลัยคงต้องถามตัวเองที่เกี่ยวพันกับการประกอบภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าประกอบด้วย 1) การผลิตบัณฑิต 2) การวิจัย 3) การบริการสังคม และ 4) การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม
อันที่จริงข้อ 4 ผมเห็นว่าน่าจะรวมอยู่ในข้อ 3 เพราะดูทั่วๆไป จริงๆ แล้วสำหรับมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ข้อ 4 จะเป็นข้อปลีกย่อย หรือเป็นข้อท้ายๆ แต่ถ้ารวมอยู่ในข้อ 3 ดูจะมีความหมายดีขึ้นในความเห็นของผม เพราะศิลปะวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญของสังคม ถ้าไปคิดแยกออกมา อาจจะทำให้กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไปโดยไม่จำเป็น แต่ถ้ารวมอยู่ในเรื่องการบริการสังคม ไม่ใช่เฉพาะบริการวิชาการ บริการสังคมคือทำประโยชน์ให้แก่สังคม ก็น่าจะรวมถึงเรื่องศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมในความหมายที่แท้จริง คือ วิถีชีวิต ไม่ใช่เรื่องของศิลปะ เช่น การร้องรำทำเพลง ดนตรีอย่างเดียว แต่รวมถึงการมีวิถีชีวิตอันดีงามร่วมกันของคนในสังคม
“ความเก่ง” กับ “ความดี” อะไรมาก่อน
เมื่อคำนึงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวมา คำถามที่มักจะต้องถามกันและเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาวุ่นวาย บางคนก็ว่าถึงวิกฤต คือ ปัญหาเรื่อง “ความเก่ง” กับ “ความดี” มหาวิทยาลัยต้องตอบคำถามนี้อยู่เนืองๆ ว่า เราจะผลิตนักศึกษาที่เก่งหรือดี หรือทั้งสองอย่าง และถ้าทั้งสองอย่าง อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง
เมื่อเร็วๆนี้ คุณจรัล ภักดีธนากุล ได้ไปอภิปรายเรื่องการปฏิรูปการเมือง ข้อความตอนหนึ่งคุณจรัลได้พูดถึงเรื่องคนเก่งกับคนดีไว้อย่างน่าฟัง คุณจรัลบอกว่า “ถ้าคนเก่งอย่างเดียวจะเป็นมหาโจรได้ ถ้าคนดีอย่างเดียวก็ตกเป็นเหยื่อมหาโจรได้” ฉะนั้นต้องการทั้งเก่งทั้งดี แต่คุณจรัลไม่ได้ลำดับว่าอะไรก่อน อะไรหลัง
ผมเองอยากจะลำดับ ผมคิดเรื่องพวกนี้มานานพอสมควร เนื่องจากว่าอยู่ในแวดวงการศึกษาบ้าง ไม่ถึงกับข้างใน แต่อยู่รอบๆ ผมมีโอกาสเข้าร่วมกับอาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วในการขบคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ตอนนั้นเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และอาจารย์ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าไปร่วมและเป็นคนที่เขียนหนังสือออกมา ชื่อ “ความฝันของแผ่นดิน” ท่านอาจจะเคยอ่านหรือจำได้
ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่บางแห่ง เคยเป็นอยู่ 5 แห่งพร้อมกัน รู้สึกมากไปเลยลาออกเสียบ้าง ลาออกจากธรรมศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อยากจะอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ผมก็คิดเรื่องพวกนี้อยู่ หลังๆ ผมไปได้รับอิทธิพลเพิ่มเติมจากประสบการณ์การไปศึกษาดูงาน ไปเยี่ยมเยียนที่อื่น เช่น ไปที่เวียดนามเมื่อเร็วๆนี้ เวียดนามได้ชื่อว่ามีความพยายามพัฒนาการศึกษาได้ดี เรียกว่าพยายามพัฒนา เขาอาจจะยังไม่เป็นการศึกษาที่ดีที่สุดแต่เขาพยายามพัฒนา และมีคนไปศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาของเวียดนาม ค่อนข้างจะออกมาในทางที่ชื่นชมความพยายามของเขา ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถม และไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยด้วย
การจัดการศึกษาที่ประเทศเวียดนาม
สิ่งหนึ่งที่เขาพูดซึ่งผมก็ฟังหูไว้หู เขาบอกว่า เขาให้ความสำคัญคุณธรรมจริยธรรมมาก่อน เขาจะสอนเด็กให้เป็นคนดี ยกตัวอย่างเช่น ที่เวียดนามตอนกลาง ข้อนี้เอามาจากงานวิจัยของ ดร. นิติภูมิ นวรัตน์ ที่บอกว่าเขาจะตั้งคำถามเป็นโจทย์ให้เด็กทำการบ้านทุกวัน 5 ข้อ คือ
1) วันนี้หนูได้ทำความดีอะไรบ้าง
2) วันที่ผ่านมา หนูได้ช่วยพ่อแม่ทำอะไรบ้าง
3) ในชุมชนของหนูมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
4) ให้เล่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ในประเทศเวียดนาม และ
5) ให้เล่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ในโลก
จะเห็นว่าเขาเริ่มจากการทำความดี ทำความดีในตัวเอง ทำความดีให้คนอื่น ให้พ่อแม่ และมีความรอบรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ไปดูโรงเรียนประถมที่ฮานอย จะเห็นว่าในห้องเรียนมีป้าย 2 ป้าย ซ้ายกับขวา ด้านหนึ่งจะมีปณิธานหรือคำขวัญ 5 ข้อของโฮจิมินห์ คือ
1) รักชาติ รักประชาชน
2) เรียนดี ทำงานดี
3) สามัคคี มีวินัย
4) รักษาอนามัยดี ข้อนี้น่าสนใจ คำนึงถึงเรื่องสุขภาพอนามัย แต่ที่จริงสุขภาพอนามัยคนเวียดนามยังไม่ดีเท่าคนไทย แต่ต้องเห็นใจ เขาผ่านภาวะสงครามมาไม่รู้เท่าไร ขณะนี้สุขภาพอนามัยยังไม่ดีแต่เขาให้ความสำคัญ แต่ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ดี เขาก็รบชนะมหาอำนาจถึง 2 รอบ ด้วยความบึกบึนในจิตใจ และ
5) ถ่อมตน ซื่อสัตย์ กล้าหาญ
ข้อ 1 เขาถือว่าสำคัญมาก ตรงกับที่ธรรมศาสตร์ เคยมีอุดมการณ์ที่ว่าฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ขออนุญาตพูดถึงธรรมศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยมิตรภาพเก่าแก่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีกป้ายหนึ่ง เป็นคำพูดของโฮจิมินห์ว่า “ประเทศเวียดนามจะสวยงาม มีสถานะที่เทียบได้กับทวีป 5 ทวีปของโลก ขึ้นอยู่กับการเรียนของลูกหลาน” คณะที่ไปดูงานร่วมกับผมมีครูบาอาจารย์ไปด้วย เขาบอกว่าเขายอมรับว่าที่เวียดนามการศึกษาแข็งดี เทียบชั้นเดียวกันกับเมืองไทย ของเขาสอนมากกว่า นักเรียนทำได้ดีกว่า ถ้าเราถือเอารางวัลโอลิมปิกเป็นเกณฑ์ เวียดนามได้รางวัลโอลิมปิกหลายรางวัล โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เหนือกว่าประเทศไทย
คณะเราที่ไปสนใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรมด้วย ก็มีคนมาบอกว่าเวียดนามมีคอรัปชันเยอะ คนไม่ค่อยซื่อสัตย์ อาจจะจริง แต่ต้องไม่ลืมว่าเวียดนามผ่านภาวะสงครามมานาน และมีเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ คนเวียดนามตั้ง 80 ล้านคน แล้วแต่เราไปเจอใคร ทำให้ผมนึกถึงอีกประเทศหนึ่งที่จะเอามาเทียบเคียง คือประเทศไต้หวัน
การพัฒนาคุณธรรมที่ประเทศไต้หวัน
ไต้หวัน ถ้าพูดขึ้น พวกเราจะนึกถึงการตีกันในสภา คนที่ทำธุรกิจจะนึกถึงนักธุรกิจไต้หวันที่เอาเปรียบแรงงาน แม้กระทั่งในไต้หวันเองก็เอาเปรียบแรงงานถึงขั้นที่แรงงานไทยประท้วง แต่ท่านทราบไหมว่าไต้หวันในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการฟื้นฟูพุทธศาสนาครั้งสำคัญ หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายเรื่องการควบคุมต่างๆ ไต้หวันตกอยู่ภายใต้ความกดดันเยอะ คล้ายๆเวียดนาม มีภัยธรรมชาติมาก มีพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม เพียงแต่ไม่มีภูเขาไฟเท่านั้น และที่สำคัญมีภัยทางการเมือง เขาต้องพยายามช่วยตัวเอง แต่ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการผ่อนคลายทางด้านการควบคุมเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อต่างๆ ทำให้เกิดชาวพุทธเชิงปฏิบัติขึ้นมากมาย ข้อมูลหนึ่งบอกว่าจากเดิมนับแสนคนมาเป็นหลายล้านคน ที่เป็นชาวพุทธเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ชาวพุทธแบบผิวเผิน อย่างคนไทยจำนวนมากบอกเป็นชาวพุทธ แต่อาจเป็นชา
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/43854
<<< กลับ